Image

ตะเกียบ Samyang
ตำนาน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”
โสมขาว

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

เมื่อมีโอกาสไปต่างบ้านต่างเมือง ผมมักหาจังหวะลองชิมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเจ้าถิ่น

ด้วยอาหารชนิดนี้มักเกิดขึ้นในช่วงยุคเข็ญ และมีเรื่องเล่าน่าประทับใจของแต่ละประเทศรวมอยู่

ที่เกาหลีใต้ ผมพบว่า หากญี่ปุ่นมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนิสชิน (Nissin) เป็นตำนาน บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเกาหลีใต้ก็มีซัมยัง (Samyang) เชิดหน้าชูตาอยู่เช่นกัน 

Image

ซัมยังก่อตั้งใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เจ้าของคือบริษัทซัมยังออยล์ (Samyang Oil) เอกชนรายนี้เกิดขึ้นในยุคที่เกาหลีใต้เริ่มฟื้นตัวหลังสงบศึกกับเกาหลีเหนือ (สงครามเกาหลีเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.๑๙๕๐-๑๙๕๔) เริ่มจากผลิตน้ำมันพืชและน้ำมันสำหรับภาคอุตสาหกรรมก่อนที่ จ็อนจุงยุน (Jeon Jung Yun) ประธานบริษัท จะหันมาจับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเปลี่ยนชื่อเป็นซัมยังฟู้ด (Samyang Food)

น่าสนใจว่า ซัมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารของประธานาธิบดี ปักชอง-ฮี (Park Chung-hee ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๗๙) ที่ต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารและเพิ่มอัตราการจ้างงานในประเทศหลังสงครามเกาหลี

การเกิดขึ้นของซัมยังจึงเป็นการ “ยิงนกสองตัว” บรรเทาได้ทั้งสองเรื่อง และกลายเป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรก” ของเกาหลีใต้

ซัมยังปล่อยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสแรกออกสู่ตลาดใน ค.ศ. ๑๙๖๓ คือซัมยัง ราเมน (Samyang Ramen/เกาหลีออกเสียงว่า “รามย็อน”) ซึ่งมีรสชาติกลาง ๆ ในราคา ๑๐ วอนซึ่งถือว่าถูกมากในยุคนั้น

Image

ไม่ต่างกับผู้พัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในประเทศอื่น [มาม่า (ไทย) นิสชิน (ญี่ปุ่น) ฯลฯ] ด้วยราคาที่ย่อมเยา ช่วงทศวรรษแรกซัมยังยึดครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีใต้ได้มากกว่าครึ่ง จากนั้นเริ่มส่งออก และขยายธุรกิจไปทำฟาร์มปศุสัตว์และการเกษตรเพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบเอง

แต่หลังจากนั้นต้องเผชิญกับมรสุมหลายครั้ง ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดหดตัวลงอย่างน่าใจหาย เช่นใน ค.ศ. ๑๙๘๙ มีการกล่าวหาว่าซัมยังใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมทอดเส้นซึ่งอันตรายกับผู้บริโภค เรื่องนี้แม้ว่าจะพ้นมลทินในภายหลังแต่ก็ทำให้ยอดขายตกลงมาก

ในทศวรรษ ๑๙๘๐-๑๙๙๐ การพัฒนารสชาติที่ล่าช้า ไม่ทันใจผู้บริโภค ยังทำให้ยอดขายร่วงมาอยู่อันดับ ๔ ในตลาดปล่อยให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคลื่นลูกหลังแซงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นนงชิม (Nongshim) อทโทกี (Ottogi) หรือ พัลโด (Paldo)

Image

ก่อนที่ยอดขายซัมยังจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งใน ค.ศ. ๒๐๑๒ เมื่อซัมยังปล่อย “บะหมี่ไก่เผ็ด” (Hot Chicken Flavor Ramen/buldak-bokkeum-myeon) ออกมาพลิกเกมโดยมีระดับความเผ็ดให้เลือกทั้งแบบ x2 x3 จนได้รับความนิยมและกลายเป็นภาพแทนของซัมยังในระดับโลก หลังจากนี้ซัมยังก็เริ่มปรากฏตามแผงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เกตแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงเมืองไทย (ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๙) ต่อมาพวกเขายังสร้างมาสคอตรูปไก่หน้าตาทะเล้นชื่อ “โฮชี” (Hochi) กำลังกินบะหมี่ เพื่อทำให้ลูกค้าจำได้ง่ายบนซองผลิตภัณฑ์ และจัดกิจกรรมออนไลน์โดยดึงผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเดียวกัน ซัมยังเจอข้อกล่าวหาร่วมกับผู้ผลิตรายอื่นเรื่องการฮั้วตรึงราคาขาย แต่ก็สามารถรอดพ้นจากการปรับเงินไปได้ ทำให้คู่แข่งมองซัมยังในฐานะศัตรูมากขึ้น

แน่นอน นอกจากเป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกของเกาหลีใต้” ซัมยังยังเสมือนเป็นหน้าตา เป็นตัวแทนประเทศออกไปแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับโลก

ความเป็นตัวแทนเกาหลีใต้ของซัมยังสะท้อนชัดเจนย่านตลาดขายสินค้าที่ระลึกตามเมืองต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ เพราะบนแผงขายนอกจากบะหมี่ซัมยังแบบห่อ ยังมีสินค้าชนิดอื่นที่ปั๊มตราซัมยังอยู่ทุกที่

หนึ่งในของที่ระลึกที่ผมนำกลับมาบ้านคือ “ตะเกียบ” ราคาราวคู่ละ ๑๐๐ บาทไทย

เพราะซูเปอร์มาร์เกตในกรุงเทพฯ มีบะหมี่ซัมยังวางอยู่เต็มไปหมด ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องแบกห่อบะหมี่กลับมาให้เสียพื้นที่โหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่องบิน

เอาตะเกียบมากินคู่กัน ก็น่าจะดื่มด่ำกับเรื่องราว (story) ได้ลงตัวกว่า