Image

10 เกร็ด
"เสด็จเตี่ย" EP.02

๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ 
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๔๖๖-๒๕๖๖

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

Image

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตหลังเที่ยงคืนวันใหม่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ต่อมาไม่นาน เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่ง เมาสุราในร้านอาหารย่านตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง เมื่อถึงวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๕๔ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากหน้าที่ราชการประจำ เป็นนายทหารกองหนุน ดังมีเหตุตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาบางตอนว่า

“...ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนามของทหาร...สมควรจะลงโทษให้เปนตัวอย่าง...”

กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระชันษา ๓๑ ปี จึงถูกปลดออกจากราชการ

พระองค์จึงทรงหันไปศึกษาวิชาแพทย์ ทั้งแผนไทย แผนจีน รวมถึงแผนใหม่แบบตะวันตก เมื่อเชี่ยวชาญแล้วก็ทรงเริ่มออกช่วยเหลือรักษาพยาบาลราษฎรที่เจ็บป่วยในนาม “หมอพร”

ในช่วงนี้เอง ที่กรมหมื่นชุมพรฯ เริ่มหันไปสมาทานศีล สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่ากรมหมื่นชุมพรฯ สนพระทัยไสยศาสตร์ถึงขนาดมีรอยสักทั่วทั้งพระองค์มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจสันนิษฐานต่อได้ว่า โอกาสที่จะเสด็จไปสักการะหรือ “ลองวิชา” กับบรรดาพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วคงเกิดขึ้นระหว่างช่วงที่ทรง “ตกงาน” นี่เอง

Image

พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม แลปัจจุบันนะกรรม ตำราสรรพคุณยาที่กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงค้นคว้าเรียบเรียง แล้วเขียนลงสมุดไทย พร้อมวาดภาพระบายสีประกอบเมื่อปี ๒๔๕๘ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับเมื่อทรงเขียนจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า

ในทางไสยเวทวิทยา ปรากฏในเกร็ดพระประวัติของเสด็จในกรมฯ ว่า มีพระเถระสองรูปที่ทรงนับถืออย่างยิ่ง ได้แก่ พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ (หลวงพ่อพริ้ง) วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ

หลักฐานสำคัญอันเป็นรูปธรรมแห่งความเคารพนับถือที่กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงมีต่อหลวงปู่ศุข ยังคงผนึกแน่นอยู่บนผนังอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จนบัดนี้

บนผนังด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน เหนือขอบประตูขึ้นไปจนจดเพดาน มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องพุทธประวัติ ปางมารผจญ ตามขนบของจิตรกรรมฝาผนังที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ คือภาพประธานตรงกลางคือพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ทางฝั่งหนึ่งเป็นกองทัพพญามารที่ยกมาคุกคาม อ้างสิทธิ์ว่าตนคือเจ้าของอันแท้จริงของโพธิบัลลังก์ พร้อมกับอ้างเอาพลพรรคบริษัทบริวารของตนเป็นพยาน  กระทั่งพระพุทธเจ้าต้องทรงอ้างเอาแม่พระธรณีเป็นพยานบ้าง แม่พระธรณีจึงผุดโผล่ขึ้นมาจากพื้นพิภพ แล้วบีบมวยผมซึ่งรับน้ำทักษิโณทกอันพระโพธิสัตว์ทรงหลั่งไว้ทุกชาติทุกภพที่ทรงบำเพ็ญมหากุศลทานตลอดระยะเวลาอสงไขยแสนกัป กลายเป็นท้องทะเล ท่วมกองทัพพญามารแตกพ่ายไปในอีกฝั่งหนึ่งของภาพ พญามารที่ก่อนหน้านี้มีอาวุธครบมือ พลันกลับกลายมาประนมมือถวายอัญชลีแด่พระพุทธองค์

ณ ขณะจิตนั้นเอง พระโพธิสัตว์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เข้าสู่พุทธภาวะโดยฉับพลัน

ที่จิตรกรรมบนผนังอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่าบนท้องฟ้าเบื้องบนทั้งฝั่งซ้ายและขวาของพระพุทธเจ้า มีรูปแถบแพร หรือ “โบ” สีเข้ม พลิ้วสะบัด  บนโบส่วนมากเขียนอักษรขอม ภาษาบาลี เป็น “ชัยมังคะละอัฏฐะกะคาถา" ที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “คาถาพาหุง” หรือ “ฎีกาพาหุง”

คาถาบทนี้เป็นวสันตดิลกฉันท์ เชื่อว่าประพันธ์ขึ้นในเกาะลังกา (บางสายเชื่อว่าแต่งขึ้นในเมืองไทยก็มี) เนื้อความหมายเอาชัยชนะของพระพุทธเจ้าในคราวต่าง ๆ แปดครั้งมาเป็นสัจวาจา เพื่อขอให้บังเกิดชัยมงคล

ครั้งแรกพรรณนาถึงชัยชนะเหนือพญามารเมื่อครั้งทรงตรัสรู้ อันเป็นบทสวดขึ้นต้น และเป็นที่มาของชื่อ “คาถาพาหุง” 

ข้อความระบุพระนามกรมหมื่นชุมพรฯ และคณะศรัทธาที่ร่วมกันเขียนภาพในอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า

พาหุํ สหสฺ สมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ

(คำแปลฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย)
พระจอมมุนี ได้ชนะพญามารผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ

ขี่คชสารครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก

ด้วยธรรมวิธีทานบารมีเป็นต้น

ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

หลักฐานสำคัญที่เป็นเครื่องยืนยันว่าจิตรกรรมบนผนังนี้เป็นฝีพระหัตถ์ของกรมหมื่นชุมพรฯ คือเมื่อเขียนชัยมงคลคาถาอักษรขอม จนครบจบทั้งแปดบท ในแถบแพรฝั่งขวาล่างตรงปลายสุด เขียนอักษรไทยเป็นข้อความว่า

“พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเฃตร์อุดมศักดิ์ฯ นายเทียบ, นายรังสี, นายแฉล้ม นายผ่อน, ได้เขียนไว้ เพื่อศุขประโยชน์ภายพาคน่า นิพาน ปัจโย โหตุฯ”

พระอิสริยยศ “พระเจ้าพี่ยาเธอ” ที่ปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันว่า ณ ขณะเมื่อเขียนภาพ ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว เพราะหากเป็นรัชสมัยก่อนหน้า พระอิสริยยศย่อมต้องเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ” ขณะเดียวกันย่อมต้องเขียนขึ้นเมื่อยังทรงกรมเป็น “กรมหมื่น” ยังมิได้เลื่อนเป็น “กรมหลวง” จึงกำหนดเป็นช่วงเวลากว้าง ๆ ได้ ๑ ทศวรรษ ระหว่างปี ๒๔๕๔-๒๔๖๓

แต่ถ้าจะให้แคบเข้ามา ผมเชื่อว่าน่าจะเขียนขึ้นราว ช่วงปี ๒๔๕๔-๒๔๖๐ ระหว่างที่เสด็จในกรมฯ ทรงออกจากราชการนั่นเอง

ส่วนรายชื่อคณะช่างผู้ร่วมวาดภาพท่านอื่น ๆ เมื่อลองค้นหาจากรายนามผู้ใกล้ชิด  ผมสันนิษฐานว่า “นายเทียบ” อาจหมายถึง เทียบ นายเรือ (ภายหลังเป็นพระยาฤทธิรุทคำรณ) “นายรังสี” คือ หมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ (ยศในขณะนั้น) เจ้ากรมประจำพระองค์ “นายแฉล้ม” คือ แฉล้ม สถิรศิลปิน (ต่อมาเป็นพระชลัมพิสัยเสนี) หนึ่งในลูกศิษย์ก้นกุฏิผู้ใกล้ชิดเสด็จในกรมฯ  ส่วนนายผ่อน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร

การที่ออกนามผู้ร่วมงานทุกคนในฐานะสามัญชน โดยมิได้ระบุยศศักดิ์หรือตำแหน่งราชการใด ๆ ดูน่าแปลกใจไม่น้อย

ผมสังเกตว่า จิตรกรรมบนผนังด้านอื่น ๆ ในอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า แม้เป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ แต่แลเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคนละฝีมือกัน รวมทั้งบนผนังด้านซ้ายของพระประธานยังมีฉากมารผจญซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย

Image

จิตรกรรมฝาผนังฝีพระหัตถ์กรมหลวงชุมพรฯ อยู่บนผนังด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน ในอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่าอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุรักษ์โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเมื่อไม่นานมานี้  ภาพด้านล่างเป็นเรื่องเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ยุติการอดอาหารทรมานร่างกาย แล้วทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดามาฉัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของปัญจวัคคีย์ผู้เป็นศิษย์ ต่อเนื่องกับตอนบน อันเป็นภาพเหตุการณ์ในคืนวันเดียวกันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าต้องผจญกับพญามารพร้อมด้วยไพร่พล แล้วทรงตรัสรู้ในที่สุด 

ผมจึงสันนิษฐานว่า กรมหมื่นชุมพรฯ คงทรงเขียนเฉพาะจิตรกรรม “มารผจญ” ทับลงบนภาพวาดเดิมบนผนังด้านนั้นที่เคยมีมาก่อน

ในทางหนึ่ง การวาดจิตรกรรมฝาผนังย่อมเป็นการอุทิศแรง
กายถวายเป็นปฏิบัติบูชา แด่พระครูวิมลคุณากร “หลวงปู่ศุข” ที่ทรงเคารพนับถือ พร้อมกันนั้นยังเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลเป็นพุทธบูชา เป็น “นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” คือเพื่อเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ตามคติอย่างคนไทยโบราณ

นอกจากนั้นการเดินลอดประตูเข้ามาภายในอุโบสถ ผ่านใต้บทสวดชัยมงคลคาถา ภาษาบาลี ย่อมบังเกิดเป็นสวัสดิมงคลแก่ทุกท่านทุกคน

ทว่าผมสงสัยว่าการที่ทรงเลือกเขียนภาพพุทธประวัติ “มารผจญ” เพียงตอนเดียว อาจมีนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้นหรือไม่

เพราะนี่คือช่วงที่ทรงตกต่ำแตกสลาย ต้องออกจากราชการเสื่อมถอยจากลาภยศสรรเสริญ

หรือกำลังทรงอุปมาพระองค์เอง ว่านี่คือโมงยามแห่งการบำเพ็ญเพียร

เฉกเช่นพระโพธิสัตว์ผู้กำลัง “ผจญมาร” เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น ?

Image

ช่วงปีแรก ๆ ของ “มหายุทธสงคราม” (The Great War) หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ปี ๒๔๕๗-๒๔๖๑/ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) ราชอาณาจักรสยามประกาศตัวยืนยันความเป็นกลาง แต่ในที่สุดด้วยแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) คืออังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Power) อันได้แก่เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี  เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ มีการจับเรือเชลยยึดทรัพย์ของ “ชนชาติศัตรู” รวมทั้งการจัดส่งกองทหารอาสาชาวไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร

โอกาสนี้เอง กรมหมื่นชุมพรฯ จึงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง โดยในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ตำแหน่งจเรทหารเรือ  ต่อมาในเดือนมกราคมปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาฯ ให้เลื่อนยศเป็นนายพลเรือโทและขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ

งานสำคัญที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้แก่การจัดซื้อเรือรบลำใหม่ของราชนาวีสยาม ด้วยเงินที่ทางราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดรับบริจาคเรี่ยไรจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน  เรือลำนี้ได้รับพระราชทานนามล่วงหน้าว่า พระร่วง ตามพระนามวีรกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง ในปี ๒๔๖๒ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษ ออกไปจัดซื้อเรือในทวีปยุโรป พร้อมด้วยนายทหารเรืออีกหกนาย ระหว่างนั้นทรงได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือเอก

คณะข้าหลวงพิเศษเลือกได้เรือรบหลวง เรเดียนท์ (HMS Radiant) ของราชนาวีอังกฤษ ซึ่งเพิ่งต่อขึ้นใหม่เมื่อปี ๒๔๖๐ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงตกลงซื้อ แล้วนำกลับมายังประเทศสยาม กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือด้วยพระองค์เอง โดยมีลูกเรือเป็นทหารเรือคนไทยและชาวอังกฤษที่จัดจ้างให้นำเรือมาส่งอีกจำนวนหนึ่ง

Image

เรือหลวง พระร่วง (ณิชา แจ่มประพันธ์กุล, บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช) ดัดแปลงจากเรือหลวง พระร่วง  จำลอง ต่อโดยพันจ่าเอก ประเสริฐ ธิราพืช และภาพจากหนังสือ เรือรบราชนาวี (ปี ๒๕๔๒)

เรือ พระร่วง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม ๒๔๖๓ ราชนาวีสมาคมฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นเรือรบหลวง มีการพิธีเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในการพระราชทานเลี้ยงตอนหนึ่งว่า 

“...ในการที่เรือลำนี้ได้เดินทางจากยุโรปมาถึงกรุงสยาม โดยนายทหารเรือไทยเปนผู้นำมา นับว่าเปนการเผยแผ่เกียรติยศของชาติบ้านเมือง แสดงให้เห็นว่าในกรุงสยามมีผู้สามารถในทางทหารเรือจริง ๆ...”

เดือนถัดมา พฤศจิกายน ๒๔๖๓ ทรงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระธิดา คือหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ทรงบันทึกไว้ว่า กรมหลวงชุมพรฯ เคยพาพระองค์พร้อมด้วยพี่สาว คือหม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา ไปชมการประหารชีวิตนักโทษ

“เมื่อท่านหญิงจารุพัตรา และข้าพเจ้ามีอายุ ๑๕ และ ๑๖ ปี ทรงพาไปดูตัดหัวนายเลียบและนายบุญเพ็งคดีใหญ่บวชเป็นพระ ฆ่าหลายศพยัดใส่หีบเหล็กถ่วงน้ำ จับได้เพราะหีบเหล็กลอยขึ้นมา หนังสือพิมพ์ลงครึกโครม ‘คดีหีบลอยน้ำ’ เราไปดูที่วัดอะไรจำไม่ได้...ต้องเตรียมตัวออกเดินทางกันตั้งแต่เช้ามืดประมาณตี ๔ เราไปยืนดูกันใกล้นักโทษมาก ห่างจากนักโทษประมาณ ๒ เมตร ใกล้ขนาดศีรษะแทบจะหล่นลงมาโดนเท้า  เพชฌฆาตแต่งตัวสีแดงมารำ ๓ คน เป็นมือหนึ่ง มือสอง มือสาม  นายบุญเพ็งโหดร้ายมาก ฆ่าคนมามาก มันเก่ง ไม่สะทกสะท้าน ขนาดตอนเพชฌฆาตเอาดอกไม้ธูปเทียนมาใส่มือปักไว้ยังไม่เดือดร้อน พูดคุยยิ้มตลอด และยังตะโกนบอกเด็ก ๆ ที่ปีนต้นไม้ไปดูว่า เดี๋ยวตกต้นไม้มาตายก่อนมันหรอก  เวลาเพชฌฆาตฟัน ฟันผิดที่หมายไม่ตายทันที แกยกมือขึ้น เลือดพุ่ง และอ้าปากจะร้อง พอดีดาบที่สองเข้าฟันเสด็จพ่อรับสั่งว่าแกทำเวรทำกรรมไว้มาก จึงเป็นเช่นนี้  ส่วนนายเลียบฟันทีเดียวศีรษะก็กระเด็นหลุดไปเลย ไม่มีการทรมาน เสด็จพ่อมีพระประสงค์จะทรงหัดให้มีจิตใจเข้มแข็ง มีประสาทดี ไม่สะทกสะท้านเมื่อได้พบเห็นยกเมื่อผจญสิ่งที่น่ากลัว หรืออันตราย จะได้ไม่ตกใจเสียขวัญยกช่วยตนเองได้นอกจากนี้ยังทรงสอนลูก ชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษทุกอย่าง”

Image

พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ฉลองพระองค์นายพลเรือโท ถ่ายในปี ๒๔๖๑ เมื่อพระชันษา ๓๘ ปี

ต้องยอมรับว่าความทรงจำของท่านหญิงแม่นยำมาก เพราะปีที่ท่านหญิงจารุพัตรา (ประสูติปี ๒๔๔๗) และท่านหญิงเริงจิตรแจรง (ประสูติปี ๒๔๔๘) มีพระชันษา ๑๖ และ ๑๕ คือปี ๒๔๖๓ ตรงกับรายงานข่าวการประหารชีวิตนายบุญเพ็งในหนังสือพิมพ์รายวันบางกอกไตมส์/Bangkok Times ฉบับวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑/ปลายปี ๒๔๖๓ ว่า

“เวลาเช้าวันที่ ๒๑ มีนาคม เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวอ้ายบุญเพ็งนักโทษซึ่งต้องหาว่าฆ่านายล้อม แลนางปริกตาย ไปประหารชีวิตที่วัดภาษี ผู้คนได้พากันไปดูมาก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ก็ได้เสด็จทอดพระเนตร เรือยนต์โดยสารลำ ๑ คนลงมาก ได้จม คนที่โดยสารไปได้เปียกน้ำบ้าง ที่เจ็บก็มีบ้าง  นักโทษอีกคน ๑ ซึ่งได้ประหารในวันเดียวกันนั้น ชื่ออ้ายเลี่ยม โทษฆ่าคนตายเหมือนกัน”

ในหนังสือ เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร (ปี ๒๕๐๔) ของนักหนังสือพิมพ์ผู้ใช้นามปากกาว่า “ทานตะวัน” เล่ารายละเอียดจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ว่า

“ท่านหญิงจารุพัตรา พระธิดาองค์หนึ่งอยู่ใกล้ชิดกับหลักประหาร โลหิตที่พุ่งฉูดออกจากก้านคอผู้ต้องประหาร กระเซ็นเปื้อนฉลองพระองค์โชกหมด”

เรื่องนี้แม้ฟังดูเกินจริง แต่ก็น่าจะมีเค้าอยู่บ้าง เพราะท่านหญิงเริงจิตแจรงเล่าว่าไปยืนดูกันใกล้มาก อีกทั้ง “ทานตะวัน” เอง น่าจะมีโอกาสรับรู้เรื่องนี้จากท่านหญิงจารุพัตราโดยตรง รวมถึงท่านหญิงยังเป็นผู้เขียนคำนำประทานให้แก่หนังสือของเขาด้วย

Image

ศาล “ปู่บุญเพ็ง” ในวัดภาษี ปัจจุบัน

วัดภาษี สถานที่ประหารชีวิตนายบุญเพ็ง ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ เคยถือกันว่าเป็นพื้นที่นอกเมืองห่างไกล ปัจจุบันอยู่ในซอยเอกมัย ๒๓ (ซอยภาษี ๑) ท้ายถนนเอกมัย (สุขุมวิท ๖๓) ด้านติดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ 

หนังสือ ๑๖๐ ปี วัดภาษี เอกมัย (ปี ๒๕๕๑) เล่าประวัติว่า เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นของกำนันเพชร ซึ่งมีด่านเก็บภาษีเรือที่ขึ้นล่องในคลองแสนแสบ แล้วนำเงินมาสร้างวัด จึงเรียกว่า “วัดภาษี” ในอดีตทางราชการเคยใช้บริเวณป่าช้าท้ายวัด (ปัจจุบันคือสนามของโรงเรียนวัดภาษี) เป็นแดนประหารนักโทษด้วยการตัดคอ และเล่าเหตุพฤติการณ์ของนายบุญเพ็งว่า

“เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี บวชเป็นพระ ๒ พรรษา แล้วลาสิกขามา ตั้งตนเป็นหมอดู หมอยา รับทำเสน่ห์ยาแฝด ชอบเล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา เป็นหนี้เป็นสินมาก...เมื่อผีพนันเข้าสิง มีหนี้สินมาก จึงวางแผนฆ่าชิงทรัพย์ ด้วยการตัดศพเป็นท่อน ๆ แล้วยัดใส่หีบเหล็ก ใส่รถเจ๊ก (รถลาก) ไปทิ้งที่คลองหลายต่อหลายศพ เมื่อตำรวจจับได้ จึงได้ฉายาว่า ‘หีบเหล็ก’ ต่อท้าย ชื่อ เป็น ‘บุญเพ็ง หีบเหล็ก’…และปี ๒๕๓๗ วัดภาษีได้ปั้นรูปจำลองไว้ เพื่อเป็นอนุสสติ ให้แก่คนรุ่นหลังสืบไป”

ทุกวันนี้ในวัดภาษียังมีศาล บุญเพ็ง หีบเหล็ก ปลูกเป็นศาลไม้หลังใหญ่ ตั้งรูปปั้นนายบุญเพ็งขนาดเท่าคนจริง ทาสีดำมะเมื่อม นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ นุ่งผ้าเตี่ยวสีแดงไม่สวมเสื้อ

สาวแม่ค้าลอตเตอรี่ที่นั่งประจำอยู่ตรงหน้าศาลเล่าให้ผมฟังว่ามีคนมากราบไหว้ขอโชคขอลาภจาก “ปู่บุญเพ็ง” กันเสมอ คนที่ได้ตามที่ขอจะนำของมาถวาย คือเสื้อม่อฮ่อมกับผ้าขาวม้า

ผมหันไปดูในศาล ตรงหน้ารูปปั้นมีถาดใส่เสื้อม่อฮ่อม ผ้าขาวม้า พร้อมพวงมาลัยสดใหม่วางอยู่จริง ๆ และเมื่อกวาดตามองต่อไป ยังพบลังพลาสติกใสที่มีของสองอย่างนั้นอัดแน่นจนเต็ม ตั้งอยู่ข้าง ๆ รูปปั้นอีกหลายใบ

“แต่ปู่บุญเพ็งเป็นนักโทษประหารไม่ใช่หรือครับ แล้วคนเขาจะมาไหว้กันทำไม ?” ผมซัก

คำตอบของเธอน่าสนใจ

“เราไม่รู้หรอกว่าโลกของวิญญาณเป็นอย่างไร บางทีมีคนมาทำบุญให้มาก ๆ เขาอาจจะเป็นเทพไปแล้วก็ได้”

Image

วัดภาษี ริมคลองแสนแสบ ซึ่งในอดีตถือว่าอยู่ห่างไกลพระนครจนทางราชการเลือกใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษอุกฉกรรจ์ด้วยการตัดศีรษะ มาถึงวันนี้กลับกลายเป็นวัดกลางเมืองย่านเอกมัย ล้อมรอบด้วยตึกคอนโดมิเนียมสูงตระหง่าน

Image

บทบาทสำคัญอีกด้านหนึ่งของวังนางเลิ้งของกรม-หลวงชุมพรฯ ยุคทศวรรษ ๒๔๖๐ ที่ยังคงเล่าขาน
ต่อมาอีกนาน คือการเป็น “สำนักมวยไทย” มีชื่อเสียง

ดังกล่าวมาแล้วว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเริ่มฝึกหัดอาวุธอย่างไทยโบราณตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าคงมิได้ทรงศึกษาเพียงวิชากระบอง แต่น่าจะรวมถึงเพลงอาวุธอย่างไทยโบราณอื่น ๆ ด้วย เช่น กระบี่ ดาบสองมือ ตลอดจนถึงเรื่องหมัดมวย  ดังมีเรื่องเล่ากันมาว่า ในวังนางเลิ้งจัดงานไหว้ครูทุกปี โดยนิมนต์พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) มาร่วมพิธีเป็นประจำจัดเป็นพิธีใหญ่ ปลูกโรงพิธี  มีงานถึง ๓ วัน คือ วันแรก ไหว้ครูหมอยา  วันที่ ๒ ไหว้ครูมวยกระบี่กระบอง  และวันที่ ๓ ไหว้ครูทางไสยศาสตร์ มีหัวหมู บายศรี เครื่องสังเวยเทวดามากมาย

ในวันไหว้ครูมวยกระบี่กระบอง เสด็จในกรมฯ จะทรง “ออกร่ายรำตามพิธีต่าง ๆ เช่น รำมวย รำกระบี่ รำกระบองรำดาบสองมือ รำอยู่ในปะรำหน้าพิธี เป็นการเคารพครูมีปี่กลองขับกล่อมบรรเลงเพลงไปตามจังหวะ”

ปี ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียนเสวี) เสนาธิการเสือป่า จัดการแข่งขันชกมวยเพื่อเก็บเงินค่าผ่านประตูซื้อปืนให้กองเสือป่า โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์ (ภายหลังเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นต้องเพิ่มวันอาทิตย์อีกวัน) ณ สนามหน้าสามัคยาจารย์สมาคม ภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถือเป็นยุคเฟื่องฟูที่กีฬามวยไทยได้รับความนิยมกว้างขวาง กระทั่งจดจำกันมาในฐานะสมัย “มวยสวนกุหลาบ” ซึ่งกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีบทบาทโดดเด่นพระองค์หนึ่งบนเวทีนี้

มวยสวนกุหลาบนัดปฐมฤกษ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันเสาร์แรกของเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๔ ภายในเวลาไม่นานก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างยิ่ง ชนิดที่ว่าเมื่อถึงวันจันทร์ ข่าวการชกมวยในสังเวียนนี้คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องมีรายงานโดยละเอียด

เพียงในสัปดาห์ที่ ๒ ข่าวหนังสือพิมพ์เริ่มออกพระนามเสด็จในกรมฯ ว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงพระเมตตา รับน่าที่เปนกรรมการ ทรงกำกับอยู่บนเวทีด้วยพระองค์หนึ่ง”

นักมวยฝีมือดีทั้งในพระนคร ปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เหนือจดใต้ ถูกเลือกเฟ้นเข้ามาโดยสมุหเทศาภิบาลและข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เพื่อประลองฝีมือบนเวทีสนามมวยสวนกุหลาบ

มีไม่น้อยที่ต่อมากลายเป็น “ข้าในกรม” คือเป็นนักมวยในสังกัดของวังนางเลิ้ง

อย่างไรก็ดีการที่เสด็จในกรมฯ ทรงมีบทบาททั้งในฐานะ “เจ้าของ” ค่ายมวย และในฐานะกรรมการ จึงทรงพยายามหลีกเลี่ยงคำติฉินเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” โดยเมื่อใดก็ตามที่มีคู่มวยซึ่งเป็น “ข้าในกรม” ขึ้นชก จะทรงขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้ตัดสินเสมอ ดังที่เจ้ากรมของพระองค์ คือหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีจดหมายเปิดผนึกชี้แจงไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ เมื่อมีมวยบางคู่ที่เกิดข้อครหาเรื่องผลการตัดสินของกรรมการ

“ในเรื่องนี้ เสด็จในกรมของข้าพเจ้าไม่ได้ทรงชี้ขาดเพราะนายนิ่มเปนผู้ได้รับความฝึกหัดและเปนข้าในกรมอยู่ในวัง จึงได้ทรงลาออกจากน่าที่ผู้ชี้ขาดเสีย ก่อนลงมือสู้กันแล้ว เพื่อจะไม่ให้มีผู้ติฉินนินทาหรือสงไสยว่าทรงลำเอียง”

ในบรรดานักมวยที่เป็น “ข้าในกรม” ผู้ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดคือ นายยัง หาญทะเล จึงมักได้รับพระเมตตาเป็นพิเศษ เช่น รายงานข่าวมวยสวนกุหลาบในหน้าหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์

Image

กรมหมื่นชุมพรฯ (ซ้าย) กับหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (รังสี) เจ้ากรมประจำพระองค์ ผู้มีบทบาทในการช่วยดูแลนักมวยวังนางเลิ้ง

“คู่ที่ ๓ ควรให้เกียรติยศแก่นายยังที่ชกกับนายแจ้งก้อนกระสัง เปนพิเศษ พอลงมือชกได้ครึ่งยก นายยังก็ปล่อยหมัดเด็ดถูกคางและปากล้มผึ่งทั้งยืน กรรมการนับ ๑ ถึง ๑๐ ก็ไม่ฟื้น นายยังจึงชนะอย่างสง่าผ่าเผยเสียงตบมือออกกราวไปทั่วท้องสนาม เสด็จในกรมทรงพระเมตตา ประทานพระหัตถ์ลูบหลังนายยัง และมีผู้เชิญนายยังลงมาให้รางวัลเปนพิเศษอีกหลายท่าน”

ข้อมูลการเปรียบมวยในหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยทำให้เราเห็นภาพนักมวยชื่อดังคนนี้ชัดเจนขึ้น

“นายยัง หาญทะเล นครราชสีมา อายุ ๓๓ ปี หนัก ๑๒๗ ปอนด์ สูง ๕ ฟิต ๖ นิ้วครึ่ง”

ในบรรดาศึกดวลกำปั้นของนายยัง หาญทะเล นักชกจากค่ายวังนางเลิ้ง ไฟต์โด่งดังที่สุดคือการขึ้นสังเวียนกับนายจีฉ่าง นักมวยจีน ซึ่งกลายเป็นตำนานวงการหมัดมวยมาจนถึงปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๘
สิงหาคม ๒๔๖๔ รายงานข่าวการชกมวยระหว่างนักมวยไทยกับนักมวยจีน นำโดยจีฉ่าง ที่สนามมวยสวน-กุหลาบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคมไว้ว่า คนดูล้นหลามเป็นประวัติการณ์

“ถึงแก่ตั๋วผ่านประตูหมด ต้องปิดประตู คนกลับเสียมากต่อมาก ที่นั่งบนโรงเรียนทั้ง ๒ ชั้น เก็บคนละ ๑ บาท เต็มหมด ที่นั่งใกล้เวทีคนละ ๒ บาท ก็เต็มจนไม่มีเก้าอี้พอ

 “คนดูภายนอกสนามด้านโรงเรียนเสาวภา มีจำนวนแทบนับไม่ถ้วน บนต้นไม้คนขึ้นไปเกาะราวกะนกยางบนเสาโทรศัพท์ต้นหนึ่งก็ยังอุส่าห์มีคนปีนขึ้นไปหมอบกะแตดู บนหลังคากันสาดตึกถนนบ้านหม้อก็ยั้วเยี้ยไปด้วยคน อะไรไม่น่าขันเท่าเรือนมุงสังกะสีหลังหนึ่ง ถูกเจ้าของบ้านรื้อหลังคาสังกะสี พาพวกป่ายปีนขึ้นไปนั่งดู”

ผู้สื่อข่าวของ จีนโนสยามวารศัพท์ รายงานข่าวการชกว่า

ซึ่งจะมีนักมวยจีนเข้าแข่งขันด้วยแล้ว คณะนักมวยฝ่ายจีนมีความมุ่งหมายอย่างเดียว คือกระทำเพื่อประโยชน์แก่การเสือป่า และเมื่อการปรากฏในครั้งแรกนี้ว่า คณะเสือป่าได้รับผลอย่างงดงามสมแก่ความตั้งใจเช่นนี้ คณะนักมวยจีนจึงบังเกิดความปิติยินดีเปนอันมาก กับมีความขอบพระเดชพระคุณ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์กับพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เสนาธิการเสือป่า
ซึ่งได้ทรงเอื้อเฟื้อและเอื้อเฟื้อแก่คู่มวยทั้ง ๒ ฝ่ายเปนอย่างดี แต่ส่วนการแพ้ชนะนั้น ย่อมเปนธรรมดาซึ่งไม่ถือเอาเปนเกณฑ์สำคัญแต่อย่างใด และถึงแม้
ส่วนตัวนักมวยฝ่ายจีนก็ดี นอกจากจะมีความมุ่งหมายดังกล่าวแล้ว ยังไม่ต้องการรับบำเหน็จค่าเหนื่อย ฤๅค่าพาหนะเดินทางจากฝ่ายเสือป่าเลย คงอยู่ในความอุปการะของคณะนักมวยจีนฝ่ายเดียว

“บรรดานักมวยจีนที่เข้าชกแข่งขันทั้ง ๒ วันนี้ นอกจากนายจีฉ่างแล้ว ล้วนแต่เปนคนมีอาชีพในทางเปนเสมียรและเปนคนทำงานตามห้างร้านค้าขายทั้งนั้น แต่หากว่าเคยเรียนรู้การชกมวยอยู่บ้างจึงได้ขันอาศาเข้าสู่สนามแข่งขัน โดยมีความมุ่งหมายจะกระทำประโยชน์ให้เสือป่าดังกล่าวแล้ว เหตุฉนั้นจึงไม่ได้คิดจะเอาเกียรติยศในการชนะฤๅแพ้เปนเกณฑ์

 “นายจีฉ่างซึ่งเปนนักมวยจีนคนแรกที่เข้าสู่สนาม
ถึงหากจะมีอายุชราจนเกินสมัยจะเข้าแข่งขันเสียแล้วก็ดี แต่คงได้รับความชมเชยจากคณะกรรมการและ คนดูทั่วไป ว่าเปนนักเลงกีฬาที่ดีผู้ ๑ ทั้งสามารถหลบหลีกหมัดของนายยัง หาญทะเล ซึ่งเปนคู่แข่งขันได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว และท่าทางในขณะเข้าต่อสู้ก็เปนไปอย่างน่าดู  ส่วนนายยัง หาญทะเล นั้นเล่าก็คงได้รับความชมเชยในทางฝีมือมวยว่าเปนอย่างดี
เหมือนกัน และสามารถป้องกันในเมื่อนายจีฉ่างเข้ารุกได้คล่องแคล่ว แต่ด้วยเหตุที่นายจีฉ่างมีอายุชราและกำลังน้อย การต่อสู้จึงยุติลงอย่างที่เรียกว่าพอหอมปากหอมคอ”

หากอ่านตามเนื้อข่าวนี้ “ไฟต์หยุดโลก” ที่เลื่องลือกันนักกันหนา กลับดูเหมือนเป็น “มวยกระชับมิตร” เสียมากกว่า

แต่เราต้องอ่านรายงานข่าวของ จีนโนสยามวารศัพท์ หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นปากเสียงของคนจีนในสยาม ด้วยความระมัดระวัง เพราะข่าวมวยคู่เดียวกันนี้บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นกลับเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”

หนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๖๔ สรุปผลการแข่งขันชกมวยเวทีสวนกุหลาบเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า

“คู่ที่ ๒ ระหว่างจีนจีฉ่าง (กวางตุ้ง) กับ นายยัง หาญทะเล (นครราชสีมา) ต่อยกันไม่ทันถึงยก จีน จีฉ่างถูกนายยังเตะโดยเต็มแรงถูกที่ยอดอก ล้มทั้งยืนเลยจีนจีฉ่างยอมแพ้”

Image

ในปี ๒๔๖๔ สนามของสวนกุหลาบวิทยาลัยคือสถานที่ตั้งเวทีมวยชั่วคราว เพื่อเก็บเงินค่าผ่านประตูซื้อปืนให้เสือป่า เรียกกันว่ายุค “มวยสวนกุหลาบ”  และเป็นสังเวียนของมวยคู่ประวัติศาสตร์ระหว่างนายยัง หาญทะเล นักมวยในสังกัดของกรมหลวงชุมพรฯ กับนายจีฉ่าง นักมวยจีน

Image

หลังจากกรมหลวงชุมพรฯ กลับเข้ารับราชการได้ระยะหนึ่ง มีหลักฐานในลายพระหัตถ์ (จดหมาย) ส่วนพระองค์ว่า เมื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ กลับทรงเต็มไปด้วยความรู้สึก “ว้าเหว่” และ “ซังกะตาย” สรุปคือพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะรับราชการอีกต่อไป

ในปี ๒๔๖๓ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ปี ๒๔๒๖- ๒๕๑๔) พระชันษา ๓๗ ปี ทรงลาออกจากราชการ ขณะทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมฝิ่นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ อันเป็นหน่วยงานราชการที่ทำรายได้เข้าแผ่นดินสูงสุด  ความมุ่งมั่นของท่านสิทธิพรคือจะไปบุกเบิกทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแผนใหม่ที่บางเบิด อำเภอบางสะพาน เมืองประจวบคีรีขันธ์

การตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวของท่านสิทธิพรน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในอันที่จะลาออกจากราชการไปเป็นเกษตรกรบ้าง

ทั้งสองพระองค์ล้วนนับเนื่องเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๔ และมีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกัน  ที่สำคัญทรงเป็น “นักเรียนอังกฤษ” ร่วมยุค และเข้าใจว่าน่าจะทรงรู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อประทับอยู่ในทวีปยุโรป

Image

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร กับหม่อมศรีพรหมา พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา

Image

หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงขับรถแทรกเตอร์ที่ฟาร์มบางเบิด

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า กรมหลวงชุมพรฯ น่าจะทรงวางแผนลาออกจากราชการร่วมกับหม่อมเจ้าสิทธิพรด้วยซ้ำ เพราะขั้นตอนต่าง ๆ ล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกันกับวิธีการของท่านสิทธิพร (ตามคำบอกเล่าของพระชายา คือหม่อมศรีพรหมา) คือเริ่มต้นด้วยการสร้างบ้านพักและหักร้างถางพง โดยช่วงแรกนี้ยังไป ๆ มา ๆ กับทางกรุงเทพฯ ก่อน เมื่อมีที่พักแล้วก็กลับเข้ากรุง สุดท้ายหลังจาก ตระเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อย ค่อยทำเรื่องกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ แล้วเดินทางออกไปเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรได้ทันที ด้วยการลงมือปลูกผักสวนครัวและพืชอายุสั้น ฯลฯ

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเสด็จในกรมฯ กับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ยังปรากฏในคำบอกเล่าของลุงน้อม ภูมิสุวรรณ (ปี ๒๔๔๘-๒๕๓๖) ชาวบ้านหาดทรายรี ซึ่งทันได้พบเห็นด้วยตัวเอง

“ท่านได้นำเครื่องรถบรรทุกเรือชื่อเจนทะเลมาจอดที่หน้าเกาะมะพร้าว และของต่าง ๆ ที่ท่านได้นำขึ้นที่หาดทรายรีตรงกับต้นหูกวางที่อยู่ปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่า เสด็จกรมหลวง ได้นำหม่อมเจ้าสิทธิพรกับพวกหลายคนเปิดลังเอาเครื่องเหล็กประกอบเป็นตัวรถแทรกเตอร์ ในการบุกเบิก และท่านได้นำของชำมาหลายอย่าง ได้บรรทุกเรือเจนทะเล ลำเลียงขนขึ้นมา มีไม้เสา และเครื่องไม้ต่าง ๆ ที่จะสร้างที่พักอันถาวร ส่วนรถที่ประกอบแล้วก็ทำการบุกเบิกริมป่าใกล้ ๆ ทะเล ปลูกถั่วลิสง...ไม้ที่ปลูกบุกเบิกล้มลงแล้วเอามาเลื่อยทำฝาและเพดานที่จะทำที่พัก”

หม่อมเจ้าสิทธิพรและชายา คือหม่อมศรีพรหมา ทรงมุ่งมั่นสร้างฟาร์มบางเบิดให้เป็นฟาร์มตัวอย่าง เริ่มตั้งแต่บุกเบิกหักร้างถางพง นำเข้าพันธุ์พืชและปศุสัตว์จากสหรัฐอเมริกา มาทดลองปลูกทดลองเลี้ยงในเมืองไทย ทั้งแตงโมลูกยาวพันธุ์ทอมวัตสัน (Tom Watson watermelon) ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย (Virginia tobacco) สุกรพันธุ์ยอร์กเชียร์ (American Yorkshire pig) ไก่ขาวพันธุ์เลกฮอร์น (Leghorn chicken) รวมถึงออกหนังสือพิมพ์กสิกร เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จของการทดลองทำเกษตรกรรมแผนใหม่

ตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๖๐ แนวคิดการใช้จักรกลทุ่นแรงทางการเกษตรได้รับความสนใจมากขึ้น  บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในกรุงเทพฯ เริ่มนำเข้ามาสาธิตให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ชม เช่นในเดือนกันยายน ๒๔๖๓ มีการสาธิตรถไถนายี่ห้อฟอร์ดที่ทุ่งศาลาแดง (น่าจะเป็นบริเวณสวนลุมพินีในปัจจุบัน) หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่า

จากรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรเมื่อศตวรรษที่แล้ว มาถึงวันนี้ เครื่องจักรกลบนหาดทรายรีคือรถแบ็กโฮ ที่กำลังจ้วงตักทรายเพื่อก่อสร้างแนวกำแพงกันคลื่นคอนกรีตตลอดแนวหาดทรายรี ตามโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง

“ในเวลาเช้าวันที่ ๒๐ กันยายน อู่บางกอกซึ่งเปนเอเยนต์ของบริษัทฟอร์ดอยู่ในกรุงสยามได้นำเครื่องจักร์ไถนาชนิดฟอร์ดซันไปไถนาที่ตำบลศาลาแดง ซึ่งอยู่ในความปกครองของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช...ผู้ที่ไปดูการทดลองมีมาก เช่นเสนาบดีกระทรวงนครบาลแลคมนาคมแลชาวต่างประเทศมากหลาย ทั้งไทยแลจีนก็มีไปดูบ้าง...เราทราบว่าเครื่องจักรชนิดฟอร์ดซันนี้ได้ขายไปแล้วหลายเครื่องการทำนาด้วยเครื่องจักร์ก็ดูอาการจะเปนผลสำเหร็จ”

หม่อมเจ้าสิทธิพรยังทรงริเริ่มสั่งเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในฟาร์มเพื่อทุ่นแรงคน  รถแทรกเตอร์ในบันทึกของลุงน้อม บางทีอาจเป็นคันเดียวกันกับของฟาร์มบางเบิด หรือไม่เช่นนั้นอาจทรงสั่งเข้ามาใหม่อีกคันหนึ่งสำหรับโครงการพัฒนาหาดทรายรีตามพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ โดยเฉพาะก็เป็นได้

ข่าวเรื่องรถแทรกเตอร์ ณ หาดทรายรียังเป็นที่รับรู้กันถึงในพระนคร  หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ รายงานว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรงสร้าง “บังกะโล” (bungalow) ไว้ที่ “หาดพลี” (Had Pli) ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากสถานีรถไฟชุมพรประมาณ ๖ ชั่วโมง (six hours riding from Chumporn station) และ

“The Prince had various activities at Had Pli, and it is said on this occasion he took down a tractor to experiment with in ploughing.” (พระองค์ทรงมีกิจกรรมหลายอย่างที่หาดพลี และกล่าวกันว่าทรงประกอบรถแทรกเตอร์เพื่อทดลองไถที่นั่นด้วย-สำนวนแปลโดยศรัณย์)

Image

จากหลักฐานเท่าที่มี กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ระหว่างการฝึกภาคกับกองเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่วงปี ๒๔๔๐-๒๔๔๑ พระองค์เกิดประชวรด้วยโรคที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ไข้เมดิเตอร์เรเนียน” (Mediterranean fever) หรือ “ไข้มอลตา” (Malta fever) ปัจจุบันเรียกว่าโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียซึ่งแพร่จากสัตว์สู่คน เช่นการบริโภคน้ำนมดิบที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ทำให้มีอาการจับไข้เป็นระยะ ๆ อยู่เสมอ แม้จนอีกหลายปีต่อมาเมื่อเสด็จกลับสู่สยามแล้ว เช่น ในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเกาะชวาเมื่อปี ๒๔๔๔ มีรายงานข่าวใน ราชกิจจานุเบกษา ว่า

“...พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ เปนไข้มอลตาฟีเวอ ซึ่งได้เคยทรงเปนมาแต่เมื่อครั้งเสด็จไปอยู่ประจำที่เมืองมอลตา (เปนเกาะหนึ่งของอังกฤษ ในทะเลเมดิตอระเนียน เมื่อครั้งไปศึกษาวิชาทหารเรือ ณะประเทศยุโรป) เปนไข้มีตัวสัตว์ในโลหิต ซึ่งเคยทรงเปนอยู่เนือง ๆ เหมือนคนที่เคยเปนไข้ป่า...”

ต่อมาในปี ๒๔๔๘ ขณะตามเสด็จพระราชบิดาเสด็จประพาสแหลมมลายู มีบันทึกว่าทรงประชวรท้องเสียอีก ดังในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๔ ที่ทรงมีมายังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ตอนหนึ่งว่า

“พ่อมาได้ขึ้นเกาะพงันจึงเป็นอันหายปรกติดีแล้วมีคนเจ็บท้องเสียคนเดียวแต่อาภา นอกนั้นสบายดีหมด”

Image

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงวาดภาพที่น้ำตกธารมะยม เกาะช้าง ระหว่างตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๖๕

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ปัญหาพลานามัยส่วนพระองค์นี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในเวลาต่อมา ทรงหันไปทุ่มเทสนพระทัยวิชาแพทย์ระหว่างช่วงที่ทรงออกจากราชการจนเป็นที่รู้จักในนาม “หมอพร”

แม้เมื่อทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ดูเหมือนเสด็จในกรมฯ ยังประชวรเรื้อรัง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๔๖๕ พระอาการยิ่งทรุดลงอย่างชัดเจน

ครึ่งแรกของเดือนมีนาคม เดือนสุดท้ายของปีตามปฏิทินเก่ากรมหลวงชุมพรฯ ตามเสด็จรัชกาลที่ ๖ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี  เรือโท บุญทรง บุณยชาต (ภายหลังเป็นหลวงทรงบุณยแพทย์) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์ประจำเรือพระที่นั่งและแพทย์ประจำพระองค์ของเสด็จในกรมฯ บันทึกว่าต้องคอยดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เช่นวันที่ ๒ มีนาคม

“๖๐๐ ก.ท. (ก.ท. คือก่อนเที่ยง แปลจาก AM-ศรัณย์) อาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็ไปถวายพระโอสถเสด็จกรมหลวงชุมพรฯ...เวลา ๙๐๐ ก.ท. ได้ฉีดพระโอสถถวายเสด็จในกรมอีก ๑ เข็ม”

พอหลังอาหารค่ำ “ก็นำพระโอสถไปถวายในกรมอีก”

วันที่ ๘ มีนาคม ตามเสด็จและทรงวาดภาพสีน้ำมันที่น้ำตกธารมะยม เกาะช้าง

“เวลา ๔๐๐ ล.ท. (ล.ท. คือหลังเที่ยงแปลจาก PM-ศรัณย์) อาบน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรธารมะยม...ต้องระวังสมเด็จ
ในกรมอยู่เสมอ เพราะมีพลานามัยยังไม่สมบูรณ์นักและกำลังประชวรอยู่ด้วยจึงห่างไม่ได้เลย ทรงเขียนรูปสีน้ำมันที่หน้าพลับพลาและวิวน้ำตก และมิทันเสร็จก็ต้องเลิกเพราะมืด”

ถึงปลายเดือนมีนาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือโดยให้มีผลตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน ๒๔๖๖ เป็นต้นไป

หลังจากทรงได้รับตำแหน่งใหม่เพียงสัปดาห์เศษ เสด็จในกรมฯ ทรงกราบถวายบังคมลาราชการเพื่อ “หยุดพักรักษาตัว” เป็นเวลา ๑ เดือน ตามความเห็นของแพทย์เนื่องจากทรงประชวรด้วย “โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท” (เป็นชื่อเรียกอาการป่วยไข้แบบครอบจักรวาลของแพทย์สมัยก่อน) โดยเสด็จไปประทับอยู่ที่หาดทรายรี ด้านใต้ปากน้ำเมืองชุมพร (ยังเป็นหัวเมืองในมณฑลสุราษฎร์) อันเป็นที่ที่ทรงจับจองไว้จะทำสวนมะพร้าว

กลางเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๖ ระหว่างประทับอยู่ที่หาดทรายรี  กรมหลวงชุมพรฯ เกิดประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน พระอาการทรุดหนัก  เจ้าจอมมารดาโหมดซึ่งอยู่ที่พระตำหนักหาดทรายรีจึงให้คนส่งโทรเลขด่วนมายังเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อพึ่งบุญ ปี ๒๔๓๓-๒๕๑๐) ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมีใจความว่า “กรมหลวงชุมพรประชวรเป็นไข้พิษ พระอาการหนัก” พร้อมกับขอพระราชทานความช่วยเหลือจากทางกรุงเทพฯ

กระทรวงทหารเรือจึงให้หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ไชยันต์ (ปี ๒๔๒๖-๒๔๘๓) นายแพทย์ใหญ่กระทรวงทหารเรือ จับรถไฟลงไปชุมพรทันที พร้อมกับส่งเรือหลวงพระร่วง เรือรบที่ทันสมัยที่สุดและแล่นเร็วที่สุดของราชนาวีล่องไปรับเสด็จในกรมฯ กลับขึ้นมารักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ

แต่ความช่วยเหลือทุกอย่างดังกล่าวมานี้ไม่ทันการเสียแล้ว

Image

พระโกศพระศพพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ ท้องพระโรง วังนางเลิ้ง ถ่ายเมื่อวันทำบุญครบ ๑๐๐ วัน ๒๙ สิงหาคม ๒๔๖๖

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ณ ตำบลหาดทรายรี เมืองชุมพร

นับรวมเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้เพียง ๔๙ วัน

ในความทรงจำของบุคคลร่วมยุคร่วมเหตุการณ์ ต่างเล่าถึงเวลาขณะเมื่อสิ้นพระชนม์ไว้ต่าง ๆ กัน เช่น หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ ปี ๒๔๔๔-๒๕๑๕) จำได้ว่าเป็นเวลาราว ๒ ทุ่ม (๒๐ นาฬิกา) พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์ ปี ๒๔๓๙-๒๕๓๔) นายธงคนสุดท้ายของเสด็จในกรมฯ เล่าว่าเป็นตอนดึกของคืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ แต่หลักฐานราชการ เช่น ราชกิจจานุเบกษา ระบุในข่าวสิ้นพระชนม์ว่าเป็นเวลา ๑๑.๔๐ น. สอดคล้องกับจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อาจารย์วรชาติ มีชูบท นำมาเผยแพร่

“มีความสลดใจเปนอันมากที่จำเปนต้องจดลงในรายวันนี้ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเฃตอุดมศักดิ์ ได้สิ้นพระชนม์เสียที่ตำบลหาดรี, ปากน้ำ
ชุมพร, เมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยงวันนี้. ฃ่าวนี้ได้รับในเวลาดึก...

“กรมชุมพรประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม, (ปีมะโรง) พ.ศ. ๒๔๒๓, ฉะนั้นมีพระชนม์ได้ ๔๒ ปี กับ ๕ เดือน ; และเพราะได้เปนเพื่อนกันมาแต่เด็กเราจึ่งรู้สึกเสียดายและใจหายมาก...”   

นักเรียนสวนกุหลาบ
- ดูภาพของเล่นเครื่องเงินย่อส่วน ใน ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร, หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ. (กรุงเทพฯ : บริษัทคอมม่าดีไซน์แอนด์พริ้นท์จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๘๐.

- ข้อมูลว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงแพ้เนื้อหมูตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มาจากบันทึกเพิ่มเติมของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรงอาภากร ดู เกร็ดพระประวัติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. อนุสรณ์วันพระราชทานเพลิงศพท่านหญิงจารุพัตรา อาภากร (วงศ์เสงี่ยมการพิมพ์, ๒๕๑๖), หน้า ๑๑.

- ดูบันทึกวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๒๘ ใน จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอุไรวรรณ ทองใหญ่ (กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๒๐), หน้า ๑๑๖-๑๑๗.

- ประวัติโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ดู สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับประวัติเจ้าพระยายมราช. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงธรรม, ๒๔๘๒), หน้า (๓๖)-(๓๗).

- ดูพระนิพนธ์ว่าด้วยชีวิตนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบใน กรมหมื่นพิทยาลงกรณ. เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ. (ธนบุรี : รวมสาส์น, ๒๕๑๔).

- ดูตัวอย่างการเสด็จไปในพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลของพระองค์เจ้าอาภากรฯ เช่นวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๐๘ (ปี ๒๔๓๒) ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีฉลู เอกศก พุทธศักราช ๒๔๓๒. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพนางจงกลณี โสภาคย์ (พระนคร : สนิทพันธ์การพิมพ์, ๒๕๑๔), หน้า ๒๓๐-
๒๓๑.

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและตุลาคมของ ร.ศ. ๑๐๙ (ปี ๒๔๓๓) ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๓. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงลัย เทพาธิบดี (ลัย บุนนาค) (พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร, ๒๕๑๔), หน้า ๑๒๒-๑๒๘, ๑๙๕.

ช่วงเดือนตุลาคม ธันวาคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ของ ร.ศ. ๑๑๐ (ปี ๒๔๓๔) จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๔. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน จันทรสาขา (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๑๕), หน้า ๘๐, ๑๖๔-๑๖๕, ๒๓๖-๒๓๗, ๒๘๓. ในพระราชพิธีเผด็จสงกรานต์ ร.ศ. ๑๑๑ เดือนเมษายน ๒๔๓๕ “การสวดมนต์น้ำสรงมุรธาภิเศกสนาน วันที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมษายน...พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากร-เกียรติวงษ์ เสด็จออกทรงจุดเทียนนมัสการทุกเวลา”

ถัดมาในพระราชพิธีพืชมงคล เดือนเดียวกัน พระองค์เจ้าอาภากรฯ “เสด็จออกทรงวอมีทหารนำตามเสด็จไปประทับพลับพลาท้องสนาม ทรงประเคนจีวรสบงกราบพระแก่หม่อมเจ้าพุทธุปบาทปิลันทน์ธรรมเจดีย์แลพระสงฆ์ ๑๐ รูป แล้วทรงจุดเทียนนมัสการ ทรงศีลแล้วอาลักษณ์อ่านประกาศ ครั้นจบลงพระสงฆ์สวดมนต์แล้วพระเจ้าลูกเธอเสด็จกลับ” ดู พระราชพิธีเผด็จสงกรานต์ ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๙ แผ่นที่ ๔ (๒๔ เมษายน ร.ศ. ๑๑๑) : ๒๘-๓๐. 

และ พระราชพิธีพืชมงคลแลจรดพระนังคัล ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๙ แผ่นที่ ๕ (๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๑) : ๓๕-๓๖.

ไหว้ครูรำอาวุธที่เกาะสีชัง
- การศึกษาวิชาต่าง ๆ ของรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงพระเยาว์ “ตามซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่า สมควรแก่พระราชกุมาร” ดู สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ในพระราชประวัติรัชกาลที่ ๕ ก่อนเสวยราชย์ พระบวรราชประวัติ พระประวัติกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ พระประวัติตรัสเล่า. พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๒), หน้า ๑๐.

- ดูพระนามพระราชโอรสและรายละเอียดการรำกระบี่กระบอง ง้าว ดาบสองมือ หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตน-ศาสดาราม สมัยรัชกาลที่ ๔ ใน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนเสวยราชย์ ใน พระราชประวัติรัชกาลที่ ๕ ก่อนเสวยราชย์ พระบวรราชประวัติ พระประวัติกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ พระประวัติตรัสเล่า. หน้า ๒๘.

- รายละเอียดการไหว้ครูที่เกาะสีชัง ดู “การไหว้ครูรำอาวุธที่เกาะสีชัง” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๘ แผ่นที่ ๑๙ (๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๐) : ๑๖๔-๑๖๖. ส่วนเรื่องเล่าของเจ้าจอมมารดาโหมดดู พระยาโกมารกุลมนตรี. “เรื่องกรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์” (เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๐๓), หน้า ๕.

เข้าวังวินด์เซอร์
- ดูหนังสือกราบบังคมทูลใน พระราชหัตถเลขา และหนังสือกราบบังคมทูล ของ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี : แต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมนตรีพจนกิจและพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ร.ศ. ๑๑๓-๑๑๘. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๐๔).

- ดู Basil Thomson. The Scene Changes. (London : Collins, 1939), pp. 177-179. อนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจจึงขอคัดข้อความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่องการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียในอัตชีวประวัติของเซอร์ เบซิล ทอมสัน มาลงพิมพ์ไว้ด้วย ณ ที่นี้

“To the Siamese Princes I owe my only audience with Queen Victoria. Mr. Verney had been trying hard to obtain royal recognition for the Princes, but probably Her Majesty felt that with so many foreign Royal children in England for their education, it would be unwise to single out a particular Prince. At twelve o’clock one day I received a lengthy telegram commanding us to Windsor at four. There was a wild rush for nail-brushes and clean collars, for the boys were gardening, and then, in correct Eton jackets, I bundled them into a carriage and drove across the Great Park. We were received by the late Duke of Argyll and the lord-in-waiting, Lord Harris, and taken up into a narrow gallery outside Her Majesty’s private apartments. A double door stood at the end of the gallery and other doors led to the State rooms. In front of these doors was a little group, consisting of the Empress Frederick, Princess Louise and one or two other royalties, and we were drawn up in line with our backs to the windows. There we waited, talking among ourselves, until a functionary came out to marshal us. “An inch or two farther back, gentlemen,” he whispered, and perhaps it was these preliminary ceremonies that contributed to the sense of awe we were under when the Queen appeared. The doors were thrown open quite suddenly, and Her Majesty came in, leaning on the arm of her Indian Munshi, who carried himself with great hauteur. The Queen was tiny. I had the impression of a little pale lady covered with lace, rather frail and infirm, but somehow invested with extraordinary dignity. She was smiling, and without a moment’s delay the two boys were taken up and presented to her. I hissed into their ears as they passed, “Kiss Her Majesty’s hand,” but the younger boy forgot and shook her hand warmly, which made her smile. Then she called for me, and I was presented. There was only one topic of conversation--the health of the Siamese boys. Were they strong? Had I noticed that they caught cold easily ? Would I say that in all respects they were not more delicate than English boys ? And then, when that topic had been exhausted, she asked the Duke of Argyll to see that we were shown everything of interest in the Castle.

“It was not until some weeks afterwards that I heard why we had been sent for. At luncheon on the previous day there had been a discussion on consanguinity, and one of the princesses remarked that the two Siamese Princes, who were in the country, were the children of a brother and sister, as is the rule in Siam as it was with the royal family in ancient Egypt. Upon this the Queen, who was always interested in what appertained to births and deaths, said that she would like to see them. After that audience I was well able to understand the awe with which the Queen’s Ministers regarded her.”

ข่าวลือ
- ดู เอนก นาวิกมูล, เจ้านายชาวสยาม. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๐), หน้า ๒๕-๓๑.

- ผู้สนใจสามารถค้นคว้าหนังสือพิมพ์เก่าของสิงคโปร์ที่สแกนและจัดทำดรรชนีแล้ว ผ่านทางเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ สิงคโปร์ https://eresources.nlb.gov.sg/newspapers/

- รายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลังสิ้นพระชนม์ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๖ ตอนหนึ่งเท้าความถึงเรื่องเงินรางวัล ๒๗,๐๐๐ ปอนด์ ว่า “He served some time in the Mediterranean when in the British Navy, and when he left to return to Siam he was reported to have been paid £27,000 by the Admiralty for a submerged tube he invented. The story duly found its way out here and was laughingly contradicted by the Prince, who said he had often wished it were true.” ดู “Death of the Minister of Marine” Bangkok Times. May 21, 1923, p. 5.

อ.ก. ช่างเขียน
- ข้อมูลเรื่องทรงออกแบบปกหนังสือและประกาศนียบัตรเนื่องในการแสดงกสิกรรมแลพานิชการที่สระประทุมวันดู เอนก นาวิกมูล. “ร.๕ กับพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร” ใน รัชกาลที่ ๕ กับการเกษตร เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ : สายธาร, ๒๕๕๔), หน้า ๓๒, ๕๒.

- ข่าวพระราชทานเหรียญบุษปมาลา ดู “พระราชทานเหรียญบุษปมาลา” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ (๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๘) : ๒๖๕๓-๒๖๕๔.

ผจญมาร
- นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย ผู้สนใจศึกษาประวัติของหลวงปู่ศุข บันทึกว่าเคยได้ยินคำบอกเล่าของ “ผู้สูงอายุบางท่าน” ว่าภาพวาดพระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ผนังระหว่างประตู ด้านล่างใต้ภาพมารผจญ เป็นฝีมือ “ท่านหญิงใหญ่” หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร  รวมถึงมีผู้เล่าให้คุณหมอฟังด้วยว่า ครั้งหนึ่งระหว่างที่เสด็จในกรมฯ กำลังเขียนภาพอยู่ในอุโบสถ เจ้าเมืองชัยนาทจะมาเฝ้าฯ แต่เดินผ่านประตูอุโบสถเข้ามาโดยไม่ยอมถอดรองเท้า ถูกเสด็จในกรมฯ (ระหว่างประทับอยู่บนนั่งร้านสำหรับวาดภาพเหนือประตู?–ศรัณย์) ถ่มน้ำลายรดศีรษะท่านเจ้าเมือง ดู สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย. ประวัติพระครูวิมลคุณากร (ศุข). (๒๕๒๘), หน้า ๘.

ประหารชีวิต บุญเพ็ง หีบเหล็ก
- บันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง ดู “เกร็ดพระประวัติเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” อนุสรณ์ท่านหญิงเริง. [ม.ป.ท.] : กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ), ๒๕๓๖, หน้า ๒๓๑. ข่าวหนังสือพิมพ์เรื่องนี้ดู Bangkok Times/บางกอกไตมส์. March 22, 1921 p.6. เรื่องเลือดสาดกระเด็นเลอะเสื้อท่านหญิงจารุพัตรา ดู ทานตะวัน, เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร. (พระนคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๐๔), หน้า ๔๒๒.

- ประวัติวัดภาษี และนายบุญเพ็ง อ้างตาม ๑๖๐ ปี วัดภาษี เอกมัย. ที่ระลึกเนื่องในโอกาสพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเป็นประธาน ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารกุฏิสงฆ์ วัดภาษี ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑.

ไฟต์หยุดโลก
- ประวัติศาสตร์มวยสวนกุหลาบโดยละเอียด ดู เขตรศรียาภัย, ปริทัศน์มวยไทย. (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐).

- รายงานข่าวเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นกรรมการเวทีมวยสวนกุหลาบ ดู “การชกมวยวันเสาร์ที่ ๙ เดือนนี้ ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย”. จีนโนสยามวารศัพท์. วันจันทร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๖๔ หน้า ๒. 

- ผู้เขียนพบจดหมายของหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๖๔ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อย่างน้อยสองฉบับ ได้แก่ Bangkok Times/บางกอกไตมส์. September 19, 1921 p.10. และ จีนโนสยามวารศัพท์. วันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๖๔ หน้า ๔. 

- ข่าวกรมหลวงชุมพรฯ ทรงลูบหลังนายยัง ดู “การชกมวยวันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนนี้” จีนโนสยามวารศัพท์. วันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๖๔ หน้า ๔. 

- พิกัดน้ำหนักของนายยัง หาญทะเล มาจากข่าวการเปรียบมวย เดือนพฤษภาคม ๒๔๖๕ ดู “โปรแกรมมวย” กรุงเทพเดลิเมล์. วันจันทร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๖๕ หน้า ๔.

- เกร็ดจากผู้สื่อข่าวเรื่องผู้ชมล้นหลามในมวยคู่นายยังกับจีฉ่าง ดู “ฝอยของการชกมวย” จีนโนสยามวารศัพท์. วันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๖๔ หน้า ๗. รายงานข่าวการชกมวยระหว่างนักมวยจีนกับนักมวยไทย มาจาก “การชกมวยเมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ นักมวยจีนกับนักมวยไทยเข้าประลองฝีมือ ประโยชน์อันงามของเสือป่า” จีนโนสยามวารศัพท์. วันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๖๔ หน้า ๒. และ “ชกมวย” Bangkok Times/บางกอกไตมส์. August 8, 1921 p. 6.

อนึ่ง ผู้สนใจสามารถลองเทียบเคียงกับคำบรรยายฉากต่อสู้ระหว่างนายยัง หาญทะเล กับนายจีฉ่าง หรือ “จี๊ฉ่าง” อีกสำนวนหนึ่ง ที่อาจารย์เขตร ศรียาภัย “ปรมาจารย์” วงการมวยไทย เล่าไว้อย่างละเอียดหลายสิบหน้าในหนังสือปริทัศน์มวยไทย 

ไฟต์หยุดโลกแทรกเตอร์บนหาดทรายรี
- ดู ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร. “เสด็จในกรมหลวงชุมพรกับการเกษตร” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑๐ (สิงหาคม ๒๕๕๙) : ๑๔๖-๑๕๙. ดูพระประวัติหม่อมเจ้าสิทธิพร หม่อมศรีพรหมา และฟาร์มบางเบิด ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร. (พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๑๔). และ ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. (กท. : มูลนิธิจิมทอมป์สัน, ๒๕๒๒).

- ดูข่าว “เครื่องจักรไถนา” Bangkok Times/บางกอกไตมส์. September 22, 1920, p.10.

- ดูขั้นตอนการเตรียมการเพื่อลาออกจากราชการของหม่อมเจ้าสิทธิพรตามคำให้สัมภาษณ์ของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ใน อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร, หน้า (๒๙).

- ดูคำอ้างเรื่องรถแทรกเตอร์ที่หาดทรายรี ในรายงานข่าวการสิ้นพระชนม์ “Death of the Minister of Marine” Bangkok Times. May 21, 1923, p. 5.

วันสิ้นพระชนม์ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖
- รายงานข่าวอาการประชวรด้วย “มอลตาฟีเวอร์” ของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ดู “ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน” ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ. เล่ม ๑๘ (๒๕ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๐) : ๑๕๙.

- ดูการรวบรวมคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์วันสิ้นพระชนม์ใน พล.ร.ต. กรีฑา พรรธนะแพทย์, “๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ตอนที่ ๑” นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๘ เล่มที่ ๕ (พฤษภาคม ๒๕๕๘) : ๖-๔๔. และ “๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ตอนจบ” นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๘ เล่มที่ ๖ (มิถุนายน ๒๕๕๘) : ๒๐-๒๖.

- บันทึกของหลวงทรงบุณยแพทย์ (บุญทรง บุณยชาต) ดู จดหมายเหตุคราวเสด็จประพาสจันทบุรีในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ของเรือโท บุญทรง บุณยชาต ใน ทรงบุณย์ลิขิต. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาโท หลวงทรงบุณยแพทย์ (บุญทรง บุณยชาต) (พระนคร : บริษัทการพิมพ์ไชยวัฒน์, ๒๕๐๕), หน้า ๕๓-๗๘.

- ข้อวินิจฉัยทางการแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุการสิ้นพระชนม์ ดู เอกชัย โควาวิสารัช, “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม ๒๕๕๘) : ๙๓-๑๐๑. 

- พระราชบันทึกของรัชกาลที่ ๖ ดู วรชาติ มีชูบท, “เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากทหารเรือ” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม ๒๕๕๘) : ๘๙-๙๑.