เบอร์ไน (Burnay)
จาก “วีแกน”
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ย้อนกลับไปราวกลางปี ๒๕๖๑/ค.ศ. ๒๐๑๘ ผมมีโอกาสเยือนภูมิภาค “อีโล-คอส” (Ilocos) ซึ่งตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือของเกาะลูซอน หนึ่งในเกาะหลักของประเทศฟิลิปปินส์
กางแผนที่ดูจะพบว่าภูมิภาคอีโลคอสแทบจะอยู่ “เหนือสุด” ของประเทศ และที่นี่มี “เมืองมรดกโลก” คือ “วีแกน” (Vigan City/คนท้องถิ่นออกเสียง “บีกัน/bee gan”) ตั้งอยู่
เมืองวีแกนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒/ค.ศ. ๑๙๙๙ ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอีโลคอสซูร์ (Ilocos Sur) เมืองนี้กลายเป็นเมืองสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นผลผลิตโดยตรงจากยุคที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปนยาวนานกว่า ๓๐๐ ปี (ปี ๒๑๑๔-๒๔๔๑/ค.ศ. ๑๕๗๑-๑๘๙๘)
นอกจากกรุงมะนิลาที่สเปนเข้าไปตั้งเป็นศูนย์กลางการปกครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์ พวกเขาบางส่วนยังมุ่งขึ้นเหนือมาสร้างเมืองทางด้านเหนือของเกาะลูซอน อันเป็นเส้นทางเดินเรือไปยังจีนตอนใต้ เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) และญี่ปุ่นที่นี่จึงมีผู้อพยพเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกับคนพื้นเมืองมาแต่โบราณ
ชื่อ “บีกัน” ก็เป็นภาษาฮกเกี้ยน แต่เมื่อชาวสเปนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน กลับออกเสียง “บีกัน” เป็น “วีแกน” ทำให้เมืองนี้ใช้ชื่อ Vigan มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ : National Museum of the Philippines
ต่อมาความสำคัญของวีแกนในฐานะเมืองท่าและสถานีการค้าที่เพิ่มขึ้น จึงมีการสร้างเมืองแบบยุโรปผสมเอเชีย ตามแนวแม่น้ำสำคัญสามสายที่ไหลไปลงทะเลจีนใต้ด้านทิศตะวันตกคือ อะบรา (Abra), โกวันเทส (Govantes) และเมสตีโซ (Mestizo) โดยมีศูนย์กลางคือตัวเมืองที่อยู่ระหว่างแม่น้ำโกวันเทสและเมสตีโซ
เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ถนนหนทางที่ปูด้วยแผ่นหิน เสียงฝีเท้าม้าที่ย่ำกุบกับไปมา บรรยากาศเมืองเก่าคล้ายทางตอนใต้ของยุโรป ก็ได้กลายเป็นเสน่ห์ที่เหมาะกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบไม่มีที่ติ
ถนนในเขตเมืองเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ถูกกำหนดให้สัญจรได้ด้วยการเดิน รถม้า จักรยาน และรถบรรทุกขนาดเล็กของร้านค้าในพื้นที่เท่านั้น ขณะที่อาคารพาณิชย์สไตล์โคโลเนียลต่างถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟ เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บ้านเรือนหลายแห่งกลายเป็นโรงแรมหรูหรา ๕ ดาว
ในตอนกลางวัน ผู้มาเยือนอาจรู้สึกหลุดเข้าไปในเมืองเก่าของยุโรป แต่ตอนกลางคืน บางคนก็คงอดคิดไม่ได้ว่าบรรยากาศราวกับอยู่ในภาพยนตร์สยองขวัญ ด้วยชาวเมืองวีแกนส่วนใหญ่กลับบ้านพักผ่อนกันอย่างเงียบเชียบตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. ร้านรวงก็ปิดไปโดยปริยายเหลือแต่อาคารเก่าวาววามอยู่ในแสงไฟยามราตรี
ผมอาศัยจักรยานเช่าจากเกสต์เฮาส์ตระเวนสำรวจไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นอาสน-วิหารนักบุญเปาโล หรือจัตุรัสซัลเซโด (Plaza Salcedo) แต่กลับไปได้ของที่ระลึกชิ้นสำคัญจากโรงงาน RG Potteryนอกเมือง
ของที่ว่านั้นคือ “ไห” ที่ปั้นและเผาโดยช่างท้องถิ่นของวีแกน ซึ่งปัจจุบันยังหลงเหลือเปิดเตาดำเนินกิจการอยู่ไม่กี่เจ้า และเจ้าของกิจการส่วนใหญ่เป็นคนฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน
กิจการนี้ทำกันมาอย่างน้อยก็สี่ชั่วอายุคน
คนฟิลิปปินส์เรียกไหแบบนี้ว่า “เบอร์ไน” (burnay) ปั้นด้วยดินเหนียวเกรดดีที่พบในวีแกนเท่านั้น และใช้ประโยชน์ได้สารพัด ไม่ว่าจะบรรจุน้ำ ไวน์ เกลือ หรือหมักน้ำปลา
ช่างปั้นท่านหนึ่งยังพาผมเดินเข้าไปในครัว ชี้ให้ดูว่าพวกเขาใช้ไหใบหนึ่งหมักน้ำปลา ส่วนอีกใบหนึ่งเอาไว้เก็บเกลือสมุทรโดยไหชนิดนี้มีจุกไม้ปิด จึงป้องกันความชื้นได้อย่างดีเยี่ยม
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงโรงน้ำปลาในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามที่ใช้ประดิษฐกรรมถังไม้ท้องถิ่นมาเป็นภาชนะหมักน้ำปลา แล้วคิดต่อไปถึงโรงน้ำปลาในภาคกลางของไทยที่ใช้โอ่ง
แต่ละที่ต่างมีภูมิปัญญาการสรรค์สร้างภาชนะใส่ “ของเน่า” ในแบบของตัวเอง
ที่เมืองวีแกน เบอร์ไนกลายเป็นจุดขาย ด้วยนักเดินทางประเภทซอกแซกก็มักจะปักหมุดโรงปั้นไหที่มีอยู่ไม่กี่แห่งไว้ในโปรแกรม อานิสงส์นี้ยังเผื่อแผ่ไปถึงคนขับรถม้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือกระทั่งไกด์ท้องถิ่นอีกหลายคน เบอร์ไนยังทำให้เราตระหนักว่า วีแกนไม่ได้มีแค่อิทธิพลของศาสนาคริสต์และเจ้าอาณานิคมสเปน แต่ยังมีเรื่องราวของคนท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนธรรมดาอยู่ด้วย
จำได้ว่าตอนนั้น ปัญหาเดียวของผม (และนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่ไปถึงโรงปั้นไหอีกหลายคน) คือน้ำหนักที่จะโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบินเที่ยวกลับกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยข้าวของอย่างอื่นหมดแล้ว ดังนั้นทางแก้อย่างเดียวที่จะเอาเบอร์ไนกลับบ้านได้ คือต้องเลือกซื้อใบเล็กที่สุด
โชคดีว่าเบอร์ไนเองได้รับการพัฒนาในฐานะสินค้าที่ระลึกมาตั้งแต่ทางการฟิลิปปินส์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีการผลิตเบอร์ไนไซซ์จิ๋วน่ารักจำหน่ายด้วยราคาแปลงเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว ๕๐ บาท
ทุกครั้งที่ผมเห็นไหเบอร์ไนบนโต๊ะทำงาน นอกจากตึกเก่าเมืองวีแกนจะปรากฏขึ้นในความทรงจำแล้ว ภาพช่างปั้นที่กำลังขะมักเขม้นทำงานในโรงงานนอกเมืองก็จะผุดขึ้นตามมาด้วย
ได้แต่หวังว่ากิจการของพวกเขาจะรอดพ้นจากโรคระบาด และกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง