Image

เกษียณอายุ
วิกฤตหรือโอกาส ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ นายดอกมา

ในเมืองไทยเมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายนก็เข้าสู่เทศกาลการร่ำลา มีงานแสดงมุทิตาจิตแก่ผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุถี่ ๆ ในหน่วยงาน ตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างกินเลี้ยงกันง่าย ๆ ในฝ่าย ไปจนถึงระดับใหญ่ ๆ ขนาดกระทรวงหรือบริษัท

เคยสงสัยกันไหมว่า คนที่ปรกติก็มีอะไรให้ทำ มีคนให้เมาท์มอย หรือให้สั่งงานได้ตลอดเวลา (ถ้าเป็นหัวหน้า) การเกษียณจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมากเพียงใด ?

คำตอบค่อนข้างซับซ้อนทีเดียว อาจจะเป็นได้ทั้งส่งผลบวกและผลลบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนมีฐานะอย่างไร ทำงานแบบไหน มีมุมมองต่อชีวิตตนเอง คนรอบข้าง รวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ รอบตัวอย่างไร และสุดท้าย ใช้ชีวิตอย่างไร

ขอเริ่มจากผลลบก่อน

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๘ โดยทีมวิจัยในสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คนที่เกษียณแบบไม่รับงานต่อเลยทั้งสิ้น หยุดทำงานทุกรูปแบบ มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น ๕-๑๔ เปอร์เซ็นต์ ที่จะเคลื่อนไหวหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ยากมากขึ้น

อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ ร่างกายฟิตน้อยลง และมีโอกาสเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ๔-๖ เปอร์เซ็นต์ โดยมีระดับสุขภาพจิตแย่ลงราว ๖-๙ เปอร์เซ็นต์

หลักฐานจากงานวิจัยยังชี้อีกด้วยว่า ยิ่งโดนบีบให้เกษียณโดยไม่สมัครใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีก และพบอีกว่าการเกษียณช้าลงไปอีกหน่อยช่วยลดผลกระทบพวกนี้ได้

ทีมวิจัยชุดเดียวกันนี้ ตีพิมพ์งานอีกชิ้นหนึ่งในปีเดียวกันในอีกวารสารหนึ่ง โดยระบุว่าผลกระทบแย่ ๆ ข้างต้นลดลงได้ หากเป็นคนที่มีคู่สมรสและมีเพื่อน ๆ หรือครอบครัวคอยสนับสนุนอยู่ อีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ การหางานแบบพาร์ตไทม์ทำ

ข้อสุดท้ายที่พบก็คือ การหมั่นออกกำลังกายหรือหากิจกรรมที่ต้องออกแรงทำอย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนช่วยได้ด้วยเช่นกัน

งานวิจัยที่ใหม่ขึ้นมาอีกหน่อย คือตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ เป็นผลงานของทีมที่มหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในรายที่เกษียณล่วงหน้า ๑ ปี มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ชายเสียชีวิต เพิ่มขึ้น ๑๓ เปอร์เซ็นต์ แต่น่าสนใจว่าเรื่องนี้กลับไม่ส่งผลกระทบกับผู้หญิง

นักวิจัยกล่าวว่าการเกษียณเชื่อมโยงกับโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โรคจากการดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินควร และอุบัติเหตุรถยนต์เป็นส่วนใหญ่

อ่านถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง

มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการเกษียณไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือมีก็น้อยมากอยู่เช่นกัน งานวิจัยจากทีมจีนระบุว่า แม้จะมีความเครียดเกิดขึ้นหรือหันไปใช้การสูบบุหรี่เพื่อลดความเครียดมากขึ้น ก็อาจจะลดหรือเลิกได้ โดยอาศัยพลังใจจากภรรยา

นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ดูเหมือนระดับการศึกษาส่งผลกระทบโดยรวมต่อการมีสุขภาพดีหรือแย่หลังเกษียณ แสดงนัยว่าคนมีความรู้หรือหาความรู้เก่งกว่าจะช่วยเหลือตัวเองให้ก้าวผ่านความยุ่งยากจากการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของชีวิตแบบนี้ได้ดีกว่า

คราวนี้ก็มาถึงกลุ่มของงานวิจัยที่แสดงว่า มีผลดีของการเกษียณอายุอยู่หลายประการ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของทีมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ระบุว่า จากงานวิจัยก่อนหน้าจำนวน ๒๐ ชิ้น ที่พวกเขานำมาวิเคราะห์ทางสถิติ ทำให้รู้ว่าการเกษียณอายุส่งผลดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยในคนอเมริกัน ๘,๑๑๓ คน ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ ซึ่งสรุปว่า ผู้เกษียณอายุจำนวนมากรู้สึกเข้าถึง “เป้าหมายของชีวิต” มากยิ่งขึ้น

ผลกระทบเรื่องดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนมากกว่าในคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า เพราะรู้สึกว่าได้หลุดพ้นจากการทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ

นักวิจัยจึงแนะนำว่าผู้เกษียณอายุควรจะใช้เรื่องนี้เป็น “โอกาส” สำหรับการตั้งเป้าหมายชีวิตแบบใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่เสียเปรียบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว

งานวิจัยที่ทำในกลุ่มประชากรชาวจีนและตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ ระบุว่าผู้ชายที่มีระดับการศึกษาสูง ราว ๙๓.๕ เปอร์เซ็นต์ทีเดียวที่ประเมินว่า หลังเกษียณตัวเองมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม ขณะที่ผู้หญิงก็รู้สึกกดดันลดลงเล็กน้อย (๐.๒๖ เปอร์เซ็นต์)

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มีระดับการศึกษาสูงกว่า มีแนวโน้มจะลดจำนวนและความเข้มข้นของกิจกรรมที่เคยทำลง โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนมีโอกาสเดินมากขึ้น ๑๐ นาทีต่อวันหรือไม่ก็มากกว่านั้น ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

ภาพโดยรวมของผลกระทบจากการเกษียณอายุอาจดูได้จากรายงานแบบปริทัศน์ (review) ที่เขียนโดย แอนเดรียสคูห์น (Andreas Kuhn) กล่าวคือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในรูปแบบที่ซับซ้อนต่อสุขภาพ  อันที่จริงแล้วต้องถือว่าการเกษียณอายุจากงานนั้นเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงลงลึกไปถึงรากฐานชีวิตของแต่ละคนเลยทีเดียว

เมื่ออ้างอิงผลการศึกษาก่อนหน้าทำให้พบว่า ผลวิจัยทั้งหลายยังไม่ได้ให้ข้อสรุปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด มีทั้งที่ระบุว่าส่งผลทางบวก ทางลบ หรือไม่ส่งผลใด ๆ เลยแม้แต่น้อย เรียกว่าเป็นไปได้ทุกรูปแบบ

Image

สำหรับบางคนแล้ว การเกษียณถือเป็นโอกาส เพราะทำให้หยุดหรือเลิกทำงานที่มีความเครียดสูง หรือไม่ก็เป็นงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงจะได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งจากงานดังกล่าว  นอกจากนี้หากเป็นการเกษียณโดยสมัครใจและมีช่วงเวลาเตรียมตัวก่อนหน้าแล้ว ก็อาจส่งผลดีได้

แต่ในขณะเดียวกันการเกษียณก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพเช่นกัน เพราะกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไปแทบทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อความรู้สึกเป็นตัวตนหรือความหมายของการมีชีวิตอยู่

เรื่องสำคัญที่สุดคือ ความเปลี่ยนแปลงนี้สำหรับบางคนแล้วทำให้เกิดการตัดปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมต่าง ๆ กับคนรอบข้างจนหมดสิ้น เรียกว่าบางคนมีชีวิตที่ “ไม่สมดุล” โดยบุคคลที่แวดล้อมตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ล้วนแต่ด้วยเหตุผลจากการทำงานต่าง ๆ ทั้งสิ้น

ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยว จนหันไปมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ดีต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นได้

งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงผลการศึกษาที่ทำในประเทศออสเตรีย นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ที่น่าสนใจมากคือ อาชีพและรายได้ส่งผลกระทบต่อการเกษียณอายุค่อนข้างชัดเจน โดยพบว่ากลุ่มคนงานเงินเดือนสูงที่เรียกว่าพวกปกเสื้อขาว (white-collar worker-ตามลักษณะของเสื้อเชิ้ตที่ใส่ ซึ่งปรกติมักมีปกเป็นสีขาว) การเกษียณแทบไม่ส่งผลลบ หรืออันที่จริงแล้วส่งผลบวกกับคนกลุ่มนี้ค่อนข้างชัดเจน โดยงานวิจัยทำในคนกลุ่มนี้หลังจากการเกษียณอายุไปแล้ว ๕ ปี (ในแต่ละประเทศกำหนดอายุไม่เท่ากัน)

ในทางกลับกัน สำหรับคนงานจำพวกปกเสื้อน้ำเงิน (blue-collar worker) หรือพวกทำงานใช้แรงที่มักได้ค่าแรงน้อยกว่า ไล่ไปจนถึงพวกปกเสื้อน้ำเงินระดับบนและปกเสื้อขาวระดับล่าง พบว่าการเกษียณอายุส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ โดยทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือรวดเร็วขึ้น

พูดง่าย ๆ คือ หากเป็นพวกรายได้น้อย การเกษียณจะไปเร่งให้สุขภาพแย่ลงและอายุสั้นลง !

แต่แน่นอนว่าผลสรุปแบบนี้ไม่ได้ตายตัวและต้องเกิดกับทุกคน

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกษียณอายุทุกท่าน ให้มีสุขภาพดีไปนาน ๆ แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องหมั่นออกกำลังให้เหมาะสมกับวัย กินอาหารให้ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย พักผ่อนอย่างเหมาะสม และพยายามคิดในเรื่องดี ๆ

หากเป็นไปได้ก็หาอะไรทำบ้างแบบไม่ต้องหักโหม อย่าปล่อยให้ว่างจนร่างกายเฉื่อยชา ก็จะเกิดผลดีตามที่งานวิจัยทั้งหลายแนะนำไว้

เพียงแค่นี้ก็น่าจะมีความสุขในช่วงวัยนี้ การเกษียณอายุก็จะกลายเป็นโอกาสและเป็นเรื่องดีในชีวิตได้ครับ