Image

วัดขุนสมุทราวาส หรือวัดขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในอดีตเคยมีเนื้อที่มากกว่า ๗๖ ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๕ ไร่เศษ ผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทำให้แผ่นดินโดยรอบวัดมลายหายไปกับน้ำ  ในแต่ละปีชาวบ้านต้องช่วยกันจัดทอดกฐินหาเงินมาบูรณะซ่อมแซมวัด เสริมสร้างกำแพงเขื่อนหินทิ้งเพื่อให้วัดยังยืนหยัดอยู่ได้ 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

SINKING BANGKOK
กรุงเทพฯ จมน้ำ
อยู่ต่อหรือย้ายเมือง (หลวง) ?

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

Image

ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ
ความสูงประมาณ ๑ เมตรจากระดับน้ำทะเล

“มันขึ้นกับดวงจันทร์ น้ำขึ้นน้ำลงอยู่กับดวงจันทร์” ชายหนุ่มคนนั้นเอ่ยขึ้นทันที เมื่อรู้ว่าผมมาเก็บข้อมูลน้ำท่วมตลาดปากน้ำ

“พูดไปเรื่อย”

หญิงสาวข้าง ๆ ร้องสวนคัดค้าน ดูจากเสื้อผ้าแล้ว พวกเขาคงไม่ใช่คนปากน้ำแต่อย่างใด

“อ้าว ! จริง ๆ”
“สาระเกินไปไม่น่าเชื่อถือ”
“ความรู้มันอยู่บนท้องฟ้า”
“เดี๋ยว ตรงนี้มีน้ำท่วมด้วยเหรอ”
ใครอีกหลายคนในวงริมแม่น้ำเจ้าพระยาพากันทักขึ้น

“อยากจะให้ท่วมหรือไม่ท่วม จมหรือไม่จม ไปตกลงกับดวงจันทร์เสียให้เรียบร้อย”

ผมได้ยินเสียงหัวเราะไล่ตามหลัง อดยิ้มไม่ได้กับอารมณ์ขันที่พบเข้าอย่างไม่ตั้งใจ
. . .
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประกาศเตือนระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดเดือนมีนาคม แอดมินเพจ “เรารักพระสมุทรเจดีย์” เอาตัวเลขมาโพสต์ให้ลูกเพจเตรียมตัวรับมือน้ำ คำพยากรณ์บอกว่าเดือนนี้จะเกิดปรากฏการณ์ “น้ำทะเลหนุน” สองรอบ คือ วันที่ ๖-๘ และ ๑๙-๒๓ ช่วงที่ต้องเฝ้าระวังที่สุดคือวันที่ ๒๐-๒๑ ตั้งแต่ตี ๕ ถึง ๗ โมงเช้า ระดับน้ำจะสูงกว่าน้ำทะเลปานกลาง ๓.๙ เมตร

แต่สุดท้ายไม่มีเหตุน้ำท่วมตลาดปากน้ำ แอดมินเพจอธิบายว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ลม ฝน ฟ้า อากาศ ล้วนมีผลต่อระดับน้ำทะเล
. . .
“ตอนน้ำขึ้นสุดมาถึงนี่เลยนะ” เจ้าของร้านปลากรอบ ปลาแผ่น ปลาหมึกแห้งในตลาดชี้บอกระดับน้ำ มันสูงเกือบถึงแผงวางขายอาหาร แม่ค้าเล่าว่าเป็นเรื่องปรกติที่ตลาดปากน้ำจะเกิดน้ำท่วมยามน้ำทะเลหนุน

“บางวันน้ำแรกยังไม่สูงเท่าไร วันที่ ๒ วันที่ ๓ นี่สูง วันที่ ๔ วันที่ ๕ ถึงจะเบาลง แต่บางครั้งก็สูงตั้งแต่ต้น ยิ่งช่วงปลายปีท่วมหนักมาก” เธอบอกว่าแม่ค้าทุกคนต้องยอมรับสภาพ แต่สิ่งที่ยังทำใจไม่ได้คือพวกสัตว์มีพิษ

“จะมีพวกงูกับหนอนทะเลว่ายมากับน้ำ ต้องใส่รองเท้าบูตกันไว้ แล้วอีกอย่างตอนน้ำขึ้นใหม่ ๆ นี่เหม็นสุด ๆ ดำปี๋อย่างกับน้ำล้างท่อ”
. . .
ลึกเข้าไปในแผ่นดินสองฟากฝั่งเจ้าพระยา เหตุการณ์น้ำทะเลหนุนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตลาดปากน้ำ แต่แผ่อิทธิพลถึงตัวเมืองสมุทรปราการ ย่านสำโรง กรุงเทพ-มหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ที่อยู่ลึกเข้าไป  ถ้าวันไหนฝนตกพร้อม ๆ กับน้ำทะเลหนุน ก็ไม่ต่างจากสงครามระหว่างคนกับน้ำ

มีหลายคนบอกว่ากรุงเทพฯ กำลังจมน้ำ จากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แต่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อหรือคาดเดาอย่างเลื่อนลอย

ก่อนหน้าปี ๒๔๙๕ วัดขุนสมุทราวาสเคยตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้านห่างจากชายฝั่งร่วม ๒ กิโลเมตร ในปี ๒๕๓๔ (ภาพบน) ทะเลรุกเข้ามาประชิดถึงหน้าวัด 
ปัจจุบันวัดกลายเป็นเกาะห่างจากชายฝั่งประมาณ ๑ กิโลเมตร มีเพียงทางเดินปูนและป่าชายเลนเชื่อมแผ่นดินกับวัด

(ภาพถัดมา) พื้นโบสถ์วัดจมอยู่ใต้น้ำมานานหลายปี ต้องยกพื้นไม้ภายในโบสถ์รวมถึงทางเดินทั้งหมดให้สูงขึ้นเพื่อหนีน้ำ ขณะที่บ้านเรือน โรงเรียน ชุมชนรอบ ๆ จมน้ำหมดสิ้น ผู้คนพากันอพยพโยกย้ายออกหมดแล้ว 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

Image

มหานครแห่งความอ่อนไหว

ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาชี้ว่า เมื่อ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีก่อน น้ำทะเลเคยขึ้นไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนที่จะค่อย ๆ ถอยร่นลงมาตำแหน่งปัจจุบัน  ระดับน้ำทะเลเวลานั้นคาดว่าสูงกว่าปัจจุบันประมาณ ๔ เมตร

อ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัย “เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์” โดย ผ่องศรี วนาสิน
และ ทิวา ศุภจรรยา และโครงการวิจัย “ภูมิสัณฐานชายฝั่งทะเลโบราณ เมืองท่า เส้นทางการค้า และความเชื่อมโยงกับการตั้งถิ่นฐานแรกเริ่มในประเทศไทยในบริบทของภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว  ที่ตั้งของเมืองจันเสน (นครสวรรค์), อู่ทอง (สุพรรณบุรี), อินทร์บุรี (สิงห์บุรี), กำแพงแสน (นครปฐม),
ศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี), คูบัว (ราชบุรี) เคยเป็นชายฝั่งทะเล ขอบเขตการรุกสูงสุดของน้ำทะเลแผ่ถึงตัวเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ห่างจากทะเลปัจจุบัน

เมื่อน้ำทะเลลดระดับ แม่น้ำจากทางเหนือไหลพัดพาตะกอนเศษดินเศษหินลงมาจนถึงบริเวณปากแม่น้ำ เกิดการถมทับจนกลายเป็นชั้นดินเหนียวที่เรียกว่าที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง (the lower general plain) ในยุคทวารวดีผืนดินเกิดใหม่ตรงนี้เป็นที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล ตำแหน่งของกรุงเทพมหานครเป็นหาดเลนและผืนป่าชายเลนสมุทรสงคราม สมุทรสาคร บางขุนเทียน (กรุงเทพมหานคร) ปากน้ำ (สมุทรปราการ) เป็น “ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวารวดี” ปัจจุบันมีหลายจุดขุดพบซากเรือจมหรือกระดูกวาฬ เช่น แหล่งเรือจมบ้านขอม แหล่งเรือจมวัดวิสุทธิวราวาส สมุทรสาคร

ในยุคต้นของการตั้งถิ่นฐาน การสร้างบ้านแปงเมืองใกล้ชายฝั่งทะเลเป็น “ชุมชนขนาบน้ำ” หรือ “เมืองคูคลอง” กรุงเทพมหานครก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการตั้งถิ่นฐานในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ชาวตะวันตกรู้จักกันในชื่อ “เวนิสตะวันออก”

ปัจจุบันชั้นดินเหนียวที่รองรับกรุงเทพมหานครเรียกว่า“ดินเหนียวอ่อนกรุงเทพฯ” (Bangkok clay) มีความหนาอยู่ในช่วง ๑๐-๑๕ เมตร  ส่วนที่อยู่บนสุดเรียกว่า crust ลึกลงไปเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนมาก (soft clay) สลับชั้นดินเหนียวแข็ง (stiff clay) ที่อยู่ติดกับชั้นทรายชั้นแรก (1st sand layer) ลึกลงไปอีกเป็นชั้นดินเหนียวแข็งมาก (hard clay) สลับกับชั้นทราย

ในเชิงวิศวกรรมชั้นดินเหนียวอ่อนกรุงเทพฯ รับน้ำหนักสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่ได้ ผู้รับเหมาก่อสร้างรู้ดีว่าการสร้างบ้านหรืออาคารสูง ๑-๕ ชั้นในกรุงเทพฯ ต้องตอกเสาเข็มลึกลงไปถึงชั้นดินเหนียวแข็งลึก ๑๕-๒๔ เมตร  ถ้าเป็นอาคารสูง ๒๐ ชั้น ต้องลงเสาเข็มถึงชั้นดินเหนียวแข็งมากหรือชั้นทรายชั้นที่ ๒  ในบางกรณีอาจต้องถึงชั้นทรายชั้นที่ ๓ ลึก ๕๔-๕๕ เมตร หรือมากกว่า

ยกตัวอย่างตึกใบหยก ๒ ความสูง ๘๕ ชั้น ใช้เสาเข็มยาว ๖๕ เมตร  โครงการ One Bangkok ความสูง ๙๐ ชั้น ใช้เสาเข็มยาว ๘๐ เมตร  โครงการ The Super Tower ความสูง ๑๒๕ ชั้น ใช้เสาเข็มยาว ๑๐๐ เมตร

เสาเข็มยิ่งลึกยิ่งสร้างความมั่นคงให้กับตัวอาคาร แต่ก็สิ้นเปลืองงบประมาณก่อสร้าง เมืองหรือประเทศที่ตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อนยังมีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว คล้ายวางหินก้อนใหญ่ ๆ ไว้บนเยลลี่

จากสถิติในปี ๒๕๖๓ กรุงเทพมหานครมีตึกสูงกว่า ๑๕๐ เมตร มากเป็นอันดับที่ ๗ ของโลก อันดับ ๑ คือ ฮ่องกง ๓๕๕ ตึก รองลงมาคือนิวยอร์ก ๒๘๒ ตึก เซินเจิ้น ๒๓๕ ตึก ดูไบ ๑๙๙ ตึก เซี่ยงไฮ้ ๑๖๓ ตึก โตเกียว ๑๕๕ ตึก และกรุงเทพมหานคร ๑๒๗ ตึก

Image

ภาพจินตนาการสร้างจาก AI สะท้อนหายนะของมหานครภายใต้ความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนในอนาคต

น้ำหนักกดทับบนชั้นดินเหนียวอ่อนมีส่วนให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน  นอกจากสิ่งปลูกสร้างแล้วการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในอดีตนานติดต่อกันหลายปียิ่งเร่งให้พื้นดินกรุงเทพมหานครทรุดตัว เพราะน้ำใต้ดินที่ช่วยพยุงหรือรับน้ำหนักด้านบนหายไป

น้ำบาดาล หมายถึงน้ำที่อยู่ในชั้นดิน กรวด ทราย หรือหิน ซึ่งอยู่ลึกจากผิวดินเกิน ๑๐ เมตร  ในปี ๒๕๒๕ กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเคยสูบน้ำบาดาลมาใช้ประมาณ ๑.๔ ล้านลูกบาศก์เมตร  นอกจากระดับน้ำใต้ดินลดลงแล้วยังเกิดการรุกล้ำของน้ำเค็ม ทำให้คุณภาพน้ำใต้ดินลดลง แต่ผลกระทบชัดเจนที่สุดคือพื้นดินทรุดตัว

สถิติในปี ๒๕๒๑ พื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณเขตลาดพร้าวหัวหมาก พระโขนง บางนา ซึ่งอยู่ในย่านตะวันออก มีอัตราการทรุดตัวลงปีละมากกว่า ๑๐ เซนติเมตร บริเวณตอนกลางของกรุงเทพฯ ทรุดตัวปีละ ๕-๑๐ เซนติเมตร และด้านตะวันตกทรุดตัวน้อยกว่า ๕ เซนติเมตร หมายความว่าในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี กรุงเทพฯ ตะวันออกบางพื้นที่อาจทรุดตัวลงไปมากกว่า ๑ เมตร

พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา เป็นเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล เพื่อป้องกันการใช้น้ำบาดาลเกินสมดุล  พื้นที่ใดเข้าถึงระบบน้ำประปาจะไม่อนุญาตให้ขุดเจาะน้ำบาดาล เพราะจะทำให้แผ่นดินทรุดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามสำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมีข้อยกเว้น เช่นกรณีใช้น้ำบาดาลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำประปารวมทั้งความจำเป็นของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ สถานทูต สถานีดับเพลิง สถานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สถานที่ราชการ และสถานที่อื่น ๆ ก็อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลเป็นบ่อสำรองได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

หลังจากมีมาตรการควบคุมการสูบน้ำบาดาลในปี ๒๕๒๖ ระดับน้ำบาดาลของกรุงเทพมหานครค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น อัตราการทรุดตัวของพื้นดินลดลง ผลการศึกษาของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปี ๒๕๔๔ ระบุว่า สถานการณ์ โดยรวมของแผ่นดินทรุดในเขตกรุงเทพมหานครดีขึ้นแล้ว อัตราการทรุดตัวโดยรวมอยู่ที่ประมาณปีละ ๑ เซนติเมตร ยกเว้นเขตดอนเมืองอัตราการทรุดตัว ๓-๕ เซนติเมตร และเขตหนองจอก ๒-๓ เซนติเมตร ส่วนปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาครมีอัตราการทรุดตัว
๒-๕ เซนติเมตรต่อปี

กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของการใช้ทรัพยากรทุกประเภท ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

การออกกฎหมายควบคุมน้ำบาดาลช่วยบรรเทาปัญหาพื้นดินทรุดตัวได้จริง แต่สิ่งใหม่ที่ต้องกังวลคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (sea water rising) ที่ส่งผลต่อชุมชนชายฝั่งทั่วโลก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเสวนา “ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ” ซึ่งนิตยสาร สารคดี จัดขึ้น ณ ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น ๑ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕ เพื่อระดมความคิดหาทางรับมือวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจทำให้กรุงเทพฯ ต้องจมน้ำว่า

“เรื่องการทรุดตัวน้อยลง เพราะไม่มีการดูดน้ำใต้ดินแล้ว แต่สิ่งที่เรากังวลคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล” ปัจจุบันกรุงเทพมหานครทรุดตัวปีละประมาณ ๐-๓ เซนติเมตรแล้วแต่พื้นที่ เฉพาะเขตบางขุนเทียนที่อยู่ติดชายฝั่งทรุดปีละ ๑-๒ เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากปัญหาภาวะโลกร้อน (global warming) ปีละ ๐.๓๔-๐.๔ เซนติเมตร หรือ ๓.๔-๔.๐ มิลลิเมตร 

เมื่อรวมปัญหาแผ่นดินทรุดกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเข้าด้วยกัน จุดที่มากที่สุดจะอยู่ประมาณ ๔๒ มิลลิเมตร หรือเพิ่มขึ้น ๔.๒ เซนติเมตรต่อปี

จากการจัดอันดับของ จอห์น อิงแลนเดอร์ (John Englander) นักสมุทรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับความสูงของน้ำทะเล กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับ ๕ ของเมืองที่มีโอกาสจมน้ำเร็วที่สุดในโลก รองจากจาการ์ตา อินโดนีเซีย, มะนิลา ฟิลิปปินส์, โฮจิมินห์ซิตี เวียดนาม และนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกและกรีนแลนด์ละลาย รวมถึงปัจจัยจากองค์ประกอบและความหนาแน่นของดิน กับการขุดเจาะน้ำบาดาลและขุดเจาะปิโตรเลียมทำให้พื้นดินทรุด

ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เมืองหลวงของเราพัฒนาเจริญก้าวหน้า มีตึกระฟ้าพวยพุ่งสู่ท้องฟ้า สวนทางกับแผ่นดินที่กำลังทรุดตัวต่ำลงเรื่อย ๆ

เนื้อดินอ่อน ๆ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ทรุดตัวน้อย ๆ ประกอบกับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทีละนิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้กรุงเทพฯ กำลังอยู่ในอันตราย

ภาวะโลกร้อนอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความสูงประมาณ ๑.๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล (ความสูงของกำแพงกั้นน้ำ ๓.๕ เมตร)

ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๖ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำไหลผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแม่น้ำมีเรือโดยสาร เรือท่องเที่ยว เรือสินค้า ฝั่งตรงข้ามคือโรงพยาบาลศิริราช

ช่วงหลังสงกรานต์ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่ากำแพงกั้นน้ำ ไม่มีอะไรต้องห่วงกังวล แต่เมื่อเข้าหน้าฝน หากวันไหนมีน้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มากกว่า ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผู้คนริมน้ำแถว ๆ นี้ต้องลุ้นว่าระดับน้ำจะสูงข้ามกำแพงกั้นหรือไม่

หลายปีแล้วที่ทางกรุงเทพมหานครพยายามสร้างกำแพงหรือคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ล่าสุดมีแนวกำแพงกั้นทั้งฝั่ง “พระนคร” และฝั่ง “ธนบุรี” รวมกันเป็นระยะทาง ๘๘ กิโลเมตร เกือบทั้งหมดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนที่เอกชนเป็นเจ้าของโครงการมี ๘ จุด และยังมีจุดที่ไม่มีกำแพงกั้น เรียกกันว่าแนว “ฟันหลอ” อีก ๒๓ จุด รวมระยะทาง ๓ กิโลเมตร เช่น ท่าเรือที่ต้องมีคนผ่านเข้าออก

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก แบบเรียนประวัติศาสตร์บอกว่ากรุงเทพมหานครเป็น “เมืองอกแตก” มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลาง แต่ผมมารู้เอาภายหลังว่าแม่น้ำอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าบริเวณอื่นของมหานคร

ลักษณะภูมิประเทศกรุงเทพฯ ลาดเอียงจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ โดยเฉลี่ยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๐.๕-๑.๕ เมตร ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑.๕ เมตร  ทางฝั่งธนบุรี ถนนอรุณอมรินทร์อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑.๖ เมตร ถนนจรัญสนิทวงศ์ ๑.๒๗ เมตรถนนเพชรเกษม ๐.๗ เมตร

กรุงเทพมหานครพยายามบริหารจัดการ คู คลอง ลำรางต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ ๑,๖๘๒ สาย ความยาวรวมกัน ๒,๖๐๔ กิโลเมตร ให้เป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง สนับสนุนการระบายน้ำออกจากพื้นที่

Image

บ้านเรือนตั้งประชิดริมคลองเปรมประชากรทำให้คลองบางช่วงเป็นคอขวด บางส่วนกีดขวางทางระบายน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการพร่องน้ำล่วงหน้าเพื่อเตรียมคลองให้รองรับน้ำฝน 

Image

การนำบ้านเรือนซึ่งเคยตั้งอยู่ริมชายคลองขึ้นมาอยู่บนฝั่ง รวมทั้งสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหล เป็นแนวทางที่กรุงเทพมหานครเลือกใช้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 

ส่วนทางฝั่งพระนคร ถนนราชดำเนินอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๐.๗๘ เมตร ถนนรัชดาภิเษก ๐.๔ เมตร  ถนนศรีนครินทร์อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ ๐.๑ เมตรเท่านั้น ขณะที่จุดต่ำสุดอยู่ใกล้บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ ตั้งอยู่ “ต่ำ” กว่าระดับน้ำทะเล ๐.๓ เมตร หรือ ๓๐ เซนติเมตร

ในปี ๒๕๒๕ การสำรวจของกรมแผนที่ทหารพบว่าหมุดหลักฐานที่รามคำแหงอยู่ต่ำกว่าน้ำทะเล ๔ เซนติเมตร หมายความว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา พื้นดินบริเวณรามคำแหงทรุดตัวลงอีกประมาณ ๒๖ เซนติเมตร

ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเช่นกัน เช่น บางส่วนของเขตจตุจักร สวนหลวง สะพานสูง ลาดกระบัง พญาไท ฯลฯ และไม่ใช่แค่ “ถนน” ที่อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา “คลอง” ต่าง ๆ อย่างคลองบางลำพู คลองแสนแสบ ก็อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ในงานเสวนา “ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ” รองศาสตราจารย์ ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเคยร่วมออกแบบกำแพงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา พูดถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากตรงห้องประชุมงานเสวนาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “พื้นที่ข้างในต่ำกว่าข้างนอกที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะกำแพงกันน้ำ วันดีคืนดีน้ำหลากมากผิดปรกติก็ต้องมาลุ้นกัน ค่าเฉลี่ยคือเราจะเจอสถานการณ์ที่ต้องสู้กับน้ำ ๑๐ ปีครั้ง”

ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เผชิญน้ำท่วมใหญ่โดยเฉลี่ยราว ๑๐ ปีต่อครั้ง ไล่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖, ๒๕๓๘, ๒๕๔๕, ๒๕๕๔ เป็นต้นมา

วิธีระบายน้ำช่วงที่มีน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก คือการทำให้น้ำบนถนนและบ้านเรือนไหลลงท่อระบายน้ำ จากท่อระบายน้ำลงคลองเล็กหรือคลองย่อย ลงสู่คลองใหญ่หรือคลองหลักให้ไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อออกทะเลอ่าวไทย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่าหลักการง่าย ๆ ของการระบายน้ำมีอยู่แค่ไม่เกินสองสามบรรทัด แต่ด้วยลักษณะ “แอ่งกระทะ” ทำให้เจ้าหน้าที่ต้อง “สูบน้ำ” ต้านแรงโน้มถ่วงของโลก จากพื้นที่ต่ำสู่พื้นที่สูง โดยอาศัยการทำงานของสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ

หลังน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ กรุงเทพมหานครจัดการเสริมกำแพงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง เช่น คลองบางกอกน้อยคลองมหาสวัสดิ์ เป็นต้น ให้สูงขึ้นอีก ๒๐-๕๐ เซนติเมตร

คันกั้นถูกยกขึ้นเป็นกำแพง ๓-๓.๕ เมตร เมื่อสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ วินาที ขณะที่เขตต่าง ๆ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่านั้น และยังมีจุดฟันหลอที่ไม่มีกำแพงกั้น ต้องใช้การวางกระสอบทรายแทน ซึ่งถ้าต้านทานแรงดันน้ำไม่ได้ กำแพงกระสอบทรายพังทลาย น้ำก็จะไหลเข้าเมือง

สภาพแอ่งกระทะของกรุงเทพฯ ส่งผลโดยตรงต่อการระบายน้ำ ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในแต่ละปีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง

Image

กรุงเทพมหานครอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๐.๕-๑.๕ เมตร ตามปรกติแล้วน้ำจากพื้นที่ตอนบนและทางตะวันออกเช่น คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ ฯลฯ จะถูกสูบมารวมกันที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อสูบต่อไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำลงสู่ทะเล  การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกรุงเทพฯ อาศัยคันกั้นและประตูระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังด้วยการสูบน้ำจากพื้นที่ต่ำไปพื้นที่สูง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ว่า “ตอนนี้เราสู้ด้วยเครื่องสูบน้ำ ไปไหนก็ตามมีแต่เครื่องสูบ เวลาฝนตกในพื้นที่  สูบน้ำในคลองไม่ทัน น้ำก็ท่วม กว่าจะระบายออกอาจต้องใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์”

แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี ๒๕๖๕ ของสำนักการระบายน้ำระบุว่า น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครนั้นมีสาเหตุหลักจากธรรมชาติสี่ข้อ ได้แก่

๑. น้ำฝน หมายถึง ฝนที่ตกลงมาในกรุงเทพมหานครโดยตรง

๒. น้ำเหนือ หมายถึง น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนหนึ่งถูกกักเก็บและปล่อยออกจากเขื่อนต่าง ๆ ไหลเข้ากรุงเทพฯทางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่บางปีที่น้ำเหนือมาก น้ำอาจบุกเข้ามาเป็นหน้ากระดานก็ได้

๓. น้ำทุ่ง หมายถึง น้ำฝนและน้ำตามพื้นที่เกษตร-กรรม ไหลเข้ากรุงเทพฯ ตามสภาพความลาดเอียงของพื้นดิน

๔. น้ำทะเลหนุน หมายถึง น้ำทะเลที่ขึ้นและลงตามธรรมชาติ ส่งผลถึงระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

น้ำทั้งสี่น้ำทำให้เกิดน้ำท่วมสามประเภท ประกอบด้วย

๑. น้ำท่วมเมือง (urban flooding) เกิดจากฝนตกหนักในเมืองเกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำที่ออกแบบไว้

๒. น้ำล้นฝั่งแม่น้ำ (river flooding) เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุของลำน้ำ ทำให้หลากล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน

๓. น้ำท่วมชายฝั่ง (coastal flooding) เกิดกับชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล ต้องเผชิญการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั้งถาวรและชั่วคราว

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ราว ๑,๕๖๙ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๕๐ เขต เฉพาะที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยามี ๑๕ เขต และมี ๑๖ ชุมชน รวม ๗๓๓ ครัวเรือนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ยกตัวอย่าง ซอยมิตรคามหรือซอยสามเสน ๑๓ เขตดุสิต  บริเวณท่าเตียน ท่าวัง วัดบางโคล่นอก  หรือย่านโรงสี ถนนพระรามที่ ๓ มีถึง ๓๓๐ ครัวเรือน

ทุกครั้งที่ระดับน้ำเจ้าพระยายกสูง ชุมชนนอกคันกั้นคือผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร หากสกัดยับยั้งไม่ได้ น้ำจะเข้าโจมตีพื้นที่ด้านใน ฝนหนักที่ตกลงมายิ่งเร่งให้กรุงเทพฯ จมอยู่ใต้น้ำ น้ำทะเลหนุนหนักยิ่งทำให้การระบายน้ำทำได้ยาก แทบทุกครั้งที่ฝนตกลงมา คนกรุงเทพฯ พากันหายใจไม่ทั่วท้อง

สิ้นศตวรรษที่ 21 มหานครทั่วโลกที่อยู่ตามชายฝั่งอาจมีสภาพเช่นนี้ (ภาพจินตนาการจาก AI)

ฝน ๑๐๐ ปี รหัสแดง 
และการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ

“ภาพจากงานวิจัยชัดเจนเลยว่ากรุงเทพฯ อยู่ไม่ได้อีก ๓๐ ปีข้างหน้าน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก ๓๐ เซนติเมตร ทุกวันนี้เจอน้ำหนุนปั๊บก็ท่วมขังเยอะแยะ แต่ในอนาคตน้ำทะเลยกสูงขึ้นมาทั้งฐาน การหนุนของน้ำจะถาวร ที่เคยเจอน้ำขึ้นน้ำลงจะไม่ใช่แล้ว เราจะเจอน้ำขึ้นถาวรตลอดเวลา ต่อให้ลอกท่อ พร่องน้ำ ก็ไม่เพียงพอ เพราะทั้งเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำ ผลการทดลองชัดเจนอย่างที่ไม่เคยชัดมาก่อนว่ากรุงเทพฯ อยู่ไม่ได้”

ข้อมูลจากงานวิจัย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การใช้แบบจำลองออกแบบสถานการณ์ ทำให้อาจารย์เสรีมั่นใจสิบกว่าปีที่ผ่านมาเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยเพียงคนเดียวที่ทำงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC

ในปี ๒๕๖๔ IPCC ออกรายงาน Climate Change 2021 : The Physical Science Basis ระบุว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกอยู่ในขั้น “สัญญาณเตือนสีแดงสำหรับมนุษยชาติ” (code red for humanity) โดยมีห้าข้อหลักที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและต่อไทย ได้แก่

๑. หลังจากนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้น และคลื่นความร้อนจะตามมา

๒. เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำจะระเหย ในฤดูแล้งจะไม่มีน้ำ และภัยแล้งจะตามมา

๓. น้ำที่ระเหยไม่ได้หายไปไหน กลายเป็นไอลอยอยู่บนฟ้าเมื่อเจอความเย็นในฤดูฝนจะตกลงมาเป็นฝน และเป็นฝนหนัก

๔. พื้นที่เปราะบางจะเกิดน้ำท่วม

๕. เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลจะร้อนขึ้น และมีระดับน้ำสูงขึ้นกระทบต่อพื้นที่สูงไล่เลี่ยกับระดับน้ำทะเล

ในปีเดียวกันองค์กรเอกชน Germanwatch จัดทำรายงาน ดัชนีความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกปี ๒๐๒๑ (Global Climate Risk Index 2021) ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๖๒ ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๙ ของโลก ผลกระทบที่ชัดเจนมีอย่างน้อยสี่ข้อ ได้เเก่ คลื่นความร้อน (heat wave) ฝนตกรุนเเรงเเละน้ำท่วมหนัก (extreme rainfall and flood) ภัยเเล้งยืดเยื้อ (droughts) เเละไฟป่า (wildfires)

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ๑.๒ องศาเซลเซียส ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ๑.๒ องศาเซลเซียสเท่ากัน บางพื้นที่อาจสูงขึ้นถึง ๕-๖ องศาเซลเซียส บางพื้นที่สูง ๒-๓ องศาเซลเซียส หรือน้อยกว่า บางพื้นที่อาจจะหนาวเย็นขึ้นด้วยซ้ำ แต่เฉลี่ยทั่วโลกแล้วเพิ่มขึ้น ๑.๒ องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ๑.๒ องศาเซลเซียส ทำให้โลกกำลังป่วยไข้ ตัวเลข ๑.๒ อาจฟังดูไม่มากสักเท่าไร แต่หากเปรียบเทียบกับร่างกายมนุษย์ วันใดที่ตัวเราร้อนขึ้น ๑ องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าเรากำลังไม่สบาย

“ทุก ๑ องศาที่เพิ่มขึ้น จะมีความเสี่ยงน้ำแล้ง น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๗-๑๐ เปอร์เซ็นต์” อาจารย์เสรีให้รายละเอียดว่าทุก ๆ ตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ๑ องศาเซลเซียสน้ำบนผิวโลกมีอัตราการระเหยขึ้นไปในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ๗-๑๐ เปอร์เซ็นต์  เมื่อไอน้ำสัมผัสความเย็น อากาศร้อนปะทะอากาศเย็นจะตกลงมาเป็นฝนหนักมากกว่าเดิม

“กรุงเทพฯ เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมาย นี่ไม่ใช่คำทำนาย แต่คือวิทยาศาสตร์ มันชัดเจนมากขึ้นๆ จนสหประชาชาติเตือนเรามาแล้วด้วย code red”
รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์

Image

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“ประเทศไทยขณะนี้มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ๗-๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่บริเวณเมืองคอนกรีตที่มีพื้นผิวเป็น hard
surface พวกหินแข็ง จะมีปัญหาเรื่องอมความร้อนบริเวณนั้นจะยิ่งมีฝนตกหนักมาก อาจหนักกว่าเดิม ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรือถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ในกรณีความรุนแรงแบบ extreme

“นี่เป็นสาเหตุทำให้กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากขึ้น และตกติดต่อกันนานขึ้น  สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น เวลาแล้งก็แล้งจัด เวลาฝนตกก็ตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก จะกลายเป็นเรื่องปรกติในอนาคต เรียกว่าเป็น new normal”

จากการสืบค้นข้อมูลสถิติย้อนหลัง ๖ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ พบว่าความเข้มฝน (rainfall intensity) ในกรุงเทพมหานครสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือเคยมีปริมาณน้ำฝนเกิน ๑๐๐ มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเกิดขึ้น ๑๖ วัน โดยครึ่งหนึ่งคือ ๘ วันอยู่ในปี ๒๕๖๕  และปริมาณน้ำฝนเกิน ๑๒๐ มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเกิดขึ้น ๙ วันในช่วง ๓ ปีหลังสุดมานี้เอง และมีถึง ๖ วันอยู่ในปี ๒๕๖๕ 

ปริมาณน้ำฝนสะสม ๙๙.๙ มิลลิเมตรยังนับเป็นสถิติสูงสุดของ “7-day moving average” ที่พบในรอบ ๖ ปี

ขณะที่ระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครออกแบบให้รองรับปริมาณฝนตกสะสมอยู่ที่ ๖๐ มิลลิเมตรเท่านั้น ตัวเลขนี้สัมพันธ์กับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อระบายน้ำ เจ้าหน้าที่กองระบายน้ำ ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ติดตามต่างก็รู้ว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่สอดคล้องกับขนาดท่อระบายน้ำอีกต่อไป

“สมัยก่อนฝนตก ๖๐ มิลลิเมตรก็ถือว่ามาก แต่เดี๋ยวนี้ฝนตก ๑๐๐ มิลลิเมตรเกิดขึ้นประจำ ฝน ๑๐๐ มิลลิเมตรหรือมากกว่านั้นกลายเป็นเรื่องปรกติ ทุกวันนี้การเตรียมรับมือฝน ๖๐ มิลลิเมตรไม่พอแล้ว” ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยอมรับ

ปี ๒๕๖๕ เดือนตุลาคมฝนตกหนัก พายุหอบน้ำจำนวนมากมาขังกลางเมืองหลวง เมื่อประกอบเข้ากับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครที่รองรับฝนตก ๖๐ มิลลิเมตรแทบเป็นอัมพาต 

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ กรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ เพิ่งจะเผชิญปรากฏการณ์ฝนตกหนักที่สุดในรอบ ๘๐ ปี ปริมาณ ๑๔๐ มิลลิเมตร  ที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาของจีนวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในเมืองเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานได้มากถึง ๖๑๗.๑ มิลลิเมตร เกือบเท่าปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปีของเมืองเจิ้งโจวที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ ๖๔๐.๘ มิลลิเมตร  มีการอ้างอิงคำพูดของนักอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นว่าฝนที่ตกลงมาตลอด ๓ วัน เป็น “ฝน ๑,๐๐๐ ปี”

“ฝน ๑,๐๐๐ ปี” เป็นคำที่ใช้แสดงความน่าจะเป็นว่าเหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง ๑ ใน ๑,๐๐๐ หรือร้อยละ ๐.๑ หรืออธิบายอีกแบบหนึ่งว่า เหตุการณ์มีโอกาสจะไม่เกิดขึ้นร้อยละ ๙๙.๙

หากเป็น “ฝน ๑๐๐ ปี” เหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง ๑ ใน ๑๐๐ หรือร้อยละ ๑ เท่านั้น

แผนที่ที่ราบภาคกลาง ซึ่งบริเวณที่จะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลใน ค.ศ. ๒๑๐๐ แสดงด้วยสีฟ้า จากการจำลองตามข้อมูลของ IPCC โดยเป็นสถานการณ์ที่การละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นในปริมาณมากและอย่างรวดเร็ว และหากบวกด้วยกรณีฝนตกหนักก็จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแผ่กว้างขึ้น การจำลองภาพแผนที่นี้อยู่ในเว็บไซต์ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ Climate Central ซึ่งใช้การวิเคราะห์ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเปิดให้ผู้ใช้เว็บไซต์ทดลองปรับค่าตัวแปรต่าง ๆ เพื่อดูผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่ทั่วโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
(https://www.climatecentral.org/)

Image

Image

ค.ศ. ๒๑๐๐ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล บริเวณต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

สนามบินสุวรรณภูมิสร้างบนพื้นที่ลุ่มต่ำเรียกว่า “ทุ่งหนองงูเห่า” ตั้งอยู่ตรงรอยต่อกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ อดีตเป็นทางผ่านระบายน้ำท่วม (flood way) จากย่านหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ลงสู่ทะเลอ่าวไทย  งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Climate Risk Management ฉบับพฤษภาคม ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑) วิเคราะห์ข้อมูลที่ตั้งของสนามบินกว่า ๑.๔ หมื่นแห่งทั่วโลก พบว่าสนามบินสุวรรณภูมิเสี่ยงน้ำท่วมจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นอันดับ ๑ ของโลก อันดับ ๒ และ ๓ คือ สนามบินเหวินโจว หลงวาน (Wenzhou Longwan) ประเทศจีน และสนามบินเซจ (Sege) หมู่เกาะโซโลมอน
ภาพ : บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

คำว่า “ฝน ๑,๐๐๐ ปี” และ “ฝน ๑๐๐ ปี” ใช้อธิบายเหตุการณ์ฝนตกที่มีปริมาณน้ำฝนมหาศาลในระยะเวลาสั้น ๆ ยกตัวอย่าง ฝนตกปริมาณ ๖๐๐ มิลลิเมตรในเวลาแค่ ๓ ชั่วโมง ซึ่งโดยทั่วไปต้องตกต่อเนื่อง ๓ วัน จึงจะได้ปริมาณเท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำทุก ๆ ๑,๐๐๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีแต่อย่างใด

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝน ๑,๐๐๐ ปี จะมีปริมาณน้ำฝน ๓๕๐ มิลลิเมตร เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๗ มีปริมาณน้ำฝนรวม ๔๘๗ มิลลิเมตรและเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๐ มีปริมาณน้ำฝน ๕๐๔ มิลลิเมตร ส่วนฝน ๑๐๐ ปี จะมีปริมาณน้ำฝน ๒๐๐-๒๕๐ มิลลิเมตร

ทุกปีที่ทะเลจีนใต้ จะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นประมาณ ๒๕ ลูก เป็นไต้ฝุ่นประมาณ ๗ ลูก ที่เหลือเป็นพายุโซนร้อน

IPCC ประเมินว่า อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น ๑.๕ องศาเซลเซียสจะทำให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐  ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ๒ องศา ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๓  ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ๔ องศา ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐  อาจารย์เสรีขยายความว่าในอนาคตจำนวนพายุอาจไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความรุนแรงจะมากขึ้น

“จากพายุโซนร้อนก็จะเป็นไต้ฝุ่น ต่อไปอาจมีไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น ๘-๙ ลูกต่อปี หรืออาจจะถึง ๑๕ ลูก ในจำนวนนี้ที่เคยเป็นไต้ฝุ่นอาจกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่าไต้ฝุ่นในอดีต  ซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่เคยมี ๑ ลูกต่อปี อนาคตอาจจะมีสัก ๒ หรือ ๓  จำนวนพายุรวมไม่เปลี่ยนแปลงนะ แต่จะแรงมาก

“เราอาจเจอซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่เข้าเวียดนามพัดมาถึงไทย ถึงอีสาน จะไปคาดหวังว่าพายุที่เข้ามาแล้วจะสลายตัวเร็วแบบที่เคยเป็น ต่อไปในอนาคตมันจะไม่แน่แล้ว หรือทางภาคใต้ที่เคยเจอเกย์ ลินดา แฮเรียต ในอนาคตเราอาจเจอซูเปอร์ไต้ฝุ่นก็ได้  ตัวอย่างปี ๒๕๖๕ คนอีสานบางคนถึงกับบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้หนักมากที่สุดแล้วเท่าที่เคยเจอเผลอ ๆ อาจหนักสุดในรอบ ๖๐-๘๐ ปี” ด้วยเหตุนี้อาจารย์เสรีจึงยืนยันว่ากรุงเทพฯ เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ ไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมาย

“นี่ไม่ใช่คำทำนาย แต่คือวิทยาศาสตร์ มันชัดเจนมากขึ้น ๆ จนสหประชาชาติเตือนเรามาแล้วด้วย code red คือฝนตกหนัก น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลหายไปจากแผนที่โลก นั่นคือสิ่งที่เขาเตือนมา”

ถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์
แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน

ชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะมานานกว่า ๔๐ ปี

หากจะหาพื้นที่ใดของกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดแนวชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะ พื้นที่หลายพันไร่จมหายใต้น้ำ พื้นที่นั้นคือแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน

แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ตั้งอยู่ตรงส่วนใต้สุดของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เป็นแขวงและเขตเดียวของกรุงเทพฯ ที่มีทะเลอ่าวไทย ความยาวชายฝั่ง ๔.๗ กิโลเมตร ตลอดแนวเป็นหาดเลน ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้นและลง  พื้นที่ส่วนนี้ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออก กับปากแม่น้ำแม่กลองทางทิศตะวันตก  ถ้าออกเรือมุ่งหน้าสู่อ่าวไทยแล้วหันหัวเรือไปทางซ้าย แล่นเรือไปประมาณ ๑ ชั่วโมงก็จะพบปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ในอดีตหลักเขตบางขุนเทียนเคยตั้งอยู่กลางป่าชายเลนบนชายฝั่ง หลักเขตที่ ๒๘ แบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนหลักเขตที่ ๒๙ แบ่งกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาคร  ทั้งสองหลักตั้งอยู่ห่างกัน ๔.๗ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทะเลหลายร้อยเมตร

Image

หลักเขตที่ ๒๘ แบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครกับจังหวัด สมุทรปราการ เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อนเคยตั้งอยู่กลางป่าชายเลนห่างจากชายทะเลหลายร้อยเมตร  การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลรวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขุดเจาะน้ำบาดาล ทำให้เสาหลักเขตจมอยู่ใต้น้ำนานหลายปี หลังกู้ขึ้นมาสำเร็จทางการได้สร้างฐานสี่เหลี่ยมสำหรับวางหลักเขตให้อยู่สูงจากระดับน้ำ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขุดเจาะน้ำบาดาล เนื่องจากระบบน้ำประปาเข้ามาไม่ถึง ทำให้พื้นดินทรุด  หลักเขตทั้งสองจึงค่อย ๆ จมลงใต้น้ำ สูญหายไปนานถึง ๑๙ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ต่อมามีภารกิจค้นหาโดยทางราชการมอบหมายให้คณะครูและชาวบ้านในท้องถิ่นออกติดตาม พบหลักเขตที่ ๒๘ ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๓ และหลักเขตที่ ๒๙ ในอีก ๑ สัปดาห์ต่อมา ใกล้ ๆ หลักเขตที่ ๒๙ ยังพบหลักบอกอาณาเขตจังหวัดสมุทรสาครเป็นเสาตราครุฑอีกหนึ่งหลักจมอยู่ใกล้เคียงกัน

หลังกู้หลักเขต ทางการได้สร้างฐานทรงสี่เหลี่ยมเพื่อวางหลักเขตให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำ กลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ นักท่องเที่ยวนิยมเหมาเรือจากชายฝั่งมาถ่ายรูปหลักเขตที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางทะเลเวิ้งว้าง

พลอย ฉายสวัสดิ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน เล่าว่าพื้นที่รอบ ๆ หลักเขตเคยเป็นป่าชายเลนมาก่อน มีทั้งต้นแสมและโกงกาง ต่อมาส่วนหนึ่งจัดสรรและพัฒนาเป็นที่ดินทำกิน เช่น เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำนากุ้ง นาเกลือ ปัจจุบันน้ำทะเลหลากเข้าท่วมจนผืนแผ่นดินจมอยู่ใต้น้ำ และหลักเขตอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งประมาณ ๑ กิโลเมตร

“การกัดเซาะมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เริ่มเลี้ยงกุ้งบนชายฝั่ง ต้องไปขอหินขอเสาไฟมาปักทำเขื่อนหน้าทะเล ชายฝั่งถูกกัดเซาะมาตั้งแต่เรายังเด็ก ๆ” พลอยในวัย ๕๖ ปีเล่าถึงอดีต

พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร  พื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมป่าไม้ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนหรือชุมชนชายฝั่ง ที่มีความรู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลอีกไม่เกินแปดคนพลอยเป็นหนึ่งในนั้น

พลอยชี้ปัญหาว่าพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ทางการจะไม่ทำแนวป้องกันให้ ต้องยกให้เป็นของหลวงก่อน  ทางท้องถิ่นจึงพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านยกที่ดินให้หลวง จนปี ๒๕๓๔ ได้หินมาทิ้งทำแนวป้องกันชายฝั่งระยะทาง ๘๐๐ เมตร อีก ๒ ปีต่อมาก็ขอเพิ่มจนได้หินมาวางตลอดแนวชายฝั่ง แต่ก็ยังแก้ปัญหาการกัดเซาะไม่ได้  ครั้งหนึ่งหน่วยงานรัฐเคยสร้างรอดักทรายด้วยการวางถุงทรายบนชายฝั่งเป็นโครงสร้างรูปตัวทีที่เรียกว่า “ทีกรอยน์” (T-Groin) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของคลื่น แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับเพราะไม่เข้ากับบริบทหาดโคลน เวลาถุงแตกทรายจะไหลออกมา เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ความพยายามหยุดยั้งไม่ให้ผืนดินกลายเป็นน้ำดำเนินต่อมา

พลอยเล่าว่า “ได้งบจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เอามาทำแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ให้หน่วยงานอื่น ๆ มาดูว่าหลังแนวไม้ไผ่มีตะกอนมาตก ถ้าทำเบรกวอเตอร์แบบนี้แผ่นดินอาจจะงอกหรือถูกกัดเซาะช้าลง ก็ต่อสู้เรียกร้องกันเรื่อยมา”

จากการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร ชายฝั่งบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ กิโลเมตรจากแนวหลักเขต ถ้าไม่กำหนดมาตรการป้องกันที่ชัดเจนในอนาคตอีก ๒๐ ปีข้างหน้า คาดว่าแผ่นดินส่วนที่อยู่ลึกเข้ามาจะหายไปอีก ๑ กิโลเมตร แล้วอีก ๕๐ ปีน้ำทะเลจะรุกเข้ามาอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร ขยับเข้าใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน  ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย นอกจากบางขุนเทียนที่จมอยู่แล้ว ส่วนอื่นของกรุงเทพมหานครก็จะจมทะเลหายไป

Image

แนวเสาไฟฟ้ากลางทะเลบ่งบอกว่าตรงนี้เคยเป็นถนนและมีชุมชนอยู่อาศัย ก่อนถูกน้ำท่วมจมทะเลหายไป ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนอยู่ห่างจากย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น

ที่ผ่านมามีความพยายามนำเสาไฟฟ้ามาปักเป็นแนวกำแพงเพื่อลดความรุนแรงของคลื่นและลมที่พัดเข้าสู่ฝั่ง แต่ยังไม่มีวิธีการใดมีประสิทธิภาพป้องกันคลื่นและแก้น้ำท่วมชายฝั่งได้อย่างถาวร

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ผลการศึกษาของอาจารย์ธนวัฒน์สอดคล้องกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (ชื่อเดิม สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร) ที่พบว่าการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนมีอัตราประมาณ ๗ เมตรต่อปี ถ้าไม่มีการป้องกันและแก้ไขภายใน ๑๐ ปี จะสูญเสียชายฝั่งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๗๐ เมตร สาเหตุหลักของการหายไปของชายฝั่งบางขุนเทียน ได้แก่ ๑. การลดลงของดินตะกอนจากแม่น้ำเจ้าพระยา ๒. การทรุดตัวของแผ่นดินประมาณ ๑-๒ เซนติเมตรต่อปี ๓. กระแสน้ำชายฝั่งมีทิศทางหมุนตามเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วประมาณ ๐.๒-๐.๓ เมตรต่อวินาที ๔. คลื่นขนาดใหญ่ในฤดูมรสุมที่พัดพาดินตะกอนออกไปจากชายฝั่ง เพราะไม่มีป่าไม้ชายเลนยึดจับดินตะกอนไว้ และ ๕. ค่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนโดยเฉลี่ยประมาณ ๐.๒ เซนติเมตร หรือ ๒ มิลลิเมตรต่อปี

แนวทางแก้ไขของสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองแบ่งออกเป็นมาตรการชั่วคราวและมาตรการถาวร มาตรการชั่วคราวคือการสร้างแนวคันไม้ไผ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มาตรการถาวรคือการก่อสร้างแนวคันหินรอดักตะกอนเพื่อป้องกันการกัดเซาะ  นอกจากนี้จะมีการปลูกป่าชายเลนเพิ่ม ตั้งเป้าให้มีความหนาแน่นของป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๑๐๐-๓๐๐ เมตรจากชายฝั่ง เพื่อใช้เป็นแนวกันชน ให้เกิดการตกตะกอนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ปี ๒๕๕๐ โครงการคันหินป้องกันชายฝั่งผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้สร้าง

“เห็นว่าติดขัดหลายอย่าง ทั้งงบประมาณ ทั้งรัฐบาลมัวยุ่งกับเรื่องอื่น ถึงช่วงเลือกตั้ง ทุกพรรคหาเสียงก็พากันพูดเรื่องกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน พูดกันจนเป็นขนมหวาน รอดูว่าสุดท้ายจะเข้ามาแก้ปัญหาให้จริงไหม” พลอยตั้งคำถาม

มีรายงานว่าในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในส่วนราชการสำนักการระบายน้ำ ทั้งในส่วนเงินงบประมาณประจำปีและเงินอุดหนุนรัฐบาล รวมกันเป็นเงินมากกว่า ๓,๘๙๖ ล้านบาท

เธอยังคงหวังว่านโยบายทวงคืนสภาพชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนจะประสบความสำเร็จ เพื่อที่ครอบครัวจะไม่ต้องดิ้นรนหนีน้ำเหมือนกับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน หลังจากแผ่นดินของแขวงท่าข้ามจมหายไปใต้ทะเลแล้วไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ไร่

“คนที่ประสบปัญหามีเยอะมาก เกือบทั้งแขวงท่าข้ามเลย เฉพาะที่อยู่ติดหน้าทะเลมีสองชุมชน คือ ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนกับชุมชนเสาธง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนากุ้ง  ทั้ง ๆ ที่มีโฉนด หลายคนต้องถอยร่น หนีน้ำหัวซุกหัวซุนมาซื้อมาเช่าที่แถวบ้านเรา”

Image

ลานหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตรงข้ามคือตลาดปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้อ่าวไทย ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากการขึ้นและลงของน้ำทะเล ยามน้ำลดเรือข้ามฟากต้องงดให้บริการบ่อยครั้ง ยามน้ำขึ้นมักเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมตลาดปากน้ำ เป็นน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำทะเลหนุน 

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

บ้านของพลอยตั้งอยู่ริมคลองพิทยาลงกรณ์ มีถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ตัดคู่ขนาน เปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้ายของชาวบ้าน

“ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ชุมชนเสาธง ชุมชนแสนตอ ชุมชนศรีกุมาร อยู่ใกล้ทะเลทั้งหมด ไม่มีถนนเข้าถึง ปรกติชาวบ้านจะนั่งเรือมาขึ้นรถที่ถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์  ทั้ง ๆ ที่ถนนก็เสี่ยงว่าจะต้องจมน้ำ ถนนอยู่ต่ำกว่าบ้านของเราด้วยซ้ำ  อยากให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามายกระดับ ทำถนนให้สูงเป็นพนังกั้นน้ำ ทำให้ดี เพราะที่ผ่านมาเหมือนแค่ปุ ๆ ปะ ๆ”

กรุงเทพมหานครส่วนที่อยู่ติดชายฝั่งยาว ๔.๗ กิโลเมตร แม้จะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดติดทะเลอื่น ๆ  แต่ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ศูนย์กลางของเมืองเช่น สีลม สาทร หรือแม้แต่สยามสแควร์ อยู่ห่างจากทะเลแค่ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น  ถ้าหากหน่วยงานรัฐยังไม่ให้ความสำคัญ วันหนึ่งน้ำทะเลจะยิ่งคืบ

“ที่บางขุนเทียนไม่ใช่น้ำท่วมปรกติ แต่เป็นน้ำกลืนกินแผ่นดิน สร้างหายนะกับวิถีชีวิต ทรัพย์สิน การทำมาหากินเวลานากุ้งบ่อกุ้งของเราพัง เราต้องรีบซ่อมคันวังเพื่อไม่ให้ผลผลิตของเราออกไปในทะเล ต่างคนต่างก็ต้องปกป้องตัวเอง เอาเสาหินมาปัก เอาหินมาถม บางคนปักแนวไม้ไผ่หรือไม่ก็เอาไม้ไผ่มามัดเป็นลูกบวบ วางหน้าที่ดินตัวเองไม่ให้คันวังนากุ้งพังทลาย  เราไม่ได้งอมืองอเท้า เราไม่ยอมตาย แต่ทำครั้งเดียวมันก็ไม่จบ  หลัง ๆ น้ำขึ้นน้ำลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีน้ำก็ขึ้นสูง บางทีก็ต่ำ มันไม่ตรงตามฤดูกาล เหมือนมันจะวิปริตไปหมด

“ถามว่ารัฐเคยช่วยเราไหม คนกรุงเทพฯ ที่อยู่ข้างใน ทางเท้าพังเขายังมาซ่อมให้ แต่หน้าทะเลเคยมาดูแลไม่ให้น้ำกัดเซาะที่อยู่ที่กินของเราไหม ไม่มี เราไกลปืนเที่ยงมาก”

ในสภาวการณ์ที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ชายฝั่งถูกกัดเซาะ แผ่นดินถอยร่นจนเกือบจะเข้ามาถึงถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากสมรภูมิระหว่างคนกับน้ำ

“เวลาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คุณเจ็บปวดไหม คุณรู้สึกยังไงเรารู้สึกเหมือนคุณ  ถ้าวันนี้ชายฝั่งบางขุนเทียนอยู่ไม่ได้ วันต่อไปน้ำทะเลจะไปอยู่หน้าศาลาว่าการ กทม. กว่าจะถึงวันนั้นพวกคุณจะให้คนชายฝั่งอยู่ที่ไหน หรือจะปล่อยให้น้ำท่วมตาย  คุณมองเห็นชีวิตเราเป็นมดเป็นปลวกงั้นหรือ ทุกวันนี้ที่ทำกินก็หายไปเกินครึ่งแล้ว”

ในบรรดาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ มิวนิก รี (Munich Re) สถาบันชั้นนำของประเทศเยอรมนี ที่ศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ จัดให้เหตุการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ปี ๒๕๕๔ เป็นภัยพิบัติกรณีน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก (ประมาณ ๑.๔ ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕) เป็นต้นมา

อาจารย์ธนวัฒน์ประเมินความเสียหายจากเมืองจมน้ำในอนาคตว่าจะร้ายแรงติดอันดับโลกอีกครั้ง และจะสร้างความเสียหายมากกว่าเดิม

“ในอนาคตน้ำท่วมอาจสร้างความเสียหายมากถึง ๓๐ ล้านล้านบาท หรือประมาณ ๓๐ เท่าของปี ๒๕๕๔ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ถ้าเรายังวางเฉยอยู่อย่างนี้”

ดอกเตอร์ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางผังสถาปัตยกรรม กล่าวในรายการสารคดี “Thailand 2070 เมืองไทยในอีก ๕๐ ปี” ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่า

“จม จมแน่ ๆ เพียงแค่เมื่อไร  บางคนวิเคราะห์ว่า ๓๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่สุดท้ายคือจม” พร้อมทั้งจินตนาการถึงสภาพในอนาคตหากถึงวันที่เมืองหลวงไทยกลายเป็นทะเล

“ทุกคนจะร้องห่มร้องไห้ ทุกคนจะประสาทเสีย ทุกคนป่วย คนป่วยที่ต้องไปหาหมอก็ไปไม่ได้ คนป่วยโรคหัวใจที่ต้องรักษาฉับพลันก็อาจจะตายคาบ้าน อาหารการกินอาจจะไม่มี ถ้ามีอาจอยู่ได้ ๕ วัน ๗ วัน ถ้าอยู่กันเป็นเดือนก็อาจเริ่มอพยพหนี”

ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องจากภาวะโลกร้อน กำลังยกระดับสู่สภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เป็นเพียงแค่บทโหมโรงของหายนะ

ฝันร้ายยังไม่ถึงตอนจบ

Image

หลากหลายเหตุผล
ของการย้ายเมืองหลวง

ในรอบ ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพูดถึงการย้ายเมืองหลวงมาแล้วหลายครั้ง จังหวัดที่ถูกหมายตาจากรัฐบาลยุคต่าง ๆ มีทั้งลพบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี นครปฐม นครนายก ฉะเชิงเทรา ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

ความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกราวปี ๒๔๘๐ สมัยจอมพล ป. พิบูล-สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพล ป. มีดำริว่าจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจชื่อ “คณะกรรมการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างนครหลวงใหม่” และออกเอกสารเรื่อง “ปรับปรุงจัดตั้งพระนครหลวงใหม่” ซึ่งด้านในมีแผนที่ “ผังนครหลวง”  อย่างไรก็ตามโครงการถูกพับเก็บเนื่องจากสระบุรีมีพื้นที่โล่งอยู่มาก ข้าศึกมีโอกาสบุกเข้าถึงได้หลายทาง  เป้าหมายเปลี่ยนไปจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยจุดเด่นทางภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบ มีภูเขาสูงช่วยกำบังข้าศึก เหมาะจะเป็นฐานที่มั่นทางการทหาร

Image

มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนกว่า ๕ ล้านคน ในกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี ๒๖๑๓
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เหตุผลหลัก ๆ ในการย้ายเมืองหลวงตามเอกสารมีอยู่สามประการคือ หนึ่ง กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมขังได้ตลอดเวลา  สอง ต้องการให้กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมหรือเมืองท่าทางการค้าอย่างเต็มตัว และสาม ด้วยเหตุผลทางการเมือง จอมพล ป. ต้องการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ทางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง  แต่สุดท้ายโครงการย้ายเมืองหลวงก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลจอมพล ป. ก็ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลายปีต่อมาในยุคพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี แนวคิดย้ายเมืองหลวงถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง มีการเสนอให้สร้างเมืองใหม่ที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่เรื่องก็เงียบไป

ในยุคพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มอบหมายให้สภาพัฒน์ศึกษาโครงการสร้างเมืองใหม่ ผลออกมาว่าจังหวัดนครนายกมีความเหมาะสมที่สุด ด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์ เสนอให้ใช้พื้นที่ ๑.๕ แสนไร่ ในอำเภอบ้านนาควบรวมบางส่วนของจังหวัดสระบุรีเป็นที่ตั้ง  จุดเด่นของพื้นที่คือมีความลาดชัน น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้เร็ว จังหวัดนครนายกยังมีที่ดินของรัฐอยู่จำนวนมาก น่าจะเจรจาได้ง่าย  นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทางรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิได้เพราะอยู่ห่างกันแค่ ๔๐ กิโลเมตร รวมทั้งมีคนตั้งข้อสังเกตว่านอกจากเพื่อหลีกหนีความแออัดของกรุงเทพฯ ชื่อจังหวัด “นครนายก” ยังบ่งบอกถึงสถานะนายกรัฐมนตรี

สมัคร สุนทรเวช เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนที่มีแนวคิดย้ายเมืองหลวง มองว่าจังหวัดนครปฐมน่าจะมีความเหมาะสม  หรือในส่วนของดอกเตอร์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ไทยที่เคยทำงานให้กับองค์การนาซา ชำนาญด้านระบบลงจอดของยานอวกาศ และเชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อน ก็เคยเสนอให้รัฐบาลย้ายเมืองหลวงไปอยู่แถวอีสานใต้ จังหวัดที่น่าสนใจคือนครราชสีมา หรือไม่ก็จังหวัดอื่นที่ตั้งอยู่รอบ ๆ เพราะอยู่สูงกว่าน้ำทะเลมากกว่า ๑๐๐ เมตร ไม่มีความเสี่ยงว่าจะจมทะเล และอยู่ห่างจากรอยเลื่อนแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังปลอดภัยจากพายุที่พัดเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิก

ล่าสุดวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ ในงานเสวนา “พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการย้ายเมืองหลวงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงเทพมหานครแออัดเกินไป แนวทางคือมองหาเมืองใหม่ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จะได้ไม่เสียงบประมาณในการโยกย้ายมากนัก ลดความจำเป็นของประชาชนในการเดินทางเข้าและออกใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ คงสถานะสำคัญไว้ได้  อย่างไรก็ตามนายกฯ ยอมรับว่าการย้ายเมืองหลวงยังเป็นเพียงแนวคิด จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

ขณะที่มีหลายประเทศย้ายเมืองหลวงสำเร็จในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างประเทศบราซิล ย้ายเมืองหลวงจากรีโอเดจาเนโรไปยังบราซิเลีย เนื่องจากประสบปัญหาความหนาแน่นของประชากร ประกอบกับทำเลที่ตั้งของรีโอเดจาเนโรอยู่ริมชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

Image

คุ้งบางกะเจ้าซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ปอดของคนกรุงเทพฯ” เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล 
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสี่ประเทศที่ย้ายเมืองหลวงสำเร็จ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จากเกซอนซิตีสู่มะนิลาทั้งสองเมืองตั้งอยู่ไม่ห่างกัน ประชาชนใช้ระบบสาธารณูปโภคที่เกื้อหนุนกันได้

มาเลเซีย จากกัวลาลัมเปอร์สู่ปูตราจายา หากแต่ในทางปฏิบัติหลายคนมองว่าเมืองหลวงที่แท้จริงยังคงเป็นกัวลาลัมเปอร์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การสื่อสาร และการคมนาคม ปูตราจายาเป็นเพียงเมืองราชการ หรือศูนย์กลางงานบริหารราชการแผ่นดิน

พม่า จากย่างกุ้งสู่เนปยีดอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร

อินโดนีเซีย จากจาการ์ตาสู่นูซันตารา เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของประชากร การจราจรติดขัด มลภาวะทางน้ำและอากาศเสียเรื้อรัง มีน้ำท่วมน้ำเสีย รวมทั้งปัญหาแผ่นดินทรุดตัว เป็นไปได้ว่าในอนาคตพื้นที่ราวหนึ่งในสามของจาการ์ตาจะต้องจมน้ำ

อยู่ต่อหรือย้ายเมืองหลวง

“ทฤษฎีการย้ายเมืองหลวงมีอยู่สามประการเท่านั้น หนึ่งย้ายเพราะเหตุผลทางการเมือง  สอง ย้ายเพราะเรื่องเศรษฐกิจ และสาม ย้ายเพราะเรื่องทางกายภาพ  เราต้องมาพิจารณากันอย่างจริงจังว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาอะไรเป็นหลัก ถึงจะทำให้ต้องย้ายเมืองหลวง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ให้ความเห็น

“แน่นอนว่าการย้ายเมืองหลวงต้องมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ต้องหาทางพูดคุยกันอย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะการย้ายเมืองหลวงจะกระทบกับคนจำนวนมาก  แล้วแก้ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การย้ายเมืองหลวงได้ไหม เพราะการย้ายเมืองมีค่าใช้จ่าย อย่างอินโดนีเซียก็ประเมินว่าต้องใช้เงินมหาศาล จะเอาเงินมาจากไหนในสภาวะที่โลกกำลังซบเซาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ”

รองศาสตราจารย์ ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ตั้งคำถามว่าวันนี้กรุงเทพฯมีปัญหาถึงขั้นต้องย้ายเมืองหลวงจริงหรือไม่ 

“กรุงเทพฯ มีบ่อกักเก็บน้ำ หรือ retention pond คล้ายกับแก้มลิง รองรับน้ำได้ประมาณ ๑๒ ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งต้องช่วยกันรักษาไว้ไม่ให้ถูกถม ไม่ให้เปลี่ยนสภาพและเรายังมีโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เรียกว่า water bank คล้ายถังขนาดใหญ่ ฝังอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ๑๐-๒๐ เมตร กว้าง ๑๐๐ x ๑๐๐ เมตร เช่นบริเวณใต้สี่แยกรัชวิภา ใต้วงเวียนบางเขน เรามองไม่เห็น เพราะด้านบนเป็นสถานีตำรวจ เป็นพื้นที่ลานจอดรถ แต่พอฝนตก เกิดน้ำท่วม ใต้ดินด้านล่างคือถังน้ำขนาดใหญ่

“ถึงตอนนี้กรุงเทพฯ จะมีปัญหาน้ำท่วมขัง แต่แผนงานในอีก ๑๐-๑๕ ปี อุโมงค์ระบายน้ำหลายแห่งจะเสร็จสิ้น ระบบท่อใต้ดินแบบ pipe jacking จะเสร็จสมบูรณ์  ถึงตอนนั้นข้อกำหนดทางกฎหมายก็คงจะตามมา เช่น ข้อกำหนดให้หมู่บ้านจัดสรรต้องมีจุดพักน้ำหรือบ่อหน่วงน้ำก่อนปล่อยออกสู่พื้นที่สาธารณะ

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีความฝันร่วมกันเลยว่าอยากเห็นเมืองหลวงของประเทศไทยเป็นอย่างไร  เรารู้ว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นก็มีคนเสนอว่าจะสร้างเขื่อน สร้างถนนป้องกันไม่ให้น้ำท่วม หรือโครงการผันน้ำ แต่ไม่ได้ถามว่าปลาทูในอ่าวไทยจะอยู่ยังไง ถ้ามีน้ำจืดไหลมาลงอ่าวไทยคราวละมาก ๆ ระบบนิเวศบริเวณอ่าว ก ไก่ จะเป็นยังไงต่อ  เราไม่ได้มองบริบทการจัดการน้ำแบบครบทุกมิติ ทั้ง ๆ ที่มันมีทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม”

Image

อาคารพาณิชย์ริมถนนเชื่อมสัมพันธ์ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เว้นที่ว่างด้านข้างอาคารข้างละ ๑ เมตร อาจกลายเป็นตัวอย่างของการเปิดช่องทางน้ำไหลผ่านกรณีเกิดน้ำท่วม 
ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ในอดีตการย้ายเมืองหลวงของประเทศไทยไม่เกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ แต่ด้วยสภาวการณ์ที่กรุงเทพฯ มีปัญหาหลายอย่าง รวมทั้งการถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “sinking city” หรือ “เมืองที่กำลังจมน้ำ”  ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นสนับสนุนการย้ายเมืองหลวงไว้ในรายการ “กรุงเทพ (เกือบ) เคยย้ายเมืองหลวง ?” ช่อง SHIFTER ทางยูทูบ ว่า

“ถามว่าเราสามารถจัดการให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นสำหรับเป็นเมืองหลวงต่อไปได้หรือเปล่า ผมคิดว่าได้ ด้วยเทคโนโลยี ความสามารถ และการบริหารจัดการต่าง ๆ แต่เหตุผลที่ผมสนับสนุนให้ย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ คือต้องการกระจายความเจริญสู่พื้นที่อื่นบ้าง ทำให้การกระจุกตัวของทรัพยากรเปลี่ยนไปสู่พื้นที่อื่น”

ไม่มีใครปฏิเสธว่าที่ผ่านมาสิ่งสำคัญทุก ๆ อย่างรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ  แม้แต่เมืองระดับรองลงไป ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ หาดใหญ่ หรือโคราช ความเหลื่อมล้ำต่างจากกรุงเทพฯ มหาศาล

“อย่างที่ ๒ คือปัญหาโลกร้อนและน้ำทะเลหนุนสูง  มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า อีกไม่กี่สิบปีกรุงเทพฯ จะอยู่ใต้น้ำ  ถึงเวลาที่คนไทยต้องดูปัญหานี้  ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะย้ายเมืองหลวง” อาจารย์ชาตรีอธิบายส่วนผู้ว่าฯ ชัชชาติให้ความเห็นว่า “ถ้าจะย้ายเมืองหลวงอาจเพราะรถติดมากกว่าน้ำท่วมด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ากรุงเทพฯ รถติดเป็นอันดับ ๑ ของโลก รวมทั้งปัญหาระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน คุณภาพชีวิตไม่ค่อยดีนัก คนจนก็อยู่ลำบาก”

การย้ายเมืองหลวงไม่ได้ง่ายเหมือนย้ายบ้าน แต่จากการศึกษาขององค์กรนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะทำให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจมหายจากแผนที่โลกใน ค.ศ. ๒๑๐๐ แบบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ผลการจำลองฉากทัศน์ออกมาว่าถ้าหากประชากรโลกปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใน ค.ศ. ๒๑๐๐  แต่ถ้าปลดปล่อยในระดับสูงจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลถึง ๒ เมตร และภายใน ค.ศ. ๒๑๕๐ ระดับน้ำทะเลอาจสูงกว่าตอนนี้ ๕ เมตร

ก่อนที่จะถึงวันนั้น รัฐบาลต้องทำฉากทัศน์จำลองเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ แบบ แล้วนำข้อมูลมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ชี้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มพูดถึงปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและความเสี่ยงที่เมืองหลวงแห่งนี้จะจมน้ำ ตั้งคำถามไปจนถึงโอกาสการย้ายเมืองหลวง แต่สุดท้ายเรื่องมักจะเงียบหายไป

“สังคมไทยยังมองว่ากรุงเทพฯ จมน้ำเป็นเรื่องไกลตัว บางคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเรื่องนี้มีการวิจัยกันลงลึกในระดับโลก มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงมาก ชี้เลยว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงว่าจะจมน้ำ”

สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมรับมือสถานการณ์

“เราต้องไม่ลืมว่าเวลาผลักดันโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มักมีความขัดแย้ง มีการไม่ยอมรับเกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องสร้างเขื่อน ถนน หรือคันกันน้ำ คณะทำงานต้องใช้เวลาศึกษายาวนาน รัฐบาลก็ต้องประเมินเพื่อหาทางลดผลกระทบ ลดความขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนหรือกี่ปีก็ทำได้”

อาจารย์เสรีชี้ว่าการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ตอนนี้

“หากตัดสินใจวันนี้จะต้องใช้เวลาอีก ๓๐ ปีกว่าจะสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้เขาเริ่มทำระบบป้องกันตั้งแต่ ๓๐ ปีก่อน กว่าจะประสบความสำเร็จทั้งในแง่วิศวกรรม แก้ไขข้อขัดแย้งกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ  ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจทำอะไรตั้งแต่วันนี้ บางทีอาจจะถึงวันที่เราต้องเตรียมย้ายเมืองหลวง”

Image

อนาคตอันใกล้

เมื่อปี ๒๕๕๖ หรือประมาณ ๑๐ ปีก่อน ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า หากปล่อยให้ภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไป ไม่พยายามยับยั้งหรือแก้ไขภายใน ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า พื้นที่ร้อยละ ๔๐ ของกรุงเทพมหานครจะถูกน้ำท่วมเนื่องจากน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุรุนแรงขึ้น

ต่อมามีงานวิจัยอีกอย่างน้อยสามชิ้น บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความเสี่ยงที่จะจมน้ำ ได้แก่ งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Delft Technology ปี ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) งานวิจัยของ Dr. Kulp & Strauss ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature Communication ปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) และงานวิจัยของ Dr. Tebakari วารสาร Hydrological Research Letter ปี ๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑)

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า ภายในปี ๒๖๑๓ (ค.ศ. ๒๐๗๐) ผู้คนกว่า ๕ ล้านคนในกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลล่าสุด World Economics Forum Global Risk องค์การระหว่างประเทศเพื่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก คาดว่าความเสี่ยงในอนาคตที่จะกระทบกับมนุษยชาติสามอันดับแรก ประกอบด้วย

๑. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (climate action failure) 

๒. สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (extreme weather)
 
๓. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss)

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะทำให้เกิดคลื่นพัดเข้าหาฝั่งรุนแรงขึ้น   
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

คำว่าสภาวะอากาศสุดขั้ว สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (extreme weather event) เป็นคำใหม่ อยู่ในรายงานการประชุมของสหภาพธรณีวิทยาอเมริกัน (the American Geophysical Union) สื่อถึงคลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุฝน และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น  ภัยธรรมชาติที่ดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามอย่าง “ภัยแล้ง” กับ “พายุฝน” จะยิ่งส่งผลกระทบถึงกัน  ยิ่งเกิดภัยแล้งก็จะยิ่งเกิดฝนตกหนัก เพราะภาวะโลกร้อนยิ่งทำให้น้ำระเหยเป็นไอลอยขึ้นไปในอากาศ เมื่อไอน้ำจำนวนมากสัมผัสความเย็นก็จะตกลงมาเป็นฝนห่าใหญ่

หลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามส่งเสียงเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แต่เราทำเหมือนกับว่ามันยังมาไม่ถึง

ทุกวันนี้ภาวะโลกร้อนกำลังสร้างหายนะต่อผู้คนรวมถึงระบบนิเวศในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ชนเผ่าอินูอิตในอาร์กติกตอนเหนือ ถึงชาวเกาะกลางมหาสมุทรใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคาดว่าจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนา

รายงานของกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่าภาวะโลกร้อนทุกระดับจะทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาทุกข์ทรมานมากที่สุด รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการป้องกันตนเองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการยกตัวของระดับน้ำทะเลการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรือผลผลิตภาคการเกษตรที่ต่ำลง

ทุกวันนี้น้ำทะเลหนุนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่บริเวณปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง แต่ทะลุทะลวงเข้าไปถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร รวมถึงนนทบุรี ปทุมธานี ที่อยู่สูงขึ้นไป

ชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดนนทบุรีสังเกตว่าหลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงบ่อยครั้ง และสูงขึ้นทุก ๆ ปี  ตามปรกติช่วงกลางปีจะไม่มีน้ำล้นตลิ่งแต่ปี ๒๕๖๕ มีน้ำล้น สิ่งที่พวกเขากังวลคือน้ำหนุนชั่วคราวจะคงอยู่อย่างถาวร น้ำขึ้นสูงแล้วไม่ลดลง หลายคนไม่เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ เชื่อว่าการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมจะทำให้รอดพ้นหายนะ

หลายคนคิดว่าจะอาศัยอยู่ที่นี่ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ที่ต้องไม่ลืมคือชะตากรรมของคนในอนาคตถูกส่งต่อจากคนในอดีต การกระทำและการตัดสินใจต่าง ๆ ของคนวันนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายพันปี การทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ๒-๓ องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จะทำให้โลกร้อนขึ้นจนไม่อาจหวนกลับคืนสู่สภาพเดิมไปอีกหลายสหัสวรรษ

ปัญหาโลกร้อนกำลังท้าทายการก้าวสู่วันข้างหน้า

ยิ่งเพิกเฉยก็ยิ่งเสี่ยงต่อปัญหา

ไม่ใช่ธรรมชาติลงโทษ แต่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์  

Image

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“ทุกวันนี้พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ไม่ทรุดแล้ว”

รองศาสตราจารย์ ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ในอดีตที่ผ่านมา ๓๐-๔๐ ปี กรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินที่สูงมาก แต่โชคดีว่าในปี ๒๕๔๐ เริ่มควบคุมการใช้น้ำบาดาลอย่างจริงจัง ทำให้น้ำบาดาลที่เคยลดต่ำกลับเพิ่มขึ้น แล้วอัตราทรุดตัวของพื้นดินก็ลดลงอย่างชัดเจน ทุกวันนี้พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ไม่ทรุดแล้วผมยืนยัน เพราะหมุดวัดการทรุดตัวอยู่ข้างออฟฟิศผมแถวบางเขน บางตำแหน่งบวมขึ้นนิดหนึ่งด้วยซ้ำ

“มีคนบอกว่าการสร้างอาคารสูงเยอะ ๆ ทำให้ตึกทรุด ผมถามกลับง่าย ๆ ว่าถ้าเกิดอาคารสูงทรุด มันคงจะต้องมีปัญหาแล้ว เพราะอาคารสูงแทบทุกอาคารต้องทำดาดฟ้าเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์หรือให้มีลานกว้างพอที่จะจอดได้  ผมเคยทำวิจัยว่าถ้าเอาน้ำหนักอาคารบริเวณสีลมมากดลงไปในพื้นที่ ผลออกมาว่าทรุดนิดเดียว เพราะว่าเรามีเสาเข็มลงไปในดินข้างล่างที่แข็งมาก  กรณีบ้านหรือถนนที่ถมในพื้นที่ส่วนใหญ่เราถมลงไปบนดินอ่อน ก็จะเกิดปัญหาทรุดบริเวณที่ไม่มีเสาเข็ม เราเห็นภาพก็กังวลว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ แต่จริง ๆ แล้วคือทรุดจากการเอาของหนักไปวางบนดินอ่อน ไม่ได้ทรุดลงทั้งพื้นที่ นี่ยังเป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิด”

“กรุงเทพฯ มีชีวิตและคุณค่าเชิงวัฒนธรรมสูงมาก” 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“มีคนบอกว่ากรุงเทพฯ จะท่วม จมน้ำบาดาล ต้องย้ายเมืองหนี ผมติดตามตั้งแต่เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน ก็ยังไม่ได้จมสักทีแค่มีน้ำท่วมเป็นบางฤดูกาล  คำว่าย้ายเมืองนี่ไม่ใช่จะพูดกันเล่น ๆ  กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จใน ๑ เดือน ใช้เวลาทั้งเจเนอเรชัน

“ผมเชื่อว่าพื้นที่ที่เราอยู่ตอนนี้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกบรรพบุรุษของเราเก่งมากที่เลือกสร้างเมืองหลวงตรงนี้ ติดทะเลแต่ก็ไม่ติดมาก ติดต่อค้าขายได้ สร้างสนามบินแล้วก็กลายเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผมคิดว่าเราต้องรักษาพื้นที่ดีที่สุดของโลกเอาไว้  เราไม่จำเป็นต้องโยกย้าย ในทางตรงกันข้ามต้องหาทางอยู่ให้ได้ ทุกวันนี้เราโทษธรรมชาติ ไม่เคยโทษตัวเองว่าเราสร้างสิ่งต่าง ๆ ขัดขวางการระบายน้ำ


“ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ ที่อยู่กับน้ำ อยุธยา ทวารวดี
ก็อยู่กับน้ำมาตลอด เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่ของเมืองน้ำจะหลบยังไง จะย้ายไปไหนก็หนีไม่พ้น ในมุมมองโบราณคดีผมยืนยันว่าจะไปอยู่ไหนในบริเวณนี้ก็ต้องเจอกับน้ำ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เวลาน้ำมาก็ไหลเข้าคลอง แล้วก็ไหลออก เรามีภูมิปัญญาตั้งแต่อดีตที่เป็นระบบจัดการน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“หาทางแก้ปัญหาจากสองระบบ คือ น้ำมาเยอะจากข้างบน กับน้ำทะเลหนุนข้างล่าง  ถ้าน้ำข้างบนเยอะก็พยายามจัดการระบบให้ดี  ถ้าน้ำทะเลหนุนก็อาจสร้างเขื่อนหรือกำแพง แล้วสร้างให้ดี ให้มั่นคง ถ้าต้องใส่ปูนสิบก็ใส่สิบ ไม่ใช่ใส่แค่สาม”  

บทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 
โครงการย้ายเมืองหลวงอินโดนีเซีย
จาก “จาการ์ตา” เกาะชวา
สู่ “นูซันตารา” เกาะบอร์เนียว

ต้นปี ๒๕๖๕ มีข่าวครึกโครมว่าอินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวง จากกรุงจาการ์ตาบนเกาะชวา ไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อว่านูซันตาราบนเกาะบอร์เนียว

ชาวมาเลเซียกับชาวบรูไนเรียกเกาะใหญ่แห่งนี้ว่าบอร์เนียว ส่วนชาวอินโดนีเซียเรียกว่าเกาะกาลิมันตัน นี่เป็นเกาะที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น “หนึ่งเกาะสามประเทศ” เพราะมีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ตั้งอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ว่าพื้นที่ของเกาะราวร้อยละ ๗๓ จะเป็นของอินโดนีเซีย


คนไทยแทบทุกคนเติบโตมาด้วยความรู้ว่ากรุงจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อมีข่าวอินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่เกาะบอร์เนียว หลายคนตื่นเต้นและสงสัยว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหา
วิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า นูซันตารา “ว่าที่” เมืองหลวงแห่งใหม่จะตั้งอยู่ที่อำเภอเล็ก ๆ ชื่อว่า Penajam Paser Utara ของจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก พื้นที่บริเวณนี้แม้แต่คนอินโดนีเซียก็แทบไม่รู้จัก และอยู่ห่างจากจาการ์ตาประมาณ ๑,๓๐๐ กิโลเมตร

นูซันตารา (Nusantara) เป็นภาษาชวาที่ชนะการ
ประกวดการตั้งชื่อ หมายถึงหมู่เกาะที่รวมกันเป็นประเทศอินโดนีเซีย รากศัพท์มาจากคำว่า “nusa” ที่แปลว่าเกาะ รวมกับ “antara” ที่แปลว่า “ระหว่าง”  และยังเป็นคำเรียก
ดินแดนที่อาณาจักรมัชปาหิตครอบครองไปไม่ถึง  มัชปาหิตเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมากของเกาะชวาในยุคจารีต คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔

อาจารย์อรอนงค์ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่อินโดนีเซียเตรียมย้ายเมืองหลวง เพราะเกิดปัญหาเข้าขั้นสาหัสจริง ๆ


“วิกฤตถึงขนาดที่ว่าจะอยู่กันยังไง จากสถิติกรุงเทพฯ อีกประมาณ ๒๘ ปีจะจมน้ำ แต่สำหรับจาการ์ตาประเมินว่าอีก ๑๐ ปีเท่านั้น พื้นที่บางส่วนจะจมน้ำ  จาการ์ตายังมีประชากรหนาแน่นมากคือ ๑๑.๒๕ ล้านคน ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ๑๐ ล้านคน แต่ถ้ารวมพื้นที่ปริมณฑลรอบ ๆ เข้าไปด้วยจะเป็น ๓๐ ล้านคน ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด มลพิษทางน้ำทางอากาศมากกว่ากรุงเทพฯ”


เมื่อเปิดดูแผนที่วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศในรอบ ๒๐ ปี จากปี ๒๕๔๓-๒๕๖๒ มีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรในกรุงจาการ์ตาเข้าสู่พื้นที่การเกษตร  ผู้คนต้องใช้น้ำบาดาลถึงราวร้อยละ ๔๐ เป็นสาเหตุให้แผ่นดินทรุดตัวผนวกกับน้ำทะเลสูงขึ้น  ทำให้ชายฝั่งจาการ์ตา
ถูกกัดเซาะและค่อย ๆ จมลงใต้น้ำ

“ถ้าเคยไปจาการ์ตาหรืออ่านข่าว จะเห็นว่าตำแหน่งศูนย์กลางของเมืองหลวงก็ท่วมสาหัสซ้ำ ๆ ทุกปี ไม่ใช่รอบ

๕ ปี หรือ ๑๐ ปี ฝนตกนิดเดียวก็ท่วมและท่วมหนักมาก”
นอกเหนือจากเหตุผลทางกายภาพ ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ทางสังคมและการเมืองเข้ามาร่วม ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าต้องการเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เน้นว่าชวาเป็นศูนย์กลาง ให้กลายเป็นอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลาง

“ประเทศเขากว้างใหญ่มาก ประชากรที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศคือคนชวา แต่ไม่ได้ใช้ภาษาชวาเป็นภาษาประจำชาติ เขาใช้ภาษามลายู  ในด้านการเมือง เศรษฐ
กิจ สังคม คนชวามีบทบาทค่อนข้างสูง โดยมีเมืองหลวงที่ตั้งอยู่บนเกาะชวาเป็นศูนย์กลาง  มาวันนี้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด บอกว่าต้องการเปลี่ยนจาก ‘ชวาเซนตริก’ ไปเป็น ‘อินโดนีเซียเซนตริก’ อยากผลักดันให้เกิดการพัฒนาในเขตอินโดนีเซียตะวันออก”

อีกข้อหนึ่งคือความต้องการเมืองหลวงที่นำเสนอ
อัตลักษณ์ของชาติ

“อินโดนีเซียคิดว่าอัตลักษณ์ของเขาคือความหลากหลาย จุดที่จะย้ายไปก็มีกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ อยู่กลุ่มหนึ่ง เขาต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าอินโดนีเซียโอบรับความหลากหลายนั้นไว้ ไม่ได้เอาชวาเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป”

Image

ภาพ : 123rf.com

ความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์-แลนด์ คนดัตช์เจ้าอาณานิคมเคยมีความคิดย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองบันดุง (Bandung)  ต่อมาช่วงทำสงครามเพื่อเอกราช กองทัพดัตช์บุกเข้ามาที่จาการ์ตา ผู้นำตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) บนเกาะชวาตอนกลาง  พอหลังจากได้เอกราชสมบูรณ์ ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรก ก็มีความคิดย้ายเมืองหลวงไปปาลังการายา (Palangkaraya) บนเกาะกาลิมันตันตอนกลาง และสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ปี ๒๕๔๐ ก็มีความคิดย้ายเมืองหลวงไปจองกอล (Jonggol) เกาะชวาด้านตะวันตก

สิบปีต่อมา คือปี ๒๕๕๐ ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน เป็นประธานาธิบดี ก็พูดกันเรื่องจะย้ายเมืองหลวง เพราะปีนั้นเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เกิดวิกฤตติดขัดทั้งระบบราชการ
และการดำเนินชีวิต จนคิดว่าจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้  รัฐบาลดำริว่าจะย้ายส่วนราชการออกไปก่อน แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

จนมาถึงครั้งล่าสุดที่มีการวางแผนดำเนินการอย่างชัดเจน

ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) จะสร้างทำเนียบประธานาธิบดี ศูนย์ราชการ แล้วทยอยย้ายเจ้าหน้าที่จากจาการ์ตาออกไปนูซันตาราปีละ ๒๕,๕๐๐ คน

ปี ๒๕๖๘-๒๕๗๘ (ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๓๕) จะส่งภาคธุรกิจตามไป เร่งสร้างบ้านพัก ที่อยู่อาศัย เมือง และศูนย์กลางการลงทุน


ปี ๒๕๗๘-๒๕๘๘ (ค.ศ. ๒๐๓๕-๒๐๔๕) พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับการลงทุนจากต่างชาติ


อาจารย์อรอนงค์ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้การย้ายครั้งนี้มีความเป็นไปได้มากคือการพัฒนาประชาธิปไตย


“หลังจากประธานาธิบดีซูฮาร์โตลงจากอำนาจ เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย มีการกระจายอำนาจ จังหวัดต่าง ๆ มีสิทธิ์ดูแลการใช้ทรัพยากรและกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองมากขึ้น มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของ
ตัวเอง  เมื่อพูดเรื่องย้ายเมืองหลวง คนไม่ได้คิดถึงการละทิ้งศูนย์กลางอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เพราะมีการกระจายอำนาจเป็นฐานรองรับมาแล้ว”

แต่ก็ยังมีเรื่องท้าทายความสำเร็จในการย้ายเมืองหลวงคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ๒๕๖๗ ประธานาธิบดีคนใหม่จะสานต่อ หรือสิ่งที่วางแผนจะถูกฉีกทิ้ง


“เริ่มมีการพูดถึงว่านโยบายย้ายเมืองหลวงของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมายังไง  รวมถึงอนาคตของจาการ์ตาก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จะให้เป็นเมืองธุรกิจ หรือเมืองศูนย์กลางการศึกษา”


แม้การย้ายเมืองหลวงจะไม่ง่าย แต่สิ่งที่คนอินโดนีเซียยอมรับ นั่นคือกำลังเกิดวิกฤตขึ้นจริง ๆ ที่จาการ์ตา  

เอกสารประกอบการเขียน
ธารา บัวคำศรี. (๒๕๕๐). โลกร้อน 5°C. กรุงเทพฯ : ดินสามน้ำหนึ่ง.

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “น้ำท่วม โรคระบาด และการหายไปของชาวนา บทเรียนเมื่อโลกร้อนมาเยือนไทย”. นิตยสารสารคดี ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๒๖๕ เดือนมีนาคม ๒๕๕๐.

อัล กอร์ เขียน, คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ แปล. (๒๕๕๐). โลกร้อนความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง. An Inconvenient Truth. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มติชน.

อัล กอร์ เขียน, พลอยแสง เอกญาติ แปล. (๒๕๕๐). โลกร้อน ฉบับคนรุ่นใหม่. An Inconvenient Truth (Young Adult Version). กรุงเทพฯ : มติชน.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
เมืองหลวงไทยในอนาคต : Thailand 2070 เมืองไทยในอีก ๕๐ ปี, องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (TPBS)

แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ-มหานคร ประจำปี ๒๕๖๕ ในส่วนรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

รายงานประจำปี ๒๕๖๕ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

รายงานประจำปี ๒๕๖๒ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

นิพนธ์ พัวพงศกร และ กัมพล ปั้นตะกั่ว. การบริหารจัดการน้ำและที่ดินในเจ้าพระยาเดลต้า ๒๐๔๐. เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “จินตภาพเมืองในพื้นที่เจ้าพระยาเดลต้า ๒๐๔๐ : อีก ๒๐ ปีเราจะอยู่อย่างไร” จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สกสว. วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ณ โรงแรมสุโกศล

YouTube : SHIFTER

ขอขอบคุณ
คุณภูษิต สนองค์, คุณนเรศร์ ยังตรง, เพจ เรารักพระสมุทรเจดีย์

งานเสวนา ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำร่วมจัดโดยนิตยสาร สารคดี, สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น ๑ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) วันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕