Image

ท้ายครัว

เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย

ใครชอบกินกับข้าวบ้านๆ คงเคยกินยอดผักหวานป่านะครับ ไม่ว่าจะเป็นลวก ต้มจืด แกงส้ม แกงป่า ผัดไฟแดง หรือยำน้ำใสเปรี้ยวๆ มันเป็นผักยืนต้นรสดี คนจึงเอามาปลูกเป็นแปลงเกษตร แต่ที่เก็บมาจากป่าธรรมชาติก็ยังพอมีบ้าง

Image

ยอดและใบอ่อนผักหวานป่าเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ราวต้นเดือนมีนาคมจะมีดอกเป็นช่อสีเขียวออกให้เก็บมากิน นับเป็นของอร่อยอย่างหนึ่งทีเดียว แต่ความเป็นที่สุดนั้นอยู่ที่ “ลูกผักหวาน” ซึ่งจะออกในช่วงสั้นๆ ราว ๒ สัปดาห์ของปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน

Image

ผักหวานป่าจะติดลูกเป็นพวงช่อสีเขียวแก่ ขนาดเท่าๆ เม็ดบัวหลวงครับ เมื่อต้มสุก ใครได้ชิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มัน “หวานมาก” มีความกรอบ นุ่ม ไม่เละเมื่อต้มนานๆ ดังนั้น แค่จิ้มป่น จิ้มน้ำพริกก็อร่อยมาก หรือใครจะแกงเลียง แกงส้ม แกงคั่วกะทิ ฯลฯ ก็ทำให้กับข้าวหม้อนั้นๆ มีรสหวานอร่อยตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใส่น้ำตาลใดๆ เลยเป็นอันขาด

Image

อยากชวนให้ลองเอามาแกงเขียวหวานกินครับ ทำง่ายๆ โดยรวนชิ้นหมูสามชั้นในหม้อหางกะทิจนเริ่มเปื่อยนุ่ม จากนั้นผัดพริกแกงเขียวหวานในน้ำมันจนหอม หยอดหัวกะทินิดหน่อยให้แตกมัน เทใส่หม้อหมูสามชั้น ใส่ลูกผักหวาน ต้มต่ออีกราวๆ ๕ นาที เติมหัวกะทิให้แกงข้นอย่างที่ชอบ ใส่ใบมะกรูด พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ ตบท้ายด้วยใบโหระพา

ราดขนมจีนกินร้อนๆ เหยาะน้ำปลาพริกขี้หนูมะนาวสักหน่อย จะติดใจจนแทบอดใจรอลูกผักหวานออกใหม่อีกครั้งช่วงปีหน้าไม่ไหวเอาทีเดียว

Image

แต่การจะมีลูกผักหวานให้กินก็ยึดโยงอยู่กับปัจจัยที่ว่า ต้องมีต้นผักหวานป่าในธรรมชาติที่อายุมากพอจะติดลูกให้คนเข้าไปเก็บ ทีนี้การบุกเบิกพื้นที่ทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็ย่อมส่งผลให้ต้นผักหวานในป่าเริ่มถูกตัดโค่นจนเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ชาวบ้านที่เก็บลูกผักหวานป่าเป็นคนบอกผมเอง

Image

อาหารและการได้มาซึ่งวัตถุดิบอาหารในทุกวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ หลายสิ่งหลายอย่างครับ...