เภสัชกรหญิงจันทร์ขจร ลาภบุญทรัพย์
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กับหย่อมป่าที่หายไป
Interview
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล, ฝ่ายภาพสารคดี
ทางเลือกสุดท้าย
ของผืนป่าชายเลนบางบ่อ
“จะให้เขามาเป็นปากเป็นเสียงให้เรา ไม่มีทาง”
มองออกไปนอกระเบียงร้านอาหาร ก. แต ซีฟู้ด ที่ดินของครอบครัวเภสัชกรหญิงจันทร์ขจร ลาภบุญทรัพย์ เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ตั้งอยู่ตรงหัวโค้งคลองด่านน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ผืนป่าปูพรมสีเขียวยาวไปจนสุดถนนสุขุมวิทที่ตัดผ่านด้านหน้าของที่ดิน ด้านยาวของพื้นที่ขนาบด้วยบ่อกุ้งบ่อปลา เฉพาะส่วนที่อยู่ติดถนนของที่ดินแปลงที่อยู่ติดกันฝั่งตะวันออกปลูกสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ส่วนที่ดินทางฝั่งตะวันตกถัดจากบ่อกุ้งแล้วเป็นร้าน ก. แตซีฟู้ด
พ้นจากตรงนี้เป็นแผ่นดินแคบ ๆ ก่อนถึงอ่าวไทย อยู่ใต้อิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ยามน้ำขึ้นจะหลากล้นเข้าไปตามผืนป่าชายเลนสองฟากฝั่งคลองด่านน้อย
“เราพูดจากข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาก็เป็นนักการเมือง แล้วอาวุธของนักการเมืองคือเงินใช่ไหม เพราะว่าเงินคืออำนาจ อยากจะปรับปรุง อบต. สร้างถนน หรือทำอะไรก็ต้องใช้งบประมาณเราเชื่อว่าเขาก็รู้สึกผิดนะ เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของเขา ถึงเราเป็นเจ้าของที่ดินแต่มาทีหลัง ถ้าตรงนี้พังทลายไปก็บ้านเขาเอง”
ในสายตาของจันทร์ขจร ต่อให้รวบรวมเหตุผลร้อยแปดพันประการมาอธิบาย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ช่วยอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นโกงกางกับแสม จะมีหน่วยงานราชการใดยอมทิ้งเงินจากการจัดเก็บภาษีที่ดินปีละ ๒ แสนกว่าบาท
“มันจะเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าได้ยังไงในเมื่อมันผลิตออกซิเจนให้คุณ ใบไม้ร่วงลงพื้นดินข้างล่างก็รักษาสมดุลระบบนิเวศ รักษาแผ่นดินไม่ให้หายไปกับคลองด่านน้อยน้ำทะเล เคยคิดมั้ยว่าเวลาไม่มีอากาศหายใจมันเป็นยังไง อากาศไม่ดี อากาศร้อนคุณชอบมั้ย สุดท้ายเขารู้หมดเรื่องป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รู้ว่าป่าให้ออกซิเจน แต่เขาอยากได้เงินไง”
ในทางเอกสารสิทธิ ที่ดินแปลงป่าชายเลนผืนนี้แบ่งเป็นสองโฉนด โฉนดละประมาณ ๙ ไร่ รวมกันเป็น ๑๘ ไร่ ทั้งสองแปลงผ่านการซื้อขายมาแล้วร่วม ๓๐ ปี คือตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๗ ปัจจุบันจันทร์ขจรขอจดสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตจากสามี เพื่อจะได้สิทธิ์เต็มที่ในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าชายเลนแห่งนี้
ร่วม ๓๐ ปีที่ผ่านมา ผืนป่านี้แทบไม่เคยถูกแตะต้อง ต้นไม้และสัตว์ทุกชนิดดำรงชีวิตตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลชายฝั่ง แหล่งอาหารของนกน้ำนานาชนิด และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งกุ้งขาว ปลาตีน ปูแสม ในขณะที่พื้นที่รอบ ๆ ถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ป่าชายเลนถูกตัดฟันจนเหี้ยนเตียน หลายแปลงถูกถมยกสูงเพื่อปลูกอาคาร
จันทร์ขจรพาเดินดูด้านหน้าของที่ดินด้านติดกับถนนใหญ่พ้นจากทางเท้าเข้าไปเป็นราวป่าหนาแน่น มีต้นโกงกางขึ้นเบียดเสียดต้นแสม แผ่กิ่งก้านระเกะระกะทั้งต้นเล็กต้นใหญ่
“ที่แปลงนี้ต้องรอน้ำลงถึงจะพอเข้าไปได้ เคยให้เจ้าหน้าที่มารังวัด ตรงกับช่วงน้ำขึ้นพอดี เลยรังวัดไม่ได้ แล้วพื้นที่แบบนี้จะให้เราทำประโยชน์อะไร” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คำนิยามป่าชายเลน (mangrove forest) ว่า หมายถึงระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยสังคมพืชและสัตว์หลากชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย มีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ พบตามบริเวณที่เป็นชายฝั่ง ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ เกาะแก่งต่าง ๆพันธุ์ไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญคือโกงกาง จึงเรียกอีกอย่างว่าป่าโกงกาง
ภาวะคุกคามที่ทำให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรมและลดลงอย่างมากในอดีตที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๐๔-๒๕๒๒ สาเหตุหลักจากการตัดไม้มาทำฟืนและเผาถ่าน สร้างท่าเรือและเขื่อน ช่วงที่ ๒ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา สาเหตุหลักเกิดจากการบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำนากุ้งเพื่อส่งออก ทั้งกิจการของคนไทยและคนต่างชาติ การขยายตัวของพื้นที่เมืองและชุมชนอุตสาหกรรม การสร้างถนนและสายส่งไฟฟ้า รวมทั้งการตัดไม้โกงกางและไม้ชนิดอื่น ๆ เกินกำลังการผลิตของป่า ปัญหาเกิดจากการไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพป่าชายเลน และความรู้ที่ไม่ถูกต้องในกลุ่มบุคคลระดับผู้กำหนดนโยบาย ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของป่าชายเลน
ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ทำเป็นกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility - CSR) พาคนไปปลูก
ป่า ให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นกิจกรรมที่หวังผลเรื่องคาร์บอนเครดิต สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายใน ค.ศ. ๒๐๕๐ บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายใน ค.ศ. ๒๐๖๕
ผลการคำนวณค่าการกักเก็บคาร์บอนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้คำนวณของหน่วยงานที่ศึกษาอ้างอิงสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปริมาณการเก็บกักคาร์บอนแบ่งออกเป็นการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินและใต้ดิน ดังนี้
จากการคำนวณ การอนุรักษ์ป่าชายเลนขนาด ๑๘ ไร่ ในอำเภอบางบ่อ อาจช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง ๘๖๒.๐๙๙๒ ตันต่อไร่ แต่ผืนป่าชายเลนหลายแห่งกำลังถูกมองข้าม และได้รับผลกระทบจากกฎหมายภาษีที่ดิน ถูกด้อยค่าว่าเป็น “พื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า” หรือ “ไม่ได้ทำประโยชน์”
“อยากให้มันเป็นพื้นที่ดั้งเดิม แถวนี้ดูจากโดรนแทบจะไม่เหลือแล้ว เป็นพาณิชยกรรมเกือบหมดแล้ว เราเพิ่งไปพายเรือเก็บขยะในคลองด่าน มีช่วงพื้นที่หนึ่งเขาเล่าว่าเป็นที่มีโฉนด แต่พื้นดินถูกกัดเซาะหายไปหมดแล้ว ยังตกใจว่าเจ้าของเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่หรือเปล่า คนพาไปหัวเราะบอกว่าก็น่าจะยังเสีย เพราะเจ้าของมีความหวัง ทั้ง ๆ ที่มันกลายเป็นน้ำแล้ว ประเด็นคำถามคือพื้นดินมันหายไปเพราะเราไม่เก็บรักษาต้นไม้ที่จะยึดเนื้อดินไว้หรือเปล่า”
ลัดดาวัลย์ ครุธไท เกษตรกรที่เช่าที่ดินแปลงข้าง ๆ เลี้ยงกุ้งมานานเล่าว่า “เราเลี้ยงกุ้งขาว เลี้ยงแบบธรรมชาติ แค่เปิดท้ายบ่อตอนน้ำขึ้นลูกกุ้งก็เข้ามา อาหารที่ลูกกุ้งกินก็เป็นแพลงก์ตอนในน้ำ ไม่ต้องให้อาหารเพิ่ม ไม่ต้องใช้สารพิษ บางครั้งก็มีปูเข้ามา เพราะปูออกลูกออกหลานในป่าชายเลนที่อยู่ติดกัน”
เกษตรกรบางบ่อกล่าวถึงความผูกพันที่เกิดขึ้นพร้อมความเปลี่ยนแปลง “เก็บเป็นป่าชายเลนแบบนี้แหละดีแล้ว ดีกว่าที่จะเป็นเมืองด้วยซ้ำไป ในป่ามีปูแสม สัตว์ทะเล หลายสิ่งหลายอย่าง อยากให้เป็นธรรมชาติ แต่บางครั้งต้องยอมรับว่ามันก็ได้แค่นี้ ลองดมกลิ่นดูสิ ทางนี้คือกลิ่นธรรมชาติ ฝั่งนี้จะเย็นมากเลย อีกฝั่งที่เป็นร้านอาหารกับด้านที่อยู่ติดถนนจะร้อนมาก ทั้งกลิ่นเหม็น ความสกปรก หลังอาทิตย์ตกเดินเลยป่าไปจะร้อนวูบ ๆ แต่เดินทางนี้คุณจะสัมผัสความเย็น”
ลัดดาวัลย์บอกว่าท้ายที่ดินส่วนที่อยู่ติดคลองบางบ่อเล็กมีลมเย็นพัดเข้ามา เวลาแสมออกดอกเล็ก ๆ ก็มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
“ตอนนี้รอบ ๆ ด้านกลายเป็นคอนกรีตไปหมดแล้ว อยากให้เก็บป่าผืนนี้ไว้ ไม่อยากให้เมืองมาใกล้ ยิ่งความเจริญมาเท่าไรความสมบูรณ์ยิ่งหายไป ดีใจที่เจ้าของที่ดินเขาก็รักธรรมชาติเหมือนกัน”
การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขาว่าช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ แต่วันนี้ป่าชายเลนผืนหนึ่งกำลังอยู่บนทางสองแพร่งอันโหดร้ายที่จะนำพาสรรพชีวิตทั้งหลายไปยังทางเลือกที่แตกต่าง
“เคยพูดให้คนแถวนี้ฟังว่าเราตั้งใจจะเก็บป่าผืนนี้ไว้ เขาก็บอกว่าอนุโมทนา ที่ผ่านมาเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่สบายใจจากที่ดินหลาย ๆ แปลง” จันทร์ขจรเอ่ยริมถนนสายใหญ่
“ครอบครัวของเรามีกันอยู่ห้าคน ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องหาเงินมารักษาป่าผืนนี้ไว้ เพราะมันหล่อเลี้ยงใจว่าเราทำถูก
“เรายอมเสียภาษีแล้วเก็บไว้ให้เป็นมรดกของลูกในอนาคตอย่างลูกคนเล็ก เขาเรียนจบแพทย์แผนไทยประยุกต์ เงินเดือนสำหรับคนจบสาขานี้หมื่นกว่าบาท รู้มั้ยวันที่ไปจ่ายภาษี เขานั่งน้ำตาตกเลยนะ บอกว่า ‘แม่ ไม่ต้องยกให้หนูนะ หนูไม่มีปัญญาจ่าย’ เขาพูดประชดต่อหน้าเจ้าหน้าที่”
Ecology Corridor
สะพานนิเวศจุดเชื่อมต่อทางธรรมชาติ
จุลพร นันทพานิช
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ผมไม่เชื่อว่าเมืองที่เจริญต้องมีตึกรามบ้านช่อง ผมเชื่อว่าเมืองที่เจริญต้องมีระบบนิเวศที่ดี ผมสนใจพื้นที่รกร้างข้างถนน สองฝั่งซูเปอร์ไฮเวย์ คนบอกว่าเป็นพื้นที่รกร้าง แต่ผมพบนกพญาไฟเล็ก นกสาลิกาเขียวหางสั้น ไม่ต้องพูดถึงนกกวัก มีงูสารพัดชนิด เต่านา เต่าดำ เต่าหับ ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองว่ามันมีสิ่งมีชีวิต เรามองด้วยมุมมองหยาบ ๆ ว่านี่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าต้องไถทิ้ง ปลูกมะนาว ผมไม่เห็นด้วย”
ตามความคิดของ จุลพร นันทพานิช สังคมควรยอมรับคุณค่าของที่ดินในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าเชิงนิเวศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อทรัพยากรในทางอ้อม
ที่ผ่านมามีพื้นที่สำคัญทางนิเวศวิทยาหลายแห่งอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกทำให้หายไป ขณะที่บางแห่งถูกทำลายไปแล้ว
“ที่สุพรรณบุรี มีเด็กที่พ่อแม่ให้ที่ดินที่อู่ทองเป็นมรดก ๓๐ ไร่ ทางการแจ้งว่าจะเก็บภาษีรกร้างว่างเปล่า เขาไม่รู้จะทำยังไงคนรอบข้างบอกให้ไถเลย ๆ ทั้งที่ในพื้นที่มีต้นแจง ตะโกนาประดู่ป่า มะค่าแต้ สุดท้ายโดนไถทิ้งทั้งหมด” อาจารย์จุลพร ยกตัวอย่างความรุนแรงของภาษีที่ดินฉบับนี้
เขาจึงพยายามหาวิธีการ รูปแบบการจัดการ เพื่อยับยั้งการทำลายคุณค่าเชิงนิเวศ หาทางออกเพื่อไปยืนยันกับองค์กรที่ต้องจัดเก็บภาษี
“ที่ดินแปลงหนึ่งที่เกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด สภาพพื้นที่มันเป็นสวนที่เจ้าของปล่อยทิ้งไว้เป็นป่ายางนาผืนใหญ่ ผมเห็นว่ามันเป็นระบบนิเวศอย่างดี มีนกแก้วโม่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยนะ
“แต่รัฐมองว่าเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เจ้าหน้าที่แนะนำเจ้าของที่ดินเอาต้นยางนาออก ไถให้โล่งเตียน แล้วง่ายที่สุดเลยคือปลูกมะนาวตามจำนวนที่กำหนด ก็ไม่ต้องเสียภาษีรกร้างว่างเปล่า แต่ผมคิดหาทางออกโดยใช้การออกแบบ ทางภาคใต้เขามีสวนผสมใช่มั้ย ผมก็เลยบอกว่าจะปลูกกระชายกับขมิ้นใต้โคนต้นยาง แล้วทำเอกสารให้ทางท้องถิ่นยืนยันว่าที่เราไม่รก ป่ายางนาก็จะถูกคุ้มครองไว้”
ในฐานะผู้พัฒนาพื้นที่สีเขียวและสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมกับนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นหลายโครงการ อาจารย์เล่าว่าที่ผ่านมาบางโครงการของเขาก็ถูกมองว่าเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
“ที่อ่อนนุช ๕๑ มีงานออกแบบของผมเป็นสวนป่ากลางเมืองชื่อว่า ‘สวนทำ’ ขนาด ๖ ไร่ แต่ทางการบอกว่าที่นี่รกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษี ผมยืนยันว่าไม่เสีย ไม่รก ที่นี่ไม่ใช่อยู่ ๆ ผมปลูกต้นไม้ขึ้นมา มันเริ่มจากการปรับสภาพที่ดินจัดการระบบน้ำ สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำเอกสารให้ทางการดูว่าเราค่อย ๆ ปลูกทีละคืบทีละศอกจนกลายเป็นสวนป่าที่รวบรวมพรรณไม้ท้องถิ่นภาคกลางเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดู เจ้าของก็เปิดให้คนภายนอกเข้ามาดู เราทำเอกสารไปยืนยันว่ามันเป็นระบบนิเวศ มีพรรณไม้ท้องถิ่น มีต้นสะตือ คงคาเดือด มะคำไก่ ในน้ำมี เต่าหับ เต่านา เต่าดำ เต่าบัว ปลาหมอ ปลาไหล งูเห่าไทย งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม งูหลาม ได้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ
“ข้อดีคือเจ้าหน้าที่ในหลายท้องที่ค่อนข้างเปิดรับ อาจเพราะทั้งเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ดินต่างก็อาศัยตัวบทกฎหมายที่ยังขาดความชัดเจน หลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็อาศัยการตีความหน้างาน ถ้ามีข้อมูลครบถ้วนก็พร้อมรับฟังว่ามีความจำเป็นในทางระบบนิเวศอย่างไร ดังนั้นการยืนยันเฉพาะแปลงหรือเฉพาะรายการยังเป็นไปได้”
เมื่อราว ๒ ปีก่อน อาจารย์จุลพรเคยทดลองวัดค่า PM 2.5 ในพื้นที่ “สวนทำ” เปรียบเทียบกับถนนใหญ่ พบว่าต่างกันถึง ๓๕ หน่วย และกำลังจดบันทึกสถิติอุณหภูมิอย่างละเอียด
“ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาโลกร้อน เราลดรถยนต์ไม่ได้ก็ใช้ที่รกร้างว่างเปล่านี่แหละจัดการ ถ้ามีพื้นที่แบบนี้มาก ๆ ลูกหลานเราก็ไม่ต้องลำบาก ยังไม่ต้องนับสรรพสัตว์สารพัดอย่างที่มีพื้นที่สงบร่มเย็นอยู่อาศัย”
จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ พื้นที่ว่างในความครอบครองของเอกชนภายในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นจำนวนกว่า ๖ หมื่นไร่โดยประมาณ หรือใหญ่กว่าพื้นที่ทั้งหมดของสนามบินสุวรรณภูมิประมาณสามเท่า ในส่วนโฉนดที่ดินทั่วประเทศคาดว่ามีอยู่ประมาณ ๓๒ ล้านแปลงมีแนวโน้มว่าพื้นที่ทรงคุณค่าทางนิเวศจำนวนไม่น้อยจะอยู่ใต้การครอบครองของเอกชน ซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี มีความเสี่ยงว่าจะเข้าข่ายสถานะที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
แต่สายตาคู่นี้มองตรงกันข้าม อาจารย์จุลพรชี้ว่าพื้นที่มากขนาดนี้สามารถพัฒนาเป็น “สะพานนิเวศ” (ecology corridor) ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งที่ผ่านมาถูกทำลายไปมากจากการขยายตัวของเมือง
“ผมมีเรื่องสะเทือนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับชะนีในป่า ถ้ามีถนนผ่า เขาข้ามไปหากันไม่ได้เพราะชะนีแทบจะไม่ลงดิน หมายความว่าเขาจะเห็นหน้ากันแต่ไม่ได้ไปเจอกันอีกแล้ว หรือกรณีนกเงือกกรามช้างปากเกลี้ยงจากเขาใหญ่ หลายปีก่อนนักวิจัยพบว่ามันบินไปถึงฮาลา-บาลา แล้วก็ป่าตะวันตกซึ่งอยู่ห่าง ๓๐๐ กิโลเมตร นักวิจัยประเมินว่าคงบินบนเพดานบินที่สูงมาก เรามองไม่เห็นผมสนใจว่าระหว่างทางไม่มีป่า งานออกแบบของผมควรจะเป็นสะพานนิเวศ นกเงือกไปไม่ได้ นกเล็กนกน้อยไปได้ก่อนก็ยังดี และผมคิดว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ควรจะมีเรื่อง ecology corridor ด้วย”
สะพานนิเวศหมายถึงจุดเชื่อมต่อทางธรรมชาติ พื้นที่ถูกเก็บรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม หรือเก็บรักษาระบบนิเวศแบบดั้งเดิม เพื่อรักษาสมดุลในการปะทะสังสรรค์กันระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการธำรงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
ในระดับภูมิภาค การกำหนดสะพานนิเวศในเขตที่ระบบนิเวศถูกทำลาย หมายถึงการฟื้นฟูเส้นทางอพยพหรือแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมสำหรับสัตว์บางชนิด และเปิดทางให้พรรณไม้ท้องถิ่นกลับมาเจริญเติบโต ไม่ว่าด้วยตัวเองหรือผ่านการปลูกใหม่
“ผมไม่ได้มองสิ่งมีชีวิตแค่มนุษย์อย่างเดียว สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องรื่นรมย์ในงานออกแบบผม การสร้าง ecology corridor ที่เหมาะสมทำได้ไม่ยาก เพียงอาศัยความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการปลูกพรรณไม้ท้องถิ่น นอกจากจะได้คุ้มครองพันธุกรรมของพรรณพืชจากการคุกคามของพืชต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพราะได้รับความนิยมตามกระแสสังคม ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพืชท้องถิ่นหลายชนิดเติบโตในพื้นที่ได้อยู่แล้วด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการลงทุนดูแลรักษาที่พิเศษเฉพาะเจาะจง พืชท้องถิ่นประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก กระบก กระทิง ฯลฯยังช่วยสร้างร่มเงาและสามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันได้”
ครู-สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยืนยันความเห็นว่า เมืองที่ดีต้องมีระบบนิเวศที่ดี จึงต้องเปลี่ยนทัศนะที่มองประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง
“จะบอกว่าคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์มีความสำคัญอย่างเดียวเหรอ ทั้ง ๆ ที่มันมีคุณค่าอื่นด้วยนะ พื้นที่ของเราอาจจะไม่ได้ให้ผลผลิตมะนาวปีละ ๔ กิโลกรัมไปขายตลาดไท แต่มันให้ระบบนิเวศ อากาศที่ดี ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เราต้องคำนึงถึงคุณค่าเชิงนิเวศ ไม่ใช่เอาคุณค่าเชิงเศรษฐศาสตร์มาชี้วัดอย่างเดียวเท่านั้น
“ผมคิดว่าระบบนิเวศจำเป็นสำหรับมนุษย์ ก็เลยทำตัวอย่างหลาย ๆ กรณีให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่ต้นไม้ไม่เหมือนกัน สัตว์
ก็ไม่เหมือนกัน เวลาไปยื่นเรื่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขาจะเก็บภาษี โชคดีที่เขาฟัง คงเพราะไม่มีข้อกำหนดเฉพาะว่าที่ดินแบบนี้จะจัดอยู่ในประเภทไหน วนเกษตรสวนป่า หรือเพื่อการนันทนาการ ตอนนี้กฎหมายภาษีที่ดินยังไม่มีคำว่าวนเกษตรเขาเอามะม่วง มะนาว ตามจำนวนที่กำหนดเกณฑ์ บางคำก็ยังไม่มีในสารบบกระบวนการจัดประเภทที่ดิน”
ผลกระทบภาษีที่ดิน
ต่อพื้นที่สำคัญ
ทางประวัติศาสตร์
ดอกเตอร์หัทยา สิริพัฒนากุล
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมของศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO SPAFA) และกรรมการบริหาร สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS)
นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้คนไทยหลายคนได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในส่วนผลกระทบที่มีต่อที่ดินที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมอาจยังไม่เคยนึกถึงกันมาก่อน
ยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ตามเส้นทางการเดินทัพที่ระบุอยู่ใน ลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา พื้นที่บริเวณที่เกี่ยวเนื่องกับทุ่งภูเขาทอง หรือทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นที่รับรู้เป็นอย่างดีถึงความสำคัญในการสู้รบกับพม่าในสมัยอยุธยา
“สภาพทุกวันนี้หลายบริเวณยังเห็นเป็นทุ่งโล่ง หากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการครอบครองโดยเอกชนอาจจะถูกตีความว่าเป็นพื้นที่รกร้าง” ดอกเตอร์หัทยา สิริ-พัฒนากุล อธิบายและชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒
“แหล่งโบราณคดีทั้งในเมืองและนอกเมืองหลายแห่งเป็นพื้นที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งนิยามและชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ยากมาก นั่นเพราะมันอาจเหมือนเป็นทุ่ง พื้นที่รกร้าง กระทั่งมีคนเข้าไปจัดการแล้วเจอหลักฐานสำคัญ อาจเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ พื้นที่ตรงนั้นจึงจะถูกประกาศเป็นแหล่งโบราณคดี ถ้าพูดถึงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีการชี้ชัดว่าแหล่งโบราณคดีที่ว่าเป็นพื้นที่ตรงไหน ส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้สำรวจก็จะเป็นพื้นที่รกร้างตามกฎหมายที่บอกว่าไม่มีการเข้าไปทำอะไร”
คุณค่าของที่ดินบางแห่งอยู่ที่ “เรื่องราว” (story) ที่เกิดขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพ
ดอกเตอร์หัทยาอธิบายว่าต้องดูว่าพื้นที่หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมในประเทศไทยมีอะไรบ้างก่อน
“ถ้ามองภาพรวมในกรอบของกฎหมาย พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แหล่งโบราณสถานหรือมรดกวัฒนธรรมในประเทศไทยที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแบ่งออกเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน โบราณสถานไม่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานรอการพิจารณาขึ้นทะเบียน และเมืองเก่าตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.”
อ้างอิงข้อมูลของกรมศิลปากร ปัจจุบันมีแหล่งโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ ๘,๐๒๒ แห่ง ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนมากกว่า ๕,๖๕๒ แห่ง รอการประเมินประมาณมากกว่า ๑,๐๖๐ แห่ง
“โบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. โบราณสถานฯ มีสองประเภท คือ โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน กับโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหามายาวนานว่าโบราณสถานที่ไม่ขึ้นทะเบียนคืออะไร นอกจากนั้นในทางปฏิบัติยังมีโบราณสถานที่รอขึ้นทะเบียน อยู่ระหว่างการสำรวจและประเมิน ทั้งที่อยู่ในเขตเมืองและชนบท นอกจาก พ.ร.บ. โบราณสถานฯ แล้วก็ยังมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องประกาศเขตเมืองเก่า ถึงแม้ความคุ้มครองจะไม่เข้มข้นเท่ากฎหมายโบราณสถาน แต่ก็ได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีมรดกวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น อาคาร กลุ่มอาคาร แหล่งโบราณคดี ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ ชุมชนเก่า/เมืองเก่า/เมืองประวัติศาสตร์ พื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์”
ปัจจุบันพื้นที่ที่ได้รับประกาศเป็นเมืองเก่าทั่วประเทศมีประมาณ ๓๐ กว่าเมือง โดยมี ๒๒ เมืองที่มีการจัดทำแผนแม่บทในการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวยังไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
“พื้นที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมไม่ได้มีแค่พื้นที่ที่กฎหมายรองรับ จากประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าพูดกันตรง ๆ แล้วการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ในประเทศไทยยังจำกัด ทำให้เรารู้จักแค่คำว่าโบราณสถานหรือเมืองเก่า ทั้ง ๆ ที่ยังมีมรดกวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง ในแง่การรับรู้เราอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นมรดกแล้ว แต่ความจริงยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ยกตัวอย่างตึกแถวเก่าหรือย่านอาคารเก่าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกคนจะเห็นพ้องกันว่ามีคุณค่าทางโบราณคดี ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ แต่กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง ถ้าเกิดมีความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสิ่งมีค่าทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป”
“ประโยชน์สูงสุด
ของการจัดเก็บภาษีคืออะไร
คือเงินใช่ไหม”
ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย
ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา,
เจ้าของ “สวนทำ” ย่านอ่อนนุช
“ในกระบวนการจัดเก็บภาษีต้องมีการตัดสินว่าพื้นที่ใดเป็นที่รกร้างหรือไม่มีประโยชน์ ตรงนี้ใครเป็นคนตัดสิน พื้นที่ที่ไม่รกร้างคืออะไร พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์คืออะไร หน้าตาเป็นยังไง ประโยชน์สูงสุดของการจัดเก็บภาษีที่ดินคืออะไร คือเงินใช่ไหม
ทุกวันนี้มีคนมากมายอยากปลูกต้นไม้ให้มีสภาพเป็นป่า ป่าจริง ๆ ป่าธรรมชาติ ไม่เป็นแถวเป็นเเนว คละเคล้าหลากชนิด เพื่อให้ใบไม้ที่ร่วงหล่นถูกย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารที่หลากหลาย มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อรากพืชนับพันนับหมื่นชนิด ปรุงเเต่งอาหารเพื่อให้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีนก มีสรรพชีวิตเข้ามาอยู่อาศัยกิน ขี้ ขับถ่าย แพร่กระจาย จนมีความหลากหลายทางชีวภาพ ถักทอโยงใย ซับซ้อน จนเป็นความอุดมสมบูรณ์เหนือจินตนาการเเละความรู้ของมนุษย์ เเต่ทันทีที่มีใครสักคนตัดสินพื้นที่เหล่านั้น โดยปราศจากความรู้ ใช้เพียงสายตาและภาพที่มองอย่างผิวเผินเป็นตัวตัดสิน ว่าต้องเป็นแถวเป็นเเนว ต้องเป็นชนิดต้นไม้ที่อยู่ในหมวดหมู่ตามความคิดของคนบางคนเพียงเเค่ไม่กี่ร้อยชนิด ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติมีต้นไม้เเละสมุนไพรหลากหลายนับล้านชนิด เพื่อรอนำไปวิจัยเพื่อรักษาโรคของมนุษย์
การตัดสินด้วยภาพต้นไม้เป็นแถวเป็นเเนว มีต้นไม้ไม่กี่ชนิด จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโครงสร้างของธรรมชาติอย่างให้อภัยไม่ได้ เพราะป่าที่คุณทำลายด้วยความไม่รู้คือแกนกลางของสรรพสิ่ง
การจัดเก็บภาษีที่ดินเป็นเรื่องที่ดีเเละควรเกิดขึ้น เเต่ความรู้เเละปัญญาในการปฏิบัติงานเพื่อหาเกณฑ์ตัดสินว่าพื้นที่ใดมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีความรู้ก็ต้องหาความรู้ อย่าทำโดยไม่รู้ และวิธีที่จะรู้ก็ควรจะคุยกับคนที่รู้ คุยกับชาวบ้าน นักวิชาการที่หลากหลาย ไม่เฉพาะเเต่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง คุยกับปราชญ์ชาวบ้าน คุยกับคนหาอยู่หากินในป่านั้น ว่าพื้นที่รกร้างที่คุณตัดสินว่าไม่มีประโยชน์นั้น มันมีประโยชน์อะไรกับคนเหล่านั้นบ้าง คุยเยอะ ๆ หาความรู้เยอะ ๆ ปรับปรุงเยอะ ๆ แก้ไขเยอะ ๆ จนทำให้เกณฑ์ในการตัดสินนั้นถูกต้องที่สุด
การจัดเก็บภาษีของรัฐควรจะเกิดประโยชน์สูงสุด คำถามคือ อะไรที่เรียกว่าประโยชน์สูงสุด เงินใช่หรือไม่
ถ้าเราได้เงิน เเต่เงินนั้นได้มาจากป่าหรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกตัด รื้อถอน ไถ อย่างราบคาบ เพียงเพื่อให้เกิดภาพต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิด เป็นเเถวเป็นเเนว จนความหลากหลายทางชีวภาพ อากาศ น้ำ ธรรมชาติอันบริสุทธิ์จบสิ้นลง เมื่อนั้นเงินที่รัฐได้มา จะต้องถููกนำไปใช้จ่ายกับการดูเเลสุขภาพ สาธารณสุุข โรคภัยไข้เจ็บ แก่ประชาชนอยู่ดี
เราได้เงินมาหนึ่ง เเต่ตามมาด้วยรายจ่ายเป็นสิบ คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดและทบทวนให้ดี
ถ้ายุทธศาสตร์คือการหาเงินเข้ารัฐยุทธวิธีมีเป็นล้านวิธี เช่น ปราบคอร์รัปชัน ส่วย หรือลดรายจ่าย เช่น ด้านสาธารณสุขแบบยั่งยืน พลิกฟื้นสิ่งเเวดล้อมให้ประเทศเป็นสีเขียว เป็นเเหล่งพันธุกรรมพืชของโลก เป็นครัว เป็นยา เป็นโรงพยาบาลของโลก เอาเข้าจริง ๆ เเค่ปราบคอร์รัปชันประเทศเราก็รวยตายห่าเเล้วครับพี่...”