90s is back!
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ถ้าไม่นับความสัมพันธ์เด็กแฝดและรักแรกประสาวัยรุ่น เธอกับฉันกับฉัน น่าสนใจตรงบันทึกกรุงเทพฯ ควบคู่วิถีอีสานของชาวชุมชนริมน้ำโขง นครพนม ปี ๒๕๔๒ ช่วงที่ทั่วโลกต่างพูดถึง “Y2K” ตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ อ่านหนังสือทำนาย แล้วหาวิธีป้องกันตามข่าวลือ สอดแทรกวิถีประจำวันของผู้คนผ่าน gadget ประดามีสะท้อนยุคเริ่มไฮเทค
วันวานของพวกเธอก็เลยเกี่ยวข้องกับพวกฉันทำนองนี้...
เด็กเมือง 90s
ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของเด็กเมืองยุค 90s
วันหยุดสะพายเป้ Outdoor ไปห้างสรรพสินค้า กินบุฟเฟต์บาร์บีคิวปิ้งย่างสัญชาติญี่ปุ่นที่ร้าน DAIDOMON ไทยเริ่มมีสาขาที่สยามสแควร์ซอย ๓ กับซอย ๕ แล้วปี ๒๕๓๒ ก็เพิ่มสาขาเอกมัยและเดอะมอลล์ งามวงศ์วานในปีถัด ๆ กันมาอิ่มแล้วดูภาพยนตร์ นางนาก นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ และ วินัย ไกรบุตร ที่ฉายปี ๒๕๔๒ โกยรายได้ ๑๔๙.๖ ล้านบาท 90s เป็นยุคที่หนังไทยเฟื่องฟูสุดขีด
“มันเป็นหนังที่เราใส่ความชอบและประสบการณ์ที่เคยร่วมในวัยเด็กของเราลงไป”
วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ แฝดหญิง-ผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เปรยแนวคิดในวันแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์ที่ตึก GMM Grammy ด้วยเหตุนั้นเนื้อหาจึงแฝงรายละเอียดกุ๊กกิ๊กจากมุมมองของเด็กสาว อย่างบรรยากาศก่อนปิดเทอม ที่นอกจากนักเรียนสอบตกในแต่ละวิชาจะได้รับโอกาสสอบซ่อม ยังเป็นช่วงเวลาเผยความในใจแก่คนที่แอบชอบก่อนจะไม่เจอหน้ากันอีกครึ่งเดือน นับเดือน
“อะ...มี พี่เอามาให้ครับ”
เห็นสาวรุ่นน้องที่หมายตาเดินผ่านสนามกีฬา หนุ่มรุ่นพี่ก็รีบไปหยิบ “ขวดโหลใส่อมยิ้ม” ส่งให้ ชวนอมยิ้มตามเมื่อนึกย้อนกลับยุค 90s ที่วัยรุ่นฮิตบอกความรู้สึกกันด้วยของขวัญในโหลแก้วอย่างดาวกระดาษ นกกระเรียนพับ ดอกไม้แห้ง ฯลฯ ทั้งที่ทำด้วยมือและซื้อด้วยใจจากร้านกิฟต์ช็อป บ้างแนบไปกับ “บัตรจีบ” “บัตรขอเป็นเพื่อน” ฯลฯ ไอเท็มของคนขี้อายที่ไม่กล้าพูด แต่อยากสารภาพความในใจ
ระหว่างวันก็หยิบ “ทามาก็อตจิ” เอเลียนจิ๋วที่กำเนิดจากไข่ใบเล็กมาเล่นแก้เหงา
เป็นของเล่นพกพารูปทรงและขนาดเท่าฟองไข่ไก่ที่บริษัทบันไดในประเทศญี่ปุ่นผลิต-จำหน่ายครั้งแรกปี ๒๕๓๙ ฮิตในหมู่เด็กหญิงอย่างเร็วช่วงปลาย 90s (ปีแรกขายได้ ๔ แสนเครื่อง ปีถัดมาเพิ่มเป็น ๑๐ ล้านเครื่อง ส่งให้ปีนั้น อากิ ไมตะ กับ อากิฮิโระ โยโกอิ ผู้คิดค้น ได้รางวัล Ig Nobel Prize สาขาเศรษฐศาสตร์) ความสุขอยู่ตรงผู้เล่นเฝ้าดูว่าสัตว์มีชีวิตอย่างไรผ่านระบบวัดความหิว วัดความสุข วัดการฝึกเพื่อประเมินสุขภาพกาย-ใจ โดยมีด่านให้ผู้เล่นป้อนอาหาร เล่นเกมกับสัตว์ หรือกดตัวเลือก “ดุ” สัตว์บ้างเพื่ออบรม ถ้าดูแลดีทามาก็อตจิจะโตเต็มวัย ฉลาด มีความสุข ถ้าละเลยสัตว์เลี้ยงจะป่วยให้ต้องคอยป้อนยาหรือตาย
ในไทยเริ่มฮิตปี ๒๕๔๐ ไล่ตามเพจเจอร์ นาฬิกา G-Shock และ Baby-G เด็กสาวที่พกทามาก็อตจิห้อยกระเป๋านักเรียนยิ่งดูป็อป แลกกับการตื่นเต้นทุกครั้งที่มันร้องหิวข้าวในชั่วโมงเรียน
แม้ เธอกับฉันกับฉัน ไม่ได้บอกว่าเด็ก ๆ อยู่โรงเรียนอะไร แต่เดาได้ว่าตั้งอยู่เส้นทางผ่านของรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทหรือไม่ก็สายสีลมที่เพิ่งสร้างเสร็จปี ๒๕๔๒ ถือเป็นรถไฟฟ้ายกระดับสายแรกของไทย
จากประโยคของ “ยู” ที่พูดกับพ่อแม่ “ที่นี่มีรถไฟฟ้าแล้ว หนูอยากนั่งรถไฟฟ้าไปโรงเรียน”
บ้านนอก
90s
เราไม่อาจย้อนชีวิตสู่อดีตได้จริง แต่จัดการได้ด้วยจินตนาการสร้างสรรค์
“หนังเรื่องนี้มีความกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ถ้าทำในกรุงเทพฯ คงยาก โชคดีที่เมืองนครพนมเหมือนหยุดเวลาไว้ ยังมีสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่ผสมเวียดนาม จีน พื้นเมือง พอเซตให้เป็น ค.ศ. ๑๙๙๙ ทุกซีนจึงยิ่งดูมีชีวิต”
วรรณแวว-แวววรรณ สองผู้กำกับแฝดผลัดกันเล่าผลัดกันเสริมเบื้องหลัง
กึ่งเก่าที่ว่าหมายรวมถึงเสน่ห์เสียงพิณ-เครื่องดนตรีอีสานคล้ายกีตาร์ขนาดเล็ก แง่การตลาดน่าจะคว้าใจผู้ชมวัยรุ่นให้ตื่นตางานภาพย้อนยุค บรรยากาศอบอุ่นของทุ่งนา ชุมชนริมน้ำโขง พายเรือในบึงบัว กินไส้กรอกอีสาน หัดขี่มอเตอร์ไซค์ เดตแรกที่งานวัด ฯลฯ ผู้ใหญ่ได้ขบคิดกับสารที่ซ่อนในหนังผลพวงคือรู้สึกอยากตามหาไอเท็มแต่ละฉากซึ่งอาจซุกอยู่มุมใดของบ้านออกมาปัดฝุ่นใช้งาน อย่างนิตยสารวัยรุ่นยุคทองของวงการบันเทิงที่แฟนคลับคอยว่าแต่ละเดือนไอดอลที่ชอบจะขึ้นปกเล่มไหน ใส่เสื้อผ้าถ่ายแฟชั่นอย่างไร สัมภาษณ์เรื่องอะไร ฯลฯ ยังชวนคิดถึงช่วงเปิดเทปคาสเซ็ตจากวิทยุ National RXFM15 สีแดง โดยเฉพาะเพลงฮิต “ผ้าเช็ดหน้า” ของเจ้าแม่สายเดี่ยว โบ-จอยซ์ ไทรอัมพ์ส คิงดอม
“ถึงหนูจะเกิดไม่ทันสมัยที่เพลงดัง แต่ยุคนี้ก็ยังแมสอยู่ พี่โบพี่จ๊อยซ์ยังสวยเหมือนในเอ็มวีเป๊ะเลย”
ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์ “ยู-มี” แฝดผู้สมมุติตนเป็นศิลปินดูโอ คนหนึ่งคือโบอีกคนเป็นจอยซ์เช่นเดียวกับเด็กสาวยุคนั้น คิดไม่ต่างกับโทนี่-อันโทนี่ บุยเซอเรท์ รับบท “หมาก” รักแรกของแฝด
“ผมรู้จักเพลง ‘ผ้าเช็ดหน้า’ เพราะเคยฟังกับแม่ เขาเป็น FC พี่โบพี่จอยซ์ ผมชอบเนื้อหาเพลงมาก ๆ มันเป็นการจีบกันในแบบที่วัยรุ่นสมัยนี้เขาไม่ใช้ แต่ก็เป็นมุกความรักที่โรแมนติกน่าเอาไปใช้ดีนะ”
ปี ๒๕๔๒ รายการเพลงและเวทีคอนเสิร์ตต้องปรากฏไทรอัมพ์ส คิงดอม พร้อมสไตล์การแต่งตัวที่ขายความน่ารักปนเซ็กซี่ เป็นแฟชั่นที่หมู่เด็กสยามในกรุงและวัยรุ่นต่างจังหวัดผู้ตามกระแสต้องเลียนแบบตั้งแต่ทรงผมจดรองเท้าส้นตึกแนว
สปอร์ตี้ราวหลุดจากนิตยสารคาวาอี้ของวัยรุ่นญี่ปุ่นย่านฮาราจูกุ
“ปลื้มมากเลยที่ เธอกับฉันกับฉัน เลือกเพลงนี้มาใช้ประกอบภาพยนตร์ ทำให้เรารู้สึกว่าเพลงมันยังทำหน้าที่ของมันอยู่มันยังมีชีวิตอยู่ และทำให้เด็ก ๆ ในเรื่องมีความสุข”
โบ-สุรัตนาวี สุวิพร ศิลปินผู้นำแฟชั่นสายเดี่ยว-กางเกงขาสั้น สะท้อนความเห็นร่วมกับจอยซ์-กรภัสสรณ์ รัตนเมธานนท์ ศิลปินผู้นำแฟชั่นเกาะอก-กระโปรงยาว
“ชอบที่มีการคัฟเวอร์เพลงนี้ใหม่ ใช้ภาษาอีสานเข้าไปแรปในบางท่อนและออกมาน่ารักมาก ชาวอีสานจะได้นำท่อนนี้ไปร้องกันอย่างสนุกสนาน”
และทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโรง ชาวกรุงส่วนหนึ่งจึงได้เข้าใจว่าสภาพสังคมของต่างจังหวัดเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนเป็นอย่างไร…เสน่ห์บ้านนอกไม่จำเป็นต้องตอกย้ำแต่ความโลว์เทคอย่างเดียว
ฟองสบู่แตก
สาแหรกขาด
เด็กมักร้องไห้ในสิ่งที่อยากได้
ผู้ใหญ่มักร้องไห้ในสิ่งที่เสียไป
เธอกับฉันกับฉัน ไม่ได้ย้อนถึงปี ๒๕๔๐ แต่คนที่ทัน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ย่อมเชื่อมโยงเสียงทะเลาะกันของพ่อแม่ ประกอบกับซีนที่พ่อลูกเล่นกันอย่างมีความสุขแล้วถูกกระตุกด้วยเสียงกดกริ่ง-ตะโกนทวงหนี้จากรั้วบ้าน พ่อให้ลูกรีบปิดม่าน ปิดพัดลม ปิดไฟ ออกไปโกหกว่าพ่อไปต่างจังหวัด แม่โกรธพ่อมาก
จะไม่ลืมที่เรามีกันและกันในวันนี้ จะไม่ลืมเวลาความสุขที่เราเคยร่วมมี ต่อจากนี้ไม่ว่าชีวิตจะพบใครคนไหน แต่ว่าฉันจะมีเธออยู่เสมอในหัวใจ จะเก็บไว้...
เปิดเพลง (“กันและกัน”-ไทรอัมพ์ส คิงดอม) ให้ดังกลบเสียงทะเลาะของพ่อแม่คือวิธีที่เด็กแฝดเลือก
“ตั้งแต่อ่านบทก็หลงรัก ไม่เจอมู้ดแบบนี้นานมากแล้ว เป็นหนังรักที่ไม่ใช่แค่เรื่องของวัยรุ่นกุ๊กกิ๊ก แต่มีบรรยากาศละเมียดละไมหลากหลายแนวในตัวเอง และมีความเข้มข้นของสัมพันธภาพครอบครัว”
โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เผยความรู้สึกต่อภาพยนตร์ที่ตนรับเป็นผู้อำนวยการสร้าง
ขณะที่กระแต-ศุภักษร ไชยมงคล รับบทแม่ของยู-มี สะท้อนความเป็นแม่ชนชั้นรากหญ้าผู้มีพื้นเพจากต่างจังหวัดแล้วมาค้นหาชีวิต-สร้างครอบครัวที่กรุงเทพฯ กระทั่งวันที่ล้มเหลวจึงกลับบ้าน
“หลายฉากในเรื่องทำให้ ‘อิน’ หนักมากโดยเฉพาะการเป็นแม่ยุค Y2K ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตเจอวิกฤตให้แก้หลายอย่าง ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนปิดเทอมจึงต้องพาลูก ๆ ไปฝากเลี้ยงที่บ้านคุณยาย”
องค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังไม่ได้เสนอประเด็นหนักหน่วง แต่อารมณ์ของตัวละครล้วนประกอบขึ้นจากเศษเสี้ยวความทุกข์ของคนที่ประสบภาวะฟองสบู่แตก ภาพรวมของสถานการณ์ยุคนั้นมีข่าวรายวัน ทั้งการลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ไปจนการฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่าง ๆ สะท้อนการแก้ปัญหาของประชาชนตาดำ ๆ ที่เผชิญเคราะห์กรรมแบบไม่ทันตั้งตัว ผุดกระแสเปิดท้ายขายของเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจที่พังทลายเช่นเดียวกับการเกิด “ตลาดนัดคนเคยรวย” บางคนที่ขายรถขายบ้านหาเงินใช้หนี้ผ่านมาจนทุกวันนี้ก็ไม่อาจมีรถ-บ้านใหม่ได้อีกเลย
“ยู มี ป๊าขอโทษนะลูกที่ป๊ารักษาครอบครัวเราไว้ไม่ได้”
ประโยคง่าย ๆ จากตัวละครเฉือนอารมณ์ผู้เคยร่วมสังคมเวลาเดียวกันมาได้อย่างคมคาย เป็นการเสียดสีที่เข้าใจง่ายและ “เซฟ” กว่าวิพากษ์ความล้มเหลวของรัฐบาลแบบตรง ๆ
สภาพแวดล้อมที่ประสบวัยเด็กย่อมส่งผลให้เติบโตเป็นคนบางแบบ
พ่อแม่อยู่กับลูกไปไม่ได้ตลอด แต่อ้อมกอดจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ขวัญกระจาย
Y2K
ในวิกฤต คนที่ไม่จำนนต่อโชคชะตา
จะมองเห็นโอกาส
“ป๊ากำลังลงทุนธุรกิจใหม่แล้วนะ ขายดีแน่ ๆ เป็น ‘การ์ด Y2K’ จากจีน ใส่ในคอมพิวเตอร์จะแก้ให้ใช้งานต่อได้ ถึงจะเป็นปี ๒๐๐๐ แล้วก็เถอะ ถ้าป๊าขายได้เงินมาเยอะ ๆ จะพาพวกหนูไปทะเลกันดีไหม”
คือบทสนทนาวันที่พ่อกับลูกแฝดอยู่ห่างกันคนละจังหวัดผ่านเครื่องโทรศัพท์บ้านที่กดสปีกเกอร์โฟนเพื่อสนทนากันได้หลายคนโดยไม่ต้องยกหูโทรศัพท์
เวลานั้นทั่วโลกวิตกว่าจะเกิดปัญหา Y2K และเสพข้อมูลด้วยภาวะอันสับสน สะท้อนผ่านพฤติกรรมตื่นตูมของเด็กแฝดที่เชื่อเรื่องชะตาโลก ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ จากคำทำนายของนอสตราดามุสที่เขียนในลักษณะโคลงกวี แม้ตีความไม่เข้าใจก็ยังวิ่งไปร้านค้าเพื่อกักตุนของกินของใช้สารพัด
“ถ้าโลกแตกขึ้นมาจริง ๆ ยูอยากทำอะไร”
“เราแค่อยากให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ขนาดแค่กินข้าวยังไม่ค่อยกินพร้อมกันสี่คนเลย”
บทสนทนาของเด็กหนุ่มสาว สะท้อนใจผู้ที่กำลังประสบชะตากรรมบีบหัวใจบางอย่างแต่ไม่อาจเลือกทางเดิน ทว่านาทีที่ไม่อาจเลี่ยง สิ่งที่เข้มแข็ง กล้าหาญ และเข้าใจโลกที่สุดกลับเป็นหัวใจเด็ก
วันที่ครอบครัวได้กินข้าวพร้อมหน้า คือวันที่พ่อแม่ตัดสินใจบอกลูกถึงสถานภาพใหม่ทางครอบครัว พ่อยื่นโทรศัพท์มือถือ Nokia 3210 ที่เพิ่งออก ค.ศ. ๑๙๙๙ หน้าจอยังเป็นขาวดำแต่คุณสมบัติล้ำเพราะไม่ต้องมีเสาอากาศนอกตัวเครื่องและมาพร้อมเกมงูสุดฮิต เป็นรุ่นที่ขายดีในประวัติศาสตร์
“มีการ์ด Y2K ด้วยนะ ยังไงปี ๒๐๐๐ ก็ใช้ได้แน่นอน จะได้เอาไว้โทร. หาป๊าบ้างเวลาอยู่กับแม่”
“ถ้าคืนนี้โลกไม่แตก ป๊าซื้ออีกเครื่องเลยนะ พวกหนูตัดสินใจแล้ว มีจะไปอยู่กับแม่ หนูจะอยู่กับป๊า”
แล้วเมื่อฝุ่นที่เปื้อนชีวิตเริ่มจางทางออกก็ปรากฏ คืนวันสิ้นปี ๒๕๔๒ เด็กแฝดพากันไปนั่งบนกำแพงริมสนามหญ้าท้ายซอยบ้านที่ชอบชวนกันไปพักใจเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน แต่คืนนี้เพื่อรอดูพลุเคานต์ดาวน์
เอาเข้าจริงที่ฝูงชนทั่วโลกมโนภาพล้วนผ่านพ้นเที่ยงคืนด้วยดี มีบางประเทศเท่านั้นที่เกิดเทคโนโลยีติดขัดช่วงเวลาสั้นๆ วิกิพีเดียบันทึก “ปัญหาปี ๒๐๐๐” น่าสนใจหลายอย่างบริษัทเอ็นทีที โมบาย คอมมูนิเคชัน เน็ตเวิร์ก ผู้ให้บริการ
โทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นพบว่ามือถือบางรุ่นลบข้อความใหม่ที่ได้รับแทนที่จะเป็นข้อความเก่าเนื่องจากหน่วยความจำเต็ม (โอย...เอ็นดูคนรักส่ง SMS อวยพรปีใหม่จีบกันนะ) ยังมีเรื่องของทารกคนแรกในเดนมาร์กที่เกิด ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ถูกบันทึกว่ามีอายุ ๑๐๐ ปี ! เช่นเดียวกับร้านวิดีโอในรัฐนิวยอร์กคิดค่าปรับ ๙๑,๒๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ระบุว่าเช่าเทปค้างชำระ ๑๐๐ ปี !
สิ่งที่เรียนรู้จาก เธอกับฉันกับฉัน คงไม่ใช่แค่สังคมวัยเด็กในแบบตน แต่หมายรวมถึงข้อคิดจากทัศนคติที่ดีในการรับมือภาวะอันเลวร้าย ต่อให้เวลาขยันเดินอยู่ทุกวินาทีโดยไม่สนว่าโลกจะเกิดอะไรขึ้น
๕...๔...๓...๒...๑...แฮปปี้นิวเยียร์ !