“อนาคต” งานหัตถกรรมลำปาง : โคมสายลมคือโคมล้านนาร่วมสมัยในมือของป่าน-วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ คนลำปางรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจการทำโคมจากโคมล้านนาในอดีตผสมผสานร่วมกับลวดลายจากวัฒนธรรมลำปาง
“GHOM LANNA”
แสงไฟดวงเล็กแห่งเมืองลำปาง
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด
เรื่อง : คคนางค์ ขามธาตุ
ภาพ : ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
แสงไฟนับสิบดวงจากโคมล้านนารูปทรงต่าง ๆ กำลังสาดส่องจากตัวบ้านสองชั้นหลังหนึ่งในชุมชนท่ามะโอ ชุมชนเก่าแก่แห่งเมืองลำปาง ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้าอันเงียบสงบ บ้านเรือนหลายหลังเริ่มปิดไฟหน้าบ้าน เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์กำลังเข้ามาแทนที่
ทว่าสำหรับบ้านสองชั้นหลังนี้ ไฟดวงเล็กเพิ่งเริ่มส่องแสงเพื่อเริ่มต้นสู่วันใหม่
“GHOM LANNA Studio” บ้านและห้องทดลองของป่าน-วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ หนุ่มลำปางผู้มีใจรักในงานหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างโคมล้านนา
านนาของลำปางให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายขึ้น ด้วยการทำให้มีรูปแบบที่ย่อยง่าย ทันสมัย และนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส
.
เมื่องานหัตถศิลป์พื้นบ้านต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับโคมล้านนาลำปาง โคมลูกใหม่กำลังมาแทนที่โคมลูกเก่าที่อ่อนแสง กระนั้นโคมทั้งสองก็ยังคงช่วยกันส่องสว่างให้เมืองลำปาง
✲ จุดประกายโคม ✲
ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่นัก มองไปทางไหนก็เห็นความสว่างไสวของโคมล้านนารูปทรงต่าง ๆ ทั้งที่เคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้งและแปลกตา ดึงดูดสายตาให้อยากเดินชมรอบ ๆ ได้ไม่ยาก โคมล้านนาที่เห็นในบ้านหลังนี้มีรูปทรงเหมือนหูกระต่าย ดอกบัว ดาว บางลูกดัดแปลงเป็นรูปทรงปลาบางลูกก็เหมือนโคมล้านนาดั้งเดิม แต่เปิดเปลือยโครงสร้างให้เห็นงานไม้ไผ่อันประณีตดูแล้วทันสมัย มีทั้งแบบแขวนและแบบตั้งโต๊ะตามแต่ผู้รังสรรค์
ณ ที่แห่งนี้ บ้านหลังเล็ก ๆ ใจกลางตัวเมืองลำปางเรื่องราวของป่านเริ่มต้นขึ้น
“ผมผูกพันกับลำปางครับ ตอนแรกมีแนวคิดก่อนว่าอยากกลับบ้านมาทำอะไรสักอย่าง”
จากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี สู่คนรุ่นใหม่ที่อยากใช้ผลงานของตัวเองบอกเล่าเรื่องราวของลำปางบ้านเกิดผ่านโคมล้านนาร่วมสมัย
ความผูกพันต่อบ้านเกิดก่อกำเนิดแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับความชอบงานไม้และงานพับกระดาษ ซึ่งเป็นความถนัดของตัวเองด้วย ป่านจึงอยากให้ผลงานวิทยานิพนธ์ถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นของบ้านเกิด และเชื่อมโยงกับงานวัสดุธรรมชาติแบบที่ตัวเองชอบ ลำปางจึงเป็นสถานที่แรกที่ป่านนึกถึง แล้วกลับมาสำรวจดูสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรบ้าง
“ผมนึกถึงงานประเพณียี่เป็ง ชอบบรรยากาศภายในงาน มันมีแสงไฟ มีโคมล้านนาแปลก ๆ เยอะ แต่ละรูปแบบก็ใช้ในงานที่แตกต่างกัน เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากพัฒนาโคมล้านนาลำปางให้ร่วมสมัยมากขึ้น”
ชมวิดีโอเต็ม คลิกลิงก์
https://www.youtube.com/watch?v=6e8C1iYv6h4
create by : นพเก้า เพียรชนะ
มรดกศิลปะ “โคมล้านนา” : พ่อครูมณฑล ปินตาสี สล่าโคมล้านนา (ช่างทำโคมล้านนา) ชี้ชวนชมโคมม่านแปดเหลี่ยมซึ่งมีลักษณะของโครงสร้างไม้ไผ่ประกอบกันทั้งหมดแปดทิศ มีรูปทรงและลวดลายพม่าผสมกับศิลปะล้านนา
ป่านเริ่มศึกษารูปแบบและลวดลายของโคมล้านนาลำปางผ่านปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง รวมถึงเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับแม่ครูที่เชียงใหม่ เพื่อเก็บเป็นเทคนิคและองค์ความรู้เล็ก ๆ ของตนเอง
“ผมก็ลองดูว่ามีโคมล้านนาที่ไหนบ้าง ดูรูปแบบ ดูโอกาสที่จะเป็นไปได้ เมื่อค้นคว้าข้อมูลก็พบว่าพ่อครูมณฑล ปินตาสีเป็นต้นตำรับของการทำโคมล้านนาลำปางในบ้านวังหม้อใกล้บ้านผมด้วย”
เข้าไปนั่งคุยและฝึกทำอยู่เป็นเดือน จึงเกิดแรงบันดาลใจและหาจุดที่อยากพัฒนางานเจอ
“พ่อครูช่วยเสนอไอเดียให้ตลอด ‘ทำแบบนี้ไหม ทำแบบนี้ได้นะ’ โคมล้านนาจะมีรูปแบบแปลก ๆ เยอะอยู่แล้ว เลยนำมาเล่นได้เยอะครับ แล้วพ่อครูเองไม่ได้จำกัดว่าแบบนี้ผิดหรือถูก หรือลวดลายนี้นำมาใช้แบบนี้ไม่ได้นะ เขาไม่ห้าม เพราะเขาเข้าใจความร่วมสมัยที่อยากจะพัฒนา เข้าใจเป้าหมายของหัวข้อผมว่าจะทำแนวไหน พ่อครูจึงเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างจะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ให้ลำปาง”
เมื่อวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้น ช่วงรอยต่อระหว่างการเลือกทำงานในกรุงเทพฯ หรือกลับบ้านก็ตีกันอยู่ในหัว ป่านจึงทบทวนตัวเองแล้วพบว่าลำปางบ้านเกิดบรรเจิดที่สุด เลยกลับมาต่อยอดผลงานจากวิทยานิพนธ์ ทำเป็นธุรกิจที่ใช้ชื่อว่า “GHOM LANNA” โดยตั้งใจให้เป็นแบรนด์โคมตกแต่งบ้านสไตล์ล้านนาลำปางที่ร่วมสมัย ย่อยง่าย เหมาะกับคนยุคสมัยปัจจุบัน
“ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำเป็นธุรกิจเต็มตัว แค่ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะพัฒนาโคมให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น แต่เมื่อมีคนถามว่า ‘จะอยู่อย่างไร’ นั่นแหละ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเล็ก ๆ ของผม”
✲ แสงสว่าง ✲
ของโคมลูกใหม่
แช็ก แช็ก
โต๊ะทำงานคราฟต์ขนาดกะทัดรัด มีอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับงานหัตถศิลป์วางอยู่เป็นระเบียบ ชายหนุ่มกำลังจุดไฟแช็กลนบนเส้นไม้ไผ่ที่เหลาเอง ดัดแปลงเป็นรูปร่างอย่างตั้งใจ เพื่อสาธิตวิธีทำโคมที่เขาออกแบบใหม่ ซึ่งก็มาจากการจับเทคนิคของรูปทรงนู้นนิดรูปแบบนี้หน่อย นำมาผสมผสานกลายเป็นโคมล้านนาร่วมสมัย ที่รวมหลายโครงสร้างของโคมล้านนาดั้งเดิมไว้
“โคมสายลมเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ของผม นำโครงสร้างหลักมาจากโคมดาว โคมผัด และโคมเพชรดอกบัว”
ไม่พูดเปล่า ป่านลุกจากโต๊ะแล้วชี้ชวนให้ดู “สายลม” หนึ่งในชิ้นงานที่ภูมิใจ เขานำแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของร่มกระดาษสา แล้วหยิบโครงสร้างโคมดาว ซึ่งเป็นโคมแขวนที่มีลักษณะเป็นดาวห้าแฉก ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่แล้วหุ้มกระดาษสามาประยุกต์ให้ทันสมัยและมินิมอลขึ้น ด้วยการลดทอนข้อต่อ เพิ่มแฉกของดาว และปิดกระดาษสาเฉพาะด้านบน เพื่อเปิดเปลือยโครงสร้างด้านล่างเหมือนร่มกระดาษสา
ส่วนด้านล่างจะมีพุ่มห้อยสำหรับใส่หลอดไฟ ป่านหยิบโครงสร้างทรงดอกบัวของโคมเพชรดอกบัวมาใช้ แถมเมื่อลมพัดผ่านส่วนด้านบนที่คล้ายร่มยังหมุนได้อีก เหมือนโคมผัดเรียกได้ว่ารวมมิตรออลสตาร์ของโคมล้านนาเลยก็ว่าได้ ด้านลวดลายบนโคมนั้น ป่านก็พัฒนาจากลายไส้หมูที่หน้าบัน พระอุโบสถวัดประตูป่องใกล้บ้าน ขึ้นลายด้วยสิ่วบนกระดาษสาให้คดเคี้ยวน้อยลง
ป่านสเกตช์ลายไส้หมูให้ดูเพื่อให้เห็นชัดขึ้น ทำให้เห็นว่าลวดลายดังกล่าวขดตัวเป็นเหมือนไส้อ่อนหมู ที่เราเคยกินในเกาเหลาหรือโจ๊ก
“ลวดลายไส้หมูที่อุโบสถวัดประตูป่อง อันนี้นำมาเล่นกันเยอะครับ มีอัตลักษณ์เฉพาะของลายไส้หมูลำปางที่ต่างจากเชียงใหม่ เพราะมีความซับซ้อนต่าง ๆ ปรกติแล้วลายนี้จะใช้ประดับในที่เฉพาะมาก ๆ เช่น วัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในแง่มุมนักออกแบบผมก็อยากจะทำลวดลายเหล่านี้ให้เป็นสากลและทันสมัย คนจับต้องได้ ทำให้ไม่รู้สึกว่าชั้นสูงเกินไป”
ป่านยังทำโคมรูปแบบอื่น ๆ ไว้มากมาย ทั้งโคมแขวน โคมตั้งโต๊ะ โดยนำโครงสร้างและเทคนิคของโคมล้านนาแบบดั้งเดิมมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นโคมหูกระต่าย โคมทรงกระบอก โคมดาวหรือโคมพับสามเหลี่ยม แต่สิ่งที่ดูทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนสมัยใหม่ได้มากขึ้น เห็นจะเป็นการทำให้ดูมินิมอล โดยการเปิดเปลือยโคมให้เห็นโครงสร้างไม้ไผ่ บ้างก็ทำเป็นสองมิติไว้ตกแต่งผนัง บ้างก็นำไม้ไผ่มาจักตอกให้เป็นเส้นเล็กแล้วใช้ไฟลน ดัดแปลงเป็นรูปร่างต่าง ๆ ให้ดูพลิ้วไหวมากขึ้น ทั้งยังดัดแปลงไม้ไผ่เส้นบางเป็นลวดลายก็มี เช่น ลวดลายตุงชัยลำปาง ลวดลายแสงอาทิตย์ เป็นต้น
“พ่อครูของผมเคยสอนว่า ‘ของบ่กินฮู้เน่า ของบ่เล่าฮู้ลืม’ ของทุกอย่างน่ะ ถ้าอมไว้มันก็หาย ถ้าคายมันก็ยังอยู่ยังรอด”
มณฑล ปินตาสี
ลวดลายโคม “ล้านนา” : ลวดลายโคมมาจากลายดั้งเดิมของล้านนา ส่วนหนึ่งและจากศิลปะพม่าอีกส่วนหนึ่งแต่เดิมมี ๑๒๐ ลวดลายอยู่ใน “พับสา” (สมุดข่อย) ของวัดพระธาตุเจดีย์ซาว แต่พับสาหายไป มณฑลจึงตัดลวดลาย ทั้งหมดและตีพิมพ์ในหนังสือ (เล่มที่กำลังเปิดดู) เพื่อบันทึกไว้ไม่ให้หายไป
จากสล่าโคม “รุ่นเก่า” สู่สล่าโคม “รุ่นใหม่” : ป่าน คนลำปางรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้เทคนิคและฝึกทำโคมม่านแปดเหลี่ยมจากมณฑล ผู้เชี่ยวชาญการทำโคมล้านนา
“ผมต้องการสื่อสารลวดลายดั้งเดิมให้ร่วมสมัย อย่างลวดลายแสงอาทิตย์บนประตูสะพานเขลางค์นคร ลวดลายของการถักตุงใยหรือตุงชัยของลำปาง ลวดลายโบราณเหล่านี้หาดูได้ยากแล้ว เพราะคนที่ทำเป็นก็แก่เฒ่ากันหมดแล้ว และไม่ค่อยมีใครสืบสานต่อ ผมเลยอยากชูลวดลายเหล่านี้ โดยนำมาผสมกับงานออกแบบครับ”
เมื่อหันไปยังด้านหนึ่งของบ้าน พบเครื่องประดับรูปทรงแปลกตาเรียงรายอยู่บนชั้นวางของสูงระดับสายตา ไม่ว่าจะเป็นต่างหู เข็มกลัด หรือสร้อยคอ มีรูปทรงสามเหลี่ยมบ้าง รูปดาวบ้าง มีลักษณะเหมือนใบพัดบ้าง ทั้งยังมีรูปทรงที่เลียนแบบธรรมชาติ เช่นดอกไม้และก้อนเมฆด้วย เราค่อนข้างแปลกใจเมื่อป่านบอกว่า เครื่องประดับเหล่านี้คือโครงสร้างของโคมที่เขานำมาย่อส่วน
“เครื่องประดับส่วนใหญ่ใช้เทคนิคจากการทำโคม อย่างต่างหูที่เป็นสามเหลี่ยมก็มาจากโคมพับสามเหลี่ยม อันที่มีลักษณะเหมือนใบไม้ก็มาจากโครงสร้างโคมดาวแต่มาทำเป็นสองมิติ อันที่เหมือนลายก้อนเมฆก็เกิดจากเทคนิคการทำโคมดาวเช่นกัน แต่ผมเอาโครงสร้างมาเรียงใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้น”
เพราะโคมมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ทุกคนจะซื้อกลับบ้านได้ ป่านเลยเกิดไอเดียทำเป็นสินค้าชิ้นเล็กอย่างเครื่องประดับ ซึ่งก็ยังคงใช้แรงบันดาลใจจากโคมล้านนา โดยนำเทคนิคจากโคมชนิดต่าง ๆ มาย่อส่วนให้เล็กลง เพื่อย่อยผลงานให้ขายได้มากขึ้น เป็นการรักษาความสมดุลระหว่างความชอบและปากท้อง
“ที่ผมนำเทคนิคและรูปแบบโครงสร้างของโคมมาย่อส่วนให้อยู่บนร่างกายได้ เพราะอยากให้เกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ โคมล้านนาเป็นสิ่งที่เราอยากสื่อสารให้คนเข้าถึงง่ายและรู้จักมากขึ้น แต่ไม่ต้องไปซื้อโคมตกแต่งชิ้นใหญ่ที่มีข้อจำกัดเยอะเรื่องพื้นที่ก็ได้เหมือนกัน”
ปัจจุบันป่านยังคงไปเรียนรู้การทำโคมล้านนากับพ่อครูที่บ้านวังหม้อเสมอ เก็บเล็กผสมน้อยทั้งรูปแบบและเทคนิค เพื่อนำมารวมกับไอเดียและความถนัดของตัวเอง สร้างสรรค์เป็นโคมล้านนารูปแบบใหม่ ๆ และเพื่อต่อยอดสู่งานเครื่องประดับอื่น ๆ ในอนาคต
“อย่างโคมล่าสุดที่เรียนกับพ่อครู เรียกว่าโคมม่านแปดเหลี่ยมหรือโคมพม่า ตอนนี้ผมกำลังเก็บเทคนิคการฝังลวดในไม้อยู่ ต้องลองฝึกฝนบ่อย ๆ ครับ”
ป่านพูดประโยคหลังด้วยสีหน้าตั้งใจ เหมือนรำพึงกับตัวเองเสียมากกว่า สายตามองไปที่โคมม่านแปดเหลี่ยมที่ยังเป็นโครงสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี รับรู้ได้ถึงประกายไฟที่กำลังปะทุอยู่ภายในตัวป่าน เป็นไฟแห่งการเรียนรู้ที่เหมือนจะไม่มอดดับลงง่าย ๆ
โคมล้านนาร่วมสมัย “โคมสายลม” : ภาพร่างโคมสายลม ผสมผสานโครงสร้างจากโคมดาว (ซ้าย) และโคมผัด (ขวา) ส่วนพุ่มด้านล่างได้แรงบันดาลใจจากโคมเพชรดอกบัว รวมออกแบบใหม่เพื่อประยุกต์เป็นโคมล้านนาร่วมสมัย
✲ แสงไฟ ✲
ที่ยังไม่มอดดับ
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโคมล้านนาปรากฏบนผืนผ้าพระบฏตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อราว ๕๐๐ ปีก่อนว่ากันว่ามีไว้จุดเพื่อให้แสงสว่างแก่บ้านเรือน และยังเป็นเครื่องรางที่สะท้อนถึงสิริมงคล โดยเชื่อกันว่าความสว่างไสวของโคมจะนำพาความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสงบมาให้แก่ตัวเองและครอบครัว ดังนั้นชาวล้านนาจึงนิยมใช้โคมในงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อแสดงความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า ทั้งยังนำมาใช้ในงานประเพณียี่เป็งหรือประเพณีลอยกระทงของล้านนาตั้งแต่ครั้งสมัยหริภุญชัย จนกลายเป็นประเพณีที่คนทั่วไปต่างรู้จัก
นั่นเป็นประวัติศาสตร์ของโคมล้านนาในภาพรวม แต่ประวัติศาสตร์โคมล้านนาของชุมชนบ้านวังหม้อ ในตำบลธงชัยอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เริ่มขึ้นเมื่อ ๘๙ ปีก่อน เมื่อพ่อค้าคนหนึ่งนามว่าสล่าศรีมูล ปินตาสี เดินทางไปค้าขายยังเมืองพม่า เกิดสะดุดตาสะดุดใจกับโคมลูกหนึ่งและซื้อกลับมาโดยตั้งใจถวายเป็นพุทธบูชาให้แก่วัดพระธาตุเจดีย์ซาว แต่แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุไฟไหม้กระดาษสาทำให้เห็นโครงสร้างของโคมลูกนี้ พระครูศีลคันธวงศ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นและสล่า ศรีมูล จึงพยายามถอดแบบโครงสร้างลวดลาย และทดลองทำขึ้นมาใหม่ โดยผสมผสานกับศิลปะล้านนา ใช้เวลาร่วม ๒ ปี โคมม่านแปดเหลี่ยมลูกแรกก็เกิดขึ้นในลำปาง
นับจากนั้นโคมม่านแปดเหลี่ยมก็เพิ่มจำนวนอีกหลายลูกเพื่อใช้ในงานประเพณียี่เป็ง ต่อมาก็มีใช้กันอย่างแพร่หลายในวัดจังหวัดลำปาง
โคมม่านแปดเหลี่ยมยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงมณฑล ปินตาสี หรือที่คนในวงการสล่าโคมรู้จักกันดีในนาม “ศรีทน คนลำปาง” ชายอายุ ๕๒ ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการทำโคมล้านนาในชุมชนบ้านวังหม้อ
บ่ายคล้อยของวันนี้ ป่านนัดเรียนโคมม่านแปดเหลี่ยมกับมณฑล หลังจากครั้งก่อนได้ลองขึ้นโครงไม้และฝังลวดแล้ว บรรยากาศการเรียนก็ง่าย ๆ คือ เสื่อหนึ่งผืนปูบนพื้นหน้าประตูทางเข้าบ้าน รอบตัวเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่างและโคมล้านนาที่แขวนเรียงรายอยู่หลากหลายแบบ มีทั้งขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่มาก
“โคมที่นี่จะมีทั้งหมด ๒๙ แบบ เรียงจากง่ายไปหายากตามที่แขวนไว้เลย แขวนไว้ให้เขารู้ว่าจะสอนง่าย ๆ ก่อน เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงปริญญาตรี ตอนป่านมาเรียนก็เริ่มจากง่าย ๆ ให้คล่องก่อน”
มณฑลแนะนำอย่างใจดีพร้อมชี้ให้ดูโคมที่แขวนบนชานบ้านโดยเรียงจากรูปทรงง่าย ๆ อย่างโคมทรงกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดาว โคมเงี้ยว โคมเพชรดอกบัว เรื่อยมา มีอีกหลายแบบที่เรายังไม่ได้เข้าไปทำความรู้จัก แต่ก็สะดุดตากับโคมรูปทรงแปลกตาและดูหรูหรากว่าโคมลูกอื่น นั่นคือโคมม่านแปดเหลี่ยม ซึ่งมณฑลเปรยไว้ว่าเป็นเอกลักษณ์โคมล้านนาของบ้านวังหม้อ
แรงบันดาลใจจาก “บ้านเกิด” : อุโบสถวัดประตูป่อง ในชุมชนบ้านเกิดของป่าน มีลวดลายบริเวณหน้าบันเป็นรูปแบบเฉพาะ เอกลักษณ์ของลำปาง
“เหตุที่ชื่อโคมม่านแปดเหลี่ยม เพราะโครงไม้ไผ่จะประกอบกันทั้งหมดแปดด้าน แปดทิศ มีรูปทรงและลวดลายอย่างพม่าผสมกับศิลปะล้านนา จึงเรียกว่า ‘โคมม่าน’ หรือ ‘โคมพม่า’ โดยส่วนใหญ่จะใช้แขวนบูชาในวัดและงานพิธีทางพุทธศาสนาเพราะโคมลูกนี้มีความหมายถึงมรรคมีองค์แปด”
นอกจากรูปทรงโคมแล้ว ลวดลายก็บ่งบอกได้ถึงเอกลักษณ์เฉพาะของสล่า มณฑลเองได้เรียนรู้ลวดลายโคม ๑๒๐ แบบจากพ่อครูสี่คน ได้แก่ พ่อครูทิพย์มา ธรรมปัญญา, สล่าสุข ปินตาสี, พ่อครูหนานเส้า สุรินทร์ และพ่อครูหนานมี บ้านแลงซึ่งทั้งสี่คนนี้มีพ่อครูคนเดียวกันคือพระครูศีลคันธวงศ์ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพระธาตุเจดีย์ซาวนั่นเอง
“ลายอยู่ในนี้ทั้งหมด” มณฑลบอกด้วยน้ำเสียงภูมิใจพร้อมชี้ไปที่หัวของตัวเองแล้วยิ้ม
มณฑลเล่าว่า ลวดลายทั้ง ๑๒๐ แบบนั้นมาจากลายดั้งเดิมของล้านนาส่วนหนึ่งและศิลปะพม่าอีกส่วนหนึ่ง โดยจะเห็นลายเหล่านี้ได้จากโคมล้านนาตามวัดต่าง ๆ ในชุมชนบ้านวังหม้อและอำเภอใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิม ๑๒๐ ลวดลายนี้ถูกบันทึกไว้ใน “พับสา” หรือสมุดข่อยของวัดพระธาตุเจดีย์ซาว แต่ปัจจุบันพับสาเล่มนี้หายไป มณฑลจึงเปรียบเสมือนพับสาหนึ่งเดียวที่ยังมีชีวิต
มณฑลนั่งลงบนเสื่อเพื่อเตรียมสอนป่านหุ้มกระดาษว่าวรอบโครงไม้ไผ่ทั้งแปดทิศ และจะสอนการตัดลายดอกกระจัง ลายกระถินสี่แฉก เพื่อประดับตกแต่ง ซึ่งวิธีตัดลวดลายนี้มณฑลเคยสอนป่านไปบ้างแล้ว
“จำได้ก่อ” ครูถามศิษย์ที่กำลังนั่งแก้ไขโครงโคมม่านแปดเหลี่ยมแบบยิ้มๆ
“ลืมไปแล้วครับ” ป่านตอบกลั้วหัวเราะ สร้างเสียงหัวเราะภายในบ้านหลังเล็กที่เงียบสงบให้มีชีวิตชีวา
มณฑลจึงแสดงฝีมือการตัดลายดอกกระจัง ลายกระถินสี่แฉกให้ดูอีกครั้ง เริ่มจากตัดกระดาษตะกั่วสีน้ำเงินเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ ๒x๒ นิ้ว พับทแยงมุมสองครั้งซ้ายขวาให้เป็นสามเหลี่ยม จากนั้นเตรียมกรรไกร สิ่งที่สล่ามือใหม่ต่างจากสล่าระดับตำนานคือการลงกรรไกรตัดลวดลายโดยที่ไม่ต้องร่างดินสอบนกระดาษเลยสักเส้น
“วิธีลงกรรไกรผมไม่ได้ขยับมือเลย กรรไกรยังอยู่เหมือนเดิมบิดแค่กระดาษ ลายนี้ลงกรรไกรเก้าครั้ง”
มณฑลบิดกระดาษเอียงซ้ายเอียงขวาขณะลงกรรไกร จากนั้นค่อย ๆ คลี่กระดาษออกมา เป็นลวดลายดอกกระจัง ลายกระถินสี่แฉกที่อ่อนช้อยสวยงาม ลายนี้เป็นลายพื้นฐานที่คนเรียนเริ่มแรกจะได้ฝึก แน่นอน มียากกว่านี้อีก
“เดี๋ยวจะตัดลายยากให้ดู นั่นคือ ‘ดอกบัวระวงศ์หงส์อำมาตย์’ ความสวยงามจะอยู่ที่ดอกบัว ๑๖ ดอก ดอกตัวแม่ ๘ ดอก ดอกตัวลูก ๘ ดอก”
สล่าชั้นครูเริ่มพับกระดาษเป็นสามเหลี่ยมแล้วลงกรรไกรพร้อมบรรยายไปด้วยว่าลวดลายดอกบัวระวงศ์หงส์อำมาตย์ลงกรรไกรเก้าครั้งเช่นเดิม แต่วิธีตัดต่างจากลายเมื่อกี้เล็กน้อยเริ่มจากการกรอลาย (การตัดเพื่อทำรูปทรง) กลัดกลีบข้าง (ตัดเลาะด้านข้าง) กลีบตูมบน รองกลีบกลาง กลีบตูมข้าง ตัดบากไหล่ ทั้งบากไหล่หน้าและไหล่ข้าง จากนั้นตัดกลีบย้อยทั้งสองข้าง สุดท้ายตัดกี๋ก๋างหรือกลีบรอบเกสร
การลงกรรไกรแต่ละครั้งมีชื่อเรียกอยู่ในพับสา ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือการสอนตัดลวดลายนั่นเอง
“เสร็จแล้วครับ มาดูความงามของบัวระวงศ์ฯ กัน” มณฑลค่อย ๆ คลี่บัวระวงศ์หงส์อำมาตย์อย่างใจเย็น
“แต่ละลวดลายจะมีความหมายเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา อย่างความหมายของบัวระวงศ์ฯ คือการนำดอกบัวมาวางบูชาพระเป็นวงกลม”
“ศึกษา” ก่อนเริ่มลงมือทำ : ป่านชอบไปวัดประตูป่องตั้งแต่เด็ก เพื่อดูลวดลายต่าง ๆ โดยลายไส้หมูที่หน้าบันอุโบสถเป็นลวดลายที่ป่านเลือกนำไปพัฒนาต่อยอดในการทำโคมร่วมสมัย
เมื่อจบการโชว์ฝีมือระดับพระกาฬของมณฑล ป่านเริ่มร่างดินสอเป็นลวดลายดอกกระจังสี่แฉกอย่างที่พ่อครูสอนบอกแล้วว่ายังคนละรุ่นอยู่ แต่จะว่าไปมณฑลเองก็เคยเป็นเหมือนป่าน เด็กหนุ่มผู้มีไฟอยากสานต่อภูมิปัญญา จากพนักงานสถาบันการเงินอนาคตไกล แต่ตัดสินใจกลับบ้านมานั่งเหลาไม้สร้างโคม
“พ่อครูสล่าสุขเขาขอมาว่าอยากให้เรากลับมาสืบทอดวิชาภูมิปัญญานี้ เพราะถ้าไม่มีเราก็ไม่มีใครสืบทอดแล้ว ตอนนั้นผมบอกว่าจะทำยังไง ผมทำงานเขียนหนังสือเขียนปากกามาเขาว่าไม่เป็นไร ภูมิปัญญาอยู่ที่เขา เขาต้องการให้เราสืบสาน”
นับแต่นั้นมา มณฑลจึงกลายเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำโคมล้านนาของตระกูลปินตาสี และได้เผยแพร่ไปยังคนที่สนใจทั่วบ้านวังหม้อและอำเภอต่าง ๆ ในลำปาง กลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ไปสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อส่งต่อความรู้นี้สู่คนรุ่นต่อไป
เดิมโคมมีหน้าที่ส่องสว่างให้บ้านเรือนโดยใช้ไฟจากผางประทีป แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไฟนั้นก็ค่อย ๆ มอดดับลงตาม
กาลเวลา ความเจริญเข้ามาเปลี่ยนให้โคมกลายเป็นหลอดไฟดวงใหม่ เปรียบได้กับมณฑล แสงไฟดวงนี้ที่เปล่งแสงสว่างมาเนิ่นนาน ยังคงรอดวงไฟดวงใหม่ที่พร้อมจะเปล่งประกายแทน
“แค่มีพรสวรรค์ไม่ได้ ต้องมีพรแสวงด้วย”
มีเด็กมาขอร่ำเรียนวิชาทำโคมกับสล่ามณฑลมากมายหลายร้อยคน แต่จะมีเพียงแค่คนสองคนเท่านั้นที่ฝ่าด่านอันอาศัยความอดทนนี้ไปได้
“จะหาที่เป็นชิ้นเป็นอันยากจริง ๆ ตอนนี้ที่มีลูกศิษย์ทำได้เป็นหลัก ๆ ประมาณเจ็ดคน เจ็ดคนนี่คือสุด ๆ แล้วนะ เมื่อก่อนคนที่มาเรียนคือมากินมานอนมาหุงข้าวที่บ้านผมเป็นเดือน ๆ พอจบแล้วเขาก็นำไปประกอบอาชีพ”
การที่ป่านมาขอเรียนโคมล้านนาจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับมณฑล เพราะที่นี่นับว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดกว้างพร้อมรับทุกคนที่สนใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มณฑลสนใจคือน้ำอดน้ำทนของป่าน
“ป่านถือว่าใช้ได้ มีความอดทนดี ตอนนี้ก็จะดูไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน” มณฑลพูดยิ้ม ๆ
เมื่อถามถึงการนำงานภูมิปัญญามาทำให้ร่วมสมัย ในฐานะพ่อครูและปราชญ์ชาวบ้านผู้สืบสานมรดกภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ รู้สึกอย่างไรที่คนรุ่นใหม่นำงานเก่ามาสร้างใหม่มณฑลตอบกลับด้วยเสียงไร้ความกังวลใจว่า
“ไม่เป็นไรเลย ของพวกนี้ไม่หายไปหรอก เด็กสมัยใหม่เขาประยุกต์ไม่ให้สูญหายไป งานเหล่านี้ยังคงคุณค่าเหมือนเดิมแล้วเพิ่มสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาให้ดีขึ้น ผมภูมิใจในตัวเด็กเหล่านี้”
มณฑลเชื่อว่าการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น กลับกันถ้ามัวแต่กลัวว่าความเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาทำลายของเดิม ของเหล่านั้นก็มีแต่สูญหายลงตามกาลเวลา
“พ่อครูของผมเคยสอนว่า ‘ของบ่กินฮู้เน่า ของบ่เล่าฮู้ลืม’ ของทุกอย่างน่ะ ถ้าอมไว้มันก็หาย ถ้าคายมันก็ยังอยู่ยังรอด” มณฑลทิ้งท้าย
✲ สิ่งเร้า ✲
ที่มีผลต่อการส่องแสง
สถาปัตยกรรมเมืองเก่า รถม้า และชามตราไก่ คือสิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเมื่อพูดถึงจังหวัดลำปาง ทว่าสำหรับป่าน ผู้เกิดและเติบโตที่นี่มองว่าเมืองลำปางมีอะไรมากกว่านั้น แต่คนภายนอกหรือแม้แต่คนภายในเองก็อาจจะยังมองไม่เห็น เลยไม่ได้นำเสนอศักยภาพของท้องถิ่นอย่างเต็มที่
“ลำปางมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมโดดเด่นมากเลยนะ มีเรื่องเล่า มีที่มาต่าง ๆ เยอะมาก ผมฟังจากผู้ใหญ่มาคือเก็บไม่หมดเลยครับ ถ้าถามว่าลำปางมีอะไรเด่น บางคนก็บอกรถม้าบ้าง อีกช่วงวัยหนึ่งก็บอกวัด บ้านโบราณ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอาหาร งานหัตถศิลป์ โห มีเยอะมากเลย ไม่รู้ว่าจะชูจุดไหนให้เด่นดี”
ณ วันนี้ความโดดเด่นเหล่านี้อาจถูกความเงียบปกคลุมสิ่งที่ลำปางขาดคือความน่าดึงดูดที่ทำให้คนทุกกลุ่มอยากเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ ป่านเชื่อว่าถ้าใครลองมาสัมผัสลำปางสักครั้งหนึ่งก็จะรู้สึกชอบและผูกพันได้ไม่ยาก ในฐานะคนรุ่นใหม่ ป่านจึงอยากสร้างสรรค์เมืองลำปางให้มีสีสันมากขึ้น และเชื่อว่าหากคนลำปางร่วมมือกัน จะทำให้เมฆหมอกแห่งความเงียบเหงาหายไปได้
เช่นเดียวกับวันแรกที่ป่านกลับบ้าน วันนั้นท้องฟ้าสดใสไร้เมฆหมอก แต่บรรยากาศที่เงียบสงบไร้ลมฝนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ความเงียบ ความเคว้ง เป็นบทเรียนสำคัญให้ป่านอยากพัฒนาตัวเองและพัฒนาเมืองไปพร้อมกัน
ลงมือทำเพื่อ “พัฒนา” : ป่านกำลังใช้คัตเตอร์เหลาไม้ไผ่ ดัดแปลงเป็นรูปร่างอย่างตั้งใจเพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นโคมล้านนาร่วมสมัย
“เหมือนอยู่กลางทะเลเลยครับ มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีฟ้า” ป่านหัวเราะเมื่อนึกถึงตอนกลับบ้านใหม่ ๆ
แม้จะบอกว่าตนเองผูกพันกับบ้านเกิดและอยากจะอยู่สร้างตัวที่นี่มากกว่า ทว่าความรู้สึกก็คงเหมือนหลายคนที่กลับบ้านมาเริ่มต้นใหม่ อาจเคว้งบ้างเป็นธรรมดา เพราะการทำงานคนเดียว ขายของคนเดียว ประกอบกับตัวเองยังไม่มีความรู้ด้านธุรกิจ เลยไม่รู้จะต้องเดินต่อทางไหน
“บางทีก็เหงานะถ้าเราไปคนเดียวหรือเก่งคนเดียว คือมันไปไวจริง แต่อาจจะทำให้สิ่งรอบตัวเราเคลื่อนที่ตามไม่ทัน ดังนั้นผมว่าถ้าเราไปด้วยกันมันจะไปได้ไกล”
ป่านให้คำนิยามกับตัวเองว่าเป็นเคสคนกลับบ้านที่ “โชคดี”
เพราะมีครอบครัวคอยสนับสนุน และมีต้นทุนด้านความรู้และวัตถุดิบ คือภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของบ้านเกิด ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อมกับการสร้างอาชีพ
“เรามีแหล่งที่มา แหล่งที่อยู่ มีครอบครัวพร้อมซัปพอร์ตพร้อมขนาดนี้แล้ว ดังนั้นก็อยู่ที่ว่าเราอยากจะทำไหม อย่างเดียวเลยครับ”
ธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องทดลองไม่ต่างจากงานคราฟต์ วิธีนี้ทดลองแล้วไม่เวิร์กก็เปลี่ยนวิธีใหม่ ช่วงแรกอาจมีสะดุดและติดขัดบ้าง ทว่าวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือต้องลองเจ็บ
“ช่วงแรก ๆ ตอนที่ผมนำผลงานไปวางขายที่ตลาด ผมไม่รู้หรอกว่างานจะขายได้ไหม ไม่ได้คาดหวังด้วย แต่หลังจากที่นำโคมไปวางสักเดือนสองเดือน ก็ทำให้รู้ว่างานโคมของเราไม่เหมาะกับตลาดกลุ่มนี้”
ความโชคดีเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อป่านมีรุ่นพี่ที่ทำงานคราฟต์ในจังหวัดลำปางคอยให้คำปรึกษา จนถึงตอนนี้ในระยะเวลาไม่ถึง ๑ ปีที่ป่านกลับบ้านมา ทุกอย่างก้าวกระโดดกว่าที่คิด แม้พูดไม่ได้เต็มปากว่าธุรกิจเล็ก ๆ ของตนมั่นคงแล้ว แต่สำหรับป่าน มันคือความรู้สึกเกินคาด
“ผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ดันเราตลอดว่า ‘เฮ้ย ป่าน ลองทำแบบนี้ไหม ทำแบบนี้สิ’ เขาจะมีแนวคิดต่าง ๆ มาเสนอตลอด เลยเป็นเหมือนทางลัดให้โตเร็วขึ้น ผมไม่ใช่คนเก่งนะ แต่มีคนคอยสนับสนุนและถ่ายทอดประสบการณ์ให้ ผมเลยเดินได้เร็ว”
เมื่อตนเองเดินได้เร็วแล้ว ป่านก็อยากจะพารอบข้างไปด้วยกันและไปได้ไกล สิ่งที่ป่านคิดถึงลำดับถัดมาจึงเป็นชุมชนและเมืองลำปาง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของป่านและ “กองคราฟต์” กลุ่มคนคราฟต์ผู้มีใจอยากขับเคลื่อนเมืองด้วยสิ่งที่ตัวเองถนัด
“เป้าหมายหนึ่งของธุรกิจ ผมอยากให้โคมล้านนาที่ผมทำดึงดูดคนให้มาเที่ยวลำปาง อยากให้เขามาเจอบรรยากาศในแบบที่ไม่เคยสัมผัสได้จากที่ไหน แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่อย่างน้อยผมก็อยากให้งานเหล่านี้เป็นกิมมิกเล็ก ๆ ที่คนจะคิดถึงเมื่อนึกถึงลำปางครับ”
✲ กอง (สู่) แสงไฟ ✲
ภายในบ้านไม้สองชั้นแบบร่วมสมัยที่สว่างไสวด้วยโทนแสงไฟสีส้ม ให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวล และสโลว์ไลฟ์ เหมือนงานคราฟต์ที่จัดแสดงเรียงรายอยู่ในร้าน Papacraft : craft & coffee แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหนัง ถ้วยชามเซรามิก เทียนหอม ผ้าทอ กระเป๋าเพนต์มือ หรือแม้แต่โคมล้านนาร่วมสมัยและเครื่องประดับของป่าน ทุกอย่างล้วนทำด้วยใจจากช่างที่รักพวกเขา และเราก็เห็นถึงกระบวนการที่พิถีพิถัน อันเกิดจากใจรักในงานเหล่านั้นได้ไม่ยาก
ป่านได้พบกับช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล และขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล ที่นี่ สองคนพ่อลูกเจ้าของร้าน Papacraft ซึ่งเป็นร้านคราฟต์และคาเฟ่ ในชุมชนกองต้า ขณะนั้นป่านกำลังหาร้านนั่งทำวิทยานิพนธ์จนมาเจอร้านนี้ด้วยบรรยากาศที่เป็นใจและบทสนทนาที่เป็นกันเองของช้างกับขวัญ ทั้งสองฝ่ายจึงได้แลกเปลี่ยน บอกเล่าถึงโปรเจกต์ที่แต่ละคนมี ช้างเองก็มีไอเดียอยากรวมกลุ่มคนทำงานคราฟต์ ป่านเองก็มีไอเดียทำงานคราฟต์ ทุกอย่างช่างเหมาะเจาะและลงตัวดังพรหมลิขิต
“ผมชื่นชมงานของป่านมาก เห็นไอเดียครั้งแรกก็ชอบเลยชอบตรงที่เขาทั้งสืบสานมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรม แล้วก็สร้างสรรค์ใหม่เป็นงานของตัวเองได้โดยที่ไม่ได้ละทิ้งเค้าเดิมด้วยนะ” ช้างพูดถึงป่านด้วยความชื่นชม พร้อมมองไปยังซุ้มโคมล้านนาร่วมสมัยของป่านที่ประดับตกแต่งอยู่ตรงมุมร้าน
“กาดกองคราฟต์ ณ กองต้า” เป็นตลาดงานคราฟต์ เกิดจากแนวคิดของช้างที่อยากจะมีพื้นที่ศูนย์กลางให้คนคราฟต์ลำปาง งานคราฟต์ลำปาง และคนเสพงานคราฟต์ (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คนลำปาง) มาเจอกัน โดยคำว่า “กอง” มีความหมายตามภาษาคำเมืองว่า “ถนน” หรือคำกริยาแปลว่า “เรียกหา” ส่วนในภาษากลางมีความหมายว่า “กลุ่มก้อน” ดังนั้น “กองคราฟต์” จึงมีความหมายว่าถนนสายคราฟต์ของกลุ่มคนคราฟต์
“ผมเชื่อว่าสินค้าที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็น original idea ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะมีมูลค่า มีราคา กองคราฟต์เลยเป็นเรื่องของการแสวงหาพื้นที่ของคนทำงานคราฟต์ด้วยกัน พื้นที่ที่เราจะได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แล้วเราคิดว่าคนที่จะมาเดินเสพงานหรือซื้องานฝีมือต้องการบรรยากาศแบบนี้ในการโอบอุ้ม”
เพราะยังไม่มีพื้นที่สำหรับคนเหล่านี้จริง ๆ เสียที ช้างเลยเสนอไอเดียนี้กับผู้ใหญ่ในชุมชนกองต้า จนเมื่อวันที่ไอเดียกลายเป็นจริง ช้างและขวัญจึงชักชวนคนคราฟต์ในลำปางที่พอจะรู้จัก รวมถึงป่านมาร่วมด้วยช่วยกัน ก่อร่างสร้างตลาดแห่งนี้ขึ้นมาภายใน ๒ สัปดาห์
“ป๊าเพิ่งมาบอกเราว่าจะมีตลาด ก่อนตลาดจะเริ่มเพียง ๒ อาทิตย์เท่านั้น ทำยังไงให้ทันวะ” ขวัญหัวเราะเมื่อพูดถึงการเริ่มต้นของกาดกองคราฟต์
“เราต้องจัดตลาดทั้งตลาด หน้าตาออกมาจะเป็นแบบไหนก็ยังไม่มีใครรู้ จะใช้ใครบ้างก็ยังไม่รู้ เราเลยเรียกทุกคนที่เรารู้จัก ซึ่งตอนนั้น Papacraft เริ่มเป็นคราฟต์สโตร์บ้างแล้ว เราก็รู้จักคราฟต์แมนที่มาร่วมกับเราบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะ โดยหลัก ๆ ก็จะมีพี่เบิร์ดที่ทำแบรนด์เทียนหอม อาจารย์เจน-ศรีชนา เจริญเนตร คอยเป็นที่ปรึกษา และมีป่าน ที่รู้จักตอนมาทำทีซิสที่ร้าน ก็มาช่วยกันทำและกลายเป็นกำลังหลัก”
ขวัญเรียนจบด้านการออกแบบมา จึงมีหน้าที่ดูแลด้านการออกแบบบูท โลโก้ และเต็นท์ทั้งหมดที่จะใช้ในตลาด โดยมีป่านกับเพื่อนรุ่นน้องอีกคนหนึ่งในกองคราฟต์คอยช่วยเรื่องกราฟิกและโซเชียลมีเดียเพื่อโปรโมตตลาด
“ป่านและคนอื่น ๆ มาขลุกอยู่ที่นี่ทุกวัน ช่วยกันทำ sculpture ทำเต็นท์ต่าง ๆ คือทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและกำลังทำอะไรอยู่”
บรรยากาศสองข้างทางย่านกองต้าเต็มไปด้วยเรือนไม้โบราณและอาคารพาณิชย์ ทั้งรูปแบบไทยล้านนา จีน ยุโรป พม่า อันควรค่าแก่การเก็บรักษา แม้วันธรรมดาถนนสายนี้อาจดูเงียบเหงาปราศจากผู้คน ทว่าทุกเย็นวันเสาร์และวันอาทิตย์กลับกลายเป็นกาดกองต้า ถนนคนเดินที่ครึกครื้นด้วยคนและข้าวของมากมาย ซึ่งในมุมเล็ก ๆ ของกาดแห่งนี้ ถนนสายคราฟต์ยาวประมาณ ๒๐ บูทขายของ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแลนด์มาร์กที่เชื้อเชิญให้ผู้คนมาเดินเล่นปล่อยใจ ชมงานคราฟต์สวย ๆ ในจังหวัดลำปาง
นอกจากเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กลุ่มคนคราฟต์แล้ว กองคราฟต์ยังถือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสและให้คำปรึกษาสำหรับคนคราฟต์ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ได้สอนด้วยตำราหรือวิชาบริหารธุรกิจแต่อย่างใด มาจากประสบการณ์ที่ช้างและขวัญฝ่าฟันกันมาตั้งแต่ Papacraft แล้วล้วน ๆ
“เรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองนี่แหละ พอเราลองทำไม่เวิร์ก ก็รู้แล้วว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ก ก็ทดลองใหม่ ทดลองซ้ำ ๆ ถามว่าทุกวันนี้เจอวิธีที่เวิร์กหรือยัง ก็ยังทดลองกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบอยู่แล้ว เรารู้แค่ว่าสิ่งที่ทำวันนี้มันดีกว่าครั้งที่แล้ว รู้แค่นั้นเอง แล้วก็หาวิธีใหม่ที่ดีกว่าครั้งเดิมไปเรื่อย ๆ” ขวัญกล่าว
ป่านเองก็เป็นหนึ่งในคนที่กลับบ้านมาทำงานคราฟต์โดยไม่มีความรู้ด้านธุรกิจใด ๆ แต่ผ่านมาได้ด้วยประสบการณ์ที่ตัวเองพบเจอ โดยมีคำแนะนำของช้างและขวัญ รวมถึงพี่ ๆ ในกองคราฟต์เป็นกองหนุน ซึ่งขวัญคิดว่าตรงนี้ที่ทำให้กองคราฟต์เหมือนเป็นพื้นที่ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ให้คนลำปาง ใครอยากขายงานคราฟต์อะไรก็มาทดลองที่นี่ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มาครั้งแรกแล้วจะประสบความสำเร็จเลย แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้เรียนรู้กลับไปคือประสบการณ์
“ป่านเองจะเหมือนเราตอนเรียนจบ แรก ๆ เราก็ยังไม่มีความรู้เรื่องราคาหรือธุรกิจ ป่านก็จะรู้สึกว่างานแค่นี้ ใช้เวลาทำไม่มาก ขายราคานี้ได้ แต่อาจจะลืมมองว่าถ้าเกิดต่อไปต้องไปวางที่อื่น หรือว่าคนซื้อ ๑๐ ชิ้นแล้วจะลดเท่าไร ตรงนี้เราก็จะช่วยไกด์ให้ได้”
“ต่อยอด” โคมล้านนา : โคมล้านนาร่วมสมัยที่ดาลใจจากโคมดาวเรียงรายอยู่บนผนัง เป็นการต่อยอดจากโคมล้านนาให้ทันสมัย แต่คงอัตลักษณ์เดิมไว้
“กองคราฟต์” พื้นที่งานหัตถศิลป์ลำปาง : ขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล (ซ้าย) กำลังร่วมกับป่านออกแบบประติมากรรมรูปไก่ เพื่อใช้สะท้อนอัตลักษณ์ของ “กาดกองคราฟต์ ณ กองต้า” ตลาดงานคราฟต์ในเมืองลำปาง
สำหรับช้างเองเขาคิดว่าสิ่งที่ลำปางมีคือวัตถุดิบที่ดี ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี แต่ปัญหาคือลำปางนั้นเงียบเกินไป เพราะอาจจะยังไม่รู้วิธีปรุงวัตถุดิบชั้นเลิศนี้ออกมา ช้างคิดว่าสิ่งที่เขามีตอนนี้คืองานคราฟต์ เลยอยากพัฒนางานคราฟต์ก่อน แน่นอนว่าอาจไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจลำปางดีขึ้นในพริบตาเดียว แต่ในอนาคตช้างก็อยากให้ “คนลำปาง” ช่วยกันทำให้เมืองลำปางดีขึ้น
“ผมทำกองคราฟต์ ไม่ได้มองภาพแค่กองคราฟต์หรือแค่คนทำงานฝีมือ แต่ผมมองภาพใหญ่ คือการขับเคลื่อนเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายคืออยากให้นักท่องเที่ยวต้องแวะเมืองลำปางแล้วจะเริ่มจากอะไรล่ะ พวกเรามีความสามารถทางด้านงานคราฟต์ ก็เริ่มจากงานคราฟต์ก่อน แต่งานคราฟต์อย่างเดียวก็ไม่สามารถผลักดันหรือขับเคลื่อนเมืองทั้งเมืองได้ ทว่างานคราฟต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดคนให้อยากเข้ามาดูงานคราฟต์ลำปาง อยากจะมาเดินตลาดงานคราฟต์ที่นี่ได้เช่นกัน”
ความเงียบของลำปางกำลังส่งเสียงให้คนลำปางลุกมาทำอะไรสักอย่างให้บ้านเกิด แล้วตอนนี้พวกเขา กองคราฟต์ กลุ่มก้อนคนมีใจรักในงานคราฟต์ กำลังรวมตัวเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คืออยากสร้างเมืองลำปางให้น่าอยู่แบบสร้างสรรค์อาจจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่ากาด แต่ภายภาคหน้าพวกเขาอยากจะสร้างเครือข่ายคนคราฟต์ให้เชื่อมโยงกับคนลำปางทุกอาชีพ
“เงียบแล้วต้องมีรายได้ เมืองเงียบสงบน่าอยู่ แต่เงียบสงัดมันวังเวง จริงไหม” ช้างทิ้งท้ายก่อนจะเดินไปต้อนรับลูกค้าต่อ
✲ แสงไฟดวงเล็ก ✲
ที่เปล่งประกาย
เกือบ ๑ ปีที่ผ่านมา แสงไฟดวงเล็กอย่างป่าน ได้รับเชื้อเพลิงที่เรียกว่า “กำลังใจ” และ “กำลังซัปพอร์ต” คอยเติมเชื้อไฟให้เปล่งประกายอยู่เสมอ ป่านจึงอยากส่งต่อความรู้สึกนี้ผ่านผลงานของตัวเองแก่คนที่ตั้งใจกลับบ้าน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นทำอะไร ให้เกิดไอเดียหรือแรงบันดาลใจได้
“ผมอยากเป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านเกิดนะพยายามสื่อสารงานภูมิปัญญาเหล่านี้ให้ง่ายที่สุด เพื่อให้คนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอเห็นเราแล้วเขาเริ่มมีแรงบันดาลใจจะทำบางอย่างในแบบของเขา อันนี้คิดว่าก็ถึงเป้าของผมแล้ว ผมอยากไปเติมเต็มจุดนั้น”
ป่านยังตั้งใจอีกว่า เมื่อมีความรู้ในระดับหนึ่งและเรียนรู้รูปแบบการทำโคมล้านนากับมณฑลครบ ๒๙ แบบแล้ว ตนเอง อยากจะจัดเป็นนิทรรศการรวบรวมรูปแบบโคมล้านนาทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยที่ตนพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ผู้คนที่สนใจ ทั้งนี้ความตั้งใจสูงสุดของป่านคือการสร้างโคมอัตลักษณ์ให้กับ “คนลำปาง”
“ผมอยากทำโคมอัตลักษณ์สำหรับคนลำปางขึ้นมา” ป่านเผยความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“แต่ตอนนี้ผมยังหาไม่เจอเหมือนกัน ยังคงเรียนรู้ไปเรื่อย ๆบางทีก็จับลายนู้นมาใส่ลายนี้ ตอนนี้ก็ลองปรับรูปแบบลายไส้หมูดู เพราะเขาว่าเป็นลายสากลของลำปาง อาจจะต้องศึกษามากกว่านี้เพื่อพัฒนาต่อ ผมว่ารูปแบบมันมีอีกเยอะ เราอาจจะไม่ได้ยึดแค่ลวดลายเดียว”
สำหรับป่าน “ลำปาง” คือผู้คน จุดเด่นที่แข็งแรงของลำปางคือคน ป่านเลยอยากออกแบบโคมให้มีรูปแบบและลวดลายที่สะท้อนถึงคนลำปาง
“ผมว่าลำปางเป็นเมืองที่คนเป็นมิตร ดังนั้นลวดลายใดเพียงลวดลายเดียวอาจจะไม่สามารถสะท้อนถึงคนลำปางได้ ผมอยากให้งานของผมสะท้อนถึงคนลำปางว่ามีลักษณะนิสัยยังไง เป็นมิตรยังไง เมตตาต่อกันยังไง อยากให้ลวดลายนั้นรู้สึกได้ถึงคนลำปางจริง ๆ โดยที่ไม่ได้มอบให้ใครเป็นพิเศษ แต่มอบให้คนลำปางทุกคน”
ปัจจุบันป่านพยายามหาช่องทางอื่น ๆ นอกจากการไปวางจำหน่ายที่กาดกองคราฟต์หรือประชาสัมพันธ์ลงโซเชียลมีเดียของร้าน เพื่อเพิ่มโอกาสให้โคมล้านนาร่วมสมัยนี้สื่อสารไปยังกลุ่มคนที่สนใจ เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างขึ้น โดยไปเข้าร่วมกับงานหัตถศิลป์ชุมชนท่ามะโอและออกนิทรรศการต่าง ๆ
ร่วมมือกันสร้าง “คราฟต์ลำปาง” : (จากซ้าย) ช้าง-ประสิทธิ์ และขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล สองพ่อลูกเจ้าของร้าน Papacraft และผู้ร่วมก่อตั้งกาดกองคราฟต์ ชักชวนป่านมาร่วมงานกองคราฟต์ พื้นที่สร้างรายได้และโอกาสให้กลุ่มคนทำงานคราฟต์
“ชุมชนท่ามะโอเองก็ผลักดันเรื่องสินค้าหรืองานหัตถกรรมลำปางอยู่เหมือนกัน ป้าต้อย ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพยายามจะหาพวกแม่ ๆ ป้า ๆ ที่ชอบทำงานหัตถกรรมพื้นบ้านมารวมตัวกัน แล้วผมก็ได้เข้าร่วมกับเขาด้วย ก็ไม่ได้ติดอะไรครับ เพราะถือว่าลวดลายหรือที่มาของเราก็มาจากชุมชนท่ามะโอทั้งนั้น ดังนั้นงานเราก็อยู่ในซีรีส์ที่ร่วมกับชุมชนได้ ชุมชนเองก็คอยผลักดันส่งเสริม หาสื่อมาประชาสัมพันธ์ด้วย แล้วผู้ใหญ่เองก็ค่อนข้างจะเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ ๆ ครับ”
ชุมชนท่ามะโอเป็นชุมชนเล็ก ๆ ในอำเภอเมืองลำปางที่ผ่านยุคสมัยมาอย่างยาวนานตั้งแต่เขลางค์นคร ล้านนา เรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ จึงขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยวโบราณ ทั้งวัดวาอารามเก่าแก่ เมืองเก่า บ้านไม้สัก ทว่าด้านงานหัตถกรรมหัตถศิลป์ชุมชนอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
ต้อย-สดศรี ขัตติยวงศ์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ วัย ๗๐ ปี หนึ่งในผู้สนับสนุนป่านตั้งแต่โคมสายลมชิ้นแรกวางขาย จนถึงตอนนี้ก็มักชักชวนป่านออกงานอยู่เสมอเพื่อนำเสนองานหัตถกรรมของท่ามะโอให้เป็นที่รู้จัก และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อย่างป่านจะทำให้คนหันมาสนใจหัตถกรรมพื้นบ้านร่วมสมัยมากขึ้น
“ป่านเป็นเด็กที่ฉีกรูปแบบคนรุ่นใหม่ เขายังอิงกับของเก่าโดยพยายามหาจุดเด่นของที่นี่ แล้วเอามาฉีกรูปแบบออกไป”
ต้อยชอบที่มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม และรู้สึกทึ่งเมื่อพวกเขานำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดและพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยและผู้คนในปัจจุบัน
“ตั้งแต่นี้ไปมันต้องเอาอันเก่ามาขัดเกลา แล้วทำให้ใหม่ขึ้นมา เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นอยู่ต่อไปได้”
ด้วยผู้ที่ทำงานชุมชนในเวลานี้มีแต่วัยเกษียณ การที่คนรุ่นใหม่หันมาช่วยงานพัฒนาชุมชนบ้าง ถึงแม้จะไม่ได้เต็มตัวเพราะภาระงานอื่น ๆ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่คนทั้งสองรุ่นจะทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ
“รู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่เดินเข้ามาหา เราก็จะปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่ถนัด”
สำหรับป่านเองก็เชื่อว่า การกลับบ้านของตนสามารถจุดประกายไฟบางอย่างให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้ เป็นเหมือนการสะกิดความทรงจำเก่า ๆ ที่อาจจะลืมเลือนไปแล้วให้กลับคืนมา
“อย่างหนึ่งที่ผมสัมผัสได้เมื่อกลับบ้าน คืองานคราฟต์ของผมทำให้คนรุ่นเก่าที่มองมาเขารู้สึกมีพลังที่อยากจะทำงานของเขาต่อ เขาเป็นผู้ใหญ่ก็อยากจะช่วยเหลือเราทุก ๆ ทางอยู่แล้ว แต่เราก็เข้าไปเติมเต็มเขาได้เหมือนกัน ผมสัมผัสได้ว่ามันทำให้เขารู้สึกมีพลังขับเคลื่อนตัวเอง ขับเคลื่อนเป้าหมายของเขา และขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกันได้ด้วย เหมือนเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างคนสองช่วงวัย คนรุ่นเก่าก็กลับมามีไฟอีกครั้ง
เพราะมีความหวังว่าคนรุ่นใหม่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”
อ้างอิง
หนังสือ
จตุพร วชิรญาโณ. (๒๕๖๒). “โคม : แนวคิด ประวัติศาสตร์ และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบล้านนา”. วารสาร สันติศึกษาปริทรรศน์, ๗(๑), ๓๓-๔๕.
เว็บไซต์
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). “ชุมชนท่ามะโอ”. สืบค้นจาก https://smartdastaapp.dasta.or.th/place/539