รำลึกยุค 90s
จากสี่ทุ่มสแควร์
ถึง At Ten Day
วิทวัจน์ (วิทวัส) สุนทรวิเนตร์
90s is back!
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
เราได้อิทธิพลจากรายการ ‘Tonight Show’ ทางช่อง NBC ของสหรัฐอเมริกา เป็นรายการทอล์กโชว์ (สัมภาษณ์) ตั้งแต่ยุคทีวียังออกอากาศเป็นภาพขาวดำ เอาดาราดังมาคุย แล้วเครื่องเคียงคือโชว์อื่นๆ เช่น เอาคนมาร้องเพลง มีการแสดง ฯลฯ ผมดูรายการนี้หลังดูข่าวรอบดึกตอนเรียนต่อที่ออสเตรเลีย สมัยนั้นรายการที่ออกอากาศในออสเตรเลียจะช้ากว่าที่อเมริการาว ๑ สัปดาห์ เพราะต้องส่งเทปทางเครื่องบิน จอห์นนี คาร์สัน เป็นพิธีกรรายการที่มีไหวพริบและลึกซึ้ง การสัมภาษณ์ของเขาตลกและสนุกมาก รายการนี้เป็นต้นแบบรายการทอล์กโชว์ของโลกเลยก็ว่าได้
“แก่นหรือไข่แดงของการทำทอล์กโชว์ที่สำคัญคือการสัมภาษณ์ ที่เหลือคือองค์ประกอบ ผมจำได้ว่าเรามีทีมแดนเซอร์ (นักเต้น) ผมขอให้คุณ Storm สุภาพสตรีชาวอเมริกันมาตั้งทีมให้ ตรงนี้ถือเป็นตัวเสริมรายการหลังการสัมภาษณ์ขนาดยาวในรายการส่วนมากเรามีสัมภาษณ์และโชว์หนึ่งชุด ยุค 90s รายการทีวีบ้านเรายังไม่มีใครสัมภาษณ์ดาราเรื่องหลังกล้อง ชีวิตส่วนตัว ตรงนี้ทำให้เราไม่เหมือนใคร เราคือรายการแรกที่ทำมาตั้งแต่สมัย ‘คืนนี้ที่ช่อง ๙’ (ปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐) ผมยังจำได้ว่าต้องทำเทปทดลองให้เอเจนซี (ที่จะไปหาโฆษณา) ดู ก่อนที่เขาจะเห็นด้วยว่าถ้าทำได้แบบนี้ก็เอา สามเทปแรกเราสัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ ๑๓) ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ตอนนั้นท่านเพิ่งผ่าตัดหัวใจ เราก็เอาไมโครโฟนไปจ่อที่หัวใจท่านเพื่อฟังเสียงหัวใจเต้น ไม่มีรายการไหนทำแบบนี้
“ผมพยายามสร้างเครดิตให้รายการ หลังออกอากาศต้องมีคนพูดถึง สมัยนั้นเพลงภาษาจีนกลางคือ ‘เถียนมี่มี่’ (หวานปานน้ำผึ้ง/ค.ศ. ๑๙๙๖) กำลังดัง ผมก็หาดาราที่ร้องเพลงจีนได้ให้ใส่กี่เพ้าสวยๆ คือคุณแก้ว-อภิรดี ภวภูตานนท์ เธอสวยมาก หุ่นดี ร้องเพลงต่างชาติได้โดยไม่ต้องรู้ภาษานั้น หลังออกอากาศคนก็พูดถึงกันทั้งเมือง ร้านในซอยละลายทรัพย์อัดเอามาเปิดกันเพราะคนยุคนั้นไม่เคยเห็นดาราไทยร้องเพลงจีน ตอนเริ่มทำ ‘สี่ทุ่มสแควร์’ ผมเปลี่ยนจากคนทำงานหลังกล้องมาเป็นพิธีกรรู้ทางเพราะเคยเตรียมงานให้คนอื่น ก็เปลี่ยนมาทำให้ตัวเอง ยากที่สุดคือพูดอย่างไรไม่ให้มีคำผิด แต่เป็นภาษาไทยก็เข้ามือ สามสี่เทปก็รู้ทางหมดแล้วครับ
“ผมพยายามใส่อะไรใหม่ๆ ลงในรายการ ในยุคนั้นเราเริ่มทำช่วงที่เรียกว่า Real TV ยุค SONY เริ่มผลิตกล้องถ่ายวิดีโอขนาดพกพาเรียกว่า Home VIDEO มันชัดสู้กล้องที่สถานีทีวีใช้ไม่ได้ แต่ก็เป็นยุคแรก คนที่มีกำลังซื้อก็เอามาถ่ายลูกหลานเอามาถ่ายแกล้งเพื่อน กล้องพวกนี้ยังมาไม่ถึงเมืองไทย แต่ฝรั่งใช้กันมาก จึงเกิดรายการประเภทที่ให้ส่งฟุตเทจแล้วจะได้รับรางวัลถ้าได้ออกอากาศ มีคลิปคนทะเลาะกัน คนขโมยรถถังในสหรัฐฯ ภาพจากเฮลิคอปเตอร์ คนสมัยนั้นไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ผมขอให้ฝ่ายต่างประเทศช่อง ๗ ซื้อมาออกอากาศให้คนส่งมาร่วมสนุก จนได้คลิปเยอะมาก คนดูก็ชอบมาก สมัยนั้นเสียงตอบรับของผู้ชมจะเป็นการส่งไปรษณียบัตรโปสต์การ์ด มันคือสิ่งที่สมัยนี้ก็เห็นกันเป็นปรกติในรายการคุยข่าว
“ในยุค 90s เราไม่ได้ทำงานตลอดสัปดาห์ แต่ที่ใช้พลังมากคือการระดมสมอง เรียกว่าโขกหัวกันทำงานเพื่อหาไอเดียใหม่ประชุมกัน ๖ ชั่วโมง หาไอเดียของอาทิตย์ต่อไป เอาพนักงานทั้งสำนักงาน ๒๐ คนมาคุยกัน บางทีคุยกันนานแต่หลุดประโยคเดียวปิ๊งเลย คนหนึ่งบอกว่าวันก่อนไปดูงิ้ว เราก็ ‘เฮ้ย ไปดูที่ไหน เอามารวมกับลูกทุ่งได้ไหม หานักร้องหน้าจีนมาแต่งงิ้วร้องเพลงของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ไหม ไปยืมชุดงิ้วที่ไหนดี’ ฯลฯ สมัยนี้เรียกว่าการคิดนอกกรอบ
“เทปที่ผมชอบจะอิงบนชีวิตจริง ครั้งหนึ่งมีผู้ต้องหาฆ่าคนตายโทร. มาจะขอมอบตัวกลางรายการ เพราะกลัวโดนตำรวจวิสามัญฆาตกรรม เขาไม่อยากหนีแล้วเพราะคิดถึงแม่ เราตรวจสอบก็พบว่ามีหมายจับจริงก็เอาเลย ออกรายการช่วงที่เรียกว่าหนึ่งในล้าน เขามาเล่าว่าไปยิงคนได้อย่างไร เราเชิญคุณแม่เขามานั่งในห้องส่ง เขาก็มาเจอกันในรายการ ร้องไห้กันใหญ่ แล้วผมแจ้งว่าคนที่เขาคิดว่ายิงเสียชีวิตนั้นทีมงานพบว่าไม่ตาย เขายิงแล้วหนีทันทีเลยไม่รู้ ดังนั้นแค่โดนข้อหาเจตนาฆ่า ไม่ใช่ฆ่าคน เป็นเซอร์ไพรส์อีกเรื่อง แล้วเราโทร. ไปที่ สน. ท่าข้าม ห่างจากสตูดิโอที่อัดรายการสมัยนั้นไม่มาก สารวัตรใหญ่ท่านก็มารับตัวกลางห้องส่งพร้อมรถตำรวจเทปต่อมาผมยังเอากล้องไปเยี่ยมเขาที่ สน. ผมจำเทปนี้ได้เพราะมันอยู่ในใจตลอด
“ยุค 90s เราเหมือนกับสร้างภาพยนตร์รายการ ‘สี่ทุ่มสแควร์’ มีความยาว ๒ ชั่วโมง ออกอากาศทุกสัปดาห์ ใน ๑ ปีมี ๕๒ ตอน (เรื่อง) สมัยก่อนไอเดียอะไรก็ใหม่ไปหมด ต่างกับสมัยนี้กูเกิลขึ้นมารู้หมด เราถูกดิสรัปชันด้วยสื่อออน-ไลน์ ทุกคนเป็นสื่อ เป็นช่างภาพ เป็นนักแสดงได้ มีทีวีออนไลน์เป็นล้านช่อง คนดูทีวีแบบเดิมย่อมลดจำนวนลง ดูหน้าจอ ๔ นิ้ว (โทรศัพท์มือถือ) แทนที่จะดูจอ ๕๕ นิ้ว (ทีวีในบ้าน) เป็นกันทั้งโลก ยกเว้นในอเมริกาที่คนยังดูทีวีอยู่มาก เพราะเชื่อเรื่องความแม่นยำมากกว่าสื่อออนไลน์ ผมตอบยากมากว่าจะไปต่ออย่างไร เราครองใจคนดูเหมือนสมัยที่มีฟรีทีวีไม่กี่ช่องไม่ได้แล้ว เม็ดเงินโฆษณาก็หายไป ผมยังอยู่ได้เพราะเราเป็นบริษัทขนาดเล็ก ก็ต้องปรับเป็น low cost TV พยายามใช้ต้นทุนให้ต่ำ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตอนนี้รายการที่สืบเนื่องคือ ‘At Ten Day’ ก็ถูกลดเวลาลงเหลือ ๑.๑๕ ชั่วโมง
“หลายท่านเจอผมในห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญก็บอกว่าอย่าเพิ่งเลิก ขอถ่ายรูปด้วย ก็ดีใจที่ยังมีคนชื่นชม จอ ๕๕ นิ้วอาจไม่ถูกเปิด แต่ในมือถือ ไอแพด น่าจะยังมียอดวิว แม้จะเป็นช่องทางอื่นนอกจากทีวีก็ยังมีกำลังใจ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เม็ดเงินมากขึ้น เพราะในแพลตฟอร์มนี้ขายโฆษณายากมาก เรามีต้นทุนสูงกว่ายูทูบเบอร์ ดาวติ๊กต็อก ท่านที่ยังติดตามขอให้ดูเถอะครับ เรายังคงตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ท่านอาจมีตัวเลือกมากขึ้น กระทั่งผมเองก็ดูโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ถ้ายังชอบรายการเรา เราไม่มีเฟกนิวส์แน่นอน
“ผมคิดเรื่องเกษียณมานานแล้วครับ แค่ตอนนี้ยังหาคนแทนไม่ได้ ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทำได้ ผมยังคิดว่าจะไปชอปปิงดาวติ๊กต็อกหรือยูทูบเบอร์มาเป็นพิธีกร ฝาก สารคดี ประชาสัมพันธ์ว่าใครทำคอนเทนต์เก่ง ดำเนินรายการเองได้ สนใจมาคุยกันได้ผมพูดจริง ไม่พูดเล่นครับ (หัวเราะ)”
หมายเหตุ :
รายการ “สี่ทุ่มสแควร์” ทางช่อง ๗ สี ออกอากาศระหว่างปี ๒๕๓๒-๒๕๔๐ หลังจากนั้นมีรายการที่สืบเนื่องคือ “ตีสิบ” และ “At Ten Day” (ตีสิบเดย์) ทางช่อง ๓ โดยพิธีกรหลักคือ วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖)