Image

Shwe Zee Kwet
“ชเวซีเกว็ต”
นกฮูกและความทรงจำ

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รู้ตัวอีกทีของที่ระลึกเกี่ยวกับพม่าของผมก็มีเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือ “นกฮูกกระดาษ” (Shwe Zee Kwet) คู่หนึ่งที่วางเอาไว้ข้างหน้าต่างจนลืมไปแล้วว่ามันอยู่ตรงนั้น

ถึงการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ ๒๗ (ค.ศ.๒๐๑๓) ซีเกมส์ครั้งแรกที่พม่าได้เป็นเจ้าภาพ และน่าจะเป็นครั้งเดียวไปอีกนาน เมื่อดูสถานการณ์พม่าหลังรัฐประหาร (๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๑)

ในครั้งนั้นมาสคอตสำคัญคือ “นกฮูกคู่” ที่ถูกทำเป็นสินค้าหลากชนิดตั้งแต่พวงกุญแจจนถึงตุ๊กตา (ผมเคยเขียนถึงใน สารคดี ฉบับที่ ๔๔๕, เมษายน ๒๕๖๕)

แต่นกฮูกกระดาษสีทองคู่นี้ ผมได้มาจากวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในรัฐฉาน

ด้วยเวลาที่นาน ผมลืมไปเสียแล้วว่าวัดนั้นชื่ออะไร จำได้แต่เพียงวัดตั้งอยู่บนภูเขา มีสถาปัตยกรรมไม้งดงามแบบพม่า

การเดินทางครั้งนั้นแทบไม่ได้เลาะเข้าหาเมืองใหญ่ ดังนั้นของที่ระลึกที่ดีที่สุดที่จะติดไม้ติดมือกลับบ้านได้จึงต้องหาเอาจากวัด

แต่ร้านค้าของวัดส่วนมากก็จำหน่ายดอกไม้บูชาพระ ธูปเทียน ของบูชานัต (วิญญาณ/ผีท้องถิ่นของพม่า ตามความเชื่อมี ๓๗ ตน) จนสายตาผมไปสะดุดเข้ากับ “นกฮูกกระดาษสีทอง” คู่หนึ่ง ราคา ๑,๐๐๐ จัต (ประมาณ ๓๐ บาท)

เบื้องแรก ผมสงสัยว่ามันเป็นของที่ต้องอยู่ในพื้นที่เฉพาะหรือไม่ ด้วยความที่ภาพยนตร์สยองขวัญไทยมักบอกว่าของทำนองนี้ไม่ควรเอากลับมาไว้ในบ้าน แม่ค้าพม่าพลันหัวเราะเมื่อรู้ความคิดเธอบอกผ่านคนนำทางว่า นกฮูกกระดาษคู่นี้ คนพม่านิยมวางไว้ในบ้าน ห้อยไว้ที่หน้าต่าง หรือแขวนไว้ในรถยนต์ก็ได้ เพราะจะเรียกเงินทอง และรับประกันว่าไม่มีอะไรน่ากลัวแบบตุ๊กตาไสยศาสตร์โยเดีย (ไทย)

ที่สำคัญคือต้องเอาไปเป็นคู่เท่านั้น ถ้าเอาไปตัวเดียวจะกลายเป็นโชคร้าย

คนพม่าเชื่อว่านกฮูกเป็นสัตว์ที่สงบ ซื่อสัตย์ และเป็นมิตร นกฮูกเป็นส่วนหนึ่งของนิทานที่คนพม่าเล่าให้ลูกหลานฟังในวัยเด็ก ถือเป็นสัตว์มงคล ร้านค้าในพม่ายังนิยมวางนกฮูกเอาไว้เรียกเงินเรียกทองเข้าร้าน

ไม่ต่างอะไรกับแม่ค้าไทยมี “นางกวัก” หรือ “แมวกวัก” (จากญี่ปุ่น) วางในตู้กระจก

Image

นกฮูกกระดาษที่วางขายตามวัด ส่วนมากทำจากแม่พิมพ์ไม้ ช่างฝีมือจะแปะกระดาษลงกับแม่แบบ พอได้ที่ก็จะถอดออกมา จากนั้นนำมาทาสี ส่วนมากมักทาสีทองและเขียนหน้าตาเป็นนกตัวผู้และตัวเมีย (ตัวเมียมักวาดรูปลูกซ้อนลงไปด้านหน้า) จากนั้นก็ตากให้แห้ง ใช้เวลาราว ๒ วัน

ขนาดมีตั้งแต่เล็กเท่าพวงกุญแจไปจนใหญ่เท่านกฮูกตัวจริง

ลวดลายของนกฮูกกระดาษมีหลากหลายมาก แล้วแต่จินตนาการของช่าง บางตัวช่างจัดการลงอักขระเป็นบทสวดมงคลปกป้องคุ้มภัยเข้าไปด้วย แต่ที่ได้รับความนิยมคือนกฮูกสีทอง ด้วยถือว่านำโชคและมีความโดดเด่นสวยงาม

ผมมาทราบภายหลังว่างานฝีมือกระดาษ (paper mache) ชนิดนี้เป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพหนึ่งของคนพม่า ช่างฝีมือกระดาษเหล่านี้ต้องออกแบบแม่พิมพ์ไม้เอง และหลายคนก็เริ่มจากการทำของเล่นให้บุตร

นอกจากนกฮูก พวกเขายังใช้กระดาษทำเป็นสัตว์และของชนิดอื่น เช่น เสือ ม้า สิงโต ยีราฟ ช้าง ตุ๊กตาล้มลุก ฯลฯ ของชุดนี้เป็นของเล่นของเยาวชนพม่ามาเนิ่นนาน จนมาถึงยุคที่เปิดประเทศ (ก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด) จึงเริ่มเสื่อมความนิยมในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เล่นของเล่นจากตะวันตกมากกว่า

คนที่ซื้อของเหล่านี้กลับเป็นนักเดินทางต่างชาติ ผู้สนใจงานฝีมือ  กำลังซื้อ “ของเล่น” ส่วนนี้เองที่ทำให้ช่างฝีมือหลายคนยังเลี้ยงตัวอยู่ได้ แม้ว่าจำนวนมากจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น

ส่วนนกฮูกกระดาษ สถานการณ์อาจจะดีกว่าเพื่อนในฐานะเครื่องรางนำโชคที่คนพม่ายังคงนิยม

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด พม่ากลับมาโดดเดี่ยวตัวเองอีกครั้ง แหล่งรายได้ของช่างฝีมือเหล่านี้ย่อมหายไปจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ

นกฮูกกระดาษอาจจะยังอยู่ แต่ของเล่นกระดาษประเภทอื่นในพม่า ไม่แน่เสียแล้วว่าเราจะได้เห็นในอนาคตอีกหรือไม่