Image

ระหว่างที่คิมพาเดินสำรวจถนนเจริญเมือง เธอแวะนั่งคุยกับแม่เฒ่าตรงโถงล่างของโรงแรมเทพวิมาน โรงแรมเก่าที่มีพื้นที่และแสงเงาสวยแบบคลาสสิก ที่นี่ปิดตัวลงในยุคโควิด-๑๙ คิมหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ใช้อาคารนี้จัดแสดงผลงานของศิลปินแพร่

Image

ฮ่อมแพร่กลับบ้าน
ฮ้อมงานของคนรุ่นใหม่

Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : ลดาวัลย์ ตาไชยยศ
ภาพ : ภาพิมล วีระเกียรติกิจ

ฮ่อมคัมโฮม (Hom Come Home) แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาตอกย้ำว่าบ้านเกิดของพวกเขามีของดี ผ่านโครงการ Made in Charoenmueang (เมด อิน เจริญเมือง) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  โจทย์ของโครงการนี้คือจับคู่ของดีเจ้าดังกับสตูดิโอของนักออกแบบรุ่นใหม่ทายาทคนแพร่แท้ ๆ รีแบรนด์สินค้าเลื่องชื่อย่านถนนเจริญเมืองให้น่าสนใจและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

“แพร่เป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีอะไร”
“แพร่เป็นเมืองทางผ่าน”

นี่มักเป็นคำพูดของหลายคนที่รู้จักเมืองแพร่ นอกเหนือจากเมืองแห่งพระธาตุช่อแฮ ผ้าฮ่อมคราม ไม้สัก หรือแพะเมืองผี ซึ่งเป็นภาพจำประตูสู่ล้านนาในยุคปัจจุบันว่าเป็นเมืองรองไร้ความโดดเด่น

แต่เมื่อเดินทางมาถึงตัวเมืองเก่าแพร่ ได้สัมผัสกับบรรยากาศแสนเงียบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน เสียงเครื่องยนต์ที่ไม่มีมากนัก เหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์ของเมืองสำหรับหลายคนได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ใช่ว่าความสงบและสภาพแวดล้อมที่ไม่เร่งรีบจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความทันสมัย

เมืองแพร่มีกลิ่นอายของความดั้งเดิมซึ่งเป็นเอกลักษณ์แฝงไว้ในทุกมิติของสังคม และมักมีเสน่ห์ให้น่าหลงใหลที่แม้แต่ความทันสมัยก็ไม่สามารถกลืนสิ่งเหล่านี้ได้หมด

ฮ่อมคัมโฮม (Hom Come Home) แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาตอกย้ำว่าบ้านเกิดของพวกเขามีของดี ผ่านโครงการ Made in Charoenmueang (เมด อิน เจริญเมือง) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA โจทย์ของโครงการนี้คือจับคู่ของดีเจ้าดังกับสตูดิโอของนักออกแบบรุ่นใหม่ทายาทคนแพร่แท้ ๆ รีแบรนด์สินค้าเลื่องชื่อย่านถนนเจริญเมืองให้น่าสนใจและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

แบรนด์ทั้งห้าคือ อ้วนลูกชิ้น (หมู), เปี๊ยกกาแฟโบราณ, กะหรี่ปั๊บเจ๊แอ้ว, แต๋วรวมมิตร และขนมเปี๊ยะเมืองแพร่พานิช

ความน่าสนใจของโครงการนี้คือการทำงานและสร้างพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ได้ชื่อว่าแตกต่างและสร้างสรรค์ร่วมกับคนรุ่นเก่าที่มีความดั้งเดิมเป็นเสน่ห์และจุดแข็ง เพื่อจุดประสงค์ในการประชาสัมพันธ์เมืองแพร่และอนุรักษ์ภูมิปัญญา หนึ่งในผลลัพธ์ของโครงการนี้อย่างขนมเปี๊ยะจากเมืองแพร่พานิชนั้น สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ในบริบทต่าง ๆ ของสังคมเมืองแพร่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://www.youtube.com/watch?v=Kp9wNTJ8iVU
create by : ชลธิศ แก้วเป็ง

ขนมเปี๊ยะลายเสือและรูปเท้าเสือของร้านเมืองแพร่พานิชเป็นตัวแทนความหวังและความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากให้ผู้คนได้รู้จักแพร่ด้วยภาพจำที่แตกต่างจากเดิม

หลิน-ขนมเปี๊ยะ
เมืองแพร่พานิช

ห่างจากประตูชัยไม่เกิน ๒๐๐ เมตร ตึกพาณิชย์หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองแพร่ห้องสุดท้ายขายเบเกอรีหลากชนิดเราได้พบและพูดคุยกับหญิงร่างเล็กหลังแผงขายขนม มีสะดึงสีแดงปักรูปเสือประดับเป็นฉากหลัง เธอคือหลิน-หทัยรัตน์ ลอปกุลเกียรติ อายุ ๓๗ ปี ทายาทรุ่นที่ ๓ ของร้านเมืองแพร่พานิช

“ป๊าเป็นคนทำขนมเปี๊ยะ ร้านนี้ก็ขายขนมมาตั้งแต่รุ่นอากงที่อพยพมาแพร่ เสื่อผืนหมอนใบไม่เกินคำนี้” หลินเริ่มเล่าเรื่องราวถึงพ่อ วันชัย ลอปกุลเกียรติ เจ้าของสูตรขนมเปี๊ยะ และการมาถึงเมืองแพร่ของอากง

การอพยพเข้ามาของชาวจีนในจังหวัดแพร่ ถึงแม้ไม่มีบันทึกไว้ชัดเจนว่าปีไหน แต่อาจดูได้จากศาลเจ้าปุ้งเถ่ากง หรือศาลเจ้าฮั่วเฮงหักเหา ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการตั้งรากฐานของคนเชื้อสายจีน ณ ย่านถนนเจริญเมืองแห่งนี้ได้ แน่นอนว่าระยะเวลาจนถึงปัจจุบันยาวนานไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยลื้อ ไทยพวน ไทยใหญ่ กลุ่มชาวมุสลิม รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ต่างมีบทบาทในการสร้างเมืองแพร่ตั้งแต่อดีต รากเหง้าของพวกเขาต่างก็แฝงอยู่ในทุกมิติของเมืองแพร่ ทั้งอาคารบ้านเรือน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงความหลากหลายของห้างร้านต่าง ๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่าเมืองแพร่มีพหุวัฒนธรรมจากการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนหลากเชื้อชาติอย่างลงตัว

ครอบครัวของหลินมีบรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ตึกที่เธออาศัยยังมีโครงสร้างตามลักษณะของสถาปัตยกรรมจีน แม้ภายในทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

หลินออกจากบ้านเกิดไปทำงานและเลือกที่จะกลับมาได้ไม่เกิน ๑๐ ปี เธอเคยมีอาชีพและกิจการรุ่งเรืองเมื่อคราวยังอยู่ที่เมืองหลวง แต่ถูกฉ้อโกงจากคนที่ไว้ใจและทำธุรกิจร่วมกันเสียงเล่ายังสั่นเครือเมื่อนึกย้อนเหตุการณ์ไปว่า ตอนนั้นเธอกลายเป็นหนี้หัวบานเพียงชั่วข้ามคืน

เมื่อต่อสู้กับปัญหาเพียงลำพังและแบกรับความล้มเหลวทั้งหมดไม่ไหว เธอยอมทิ้งทุกอย่างและตัดสินใจไปบวชยังวัดป่าแห่งหนึ่ง ใช้ทางธรรมเป็นที่พึ่งพาของจิตใจ ราว ๓ เดือนหลังจากนั้นเธอจึงกลับมา “บ้าน” เพื่อตั้งหลักชีวิตอีกครั้ง

“พอกลับมาปุ๊บ ไม่รู้จะทำอะไรเลยจริง ๆ ก่อนหน้านี้ทำเรื่องเสื้อผ้าแต่ก็พลาด ทำขนมไม่เก่ง ถึงแม้เห็นป๊าทำขนมมาตั้งแต่เรายังเล็ก”

เมืองแพร่พานิชเปิดกิจการมามากกว่า ๕๔ ปี ปัจจุบันพ่อของหลินยังรับหน้าที่ทำขนมเปี๊ยะใหญ่ซึ่งมีทั้งลวดลายดอกโบตั๋นแบบดั้งเดิมและลายเสือที่ออกแบบใหม่ ส่วนหลินทำขนมเปี๊ยะเล็กรูปเท้าเสือและเบเกอรีตามออร์เดอร์ส่งขายตามคาเฟ่ต่าง ๆ

Image

Image

หลินพูดพลางก้มหน้าเตรียมอุปกรณ์ทำขนมอย่างชำนาญสวนทางกับประโยคที่เพิ่งเอ่ยมา นั่นเพราะธรรมะที่เธอเพียรปฏิบัติส่งผลให้ใจเย็นและอดทนมากขึ้น หลังจากเธอเรียนทำขนมอีกครั้งและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เธอก็ทำเบเกอรีส่งให้คาเฟ่หลายแห่งในจังหวัด พลางสืบทอดสูตรขนมเปี๊ยะไปด้วย

โครงการเมด อิน เจริญเมืองทำให้คนที่มีความคิดแบบใหม่อย่างหลินกับขนมเปี๊ยะโบราณสูตรดั้งเดิมของป๊าผสมผสานและปรับรูปแบบใหม่ สะท้อนได้ทั้งความเป็นแพร่และตัวตนของคนต่างรุ่นได้อย่างลงตัว

หลินเล่าเรื่องราวไปเรื่อย ๆ จนมีบุคคลหนึ่งเดินเข้ามาในร้านตรงดิ่งมานั่งลงบนเก้าอี้ตัวถัดไปจากเราที่กำลังดูการทำขนมเปี๊ยะอยู่  หญิงร่างเล็กผมสั้นที่มีสไตล์เฉพาะตัวคนนี้มีชื่อว่าคิม-กรกนก พิทยะปรีชากุล ดีไซเนอร์รุ่นใหม่วัย ๒๓ ปี

ท่าทางที่เป็นกันเองทำให้เรารู้ได้ถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหลินและคิม วงสนทนามีรสชาติมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากที่เรารู้เรื่องการทำงานร่วมกันของทั้งคู่แล้ว คิมยังเสริมข้อมูลในช่วงเวลาดำเนินโครงการหลังจากนี้ได้อย่างดี และคิมเองก็รู้รายละเอียดเรื่องขนมเปี๊ยะไม่น้อย

“ขนมเปี๊ยะโบราณทรงกลมขนาดใหญ่หนึ่งลูก ถูกปรับให้เล็กลงเป็นรูปเท้าเสือได้สามถึงสี่ลูกเลยทีเดียว” หลินอธิบายพลางขึ้นรูปแป้งและใส่ไส้ขนมเปี๊ยะให้เราดูกันสด ๆ

ขนมเปี๊ยะแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กถูกบรรจุลงในกล่องสีขาวหน้ากล่องมีข้อความอธิบายลวดลายและความหมายแฝงตามตำราจีนไว้อย่างลึกซึ้ง

ดอกโบตั๋นเป็นลวดลายเดิมบนหน้าขนมเปี๊ยะโบราณหมายถึงความร่ำรวย ซื่อสัตย์ ความรัก ความเมตตา ส่วนลายที่ออกแบบใหม่คือดอกไม้ ๑๒ ดอก หมายถึงความเจริญตลอดทั้งปี เป็นกรอบล้อมรอบลายเสืออันหมายถึงอำนาจและบารมี

Image

Image

ขนมเปี๊ยะดั้งเดิมในรูปแบบใหม่ของร้านเมืองแพร่พานิชเป็นผลลัพธ์จากโครงการเมด อิน เจริญเมือง (Made in Charoenmueang) หนึ่งในความร่วมมือของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแพร่ตามคอนเซปต์ “ฮ่อมคัมโฮม กลั๊บบ้านกิ๋นของลำ”

“เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ เคยบอกป๊าแต่เขาไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าการเพิ่มกล่องจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ความเห็นไม่ตรงกันแบบนี้จึงไม่ได้ปรับอะไรเลย”

เมื่อหลินเข้าร่วมโครงการนี้ เหมือนเป็นการหาพื้นที่ตรงกลางระหว่างคนสองรุ่นได้ดีเลยทีเดียว เธอและนักออกแบบรุ่นใหม่วางแผนนำเสนอความเป็นไปได้ทั้งต้นทุนและราคาที่ป๊าของหลินยอมรับได้ เมื่อคนรุ่นใหม่พิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คนรุ่นก่อนหน้าจึงค่อย ๆ ยอมรับเมื่อเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว

หลินตั้งใจให้ขนมเปี๊ยะรูปแบบใหม่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองแพร่

“อยากนำเสนอเมืองแพร่ผ่านขนมนี้ เลยคิดกันว่าถ้าแพร่เป็นที่รู้จักในมุมที่ว่ามีพระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีเสือ เราก็ใช้เสือเนี่ยแหละมาปรับให้เข้ากับขนมเปี๊ยะ เลยกลายเป็นขนมรูปเท้าเสือ”

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองแพร่คือผ้าย้อมฮ่อมสีครามแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนแพร่ที่ใช้มรดกจากธรรมชาติอย่างต้นฮ่อมมาย้อมผ้าและผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มมาแต่อดีตมีศิลปินไม่น้อยที่นำวิถีแบบดั้งเดิมนี้มาสร้างอาชีพ หนึ่งในนั้นคือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้จับคู่ร่วมรีแบรนด์ขนมเปี๊ยะ

ขนมเปี๊ยะเมืองแพร่พานิชยุคใหม่จึงมีผ้าห่อกล่องสีครามย้อมจากฮ่อมธรรมชาติแท้ด้วย

หนึ่งและเต้าฮวย-
ฟักปลอดสาร

การทำขนมเปี๊ยะมีสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือไส้ขนม หลินเล่าว่าสูตรของป๊าคือถั่วและฟักเขียว พลางยัดไส้ฟักเนื้อละเอียดที่ผสมแป้งอัดลงแม่พิมพ์ไม้สัก ไส้ฟักยังแฝงไปด้วยเรื่องราวของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ปลูกฟักแบบปลอดสารพิษส่งให้หลิน

หลินเริ่มอุดหนุนฟักจากหนึ่ง-สุรีวัลย์ พริมไหว อายุ ๔๐ ปี เจ้าของสุดาฟาร์ม ซึ่งมีผู้ก่อตั้งร่วมกันคือเต้าฮวย-สุดาพร ร่องดุสิต อายุ ๔๐ ปี ตั้งแต่เธอเริ่มป่วยและตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ  หนึ่งและเต้าฮวยต่างเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำเกษตรปลอดสารพิษที่บ้านเกิด ณ อำเภอสอง

ก่อนหน้านี้ทั้งคู่มีอาชีพการงานที่มั่นคง หนึ่งเป็นอาจารย์ที่เชียงใหม่ ส่วนเต้าฮวยทำงานเกี่ยวกับโลจิสติกส์ เหตุผลที่หนึ่งกลับบ้านนั่นเพราะว่าพ่อป่วย แต่เมื่อเธอเริ่มต้นทำเกษตรปลอดสารพิษด้วยวิธีแบบเกษตรหมุนเวียนภายในพื้นที่ไร่ของครอบครัว ก็มีคำคัดค้านจากแม่

“แม่เห็นว่าเรามีอาชีพมั่นคงอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยที่เราจะกลับมาทำเกษตรซึ่งไม่เคยทำเลย แต่เราอยากอยู่ดูแลเขาจึงตั้งมั่นที่จะกลับมา”

Image

หนึ่ง-สุรีวัลย์ พริมไหว เจ้าของสุดาฟาร์มสวนผักปลอดสารในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เธอเคยทำงานในเมืองใหญ่ก่อนจะลาออกมาทำเกษตรปลอดสารแบบเต็มตัวบนที่ดินของครอบครัว โรงเรือนที่เธอใช้ปลูกพืชเมืองนอกนั้นได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Young Smart Farmer

หนึ่งเล่าถึงการเริ่มใหม่ในฐานะเกษตรกรตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเธอที่ไม่มีความรู้หรือพื้นฐานด้านนี้เลย แต่เพราะความเพียรพยายามทำให้ตลอด ๒ ปีแรกเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้และทดลองปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งกล้วยหอมที่ได้รับแจกจากภาครัฐและมะนาวเป็นพืชตั้งต้น

พื้นที่ใกล้แม่น้ำยมมีดินดี อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ช่วยให้การทำเกษตรของหนึ่งและเต้าฮวยพัฒนาและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น จนมีพื้นที่กว่า ๓๐ ไร่ กับพืชผักที่ปลูกเกือบ ๔๐ ชนิด

ทั้งคู่เริ่มกระจายรายได้สู่ชุมชนบ้านเกิดด้วยการจ้างงานชาวบ้านที่เคยมีอาชีพปลูกใบยาสูบ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๖๐ หนึ่งและเต้าฮวยยังช่วยรับซื้อผักปลอดสาร รวมถึงผักตามฤดูกาลอีกด้วย

ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ หนึ่งหวังว่าภาคการเกษตรในอนาคตจะเปิดกว้างและสนับสนุนให้คนมีสุขภาพที่ดีผ่านอาหารมากขึ้น เธอยังเห็นแนวทางอีกมากที่รอเกษตรกรรุ่นใหม่กลับมาพัฒนา ซึ่งเธอมั่นใจว่าความรู้ที่ติดตัวมากับคนที่เคยออกไปเรียนรู้นอกบ้านเกิด จะผลักดันการเกษตรให้ทันสมัย ปลอดภัย และยั่งยืนมากขึ้น

ผักจากสุดาฟาร์มยังส่งให้โรงพยาบาลแพร่ นั่นยิ่งการันตีได้ว่าปลอดภัยไร้สาร อีกทั้งหนึ่งยังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่เห็นถึงอันตรายของการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งผลพลอยได้จากผักปลอดสารคือพืชพันธุ์ที่รสชาติดีและลูกใหญ่ อย่างฟักเขียวที่ส่งให้ร้านของหลินทำเป็นไส้ขนมเปี๊ยะนั้นหวานกรอบกว่าใคร

โครงการเมด อิน เจริญเมืองจึงถือว่าประสบความสำเร็จในมิติด้านเกษตรกรรมด้วย เพราะยอดขายขนมเปี๊ยะที่เพิ่มมากขึ้นย่อมทำให้สุดาฟาร์มและคนในชุมชนมีรายได้จากการปลูกฟักด้วยเช่นกัน

Image

ส่วนหนึ่งของผลิตผลจากสุดาฟาร์มถูกนำไปเป็นวัตถุดิบทำอาหารในโรงพยาบาลแพร่ ตามนโยบายโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย รวมถึงนำไปขายราคาถูกในตลาดกรีนมาร์เกตหน้าโรงพยาบาลด้วย  ฟักเขียวของที่นี่ส่งให้ร้านเมืองแพร่พานิชที่มีขนมเปี๊ยะโบราณไส้ฟักเขียวเชื่อม

กุ๊กกิ๊ก-กมล อินดิโก้

เมื่อเก็บเกี่ยวความสำเร็จของโครงการเมด อิน เจริญเมืองผ่านขนมเปี๊ยะมาอิ่มเอม ไหนเลยที่จะไม่พูดถึงพาร์ตเนอร์ทางไอเดียอย่างกุ๊กกิ๊ก-กมลชนก แสนโสภา อายุ ๒๙ ปี ผู้ถือได้ว่าโด่งดังมากในฐานะศิลปินคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำงานคราฟต์ที่บ้านเกิด เธอมีแบรนด์เสื้อผ้าในชื่อ กมล อินดิโก้ (KAMON Indigo) เราขอถือโอกาสไปเยือนถึงสตูดิโอของกุ๊กกิ๊กพร้อมกับคิม ผู้เป็นสื่อกลางในการทำงานระหว่างหลินและกิ๊ก

พวกเรานั่งล้อมวงคุยกันเพลิน ๆ ในสตูดิโอเล็ก ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของกิ๊ก ภายในตกแต่งด้วยงานศิลปะมากมาย ทั้งเสื้อผ้าและของที่ระลึกต่าง ๆ  บรรยากาศเหมือนตะโกนบอกเราเป็นนัยว่าต้นกำเนิดงานศิลปะและสินค้าทุกชิ้นถูกสร้างสรรค์มาจากที่นี่เอง

“จุดร่วมในการทำงานคือความเป็นแม่และทำขนม เพราะตัวเราเองก็สนใจทำขนมให้ลูกสาวด้วย”

กิ๊กฝากลายเซ็นในฐานะศิลปินบนผ้าห่อกล่องขนมเปี๊ยะ เธอใช้ผ้าย้อมสีครามจากฮ่อมเป็นตัวแทนของแพร่ ออกแบบและร่วมพัฒนาแม่พิมพ์ไม้สักรูปเท้าเสือ ภาพเสือที่พิมพ์บนขนมเปี๊ยะ รวมถึงงานปักบนสะดึงที่กิ๊กมอบให้หลินไว้เป็นที่ระลึกในโครงการนี้

กิ๊กเติบโตมาในครอบครัวที่รับราชการทั้งพ่อและแม่ ความลำบากจากอาชีพเกษตรกรในรุ่นปู่ย่าทำให้อาชีพข้าราชการที่มั่นคงเป็นเส้นทางที่บุพการีเสนอ แต่ไม่ใช่สิ่งที่กิ๊กสนใจ เธอจึงเลือกทำในสิ่งที่ชอบและเล่าเรื่องเมืองแพร่บ้านเกิดผ่านสิ่งที่ตนเองถนัดแทน

“ช่วงแรกเราก้มหน้าทำสิ่งที่ตั้งใจในพื้นที่ของเรา ไม่ได้บอกใคร กลายเป็นสร้างความเข้าใจผิดให้คนในครอบครัวแม่เข้าใจว่าเรากลับมาอยู่แต่บ้าน วัน ๆ ไม่ทำอะไร เราจึงปรับความคิดใหม่ พยายามบอกพวกเขาว่าเราทำอะไรอยู่และมันสร้างรายได้ให้ยังไง แล้วแม่ก็เริ่มเปิดใจ”

กิ๊กพัฒนาและพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นว่าสิ่งที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจสามารถสร้างความอุ่นใจในเรื่องความมั่นคงในชีวิตได้ไม่แพ้ทางเลือกที่พ่อแม่นำเสนอ

Image

คิม -กรกนก พิทยะปรีชากุล คนแพร่โดยกำเนิด บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  การเป็นผู้ประสานงานและกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนโครงการเมด อิน เจริญเมือง ทำให้เธอเข้าใจบริบทของถนนเจริญเมืองและรู้จักคนในชุมชนเป็นอย่างดี

ช่วงนี้กิ๊กกำลังขยายพื้นที่ก่อหม้อฮ่อมและห้องแสดงสินค้าบริเวณนี้มีอุปกรณ์นานาชนิดที่ใช้พิมพ์ลายและย้อมผ้า รวมถึงบ่อก่อฮ่อมที่ถูกเติมด้วยของเหลวสีคราม ที่นี่จึงเปรียบเสมือนกล่องเก็บสมบัติทางธรรมชาติของแพร่

“เป็นคนแพร่ที่ไม่รู้จักต้นฮ่อมเลย ตั้งแต่เล็กจนโตเราเข้าใจว่าฮ่อมก็คือเสื้อม่อฮ่อม เสื้อพื้นเมือง พอไปสัมภาษณ์เข้าเรียนด้านแฟชั่น กลับตอบคำถามไม่ได้ว่าแพร่มีอะไรดี”

กิ๊กย้อนอดีตเมื่อครั้งใช้เวลาช่วงปิดเทอมทำความรู้จักบ้านเกิดของตัวเอง เธอกลับมาเรียนทอผ้าซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนแพร่ตั้งแต่โบราณและเริ่มรู้จักการย้อมผ้าหลังจากนั้นเมื่อผลิตสินค้าแบรนด์ของตัวเองขายในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ หลายเท่าตัว นั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า สิ่งที่เธอทำอยู่มีต้นกำเนิดมาจากธรรมชาติจริงหรือไม่

“คนที่ย้อมสีจากธรรมชาติที่ขายเสื้อราคาสูงกว่าถามเราว่ารู้หรือไม่ว่าจะหาฮ่อมได้จากที่ไหน เพราะถ้ารู้ต้นกำเนิดของฮ่อมธรรมชาติจะไม่ขายในราคานี้แน่นอน”

กิ๊กทบทวนสิ่งที่ทำอยู่อีกครั้ง พอรู้ว่าการย้อมฮ่อมต้องเอาต้นฮ่อมมาย้อมให้เกิดสีคราม เธอจึงตามหาปราชญ์ชาวบ้านจนได้พบลุงสว่าง ผู้ปลูกฮ่อม ณ หมู่บ้านนาคูหา

เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายตั้งแต่กระบวนการปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงการผลิตสินค้า มีต้นทุนสูงกว่าทุกครั้งที่เคยทำหลายเท่า การเล่าเรื่องราวสีฮ่อมธรรมชาติที่แท้จริงจึงเริ่มต้นขึ้น

พืชที่ให้สีน้ำเงินเข้มเหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออกนั้นมีสามชนิดคือ ต้นคราม ใบเบิก และต้นฮ่อม หากดูลักษณะต้นจะแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ทั้งสามมีกระบวนการนำมาใช้ย้อมผ้าเหมือนกัน นั่นก็คือการหมักให้เป็นครามหรือฮ่อมเปียกและการก่อหม้อนั้นเอง แต่ความพิเศษของฮ่อมคือเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มาก ๆ อย่างจังหวัดแพร่ จะปลูกกันที่บ้านนาคูหา บ้านนาตอง และทุ่งโฮ่ง และขยายพันธุ์โดยการปักชำ กว่าจะเจริญเติบโตจนเก็บเกี่ยวมาทำเป็นฮ่อมเปียกได้ค่อนข้างยาก

เมื่อฮ่อมปลูกยากทำให้ราคาขายค่อนข้างแพง ต้นทุนในการย้อมผ้าก็สูงตามไปด้วย ความทันสมัยด้านอุตสาหกรรมจึงเข้ามาแทนที่โดยใช้สารเคมีเป็นผงสีเรียกกันว่าฮ่อมเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนต่ำ ผลิตได้รวดเร็ว ย้อมง่าย และสีติดทนกว่าฮ่อมเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาทเกือบ ๕๐ ปี เพราะถ้าเทียบในเรื่องของต้นทุนและผลลัพธ์ที่ได้แล้วต้องยอมรับว่าคุ้มกว่ามากผงสีในฮ่อมเศรษฐกิจให้สีครามที่เหมือนกันกับฮ่อมธรรมชาติจนแยกไม่ออก

“อย่างหมอนบนตัก จะมั่นใจได้ยังไงว่าย้อมมาจากฮ่อมธรรมชาติจริง ๆ”

กิ๊กยิงคำถาม ทำให้เรารีบก้มลงมองสีของหมอน พลางตระหนักได้ว่าทุกวันนี้อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว  การที่อุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น คนใช้สีธรรมชาติจริง ๆ จึงเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ แม้ภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฮ่อม แต่ก็ยังขาดในเรื่องของตลาดรับซื้อ ฮ่อมที่ปลูกกลับไม่สร้างรายได้ การเลือกเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนจึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไร

Image

ปูน -บวรวงศ์ ยอดเมือง ดีไซเนอร์ที่จับคู่กับร้านอ้วนลูกชิ้นในโครงการ เขายังเป็นเจ้าของ “โฮะ” (Ho Bake and Craft Cafe) ที่หยิบจับบ้านไม้หลังเก่าของครอบครัวมาดัดแปลงเป็นคาเฟ่ที่เสิร์ฟเบเกอรีอบเองสดใหม่ทุกวัน

“การจัดสรรพื้นที่และทรัพยากรที่ดีอย่างคุ้มค่าและช่วยเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมในโลกยุคใหม่นั้นเป็นการพัฒนาที่ดีและยั่งยืน”

ช่างน่าเสียดายต้นฮ่อม พืชที่เปรียบเสมือนสมบัติจากธรรมชาติจากแพร่ อาจเป็นตัวชี้วัดทางภูมิศาสตร์ได้จากการเลือกขึ้นในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อุณหภูมิทั้งปีเฉลี่ยไม่เกิน ๒๕ องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามพืชที่มีมูลค่าในตัวชนิดนี้บางครั้งกลับถูกมองว่าเป็นวัชพืชที่ต้องถางทิ้ง ซึ่งอาจทำให้คนรุ่นต่อไปไม่รู้จักฮ่อมของดีเมืองแพร่จริง ๆ

แต่กมลก็ยังยืนหยัดที่จะเล่าเรื่องฮ่อมในมุมธรรมชาติและคอยช่วยเหลือเกษตรกรปลูกฮ่อมด้วยการอุดหนุนพวกเขาเสมอ

“เรามองตัวเองว่าเป็นคนเล่าเรื่องธรรมชาติที่อยู่รอบตัวในรูปแบบที่เราถนัด และรูปแบบนั้นคือผ่านเสื้อผ้าและฮ่อมซึ่งเราจะใช้ธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด”

กิ๊กยังแบ่งปันมุมมองการเรียนรู้ไว้อย่างน่าสนใจถึงประสบการณ์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับฮ่อมธรรมชาติให้เด็กนักเรียนที่กำลังเติบโต ผู้ใหญ่เองควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องวัตถุดิบและมูลค่าของธรรมชาติ

กระบวนการเรียนรู้ที่ดีคือการสาธิตให้เด็ก ๆ เห็นว่าแพร่มีฮ่อมปลูกที่ไหนบ้าง ส่วนไหนของฮ่อมที่ให้สีและเป็นสีแบบไหนวิธีการและขั้นตอนการขยี้ใบ ก่อหม้อ จวบจนผลิตให้เป็นเครื่องนุ่งห่มหนึ่งผืนนั้นผ่านอะไรมาบ้าง พวกเขาจะเล่าได้ว่าฮ่อมเมืองแพร่เป็นอย่างไร สมบัติจากธรรมชาติมีมูลค่ามากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่กิ๊กอยากส่งต่อและเล่าเรื่องราวให้ชัดเจนมากที่สุด

กิ๊กมองบ้านเกิดว่าอุดมไปด้วยของดีและสิ่งที่น่าสนใจ มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกลับบ้านมาอนุรักษ์ความดั้งเดิมของเมืองแพร่ไว้ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ คราฟต์ช็อกโกแลต คราฟต์เบียร์ สตูดิโอหลายแห่ง รวมถึงพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์ creative space เพราะสิ่งที่พวกเขานำเข้ามานั้นล้วนแต่คือการพัฒนาที่ดี

“มองย้อนตัวเองตอนมัธยมฯ ไม่รู้เลยว่าโตมาอยากทำอะไรเข้าคณะไหน ไม่มีอะไรใหม่ ๆ เลย ถ้ามีคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาเป็นตัวอย่าง เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตก็จะมีพื้นที่ศึกษาได้จริงสัมผัสได้จริง ได้รู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ ไม่เหมือนกับเราที่ต้องเสียเวลาควานหาว่าที่จริงแล้วชอบอะไรแน่ สิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาจะทำให้คนรุ่นหลังได้เติบโตรวดเร็วขึ้น”

เธอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง แววตาแสดงออกถึงความมุ่งมั่นราวกับจะบอกว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่ใช่เป็นเพียงความหวัง แต่คือแนวทางหนึ่งที่ทำให้แพร่เกิดการพัฒนาในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม

กิ๊กทิ้งท้ายไว้ถึงสังคมคนรุ่นเก่าที่ไม่มีทางเปลี่ยนความคิดได้ทันที เพราะช่วงวัย ยุคสมัย และแนวคิดแตกต่างกัน การสร้างความเข้าใจและลงมือทำให้เห็นประจักษ์ซ้ำ ๆ จะค่อย ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงและเปิดใจยอมรับ พื้นที่ตรงกลางระหว่างคนต่างรุ่นมีเสมอ เพียงแต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย

เธอยิ้มและหันไปมองหน้าคิมที่กำลังแย้มรับอย่างเห็นด้วย

คิมก็คือคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่มาพร้อมกับความหวังใหม่ตามสไตล์และยุคสมัยของเธอ

วัสดุธรรมชาติที่ให้สีนั้นมีหลายชนิด ในจานหลุมคือ ลูกมะเกลือ ครั่งแห้ง indigo cake  ส่วนใบไม้ (จากซ้าย) คือ ฮ่อม คราม เบิก  สีจากฮ่อมธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองแพร่นั้นเหลือน้อยลงทุกที เมื่อฮ่อมเคมีหรือฮ่อมเศรษฐกิจเข้ายึดครองอุตสาหกรรมผ้าย้อมมานานกว่า ๕๐ ปี 

Image

กุ๊กกิ๊กเลือกเล่าเรื่องแพร่ผ่านงานผ้าที่ย้อมด้วยฮ่อมธรรมชาติ กระบวนการทั้งหมดไร้สารเคมี การย้อมผ้าด้วยฮ่อมอาจต้องย้อมมากถึง ๑๐ ครั้งจึงจะได้สีที่ต้องการ

คิม-ผู้ประสาน

เรื่องราวของครอบครัว การเกษตร และสมบัติจาก
ธรรมชาติของแพร่ที่ได้หยิบยกมาเล่า อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของคนรุ่นใหม่ในอนาคต ดังนั้นถ้าจะไม่พูดถึงคิมคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคิมเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในโครงการเมด อิน เจริญเมือง ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ

คิมสนใจงานศิลปะและแกลเลอรี เธอเพิ่งเรียนจบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านนวัตกรรมสื่อและกลับมาช่วยธุรกิจโฮมสเตย์ Homelynestphrae ของพี่สาว กิ๊ก-กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล ศิลปินและนักออกแบบ ผู้เป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ของโครงการเมด อิน เจริญเมืองนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นคิมจึงอยู่ในทุกบริบทตลอดระยะเวลาของโครงการนี้

“คุยกับคิมก็เหมือนคุยกับกิ๊กนั่นแหละ ทำทุกอย่างด้วยกันมาตั้งแต่ต้น สองคนนี้เก่ง อยากรู้อะไรถามคิมได้หมดเลย”

หลินกล่าวเสริมขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้เราว่า นอกจากคิมเป็นเด็กใหม่ไฟแรงแล้ว ยังถือว่าเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ในอนาคต

คิมพาเราเดินไปบนถนนเจริญเมือง ที่มาของชื่อของโครงการ ถนนเส้นนี้เป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองแพร่ สองข้างทางมีอาคารไม้ที่ถูกปรับปรุงให้สวยงามแต่ยังคงความเป็นเมืองเก่า รวมถึงตึกพาณิชย์แหล่งค้าขายของทั้งชาวจีนและอินเดีย

เราหยุดเดินตรงหน้าตึกเทียนจี่ตึ๊ง การแสดงผลงานของโครงการที่เครือข่ายคนรุ่นใหม่รวมตัวกันจัดขึ้นที่นี่สิ้นสุดลงแล้วภาพบรรยากาศที่เราเห็นตอนจัดงานนั้นแตกต่างจากภาพตึกว่างเปล่าตรงหน้าโดยสิ้นเชิง

“ตอนรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการ เราเดินสำรวจและชักชวนร้านค้าหลายร้าน ตอนนั้นไม่ได้จำกัดว่าของดีเมืองแพร่เป็นของประเภทไหน สุดท้ายก็มาจบกันตรงประเภทอาหาร”

คิมยอมรับว่าร้านค้าหลายร้านมีผู้ประกอบการที่มีอายุมากระดับหนึ่ง ความแตกต่างเรื่องความคิดจึงเป็นอุปสรรคในการประสานงาน เพราะสิ่งที่คนรุ่นของคิมต้องการจะพัฒนากลับกลายเป็นความไม่เข้าใจในคนรุ่นก่อน ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรสำหรับคิม

คิมพาเราเดินไปยังโรงแรมเก่าซึ่งเลิกกิจการแล้ว เธอทักทายคุณยายซึ่งเป็นแม่เจ้าของตึก ยายจำคิมได้ เพราะช่วงจัดทำโครงการคิมและพวกเคยเข้ามาดูตึกนี้เพื่อเป็นทางเลือกที่จะใช้เป็นสถานที่แสดงผลงานของโครงการ

โรงแรมเทพวิมานที่คิมหลงรักในมนตร์เสน่ห์ของความดั้งเดิม แม้ภายในไม่มีอะไรแล้ว แต่แสงแดดที่ลอดผ่านหน้าต่างทำมุมเฉียงกับห้องและบันไดให้ภาพเหมือนสะพานแห่งความหวัง  คิมชอบแฟชั่น อยากแสดงงานศิลปะ และตั้งใจที่จะรวบรวมศิลปะของศิลปินคนแพร่มาจัดแสดงที่นี่ นอกจากจะได้สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ของแพร่แล้วยังได้อนุรักษ์ตึกเก่าที่มีกลิ่นอายความดั้งเดิมเอาไว้

“คิมอยากออกไปข้างนอกเพื่อหาประสบการณ์ก่อน ถ้ากลับมาก็จะได้มีพร้อมทั้งความรู้และเครือข่ายที่จะทำให้แพร่เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น”

หญิงสาวพูดพร้อมแววตาเปล่งประกายความหวัง ในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่เราได้พบเจอ คิมถือได้ว่าเป็นรุ่นใหม่ที่สุด ยังมีประสบการณ์ภายนอกบ้านเกิดน้อย แตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่มีช่วงวัยของการใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเกิดกันมานานพอควรแล้ว คิมต้องการจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อกลับมาเป็นแรงบันดาลใจและสร้างพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ต่อจากเธอ

เราเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่เลือกทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้านเกิดของตัวเอง นั่นเพราะทุกคนมีความจำเป็นและความหวังแตกต่างกัน อย่างเหตุผลของคิมที่เลือกจะออกไปหาประสบการณ์คือความรักบ้านเกิดและความหวังดีให้คนรุ่นต่อไป การที่เธอมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายรุ่นพี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้เห็นในสิ่งที่บ้านเกิดของเธอจะสามารถพัฒนาในอนาคต เพื่อลบล้างภาพจำของเมืองทางผ่านให้กลายเป็นเมืองปลายทางแทน

คิมเปรียบเสมือนความหวังของคนรุ่นต่อ ๆ ไปที่จะได้เห็นเมืองแพร่พัฒนาไปพร้อมกับคนรุ่นของพวกเขา ซึ่งสามารถแสดงตัวตนได้อย่างหลากหลายและกว้างขวางในบ้านเกิดของตัวเอง

กุ๊กกิ๊ก-กมลชนก แสนโสภา ดีไซเนอร์ ชาวแพร่รุ่นใหม่เจ้าของแบรนด์ KAMON Indigo สนใจศึกษารูปแบบลายเสือของพระธาตุช่อแฮมานาน เคยเย็บตุ๊กตาเสือไว้ด้วย เมื่อเข้าร่วมโครงการเมด อิน เจริญเมือง และได้จับคู่กับร้านเมืองแพร่พานิช เธอจึงเสนอไอเดียเชื่อมโยงขนมเก่าแก่กับเมืองแพร่ผ่านสัญลักษณ์เสือ การออกแบบโลโก้ใหม่และขนมรูปเท้าเสือจึงเป็นการเล่าเรื่องบ้านเกิดของเธอได้ในอีกทางหนึ่ง

Image
Image
Image
Image

เมืองแพร่
บ้านเกิดที่น่ากลับ

อย่างที่กิ๊กเคยบอกว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนกลับมาที่แพร่เพื่อพัฒนาบ้านเกิดแต่ยังคงอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ คิมจึงเป็นตัวกลางแนะนำให้เรารู้จักกับปูน-บวรวงศ์ ยอดเมือง ชายอายุ ๓๗ ปี หนึ่งในเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาทำร้านกาแฟและเบเกอรีโฮมเมด

ปูนใช้ใต้ถุนบ้านเปิดเป็นร้านโฮะ (Ho Bake and Craft Cafe) เขาสวมหมวกเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่จับคู่กับร้านอ้วนลูกชิ้นในโครงการเมด อิน เจริญเมืองด้วย

ปูนนำเสนอมุมมองของแพร่ในอนาคตอย่างน่าสนใจ คือ พื้นที่สาธารณะและสถานที่ทำงานส่วนรวม (co-working space) เพราะเขาเชื่อว่าการจัดสรรพื้นที่และทรัพยากรที่ดีอย่างคุ้มค่าและช่วยเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมในโลกยุคใหม่นั้นเป็นการพัฒนาที่ดีและยั่งยืน  การสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ว่ามีพื้นที่และโอกาสให้พวกเขาเสมอ ความเจริญและการพัฒนาย่อมติดตามคนกลุ่มนี้เข้ามาในอนาคตอย่างแน่นอน

เราเห็นว่าทั้งหลิน หนึ่งและเต้าฮวย กิ๊ก คิม หรือแม้แต่ปูนต่างก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแพร่ในมิติต่าง ๆ ของสังคม ยังไม่รวมสมาชิกในเครือข่ายคนรุ่นใหม่อื่น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมเดียวกัน คือการพัฒนา อนุรักษ์ และสร้างภาพจำใหม่ให้บ้านเกิด

แต่น่าแปลก เมื่อมีคนรุ่นใหม่กลับมาที่แพร่มากกว่าที่เราคิดเวทีแสดงตัวตนของพวกเขากลับมีให้เห็นไม่มากนัก อย่างโครงการเมด อิน เจริญเมืองที่คนรุ่นใหม่ดำเนินการกันเองนี้มีเวทีแสดงเป็นเพียงตึกเล็ก ๆ แค่ ๓ วัน

อย่างไรก็ตามจากที่เราสัมผัสทั้งข้อมูลและพื้นที่ของเมืองแพร่แม้ไม่ได้เป็นแรมปี เราเห็นบ้านเมืองแพร่ดูเงียบ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาแสดงจุดยืนและกลายเป็นสมบัติของเมืองแพร่ในมิติต่าง ๆ เสมอ

คนรุ่นใหม่จะเติบโตและกลับมาพัฒนาเมืองแพร่ไม่ให้เป็นแค่เมืองทางผ่านในอนาคตได้สำเร็จหรือไม่นั้นไม่มีใครบอกได้แต่เชื่อว่าการสร้างความเข้าใจร่วมกันและการสนับสนุนจากผู้ที่มีส่วนพัฒนาให้ก้าวหน้า อาจเป็นหนึ่งในร้อยแปดตัวเลือกที่ดีที่จะหยิบยกมาใช้ได้ เพราะเหตุผลจริง ๆ ของการพัฒนาพร้อมกับการอนุรักษ์ในทุกมิตินั้นล้วนเกิดจากความหวังดีและความรักบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ 

ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองแพร่ในอนาคตนั่นเอง  

อ้างอิง
หนังสือ
นุชนาฏ ชาวปลายนา และ จอมขวัญ เวียงเงิน. (๒๕๖๐). วิถี+วิธี หม้อห้อมเมืองแพร่. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แพร่ : โรงพิมพ์เมืองแพร่การพิมพ์.

เว็บไซต์
คู่มือที่ ๑๙ การผลิตผ้าย้อมคราม. สืบค้นจาก http://www.rdpb.go.th/UploadNew/Documents/ผ้าย้อมคราม.pdf

ซูริ คานาเอะ. “Made in Charoenmuang”. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/made-in-charoenmuang/

ต้นห้อม. สืบค้นจาก https://www.tudsinjai.com/blog/pann/hom_indigo/

“ประวัติศาสตร์แพร่ อาณาจักร ๑,๐๐๐ ปี”. สืบค้นจาก https://www.museumthailand.com/th/3497/storytelling/ประวัติศาสตร์แพร่/

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “บ้านเมืองในภูมิวัฒนธรรม ‘แพร่’”. สืบค้นจาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=817

“วิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมห้อมโบราณ ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่”. สืบค้นจาก http://bedocommunity.com/?p=5302

“ศาลเจ้าปุ้งเถ่ากง จังหวัดแพร่”. สืบค้นจาก http://www.wungfon.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1412:2012-12-02-07-30-40&catid=183:2011-07-05-02-34-59&Itemid=213

“เสน่ห์แห่งคราม ธรรมชาติ งดงาม และเรียบง่าย Charming Thai Indigo”. สืบค้นจาก https://www.bagindesign.com/charming-thai-indigo-คราม/

“ห้อมหรือฮ่อม ทั้งต้นสดสับเป็นท่อนต้มเคี่ยว เพื่อทำสีย้อมผ้า”. สืบค้นจาก https://www.kasettambon.com/ห้อมหรือฮ่อม-ทั้งต้นสดส/

“Made in Charoenmueang โปรเจกต์ต่อยอดของดีร้านดั้งเดิม จ. แพร่ ๒๐-๒๒ พ.ค. ๖๕”. สืบค้นจาก https://www.bltbangkok.com/home-highlight/39277/

Image