Image

“พฤษภาเลือด”
และ “ต้มยำกุ้ง”

90s is back!

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

ยุค 90s ไทยอยู่ในช่วง “ประชาธิปไตยเต็มใบ” เป็นครั้งแรกหลังเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๑/ค.ศ. ๑๙๘๘ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายก รัฐมนตรีคนที่ ๑๗ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้เก้าอี้ ส.ส. ในสภาจากการเลือกตั้งมากที่สุด ความพิเศษคือ เป็นครั้งแรกที่ไทยมีรัฐบาลพลเรือน นายกรัฐมนตรีมาจากนักการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เนื่องจากพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็น “นายกฯ คนนอก” มา ๘ ปี ในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ประกาศวางมือที่น่าสนใจคือ พลเอกชาติชาย อดีตผู้ร่วมทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบาลสายพลเรือนชุดสุดท้ายของคณะราษฎรในปี ๒๔๙๐/ค.ศ. ๑๙๔๗ กลับกลายมาเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ผ่อนคลายจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้งภายในจนแนวร่วมจำนวนมาก “ป่าแตก” คืนเมืองเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” (ตามนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓)

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลพลเอกชาติชายมีชื่อเสียงจากนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” พลิกท่าทีเย็นชาของไทยต่อเพื่อนบ้านที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นการค้าขายอย่างเป็นมิตรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

การเมืองระดับท้องถิ่นก็เช่นกัน เขตปกครองพิเศษอย่างกรุงเทพมหานครก็คึกคักอย่างยิ่ง เนื่องจากกระแส “จำลองฟีเวอร์” ของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี ๒๕๒๘ โดยในการเลือกตั้ง ปี ๒๕๓๓ พลตรีจำลองยังสร้างสถิติกวาดถึง ๗๐๓,๖๗๑ คะแนน หนึ่งในฐานเสียงสำคัญคือกลุ่มเยาวชนที่ทีมงานหาเสียงบุกเข้าไปถึงโรงเรียนประถมศึกษา ขอให้น้อง ๆ หนู ๆ บอกผู้ปกครองให้เลือก “ลุงจำลอง เบอร์ ๕” เด็กยุคนั้นหลายคนยังคงจำได้ติดตาถึงป้ายหาเสียงลุงจำลองที่เป็นเอกลักษณ์เพราะทำจาก “เข่ง” และวัสดุรีไซเคิล

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมไทยยัง “เริ่มต้น” ในยุคนี้จากการฆ่าตัวตายของ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓/ค.ศ. ๑๙๙๐ โดยนิตยสาร สารคดี นำเสนอเรื่องของเขาในเดือนถัดมา  งานเขียนสารคดีของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้รับการอ้างอิงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของคุณสืบนับแต่นั้น ถึงแม้ว่าจะมีคำถามถึงสาเหตุการเสียชีวิตในหมู่นักประวัติศาสตร์ต่อมาวันชัยเขียนถึงเรื่องนี้อีกในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕ (เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ว่า “แน่นอนว่าไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่การอนุมานจากคนรุ่นหลัง” แต่เขายืนยันจากการรู้จักคุณสืบว่า “เป็นคนเครียดมาก” และไม่น่ามีสาเหตุอื่น โดย “ใครจะเห็นต่างก็สุดแล้วแต่”

Image

ยุคนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตรวดเร็วจนคาดกันว่าไทยจะเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวที่ ๕” ของเอเชีย ต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน  อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงเกือบร้อยละ ๑๐ ต่อปี มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น “ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก” (Eastern Seaboard) สร้างทางยกระดับ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ ฯลฯ ที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

แต่ทั้งหมดก็ใช่ว่าจะราบรื่น ด้วยรัฐบาลพลเรือนขัดแย้งกับกองทัพอย่างชัดเจน  รูปธรรมคือการยึดรถถ่ายทอดสดของ  อสมท ด้วยข้อหารบกวนสัญญาณสื่อสารของกองบัญชาการทหารสูงสุดในปี ๒๕๓๓ จนเกิดปัญหาระหว่างร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดูแล อสมท) กับพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ยังไม่นับข่าวคราวเรื่องการคอร์รัปชันที่ออกมาอย่างไม่ขาดสาย

การรัฐประหารเกิดขึ้นเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔/ค.ศ. ๑๙๙๑ มีการจี้จับนายกฯ บนเครื่องบินกองทัพอากาศที่กำลังจะไปเชียงใหม่ เพื่อนำพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. และรองนายกฯ ไปถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง

ผู้ทำรัฐประหารคือ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ที่ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๒๑ สิ้นสุด ยุบเลิก ส.ส. ส.ว. ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองอาณาจักรชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๓๔” เป็นกฎหมายสูงสุด จากนั้นพลเอก สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. เสนอนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ รักษาการ

ต่อมามีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ พรรคสามัคคีธรรมซึ่งทหารมีส่วนก่อตั้งได้เก้าอี้ ส.ส. มากที่สุด ทว่าหัวหน้าพรรคคือนายณรงค์ วงศ์วรรณ ติดแบล็กลิสต์สหรัฐอเมริกาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น (สามัคคีธรรม กิจสังคม ประชากรไทย ราษฎร) จึงสนับสนุน “นายกฯ คนนอก” เชิญพลเอก สุจินดา คราประยูร รับตำแหน่ง

พลเอกสุจินดาประกาศว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะเคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ

Image

การต่อต้านพลเอกสุจินดาเริ่มตั้งแต่การประท้วงหน้ารัฐสภาในวันที่ ๑๖ เมษายน มีการอดข้าวประท้วงของเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร หลังจากนั้นก็มีคนเข้าร่วมการชุมนุมนับแสนในการจัดชุมนุมหลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง ใช้เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ส่งข่าวเพื่อเล็ดลอดการปิดกั้นของรัฐในสื่อกระแสหลักที่ไม่นำเสนอข่าว จนมีคำเรียกม็อบยุคนี้ว่า “ม็อบมือถือ” (โทรศัพท์มือถือเพิ่งเริ่มเข้ามาในเมืองไทย)

การชุมนุมมาถึงจุดสูงสุดในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม มีการเคลื่อนขบวนคนนับแสนจากสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนินกลาง ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับกำลังตำรวจและทหารที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตรึงกันอยู่จนถึงช่วงกลางคืน

เสียงปืนชุดแรกดังขึ้นในเช้าของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม หลังจากนั้นการปะทะระหว่างประชาชนกับทหารก็มีศูนย์กลางอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง มีการเผาทำลายกรมประชาสัมพันธ์ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ยึดสถานีดับเพลิงภูเขาทอง ต่อมามีการจับกุมพลตรีจำลอง แต่การปะทะกันก็ยังคงดำเนินต่อไป

กลุ่มมอเตอร์ไซค์วิ่งทำลายป้อมตำรวจทั่วเมือง ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นที่มั่น ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้พลตรีจำลองและพลเอกสุจินดาเข้าเฝ้าฯ ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม เวลา ๒๑.๐๐ น.

การออกอากาศเหตุการณ์นี้ในเวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นหนึ่งในภาพจำของเหตุการณ์พฤษภาเลือดในฐานะ “ทางลง” ของทั้งสองฝ่าย

๒๑ พฤษภาคม เหตุการณ์เริ่มสงบ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต ๔๔ คน บาดเจ็บ ๑,๗๘๒ คนสูญหาย ๔๘ คน แต่ฝ่ายอื่นประเมินว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านั้นหลายเท่า

ภายหลัง พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร จปร. ๗ ของพลตรีจำลอง ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ครบรอบ ๑๑ ปี พฤษภาทมิฬ” ทางสถานีโทรทัศน์ ITV (ปี ๒๕๔๖/ ค.ศ. ๒๐๐๓) ว่าขณะที่ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับตำรวจและทหารที่สะพานผ่านฟ้าฯ ตนอยู่เบื้องหลังการเตรียมอาวุธ (ระเบิดโมโลทอฟ หน้าไม้ ฯลฯ) เพื่อตีตำรวจที่ทำร้ายนักศึกษา การตอบโต้ด้วยการ “ตีตำรวจ” นำไปสู่การเผา สน. นางเลิ้ง ทำให้รัฐบาลใช้กำลัง

พลเอกพัลลภเปิดเผยว่า “เราตั้งไว้สองอย่าง หนึ่ง วันไหนที่รัฐบาลใช้อาวุธปราบประชาชน เราชนะ  สอง วันไหนจับจำลองเราชนะ  เราให้เขา (รัฐบาล) ทำสองอย่าง เราชนะ...” โดยเขายังชี้ว่าหากการเข้าเฝ้าฯ ยังไม่ทำให้การปราบจบลง ยังเตรียมการบางอย่างไว้ที่ ม. รามฯ ซึ่งการตอบโต้นั้นจะกลายเป็น “ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง”

Image

ต่อมาพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม

อย่างไรก็ตามพลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ผู้ที่น่าจะขึ้นเป็นนายกฯ ระหว่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดเลือกตั้งใหม่กลับไม่ได้ดำรงตำแหน่งตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ เพราะนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม (พรรคที่ รสช. มีส่วนตั้ง) เสนอ “นายกฯ คนนอก” อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาบริหารอีกครั้งโดยไร้เสียงต่อต้าน

ผลจากเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” คือ มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. หลังจากนั้นระบบรัฐสภาของไทยทำงานได้อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๑๔ ปี (ปี ๒๕๓๕-๒๕๔๙)

รูปธรรมหนึ่งคือ การร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มากับกระแส “ธงเขียว” อันเกิดจากการหาเสียงของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๓๘/ค.ศ. ๑๙๙๕ ว่าจะ “ปฏิรูปการเมือง” ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ ภายหลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าของนายชวน หลีกภัย (ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๘/ค.ศ. ๑๙๙๒-๑๙๙๕) ยังไม่มีความคืบหน้าและล้มไปด้วยกรณีนโยบายปฏิรูปที่ดิน “ส.ป.ก.๔-๐๑” ที่มีปัญหาคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางจนถูกอภิปรายในสภา

รัฐบาลบรรหาร (ปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙/ค.ศ. ๑๙๙๕-๑๙๙๖) ทำตามคำพูดในปี ๒๕๓๙ การแก้ไขมาตราดังกล่าวนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยึดโยงกับประชาชนในวงกว้าง จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการรับรองจากรัฐสภา ประกาศใช้ช่วงปลายปี ๒๕๔๐/ค.ศ. ๑๙๙๗ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๖ ของไทย ถือว่าเป็น “ฉบับประชาชน” และเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง ด้วยประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม

ปี ๒๕๔๐/ค.ศ. ๑๙๙๗ ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากฟองสบู่เศรษฐกิจไทยแตกจากการก่อหนี้ของภาคเอกชนและการจัดการที่ผิดพลาดของภาครัฐจนเกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ค่าเงินบาทตกต่ำลงมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ความพยายามป้องกันค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เกิดผล ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ

Image

ในที่สุดรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ภาระหนี้พุ่งสูง จนต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มากู้สถานการณ์ และรัดเข็มขัดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขของ IMF ภาวะนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง

สังคมไทยได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ นักธุรกิจยิงตัวตายในห้องซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักธุรกิจใหญ่ยืนขายแซนด์วิชตามเชิงสะพานลอยเนื่องจากธุรกิจล้มละลายในชั่วข้ามคืน คนจำนวนมากกลับสู่ชนบทเพื่อทำการเกษตรเพราะตกงานจากในเมือง ฯลฯ

รัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจหลังจากพลเอกชวลิตลาออกคือ “รัฐบาลชวน ๒” (ผ่านการโหวตในสภา) ซึ่งมีขุนพลเศรษฐกิจคือนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง การบริหารของรัฐบาลชวนถูกวิจารณ์ว่าทำตามใบสั่ง IMF และเป็นรัฐบาลที่ทำงานเชื่องช้า นายกฯ คล้ายกับ “ปลัดประเทศ” มากกว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาล ด้วยมีประโยคคุ้นปากว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน”

อย่างไรก็ตามรัฐบาลชวน ๒ มีวาระจากปี ๒๕๔๐-๒๕๔๔/
ค.ศ. ๑๙๙๗-๒๐๐๑ ยังคงมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเก่า (รัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๔/ค.ศ. ๑๙๙๑) ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐/ค.ศ. ๑๙๙๗ ก็ยังไม่เกิดการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จนถึงปี ๒๕๔๔

การเลือกตั้งในปี ๒๕๔๔ ให้กำเนิดรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ระบบรัฐสภาไทยจากการนำของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) และพรรคไทยรักไทย

การดำเนินการทางการเมืองแบบใหม่ของทักษิณส่งผลให้พรรคการเมืองไทยเข้าสู่การแข่งขันด้านนโยบายมากกว่าที่เป็นมาในอดีต ในทางกลับกันการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองที่โน้มเอียงไปทางเสรีนิยมและอนุรักษนิยมภายใต้สภาวะดังกล่าวก็เริ่มปะทะกันรุนแรงมากขึ้น

นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองซึ่งยังคงลากยาวมาจนถึงปีปัจจุบัน  

Image

ขอขอบคุณ
หนังสือพิมพ์เก่า จากหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อมูลประกอบการเขียน
“พฤษภาวิปโยค ชูธงประชาธรรม ร่ำหาประชาธิปไตย”. นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๘๘ ปีที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๕.

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “ชีวิตและความตายของ สืบ นาคะเสถียร”. นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๖๘ ปีที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๓. 

อาจารย์เจษฎ์ ทีวี. เบื้องหลังพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=2DyO5xKfcPs