Image

Stonehenge
ในวันฟ้าทึมปริศนาแท่งหินตั้ง
กับหนังสือสามเล่ม

เรื่องและภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ตามขนบการเขียนสารคดี ผมควรเริ่มเรื่องนี้ด้วยฉากพระอาทิตย์ขึ้นของวันที่ ๒๑ มิถุนายน 

ท่ามกลางผู้คนที่มารวมตัวบริเวณกลุ่มแท่งหินที่ตั้งและล้มระเกะระกะกลางเนินกว้าง รอเฝ้าดูตะวันโผล่พ้นขอบฟ้าสาดลำแสงสีเหลืองผ่านช่องแคบระหว่างแท่งหินในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือพอดิบพอดี

นี่คือวันที่พระอาทิตย์เดินทางตามขอบฟ้าขึ้นเหนือมาไกลสุดจากทิศตะวันออก เรียกว่าวันกลางฤดูร้อน midsummer ซึ่งกลางวันจะยาวนานที่สุด และกลางคืนสั้นที่สุด

Image

นับแต่โบราณมนุษย์เฝ้าสังเกตหมุดหมายสำคัญของปีที่แสดงว่ากำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ช่วงเวลาที่ธรรมชาติจะเบิกบานไปอีก ๖ เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

และสำหรับผู้เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติ midsummer คือเวลาแห่งพิธีกรรมอ้าแขนรับพลังอำนาจนั้นมาไว้กับตัว

แต่หยุดก่อน ๆ...กลับสู่ความจริงตรงหน้า

ผมยืนอยู่ที่สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ประเทศอังกฤษ ตอนบ่ายวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ หกเดือนหลัง midsummer และ ๕-๖ วันหลังวันกลางฤดูหนาว midwinter (วันที่ ๒๑ ธันวาคม กลางวันสั้นที่สุด กลางคืนยาวนานที่สุด)  แถมเป็นวันที่ฝนตกมาตั้งแต่เช้า ลมกระโชกและอุณหภูมิต่ำใกล้ ๐ องศาเซลเซียส

ท้องฟ้าขมุกขมัว นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติยืนออดูกองแท่งหินสีเทา ๆ ที่อยู่ห่างออกไปจากแนวกั้นทางเดิน บางคนถ่ายรูปให้กัน บางคนถ่ายเซลฟีเสร็จก็เดินจากไป เปิดช่องให้คนรอข้างหลังเข้าไปดูต่อ กองหินที่มีแท่งหินตั้งบ้าง ล้มบ้าง ดูจับทิศทางและรูปแบบไม่ได้  ยิ่งในระยะห่างนี้ สโตนเฮนจ์ดูเล็กกว่าที่เราจินตนาการถึงจากภาพที่เคยเห็นในหนังสือ  มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการสมคำร่ำลือ นึกถึงคำเตือนของเพื่อนที่เคยผิดหวังกับการมาดู “กองหินโง่ ๆ”

Image

สังเกตแท่งหินที่ล้อมวงนอก (ที่คนยืนอยู่) กับหิน Trilithon ข้างในวงทางซ้ายของภาพ

สงสัยตัวเองและคนอื่น ๆ เหมือนกันว่ามาดูอะไร ความมหัศจรรย์ของมันอยู่ตรงไหน

เดินชมตามทางที่กำหนดไว้ให้อย่างผิดหวัง เพราะเส้นทางเลียบแค่ด้านตะวันตกของวงแท่งหิน ไม่ครบรอบ และไม่อาจเข้าไปใกล้แท่งหินได้เลย  มุมมองอีกด้านคือทางเดินฝั่งทิศเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งของหินทรงสามเหลี่ยมใหญ่ก้อนหนึ่งก็ยิ่งห่างจากวงแท่งหินไปหลายสิบเมตร

พระอาทิตย์คล้อยต่ำ ผมนั่งรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวกลับมาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ได้หนังสือเกี่ยวกับสโตนเฮนจ์สามเล่มกับโมเดลที่ระลึกมาปลอบใจ

เมื่อเริ่มอ่านหนังสือ ผมจึงตระหนักว่ามีหลายสิ่งเหลือเกินที่พลาดไปอย่างมหันต์ในวันนั้น

และสโตนเฮนจ์ไม่ใช่แค่ “กองหินโง่ ๆ” แต่เป็นเราเองที่โง่เขลา

[๑]
STONEHENGE
Panorama Pops

Image

ผมชอบงานป็อปอัป พอเห็นหนังสือขนาดเล็กกะทัดรัดเล่มนี้ในร้านจำหน่ายของที่ระลึกของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก็ตัดสินใจซื้อไม่ยาก  ตัวอักษรบนปกระบุชื่อผู้วาดคือ กอร์ดี ไรต์ (Gordy Wright) สำนักพิมพ์ Walker Books พิมพ์ที่ประเทศจีน รูปเล่มแบบหีบเพลง พับทบกันหกพับเวลากางหน้าพับรูปสโตนเฮนจ์หรือแท่งหินต่าง ๆ จะเด้งออกมา เป็นป็อปอัปที่ทำแบบเรียบง่าย คือแผ่นภาพวางซ้อนภาพแบ็กกราวนด์บนหน้าขวาและเชื่อมขอบแผ่นภาพติดกับหน้าซ้าย

ในความทรงจำที่ผมเคยรับรู้แต่เด็กสโตนเฮนจ์คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยปริศนา ใครสร้าง สร้างได้อย่างไร เอาแท่งหินแต่ละก้อนมาจากไหน และที่สำคัญคือสร้างไว้ทำไม สโตนเฮนจ์มักถูกจัดรวมไว้กับปริศนาพีระมิดของอียิปต์ลายเส้นนาซกาในเปรู หรือแท่งหิน “โม-อาย” ใบหน้ามนุษย์บนเกาะอีสเตอร์ ซึ่งมีคนเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมาสร้างสถานที่เหล่านี้ไว้ และอาจใช้เป็นหมายจอดของยานที่มาจากนอกโลก

ปัจจุบันการศึกษาทางโบราณคดีทำให้เรารู้แล้วว่าสโตนเฮนจ์สร้างขึ้นเมื่อราว ๔,๕๐๐ ปีก่อน (๒๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) และถอยหลังไปก่อนหน้านั้น ๕๐๐ ปี ก็มีการกำหนดพื้นที่วงกลมศักดิ์สิทธิ์โดยขุดดินเป็นร่องคูรอบแล้ว

หน้ากระดาษป็อปอัปที่เจาะกระดาษเป็นรูแสดงแนวร่องนี้เห็นภาพชัดเจน แต่พอนึกถึงสถานที่จริง ผมไม่ทันสังเกตแนวร่องคูนี้เลย มีบางแห่งที่ดูเป็นร่องต่ำลงไปจากพื้นโดยรอบอาจเพราะคนส่วนใหญ่มัวแต่สนใจกลุ่มแท่งหิน  ส่วนร่องคูนี้จะสำคัญอย่างไร ผมขอเก็บไว้เล่าในหนังสือเล่มที่ ๓

scrollable-image

แนวร่องคูกำกับเขตมณฑลรูปวงกลมไว้มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวราว ๑๑๐ เมตร บ่งบอกว่าคนสร้างสโตนเฮนจ์เข้าใจรูปทรงเรขาคณิตเป็นอย่างดี และพระเอกตรงใจกลางคือกลุ่มวงแท่งหินสูงใหญ่ วงนอกเรียงเป็นวงกลมเต็มวง ใช้แท่งหินสี่เหลี่ยมหนาตั้งเว้นระยะไว้ทั้งหมด ๓๐ แท่ง ด้านบนระหว่างช่องวางแท่งหินนอนทับเป็นคานต่อกันไปจนครบทั้งวง ซึ่งถือเป็นความพิเศษสุดของสโตนเฮนจ์ เพราะเป็นวงแท่งหินยุคก่อนประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในโลกที่วางคานหินทับ ขณะที่ในที่อื่น ๆ ปักแต่แท่งหินเรียงตั้งไว้เท่านั้น

ส่วนวงในตรงใจกลางลักษณะเป็นแท่งหินคู่มีคานทับเหมือนประตูยักษ์ ตั้งเว้นระยะเรียงกันเป็นรูปตัวยูหรือเกือกม้าข้างละสองประตู และตรงกลางอีกหนึ่งประตู  นักโบราณคดีเรียกโครงสร้างประตูหินสามก้อนนี้ว่า trilithon  กลางตัวยูยังมีแท่งหินยาว ๒ เมตรวางนอนบนพื้นราวกับแท่นบูชา เรียกกันว่า altar stone แม้จะยังไม่แน่ใจนักว่าเดิมมันตั้งอยู่หรือนอนอยู่กันแน่

ความใหญ่ของแท่งหิน ตามข้อมูลในหนังสือบอกว่าแท่งหินวงนอกแต่ละก้อนสูงราว ๕ เมตร น้ำหนักราว ๒๕ ตัน ส่วนวงในโดดเด่นกว่าด้วยแท่งหินที่สูงราว ๑๐ เมตร น้ำหนักราว ๕๐ ตัน  แท่งหินเหล่านี้เป็นหินทรายที่แข็งแกร่ง เรียกว่า sarsen stones นำมาจากบริเวณ Marlborough Downs ห่างไปทางตอนเหนือของสโตนเฮนจ์ราว ๓๒ กิโลเมตร

นี่คือภาพโครงสร้างสมบูรณ์ในอดีตถ้าสามารถมองจากมุมสูงหรือเข้าไปสำรวจนับภายใน แต่ปัจจุบันเหลือแท่งหินที่ตั้งอยู่เพียง ๑๗ แท่งและคานหินทับเพียง ๖ ก้อน ซึ่งมองเห็นให้ครบได้ยากด้วยมุมมองจากนอกวงกลม

Image

หิน sarsens คล้ายประตูมีคานทับ สังเกตในช่องประตูจะเห็นแท่งที่มีปุ่มด้านบนซึ่งใช้เป็นสลักยึดกับคานหิน 

ผมคิดเล่น ๆ ว่าโครงสร้างนี้อาจเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการรักษาความลับของพิธีกรรม ลองคิดถึงคนยุคนั้นที่มาร่วมพิธี ถ้าเขาไม่ใช่คนสำคัญก็น่าจะถูกกันไว้ด้านนอก และคงวุ่นวายไม่น้อยกับการหาตำแหน่งแอบมองพิธีกรรมข้างในด้วยความอยากรู้อยากเห็นผ่านช่องว่างระหว่างแท่งหิน หรือเขาอาจยืนทำใจสงบด้วยความเคารพต่อสถานที่และพิธีกรรมก็เป็นได้ แต่คงไม่มีใครรู้ว่าอีกหลายพันปีต่อมาจะมีนักท่องเที่ยวมาเดินเล่นกันอยู่นอกวงกลมเหมือนกับเขาถึงปีละกว่า ๑ ล้านคน

มองเข้าไปในกลุ่มแท่งหิน ผมสังเกตเห็นแท่งหินเตี้ย ๆ ที่ดูราวจะไม่สลักสำคัญอันใดเมื่อเทียบกับบรรดาแท่งหินสูงใหญ่มารู้จากภาพป็อปอัปในหนังสือว่ามันคือ bluestones

จากการสำรวจทางโบราณคดี พบว่าเคยมีแท่งหิน bluestones ปักเรียงอีกชั้นอยู่ระหว่างแนวแท่งหินวงกลมกับวงตัวยู และในพื้นที่ตัวยู รวมทั้งหมด ๘๐ แท่ง แต่ละแท่งสูงราว ๑ เมตร แท่งหนึ่งมีน้ำหนักราว ๓-๕ ตัน และสาเหตุที่ได้ชื่อว่าหินสีฟ้า ก็เพราะหินประเภทนี้เมื่อตัดออกมาใหม่ ๆ จะมีสีฟ้าเทา แต่ทุกวันนี้กลายเป็นสีเทาเหมือน ๆ กันหมดแล้ว

มาถึงตรงนี้ให้จินตนาการภาพสโตน-เฮนจ์ซึ่งจัดเรียงหินทั้งหมดสี่วง วงนอกสุดคือแท่งหิน sarsens ล้อมเป็นกำแพงสูงที่มีช่องว่างและคานทับ ถัดเข้าไปเป็นวง bluestones สีฟ้าเทา ถัดเข้าไปอีกเป็นวง trilithon ประตูหินสามก้อนเรียงรูปเกือกม้า โดดเด่นเหนือแนวรอบนอก และซ่อนไว้ข้างในสุดเป็นวง bluestones สีฟ้าเทา กับแท่นหินบูชาวางหน้าประตูหินกลาง  มองถอยห่างออกมา ทั้งหมดอยู่ในวงรอบร่องคูกั้นเขตมณฑลไว้จากภายนอก

เป็นภาพสถาปัตยกรรมที่งดงามและซับซ้อนไม่น้อย โดดเด่นกลางเนินที่ราบสีเขียวกับท้องฟ้ากว้างใหญ่

ทำไมถึงวางแท่งหิน bluestones ไว้แบบนั้นยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่ข้อมูลในหนังสือเล่มเล็กบอกว่า มีความเชื่อว่า bluestones มีพลังบำบัดรักษาโรค ทำให้อดจินตนาการเล่น ๆ ไม่ได้ว่า หรือจะมีการจัดพิธีกรรมหมู่ให้เหล่าคนป่วยมายืนคู่กับ bluestones แต่ละก้อนเพื่อบำบัดรักษา

ยิ่งอ่านหนังสือก็ยิ่งพบว่าปริศนาของ bluestones แท่งหินเตี้ยนั้นซับซ้อนเสียยิ่งกว่าการก่อเรียง sarsens แท่งหินใหญ่หนึ่ง มันถูกนำมาจากภูเขา Preseli ในเขตประเทศเวลส์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของสโตนเฮนจ์ถึง ๒๔๐ กิโลเมตร 

สอง ความจริงภายหลังการขุดร่องคูล้อมพื้นที่วงกลมและก่อนที่จะสร้างวงแท่งหินกลางนั้นก็มีการปัก bluestones จำนวน ๕๖ แท่งไว้รอบวงด้วย

bluestones สำคัญอย่างไร จึงต้องนำมาจากที่ห่างไกลขนาดนั้น และมาได้อย่างไร ทำไมต้องเป็น ๕๖ แท่ง

Image

[๒]
STONEHENGE TEMPLE OF 
ANCIENT 
BRITAIN

ปกหนังสือเล่มนี้ออกแบบคล้ายลายแกะไม้โบราณ แสดงภาพอัศวินขี่ม้าอยู่กลางสโตนเฮนจ์ในคืนพระจันทร์เสี้ยว ฟากฟ้าเต็มด้วยดวงดาราและดาวหาง เขียนโดย โรบิน ฮีท (Robin Heath) สำนักพิมพ์ Wooden Books พิมพ์ในประเทศจีนเช่นกัน

Image

เนื้อหาหลายบทในเล่มเล่าถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสโตนเฮนจ์กับพระอาทิตย์และพระจันทร์

ค.ศ. ๑๖๗๖ นักโบราณคดีนามจอห์น ออเบรย์ (John Aubrey) เป็นผู้พบหลุม ๕๖ หลุมภายในคูรอบสโตนเฮนจ์
ทำให้หลุมเหล่านี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Aubrey Holes และเรียกแนววงกลมนี้ว่า Aubrey Circle ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าหลุมเหล่านี้คืออะไร ปักไว้ด้วยแท่งไม้หรือแท่งหิน  การศึกษาระยะหลังเชื่อว่าทั้ง ๕๖ หลุมเคยปักแท่งหิน bluestones ไว้  โรบิน ฮีท ยังตีความด้วยว่า แนวหิน ๕๖ แท่ง มีไว้นับเดือนแบบ ๒๘ วัน ซึ่งน่าจะเป็นการนับแบบจันทรคติ  ต่อมาเมื่อพัฒนามาเป็นแท่งหิน sarsens ๓๐ แท่ง (และ bluestones ถูกถอนจาก Aubrey Circle มาปักไว้วงใน) ก็กลายมาเป็นการนับเดือนแบบมี ๓๐ วันตามสุริยคติ

บนทางเดินชมสโตนเฮนจ์วันนี้ ถ้าใครมัวแต่เดินดูกลุ่มแท่งหิน ก็อาจพลาดเหยียบป้ายวงแหวน Aubrey Holes ที่ฝังบนพื้นทางเดินในตำแหน่งที่เคยเป็นหลุมจริง ๆ บางหลุม

Image

Image

ตำแหน่ง Aubrey Hole ที่ถูกพื้นทางเดินปัจจุบันทับ สังเกตหลุมถัดไปในสนามใกล้ป้ายเลข 7 

มีบทหนึ่งเล่าว่า ตั้งแต่ขุดร่องคูก็มีการเปิดช่องทางเข้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไว้ เชื่อว่าไว้สังเกตตำแหน่งพระจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้า  ต่อมาเปลี่ยนมาใช้สังเกตตำแหน่งพระอาทิตย์ขึ้น โดยห่างออกไปจากช่องทางเข้าจะมีหินใหญ่ทรงสามเหลี่ยมก้อนหนึ่งตั้งอยู่เป็นแนวเล็งพระอาทิตย์ขึ้นในวัน midsummer

นี่คือหินที่มีชื่อว่า Heel Stone ปัจจุบันใครมาตามทางเดินด้านทิศเหนือของสโตนเฮนจ์ก็จะพบหินก้อนนี้

จำได้ว่าผมเดินมาหยุดยืนหน้าก้อนหินใหญ่อันโดดเดี่ยว มองกลับไปทางสโตนเฮนจ์ ก็เห็นป้ายลูกศรบนพื้นฝังไว้ใกล้ฐานหินชี้ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เขียนว่า midwinter sunset และเมื่อหันหลังให้สโตนเฮนจ์จะเห็นป้ายลูกศรบนพื้นชี้ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เขียนว่า midsummer sunrise  การขุดค้นภายหลังคาดว่าน่าจะเคยมีหินอีกก้อนตั้งอยู่ข้าง ๆ Heel Stone หินใหญ่สองก้อนจึงทำหน้าที่เป็นช่องประตูให้พระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาพอดี

Image

หิน Heel Stone เป็นหมายชี้แนว midwinter sunset และ midsummer sunrise

แต่วันนั้นผมยังโง่งมอยู่ เพราะไม่รู้เลยว่านี่คือหินที่ไม่เคยถูกขยับเขยื้อนไปไหน มันยืนยงอยู่ตรงนี้มานานหลายพันปี เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของพืชพรรณและหินทุกก้อนซึ่งเคยดำรงอยู่มาก่อนจะมีวงแท่งหินกลางสโตนเฮนจ์เสียอีก

วันนี้ได้แต่รำพึงผ่านหน้ากระดาษหนังสือว่า “ข้าขอน้อมคารวะ”

เราไม่รู้ว่าคนสร้างสโตนเฮนจ์ให้ความสำคัญกับพระอาทิตย์ในวัน midsummer หรือที่ปัจจุบันเรียก summer solstice ศัพท์ไทย “ครีษมายัน” นั้นแบบไหน จะเป็นแค่หมุดหมายของฤดูกาลในรอบปี หรือเชื่อในพลังอำนาจลึกลับที่เสริมสร้างพลังชีวิตและการเยียวยารักษา เช่นเดียวกับคนในอารยธรรมโบราณอย่างอียิปต์ แอซเท็ก หรือชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ในยุคสมัยหลัง แม้กระทั่งสายมูในปัจจุบัน

ก่อนจะไปต่อที่หนังสือเล่มสุดท้ายผมคงข้ามบทที่เล่าถึงแท่งหิน station stone ไม่ได้

ในสมัยก่อสร้างวงหินกลาง มีการปักแท่งหิน bluestones จำนวนสี่ก้อนลงใน Aubrey Holes ตามตำแหน่งสี่มุมของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ล้อมรอบพื้นที่ตรงกลางวงกลม ซึ่งถ้าวัดระยะทางแต่ละด้านและเส้นทแยงมุม จะพบความน่าทึ่งว่าสัดส่วนของรูปสามเหลี่ยมที่ประกอบจากด้านกว้าง ยาว และเส้นทแยงมุมนั้นเป็น ๕ : ๑๒ : ๑๓ ตรงพอดีกับสามเหลี่ยมพีทาโกรัส  ถ้าใครยังจำวิชาเรขาคณิตได้มันคือสามเหลี่ยมที่มีความยาวเส้นทแยงมุมยกกำลังสอง เท่ากับด้านกว้างยกกำลังสอง บวกด้านยาวกำลังสอง มีรูปสมการอันโด่งดังว่า a2 + b2 = c2 แทนค่าในที่นี้คือ 52 + 122 = 132  แต่นี่จะเป็นความบังเอิญหรือด้วยความรู้ทางคณิตศาสตร์ก็คงไม่มีใครยืนยันให้ได้

Image
Image

เรื่องไม่น่าจะบังเอิญและเป็นความตั้งใจของ station stone คือถ้าเล็งแท่งหิน bluestones ที่ปักตรงมุมตามแนวด้านกว้างก็จะชี้ไปใกล้เคียงกับ midsummer sunrise และ midwinter sunset และถ้าเล็งแท่งหินตามแนวด้านยาวก็จะชี้ไปใกล้เคียงกับ midsummer moonrise และ midwinter moonset คือเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำหน้าที่สังเกตการเดินทางถึงขอบเหนือและใต้สุดของพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้อย่างเหมาะเจาะ

ปีเตอร์ นิวแฮม (Peter Newham) พบความสัมพันธ์พิเศษนี้และตั้งเป็นข้อสันนิษฐานไว้ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ตลอดเวลาที่ผ่านมาปริศนาของสโตนเฮนจ์มีผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันพยายามจะไขรหัส ซึ่งถ้าใครนึกสนุกก็ลองค้นคว้าหาอ่านกันต่อ อาจพบคำอธิบายที่แตกต่างออกไปและประเด็นให้ขบคิดอีกมาก

[๓]
STONEHENGE
The Story 
of a Sacred
Landscape

ปกหนังสือเล่มนี้เป็นภาพวาดที่ไม่ได้เน้นตัววงแท่งหินกลางเหมือนสองเล่มแรก แต่เป็นภาพยามเย็นของที่ราบซึ่งฉาบด้วยแสงสีเหลืองปนส้มอ่อน มีแถบริ้วเมฆสีฟ้าบาง ๆ ฝูงนกบินตามกันเป็นสายยาวสโตนเฮนจ์มองเห็นเป็นเงาตะคุ่มทางซ้าย ตั้งห่างออกมาทางขวาคือหิน Heel Stone อันโดดเดี่ยว และตรงกลางซึ่งดึงดูดสายตาที่สุด คือเนินดินเล็ก ๆ กับเส้นทางเดินบนที่ราบ

ผลงานของศิลปิน วิลเลียม เทอร์เนอร์ (William Turner) วาดไว้ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ หนังสือจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Head of Zeus ค.ศ. ๒๐๑๖ พิมพ์ในประเทศสเปน

ฟราสซิส ไพรเออร์ (Francis Pryor) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าถึงโครงการศึกษาล่าสุดในการสำรวจทางโบราณคดีบนพื้นที่ราบซอลส์บรี (Salisbury plain) อันเป็นที่ตั้งของสโตนเฮนจ์ ซึ่งเผยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสโตนเฮนจ์อย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สุดในปัจจุบัน

หนังสือปกแข็งเล่มนี้หนาถึง ๒๐๐ หน้า ประกอบด้วยภาพถ่ายการขุดค้นในสมัยก่อน และจิตรกรรมของศิลปินที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวงแท่งหินใหญ่  ผมใช้เวลา ๒-๓ วันอ่านจบเล่มด้วยความสนุกและตื่นเต้นกับเรื่องราวที่ไพรเออร์ค่อย ๆ ร้อยเรียงมาตามลำดับเวลา ซึ่งในที่นี้จะขอนำมาเล่าต่อในบางประเด็นเท่านั้น

Image

ไพรเออร์ฉายภาพว่าการที่เราจะเข้าใจแรงบันดาลใจของคนสร้างสโตนเฮนจ์ เราต้องหมุนเวลาย้อนไปถึง ๑ หมื่นปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุคน้ำแข็งเพิ่งจบลง แผ่นดินอังกฤษที่เคยต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกับแผ่นดินยุโรปถูกน้ำทะเลที่สูงขึ้นโอบล้อมแยกเป็นเกาะ คนยุคหินกลาง (Mesolithic) ที่เคยอาศัยบนแผ่นดินรอยต่อระหว่างอังกฤษกับยุโรป (ปัจจุบันจมอยู่ใต้ทะเลเหนือ North Sea) ส่วนหนึ่งจึงต้องอพยพเข้ามาอยู่ในเกาะอังกฤษตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำต่าง ๆ รวมทั้งแม่น้ำเอวอน (Avon River) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งของสโตนเฮนจ์ทางทิศตะวันออก โดยตรงบริเวณคุ้งน้ำที่มีน้ำพุธรรมชาติ เรียกว่า Blick Mead มีการสำรวจพบแหล่งเครื่องมือหินและซากกระดูกสัตว์ใหญ่ เช่น วัวป่า กวาง สะสมอยู่จำนวนมาก

จาก Blick Mead ถ้ามองไปทางสโตนเฮนจ์ (ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น) คือเนินที่ราบกว้างใหญ่ซึ่งเหมาะกับล่าสัตว์อย่างมาก และตรงที่ปัจจุบันเป็นจุดจอดรถรับส่งนักท่องเที่ยวจากศูนย์บริการมาที่สโตนเฮนจ์ ก็มีการขุดสำรวจพบแนวหลุมปักเสาต้นสนเรียงเว้นระยะเท่า ๆ กัน ซึ่งยังไม่รู้ว่าสิ่งก่อสร้างนี้ทำหน้าที่อะไร  เดากันว่าอาจเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อหรือหมายสังเกตการณ์ของกลุ่มคนล่าสัตว์จากตรงคุ้งน้ำ

ร่องรอยสำคัญที่ปรากฏในเวลาเดียวกัน คือแนวถนนเชื่อมระหว่างแม่น้ำเอวอนมาถึงหน้าช่องทางเข้าสโตนเฮนจ์ ถนนนี้เป็นร่องธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งที่ละลายออกไปหลังยุคน้ำแข็ง  และด้วยความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ แนวร่องช่วงหน้าสโตน-เฮนจ์นี้เอียงในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้ไป midsummer sunrise และ midwinter sunset พอดี

การเลือกตำแหน่งที่ตั้งของสโตนเฮนจ์จึงไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีรากฐานจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์ซึ่งยังดำรงชีวิตอย่างแนบแน่นกับผืนดินและท้องฟ้า

Image

ด้านล่างคือวงแท่งหินกลางของสโตนเฮนจ์ และหน้าขวาคือแท่งหิน Heel Stone มองย้อนกลับมาจากทางเดินด้านเหนือ

Blick Mead เป็นแหล่งชุมนุมของการล่าสัตว์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิต่อเนื่องมาอีกหลายพันปี จนเข้าสู่ยุคหินใหม่ Neolithic) ต่อเนื่องมายุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) ราว ๖,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปีก่อน (๔๐๐๐-๑๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) คนเปลี่ยนจากการเดินทางล่าสัตว์มาตั้งรกรากเป็นชุมชนกสิกรรม พร้อมกับการมีพิธีกรรมและความเชื่อใหม่ ๆ โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย

ภาพเนินดินบนปกหนังสือสื่อว่าอาณาบริเวณที่ราบซอลส์บรีและโดยรอบสโตนเฮนจ์นั้นเต็มไปด้วยเนินดิน ทั้งเนินดินกลม เนินดินยาว  เนินดินที่ประหลาดมากอยู่ทางตอนเหนือของสโตนเฮนจ์ถ้ามองจากทางอากาศจะเหมือนสนามแข่งม้าที่ยาวถึง ๒.๘ กิโลเมตร กว้างกว่า ๑๕๐ เมตร เรียกว่า Greater Cursus ส่วนทางใต้ของสโตนเฮนจ์ก็มีแนวสันเนินยาวที่ประกอบด้วยเนินดินหลายลูกเรียงต่อเนื่องกัน เรียกว่า Normanton Down

การขุดสำรวจข้างในเนินดินเหล่านี้พบกระดูกและสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องบูชาแก่ผู้ตายที่ครอบครัวนำมาฝังไว้ เช่น หินเหล็กไฟ (flint) ลูกศร หม้อ ฯลฯ

การขุดร่องคูและถมเนินดินเป็นวงกลมรอบสโตนเฮนจ์นั้นน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ ๕,๓๐๐ ปีก่อน (๓๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งพบว่ามีการฝังเครื่องบูชาผู้ตายไว้ตามร่องคูและเนินดินนี้เช่นกัน  ถัดมาอีก ๓๐๐ ปีก็ปรากฏร่องรอยของการเผาศพบนพื้นที่วงกลม มีหลุมปักไม้จำนวนมากตรงช่องทางเข้าและในพื้นที่วงกลมเหมือนเป็นโครงสร้างบางอย่าง บ่งบอกถึงกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาความร่วมมือกันของคนหมู่มาก

Image

Image

แผนที่บริเวณซอลส์บรี ตำแหน่งสโตนเฮนจ์ ด้านบนมี Greater Cursus ด้านตะวันออกมีแม่น้ำเอวอน ริมแม่น้ำเห็นตำแหน่ง Durrington Walls และ Woodhenge

Image

ความเชื่อในพิธีกรรมความตายและความเข้มแข็งของชุมชนกสิกรรมเป็นรากฐานของการสร้างสโตนเฮนจ์ในเวลาต่อมา ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมหาศาลและเวลายาวนานหลายปี แท่งหิน sarsens ถูกลากมาจาก Marlborough Downs
ห่างไปราว ๓๒ กิโลเมตร และแท่งหิน bluestones ถูกนำมาจากที่ห่างไป ๒๔๐ กิโลเมตร ซึ่งมีคนสันนิษฐานว่าขนมา
ทางเรือเลาะตามชายฝั่งและเข้ามาทางปากแม่น้ำบริสตอล (Bristol)  แต่ไพรเออร์เห็นต่างว่าการขนแท่ง bluestones น่าจะเป็นเหมือนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเรียกร้องความร่วมมือจากชุมชนต่าง ๆ ตลอดเส้นทางบนบกจากเวลส์มาถึงสโตนเฮนจ์ เทียบเคียงได้กับการส่งต่อคบไฟในกีฬาโอลิมปิกสมัยนี้

แต่คำถามสำคัญคือทำไมถึงเปลี่ยนจากการใช้โครงสร้างไม้มาเป็นหิน

ไพรเออร์อธิบายว่า เกิดจากการเปลี่ยนคติความเชื่อในความสัมพันธ์ระหว่างคนตายกับคนเป็น ในช่วงแรกนั้นคนเป็นกับคนตายยังผูกพันไม่แยกขาด เชื่อว่าวิญญาณคนตายยังอยู่ช่วยเหลือคนเป็น เห็นได้จากการพบหลักฐานว่ามีการเก็บกระดูกคนตายบางส่วนมาไว้กับคนเป็น และการจัดชุมนุมจัดงานเลี้ยงที่เนินดินเป็นบางครั้ง

อ่านถึงตรงนี้แล้วคิดถึงการเก็บอัฐิบรรพบุรุษไว้ที่บ้านและการจัดงานเช็งเม้งที่ฮวงซุ้ย ผ่านไปหลายพันปียังเหมือนเดิม

แต่ความเปลี่ยนแปลงมาถึงเมื่อผู้คนบริเวณนี้เริ่มมีคติความเชื่อในโลกของคนตายว่าเป็นสถานที่นิรันดร์ ต่างจากโลกมนุษย์  หินที่คงทนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนโลกหลังความตาย ขณะที่ไม้แทนโลกคนเป็นซึ่งมีอายุขัยช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

Image

หมู่บ้าน Durrington Walls สร้างจำลองขึ้นตามหลักฐานโบราณคดี

ไพรเออร์เสนอว่าถ้าคิดตามหลักนี้แสดงว่า เมื่อมีสโตนเฮนจ์ ก็ต้องมีวูดเฮนจ์ (Woodhenge) และก็มีจริง ๆ ตั้งอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของสโตน-เฮนจ์แค่ ๓ กิโลเมตรใกล้กับแม่น้ำเอวอนลักษณะเป็นเขตวงกลมที่ปักด้วยไม้  ใกล้กันนั้นยังสำรวจพบหมู่บ้านคนยุคหินใหม่ซึ่งมีการขุดร่องคูและถมเนินดินล้อมพื้นที่ตั้งเป็นวงกลม มีอายุตรงกับการสร้างสโตนเฮนจ์ ชื่อว่า Durrington Walls นับเป็นหมู่บ้านยุคหินใหม่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่พบบนเกาะอังกฤษและในยุโรป

ข้อสันนิษฐานล่าสุดจึงเชื่อว่าชุมชนใน Durrington Walls นี่เองที่เป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์ มีการจัดขบวนส่งศพออกจากหมู่บ้านลงเรือล่องไปตามแม่น้ำเอวอนซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของเส้นทางสู่ยมโลกเช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องแม่น้ำสติกซ์ของกรีกโบราณ  เมื่อถึงโค้งน้ำใกล้กับถนนนำสู่สโตนเฮนจ์ ขบวนศพจึงขึ้นจากเรือ เดินเท้าต่อไปตามทางเก่าแก่ที่มีมานานหลายพันปี

เวลานั้นน่าจะเป็นยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังคล้อยลงตกดินหลังสโตนเฮนจ์ คือโมงยามแห่งการเปลี่ยนผ่าน เพื่อเดินทางเข้าสู่อีกโลกหนึ่งดั่งภาพทิวทัศน์ที่งดงามบนปกหนังสือเล่มสุดท้ายที่นำมาเล่าไว้นี้

...
ถ้าจะมีสิ่งใดที่ผมเรียนรู้จากการเดินทางและหนังสือสามเล่ม ก็คือความรู้สึกถึงความห่างเหินของมนุษย์เราในยุคปัจจุบันกับธรรมชาติ เราแทบไม่เคยสังเกตพระอาทิตย์ พระจันทร์การเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล midsummer midwinter หรือแม้แต่กลางวันกับกลางคืน 

เราถูกล้อมกรอบด้วยสิ่งก่อสร้างสูงใหญ่ ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงใด ๆ กับวิถีธรรมชาติที่หมุนเวียนเป็นวัฏจักร  เราขาดความตระหนักถึงชีวิต ความเป็นและความตาย

เราโง่เขลาเมื่ออยู่ต่อหน้าธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และความลึกลับที่ไม่อาจเข้าใจ

การศึกษาปริศนาของสโตนเฮนจ์ช่วยเปิดมุมมองใหม่นี้ให้กับเรา