ป่าชายหาด (beach forest) ตั้งอยู่ตรงรอยต่อของทะเลกับแผ่นดินเป็นแนวแรกที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมและไอเกลือ สังคมพืชไล่ระดับความสูงจากหน้าหาดขึ้นมาถึงในแผ่นดิน ตั้งแต่ทุ่งหญ้าชายฝั่ง ไม้พุ่มชายหาด ป่าไม้ชายหาด ต่อเนื่องไปถึงสังคมพืชบนแนวสันทราย เช่น
ป่าละเมาะชายฝั่ง ทุ่งน้ำซับ ป่าพรุ
หาดท้ายเหมือง พังงา
ป่าสันทรายชายฝั่ง
ผืนสุดท้ายของคาบสมุทรไทย
EP.01
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ, ประเวช ตันตราภิรมย์
“ชายหาด”
ถ้าให้หลับตานึกภาพ คุณมองเห็นอะไร ?
หาดทราย เตียงผ้าใบ ร้านอาหาร บังกะโล เต็นท์ บ้านพัก หรือโรงแรมหรูสูงหลายสิบชั้นที่มองท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกได้กว้างไกลสุดสายตา
แต่ที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กลับ “นำเสนอ” ภาพถ่ายทางอากาศของธรรมชาติชายหาดอันน่าตื่นตาตื่นใจ
แนว “รอยต่อของป่า” ต่างประเภท หรือ ecotone ปรากฏเป็นความหลากหลายของสีสันอันงดงามของพันธุ์ไม้แบ่งเขตเป็นชั้น ๆ คล้ายธงหลากสี ไล่จากส่วนที่อยู่ติดทะเลอันดามันเป็นป่าชายหาด ถัดเข้าไปในแผ่นดินเป็นป่าสันทรายชายฝั่ง ลึกเข้าไปเป็นป่าชายเลน หากมีสายตามองละเอียดยังแยกย่อยเป็นไม้พุ่ม ทุ่งหญ้า ทุ่งน้ำซับ ฯลฯ
ผู้รู้ด้านพฤกษศาสตร์บอกว่าป่าที่ตั้งอยู่บนเนินทรายชายฝั่งลักษณะเดียวกันนี้เคยปกคลุมทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ แต่ปัจจุบันที่ยังสมบูรณ์ที่สุดตามธรรมชาติ และถูกรบกวนน้อยจากกิจกรรมของมนุษย์ หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น บนคาบสมุทรไทย การขยายตัวของชุมชน เมือง การท่องเที่ยว ทำให้ผืนป่าสูญหายไปอย่างไม่มีวันกลับ
ชื่อบ้านนามเมือง “ท้ายเหมือง”
ในอดีตพื้นที่บริเวณท้ายเหมืองยังไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย จนเมื่อมีการขุดพบแหล่งแร่ดีบุกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพหลั่งไหลเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพเป็นกุลี (กรรมกรใช้แรงงานในเหมืองแร่) การทำเหมืองแร่ในยุคนั้น มีทั้งการทำเหมืองรู เหมืองหาบ และเหมืองฉีด โดยการทำเหมืองฉีดจะต้องทำรางเหมืองสำหรับล้างแร่และแยกแร่ ชาวบ้านจึงมาร่อนแร่หาเลี้ยงชีพบริเวณท้ายรางเหมือง ทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัว โดยตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่บริเวณท้ายรางเหมืองต่อมาเมื่อชุมชนใหญ่ขึ้น ราชการจึงตั้งเป็นตำบล เรียกว่าตำบลท้ายเหมือง
อ้างอิงเว็บไซต์ https://sites.google.com/site/thayhemuxng/home/chux-ban-nam-meuxng/ban-thayhemuxng
ผู้ให้ข้อมูล นายสุนทร แซ่ตัน ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
ความหลากหลายของสังคมพืชที่แบ่งเขตกันเป็นชั้้นๆ บน dune หรือเนินทราย ที่ดูเหมือนแล้งกันดาร แต่ความจริงเนินทรายมีคุณสมบัติดูดซับกักเก็บน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต
หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ขนาบด้วยทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกกับคลองน้ำกร่อยด้านทิศตะวันออก มีความยาวชายหาด ๑๓.๖ กิโลเมตร ส่วนแคบที่สุดเพียง ๓๕๐ เมตร
ปลายปี ๒๕๖๔ มีข่าวว่าประเทศไทยจะนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอันดามันเป็น “มรดกโลก”
เอกสารนำเสนอบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (tentative list) ของการเป็นแหล่งมรดกโลกระบุว่า ที่นี่เป็นชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่งแหล่งสุดท้ายที่ยังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมอย่างสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดเสมอเหมือนภูมิประเทศเป็นชายหาดและสันทรายทอดยาวต่อเนื่องที่มีสังคมพืชชายฝั่ง
รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ นักพฤกษศาสตร์ผู้เขียนคุณลักษณะของป่าผืนนี้ในเอกสาร บอกกับเราว่าปัจจุบันเขตร้อนของโลกมีป่าสันทรายชายฝั่งเหลืออยู่ไม่มากนักป่าทุ่งน้ำซับนอกเขตอนุรักษ์ก็ถูกทำลายหมดแล้ว ถ้าที่นี่ถูกทำลายลงอีกก็จะหาดูที่ไหนไม่ได้
ทุกวันนี้การศึกษาเรื่องป่าสันทรายชายฝั่งยังอยู่นอกสารบบการเรียนการสอนป่าไม้ ทั้ง ๆ ที่ภูมิประเทศลักษณะนี้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมในคาบสมุทรไทย
เป็นเหตุผลให้เราเดินทางมาที่หาดท้ายเหมือง
สำรวจป่าสันทรายชายฝั่งดั้งเดิมที่ถูกรบกวนน้อยที่สุดบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในหน้าฝน บางบริเวณเกิดน้ำท่วมเป็นป่าทุ่งน้ำซับ
ก่อเกิด
สันทราย
ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงมาเลเซียมีลักษณะภูมิประเทศเป็นคาบสมุทร ประกอบด้วยชายฝั่งทะเลทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก มีเทือกเขาพาดผ่านกลางเป็นกระดูกสันหลัง เป็นต้นธารสายน้ำที่พัดพาตะกอนจากแผ่นดินลงสู่ทะเล และด้วยอิทธิพลของคลื่นและลม จึงเกิดการพัดพาตะกอนทรายกลับมาสะสมตัวบนฝั่งเป็น “เนินทรายชายฝั่ง” (coastal sand dune)
หากเนินทรายชายฝั่งทอดตัวเป็นแนวขนานไปกับชายฝั่งก็เรียกว่า “สันทราย” (beach ridge)
หนังสือ หาดทราย คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม อธิบายกระบวนการเกิดเนินทรายเป็นแนวยาวไว้ว่า เกิดจากลมพัดทรายไปในทิศทางเดียวกัน ความเร็วลมที่พอเหมาะอยู่ระหว่าง ๑๖-๓๒ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องพัดนานต่อเนื่องเป็นฤดูกาลอยู่หลายเดือน
เมื่อเกิดเนินทรายขึ้นมาลูกหนึ่ง เนินทรายยังเกิดการเคลื่อนเลื่อนตัว
ลมจะพัดเม็ดทรายจากเนินทรายแรกให้ปลิวต่อ ลอยตกลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทำให้เนินทรายแรกค่อย ๆ เคลื่อนตัว แล้วเนินทรายใกล้หาดลูกใหม่ก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา กระบวนการนี้ดำเนินต่อไปไม่รู้จบยาวนานนับพัน ๆ ปี จนเกิดเป็นเนินทรายที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กระทั่งหมดฤทธิ์แรงลม ระหว่างแนวเนินทรายแต่ละลูกเป็นร่องลำราง ทำหน้าที่ระบายน้ำออกสู่ชายฝั่ง
รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ผู้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายกับเราระหว่างการเดินทางเลาะเลียบไปตามชายฝั่งทะเลภาคใต้ว่า เนินทรายตามศัพท์อังกฤษเรียกว่า dune (ดูน) ระหว่างแต่ละดูนคั่นด้วยพื้นที่ต่ำเรียกว่า slack (สแล็ก)
เนินทรายจะมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันตามสภาพธรณีวิทยาของพื้นที่ ภาวะคลื่นและลมในแต่ละภูมิภาค ยกตัวอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราชมีเทือกเขานครศรีธรรมราช พาดผ่านกลางพื้นที่ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกติดอ่าวไทยเกิดเนินทรายทอดตัวเป็นแนวสันดอนทรายสองสันดอน สันดอนแรกใกล้แนวเทือกเขาเรียกว่า “สันทรายใน” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม ส่วนสันดอนที่ ๒ อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเรียก “สันทรายนอก” เป็นแนวที่ตั้งของตำบลท่าเรือ ขึ้นไปทางเหนือเป็นเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช จนถึงตำบลปากพูน วัดมหาธาตุวรวิหารซึ่งเป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดก็ตั้งอยู่บนแนวสันทรายนอกนี้
เนินทรายชายฝั่งมีพัฒนาการยาวนานนับหมื่นปี จากการกัดเซาะเทือกเขาสูงตอนในทำให้เกิดตะกอนทับถมงอกเป็นแผ่นดินที่ปะทะกับแนวฝั่งทะเล พร้อมกับเกิดสังคมพืชที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นปกคลุมพื้นที่
โดยปรกติแล้วเนินทรายหรือดูนเป็นพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วมขังเหมือนในร่องระหว่างดูน เมื่อผู้คนเลือกพื้นที่ตั้งถิ่นฐานจึงมักเลือกพื้นที่บนดูน สภาพธรรมชาติดั้งเดิมบนเนินทรายจึงถูกแปรเปลี่ยนเป็นชุมชน ก่อร่างสร้างเมืองพัฒนาเรื่อยมาและติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นตามแนวสันทรายเดียวกัน ส่วนพื้นที่ต่ำระหว่างสันทรายซึ่งมีลำน้ำก็ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก
บรรดาเมืองสำคัญที่เป็นชุมชนโบราณบนคาบสมุทรไทย เช่น ไชยา สิงหนคร สทิงพระ ล้วนตั้งอยู่บริเวณแนวสันทราย แม้แต่เส้นทางถนนโบราณก็สร้างบนสันทราย เช่น เส้นทางที่เชื่อมเพชรบุรีกับไชยา เส้นทางจากนครศรีธรรมราชลงมาสทิงพระและสงขลา
อาจารย์อธิบายต่อว่า “ลักษณะสำคัญของภาคใต้คือเป็นคาบสมุทรที่มีสันดอนทราย ฝั่งตะวันออกเกิดจากการยกตัวของเปลือกโลก ฝั่งตะวันตกเกิดจากการยุบจมของเปลือกโลก แนวสันดอนทรายจึงพบฝั่งตะวันออกมากกว่า แต่ขณะที่ฝั่งตะวันตกจมลงก็มีบางแห่งที่เกิดสันดอนทรายขนาดเล็กขนานกับชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณเหนือภูเก็ตขึ้นมา ทั้งที่เกาะคอเขา เกาะพระทอง ซึ่งตั้งขนานกับชายฝั่ง รวมทั้งที่หาดท้ายเหมือง”
ลักษณะเฉพาะทางธรณีวิทยา สภาพหาดทรายและเนินทรายชายฝั่งเป็นตัวกำหนดสังคมพืชที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้
แนวสีเขียวแน่นทึบตรงกลางภาพเป็นดงไม้ในบริเวณ slack ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ตั้งอยู่ระหว่างสันดอนทราย ด้านบนกับด้านล่างของภาพ เป็นบริเวณที่เรียกว่า coastal bog มีหญ้าและไม้พุ่มขึ้นบนพื้นทราย บางจุดเป็นแอ่งน้ำซึ่งไหลซึมมาจากน้ำที่สันดอนทรายเก็บไว้
ผักบุ้งทะเล [Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.] มีระบบรากและลำต้นสานเป็นร่างแหทอดไปตามพื้นทราย ช่วยยึดหน้าทรายไว้
สังคม
พืชชายหาด
เวลาประมาณบ่าย ๓ โมงครึ่งของวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ อยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูลมสงบกับฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คะเนด้วยสายตาหน้าหาดตรงที่พวกเรายืนอยู่กว้างราว ๑๐ เมตร จุดสุดท้ายที่คลื่นไถลขึ้นมาถึงเป็นพื้นต่างระดับเหมือนคลื่นจงใจตกแต่งหาดให้เกิดขั้นบันได
ปรารพ แปลงนาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง บอกว่าตรงนั้นเป็นจุดสุดท้ายที่คลื่นไถลขึ้นมาถึงในเวลาน้ำขึ้น ตามธรรมชาติชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงตามระดับน้ำขึ้นน้ำลงในรอบวัน ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงในรอบเดือน และฤดูกาลในรอบปี บางช่วงชายหาดจะหดสั้น บางช่วงก็แผ่กว้าง
หาดท้ายเหมืองซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงฤดูลมสงบที่สายลมหลักพัดออกนอกฝั่งอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ชายหาดจะแผ่กว้างเป็นโอกาสที่ผักบุ้งทะเล [Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.], ถั่วคล้า [Canavalia rosea (Sw.) DC.], หญ้าลอยลม [Spinifex littoreus (Burm.f) Merr.] ฯลฯ จะเจริญเติบโตปกคลุมหาด
เมื่อถึงช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม คลื่นที่มีความรุนแรงจะพัดเข้าหาด ระดับน้ำทะเลค่อย ๆ สูงจนมาถึงแนวไม้พุ่ม เช่น รัก-ทะเล เตยทะเล แนวผักบุ้งทะเลจะค่อย ๆ หายไป คลื่นกวาดทรายออกไปในทะเล ชายหาดจะเริ่มชัน เป็นแบบนี้ไปจนกว่าจะถึงฤดูลมสงบ ทรายที่กองอยู่หน้าหาดจะค่อย ๆ ถูกพัดขึ้นมา เมื่อทรายแห้งลมจะพัดทรายขึ้นมาจนถึงแนวผักบุ้งทะเลทรายอีกส่วนหนึ่งถูกลมพัดเลยขึ้นไปสะสมบนเนินทราย
พืชบริเวณติดหาดทรายต้องเผชิญหน้ากับแรงลม ไอทะเล แสงแดด ฯลฯ จึงต้องปรับตัวให้สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ บางชนิดทอดเลื้อยแนบกับพื้น บางชนิดแตกรากค้ำยันลำต้นที่ต้องขึ้นบนพื้นทรายไม่ให้ล้มลง บางต้นลักษณะคดงอไปตามแรงลม สรรพชีวิตริมหาดทรายจึงมีลักษณะเฉพาะและหลากหลาย
เตยทะเล [Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze] ต้นไม้ทนแรงลมในกลุ่มสังคมไม้พุ่มชายหาด ต้นสูงประมาณ ๕-๖ เมตร
ขณะที่ใครหลายคนหลับตานึกถึงแดนสวรรค์บนหาดทรายสถานที่พักตากอากาศที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ในธรรมชาติชายหาดคือแผ่นดินแนวหน้าที่ไม่คงตัวมีแต่เม็ดทรายร่วน ๆ ที่เผชิญทั้งคลื่นลมแรงและไอเค็มจากท้องทะเลตลอดเวลา
มีพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่ผ่านการคัดสรรตามวิวัฒนาการให้ทำหน้าที่เป็นทหารด่านหน้าอยู่ตรงนี้...ที่เรียกว่าป่าชายหาด
ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องอนุกรมวิธานและชีววิทยาของพืชบนหาดทรายและสันทรายชายฝั่งมานานหลายสิบปีอย่างอาจารย์กิติเชษฐ์แย้งว่า
“ผมอยากเรียกว่า ‘สังคมพืช’ มากกว่า ‘ป่า’ นะ เพราะเวลาเรียกป่า เรามักนึกถึงแต่ป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ ในการศึกษานิเวศวิทยาของพืชปัจจุบัน เราจะไม่เรียกแล้วว่านี่คือป่าชายหาด นี่ป่าชายเลน นี่ป่าเต็งรัง เพราะมันทำให้เกิดอคติในการศึกษา สำหรับนักพฤกษศาสตร์แล้วเราจะเรียกว่าสังคมพืชคือพืชอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาอยู่ด้วยกันตามธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้หลากหลายอยู่ในบริเวณเฉพาะแห่งหนึ่ง มีคาแรกเตอร์ มีกลุ่มของพวกมัน ไม่สำคัญหรอกว่าจะต้องเป็นต้นไม้ใหญ่”
อธิบายถึงตรงนี้อาจารย์ก็เหลียวไปเห็นพืชเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง
“ต้นไม้ชนิดนี้น่าสนใจมาก ชื่อว่าฮิดโดรฟิลลักซ์ (Hydrophylax maritima L.f.) ไม่มีชื่อไทยหรอก แต่ผมเรียกว่าเข็มทะเลกระจายพันธุ์อยู่ทางซีกโลกเหนือตั้งแต่ชายฝั่งบังกลาเทศ พม่าแล้วมาหยุดการกระจายพันธุ์ที่คาบสมุทรไทย ชนิดนี้เมื่อก่อนกระจายพันธุ์ไปถึงภูเก็ต ตรัง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วครับ เพราะว่ากลายเป็นรีสอร์ตที่พักหมดแล้ว ท้ายเหมืองอาจเป็นที่สุดท้ายในซีกโลกเหนือที่ฮิดโดรฟิลลักซ์กระจายพันธุ์มา
อาจารย์กิติเชษฐ์ชี้ว่าการเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมไว้มีความสำคัญทางธรรมชาติวิทยา เพราะเป็นการเก็บ “ข่าวสาร” สำคัญที่ทำให้คนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต
พันธุ์พืชหลากหลายในสังคมไม้พุ่มชายหาด ฮิดโดรฟิลลักซ์ (Hydrophylax maritima L.f.) ซึ่งกระจายพันธุ์ มาจากทางซีกโลกเหนือ และพบที่หาดท้ายเหมืองเป็นแหล่งสุดท้ายบนคาบสมุทรไทย
“ท้ายเหมืองเป็นชายฝั่งที่อยู่ติดกับมหาสมุทรใหญ่ คือมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งไม่มีเกาะ ฉะนั้นลมจะแรง เราจะเห็นการแบ่งโซนของพันธุ์พืชชัดเจน ตั้งแต่โซนแรกที่เรียกว่าสังคมทุ่งหญ้าชายฝั่ง หรือ grassland vegetation แต่ไม่ได้มีเฉพาะต้นหญ้านะ มันมีพืชเล็ก ๆ หลายชนิดที่พบกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก เช่น ผักบุ้งทะเล หญ้าลอยลม ถั่วคล้า การดูว่าป่าสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ใช่ดูต้นไม้ใหญ่ แต่ต้องดูพืชที่ปกคลุมพื้นดิน ไล่ไปตั้งแต่พืชเล็ก ๆ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่มีหรือไม่มีอะไร แต่สิ่งสำคัญกว่าคือธรรมชาติเป็นอย่างไร เราสนใจศึกษาว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”
โดยทั่วไปพืชในสังคมทุ่งหญ้าชายฝั่งจะมีระบบรากและลำต้นสานเป็นร่างแหทอดไปตามระดับพื้นทราย บางชนิดลำต้นงอกแขนงออกเพื่อลงรากขึ้นต้นใหม่ คอยยึดหน้าทราย ผักบุ้งทะเลก็มีคุณสมบัติแบบนี้
เมื่อพืชล้มลุกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้เบิกทางให้พืชชนิดอื่น ๆ ตามเข้ามาลงหลักปักฐาน
“ถัดเข้าไปเป็นเขตที่เรียกว่าสังคมไม้พุ่มชายหาด หรือ scrub vegetation เป็นไม้ขนาดกลาง เช่น จิกทะเล [Barringtonia asiatica (L.) Kurz], ปรงทะเล (Cycas edentata de Laub.), สารภีทะเล/กระทิง (Calophyllum inophyllum L.), พลับพลึงทะเล (Crinum asiaticum L.) รวมถึงเตยทะเล [Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze] ที่มีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นให้ขึ้นได้ดีบนพื้นทราย พันธุ์ไม้พวกนี้ยังอยู่ในโซนด้านหน้าที่ต้องสัมผัสกับไอทะเลเต็มที่ พวกนี้ต้องเก่ง ต้องคอยรับน้ำทะเลที่สาดกระเซ็น เป็นแนวกันชนให้กับแผ่นดินชั้นในผิวใบมีชั้นไขมันเคลือบคล้ายฉาบขี้ผึ้งหรือมีใบหนา อย่างต้นรักทะเล โกงกางหูช้าง หรือเตยทะเล
“ท้ายเหมืองมีความสำคัญ เพราะมันเป็นเหมือนแคปซูลเก็บข้อมูลส่งผ่านข้ามกาลเวลา ทำให้เราเข้าใจถึงการกระจายพันธุ์ของพืชที่มีมาแต่อดีต”
ปรงทะเล (Cycase dentata de Laub.)
พลับพลึงทะเล (Crinum asiaticum L.)
พื้นที่ชายหาดมีพืชพรรณหลากหลายมากกว่าที่คิด และมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาผืนแผ่นดินและระบบนิเวศชายฝั่ง ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปที่มีชายหาดจึงออกกฎหมายคุ้มครอง เพราะสังคมพืชกลุ่มนี้เปราะบางรากตื้น โตช้า น่าเสียดายว่าในประเทศไทยแทบไม่เคยให้ค่า มิหนำซ้ำยังมองเป็นวัชพืช ปรับสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นจนแทบไม่เหลือ
ถึงตอนนี้อาจารย์พาเราเดินออกมามองทางด้านข้างแนวต้นไม้ที่ขึ้นเบียดเสียดกันอยู่ติดหน้าหาด
“คุณมองเห็นแนวสามเหลี่ยม เหมือนเป็นลิ่มหันปลายแหลมออกสู่ทะเลไหม”
ภาพที่เรามองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ต้นไม้ไล่ระดับค่อย ๆ สูงขึ้นจากชายหาดเข้าหาแผ่นดิน นักพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อธิบายต่อว่า
“มันเริ่มจาก grassland สู่ scrub เป็นแนวเฉียง ไล่ระดับกันไป เพราะเป็นทางลม มีรักทะเล [Scaevola taccada (Gaertn.) Roxb.] จิกทะเล เตยทะเล ไปถึงหูกวางที่เป็นไม้ยืนต้นลำต้นสูงใหญ่ ต้นไม้ในแนวนี้ต้องรับลมเต็มที่ รับอิทธิพลจากไอทะเลโดยตรง จะมีคุณสมบัติทนความแห้งแล้ง กันดาร ส่วนที่อยู่ถัดเข้าไปในโซนที่ ๓ จะเข้าสู่สังคมป่าไม้ชายหาด หรือ woodland vegetation เป็นพันธุ์ไม้ที่ปรกติไม่ทนไอเกลือจากทะเลโดยตรง ต้องมีต้นไม้อื่นคอยบังลมไว้ ต้นไม้ที่พบ เช่น พะยอม (Shorea roxburghii G. Don), เสม็ดชุน [Syzygium antisepticum (Blume) Merr. & L.M. Perry]”
เพิ่งรู้ว่าต้นหูกวางก็เป็นพืชชายหาดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการอาศัยบนแผ่นดินบุกเบิก ทุรกันดาร ตั้งแต่ทนแล้ง ทนลม ทนเค็ม อีกทั้งยังพร้อมสรรพด้วยทรงพุ่มที่สวยงาม
“สรุปแล้วถ้าถามว่าป่าชายหาดคืออะไร คำตอบคือป่าที่มีสังคมพืชสามโซน ไล่ขึ้นมาตั้งแต่ต่ำสุด grassland ขึ้นมาเป็น scrub และ woodland ขึ้นอยู่กับว่าทนลมแรงแค่ไหน ทนไอเกลือมากแค่ไหน ต่างกันไปแต่ละโซน”
ก่อนจะย้ำว่าป่าชายหาดที่สมบูรณ์จริง ๆ แบบนี้แทบจะไม่เหลือแล้วในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“รับประกันเลยว่ามีที่ท้ายเหมืองเท่านั้น ถึงจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่ว่ามีความสมบูรณ์มาก”
สังคมพืชชายหาดที่ไล่ระดับความสูงจนเห็นเป็นแนวเฉียงขึ้นมาจากหน้าหาด
บริเวณหาดท้ายเหมืองรับคลื่นลมทะเลจากทางทิศตะวันตก โดยมีป่าชายหาดเป็นหน้าด่านช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ป่าชายหาดในพื้นที่อื่น ๆ มักถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยเฉพาะโครงการปลูกป่าทดแทนด้วยต้นสนทะเลที่ไปแย่งพื้นที่การแพร่กระจายของสังคมพืชดั้งเดิม
Seed Bank
และสนทะเล
ผู้รุกราน
ปัญหาสำคัญสำหรับป่าชายหาด แม้แต่ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ คือโครงการปลูกป่าทดแทน ทำให้สังคมพืชดั้งเดิมถูกทำลาย
“ใต้เม็ดทรายของป่าชายหาดที่เรากำลังยืนอยู่ คือธนาคารเมล็ดพันธุ์ หรือ seed bank ยกตัวอย่างเมล็ดถั่วคล้าที่ร่วงหล่นจากต้นจะถูกฝังเก็บไว้ในหาดทราย มันจะยังไม่งอกจนกว่าสภาพแวดล้อมเหมาะสม ไม่ต่างจากแคปซูลกาลเวลาที่เก็บรักษาเอ็มบริโอหรือต้นอ่อนเล็ก ๆ ของพืชเอาไว้ นี่คือธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญมาก และไม่แน่ว่าถ้านำต้นไม้ชนิดเดียวกันมาจากที่อื่นอาจจะไม่ขึ้นที่นี่
“การตัดป่ายังไม่น่ากลัวเท่าปลูกป่า เพราะถ้าตัดป่าแล้วปล่อยไว้ ธรรมชาติจะค่อย ๆ คืนกลับมาตามปัจจัยสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ seed bank ที่อยู่ในดินมากมาย แต่การปลูกป่าจะทำลายสังคมพืชดั้งเดิมไปตลอดกาล เพราะทันทีที่ปลูกเราก็เข้าไปแย่งที่ว่างที่มี seed bank ตามธรรมชาติ เรากำลังเข้าไปขัดขวาง natural selection หรือกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ”
อาจารย์กิติเชษฐ์พาเราเดินจากหน้าหาดกลับเข้ามาในบริเวณเขตบ้านพักของอุทยานแห่งชาติซึ่งร่มรื่นด้วยกลุ่มต้นสนทะเลที่มักพบตามชายหาด
ลำต้นสูงโปร่งและความงามของทิวสนยามต้องลมเป็นภาพสบายตา แต่แล้วอาจารย์ก็เริ่มชี้ให้เห็นอันตรายของความงามที่เราไม่เคยนึกถึง
“ต้นสนทะเลไม่ใช่พืชดั้งเดิมของชายหาด นี่เป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าสนทะเลต้องอยู่คู่กับหาดทรายชายทะเล ต้นสนทะเลที่เติบโตสูงใหญ่จะบังแสง ทำให้พืชที่เป็นสมาชิกของสังคมทุ่งหญ้าชายฝั่งหายไปหมด อีกอย่างหนึ่งคือใบสนทะเลมีลักษณะของเซลล์แข็งมาก ย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ยากมาก เมื่อร่วงลงมาทับถมกันก็เป็นอุปสรรคต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นเมือง และจะกลายเป็นเศษผงสีดำแทรกในอนุภาคของทราย ทำให้ทรายกลายเป็นสีคล้ำ ในที่สุดสังคมพืชชายหาดจะหายไปหมด ลองสังเกตดูทุกวันนี้ริมชายหาดหลาย ๆ แห่งจะมีแต่สนทะเลที่คนเอามาปลูกเท่านั้น”
“สำหรับนักพฤกษศาสตร์เราอยากเรียกว่า ‘สังคมพืช’ มากกว่า ‘ป่า’ นะ เพราะเวลาเรียกป่า เรานึกถึงแต่ที่มีต้นไม้สูงใหญ่...มันทำให้เกิดอคติในการศึกษา”
รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
พันธุ์ไม้ที่ปรับตัวให้อยู่กับโขดหินรูปทรงแปลกตาบริเวณแหลมอ่าวขาม หรือเขาหน้ายักษ์ ปลายสุดของหาดท้ายเหมืองด้านทิศเหนือ
สอดคล้องกับที่ ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานเอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในเขตอันดามันตอนบนเป็นมรดกโลกเคยออกมาชี้ให้สังคมเห็นอันตรายจากโครงการปลูกสนทะเลซึ่งเป็นพืชรุกรานต่างถิ่น โดยสนทะเลนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยตั้งแต่ยุคสร้างทางรถไฟ เพื่อทำไม้ฟืนให้หัวรถจักร แต่ต่อมาขยายพันธุ์เองอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะริมทะเลที่ไม่มีธาตุอาหาร
บนหาดทรายที่พื้นดินขาดแร่ธาตุ กระบวนการหมุนเวียนธาตุอาหารขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย แต่สนทะเลสร้างไนโตรเจนเองได้ จึงเจริญเติบโตโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แถมใบสนทะเลที่ร่วงลงบนพื้นดินยังปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ (allelopathic agent) ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชอื่นด้วย
“สนทะเลเมื่อแรกปลูกจะขึ้นเป็นทิวสวยงามดี กลมกลืนกับพืชท้องถิ่น แต่หลังจากเติบโตขึ้นจะฆ่าพืชท้องถิ่นด้วยสารเคมีที่ผลิตออกมา เมื่อต้นสูงถึงระดับหนึ่งก็จะต้านลม ลำต้นขนาดใหญ่จะทิ้งน้ำหนักกดทับพื้นทราย แต่รากของต้นสนอยู่ตื้นแค่ระดับผิวหน้าดิน เมื่อถึงเวลาที่ลมพัดแรง คลื่นซัดเอ่อ ด้วยน้ำหนักที่มาก สุดท้ายสนทะเลก็จะล้มลง แถมงัดหน้าดินให้พังทลายอีก เป็นตัวการหนึ่งของการกัดเซาะชายฝั่ง แตกต่างจากชายหาดที่เปิดพื้นที่ให้ต้นรักทะเลเจริญงอกงามจะเกิดแนวสะสมเนินทรายชายฝั่ง เพราะฉะนั้นเวลาเห็นต้นสนทะเลล้มลง ก็ปล่อยให้ล้มไปเถอะครับ มันสร้างปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา แต่มีคนอีกมากมายที่ไม่เข้าใจ การบอกให้ตัดต้นสนทะเลจึงมีโอกาสถูกด่าสูง”
หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี ๒๕๔๗ โครงการฟื้นฟูป่าชายหาดหลายแห่งจัดทำขึ้นอย่างเร่งรีบ รวบรัด ขาดการศึกษาข้อมูลทางธรรมชาติวิทยา โดยเน้นการปลูกสนทะเล จึงสร้างความเสียหายให้กับสังคมพืชดั้งเดิมมากกว่าภัยธรรมชาติจากสึนามิเสียอีก
“สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก รวมทั้งมนุษย์เรา ต่างมายืน ณ เวลานี้พร้อมกันก็ด้วยกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ ถ้าเกิดมีใครขัดขวางกระบวนการนี้ในอดีต เราก็อาจไม่ใช่ผู้ที่ถูกเลือกมายืนอยู่บนโลกตอนนี้ อาจเป็นรูปแบบชีวิตอื่นหรือไม่มีเลยก็ได้ การเกิดภัยธรรมชาติ แม้จะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะหน้า และที่จริงปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้มีความสำคัญในการนำพาส่วนขยายพันธุ์ของพืชที่บินหรือเดินไปเองไม่ได้ ให้ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ในเวลาสั้น ๆ พายุขนาดใหญ่สามารถหอบเมล็ดพืชข้ามทวีปไปได้ด้วยซ้ำ รูปแบบเหล่านี้ยังเป็นความลับอยู่มาก”
โชคดีที่โครงการปลูกต้นสนทะเลไม่ได้เข้ามาที่หาดท้ายเหมืองมากนัก ป่าชายหาดที่นี่จึงฟื้นตัวกลับมาได้
“พรุ่งนี้ผมจะพาไปดูพืชที่กระจายพันธุ์ขึ้นมาจากทางใต้เขตมาเลเซีย แล้วมาหยุดการกระจายพันธุ์ที่ท้ายเหมือง”
>
อ่านต่อ EP.02