แสงกระสือ
ผีพื้นบ้าน
หลากมิติในภาพยนตร์ไทย
ศาสนาผีอีสานใต้
เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิ จรุ่งเรือง
หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของภาพยนตร์
หากจะกล่าวถึงหนังผี ไม่ว่าจะช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์หรือตกต่ำของวงการภาพยนตร์ไทย นี่คือตระกูลที่ยังอยู่คู่วงการภาพยนตร์มาโดยตลอดไม่เสื่อมคลาย ช่วงหนึ่งยังนับเป็นตระกูลหนังที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ผีพื้นบ้านหรือตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้าน(urban legend) ที่ว่าด้วยความเชื่อเกี่ยวกับผีในภูมิภาคต่าง ๆ หรือบางสถานที่ของไทยที่ถูกเล่าสืบต่อกันมายาวนาน นับเป็นหนึ่งในตัวแปรของหนังตระกูลนี้ รูปลักษณ์ผี เรื่องราวเฉพาะตัวที่เป็นเสน่ห์ และหาไม่ได้ในหนังจากประเทศอื่น ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์หลายเรื่อง อย่าง ตะเคียน (ปี ๒๕๔๖), ผีช่องแอร์ (ปี ๒๕๔๗), “หลาวชะโอน” (ปี ๒๕๕๒-ตอนหนึ่งจากเรื่อง ห้าแพร่ง), มหา’ลัยสยองขวัญ (ปี ๒๕๕๒), เทอมสองสยองขวัญ (ปี ๒๕๖๕) ฯลฯ
การถูกผลิตซ้ำในต่างวาระยังทำให้ผีพื้นบ้านได้รับการตีความใหม่จากผู้สร้างอย่างน่าสนใจ จากเดิมที่หนังผีมักถูกมองเพียงเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่คนดู ไม่ว่าจะสร้างความหวาดกลัวหรือความตลกขบขัน
นางนาก
บรรทัดฐานใหม่
ของภาพยนตร์
ตำนานความรักแห่งท้องทุ่งพระโขนงของผีตายทั้งกลมสุดเฮี้ยน อำแดงนากกับนายมาก นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาสร้างในสื่อบันเทิงมากที่สุดเรื่องหนึ่งนับตั้งแต่ปี ๒๔๗๙ จนถึงปัจจุบันโดยฉบับที่สร้างชื่อมากที่สุดคือ แม่นาคพระโขนง (ปี ๒๕๐๒) ผลงานสร้างของ เสน่ห์ โกมารชุน ที่นำแสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง ซึ่งการสร้างใหม่ก็มักผลิตซ้ำภาพจำเดิม ๆ ของผีแม่นากมาโดยตลอด
หากการมาของ นางนาก (ปี ๒๕๔๒-นนทรีย์ นิมิบุตร กำกับ) ที่หยิบเอาตำนานพื้นบ้านอันโด่งดังนี้มาสร้างใหม่ในช่วงที่วงการหนังไทยตกต่ำ กลับสร้างความสนใจ ทำรายได้มหาศาลถึง ๑๕๐ ล้านบาท จนกลายบรรทัดฐานใหม่ของวงการหนังไทยด้วยเช่นกัน
ผลงานเรื่องนี้นับว่าเป็นการมาถูกที่ถูกเวลาในช่วงที่คนดูกำลังกังขาต่อคุณภาพหนังไทยที่สู้หนังต่างประเทศไม่ได้ เพราะความโดดเด่นในแง่งานสร้าง ทั้งการกำกับศิลป์ การแต่งหน้า การกำกับภาพที่พิถีพิถัน ฉากพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านการค้นคว้าข้อมูลลงรายละเอียดมากขึ้น จนกลายเป็นภาพแปลกตาจากหนังและละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคในช่วงเวลาเดียวกัน
นางนาก ตัวเอกในหนังเรื่องนี้ก็ผิดจากภาพจำของคนทั่วไปที่รับรู้เกี่ยวกับตำนานเรื่องนี้ ซึ่งมักคุ้นชินกับสาวผมยาว ห่มสไบ กลายเป็นหญิงไทยผมสั้นทรงดอกกระทุ่ม นุ่งผ้าแถบสีมอ เคี้ยวหมากฟันดำ ถ่ายทอดด้วยการเล่าความสัมพันธ์อยู่กินกับไอ้มากผัวหนุ่มที่กลับจากไปรบในสงคราม ไม่ได้รับรู้ว่าเมียตายจากไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้รีบร้อนสร้างจังหวะให้คนดูต้องตกใจกลัว จนเราสัมผัสได้ถึงความรัก ความผูกพัน ความเป็นมนุษย์จากผีตนนี้
นางนากจึงไม่ใช่เพียงแค่ผีตายทั้งกลมที่มีแต่ความดุร้ายคอยอาละวาดหลอกผู้คนถ่ายเดียวเหมือนภาพจำในอดีต
คนชายขอบ
ในช่วงหลังปี ๒๕๔๕ ขณะที่วงการหนังไทยเริ่มกลับมาคึกคักจากหนังที่ทำเงิน และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดวีซีดีและดีวีดีที่เริ่มสร้างมาตรฐานบางอย่างในการผลิตสื่อการคว้ารางวัล Jury Prize ของหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด (ปี ๒๕๔๗-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำกับ) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งนับเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลจากเทศกาลหนังระดับโลกได้ ก็ทำให้เกิดการถกเถียงถึงนิยามของคุณภาพหนังที่ดีมีคุณค่าทางศิลปะอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ทั้งการเตรียมงานสร้าง เนื้อหา วิธีการเล่าเรื่อง และการคัดเลือกนักแสดงที่ต่างออกไปจากขนบในยุคนั้น
เป็นการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับตระกูลหนังในบ้านเราไปโดยสิ้นเชิง เพราะคงยากจะชี้ชัดว่างานของอภิชาติพงศ์เรื่องนี้เป็นหนังแนวไหน หนังรัก หนังไซไฟ หนังผี หรือหนังทดลอง
สัตว์ประหลาด แบ่งหนังเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ในส่วนแรกเป็นเรื่องราวความรักของชายหนุ่มสองคน โต้ง คนงานโรงงานน้ำแข็ง และเก่ง ทหารหนุ่ม ก่อนที่จะจบส่วนนี้โต้ง
ค่อย ๆ เดินหายลับไปในป่า หากครึ่งหลังกลายเป็นเรื่องราวเหนือจริงคล้ายนิทานพื้นบ้าน กับการตามล่าเสือสมิงกินคนในป่าอันมืดมิดของทหารคนหนึ่งขับเน้นด้วยบรรยากาศลึกลับทั้งภาพและเสียง ที่ไม่ว่ามนุษย์หรือผีปีศาจก็เป็นส่วนเล็กจ้อยของป่าแห่งนั้น
สัตว์ประหลาด
ขณะเดียวกันรูปลักษณ์ของเสือสมิง ผีตามความเชื่อของไทยซึ่งมีรูปร่างคล้ายเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่เกิดจากคาถาทางไสยศาสตร์ ก็ลดทอนเหลือเพียงชายเปลือยกายท่าทางดุร้ายที่ถูกระบายลวดลายบนร่างกายเท่านั้น
แม้ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ หากงานชิ้นนี้ก็ทำให้วงการหนังอิสระของไทยเติบโตขึ้น เกิดการตีความหนังอย่างหลากหลายทั้งนิยามเรื่องความเป็นไทย ความรักที่ไม่มีทางออกของเพศที่ ๓ ในสังคมไทย ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท หรือเป็นแค่เพียงการตามหาคนรักของทหารหนุ่มกลางป่าซึ่งถูกเสือสมิงกินร่างไปเท่านั้น
หนึ่งในประเด็นที่ปรากฏในงานของอภิชาติพงศ์เสมอคือการสะท้อนชีวิตคนชายขอบในชนบท ที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตสวยงาม ธรรมชาติที่ไม่ได้มีเพียงความรื่นรมย์ดังภาพจำของสื่อ ด้านหนึ่งพวกเขาก็เก็บงำความทุกข์มากมายโดยไม่ได้แสดงออก ขาดการเหลียวแลและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่ง สัตว์ประหลาด ได้นำเอาผีมาเป็นภาพแทนของทั้งคนชายขอบและเพศที่ ๓ ไปพร้อม ๆ กัน
“ผี” ที่สะท้อน
สังคมปัจจุบัน
แม้ผีที่นำมาเล่าเป็นตำนานพื้นบ้านเก่าแก่ แต่หลายเรื่องก็นำมาตีความใส่เนื้อหาและรายละเอียดที่สะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัย เพื่อสื่อสารกับคนดูยุคปัจจุบัน
หลังความสำเร็จของ นางนาก ผ่านไปหลายปีและตำนานเรื่องนี้ได้นำมาสร้างใหม่หลายต่อหลายครั้งในที่สุดหนังเกี่ยวกับแม่นากก็กลับมาประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลอีกครั้งผ่านการตีความใหม่ใน พี่มาก..พระโขนง (ปี ๒๕๕๖-บรรจง ปิสัญธนะกูล กำกับ)
เริ่มต้นมันเหมือนจะเป็นงานต่อยอดความสำเร็จจากหนังสั้นแนวตลกปนสยองขวัญตอน “คนกลาง” และ “คนกอง” จากภาพยนตร์เรื่อง สี่แพร่ง (ปี ๒๕๕๑) และ ห้าแพร่ง (ปี ๒๕๕๒) ด้วยการนำสี่นักแสดงจากหนังสองเรื่องนั้นกลับมาแสดงในบุคลิกคล้ายเดิมในฐานะเพื่อนของไอ้มาก (มาริโอ้
เมาเร่อ) ขณะเดินทางกลับไปหาอีนาคคนรัก หากมันก็ได้ผลลัพธ์ที่ตีความตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนงจนกลายเป็นรสชาติใหม่ขึ้นมา
ทั้งการตีความใหม่ให้ตำนานเรื่องนี้กลายเป็นหนังตลก-โรแมนติก เน้นการเล่าผ่านมุมมองของไอ้มากกับเพื่อนเป็นหลัก เติมแต่งด้วยบทสนทนาที่เต็มไปด้วยมุก ศัพท์สแลง และบริบทร่วมสมัยไปในหนังย้อนยุค มากกว่าจะเน้นรายละเอียดของตัวเอกทั้งสองเหมือนครั้งอดีต ขณะเดียวกันการเล่นกับฉากจำอย่างฉากเก็บลูกมะนาวการมองลอดหว่างขา กินของเน่าเสีย ทำให้ตัวหนังเป็นเสมือนการล้อเลียน นางนาก (ปี ๒๕๔๒) ที่เคยประสบความสำเร็จไปในตัว
ก่อนที่ในตอนท้าย พี่มาก..พระโขนงจะตอกย้ำประเด็น “ผีอยู่ร่วมกับคนไม่ได้” ใหม่ ให้ไอ้มากกับอีนาคมีสถานะเหมือนเป็นอื่นจากผู้คนในหมู่บ้าน ได้มีโอกาสพูดคุยเปิดอกกับชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหวังจะอยู่รวมกันอย่างสันติ
นี่คือการนำเสนอความขัดแย้งระหว่าง “ผี” กับ “คน” ในช่วงเวลาที่สังคมไทยในขณะนั้น (ช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๖) อยู่ในช่วงที่ผู้คนมีความเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันเป็นสองฝัก
สองฝ่าย
ประเด็นดังกล่าวยังถูกใส่ไว้ในอีกหนึ่งผีพื้นบ้านไทยที่ถูกนำมาตีความใหม่บ่อยครั้งเช่นกันคือผีกระสือ ผีสาวที่ออกหากินของคาวหรือสิ่งปฏิกูลยามค่ำคืน ในสภาพเหลือเพียงศีรษะกับตับไตไส้พุงล่องลอยส่องแสงเรือง ๆ
ภาพยนตร์เรื่อง แสงกระสือ (ปี ๒๕๖๒-สิทธิศิริ มงคลศิริ กำกับ) อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่ผีกระสือถูกตีความให้มีลักษณะน่าเห็นอกเห็นใจ ดังในละครโทรทัศน์เรื่อง กระสือ (ปี ๒๕๓๗-ช่อง ๗) นางเอกของเรื่องเป็นกระสือที่มีความรัก ความน่าเวทนา จากการต้องสืบเชื้อสายดังกล่าว แต่หนังเรื่องนี้ก็ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมทั้งประเด็นทางสังคมและการใส่ความเป็นหนังไซไฟ อธิบายเหตุผลการกลายเป็นผีกระสือแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ต่างกับโรคร้ายจากว่านชนิดหนึ่ง
แสงกระสือ
แสงกระสือ เล่าเหตุการณ์รักสามเส้าราวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ ตัวเอกสามคน สาย น้อย และเจิด ที่สนิทกันมาแต่เล็กได้โตขึ้นเป็นวัยรุ่น
สายกับน้อยวาดหวังถึงอนาคตที่เจริญก้าวหน้าในอาชีพด้านสาธารณสุขเพื่อออกไปจากหมู่บ้านในชนบท หากไม่นานด้วยข่าวลือถึงผีกระสือที่แพร่กระจายมาถึงที่นี่ นักล่ากระสือที่เข้ามาได้ปลุกกระแสความหวาดกลัวจนการล่าใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ แม้สายจะเป็นเด็กสาวซึ่งได้รับเชื้อกระสือตั้งแต่อดีต แต่เธอไม่เคยทำอันตรายใคร
กระสือสายกลายเป็นตัวแทนของความแปลกแยกจากคนในหมู่บ้าน หนังแสดงความรู้สึกเป็นอื่นนับตั้งแต่ฉากแรกที่เราเห็นเธอเป็นวัยรุ่นและพบกับเลือดประจำเดือนเป็นครั้งแรก…ในเวลาต่อมาเมื่อน้อยได้รับรู้ว่าสายกลายเป็นกระสือ แทนที่จะรังเกียจหรือหวาดกลัว ทั้งคู่เลือกที่จะหาสาเหตุอาการดังกล่าวด้วยการค้นคว้าหาความรู้จนได้คำตอบ
ตัวเอกทั้งสองจึงเป็นเสมือนภาพแทนคนรุ่นใหม่ที่เกิดช่องว่างระหว่างวัยกับคนรุ่นเก่า ถูกเปรียบเทียบไม่ต่างจากผีที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้กับมนุษย์
สถานการณ์ในหนังที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจาก “การล่าแม่มด” ยังกลายเป็นภาพแทนความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
…
แม้ในปัจจุบันหลายคนจะประเมินหนังสยองขวัญในไทยว่าความนิยมลดลงไปมาก หากเรื่องเล่าลึกลับ รวมถึงตำนานผีพื้นบ้านต่าง ๆ นั้นยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์
เชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นการมองผีในมิติอื่น ๆ ที่เป็นดังปฏิกิริยาต่อสังคมขณะนั้น
คนทรง
บทสมทบที่
รอวันฉายแสง
แม้การนับถือผีในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติผ่านสื่อกลางอย่างร่างทรง จะนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บางประเพณีในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน หากในสื่อบันเทิงหรือภาพยนตร์ไทย คนทรงหรือร่างทรงนั้นมักไม่ได้ถูกถ่ายทอดในเชิงลึกให้เห็นแง่มุมอื่น
ส่วนใหญ่การเข้าทรงมักถูกมองเป็นเพียงพิธีกรรมหลอกลวงชาวบ้าน คนทรงปรากฏทั้งในฐานะตัวละครหลักหรือตัวละครสมทบเพื่อสร้างสีสันบางอย่างเท่านั้น เช่น ละครโทรทัศน์อย่าง หนุ่มทิพย์ (ปี ๒๕๓๐) เจ้าแม่จำเป็น (ปี ๒๕๔๔ และปี ๒๕๕๕) หรือภาพยนตร์เรื่อง บุปผาราตรี (ปี ๒๕๔๖) ส้มป่อย (ปี ๒๕๖๔) โดยมีงานโดดเด่นน่ากล่าวถึงจำนวนหนึ่ง ได้แก่
คนทรงเจ้า
คนทรงเจ้า (ปี ๒๕๓๒-“แจ๊สสยาม” กำกับ) ผลงานดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ วิมล ไทรนิ่มนวล เล่าถึง ขาม ชายผู้มองว่าการนับถือเจ้าพ่อไทรของหมู่บ้านเป็นเรื่องงมงายไร้สาระรุกล้ำที่ทำกินของตน หากชะตาชีวิตของเขาที่แข็งขืนต่อต้านนั้นกลับส่งผลร้ายให้ลูกชายป่วยหนักจนเสียชีวิต วันที่ขามตัดสินใจจะไปโค่นต้นไทรทิ้ง เขาก็หมดสติ มีอาการคล้ายเจ้าพ่อมาประทับร่าง แล้วชะตาชีวิตก็เปลี่ยนไปจากที่ชาวบ้านชิงชัง กลายเป็นคนทรงที่แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านยังกราบไหว้ยำเกรง
หนังพาเราให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของขาม จากชายคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความเชื่อเช่นเดียวกับคนในหมู่บ้าน ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนกลายเป็นคนละคนจากอำนาจที่ได้รับ ซึ่งแม้จะได้รับเสียงชื่นชมและรางวัลด้านภาพยนตร์ หาก คนทรงเจ้า นับว่านำเสนอประเด็นที่จริงจังและใหม่สำหรับยุคนั้น จนไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้
ใน ร่างทรง (ปี ๒๕๖๔-บรรจง ปิสัญธนะกูล กำกับ) ผลงานร่วมสร้างระหว่างเกาหลีใต้-ไทย ที่พาไปสำรวจครอบครัวที่สืบเชื้อสายร่างทรง “ย่าบาหยัน” ผีบรรพบุรุษที่ปกปักรักษาหมู่บ้านมาหลายชั่วอายุคน ก่อนจะพบเหตุการณ์แปลกประหลาดของหลานสาวคนเดียวในบ้าน
ร่างทรง
แม้หนังจะนำเสนอเหตุการณ์ทางภาคอีสานในรูปแบบสารคดีหลอก (mockumentary) ทั้งในรูปแบบการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ใช้นักแสดงที่ไม่มีชื่อเสียงพูดภาษาอีสาน รวมถึงการถ่ายภาพประเพณีของหมู่บ้านที่ดูสมจริงเสมือนเป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่งที่สืบทอดต่อกันมา โดยมีบทสรุปแบบปลายเปิด หากทั้งใน ร่างทรง และ คน ทรง ผี (ปี ๒๕๖๓) ที่ออกฉายไล่เลี่ยกัน ต่างก็สะท้อนความเสื่อมถอยของความเชื่อแนววิญญาณนิยมที่ถูกตั้งคำถาม การเข้ามาของศาสนา ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และผีฝ่ายร้าย ที่สั่นคลอนจิตใจมนุษย์จนหวั่นไหวไม่อาจนับถือผีได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตรงกันข้ามกับ บูชา (ปี ๒๕๖๔) หนังสารคดีของ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ที่ทำหน้าที่ทั้งกำกับ ถ่ายภาพ และตัดต่อ ที่ยังคงการถ่ายทอดบรรยากาศของคลื่นความศรัทธาที่ปรากฏอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งความศรัทธาต่อพุทธศาสนา เจ้าป่าเจ้าเขา และเทศกาลต่าง ๆ เป็นหลัก โดยฉากที่เกี่ยวข้องกับคนทรงในตอนท้ายก็โดดเด่นจนต้องหยิบยกมากล่าวถึง
เดิมในงานเก่าของอุรุพงศ์ อย่าง เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ (ปี ๒๕๔๘) หรือ สวรรค์บ้านนา (ปี ๒๕๕๒) เขามักเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับสารคดีที่ชอบถ่ายทอดวิถีชีวิตชนบท หากอีกด้านงานของเขายังโดดเด่นในการเลือกจับเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นโดยไม่มีการให้ข้อมูลทั้งตัวหนังสือหรือการสัมภาษณ์รายบุคคล แต่เน้นจับบรรยากาศต่าง ๆ ผ่านงานภาพที่บันทึกด้วยฝีมือของคนที่จัดเจนในศิลปะการจัดวางองค์ประกอบภาพ
เราอาจคุ้นชินกับม้าทรงหรือคนทรงที่เทพมาประทับร่างก่อนจะใช้ของมีคมแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในเทศกาลกินเจ จังหวัดภูเก็ต จากสื่อต่าง ๆ มาบ้าง หากเมื่อถูกถ่ายทอดด้วยเทคนิคดังกล่าว บรรยากาศของงานที่เต็มไปด้วยผู้คนตลอดสองข้างทางความวุ่นวาย และประเพณีอื่น ๆ ที่สุ่มเสี่ยงทำให้บาดเจ็บใน บูชา ประกอบรวมเข้ากับภาพพิธีกรรมทางพุทธศาสนาตามภูมิภาคต่าง ๆ ก่อนหน้าในหนังสารคดี จนชวนให้เกิดคำถามว่าแท้จริงมวลรวมของความศรัทธาเหล่านั้นไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด
บูชา
สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นจุดเชื่อมในงานทั้งสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมาได้อย่างน่าสนใจ คือคำถามถึงแรงศรัทธาที่มากมายมหาศาลของผู้คนต่อความเชื่อในคนทรงเหล่านั้นเกิดจากอะไร ?
หนังทั้งสามเลือกให้คำตอบแบบปลายเปิดแก่ผู้ชมเพื่อตีความกันเอง หากเราก็สัมผัสได้ถึงความทุกข์ที่ท่วมท้น ไม่ว่าจะตัวของคนทรงหรือชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา บ้างด้วยเรื่องขัดสนในทุนทรัพย์ ความหวังต่ออนาคต หรือทุกข์ที่เกิดจากปัญหาในชนบท ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ หรือสังคมที่ไม่ได้มีทางเลือกในชีวิตมากเพียงพอ…
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของตัวละครคนทรงที่มักไม่ได้ปรากฏมากนักในหนังไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้แต่ในหนังต่างประเทศส่วนใหญ่ ชีวิตของคนทรงก็ไม่ได้ถูกนำมาบอกเล่ามากนัก เพราะในเรื่องแนวเดียวกันตัวละครอย่างภูตผีปีศาจ คนปราบผี คนที่ถูกสิงสู่มักมีบทบาทโดดเด่นกว่า
แต่หลังความสำเร็จในระดับนานาชาติของ The Wailing (ค.ศ. ๒๐๑๖-นาฮง-จิน กำกับ) หนังสยองขวัญจากเกาหลีใต้ที่โดดเด่นด้วยการให้รายละเอียดของพิธีเข้าทรงบอกเล่าชะตาชีวิตของครอบครัวตำรวจชั้นผู้น้อยในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งได้อย่างน่าสะเทือนใจ ผู้กำกับนาฮง-จินมีส่วนผลักดันให้เกิดการสร้างเรื่องราวและตัวละครใน ร่างทรง ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง และผู้เขียนเนื้อเรื่องเริ่มต้น ก่อนจะติดต่อผู้กำกับไทยอย่าง บรรจง ปิสัญธนะกูล ให้มากำกับและพัฒนาเรื่องใหม่อีกครั้ง
และการที่หนังเรื่อง ร่างทรง ประสบความสำเร็จด้านรายได้และคำวิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศ น่าจะมีส่วนให้เกิดโอกาสนำเสนอตัวละครคนทรง ได้ถูกถ่ายทอดลงสื่อเพื่อตีความและเจาะลึกในแง่มุมอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น