Image

เมื่อเกิดการเจ็บไข้ที่หาสาเหตุุไม่ได้ ชาวกวยจะจัดแกลมอ-แกลออ รักษาคนป่วยที่ผ่านการเสี่ยงทายแล้วว่าเกิดจากการกระทำของผี  เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักการแพทย์สมัยใหม่ แต่จะอย่างไรการร่ายรำ เสียงดนตรี และความสามัคคีพร้อมหน้าของญาติพี่่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชน ก็คงมีส่วนช่วยฟื้นฟููจิตใจคนไข้ได้เป็นอย่างดี 

แกลมอ แกลออ*
รำผีฟ้าชาวกวย

ศาสนาผีอีสานใต้

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“พี่ชายผมพอได้ยินเสียงแคน 
ฟ้อนมาเลย”

สังคม อบอุ่น กำนันตำบลสะโน อำเภอสำโรงทาบจังหวัดสุรินทร์ เล่าความหลังที่ทำให้เขา “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ” ต่อสิ่งที่เรียกว่า “มอ-ออ” หรือผีบรรพบุรุษของชาวกวย กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งของอีสานใต้

“บรรพชนของเราอพยพมาจากเมืองอัตตะปือ ประเทศลาว การเล่นแกลมอ-แกลออ เป็นการถือผีและการตามหาเหลนโหลนของผีบรรพบุรุษ ที่อยากอยู่กับทายาทคนนั้นคนนี้”

เช่นเดียวกับแม่ของเขาที่จากโลกไปแล้วต้องการผู้สืบต่อ

“แม่อยากอยู่กับลูกสักคน เราเข้านั่งในพิธีกันสี่คนพี่น้อง พี่ชายอีกคนไม่อยากได้ ไม่อยากให้อยู่ด้วย อาสาออกไปเลี้ยงควายในทุ่ง พอได้ยินเสียงแคนจากที่บ้านเท่านั้นแหละ ฟ้อนมาเลย”

กำนันสังคมพูดในนามของพี่น้องชาวกวยว่า คนกวยในถิ่นอีสานใต้ล้วนเชื่อว่าผีบรรพบุรุษของเขาจะคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ

การนับถือผีเป็นจารีตประเพณีของชาวอีสานมาตั้งแต่โบราณก่อนมีการนับถือพุทธศาสนา ชาวอีสานเชื่อว่าแม้ตายไปอยู่คนละภพ ผีบรรพบุรุษยังให้ความคุ้มครองดูแลแก่ลูกหลาน จึงร่วมกันทำพิธีกรรมแสดงความเคารพบูชาบรรพบุรุษของตน เพื่อบวงสรวงและขอพร

* แกลมอ-แกลออ พิธีกรรมบำบัดโรคด้วยดนตรี การฟ้อนรำ และการทำพิธีกรรมความเชื่อของชาติพันธุ์กวย หรือกูย หรือส่วย ในพื้นที่อีสานใต้ เช่นเดียวกับการ “รำผีฟ้า” ของชาติ-พันธุ์ลาว และ “การรำแม่มด” หรือเรือมมะม็วต ของชาติพันธุ์เขมร

Image

จัดข้าวของเครื่องเซ่นตอนเช้าวันทำพิธี เตรียมด้ายฝ้าย เย็บบายศรี  ดอกไม้ หมากพลู บุหรี่ ยาเส้น  

ชาวกวยจะจัดแกลมอ-แกลออ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ ใช้รักษาคนป่วยที่ผ่านการเสี่ยงทายแล้วว่าเกิดจากสิ่งมองไม่เห็นซึ่งมีอำนาจเหนือมนุษย์

“ให้ผีช่วยดูแลรักษาคุ้มครองลูกหลาน สมัยโบราณจะหาหมอที่ไหนในป่าดง จนเมื่อมีโรงพยาบาลแล้วก็รักษาโรคนี้ไม่ได้ถึงเวลาก็มาบีบมาเตือน บีบเด็กน้อยคนที่เรารัก กินยาก็ไม่หาย ตรวจกับหมอไม่พบอะไร แต่ดูหมอสัมผัสได้ บอกว่ามอทำ ก็เล่นแกลมอรักษาไข้  พอหายก็มาเล่นแกลออ”

ทำนองเดียวกับการรำแม่มดของชาวชาติพันธุ์เขมร หรือการรำผีฟ้าของชาติพันธุ์ลาว ที่เรียกในอีกชื่อว่าแถน ผีบรรพบุรุษของชนชั้นสูงที่ตายแล้วถูกส่งขึ้นอยู่บนฟ้าเป็นแถนคุ้มครองดูแลชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์กล่าวกันว่า แถน มาจาก เทียน ในภาษาฮั่น แปลว่าเป็นใหญ่บนท้องฟ้า

“แกลมอสนุกตรงที่แย่งช้างม้ากัน ฝ่ายหนึ่งมาแย่ง บางทีสามคนยังเอาไว้ไม่อยู่ มันเสียดายจริงจนน้ำตาไหลเหมือนสมัยบรรพบุรุษที่โดนโจรปล้นระหว่างทาง ต้องชิงเอาคืนมาให้ได้”

ช้างม้าที่ผู้อาวุโสชาวกวยเล่าถึง เป็นตุ๊กตารูปสัตว์ทำจากไม้ยอ ใช้เล่นในพิธีกรรมแกลมอ แสดงความหวงแหนในช้างม้าของตน ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของสัตว์พาหนะในห้วงคืนวันการเดินทางอพยพจากตอนใต้สุดของลาว เข้ามาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในถิ่นอีสานใต้ ที่เรียกว่าชาวกวย กูย หรือส่วย

Image

เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย แต่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ในอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์  และเป็นคนดั้งเดิมทั้งหมดของตำบลสะโน ซึ่งมีวัดอยู่แทบทุกหมู่บ้าน แต่ความเชื่อเรื่องผียังมีอยู่เหนียวแน่น ถึงขนาดที่เล่ากันว่ามีเล่นมอ-ออ กันอยู่แทบทุกวัน ด้วยจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กัน แต่สาระหลักของเรื่องนี้อยู่ที่การใช้พิธีกรรมบำบัด เล่นดนตรีและเชิญผีมาฟ้อนรำรักษาไข้

แม่ใหญ่คนหนึ่งของบ้านนายาว ตำบลสะโน จากลูกหลานไปสักพักแล้ว หลังจากนั้นไม่นานลูกชายคนหนึ่งของครอบครัวก็เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้และยังรักษาไม่หาย ทุกคนเหมือนรู้กันอยู่ในทีว่าแม่ใหญ่ต้องการคนสืบต่อ จึงจัดแกลออขึ้นในช่วงก่อนวันสงกรานต์ ๒๕๖๖ ซึ่งลูกหลานกลับบ้านมาพร้อมหน้าทั้งครอบครัวตั้งแต่ก่อนวันงาน

ปลูกปะรำพิธีสี่เสานอกตัวบ้าน หลังคาราบมุงด้วยใบมะพร้าว ตรงกลางปะรำวางเครื่องเซ่น กล้วยน้ำว้า ข้าวต้มมัด ข้าวตอก หมากพลู บุหรี่ เหล้าขาว น้ำดื่ม ดอกไม้ บายศรี แป้ง หวี กระจก ผ้าไหม สไบ ดาบโบราณ

เครื่องดนตรีใช้แคนนำกับกลองโทน

นางเทียม หรือคนที่จะมาเข้าทรงและร่วมรำในพิธี ต่างมีผีบรรพบุรุษของตนที่จะมาเข้าทรง เพื่อเกษมสำราญได้พบปะพี่น้องลูกหลาน และสำคัญที่สุดคือช่วยให้เจ้าของบ้านได้ผู้รับสืบทอดคนใหม่

พวกนางมาในชุดประจำเผ่า เสื้อทอมือลายลูกแก้วแขนยาวสีดำ พาดสไบสีเหลืองนวลตามธรรมชาติของเส้นไหมไม่ย้อม นุ่งซิ่นไหมปลายชายทอลายวิจิตร

ในชีวิตปรกติประจำวัน หญิงหลากวัยเหล่านี้เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นนักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้นำกลุ่มแม่บ้านในตำบล ฯลฯ แต่อีกบทบาทหนึ่งในวันนี้ทุกคนมาในฐานะนางเทียม คนทรงผีบรรพบุรุษ

ก่อนพิธีกรรมในปะรำจะเริ่มต้น แม่ครูมอ-ออ ขึ้นไปบนบ้านไหว้หิ้งนางออ ที่มีรูปช้างม้าไม้แกะสลัก เป็นหิ้งบรรพบุรุษประจำตระกูล ใต้หิ้งมีหมอน เครื่องเซ่น บายศรีกรวยขัน ๕ ดอกไม้ พวงมาลัย  บอกกล่าวและเชิญมายังปะรำพิธี

คนที่จะเข้าทรงเพื่อร่วมรำจะใช้พวงมาลัยดอกจำปา (หรือดอกลีลาวดี) คล้องใบหู และนำ ช่อดอกไปไหว้บอกกล่าวคนในพิธี และผู้อาวุโสจะประแป้งให้พร 

เสียงแคนนำเข้าสู่พิธีกรรม แม่ครูเข้าทรงแล้วรำและตรวจความเรียบร้อยของเครื่องประกอบพิธี จากนั้นนางเทียมก็เริ่มนั่งทรง ใครเข้าทรงก็ลุกขึ้นฟ้อนไปตามบุคลิกท่วงท่าของผู้ที่มาเข้าทรง และช่วยสร้างบรรยากาศเร่งเร้าให้คนที่นั่งลงเสี่ยงเป็นผู้รับสืบทอดเข้าทรงไว ๆ ด้วย

ผู้มาร่วมรำจะนั่งล้อมด้านใน สวมพวงมาลัยดอกจำปาหรือดอกลีลาวดี บูชาครูกำเนิดที่เชิญมาเข้าทรงนำขันครูที่จุดเทียนหนึ่งเล่มวางไว้ตรงหน้า  แรกเข้าจะสั่นเทิ้ม มือที่พนมสะบัดเร็วและแรง  บางทีกระแทกขันหรือตบมือลงกับพื้น ตัวสั่น นั่นแสดงว่าเริ่มเข้าทรงแล้ว

มีการพูดจาถามไถ่ต่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษคนไหน ต้องการอะไรบ้าง ขอให้ช่วยดูแลรักษา และขอพรให้ลูกหลาน จากนั้นก็ลุกขึ้นร่ายรำตามจังหวะดนตรีที่บรรเลงอยู่

บางคนมีดาบไม้สมมุติเป็นอาวุธประจำตัวประกอบการร่ายรำ บางคนร้องลำเสียงโหยหวนไปตามจังหวะบ้างดื่มสุราพร้อมเคี้ยวหมากไปด้วย และเล่ากันว่านางเทียมบางคนปรกติฟ้อนไม่เป็น เมื่อผีฟ้าเข้าทรงก็ฟ้อนรำได้เอง

อาจไม่กี่นาทีหรือยาวนานหลายนาทีจนกว่าจะพอใจ เมื่อครูจะออก ร่างทรงจะเอามือลูบหน้า แล้วลืมตากลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง

ลูกและหลาน (ลูกของลูก) เข้ามานั่งล้อมกันอยู่หน้าพิธีทำนองดนตรีเร่งเร้า และหลายคนฟ้อนรำอยู่รายล้อมบ้างเข้ามาปรบมือเร่งเร้าอยู่ใกล้ ๆ ร้องลำ และร่ายรำโอบหน้าโอบหลัง แต่แม่ใหญ่ยังไม่ยอมเข้าใคร

ทั้งลูกสาวลูกชายและหลานสาวหมุนเวียนกันเข้ามานั่งทีละคน หยิบมาลัยดอกลีลาวดีที่คนอีสานเรียกดอกจำปามาสวมใบหู เป็นสัญลักษณ์หมายให้ผีมาลง ลูกชายหยิบผ้าถุงและเสื้อของแม่มาสวมรอไว้ด้วย

แต่แม่ใหญ่ยังไม่เข้าทรงใครสักคน

การหาร่างทรงใหม่บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หญิงที่นั่งกลางวงในภาพเป็นทายาทที่เต็มใจจะรับ  แต่ผีบรรพบุรุษที่กำลังหาร่างทรงไปเข้าหญิงอีกคนแล้วร้องห่มร้องไห้บอกว่าอยากอยู่กับหลานชายคนนี้ ซึ่งเขาไม่อยากรับ เนื่องจากเวลานี้เป็นร่างทรงของบรรพบุรุษหลายคนอยู่แล้ว

ในพิธีแกลมอ-แกลออ ทุกคนจะมาในชุดประจำเผ่ากวย เสื้อแขนยาวสีดำผ้าฝ้ายทอลายลูกแก้ว คาดสไบ นุ่งซิ่นไหมต่อชายทอลวดลายวิจิตร  แต่เมื่อบรรพบุรุษที่เป็นชายมาเข้าทรงจะหยิบโสร่งมาสวมทับ แต่งตัวเป็นผู้ชายและร่ายรำไปจนกว่าผู้มาทรงจะพอใจ ซึ่งอาจเพียงชั่วครู่หรือต่อเนื่องไปทั้งวันจนจบพิธี

Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image

การร่ายรำดำเนินต่อไป จากเช้าจนใกล้เที่ยง ทุกคนเหงื่อไหลชุ่มกาย แต่ไม่เห็นใครมีเค้าความเหน็ดเหนื่อย อาจเป็นเพราะมีคนอื่นในร่างกำลังพารำไป

ดนตรียังคงบรรเลง และใครอื่นยังคงหมุนเวียนเข้าออกร่างทรงอยู่ตลอด  แม่ใหญ่เจ้าของบ้านเข้าทรงนางเทียมคนนั้นนี้อยู่สองสามครั้ง เพื่อบอกความต้องการบางอย่าง รวมทั้งบอกว่าอยากอยู่กับใคร

ช่วงหนึ่งนางเข้าทรง เพชรสยาม อบอุ่น ภรรยาของกำนันสังคม เธอร้องไห้ตั้งแต่เริ่มเข้าทรง เหงื่อปนน้ำตาไหลอาบใบหน้า สักพักตะโกนเรียกชื่อหลานสาวคนโปรดขึ้นเสียงดังแข่งกับเสียงดนตรี คนในงานร้องบอกต่อ ๆ ช่วยกันเรียกหา พอเด็กสาวออกมาพบหน้า ย่า (ในร่างทรง) ก็กอดหลานแน่นแล้วต่างไห้โฮ

แต่ครั้นเด็กสาวลองนั่งในพิธี ผีย่าก็ไม่เข้าทรง

ตอนใกล้เที่ยง ชายวัยกลางคนร่างเล็กผิวเข้ม ผมสั้นเกรียนเห็นหนังศีรษะ เดินดิ่งเข้ามายังปะรำพิธี สายตาแทบทุกคู่มองไปที่เขา คนในพิธีต่างรู้กันว่าแม่ใหญ่อยากอยู่กับเขา

แต่ชายร่างเล็กบอกว่ามีใครหลายคนในตระกูลอยู่กับเขาแล้ว และกับแม่ใหญ่เขานับเป็นชั้นหลาน (ลูกของพี่หรือน้อง) อยากให้อยู่กับลูกตัวเองมากกว่า

เขาจึงยังไม่ใจอ่อนเข้าไปนั่งให้เข้าทรง

ลูก ๆ ในครอบครัวยังหมุนเวียนกันเข้ามานั่ง หวังให้แม่ใหญ่ยอมมาอยู่ด้วย แต่ยังไม่เป็นผล

จนล่วงบ่าย นางเทียมยังร่ายรำกันไป แต่ยังหาร่างทรงแม่ใหญ่ไม่ได้ ตะวันคล้อยดวงลงไปเรื่อย ๆ แกลออต้องจบก่อนสิ้นแสงตะวัน ถ้าแม่ใหญ่ยังไม่ได้อยู่กับใคร ถือว่าพิธียังไม่ลุล่วง ไม่นานหลังจากนี้ยังต้องจัดกันใหม่

เมื่อยังหาผู้สืบทอดไม่ได้ถือว่าพิธีกรรมครั้งนี้ยังไม่จบสิ้นสมบูรณ์  แต่ชาวกวยท้องถิ่นต่างเชื่อว่าการร่ายรำ ดนตรี และความสามัคคีกลมเกลียวของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชนที่มาชุมนุมพร้อมหน้า คงช่วยฟื้นฟูเยียวยาประคองจิตใจคนไข้ไปได้บ้าง 

ระหว่างรอแกลมอ-แกลออครั้งต่อไป  

ขอบคุณพิเศษ
จิรารัตน์ ระดมบุญ, ภิรมย์ สระแก้ว, 
วัน ธรรมนุช และครอบครัว