มหัศจรรย์จุลินทรีย์
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
เหล่านักชีวเคมีล้วนพูดตรงกันว่าไมโครโบโอมหรือชุมชนจุลินทรีย์ดีในระบบย่อยอาหารของมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์ เพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนหรือกำหนดทิศทางชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจของคนคนนั้น
เฮนนา-มาเรีย อูสิตูปา นักวิจัยด้านไมโครโบโอมบอกว่าจุลินทรีย์ดีในลำไส้ที่มีตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพระยะยาวของแต่ละบุคคล เช่น จุลินทรีย์ที่เด็กได้รับผ่านการคลอดแบบธรรมชาติจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในตอนโต ซึ่งเด็กผ่าคลอดจะไม่ได้รับจุลินทรีย์ชนิดนี้จากมารดา จึงมักมีปัญหาสุขภาพในภายหลัง เช่น เป็นภูมิแพ้ ส่วนเด็กที่กินนมแม่จะได้รับจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ท้องไม่ผูก ไม่เป็นภูมิแพ้ ขณะเด็กที่กินนมวัวมีปัญหาเรื่องลำไส้ง่ายกว่า
นักจุลชีววิทยาจึงสามารถทำนายอนาคตความเจ็บป่วยผ่านการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งแม่นยำกว่าการดูดวงด้วยศาสตร์ต่าง ๆ ดังเช่นงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ขณะอายุน้อยกว่า ๔๕ ปี มักมีจุลินทรีย์ร้ายบางชนิด ซึ่งหากพบที่ใดก็ทำให้เกิดมะเร็งที่นั่นได้ เช่น มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งเต้านม ปัจจุบันจึงมีศาสตร์ที่ศึกษาว่าควรเติมจุลินทรีย์ชนิดใดเข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยแก้ปัญหาสุขภาพเฉพาะคน
ด้าน เอริกา แองเจิล นักชีวเคมีที่อุทิศชีวิตเพื่อศึกษาจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของมนุษย์ได้ทำงานกับนักกีฬาอาชีพระดับโลก โดยใช้จุลินทรีย์ดีพัฒนาสุขภาพลำไส้ เพิ่มศักยภาพร่างกาย เธอบอกว่าอวัยวะสำคัญที่สุดคือระบบย่อยอาหาร รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในนั้น ทั้งแบคทีเรีย รา ไวรัส และเซลล์ต่าง ๆ งานวิจัยพบว่าคนที่อายุยืนมักมีสิ่งมีชีวิตในลำไส้ที่หลากหลายกว่าคนอายุสั้น
ถ้าระบบย่อยอาหารมีสุขภาพดีหมายถึงมีจุลินทรีย์ดีและหลากหลาย เราจะแข็งแรง มีพละกำลัง สมองโปร่งโล่ง มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี นอกจากนี้จุลินทรีย์ดีในลำไส้ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะการทำงานระหว่างลำไส้ สมอง และจุลินทรีย์ในลำไส้มีความเชื่อมโยงกัน เช่น ความเครียดสามารถฆ่าจุลินทรีย์ดีได้ และหากขาดจุลินทรีย์ดี คนคนนั้น
จะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ตั้งแต่โรคอ้วน เบาหวาน จนถึงอัลไซเมอร์ หรือโรคทางจิตใจ เช่นซึมเศร้า
ในวงการอาหารมีคำกล่าวว่า “You are what you eat.” เรากินอะไร เราก็เป็นอย่างนั้น ส่วนในวงการจุลินทรีย์มีคำกล่าวว่า “You are your microbes.” จุลินทรีย์ในร่างกายเราเป็นอย่างไร ร่างกายและจิตใจเราก็เป็นอย่างนั้น และงานวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้เพียงเล็กน้อยจากอาหารหรือยาปฏิชีวนะจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ
เราสามารถสร้างชุมชนจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีและหลากหลาย ทั้งนี้เพราะอาหารแต่ละชนิดต้องการจุลินทรีย์ย่อยอาหารต่างกัน เช่น หากกินแอปเปิลซึ่งมีน้ำตาลหลายโมเลกุล จะต้องใช้จุลินทรีย์ย่อยน้ำตาลหลายตัว ขณะเดียวกันจุลินทรีย์แต่ละชนิดก็ต้องการอาหารต่างกัน ดังนั้นคนที่กินอาหารซ้ำ ๆ ไม่กี่ชนิดจึงขาดแคลนจุลินทรีย์ดี และจุลินทรีย์ดีที่มีอยู่ยังขาดแคลนอาหารไปด้วย
ดังนั้นการสร้างสุขภาพดีแบบง่ายๆ จึงเริ่มต้นได้ด้วยการใส่ใจดูแลจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ดี
แล้วจุลินทรีย์ดีนั้นก็จะย้อนกลับมาดูแลร่างกายเรา
นายแพทย์อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ จากเพจหมอเฉพาะทางบาทเดียว กล่าวว่า ในทางการแพทย์แบ่งจุลินทรีย์ดีหรือโพรไบโอติกที่ปลอดภัยต่อร่างกายเป็นสามกลุ่มคือ แล็กโทบาซิลลัส ไบฟิโดแบคทีเรียม และแซ็กคาโรมาซิส (ยีสต์) หากร่างกายมีจุลินทรีย์สามชนิดนี้ก็เพียงพอจะต่อสู้เชื้อโรคได้ (จุลินทรีย์ร้าย)
โพรไบโอติกแต่ละชนิดให้ผลดีต่อสุขภาพต่างกัน เช่น จุลินทรีย์ไบฟิโดแบคทีเรียม ช่วยการทำงานของลำไส้ ป้องกันมะเร็ง เปลี่ยนน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ให้เป็นน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารของโพรไบโอติก กลายเป็นพรีไอโบติก (สารอาหาร
ของโพรไบโอติก) เรียกซิมไบโอติก (symbiotic) คือเป็นทั้งผู้สร้างอาหารให้จุลินทรีย์อื่นและตัวเองก็เป็นโพรไบโอติกด้วย
แซ็กคาโรมาซิสซึ่งสกัดจากลิ้นจี่และเปลือกมังคุด ช่วยรักษาอาการท้องเสีย โรคท้องเสียเรื้อรัง ป้องกันมะเร็งลำไส้ และการติดเชื้อหรือรักษาการติดเชื้อในช่องคลอดได้ ส่วนจุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัสชนิด L. acidophilus แก้เรื่องผื่นผิวหนัง โรคปวดท้องหาสาเหตุไม่ได้ ท้องผูกสลับท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อในกระเพาะอาหาร การอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ จุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัสชนิด L. casei ที่มีอยู่ในยาคูลท์ช่วยการทำงานของสมอง เป็นต้น
ปัจจุบันมีโพรไบโอติกสำเร็จรูปวางจำหน่ายมากมาย ทั้งแบบเม็ด น้ำ และผง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนซื้อคือเมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหารแล้ว โพรไบโอติกสำเร็จรูปจะฝ่าด่านสภาพแวดล้อมในลำไส้ที่มีทั้งกรดในกระเพาะ น้ำดีในลำไส้เล็ก แล้วมีชีวิตรอดไปสู่ปลายทางที่ลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์รวมชุมชนจุลินทรีย์ได้หรือไม่
ดังนั้นหากจะกินโพรไบโอติกสำเร็จรูป แคปซูลที่บรรจุต้องทนกรดในกระเพาะอย่างน้อย ๔๐ นาที และใช้เวลาอีก ๓ ชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังลำไส้เล็กส่วนปลายที่ติดกับลำไส้ใหญ่
กระบวนการผลิตโพรไบโอติกสำเร็จรูปที่ถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบันคือนำมาอัดเป็นเม็ดเล็ก ๆ แล้วเคลือบด้วยสารเคลือบขนาดเล็ก ๑๐๐ ไมครอน เรียกว่า microencapsulation อาจบรรจุในแคปซูลหรือในซองก็ได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ยังไม่แพร่หลายนัก
การตรวจสอบแบบง่าย ๆ ว่าโพรไบโอติกที่เราซื้อผ่านกระบวนการดังกล่าวหรือไม่ คือเทผงหรือเม็ดโพรไบโอติกในซองหรือแคปซูลใส่น้ำ หากละลายภายใน ๓๐ นาที ถือว่าไม่ใช่โพรไบโอติกที่ผ่านกระบวนการนี้ และจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดจนไปถึงลำไส้ใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญจึงมักแนะนำให้กินอาหารที่มีโพรไบโอติกธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในอาหารประจำวัน ในลักษณะกินอาหารเป็นยา โดยไม่ต้องกังวลว่าอาหารที่มีโพรไบโอติกนั้นจะเดินทางไปถึงลำไส้ใหญ่ได้มากน้อยเพียงใด เพราะโดยตัวอาหารก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่แล้ว
โพรไบโอติกธรรมชาติมักมีในอาหารหมักดอง ผัก ผลไม้ และถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเน่าของภาคเหนือ กิมจิของเกาหลี นัตโตะของญี่ปุ่น โยเกิร์ต คอมบูชา (ชาหมัก) นอกจากนี้อาหารประเภทผักดองมักมีสาร ILA (IPA) ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายได้ ส่วนอาหารพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของโพรไบโอติกคือ น้ำตาล กล้วย ถั่ว หัวหอม อาร์ติโชก หน่อไม้ฝรั่ง
สำหรับอาหารที่เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้ ประกอบด้วยของทอดและยาปฏิชีวนะที่เรากินในวาระต่าง ๆ ซึ่งสามารถฆ่าจุลินทรีย์ทั้งดีและร้าย บางชนิดเมื่อถูกฆ่าแล้วอาจจะไม่กลับมาอีกเลย งานวิจัยล่าสุดจากการเก็บตัวอย่างอุจจาระของคนทั่วโลกพบว่า ยาปฏิชีวนะเป็นเหตุให้จุลินทรีย์ดีในลำไส้ของมนุษย์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่