Image

พระอนุสาวรีย์หน้ากรมอุตุนิยมวิทยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ผู้ให้กำเนิดกิจการ
อุตุนิยมวิทยา ในประเทศไทย

๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ 
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๔๖๖-๒๕๖๖

เรื่อง : ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

เจ้านายในอดีตพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีคนไทยจำนวนมากเคารพรักและศรัทธา ได้แก่ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่บางคนเรียกพระองค์อย่างลำลองว่า “เสด็จเตี่ย” หรือ “หมอพร”

น่ารู้ด้วยว่าในปี ๒๕๓๖ กองทัพเรือมีประกาศขนานนามพระองค์ว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔ แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

อย่างไรก็ดีเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบก็คือ พระองค์ทรงเป็น “ผู้ให้กำเนิดอุตุนิยมวิทยาไทย” (เรียกตามเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา) หรือ “ผู้ให้กำเนิดกิจการอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย” (เรียกตามข้อความในแผ่นป้ายที่พระอนุสาวรีย์หน้ากรมอุตุนิยมวิทยา) อีกด้วย !

ในบทความชื่อ “พระบิดา-บุรพาจารย์ต้นกำเนิดอุตุนิยมวิทยาไทย” ตีพิมพ์ในเอกสาร เหตุจากลมฟ้าอากาศเขียนโดยนาวาตรี สุเมธ หิญชีระนันทน์ ให้ข้อมูลเชิงลึกเอาไว้ แต่เนื่องจากเอกสารนี้หาอ่านลำบาก (ผมอ่านพบในห้องสมุดของกรมอุตุนิยมวิทยาที่บางนา) จึงขอคัดเนื้อหาสำคัญที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน เผื่อไว้ใช้อ้างอิงก็ดี หรือสอนลูกหลานเราก็ได้

ข้อความระหว่างเครื่องหมาย  ========  ต่อไปนี้ มาจากเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ผมได้เพิ่มย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น

========
ลมฟ้าอากาศจะมีความสำคัญจนเริ่มมีวิชาอุตุนิยมวิทยาแพร่หลายขึ้นมาในประเทศไทยได้อย่างไรนั้น มีความพิสดารที่น่ารู้จากเรื่อง “ความเป็นมาของกิจการอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย” ที่ พล.ร.ท.จรูญ วิชยาภัย บุนนาค (อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนแรก-ผู้ดำเนินกิจการอุตุนิยมวิทยาให้เป็นปึกแผ่นและก้าวหน้า) เขียนขึ้นจากความทรงจำดังนี้ :

“เรื่องความเป็นมาของกิจการอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย สมควรกล่าวแรกเริ่มในสมัยของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งทหารเรือ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นพลเรือโท กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระองค์ได้ทรงนำเอาวิชาอุตุนิยมวิทยามาสอนในโรงเรียนนายเรือเป็นครั้งแรก โดยถือว่าเป็นวิชาหนึ่งควบคู่กันไปกับวิชาดาราศาสตร์เดินเรือและเดินเรือนำร่องทั้งยังได้จัดให้มีการตรวจอุตุนิยมวิทยาขึ้นตามเรือรบ โดยจดผลการตรวจแอนเนอรอยด์ บาโรเมตร์ เทอโมเมตร์ เมฆ ฝน ลม คลื่น และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสมุดปูมเรือเป็นประจำ

นับว่ากิจการอุตุนิยมวิทยาได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัยพระองค์ท่านเป็นวาระแรก แต่ได้ปฏิบัติในวงแคบเฉพาะตามเรือรบเท่านั้น โดยมุ่งประโยชน์ต่อกิจการเดินเรือและอุตุนิยมวิทยาทะเลเป็นสำคัญ

การสอนทรงไล่เดี่ยวกับลูกศิษย์ของพระองค์ท่านตัวต่อตัว ลูกศิษย์คนแรกและคนโปรดของพระองค์คือ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน)”

“พระยาราชวังสันได้รับการถ่ายทอดวิชาการต่าง ๆ โดยตรงจากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ท่านผู้นี้ได้ทำความเจริญให้แก่กองทัพเรืออย่างมากมายท่านได้แปลตำรา ดาราศาสตร์เดินเรือ และ อุตุนิยมวิทยา จากภาคภาษาอังกฤษ ตำราทั้ง ๒ เล่มนี้ข้าพเจ้ายังได้ทันเรียน (ข้าพเจ้าในที่นี้หมายถึงพลเรือโท จรูญ วิชยาภัย บุนนาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนแรก-ผู้เขียน)

Image

พระยาราชวังสัน

ตำรา ดาราศาสตร์เดินเรือ (เล่มแดง) นั้นพอจะเรียนให้เข้าใจได้ดี เพราะส่วนมากเป็นการคำนวณหาที่เรือ (ละติจูด ลองจิจูด) จากการวัดแดดวัดดาวกันเป็นพื้น แต่พอถึงเวลาเรียนอุตุนิยมวิทยาทีไรเป็นต้องง่วงเหงาหาวนอนทุกที เพราะเรียนไม่ค่อยเข้าใจดี อาจเป็นเพราะพื้นความรู้ทางวิชาฟิสิกส์อ่อนไปก็เป็นได้จึงต้องอาศัยท่องจำเป็นพื้น

พระยาราชวังสันท่านเป็นผู้ตั้งชื่อคำว่าอุตุนิยมศาสตร์ (Meteorology) นี้ขึ้น (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอุตุนิยมวิทยาตามอักษรตัวท้ายที่ลงด้วย gy ในภาษาอังกฤษ)

ข้าพเจ้าได้ทราบภายหลังจากคุณครู หลวงชลธารพฤฒิไกร (พงศ์ อาสนะเสน)ว่าพระยาราชวังสันกว่าจะได้ชื่อนี้มา ท่านต้องลำบากยากเย็นเที่ยวไปถามพระตามอารามต่าง ๆ ถึงเจ็ดวัด เจ็ดวา เพื่อเลือกหาคำบาลีที่เหมาะสมมาใช้กับคำว่า Meteorology ในภาษาอังกฤษ ท่านก็ได้คำว่า อุตุนิยมศาสตร์นี้มา ข้าพเจ้าซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความคิดจะขอเปลี่ยนชื่อนี้เสียใหม่ ก็เลยต้องงดไป เพื่อแสดงคารวะต่อชื่อเก่าที่ท่านบุรพาจารย์ได้ตั้งไว้”

========
บทความ “ประวัติกรมอุตุนิยมวิทยา” ในวารสาร อุตุนิยมวิทยา (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๕) มีข้อมูลเสริมว่า อุตุนิยมวิทยาในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นในกองทัพเรือ โดยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงนำวิชาอุตุนิยมวิทยามาสอนในโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙ (เปิดโรงเรียนนายเรือเป็นครั้งแรก)

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการยกย่องผู้ให้กำเนิดกิจการอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทยเล็กน้อยว่า แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะมีพระอนุสาวรีย์ของพระองค์อยู่หน้าอาคารที่ทำการ แต่คนไทยทั่วไปก็ยังไม่รู้จักกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะนี้เท่าใดนักดูได้จากหนังสือจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับพระราชประวัติ ก็ไม่ได้กล่าวถึงคุณูปการด้านอุตุนิยมวิทยาเอาไว้เลย

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๓ มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมการเสวนาพระประวัติครั้งที่ ๔ ในโครงการกรมหลวงชุมพรฯ ๑๒๐ ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม ในหัวข้อ “เสด็จเตี่ย ครูผู้สร้างในศาสตร์แห่งลม-น้ำ-ฟ้า” หากสนใจสามารถอ่านข้อสรุปได้จากบทความ “รากฐานจากองค์บิดา ในวิชาพยากรณ์ ลม น้ำ ฟ้า” ที่ 

ในบทความข้างต้นระบุว่า วิทยากรท่านหนึ่งคือพลเรือโทไชยวุฒิ นาวิกาญจนะ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ (ในขณะนั้น คือเดือนกันยายน ๒๕๖๓) ระบุว่า

“…พระองค์ท่านก็ทรงปรับปรุงหลักสูตรของนักเรียนนายเรือทั้งหมด มีวิชาหนึ่งก็คือวิชาไฮโดรกราฟี ซึ่งก็คือว่าด้วยอุทกศาสตร์นั่นเอง พร้อมกันนั้นท่านก็ใส่วิชาตรีโกณมิติทรงกลม ตรีโกณมิติ กับวิชาด้านการสำรวจอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วยนะครับ…แล้วพระองค์ท่านก็ทรงสอนเองด้วย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าต้องสอนให้นักเรียนนายเรือทำแผนที่ได้เองให้คนไทยสามารถทำแผนที่ได้เอง…เป็นจุดเริ่มให้มีการพัฒนาหลักสูตรกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน”

ตรงกับที่พลเรือโท จรูญ วิชยาภัย บุนนาค ระบุว่าวิชาต่าง ๆ นั้นท่านทรงสอนเอง

กล่าวโดยสรุปคือ ศาสตร์ทางด้านอุตุนิยมวิทยาของไทยเริ่มต้นที่กองทัพเรือโดยมีกรมหลวงชุมพรฯ เป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาพัฒนาจนเป็นสากลและขยายขอบเขตแยกตัวออกมา ทำให้มีการพยากรณ์ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศนั่นเอง

คราวหน้า หากคุณผู้รับทราบข่าวสารหรือคำพยากรณ์ทางด้านอุตุนิยมวิทยา ก็อาจน้อมรำลึกถึงคุณูปการของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หรือ “เสด็จเตี่ย” ด้วยก็น่าจะดีไม่น้อย

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ข้อมูลหลักในบทความนี้มาจากเอกสาร เหตุจากลมฟ้าอากาศ เขียนโดยนาวาตรี สุเมธ หิญชีระนันทน์ จัดทำโดยกองการศึกษา และวิจัย กรมอุตุนิยมวิทยา

ขอแนะนำหนังสือ เสด็จเตี่ย “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น” เขียนโดย ศรัณย์ ทองปาน สำนักพิมพ์สารคดี (ISBN 974-484-208-3) และเรื่อง “วิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ผ่านมุมมองการแพทย์สมัยใหม่” ดูได้ที่ https://www.silpa-mag.com/history/article_31759