เส้นบางๆ ของชุดไทย
Hidden (in) Museum
เรื่อง : วรรณณิภา ทองหน่อหล้า (นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
แรกพ้นบันไดเลื่อนสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย
ปรากฏอาคารสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่เพิ่งเฉลิมฉลองครบ ๑ ศต-วรรษในปี ๒๕๖๕ เมื่อครั้งนั้นมีบทบาทเป็นกระทรวงพาณิชย์ แล้วส่งไม้ต่อให้มิวเซียมสยามปรับบทบาทใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้นับแต่ปี ๒๕๕๑ เพื่อบอกเล่ารากเหง้าของชาวไทยโดยมองผ่านกลุ่มชนเขตบางกอก
ในอาคารสามชั้นจัดแสดงทั้งนิทรรศการหมุนเวียนและถาวร ซึ่งส่วนถาวรกล่าวถึง “นิทรรศการ : ถอดรหัสไทย” เสนอวิวัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อ อาหาร การแต่งกาย การศึกษา ฯลฯ เส้นทาง ๑๔ ห้องนิทรรศการมีการสลับใช้นวัตกรรมหลากหลายด้วยแสงสีเสียงตามวิถีเสน่ห์ของมิวเซียมสยามเพื่อดึงดูดความสนใจ เบื้องหน้าความสวยงามนี้ก็ไม่ลืมทิ้งร่องรอยคำถามให้ผู้ชมขบคิดถึงแง่มุมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยซึ่งนำเสนออย่างคมคาย โดยเฉพาะประเด็นความเป็นไทย
ความสนใจของผู้เขียนอยู่ที่ห้องซึ่งจัดแสดงเครื่องแต่งกายแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ชุดโขนอันวิจิตรที่จำลองเครื่องทรงต้นของกษัตริย์โบราณ หรือชุดไทยพระราชนิยมอย่างชุดราชปะแตน เสื้อคอกระเช้าของเด็ก ๆ จนถึงแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ที่เบียดเสียดบนอัฒจันทร์ในห้องเล็ก ดูเป็นความคุ้นเคยอันแปลกตา
ทว่าลำดับชั้นบันไดก็แฝงชนชั้นฐานะให้ผู้ช่างสังเกตรับความรู้สึกเอง
ยังมีหุ่นสวมชุด “เชวา” ชุดของเด็กสาวกะเหรี่ยงเป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเหมือนหลบอยู่ในมุมอับที่สปอตไลต์ส่องไม่ถึง
การจัดแสดงไม่เน้นอักษรบรรยายนัก จึงเปิดทางให้ความรู้สึกโลดแล่นเต็มที่
พลันสายตาจับจ้องการออกแบบ สีสัน และลวดลายของชุดไทยประยุกต์แล้ว ทำให้สัมผัสได้ถึงความแปลกแยก ประกอบกับคำถามที่มีไม่รู้จบเกี่ยวกับ “ชุดไทย” เพราะหุ่นสวมเสื้อสูทปกตั้งแขนยาวที่ยืนเด่นบนอัฒจันทร์นั้นมีอิทธิพลมาจากชุดทหารตะวันตก ผ้านุ่งโจงกระเบนก็เป็นผ้าลายจากอินเดีย หรือผ้าแพรจากจีนยังได้การยอมรับเป็นชุดไทย แต่ชุดชนเผ่าที่อยู่บนแผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน และยังสวมใส่เป็นกิจวัตรในปัจจุบัน ทั้งพัฒนารูปแบบจนกลายเป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่...กลับไม่ชัดเจน
ชุดชนเผ่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะได้การยอมรับเป็นชุดไทย
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ภายในโบสถ์มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่สวยงามมาก