โลกรวน โลกร้อน
ประเทศไทย กบต้ม
s c o o p
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ.
หมายเหตุ : บทความนี้เกี่ยวข้องกับตัวเลขจำนวนมาก
และเชื่อมโยงกับระดับสากล จึงขอนำเสนอด้วยเลขอารบิกและปี ค.ศ.
“ร้อนเกินเบอร์”
“ร้อนโ- ตร”
“ร้อนจนละลาย”
ฯลฯ
อากาศร้อนจัดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้วิกฤตโลกร้อนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
ไม่นับการคาดหมายว่าปี ค.ศ. 2023 จะเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” รุนแรง และอุณหภูมิอาจปรับตัวสูงขึ้นจนทำสถิติอากาศร้อน ซึ่งแทบทุกปีในช่วงทศวรรษหลังทำลายสถิติกันมาตลอด
แต่ โลกร้อน โลกรวน ก็ยังเป็นเพียงคำในข่าวที่คนส่วนใหญ่ปัดหน้าจอผ่านตา จะมีใคร “ตื่นตระหนก” จริง ๆ กับหายนะซึ่งกำลังจะมาถึง อาจในไม่กี่ปีนี้ หรือ 10 ปี 50 ปีข้างหน้า
คิดถึง “ทฤษฎีกบต้ม” ที่เปรียบเปรยว่า กบนอนแช่ในหม้อซึ่งค่อย ๆ เพิ่มความร้อนทีละนิดไปเรื่อย ๆ กบจะนอนสบายใจโดยไม่รู้สึกตัวถึงความผิดปรกติ จนที่สุดน้ำเดือดกบก็ถูกต้มจนสุก จะกระโดดหนีเอาตัวรอดก็สายเสียแล้ว
ตายกันหมดในหม้อนั่นแหละ
แต่โลกไม่ต้องรอถึงจุดน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เพราะแค่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส ก็เชื่อว่าจะเกิดหายนะครั้งใหญ่
เพียงแค่วันนี้โลกร้อนขึ้นเฉลี่ยราว 1 องศาเซลเซียส จากเมื่อศตวรรษก่อน ทั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน ซูเปอร์พายุหมุน น้ำท่วม ฯลฯ ก็เล่นงานจนก่อความสูญเสียไปทั่ว
แล้วใช่ว่ากบทุกตัวจะร้อนขึ้นเท่า ๆ กัน
ดัชนีชี้ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) จัดทำโดยองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร Germanwatch วิเคราะห์ผลกระทบของภาวะโลกร้อนโลกรวนที่มีต่อประเทศต่าง ๆ รวม 180 ประเทศในช่วงปี ค.ศ. 2000 ถึง 2019 และนำมาจัดอันดับ ผลคือประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ติดใน 10 อันดับแรกของบรรดากบที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มี เปอร์โตริโก เมียนมา เฮติ ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก บาฮามาส บังกลาเทศ ปากีสถาน ไทย และเนปาล
ไทยติดอันดับ 9 ผลกระทบที่เกิดขึ้น 146 ครั้ง ทำให้มีอัตราการตาย 0.21 รายต่อประชากร 1 แสนคน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมกัน
ดัชนีชี้วัดนี้พลิกความเชื่อว่าเราอยู่ในตำแหน่งปลอดภัยของหม้อต้ม ชัยภูมิเมืองไทยดี และไม่น่าได้รับผลกระทบมากจากโลกร้อน
ตอนนี้มนุษย์ทั้งโลก รวมทั้งคนไทย กำลังทำตัวเหมือนกบในหม้อต้ม แต่ร้ายกาจกว่าเสียอีก เพราะเป็นคนต้มน้ำร้อนนั้นด้วยตัวเอง
จะโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับ เข้าใจผิด หรือทำเป็นไม่รู้
กบในหม้อพากันชูป้ายและป่าวประกาศว่า จะช่วยกันหยุดไม่ให้น้ำร้อนขึ้น โดยการทำ net zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050
แต่ความจริงอีกมือหนึ่งยังหยิบเชื้อเพลิงสุมไฟต้มน้ำต่อไปเรื่อย ๆ
Net
Zero
สร้างภาพ “เด็กดี” ?
แผนที่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ครอบคลุมหลายประเทศในทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2023 จนได้ฉายาว่า Monster Asian Heatwave ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้คลื่นความร้อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่ผ่านมาความพยายามสร้างความเข้าใจและความตระหนักในวิกฤตโลกร้อน ทำให้ต้องประดิษฐ์คำขึ้นมาใช้มากมาย
ภาวะโลกร้อน - global warming,
ปรากฏการณ์เรือนกระจก - greenhouse effect,
ก๊าซเรือนกระจก - greenhouse gases,
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - climate change,
รอยเท้าคาร์บอน - carbon footprint,
การปล่อยคาร์บอน - carbon emission,
ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ - climate emergency
…ซึ่งเขียนคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องได้เต็มอีกหลายหน้ากระดาษ จนเป็นเรื่องน่าปวดหัวกระทั่งกับผู้สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับคนทั่วไปยิ่งไม่ต้องพูดถึง แม้แต่คำว่า “โลกรวน” ก็ได้จากการประกวดชิงรางวัลถึง 1 ล้านบาท เพื่อหาคำไทยที่ใช้แทนความหมายของ climate change หวังเป็นคำฮิตติดหูสำหรับสร้างกระแสความสนใจเรื่องโลกร้อน สรุปแบบกระชับโดยไม่ต้องใส่ใจศัพท์มากนัก คือทั่วโลกยอมรับแล้วว่าขณะนี้ภาวะโลกร้อนหรือปรากฏการณ์เรือนกระจก และโลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนคิดไปเอง และสาเหตุก็เพราะสังคมมนุษย์เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพลังงานจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศปริมาณมหาศาลภายในเวลา 100 กว่าปี และยังมีก๊าซเรือนกระจกอีกหลายตัว เช่น มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ย้ำว่าโลกร้อนไม่ใช่สภาวะที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากมนุษย์ยุคอุตสาหกรรม
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896 สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) คำนวณไว้แล้วว่าถ้าชั้นบรรยากาศมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสองเท่า โลกจะร้อนขึ้น 5-6 องศาเซลเซียส ต่อมาเขาปรับการคำนวณเหลือ 4 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขนั้นก็อยู่เพียงบนหน้ากระดาษรอนานข้ามศตวรรษมาถึงปี ค.ศ. 1992 ในการประชุม Earth Summit ประเทศทั่วโลกถึงจะมีความเห็นสอดคล้องกันว่าต้องรักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกไม่ให้สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่มีผลทางปฏิบัติใด ๆ ถัดมาอีก 4 ปี ในปี ค.ศ. 1997 ถึงเกิดข้อตกลงระหว่างนานาชาติกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ชัดเจน เรียกว่าพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ใช้เวลา 101 ปีจากการคำนวณของสวานเตมาสู่การ (เริ่ม) ปฏิบัติ
สวานเต อาร์เรเนียส
(Svante Arrhenius)
วิกฤตความร้อนและไฟป่าที่จะรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นจากภาวะโลกร้อน
ภาพ : Unsplash/Mike Newbry
แต่เส้นกราฟความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังพุ่งชันขึ้นทุกปี ข้อตกลงที่ลงนามกันไม่สามารถหยุดยั้งให้โรงงานปั๊มสินค้ามหาศาลออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกระหว่างประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองทันสมัยที่แออัดยัดเยียดด้วยตึกสูง ถนนและรถยนต์ การผลิตและใช้ไฟฟ้าทั้งกลางวันกลางคืน เร่งเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลกันเหมือนไม่มีใครรู้จักคำว่าโลกร้อน แถมสร้างปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งขยะ น้ำเน่า มลพิษในอากาศ
ระหว่างที่โลกเผชิญปัญหาจากการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็มีการประดิษฐ์คำใหม่ออกมาแก้เกม คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” - sustainable development ซึ่งนิยามเบื้องต้นในรายงาน “Our Common Future” ของคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ที่เสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1987 ระบุว่าคือ “แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง”
ต่อมาสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ 17 ด้าน โดยการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเป้าหมายด้านที่ 13 Climate Action ส่วนคำว่า “ยั่งยืน” ก็กลายเป็นคำคุณศัพท์ที่นิยมใช้ต่อท้ายกิจกรรมมากมาย ซึ่งบางครั้งก็เกิดคำถามว่ายั่งยืนจริงหรือไม่ เช่น “การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน” แม้ประเทศนั้นหรือองค์กรนั้นจะยังเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ต่อไป
สิบแปดปีต่อมา ปี ค.ศ. 2015 โลกให้ความหวังตัวเองด้วยการประดิษฐ์คำใหม่อีกคำ คือ net zero emission หรือ
net zero จากการประชุมของนานาประเทศที่กรุงปารีสและเกิดข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า “ความตกลงปารีส” - Paris Agreement มีเป้าหมายคือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และที่ดีกว่าคือพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสด้วย ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสังคมโลกต้อง “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ภายในปี ค.ศ. 2050 และหาทางเอาก๊าซเรือนกระจกออกจากอากาศด้วย
ภาพมือปิดปากปล่องโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากวิดีโอของสหประชาชาติ กระตุ้นนานาประเทศให้ร่วมกันมุ่งสู่ net zero
https://www.un.org/en/climatechange/net-zero-coalition
สัญลักษณ์ Sustainable Development Goals เป้าหมาย 13
แต่นับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ หากถามถึงผลลัพธ์ในภาพรวม คำตอบชัดเจนอยู่ในรายงานฉบับล่าสุดปี ค.ศ. 2023 ของ IPCC ชี้ว่าจากการพิจารณาสถานการณ์และแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการอยู่ มีความเป็นไปได้สูงมากที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2030-2040 คือ 10 ปีข้างหน้านี้ ! และคาดว่าโลกจะร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ.2100
(อ่านถึงตรงนี้แล้ว ถ้ายังไม่ตกใจ หวังว่าบทสรุปหายนะตอนท้ายบทความนี้จะช่วยให้ตกใจได้)
สำหรับโลกร้อน ความเห็นของ IPCC ซึ่งเป็นชื่อย่อของหน่วยงานที่มีชื่อเต็มยาวมาก คือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ -Intergovernmental Panel on Climate Change ได้รับการยอมรับว่าน่าเชื่อถือที่สุด เพราะเป็นองค์กรระดับโลกซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์หลายพันคนทำงานร่วมกัน
รายงานล่าสุดของ IPCC ตอกย้ำความล้มเหลวตลอดเวลากว่า 100 ปีที่มาพร้อมกับศัพท์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโลกร้อนว่า
“โอกาสของการรักษาอนาคตที่ยั่งยืนและน่าอยู่สำหรับทุกคน กำลังปิดลงอย่างรวดเร็ว”
แผนที่ดัชนีชี้ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปี ค.ศ. 2000-2019 สะท้อนว่าทศวรรษที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้วและมีระดับแตกต่างกันไป ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9
ลับ
ลวง
พราง
ตามความตกลงปารีส ทุกประเทศมีหน้าที่ต้องส่งรายงาน “แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” - National Determined Contributions (NDC) ว่าจะลดเท่าไร อย่างไร และต้องทำรายงานทุก ๆ 5 ปี
รายงาน NDC ของไทยที่ส่งในปี ค.ศ. 2022 ประกาศจะบรรลุเป้าหมาย net zero ในปี ค.ศ. 2065 และความเป็นกลางทางคาร์บอน - carbon neutrality ในปี ค.ศ. 2050 (เพิ่มศัพท์ใหม่อีกคำ carbon neutrality หมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ต่างจาก net zero ซึ่งรวมก๊าซเรือนกระจกทุกประเภท เหมือนเป็นเป้าหมายระหว่างทางก่อนจะไปถึง net zero) โดยประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% เมื่อเทียบกับกรณีปรกติ ภายในปี ค.ศ. 2030
ลองคิดเร็ว ๆ ก็ฟังดูดี เพราะจากปี ค.ศ. 2021 ถึง ค.ศ. 2065 ก็ประมาณ 45 ปี ทุก 10 ปีก็ต้องลดให้ได้ 22% จึงจะครบ 100% หรือถ้าเป้าหมายเป็น ค.ศ. 2050 ทุก 10 ปีก็ต้องลดราว ๆ 33% เป้าหมาย 30% ในปี ค.ศ. 2030 ก็น่าจะเป็นไปได้
แต่คำถามคือ เป้าหมายนี้สอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียสหรือไม่
สถาบันด้านภูมิอากาศศาสตร์ Climate Analytics ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้จัดทำโครงการ The Climate Action Tracker (CAT) เพื่อประเมินเป้าหมายและแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนานาประเทศว่าสอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีสมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับให้คำแนะนำที่เหมาะสม
CAT แบ่งระดับการประเมินเป็น
1.5 ํC Paris Agreement Compatible - สอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
Almost Sufficient - เกือบจะสอดคล้อง แค่ปรับปรุงบางประการก็จะสอดคล้อง
Insufficient - ต้องปรับปรุงอย่างมากเพื่อให้สอดคล้อง
Highly Insufficient - ไม่สอดคล้อง และแผนที่วางไว้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น แทนที่จะลดลง
Critical Insufficient - ความมุ่งมั่นมีน้อย และไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิง
ผลการประเมินสำหรับแผนที่นำทางฯ ของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มล่างสุด คือ Critical Insufficient
CAT วิจารณ์ว่าแผนของไทยไม่ได้กำหนดเป้าหมายแยกตามภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญคือไม่ได้อธิบายด้วยว่า ทำไมเป้าหมายที่ตั้งไว้จึงสอดคล้องกับความตกลงปารีส คำแนะนำของ CAT คือเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเพิ่มจาก 30% เป็น 57% ภายในปี ค.ศ. 2030 เรียกว่าเกือบสองเท่าจากที่ตั้งเป้าหมายไว้
ประเทศต่าง ๆ ตามการประเมินของ CAT พบว่าไม่มีประเทศใดสอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
CAT ยังประเมินด้วยว่าถ้าทำตามแผนที่ไทยวางไว้ในปี ค.ศ. 2030 แทนที่ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงแต่กลับจะเพิ่มขึ้น 17-22% เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี ค.ศ. 2021 แถมด้วยว่า (เหมือนจะแอบเหน็บ) ถ้าประเทศอื่น ๆ เดินตามรอยประเทศไทย โลกจะร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส
แต่ไทยไม่ได้ถูกจับมายืนนอกห้องคนเดียว ในกลุ่มที่ถูกประเมินไว้ย่ำแย่สุด หรือ Critical Insufficient ตอนนี้มีอยู่อีกหกประเทศ (ข้อมูล เมษายน ค.ศ. 2023) คือ อิหร่าน เม็กซิโก รัสเซีย สิงคโปร์ ตุรกี และเวียดนาม ส่วนประเทศอื่น ๆ อยู่ในกลุ่มแย่น้อยกว่า หรือเกือบผ่าน และยังไม่มีประเทศใดเลยที่มีเป้าหมายและแผนสอดคล้องกับ 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าไม่ลืมรายงานของ IPCC ที่กล่าวไปแล้วก็แสดงทิศทางไม่น่าพึงพอใจทำนองเดียวกัน
จากการประเมิน ณ ขณะนี้ (ค.ศ. 2023) เป้าหมายตามความตกลงปารีสก็ดูน่าจะเป็นหมัน
หากบริษัทชั้นนำ องค์กร อุตสาหกรรมต่าง ๆ ประกาศ net zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอิงตามแผน NDC ของประเทศไทย ก็จะเป็นเพียงตู้รถไฟในขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งไปผิดเส้นทาง ออกห่างจากจุดหมายที่ต้องการไปถึง
ภาพลวงตาของคำว่า ยั่งยืน, net zero, carbon neutrality กลับมาอีกครั้ง เพราะเมื่อตัดสินที่สถานีปลายทาง อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกำลังมุ่งหน้าไปไกลกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แทบจะแน่นอน
วิกฤตการทำลายป่าธรรมชาติ แต่ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ไม่กี่ชนิดแทน ทำลายทั้งแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีความยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ
ภาพ : Unsplash/Matt Palmer
ฟอก
เขียว
ผู้อ่านอาจสงสัยว่าการรณรงค์รักษ์โลกต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยหรืออุตส่าห์ใช้ถุงผ้า พกขวดน้ำ ไม่เอาหลอด ไม่เอาถุงพลาสติกไม่เอากล่องโฟม ลดขยะ แยกขยะ ใช้ของแบบคุ้มค่าใช้ของมือสอง ใช้ของรีไซเคิล ใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ ขี่จักรยาน นั่งรถไฟฟ้า นั่งรถสาธารณะ ปลูกต้นไม้ ประหยัดน้ำ ลดขยะอาหาร ไม่กินเนื้อ กินข้าวอินทรีย์ กินพืชผักตามฤดูกาล ฯลฯ
ผู้เขียนเชื่อว่ามีแน่นอน และเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ถ้าทุกคนทำได้ แต่ปัญหาโลกร้อนต้องการมากกว่าพฤติกรรมเชิงบวกของแต่ละคน
หากมองแง่ร้าย การรณรงค์ของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ว่าให้ทุกคนช่วยกันรักษ์โลก กลับสร้างมายาคติของการแก้ปัญหา โดยผลักความรับผิดชอบมาให้ประชาชน ทั้งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างหากควรเป็นผู้รับผิดชอบตัวหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
วันนี้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ประกาศหรือติดฉลากว่า “เขียว” “กรีน” “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” “ลดโลกร้อน” “ลดคาร์บอนฟุตพรินท์” ออกมาตอบสนองกระแสตลาดทั่วโลกที่สนใจความยั่งยืน
หนึ่งในการรณรงค์เรื่องโลกร้อน คือการยุติการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาพ : Unsplash/Markus Spiske
ผู้บริโภคสายรักษ์โลกก็ดีใจ แต่คงต้องตั้งสติกันนิดหนึ่งเพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะรับประกันได้ว่าสินค้าไหนกรีนจริงหรือไม่จริง
ศัพท์ที่ควรทดไว้ในใจคือ “การฟอกเขียว” - greenwashing หมายถึงการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เมื่อตรวจสอบกันจริง ๆ สินค้าหรือองค์กรนั้นอาจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้แค่บางส่วนหรือบางแง่มุมเล็ก ๆ ขณะยังสร้างผลกระทบด้านอื่น ๆ อีกมาก เข้าทำนองใช้คำโฆษณาโต ๆ โม้มากกว่าที่ทำได้จริง แย่กว่านั้นคือสิ่งที่กล่าวอ้างยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
หากไม่ฉุกคิด เราก็จะหลงเชื่อว่าได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม สินค้านั้นดี บริษัทนั้นเป็นคนดีที่เราน่าสนับสนุนสินค้าเขาต่อไป
ต้นปี ค.ศ. 2023 สถาบัน New Climate รายงานการตรวจสอบบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 24 บริษัทที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ net zero โดย 24 บริษัทนี้รวมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 4% ของทั้งโลกในปี ค.ศ. 2019
ผลการตรวจสอบคือมีถึง 15 บริษัทที่กลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเชื่อถือได้น้อยถึงน้อยมากเกือบทั้ง 24 บริษัทห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ. 2030 และมีเพียง 5 บริษัทที่อาจบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 90% ตามปีที่บริษัทตั้งไว้ว่าจะเป็น net zero แต่เมื่อถึงปลายทางทั้ง 24 บริษัท น่าจะลดรวมกันได้แค่ 36% เท่านั้น
โปสเตอร์ความรู้เรื่อง Net Zero ของโครงการ Care the Bear ที่ดำเนินงานโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
https://climate.setsocialimpact.com/carethebear/article/detail/28
ปัญหาการฟอกเขียวทำให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของสหประชาชาติ (UN High - Level Expert Group on the Net Zero Emissions Commitments) ต้องออกรายงานเมื่อปลายปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022) ชื่อ “Integrity Matters : Net Zero Commitments by Businesses, Financial Institutions, Cities and Regions” เพื่อขีดวงล้อมการฟอกเขียวขององค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ
แคเทอรีน แม็กเคนนา (Catherine McKenna) ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าวว่า “ขณะนี้โลกไม่อาจยอมรับความล่าช้า การแก้ตัว หรือการฟอกเขียวได้อีก”
ส่วน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันประกาศว่า “เราต้องไม่ยอมรับการฟอกเขียวเรื่อง net zero” และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว “หยุดเสพติดเชื้อเพลิงฟอสซิล”
กราฟิกแสดงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 24 บริษัท ในรายงานของ New Climate มีเพียง 5 บริษัทที่สามารถจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่ 90% และมีถึง 15 บริษัท ที่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นต่ำเกินประเมิน 24 บริษัทที่อยู่ในรายงานนี้ ได้แก่ Ahold Delhaize, Amazon, American Airlines, Arcelor Mittal, Apple, Carrfour, Deutsche Post DHL, Fast Retailing, Foxconn, Google, H&M Group, Holcim, Inditex, JBS, Maersk, Mercedes-Benz, Microsoft, Nestle , Pepsico, Samsung, Stellantis, Thyssenkrupp, Volkswagen และ Walmart
https://newclimate.org/resources/publications/corporate-climate-responsibility-monitor-2023
ภาวะโลกร้อนใน 4 กราฟ
ข้อมูลและภาพ : เว็บไซต์ Climate Science, Risk&Solutions
ในนามของ
“การพัฒนา”
และ “เทคโนโลยี”
การเดินสู่เป้าหมาย net zero ต้องใช้สองขา
ขาหนึ่ง คือหาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด แต่ทุกคนรู้ดีว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางลดลงจนเป็นศูนย์ จึงต้องพึ่งอีกขา คือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่อากาศ เอากลับมาเก็บกักไว้ที่ไหนสักแห่ง เพื่อให้ผลลัพธ์สุทธิเท่ากับศูนย์
ถ้าขาเป๋ - ดูดซับเองไม่ได้ ก็ต้องหาทาง “ชดเชย” คือไปขอซื้อการเก็บกักก๊าซเรือนกระจกจากคนอื่นที่ทำได้ กลายเป็นตลาดซื้อขายกันตามเศรษฐกิจทุนนิยม
(carbon neutrality สามารถซื้อชดเชยได้เลย แต่ net zero ต้องลดให้ได้ 90% ที่เหลือจึงซื้อชดเชยได้)
จะเห็นว่า “สุทธิ” ก็คือตัวเลขทางบัญชีนั่นเอง มีรายการบวกและรายการลบ ซึ่งน่าคิดว่าอะไรที่เป็นตัวเลขจากการคำนวณก็มีโอกาสคลาดเคลื่อน ตั้งแต่ระดับยอมรับได้ ผิดเพี้ยนไปมาก หรือถึงขั้นโกงตัวเลข เช่นเดียวกับการตกแต่งบัญชีทางธุรกิจที่ทุกหน่วยงานทำกันเป็นปรกติ จนบางครั้งก็สร้างวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก
หากแต่ละหน่วยย่อยบวกลบผิด ผลรวมบัญชีของหน่วยใหญ่ก็ยิ่งเพี้ยนจากความจริงกันไปใหญ่
เราคงไม่อาจให้มนุษย์มารับรองและเออออกันเองว่ามาถูกทาง คำนวณถูกต้อง หรือหลอกตัวเองว่าฉันทำโน่นทำนี่อย่างดีแล้ว แต่คงต้องสดับฟังเสียงจากผู้พิพากษาตัวจริง คือ mother earth - พระแม่โลก
จากเสียงเคาะดังของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และเสียงตวาดก้องของภัยธรรมชาติ
บทความนี้ไล่เรียงความพยายามที่ดูจะล้มเหลวของการรับมือกับปัญหาโลกร้อน จากระดับนานาชาติ ระดับประเทศ จนถึงระดับองค์กรและบริษัท ซึ่งชวนให้หดหู่อย่างแท้จริงสำหรับใครก็ตามที่ใส่ใจ เป็นข้อเท็จจริงอีกด้านที่น่าขบคิด เพราะวันนี้เรากำลังอยู่บนทางสองแพร่งของเส้นทางสู่อนาคต
เส้นทางหนึ่งคือการมอบอนาคตไว้กับความเชื่อมั่นใน“พระเจ้าเทคโนโลยี” ที่ยังมาไม่ถึง ส่วนอีกเส้นทางคือการยอมศิโรราบแก่ “พระเจ้าธรรมชาติ”
พวกเราเป็นมนุษย์ยุคอุตสาหกรรมซึ่งเสพติดเชื้อเพลิงฟอสซิลจนยากเกินกว่าจะเลิก ทุกอย่างรอบตัวในสังคมทันสมัยได้มาจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลคือ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นทรัพยากรรากฐาน มอบความสะดวกสบายที่เรียกว่า “คุณภาพชีวิต” ทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ วัสดุจากพลาสติกนานาชนิด ตึกอาคารคอนกรีตจากปูนซีเมนต์และเหล็ก อาหารจากอุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ
บทความ “Too Hot to Live : Climate Change in Thailand” เขียนโดย Owen Mulhen รายงานถึงการวิจัยที่วิเคราะห์ว่า ในปี ค.ศ. 2070 ประเทศไทยจะร้อนเท่า ๆ กับทะเลทรายซาฮารา คืออุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส
ภาพ : https://earth.org/data_visualization/
too-hot-to-live-in/
เราเชื่อว่าสังคมบริโภคนิยมจะพัฒนาและเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ อย่างที่เป็นมาในช่วง 100 ปี ปัญหาทุกเปลาะแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี ทั้งนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานที่จะมาปฏิวัติสังคมแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหมดจด และเทคโนโลยีการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั่วโลกกำลังลงทุนแข่งขันกันเพื่อเร่งวิจัยและพัฒนาในนามของ “ธุรกิจแห่งอนาคต” และเก็ง “กำไร” จากอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve
ทั้งหมดนี้ยังไม่มีใครรับรองว่าจะสำเร็จและช่วยผ่อนเบาหายนะจากธรรมชาติได้ทันการ
เราเหมือนนักพนันที่ไม่มีไพ่เด็ดอะไรอื่นอีกในมือ นอกจากเสี่ยงดวงกับเทคโนโลยีที่ยังไม่เกิดขึ้น
ระหว่างทางนี้เราซื้อเวลาด้วยการใช้ไพ่การ์ดพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยังต้องถือไพ่อีแก่กินน้ำไว้ในมือ คือเผาน้ำมันและถ่านหินต่อไป และทางเดียวที่ทุกคนจะเอาตัวรอดเฉพาะหน้าในรอบนี้ คือการหยิบไพ่ “ปลูกป่า” ซึ่งต้องแลกกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการปลูกต้นไม้ให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจต้องเน้นต้นไม้โตเร็วไม่กี่ชนิด ขณะที่การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังนำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศ และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสร้างวิกฤตรุนแรงไม่แพ้โลกร้อน
ธรรมชาติมีขีดจำกัด เมื่อข้ามผ่านไปแล้วจะเข้าสู่สมดุลใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ระบบนิเวศใหม่ สิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ จะวิวัฒนาการเข้าแทนที่สิ่งมีชีวิตในโลกเก่า เช่นเดียวกับอุกกาบาตเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่ทำลายไดโนเสาร์ไปจนหมด แต่ก็เปิดทางให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์
กบพากันว่ายวนในหม้อต้ม คิดว่ายังมีเวลาอีกนานหลายปีตามอายุขัยของตัวเอง
แต่หากเทียบกับอายุขัยของโลกที่ดำรงอยู่มานานหลายพันล้านปี เพียงชั่วกะพริบตา หม้อน้ำก็เดือด
ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้น
ของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
1.5-2 องศาเซลเซียส
1.5 องศาเซลเซียส
(จากซ้ายไปขวา)
มหาสมุทรอาร์กติกปราศจากน้ำแข็งหน้าร้อนในทุก 100 ปี
ทรัพยากรทางทะเลลดลงเพิ่มขึ้นอีกจาก 1.5 เป็น 2 องศาเซลเซียส
น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 100%
แนวปะการังทั่วโลกจะหายไป 70-90%
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 48 เซนติเมตรภายในปี ค.ศ. 2100
ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 46 ล้านคน
ผู้อาศัยในเมือง 350 ล้านคนเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง
ภายในปี ค.ศ. 2100
ประเทศรายได้ต่ำจะประสบปัญหาเศรษฐกิจยิ่งขึ้นอีก
เมื่ออุณหภูมิเพิ่มจาก 1.5 เป็น 2 องศาเซลเซียส
ทุก 5 ปีจะมีผู้เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง 1 พันล้านคน
ประเทศเขตร้อนจะผลิตธัญพืชได้ลดลง
6% ของแมลง 8% ของพืช 4% ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
จะสูญเสียถิ่นอาศัยไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
2 องศาเซลเซียส
(จากซ้ายไปขวา)
มหาสมุทรอาร์กติกปราศจากน้ำแข็งหน้าร้อนในทุก 10 ปี
ทรัพยากรทางทะเลลดลงเพิ่มขึ้นอีกจาก 1.5 เป็น 2 องศาเซลเซียส
น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 170%
แนวปะการังทั่วโลกจะหายไปมากกว่า 99%
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 56 เซนติเมตรภายในปี ค.ศ. 2100
ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 49 ล้านคน
ผู้อาศัยในเมือง 410 ล้านคนเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง
ภายในปี ค.ศ. 2100
ประเทศรายได้ต่ำจะประสบปัญหาเศรษฐกิจยิ่งขึ้นอีก
เมื่ออุณหภูมิเพิ่มจาก 1.5 เป็น 2 องศาเซลเซียส
ทุก 5 ปีจะมีผู้เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง 2.7 พันล้านคน
ประเทศเขตร้อนจะผลิตธัญพืชได้ลดลง
18% ของแมลง 16% ของพืช 8% ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
จะสูญเสียถิ่นอาศัยไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ภาพกราฟิกจัดทำโดย World Wildlife Fund (WWF)
เปรียบเทียบความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนที่สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และ 2 องศาเซลเซียส อ้างอิงข้อมูลของ IPCC
(https://wwf.panda.org/discover/our_focus/climate_and_energy_practice/ipcc152/)
“อันตรายที่แท้จริงไม่ใช่การไม่ลงมือทำ อันตรายที่แท้จริงคือเมื่อนักการเมืองและผู้บริหารองค์กรแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าลงมือทำแล้ว แต่แท้จริงไม่ได้ทำอะไรเลย”
เกรตา ทุนเบิร์ก
เยาวชนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ปลุกกระแสการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการเรื่องปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง
การละลายของแผ่นน้ำแข็ง (ice sheet) บริเวณขั้วโลกกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อน และนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ไม่ช้าก็เร็วมนุษยชาติจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่จะมาถึง
ภาพ : Unsplash/William Bossen
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://climateprimer.mit.edu/climate-science/#a-brief-history-of-climate-science
https://earth.org/data_visualization/too-hot-to-live-in/
https://www.germanwatch.org/en/19777
https://theconversation.com/climate-scientists-concept-of-net-zero-is-a-dangerous-trap-157368
https://www.greenpeace.org/international/story/48180/why-net-zero-offsets-wont-solve-climate-crisis/
https://climateactiontracker.org/countries/thailand/targets/#expand_target
https://newclimate.org/resources/publications/corporate-climate-responsibility-monitor-2023
https://heatmap.news/climate/the-5-quotes-you-need-to-know-from-the-ipcc-report
https://sdg.iisd.org/news/experts-issue-guide-to-prevent-net-zero-greenwashing-by-non-state-actors/
https://www.ipcc.ch/sr15/#:~:text=Limiting%20warming%20to%201.5%C2%B0C%20implies%20reaching%20net%20zero,particularly%20methane%20(high%20confidence)