Image

ดร. วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร

Interview

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ตอนนี้สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี เป็นหน่วยงานเดียวที่มีข้อมูลอาจารย์ศิลป์มากที่สุด”

ภาพของเขามีให้เห็นเต็มฝาผนังทุกด้านในทุกห้องนิทรรศการ  ผู้ชายฝรั่งผิวขาว ร่างสูง ผมหยักศก สวมแว่นสายตาหนาเตอะคนนั้น ปรากฏตัวทั้งในภาพถ่ายเก่ามากมาย เดินไปเดินมาอยู่ในคลิปภาพยนตร์ที่ฉายขึ้นจอ ทั้งยังแปลงรูปไปเป็นภาพปั้น ภาพวาดลายเส้น ภาพสีน้ำมันอีกสารพัด

นักศึกษาหนุ่มสาวสองคนในเครื่องแบบมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่งอยู่ตรงมุมห้องข้างประตูทางเข้า ทั้งสองร่วมกันบรรเลงเพลง “Santa Lucia” เพลงพื้นเมืองอิตาลีที่กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ครูของเขาและเธอ ผู้เป็นอดีตคณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ บอกผมอย่างภาคภูมิใจว่าท่วงทำนองที่หยอกล้อตอบโต้กันระหว่างแซกโซโฟนและคลาริเน็ตที่ได้ยินอยู่นี้ คือผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานของลูกศิษย์นักดนตรีนั่นเอง

นี่คือวันเปิดงานนิทรรศการ ๑๐๐ ปี ศิลป์สู่สยาม ภาพถ่าย ผลงาน ชีวิต แนวคิด คำสอน ๒๔๖๖-๒๕๖๖ เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีการมาถึงเมืองไทยของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดขึ้นที่ชั้น ๒ ของศูนย์การค้าศิลปโบราณ-วัตถุริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๖ มีทั้งคนในแวดวงศิลปะ ศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ นักสะสมงานศิลปะคนดัง นักข่าวต่างประเทศ เข้าร่วมงาน รวมกันแล้วหลายสิบชีวิต

ข้าวของในนิทรรศการทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับ “ฝรั่ง” คนนั้น มิสเตอร์คอร์ราโด เฟโรจี “คนไทย” ผู้มีชื่อว่า “ศิลป์ พีระศรี” จัดขึ้นโดย “สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี” หน่วยงานวิชาการอิสระที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว และทำงานด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวล้วน ๆ  วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้สังคมไทยได้ขุดค้นสรรพวิชาจากศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรี

เจ้าหน้าที่คนเดียวที่ว่านั้นคือศิลปินหนุ่มใหญ่ ดร. วิจิตรอภิชาติเกรียงไกร อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Art Record in Thailand  เจ้าของรางวัลผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายต่อหลายครั้ง

และนี่คือเรื่องราวและเรื่องเล่าของเขา

สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี มีที่มาอย่างไร

ย้อนกลับไปในปี ๒๕๒๐ กว่า ๆ มีกลุ่มพวกอาจารย์ดำรง (ดำรง วงศ์อุปราช) อาจารย์สุเชาว์ (สุเชาว์ ศิษย์คเณศ) และอีกหลาย ๆ คน พวกนี้ไปเห็นว่าห้องทำงานอาจารย์ศิลป์ปิดตายอยู่ เช็กกับทางกรมศิลปากรแล้ว ของบางอย่างน่าจะแพ็กเก็บ บางอย่างก็ยังวางตั้งอยู่ในห้อง

วันหนึ่งอาจารย์เฟื้อ (เฟื้อ หริพิทักษ์) รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจิตรกรรม (ปี ๒๕๒๓) แล้วอาจารย์เฟื้อไปยืนถ่ายรูปหน้าประตูห้องทำงานอาจารย์ศิลป์  ภาพนั้นเป็นภาพที่ทำให้ผมเชื่อมโยงได้ว่า คนรุ่นนั้นพอเห็นสภาพห้องที่ไม่ได้ถูกใช้ ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าแล้วของอาจารย์ศิลป์อยู่ไหน ? ก็เลยระดมเงินกันก่อตั้งเป็นกองทุน ตอนนั้นกรมยังไม่ได้มีงบประมาณอะไร แต่พวกอาจารย์ผู้ใหญ่เขาคงผลักดัน พอได้เงินมาแล้วก็ทำให้กรมต้องตัดสินใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกรมก็ได้ประโยชน์จากการระดมทุน จากการดึงงานกลับมาของพวกศิษย์เก่า แล้วก็มีแนวคิดว่า กองทุนนี้จะใช้ในการบำรุงรักษา ซึ่งก็คงบวกกับงบประมาณของกรม

Image
Image
Image
Image

“การมีคนไปที่หลุมศพอาจารย์ศิลป์ ซึ่งเล็กนิดเดียว ทำให้คนเฝ้าสุสานเขาสงสัยว่า ทำไมหลุมศพนี้จึงมีคนไทย เดินทางมาเป็นระยะๆ กลายเป็นที่แปลกใจเป็นที่จดจำ”

พอสร้างพิพิธภัณฑ์เสร็จ ทุกคนก็เหมือนเสร็จภารกิจแล้ว แต่พี่ได๋ (นิพนธ์ ขำวิไล) ไม่คิดอย่างนั้น พี่ได๋คิดว่าน่าจะค้นคว้าเรื่องอาจารย์ศิลป์กันต่อ ก็ขยับมาเป็น “สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี”  หลังจากนั้นก็เริ่มทำเรื่องหนึ่งขึ้นมา

พี่ได๋บอกว่าข้อมูลของอาจารย์ศิลป์น่าจะถูกเล่าขานจากลูกศิษย์ ผมเข้าใจว่าพี่ได๋ไปได้แรงบันดาลใจจากบทความของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ที่ชื่อว่า “ศิษย์มีครู” พี่ได๋นับถืออาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มากพี่ได๋ก็เลยนึกว่า ถ้าอย่างนั้นเราสัมภาษณ์ทุกคนเลย  หลังจากนั้นพี่ได๋ก็ป่าวประกาศ บางคนเขียนเป็นจดหมายมา ใครไม่สะดวกเขียนก็ไปสัมภาษณ์

แล้วพี่ได๋ก็พิมพ์ออกมาเป็น อาจารย์ศิลปกับลูกศิษย์ เล่มที่ ๑ (ปี ๒๕๒๗) คือพี่ได๋ทำคนเดียว ได้มาเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ พอฉบับพิมพ์ครั้ง ๒ (ปี ๒๕๔๒) อันนี้หนังสือเริ่มไปปรากฏในวันอาจารย์ศิลป์  พอถึงวันอาจารย์ศิลป์ พี่ได๋ก็เอาหนังสือไปแจก

แล้วพี่ได๋ก็เริ่มเก็บข้อมูล คือกลายเป็นสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี จริง ๆ แล้ว เพราะเขาฝันว่าอยากจะเขียนเรื่องอาจารย์ศิลป์เป็นประวัติฉบับละเอียด ก็เลยตัดสินใจไปพบคุณมาลินี (มาลินี เคนนี อดีตภรรยาอาจารย์ศิลป์ พีระศรี) คุณมาลินีแต่งงานใหม่ อยู่ที่กรุงโรม  ก็ไปเจอ ไปตระเวนดู ตั้งแต่หลุมศพอาจารย์ศิลป์จนถึงบ้าน ไปเจอลูกหลานของอาจารย์ศิลป์  พี่ได๋เก็บข้อมูลพวกนี้มา แล้วก็ไปเก็บข้อมูลในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดูจดหมายของกรมพระยาดำรงฯ กรมพระยานริศฯ หรือเอกสารของกรมศิลปากร เรื่องสั่งให้แก้โน่นแก้นี่ ซึ่งจะมีเอกสารพวกนี้อยู่เยอะมาก แต่พอพี่ได๋ป่วยช่วงสิบปีหลัง ก็เลยหยุดคิดเรื่องที่จะเขียนหนังสือประวัติอาจารย์ศิลป์

Image

แล้วอาจารย์เข้ามาทำสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ได้อย่างไร

ผมอ่านหนังสือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ทั้งสองเล่มในห้องสมุด แล้วก็อิน (in) อินแล้วเคยเห็นพี่ได๋ไกล ๆ เวลา วันอาจารย์ศิลป์ (๑๕ กันยายน) เพราะเราจะเข้าไปร้องเพลงในห้อง (ห้องทำงานอาจารย์ศิลป์ คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี และเพลงที่กล่าวถึงนี้คือ “Santa Lucia”) อีกกลุ่มหนึ่งเขาจะไปร้องกันกลางสนาม (หน้าอนุสาวรีย์) แต่พวกศิษย์เอก หรือคนที่รักอาจารย์ศิลป์จริง ๆ จะเข้าไปในห้องอาจารย์ศิลป์

ในยุคผม คนที่จะเข้าไปร้องเพลงในห้องก็จะมีอย่างพี่แนบ (แนบ โสตถิพันธ์ุ) พวกอาจารย์ช่วง (ช่วง มูลพินิจ) เราก็เห็นว่า โอ้โฮ ! บรรยากาศดี เราก็อินจากการอ่านหนังสือ อินจากบรรยากาศวันอาจารย์ศิลป์ เราก็ตัดสินใจว่า แล้วทำไมเราไม่เขียนประวัติอาจารย์ศิลป์ ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีข้อมูลเลยนะ กับอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องนี้น่าจะทำเป็นหนัง เป็นละครไหม

วันหนึ่งไปเจอพี่ได๋ในงานหนึ่ง ผมเข้าไปสวัสดี บอกว่า ผมอยากเขียนบทภาพยนตร์เรื่องอาจารย์ศิลป์ คิดไปโน่นเลยนะ ผมเองไม่เคยทำหนัง เคยทำแค่หนังสั้น แต่ตอนนั้นก็มีรุ่นพี่ทำหนังกันเยอะ เป็นโปรดิวเซอร์กัน แต่ผมชอบไง ชอบหนัง ชอบละคร ชอบเพลง

พี่ได๋ก็หัวเราะ เหมือนกับว่า “มาอีกคนแล้ว !” คือคงมีคนมาคุยแบบนี้เยอะมาก ว่าอยากเขียน อยากทำหนัง อะไรแบบนั้น เพราะหลายคนอ่านเรื่องราวใน อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ แล้วอินลึกซึ้งมาก น้ำตาเล็ดน้ำตาไหล บางทีนั่งเล่นกับพี่ได๋อยู่ก็ยังมีคนเดินมาบอก “พี่ได๋ครับ ผมขอเรื่องไปทำหนัง” แล้วไม่เห็นมีใครทำสักคน เพราะปัญหาเรื่องอาจารย์ศิลป์ก็คือ ไม่มีใครรู้ข้อมูลเชิงลึก ก็รู้ตามไทม์ไลน์ (timeline) เฉย ๆ แต่พอลงรายละเอียดทุกคนไม่กล้า ไม่กล้าอ้างวัน ไม่กล้าอ้างคน ไม่กล้าอ้างไดอะล็อก (dialogue) เพราะข้อมูลไม่ถึง แต่ผมว่าพี่ได๋เข้าถึงข้อมูลมากที่สุด

Image

“พอสร้างพิพิธภัณฑ์เสร็จ ทุกคนก็เหมือนเสร็จภารกิจแล้ว แต่พี่ได๋ (นิพนธ์ ขำวิไล) ไม่คิดอย่างนั้น พี่ได๋คิดว่าน่าจะค้นคว้าเรื่องอาจารย์ศิลป์กันต่อ ก็ขยับมาเป็น ‘สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี’”

พี่ได๋มาศิลปากรบ่อย บ่อยกว่าอาจารย์บางคนอีก มาแล้วก็มานั่งที่ห้องอาจารย์ศิลป์ นั่งคุยกับพวกภัณฑารักษ์ในนั้น ภาพที่เห็นก็คือลุงคนนั้นมานั่งอยู่เกือบทุกวัน อยู่บ้านคงไม่สนุก เขาคงมีเรื่องคาใจว่าฉันจะเขียนประวัติอาจารย์ฉัน แต่เมื่อทำไม่ได้ ก็มานั่งอยู่ในห้องอาจารย์ออกไปเดินซื้อหนังสือเก่าที่ท่าพระจันทร์ กินข้าวร้านมิ่งหลีแล้วก็เรียกแท็กซี่กลับบ้าน  ผมเห็นพี่ได๋บ่อยขึ้นก็เลยไปนั่งด้วย ต่อมาพี่ได๋ก็เริ่มนัดผม “เฮ้ย ! อยู่ไหมเนี่ย มาห้องอาจารย์ศิลป์กัน” มาถึงก็ไปกินข้าว แล้วก็ส่งขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน

พี่ได๋ไม่เคยเล่าข้อมูลอะไรเลย ไม่เคยบอกว่ามีข้อมูลอะไรเวลาเจอกันก็เฉย ๆ พี่ได๋เคยเอาไฟล์เอกสารเรื่องอาจารย์ศิลป์มาให้ เป็นไฟล์ภาพ บอกว่าสื่อมวลชนอยากได้ ผมถามว่าแล้วต้นฉบับล่ะ ? พี่ได๋ตอบว่า “เทวดาให้มา” แต่พวกเพื่อน ๆ เขารู้ว่า “ได๋เก็บไว้ทั้งนั้นแหละ...แต่มันหวง” เราก็ไม่ได้สนใจอะไร นึกว่าถ้าพี่ไม่ให้ข้อมูลผม ผมก็เป็นเพื่อนพี่ได้ ไว้วันไหนพี่อยากเล่าก็เล่ามา  เขาเคยเล่าบ้าง เป็นเรื่องตัวเองบ้าง เรื่องศิลปินหน้าพระลาน (มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งอยู่บนถนนหน้าพระลาน) บ้าง แต่ไม่เคยมีเรื่องอาจารย์ศิลป์

ผมเริ่มรู้แล้วว่าผมคงต้องทำงานต่อจากพี่ได๋ แต่ผมไม่ได้ขอ พี่ได๋พูดเอง “ช่วยดูแลต่อนะ” เขาบอกว่าไม่ไว้ใจใคร ผมก็รับปาก แต่พี่ได๋ก็ไม่เคยส่งมอบอะไรให้นะ จนพี่ได๋ไม่อยู่แล้ว (ถึงแก่กรรม มิถุนายน ๒๕๕๗) ภรรยาก็ให้ผมไปเอาของที่บ้าน

ภรรยาพี่ได๋บอกว่า “ทุกอย่าง...เอาไปให้หมดเลยค่ะ” มีสามสี่ลัง คือของที่พี่ได๋เก็บเอาไว้ทั้งหมด แหล่งที่ได้มาก็ถูกต้องทุกอัน เช่นคุณมาลินีให้มา หลังจากอาจารย์ศิลป์เสีย คุณมาลินีก็เก็บของที่บ้าน ของบนโต๊ะทำงาน อะไรพวกนี้  แล้วก็มีของที่พี่ได๋ซื้อ อาจจะมีคนมาขาย แบบ “เฮ้ย ! จดหมายอาจารย์ศิลป์ เอาไป ข้าขาย” ไม่รู้เอกสารอาจารย์ศิลป์กระจายแบบไหน...กระจายจนในกรมศิลปากรไม่มีเอกสารเรื่องการงานของอาจารย์ศิลป์เลย แปลกมาก กรมไม่มีข้อมูลอาจารย์ศิลป์ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์ศิลป์ทำงานให้กรมมาตลอด

ที่หายไปแน่ ๆ เพราะมีสาเหตุการหาย คือฟิล์ม ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ที่หายไปเพราะไฟเคยไหม้โรงละครเก่า (๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓) แล้วตอนนั้นศูนย์ข้อมูลของกรมอยู่ที่นั่น  พี่สมบัติ (สมบัติ วรรณทรัพย์) เขาบอกเอง  พี่สมบัติมารับจ้างถ่ายรูปให้กรม ใช้อุปกรณ์ของกรมถ่าย เป็นหนึ่งในสี่ห้าคนที่ถ่ายรูปอาจารย์ศิลป์ เรียกว่าตามติดอาจารย์ศิลป์ กับอาจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ (ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร) แล้วพอไฟไหม้ ฟิล์มพวกนั้นก็หายหมด ตัวรูปก็ไม่เหลือ ส่วนใหญ่เราก็มีแต่รูปอาจารย์ศิลป์ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือของกรม

Image

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ได้เอกสารมาแล้ว ทำอะไรต่อไป

ตอนนั้นผมเรียนปริญญาเอก ผมก็ครอบครองต่อมาอีก ๒ ปี ยังไม่ได้บอกใคร แล้วพอวันหนึ่ง พวกกลุ่มที่ผมชวนมาปรึกษาด้วยก็บอกว่าเอาอย่างไรกันดี ยกให้กรมศิลป์ไหม มีวันหนึ่งผมก็เลยตัดสินใจยกให้กรม ผมก็ยกไปหมดเลยนะ กรมก็คือผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี่แหละ เขาก็รับไป  แล้วมาวันหนึ่งผมเปลี่ยนใจผมก็ไปเอาคืน

เปลี่ยนใจคืออะไร ? มีคนบอกว่าเอาเข้ากรมแล้วเขาไม่ได้เอามาแสดงนะ เขาอาจจะเก็บเข้าไปในห้องเก็บเอกสาร ปิดตาย ทีนี้ใครจะไปดูก็ไม่ใช่ง่าย ต้องขออนุญาตก็เลยตัดสินใจไปเอาคืน

ตอนนั้นที่คณะจิตรกรรมฯ (มหาวิทยาลัยศิลปากร) เขามีโครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมวัตถุสิ่งของ ผมก็เลยเอาไปฝากเขา ก่อนฝากก็เอาไปให้หอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรช่วยสแกน เขานับละเอียดมาก ได้มา ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ หน้า ใช้เวลาเป็นปี บางอันก็ไม่ใช่หรอกครับ เป็นเอกสารส่วนตัวของพี่ได๋ แต่มีเอกสารจำนวนมากที่เป็นข้อมูลใหม่  ตอนนี้เอกสารทั้งหมดไปอยู่ที่ศูนย์ข้อมูลของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ในโครงการจัดตั้งหลักสูตรการอนุรักษ์ แล้วด้วยความต้องการที่จะอนุรักษ์เอกสาร ผมก็ขอให้อาจารย์ทางโบราณคดีมาช่วยดู อย่างเอกสารบางชิ้นมีคลิปหนีบ คลิปกลายเป็นสนิมแดง ก็ต้องเอาคลิปออก เอาพวกกระดาษปลอดกรดที่เป็นคล้าย ๆ กระดาษสามาซับ  แต่เราไม่พบเอกสารที่เป็นงานศิลปะ... ไม่มีเลย ผมยังหวังว่าจะมีงานดรอว์อิง (drawing) สักชิ้นจะได้ดูมีอะไรเป็นทรัพย์สินของสำนักวิจัยบ้าง (หัวเราะ) นอกจากเอกสาร เทปสัมภาษณ์ของพี่ได๋ตอนทำหนังสือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ก็ยังมีอยู่กับผมเป็นลัง น่าเสียดายที่ไม่มีเสียงของบางคน แต่เราจะได้ยินเสียงของอาจารย์สนั่น (สนั่น ศิลากรณ์) เสียงของอาจารย์จงกล (จงกล กำจัดโรค) เสียงของอาจารย์ทวี (ทวี นันทขว้าง) อะไรแบบนี้  มีเสียงคุณมาลินีด้วยนะในเทป  เสียดายที่ไม่มีเสียงอาจารย์ศิลป์ ผมอยากได้ยินเสียงอาจารย์ศิลป์มาก เพราะผมอยากรู้ว่าอาจารย์ศิลป์พูดไม่ชัดยังไง

เอกสารชุดนี้มีข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้าง

อย่างมีอันหนึ่ง เป็นเอกสารเกณฑ์ทหาร อาจารย์ศิลป์มีหลักฐานการเกณฑ์ทหารอยู่ใบหนึ่งที่บอกว่าสายตาสั้น ไม่สามารถเป็นทหารได้ คือตอนนั้นเขากำลังเกณฑ์ทหารไปรบสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่อาจารย์ศิลป์สายตาสั้นเลยไม่ได้ไปรบ แล้วเพื่อนอาจารย์ศิลป์ไปรบ แล้วก็เขียนจดหมายตอบโต้กัน “เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้ฉันอยู่ที่ชายแดนแล้ว...” ซึ่งเราไม่รู้ว่าอาจารย์ศิลป์รู้สึกอย่างไรกับการที่ไม่ได้ไปรบ

ผมเจอเอกสารชิ้นหนึ่งน่าสนใจมาก อาจารย์ศิลป์ขอลาออก บอกว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ผมแปลได้ว่าเป็นโรคที่ระงับอารมณ์ไม่อยู่ แล้วถ้าอ่านเรื่องเล่าของลูกศิษย์ (ใน อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์) อาจารย์ศิลป์น่าจะป่วยจริง ๆ ที่ว่าระงับอารมณ์ไม่อยู่คือถ้าเวลาโกรธจะแสดงออก ตบหลังลูกศิษย์ เตะลูกศิษย์ผู้หญิง ขว้างของ โยนงานลูกศิษย์ ถ้าเป็นสมัยนี้ โยนงานลูกศิษย์นี่คือโดนโพสต์ด่าตายเลย หงุดหงิดฉุนเฉียวตะโกนโหวกเหวก ต่อยกำแพงจนมือเลือดออก แล้วพอแป๊บเดียว เปลี่ยนกลับมาเป็นปรกติ สักครู่ก็เดินร้องเพลงได้ ลูกศิษย์เจออาการแบบนี้เกือบทุกรุ่น แต่ไม่เข้าใจ ไปคิดว่าเป็นบุคลิก ที่จริงคืออาการป่วย ซึ่งอาจารย์ศิลป์ก็รู้ตัว คงไม่ชอบที่เป็นแบบนี้ เลยอยากลาออก

แล้วก็มีจดหมายอื่น ๆ ที่เยอะที่สุดเป็นพวกจดหมายทางราชการ เราเพิ่งรู้ว่าพวกงานธุรการ อาจารย์ศิลป์ทำคนเดียวหมด ค่าชอล์ก ค่าถ่าน (สำหรับวาดภาพ) แม้แต่ค่าแบบ (คน) ที่มาเป็นหุ่น (สำหรับนักศึกษาฝึกวาดภาพ) อาจารย์ศิลป์ก็ต้องเป็นผู้เซ็นอนุมัติ  ผมพบว่าสมัยนั้นกรมศิลป์มักจะใช้งานอาจารย์ศิลป์แบบที่พวกลูกศิษย์จะโกรธมาก คือใช้จุกจิก แล้วไม่มีผู้ช่วย คือที่จริงอาจารย์ศิลป์น่าจะมีเลขาฯ แต่ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นอะไร ๆ ทุกคนก็ต้องเดินมาหา

“ไม่รู้เอกสารอาจารย์ศิลป์กระจายแบบไหน...กระจายจนในกรมศิลปากร ไม่มีเอกสารเรื่องการงานของอาจารย์ศิลป์เลย แปลกมาก กรมไม่มีข้อมูลอาจารย์ศิลป์ ทั้งๆ ที่อาจารย์ศิลป์ทำงานให้กรมมาตลอด” 

Image

ในระยะหลังมานี้มีความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์อีกบ้างไหม

อัปเดต (update) เรื่องอาจารย์ศิลป์ก็มีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในอดีต ไม่มีใครรู้เลยว่าอาจารย์ศิลป์เก่งทางเหรียญ เหรียญยุโรปนะครับ ไม่ใช่เหรียญประเทศไทย เราไปพบว่ามีนักสะสมเขารู้ เขากว้านซื้อ หาซื้อมาจากโลกออนไลน์ต่าง ๆ นานา ผมไม่ได้นับนะ แต่น่าจะมีเป็นร้อย ๆ เหรียญร้อย ๆ ชนิด ชนิดที่ดูแล้วเป็นเหรียญสำคัญที่สุดเป็นเหรียญที่ใช้ในวาติกัน คือที่วาติกันจะมีเหรียญเฉพาะของเขา เป็นรูปโป๊ป (Pope) แล้วเป็นเหรียญที่อาจารย์ศิลป์ได้ทำ แสดงว่าอาจารย์ศิลป์มีชื่อเสียงเรื่องการทำเหรียญมากถึงได้ทำงานระดับนั้น อย่างครูของอาจารย์ศิลป์ ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นครูเหรียญ  ช่างทำเหรียญสมัยนั้นคงฮิตมาก

ในฐานะสำนักวิจัย เราก็มองทุกเรื่อง คนรุ่นใหม่ ๆ เริ่มมีธรรมเนียมไปเที่ยวหลุมศพอาจารย์ศิลป์ เป็นทัวร์เลย สมัยที่เริ่มไปกัน มีรุ่นพี่จิตรกรรมฯ คนหนึ่ง ชื่อพี่โอ่ง ลักขณา เวชกร เป็นหลานครูเหม (เหม เวชกร) เป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์รุ่นสุดท้าย พี่โอ่งไปแต่งงานกับสามีอิตาเลียน เลยทำทัวร์ไปหลุมศพอาจารย์ศิลป์ในยุคแรก พอมายุคหลัง ๆ ก็เริ่มกลายเป็นนักศึกษา เป็นอาจารย์มาทำทัวร์กัน  การมีคนไปที่หลุมศพอาจารย์ศิลป์ ซึ่งเล็กนิดเดียว ทำให้คนเฝ้าสุสานเขาสงสัยว่า ทำไมหลุมศพนี้จึงมีคนไทยเดินทางมาเป็นระยะ ๆ กลายเป็นที่แปลกใจเป็นที่จดจำ แต่ป่านนี้คงรู้แล้วแหละ ที่จริงในหลุมก็ไม่ได้มีศพอาจารย์ศิลป์ เพราะศพฌาปนกิจที่เมืองไทย มีแต่อัฐิธาตุที่แบ่งไปเก็บไว้

ตอนนี้สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี เป็นหน่วยงานเดียวที่มีข้อมูลอาจารย์ศิลป์มากที่สุด ถ้าไม่นับห้องอาจารย์ศิลป์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี) แต่ห้องอาจารย์ศิลป์ยังไม่ได้มีการวิจัย เช่น เราไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ศิลป์ใช้ทำอะไร ยังไม่มีการวิจัย ซึ่งที่จริงน่าทำมากนะ เพราะของในนั้นจะเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์ได้มาก

สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี จะทำอะไรต่อไป

ในส่วนรวม สำนักวิจัยก็ทำหน้าที่เผยแพร่ คล้าย ๆ
ที่พี่ได๋ทำมา ตอนนี้ก็ทำหนังสือ ภายในปีนี้ก็ออกมาสองเล่มแล้ว คือ อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ กับ คำสอนศิลป์  กำลังจะออกอีกเล่มตอนปลายปีให้ชื่อว่า ๑๐๐ ปี ศิลป์สู่สยาม เพราะว่าหลังจากอาจารย์ศิลป์มาปี ๒๔๖๖ อยู่มาอีก ๓๗ ปีจนถึงแก่กรรม แล้วหลังจากนั้น ผมว่าอาจารย์ศิลป์ยังมีบทบาทในสังคมไทยจนถึง
ทุกวันนี้ เป็นเวลา ๑๐๐ ปี ผมถือว่าอาจารย์ศิลป์ยังไม่หมดภารกิจ มีความคิดที่ยังไม่ถูกใช้ มีสิ่งที่ควรอ้างอิงต่อ ผมอยากให้อาจารย์ศิลป์มีบทบาทในสังคมมากกว่านี้ เช่น
อาจารย์ศิลป์ไม่เคยมีอนุสาวรีย์ภายนอกมหาวิทยาลัยศิลปากร เราเคยมีหอศิลป พีระศรี ก็เหลือแต่ชื่อ ผมคิดว่าน่าจะมี “อาจารย์ศิลป์อาร์ตสเปซ” (art space) เป็น
เมมโมรีสเปซ (memory space) สักที่หนึ่ง จะเป็นการ
สร้างความยั่งยืนในแง่วัฒนธรรมด้วยนะ ที่ผ่านมา (มหาวิทยาลัย) ศิลปากรก็ทำหน้าที่ของเขาได้ดีเท่าที่เขาจะทำได้ แต่ในสังคมทุกวันนี้ สถาบันมันละลายไปแล้ว แล้วอาจารย์ศิลป์จะละลายไปด้วย ถ้าเราปล่อยให้อาจารย์ศิลป์อยู่แต่ในสถาบัน ผมถึงคิดว่าถ้าเราดึงอาจารย์ศิลป์ออกจากสถาบันได้ ให้คนลืมเรื่องอาจารย์ศิลป์เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรไปเสียบ้าง ให้อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ก่อตั้งศิลปะบางอย่าง วางรากฐานวัฒนธรรมบางอย่างแทน

เรื่องของอาจารย์ศิลป์เก่าเกินไปแล้วหรือยัง

ผมมองอย่างนี้นะ ผมมองว่าทุกวันจะมีคนใหม่ ๆ ที่เริ่มสนใจศิลปะ คนพวกนี้ควรจะได้รู้เรื่องอาจารย์ศิลป์  ผมคิดว่าอาจารย์ศิลป์สามารถมีลูกศิษย์ใหม่ ๆ ได้จากการที่อาจารย์ศิลป์มีพื้นที่ของตัวเอง อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรงก็ได้ อาจจะเป็นคนที่กำลังต้องการข้อมูลบางอย่าง

หนังสือที่เราขายออนไลน์อยู่ เกิดปรากฏการณ์ว่าคนซื้อไม่ใช่คนเดิมแล้ว เป็นคนใหม่ที่เริ่มอยากรู้เรื่องอาจารย์ศิลป์ ลูกค้าหรือคนซื้อออนไลน์ไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นสถาปนิก ผู้รับเหมา แม่บ้าน เหลือเชื่อครับ หนังสือขายได้ทุกวัน แสดงว่าเขาอยากจะรู้ว่านายคนนี้เป็นใคร ทำอะไรถึงมีคนพูดถึงเขา  ผมว่าเป็นเรื่องดีนะ อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานทำให้เขารู้จัก จะชอบไม่ชอบก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เคยมีใครไม่ชอบอาจารย์ศิลป์ แปลกมาก หรือคนไม่ชอบเขาไม่พูดก็ไม่รู้… 

ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมหรือสั่งซื้อ
สิ่งพิมพ์ของสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี ได้จาก
Facebook : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี