Image

ใต้สันดอนทรายเก็บน้ำไว้เต็มอิ่ม ทำให้มีไม้พุ่มและต้นไม้หลากหลายขนาดเติบโตขึ้นได้ แต่ต้นจะไม่สูงใหญ่

หาดท้ายเหมือง พังงา
ป่าสันทรายชายฝั่ง
ผืนสุดท้ายของคาบสมุทรไทย
EP.02

scoop

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ, ประเวช ตันตราภิรมย์

ป่าละเมาะ ชายฝั่ง
coastal heath forest เป็นสังคมพืชที่ขึ้นบนสันดอนทรายลึกเข้ามาในแผ่นดิน ได้รับไอทะเลน้อยกว่าบริเวณหน้าหาด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยพืชปรับตัวให้เจริญเติบโตบนพื้นทรายที่มีธาตุอาหารต่ำ มักเข้าใจผิดเรียกว่าทุ่งหญ้าสะวันนาแต่ความจริงเป็นสังคมพืชคนละประเภท  

มีน้ำ
ในทราย 

รุ่งขึ้นเราตื่นกันแต่เช้าตรู่

เป็นไปตามคำแนะนำของอาจารย์กิติเชษฐ์ที่ให้เราพักในอุทยานแห่งชาติแทนที่จะเป็นโรงแรมข้างนอก

“อย่าลืมจองที่พักทางเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ นอนที่อุทยานฯ ตอนเช้า ๆ ยังไม่ร้อนมาก จะพาเดินดูป่าด้านหลังมีหลายจุดน่าสนใจ แล้วตอนกลางวันจะได้ไปดูป่าพรุที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน” อาจารย์บอกเราตั้งแต่ก่อนเดินทางจากกรุงเทพฯ มาหาดท้ายเหมือง

จากบ้านพัก เราเดินผ่านอาคารที่ทำการอุทยานแห่งชาติหลังเก่า แล้วจึงเลี้ยวเข้าทางเดินในราวป่า ช่วงแรก ๆ สองข้างทางเป็นต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงา แต่สักพักก็เข้าสู่พื้นที่โล่งกว้าง แสงแดดสาดส่องลงมาเต็มที่ ทั่วบริเวณเป็นพื้นทรายขาวโพลน มีกอหญ้าขึ้นระบัดกระจัดกระจาย และมีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ

fern เฟิน

Image
Image
Image
Image

เฟินนาคราช [Davallia denticulata (Burm.f.) Mett. ex Kuhn] 
ตานซ่าน [Schizaea dichotoma (L.) Sm.] ขึ้นเป็นดงแน่นใต้ร่มเงาไม้
หัวว่าว [Phymatosorus scolopendria (Burm.f.) Pic.Serm.]
กระแตไต่ไม้ [Drynaria sparsisora (Desv.) Moore] ซึ่งมักพบขึ้นเกาะกิ่งไม้ในป่าอื่น แต่ที่นี่พบขึ้นบนพื้นทราย

สันดอนทรายประกอบด้วยธาตุซิลิกาเป็นหลัก มีธาตุอาหารสำหรับพืชน้อยมาก พืชที่เติบโตในพื้นที่ลักษณะนี้ต้องอาศัยความช่วยเหลืออย่างยิ่งยวดจากเชื้อราไมคอร์ไรซา

“ตรงนี้คือป่าละเมาะชายฝั่ง หรือ coastal heath forest เป็นสังคมพืชบนสันทรายชายฝั่งที่อยู่ลึกเข้ามาจากชายหาดด้านนอก ได้รับไอทะเลน้อยกว่าป่าชายหาดมาก สังคมพืชจึงแตกต่างกัน และต้นไม้ที่เห็นอยู่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่บนทรายที่ไม่มีแร่ธาตุอะไรเลย”

เป็นทรายสะอาดขาวของแร่ซิลิกาที่ลมพัดพาขึ้นมาสะสมเป็นเนินทรายกว้างใหญ่

“ตามธรรมชาติแล้วพืชต้องอาศัยแร่ธาตุสำคัญ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม  ถามว่าในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงแบบนี้ ต้องเผชิญทั้งแดด ลม ไอทะเล บนพื้นยังมีแต่ทราย พืชจะเอาธาตุอาหารมาจากไหน  พืชใช้การหมุนเวียนธาตุอาหารภายในสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ด้วยกันและมีตัวช่วยสำคัญในการหมุนเวียนธาตุอาหารให้พวกพืชสามารถอยู่ได้ในดินที่แทบไม่มีธาตุอาหารเลย คือเชื้อราพวกไมคอร์ไรซา (micorrhiza) เติบโตจนกลายเป็นสังคมพืชป่าละเมาะชายฝั่ง  น่าเสียดายที่สภาพป่าดั้งเดิมแบบนี้ถูกละเลยและทำลายไปจนหมด เพราะไม่ได้อยู่ที่พื้นที่อนุรักษ์อย่างเขตอุทยานแห่งชาติ บางแห่งถึงกับติดประกาศว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม”

เข็ดตะขาบ Styphelia malayana

หาดท้ายเหมืองเป็นพื้นที่บรรจบกันของการกระจายพันธุ์พืชจากทางเหนือและทางใต้  ตัวอย่างสำคัญคือ เข็ดตะขาบ [Styphelia malayana (Jack) Spring] ไม้พุ่มหายากที่กระจายพันธุ์จากมาเลเซียขึ้นมาสุดที่หาดท้ายเหมือง ไม่พบในพื้นที่เหนือขึ้นไปกว่านี้

Image

ม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima Lindl.)

เมื่อได้ยินคำว่า “ป่าละเมาะ” คนทั่วไปมักคิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม อาจด้วยภาพจำว่าป่าละเมาะมีแต่ต้นไม้เล็ก ๆ
ลักษณะแคระแกร็นมากกว่าต้นไม้ใหญ่  ทั้งที่จริงป่าละเมาะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้เช่นเดียวกับป่าประเภทอื่น หลายแห่งชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นแหล่งอาหารและเลี้ยงสัตว์

แต่บนพื้นทรายขาวนี้ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะหาน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตได้จากไหน

“พื้นที่ตรงนี้เรียกอีกอย่างว่าพื้นที่น้ำซับชายฝั่ง (coastal bog) ผมเรียกสั้น ๆ ว่าบ็อก (bog) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่อยู่
ในสารบบการเรียนการสอนเช่นกัน  มักมีหญ้าขึ้นบนพื้นทราย นักวิชาการไทยชอบเรียกว่าทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งไม่ใช่ ความจริงพื้นที่นี้เป็นที่ลุ่มของเนินทรายชายฝั่งที่เรียกว่า slack จะมีน้ำใสกิ๊กออกมาจากสันทรายซึ่งกักเก็บน้ำไว้ บางจุดน้ำจะซึมออกมาจนเกิดเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่”

การศึกษาพื้นที่นํ้าซับชายฝั่ง (coastal bog) ในเขตร้อนของโลกมีน้อยมาก บางครั้งยังถูกเหมารวมว่าเป็นป่าชายเลน ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้เป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญของระบบนิเวศชายฝั่ง 

Image

สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia sp.) พืชกินแมลงขนาดเล็กจิ๋วที่ขึ้นในแอ่งน้ำ 

Image

แมลงปอบ้านใหม่กลม (Neurothemis fulvia) 

Coastal bog
พื้นที่น้ำซับชายฝั่ง

Image

ระหว่างสันดอนทรายซึ่งเป็นที่ต่ำมากจะกลายเป็นแอ่งน้ำจืดท่วมขังในฤดูฝน บริเวณนี้มีต้นไม้เด่นคือเสม็ดขาว [Melaleuca quinquenervia (Cav.) S.T. Blake] ขึ้นเป็นดง

Image

ความชุ่มชื้นของสันดอนทรายทำให้ตามโคนต้นเสม็ดขาวมีมอสและลิเวอร์เวิร์ตขึ้นคลุมเป็นพรมสีเขียว

อาจารย์อธิบายให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า เวลารดน้ำลงบนพื้นน้ำจะไหลผ่านไปจนหมด แต่ถ้าราดน้ำบนกองทราย ทรายจะเก็บน้ำไว้ตามช่องว่างระหว่างเม็ดทราย ดูนหรือสันทรายจึงไม่ต่างจากฟองน้ำ  พร้อมกับแสดงหลักฐานด้วยการใช้เท้าปาดบนหน้าพื้นทรายให้เราเห็นน้ำที่ซึมออกมาจากใต้พื้นทราย

“นี่เป็นคุณลักษณะการซับน้ำของสันทราย คุณจะเห็นว่าทรายข้างใต้มีความชื้น และยังมีสีเข้มที่เกิดจากการดูดซับน้ำไว้  เวลาฝนตก น้ำฝนจะถูกกักเก็บในสันทราย แทนที่จะไหลออกทะเลไปจนหมด ต้นไม้ถึงอยู่ได้ เพราะในเนื้อทรายมีแต่น้ำทั้งนั้น”

ขยายภาพทางธรณีให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเนินทรายหรือดูนแต่ละแห่งจะเก็บน้ำไว้และมีระดับน้ำใต้ดิน (ทราย) สูงต่ำต่างกัน ถ้าพื้นที่ slack ระหว่างดูนอยู่ในระดับเท่ากับน้ำใต้ดินก็จะเกิดเป็นบริเวณพื้นที่น้ำซับชายฝั่ง แต่ถ้า slack อยู่ต่ำกว่าก็จะกลายเป็นบึงหรือแอ่งน้ำ ถ้ามีสังคมพืชเกิดขึ้นในแอ่งน้ำก็อาจกลายเป็นป่าพรุ

“ไม่ว่าจะเป็นบ็อก บ่อน้ำ หรือป่าพรุ ต่างก็คือ slack เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธรรมชาติตามระบบดูนชายฝั่งอันซับซ้อน น่าตื่นตาตื่นใจ และทำให้เกิดสังคมพืชแบบต่าง ๆ ตามมา  ในต่างประเทศไม่มีใครทำลายดูนหรือสันทรายเพราะเป็นตัวเก็บน้ำจืด  เกาะอังกฤษไม่มีภูเขาสูง ผู้คนมีชีวิตอยู่กับน้ำที่ผุดออกมาจากสันทรายหรือน้ำที่ซึมขึ้นมาจากพื้นดินเวลาฝนตก  สำหรับประเทศที่อยู่ใกล้เทือกเขาสูงอาจมีน้ำจากหิมะบนภูเขาละลายลงมา แต่อย่างเนเธอร์แลนด์เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สเปน หรือประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ริมทะเลไม่มีภูเขาหิมะให้น้ำละลาย สันทรายจึงมีความสำคัญในแง่การเป็นแหล่งเก็บน้ำจืด”

ผืนป่าเดียวกันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ระหว่างหน้าแล้งกับหน้าฝนที่เจิ่งนองด้วยน้ำ

ภูมินิเวศเนินทรายชายฝั่ง

ประกอบด้วยเนินทราย หรือ dune (ดููน) หลายลูก คั่่นด้วยพื้นที่่ต่ำเรียกว่า slack (สแล็ก) ใต้เนินทรายชายฝั่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำเค็มใต้ดินเพราะน้ำจืดมีความหนาแน่นต่ำกว่า  สังคมพืชบนเนินทรายชายฝั่งแปรเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นที่ตั้งแต่บริเวณหน้าหาดกับบริเวณลึกเข้าไปในแผ่นดิน บริเวณที่ต่ำอาจมีแอ่งน้ำขังตามฤดูกาลหรือน้ำขังตลอดปี

ภาพวาดประกอบ : รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ

scrollable-image

Image

เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด หรือกุหลาบเดือยไก่ (Aerides odorata Lour.)

Image

เอื้องพรุ [Thrixspermum amplexicaule (Blume) Rchb.f.]

Image

เอื้องน้อย [Dendrobium pachyphyllum (Kuntze) Bakh.f.]

สำหรับนักพฤกษศาสตร์คนนี้ ประโยคที่เราได้ยินจนคุ้นหูว่า “มีป่า-มีน้ำ” จึงเป็นตรงกันข้าม

“เราต้องบอกว่ามีน้ำ-มีป่าถึงจะถูก เพราะว่าป่าไม่ได้เรียกน้ำ น้ำต่างหากเป็นฝ่ายเรียกป่า แต่เมื่อน้ำกับป่ามาอยู่คู่กันนาน ๆ ระบบธรรมชาติก็ค่อย ๆ เกื้อกูลกัน จึงทำให้ทั้งน้ำกับป่ารักษาสถานะอยู่ด้วยกันได้ แต่บางคนไม่เข้าใจ กลับมองแยกส่วนไปพูดว่าต้องมีป่าถึงจะมีน้ำ”

เราออกเดินสำรวจป่า ได้ยินเสียงจิ้งหรีดเรไรดังระงม

เรือนยอดของต้นไม้ในป่าละเมาะชายฝั่งมักเป็นทรงกระบอก ลำต้นสูง แต่เรือนยอดไม่แผ่ออกกว้าง  พรรณไม้วงศ์เด่นคือวงศ์ยาง (ที่ไม่ใช่ยางพารา) แต่เป็นยางนา สักนา หรือสะเดาป่า

จากการตรวจวัดสภาพอากาศของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมืองในคาบ ๓๐ ปี ระหว่างปี ๒๕๓๓-๒๕๖๓ พบว่ามีอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดเฉลี่ยตลอดปี ๓๑.๘ และ ๒๓.๒ องศาเซลเซียส

ด้วยสภาพอากาศร้อนแรงช่วงปลายเดือนพฤษภาคมไม่น่าเชื่อว่าเราจะพบพืชจิ๋วจำพวกไบรโอไฟต์ (bryophytes) อย่างมอสและลิเวอร์เวิร์ตขึ้นเขียวปกคลุมตามโคนต้นไม้ รวมทั้งพบพืชอิงอาศัยหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ เฟิน ขึ้นตามเรือนยอด คบไม้  และแม้กระทั่งบนพื้นทรายก็มีเฟินขึ้นเป็นดงรอบโคนต้นไม้

ยังมีพืชที่ปรับตัววิวัฒนาการให้อยู่กับสภาพที่มีแร่ธาตุน้อย เช่น จุกโรหิณี หรือกระเช้าผีมด [Dischidia major (Vahl)
Merr.], หัวร้อยรู (Hydnophytum formicarum Jack) ที่อาศัยมดช่วยนำแร่ธาตุมาให้  หรือพืชกินแมลงอย่างหยาดน้ำค้างเล็กจิ๋วสีส้มแดงกระจายเต็มทั่วพื้นทรายขาว

Myrmecophytes ant-plants
พืชอยู่ร่วมกับมด
ในป่าละเมาะชายฝั่งมีพืชชนิดที่วิวัฒนาการมาร่วมกับมด โดยให้มดเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อแลกกับการนำแร่ธาตุมาให้  

Image
Image

หัวร้อยรู (Hydnophytum formicarum Jack) มักขึ้นตามคาคบไม้ ต้นแก่มีหัวใหญ่ได้เท่าลูกมะพร้าวภายในเป็นรูพรุนให้มดอยู่  

Image

เมื่อไรเล็กจิ๋วเข้ามาอาศัยตรงเนื้อเยื่อชั้นผิวของลำต้นสะเดาปัก (Vatica harmandiana Pierre.) ทำให้พืชสร้างโครงสร้างผิดปรกติมาห่อหุ้มเรียกว่า gall

Image

จุกโรหิณี [Dischidia major (Vahl) Merr.] เป็นไม้เลื้อยเกาะต้นไม้อื่น ผิวใบทั้งสองด้านโป่งเป็นถุงให้มดอาศัย

Image

กล้วยไม้ม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima Lindl.) หลากสี ทั้งขาว ฟ้าอ่อน ม่วง ขึ้นแซมกลางดงเฟินที่ปกคลุมพื้นบริเวณโคนต้นไม้หนาแน่น สวยงามราวกับมีคนจัดสวนไว้ 

คนทั่วไปมักคิดว่า “ป่าละเมาะ” เป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะไม่มีไม้สูงใหญ่ ทั้งที่จริงป่าละเมาะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้เช่นเดียวกับป่าประเภทอื่น

Image

ดอกสีฟ้าแกมม่วงของต้นดอกดิน (Burmannia coelestis D.Don) ไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่ขึ้นบนพื้นทรายกลางแจ้ง

Image

โทะ หรือกาทุ [Rhodomyrtus tomentosa (Aiton) Hassk.] ไม้พุ่มออกดอกสีชมพู ชอบขึ้นบนดินทรายในป่าชายหาด รากและใบมีสรรพคุณช่วยแก้กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน

พืชที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือเข็ดตะขาบ [Styphelia malayana (Jack) Spring] โดยทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีรายงานพบบนที่สูงมากกว่า ๑,๐๐๐ เมตรเท่านั้น แต่หาดท้ายเหมืองสูงจากระดับน้ำทะเลแค่ไม่กี่เมตร

อาจารย์กิติเชษฐ์อธิบายว่าในทางชีวภูมิศาสตร์ หาดท้ายเหมืองเป็นพื้นที่บรรจบกันของเขตการกระจายพันธุ์พืชของโลกสองเขต (two Phytogeographical regions) คือเขตทางเหนือ continental South-East Asian region และเขตทางใต้ Malesian region ตัวอย่างที่โดดเด่นก็คือต้น เข็ดตะขาบ ซึ่งจะพบบริเวณเหนือสุดในภูมิภาคนี้ตรงชายหาดท้ายเหมืองเท่านั้น

พื้นที่น้ำซับชายฝั่งจึงให้กำเนิดระบบนิเวศที่มีความสำคัญและมีลักษณะเฉพาะตัวสูงมาก

“ทุกวันนี้ยังมีการศึกษาน้อยมาก ๆ ทั้งที่ภูมิประเทศลักษณะนี้เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ให้นิเวศบริการกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงชุมชน จนเป็นแหล่งอารยธรรมของมนุษย์มาแต่โบราณ”

เสม็ดชุน [Syzygium antisepticum (Blume) Merr. & L.M. Perry] มีเปลือกสีแดงจัด  ต้นขนาดใหญ่แบบนี้แสดงถึงอายุนับร้อยปี เนื่องจากต้นไม้จะเติบโตได้ช้าในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารต่ำ

ป่าพรุและ
น้ำพุสันทราย

ช่วงเที่ยง อากาศร้อนจัด เราออกมากินข้าวกลางวันที่ตลาดท้ายเหมือง แล้วรีบกลับไปเดินสำรวจป่าต่อ

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพาเรานั่งรถโฟร์วีลมุ่งหน้าสู่ผืนป่าที่อยู่ขึ้นไปทางตอนเหนือของเขตอุทยานฯ รถแล่นเข้าไปตามทางทรายสีขาวโพลนจนแสบตา เม็ดทรายสีขาวอาบความร้อนจากดวงอาทิตย์จนแห้งสนิทสะท้อนแสงจ้า  พอผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขังและต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด

“นี่ต้นอะไรครับ”

“เสม็ด มีทั้งเสม็ดชุนหรือเสม็ดแดง กับเสม็ดขาว” ชำนาญสุบิน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยให้คำตอบ

เรากำลังเข้าสู่บริเวณป่าพรุชายฝั่ง (peat swamp forest) ต้นไม้สูงไม่มากและลำต้นคดงอด้วยแรงลม

“ช่วงฤดูฝนแถบนี้ทั้งหมดจะกลายเป็นแอ่งน้ำใหญ่ เวลาเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนป่าต้องใส่รองเท้าบูตเดินลุยน้ำ” ชำนาญเล่า

พรุเป็นภาษาใต้ หมายถึงพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำแช่ขัง ป่าพรุจึงเป็นสังคมพืชที่อยู่ในสภาพน้ำแช่ขัง ดินเกิดจากซากพืชทับถมกันถึงช่วงแล้งน้ำจะแห้ง แต่ก็ยังมีที่ลุ่มน้ำท่วมขังกระจายเป็นหย่อม ๆ  พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในพื้นที่ซึ่งมีความเป็นกรดสูง (ค่า pH ต่ำ) รวมทั้งต้องเติบโตได้ในดินที่ขาดแคลนธาตุอาหาร

“พืชที่จำเพาะกับป่าพรุจะเป็นพืชกินแมลง เช่น พวกหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepanthes spp.) พวกหยาดน้ำค้าง (Drosera spp.) พวกสาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia spp.) ล้วนแต่เป็นพืชหายากที่นับวันจะหมดไป การกินแมลงเป็นการปรับตัวของพืชเพื่อให้ได้แร่ธาตุที่สำคัญมากคือไนโตรเจนจากโปรตีนในสัตว์ ในพื้นที่ที่ขาดแคลนแร่ธาตุหรือมีปัจจัยจำกัด พืชชนิดอื่น ๆ ถ้าไม่กินแมลงก็ต้องพึ่งพาเชื้อราไมคอร์ไรซาช่วยหาอาหาร” อาจารย์กิติเชษฐ์อธิบาย

Carnivorous plant
พืชกินแมลง

การกินแมลงเป็นวิวัฒนาการของพืชชนิดที่ขึ้นในพื้นที่ธาตุอาหารต่ำ มีสภาพความเป็นกรดสูง เพื่อให้ได้ไนโตรเจนจากโปรตีนในสัตว์มาทดแทนธาตุอาหารในดิน

Image
Image
Image

ภาพขยายหลายสิบเท่าของจอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl.) พืชกินแมลงขนาดเล็กที่ใบเรียงเป็นวงกลมขนาดแค่ ๒-๓ เซนติเมตร บนใบมีขนและยางเหนียวทำหน้าที่เป็นกับดักจับแมลง  สันดอนทรายบางแห่งที่หาดท้ายเหมืองพบจอกบ่วายขึ้นปูพรมกระจายเต็มทั่วบริเวณ

หยาดน้ำค้าง (Drosera indica L.) เป็นพืชกินแมลงอีกชนิดลำต้นอ่อนชูยอดเตี้ย ๆ ชอบขึ้นในที่ค่อนข้างชื้นแฉะ ดักแมลงด้วยเมือกเหนียว

หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes sp.) ใบวิวัฒนาการ จนกลายเป็นหม้อมีฝาปิด ใช้จับแมลงที่ตกเข้าไปข้างในเป็นพืชหายาก เพราะสภาพทุ่งน้ำซับนอกเขตอนุรักษ์ถูกทำลายไปแทบหมดแล้ว

ป่าพรุและป่าชายเลน
หาดท้ายเหมืองนอกจากจะมีสังคมพืชบนเนินทรายชายฝั่งที่สมบูรณ์และหายากแล้ว ยังมีป่าพรุซึ่งเป็นสังคมพืชในบริเวณน้ำท่วมขังตลอดปี ใต้พรุเป็นซากอินทรีย์ที่ทับถมย่อยสลายช้า รวมทั้งมีป่าชายเลนริมคลองที่ไหลลงสู่ทะเล  ต้นไม้ในป่าชายเลนมีขนาดใหญ่เติบโตอย่างสมบูรณ์

ทุกวันนี้ป่าพรุดั้งเดิมในภาคใต้ถูกปรับสภาพเป็นสวนปาล์มจนเหลืออยู่เฉพาะในเขตอนุรักษ์ตามชายฝั่งเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

เราเดินข้ามแนวรอยต่อของป่า (ecotone) สู่สังคมพืชแบบ ไม้พุ่มชายหาด ก่อนเข้าสู่เขตป่าพรุที่ต่อเนื่องติดกับป่าชายเลน

เมื่อมองดูภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นผืนป่าแบ่งเป็นแถบ ๆตามสภาพสังคมพืช แต่เมื่อเดินไปตามทางต้นไม้แต่ละต้นก็ดูกลมกลืนกัน จนการเดินผ่านแนวรอยต่อของป่ามักเกิดขึ้นอย่างไม่ทันรู้ตัว

อาจเป็นเพราะบริเวณแนวรอยต่อของป่าต่างประเภท สังคมพืชจะผสมปนเปเป็นแนว “ปะทะ” ของการขยายอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่กำหนดความเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างแนวรอยต่อของป่าเบญจพรรณกับป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ถ้าหากฝนตกชุกติดต่อกันหลายปีและไม่เกิดไฟป่า ดินจะเก็บความชื้นได้มาก ทำให้พืชจากป่าเบญจพรรณเจริญเติบโตได้ดีกว่าและขยายอาณาเขตไปยังพื้นที่ของป่าเต็งรัง ในทางกลับกันถ้าเกิดความแห้งแล้งหรือไฟป่าบ่อยครั้ง พืชจากป่าเต็งรังก็จะเจริญได้ดี

ก่อนเข้าสู่ป่าชายเลน อาจารย์กิติเชษฐ์ชี้ให้สังเกตแนวดูนหรือสันทรายใหญ่ และพื้นที่ลุ่ม หรือ slack ติดกับสันทราย

“ตรงนี้ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำผุดออกมาเยอะมาก เรียกว่าน้ำพุสันทราย หรือ dune spring แสดงให้เห็นว่าสันทรายเป็นแหล่งน้ำซับ”

หลุมพี [Eleiodoxa conferta (Griff.) Burr.] พืชจำพวกปาล์มขึ้นเป็นไม้พื้นล่างในที่ลุ่มน้ำขังของป่าพรุ ก้านใบมีหนามแหลม ผลมีรสเปรี้ยวฝาด 

หาดท้ายเหมืองมีความหลากหลายของสังคมพืช ตั้งแต่ป่าชายหาด ป่าละเมาะชายฝั่ง ป่าพรุ ป่าชายเลน ซึ่งเกิดขึ้นตามกระบวนการทางธรรมชาติ ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน

เฟินชายผ้าสีดา (Platycerium holttumii de Jonch. & Hennipman) งอกงามจนมีขนาดใหญ่ยักษ์อยู่บนคาคบไม้สูงในป่าพรุ แสดงถึงสภาพธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ไร้การรบกวนจากมนุษย์

ชำนาญ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เสริมว่า เมื่อถึงหน้ามรสุม พื้นที่ลุ่มทั้งหมดจะกลายเป็นคลองเชื่อมกับป่าชายเลน

เราเดินเข้าไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ สร้างไว้ ปลายทางเป็นศาลาริมน้ำ ติดคลองหินลาด คลองน้ำกร่อยที่ไหลขนานกับชายฝั่งไปออกทะเลอันดามัน  ฝั่งตรงข้ามเป็นป่าชายเลน แต่ไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ไม้หลักห้าอันดับแรกของป่าชายเลนหาดท้ายเหมือง ได้แก่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ตาตุ่ม ถั่วดำ และแสมขาว

“ท้ายเหมืองมีของล้ำค่าที่เราควรรักษาไว้อยู่กับเราไปนาน ๆ”  นักพฤกษศาสตร์เอ่ยขึ้นขณะนั่งพัก “แต่ปัญหาที่เกิดกับโลก ทุกวันนี้มาจากการไม่มีความรู้ที่แท้จริงทางธรรมชาติวิทยาจึงปลูกป่ากันแบบผิด ๆ ทั้งที่ปล่อยให้พืชดั้งเดิมเติบโตขึ้นเองก็ได้ เพราะคนไม่สนใจและไม่มีงานวิจัย ตอนนี้ทุนวิจัยให้ทำแต่นวัตกรรม ส่วนวิจัยเรื่องธรรมชาติวิทยาพื้นฐานนั้นอย่าไปหวัง”

Image

ป่าชายเลนสมบูรณ์ติดคลองน้ำกร่อย พืชที่พบมาก ได้แก่ โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata), ตะบูนขาว (Xylocarpus granatum), ตาตุ่ม (Excoecaria agallocha), ถั่วดำ (Bruguiera parviflora) และแสมขาว (Avicennia alba)

มรดกโลก
อันดามัน

ในทางชีวภูมิศาสตร์ คาบสมุทรไทยมีความสำคัญอย่างโดดเด่นในด้านการแพร่กระจายพันธุ์ เนื่องจากเป็นทั้ง “สะพานเชื่อม” และ “แนวกั้นขวาง” การกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์จากทางเหนือและทางใต้

ซึ่งบนโลกใบนี้มีเพียงสองแห่งเท่านั้น คือ อเมริกากลาง กับ คาบสมุทรไทย

อเมริกากลางที่เป็นกิ่วเชื่อมแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรใหญ่สองข้างแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ ขณะที่คาบสมุทรไทยเชื่อมระหว่างภาคพื้นทวีปเอเชียกับเกาะต่าง ๆ ทางตอนใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแผ่นดินเชื่อมถึงกัน  เมื่อผนวกกับธรรมชาติอันงดงามของชายฝั่งอันดามัน สภาพธรณีวิทยาและภูมิประเทศซึ่งได้รับการศึกษาว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ความคิดที่จะเสนออันดามันเป็นมรดกโลกจึงมีมานานแล้ว ติดแค่คำถามว่า “ขอบเขต” ของพื้นที่มรดกโลกควรอยู่ตรงไหน ?

จังหวัดติดทะเลอันดามันมีทั้งหมดหกจังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีการจำแนกนิเวศภูมิภาคออกเป็นหกโซน ได้แก่
๑) ป่าชายเลนตอนบน
๒) หมู่เกาะทะเลลึกตอนบน
๓) หาดทราย สันทราย ป่าชายหาด และแนวปะการัง
๔) อ่าวพังงา
๕) หมู่เกาะทะเลลึกตอนใต้
๖) เกาะใกล้ชายฝั่งอันดามันตอนล่าง

ถึงแม้ว่าอนุกรรมการมรดกโลกจะเห็นชอบในหลักการ แต่ก็คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนท้องถิ่น  ในปี ๒๕๖๑ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงขอบเขตพื้นที่จึงเสนอให้เริ่มต้นเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกจาก “อันดามันตอนบน” ก่อน

โดยเบื้องต้นพื้นที่เขตอนุรักษ์ทางธรรมชาติในอันดามันตอนบนหรือคาบสมุทรไทยตอนบน อยู่ในสามจังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต  ซึ่งยังต้องแยกอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีในจังหวัดระนองออกไปก่อน เพราะการกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับพม่ายังไม่แล้วเสร็จ

ปลายปี ๒๕๖๓ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดแนวทางว่าจะนำเสนอเฉพาะป่าชายเลนจังหวัดระนองเป็นมรดกโลก แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เห็นว่าควรนำเสนอเป็นกลุ่มอุทยานแห่งชาติ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสั่งการให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันกำหนดขอบเขต ต่อมาจึงมีข้อสรุปว่าจะเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลในเขตอันดามันตอนบน  ระบุตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของนิเวศภูมิภาคที่เลือกออกเป็น

- ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง จังหวัดระนอง พื้นที่แหล่งอนุรักษ์คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน และป่าชายเลนจังหวัดระนอง

- หมู่เกาะทะเลลึก จังหวัดพังงา พื้นที่แหล่งอนุรักษ์คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

- ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต พื้นที่แหล่งอนุรักษ์คือ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ

จะเห็นว่าพื้นที่เสนอเป็นมรดกโลกแต่ละแห่งไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียว พื้นที่นำเสนอประมาณ ๗๒๔,๗๑๘ ไร่ พื้นที่กันชน ๑,๐๙๒,๗๘๑ ไร่ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๘๑๗,๕๐๐ ไร่

Image

Image

ในรายละเอียดยังระบุว่า หมู่เกาะทะเลลึก มีลักษณะโดดเด่นคือความหลากหลายและความสวยงามของแนวปะการังทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก เปรียบกับพื้นที่มรดกโลกอื่นคือเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย

ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่งจังหวัดระนอง ลักษณะโดดเด่นคือเรื่องเขตการเปลี่ยนแปลงทางชีวภูมิศาสตร์ ขอบเขตการกระจายพันธุ์ทางบกของสิ่งมีชีวิตเขตอินโด-ซุนดาอิก
รวมทั้งพืชและสัตว์ในเขตศูนย์สูตรและเขตมรสุม เปรียบกับพื้นที่มรดกโลกอื่น คือ อุทยานแห่งชาติดาเรียน และคอยบา สาธารณรัฐปานามา

ขณะที่ชายหาดและป่าสันทรายท้ายเหมือง โดดเด่นที่สันทรายชายฝั่งและป่าสันทราย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหาดและป่าสันทรายสมัยปัจจุบัน (โฮโลซีน) ที่ยังคงความสมบูรณ์และดั้งเดิม สังคมพืชโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น มีความหลากหลายของกล้วยไม้สูง ลักษณะที่กล่าวมา ไม่พบในพื้นที่มรดกโลกอื่น

ปลายปี ๒๕๖๔ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดทำแผนการจัดการพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันและเอกสารนำเสนอ (nomination dossier) พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ยอมรับว่าการเป็นมรดกโลกจะสร้างความรู้จัก โอกาสได้รับความสนับสนุนให้เกิดแผนงานดูแลทรัพยากร ขยายไปยังสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามันทั้งระบบมาตรการที่จะช่วยคุ้มครองทรัพยากรที่อยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์แต่ก็มีความกังวลจากชุมชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่าการเป็นมรดกโลกจะทำให้มาตรการอนุรักษ์เข้มข้นจนเกินไป ขณะที่ชุมชนบางแห่งยังขาดการมีส่วนร่วม ขาดการประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ

Image

ชาวชุมชนดั้งเดิมรอบพื้นที่อุทยานฯ เข้ามาเก็บหาของป่า ในหมวด “ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล” ได้แก่ เห็ดเสม็ด ผักหวานป่า ยอดมะม่วงหิมพานต์ และแมงพลัด ให้คนและป่า สามารถอยู่ร่วมกัน

ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว Wow Andaman และรองประธานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา แสดงความคิดเห็นในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๑ ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ว่า หากได้เป็นมรดกโลกก็อยากให้ชี้แจงแนวทางว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นด้านการประมง การท่องเที่ยว เส้นทางการเดินเรือ  ข้อดีข้อเสียและผลกระทบของการเป็นมรดกโลก หรือจะมีการจัดการอย่างไรกับชุมชนชาวมอแกนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ฯลฯ

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ประมงอำเภอเมืองระนองในฐานะตัวแทนนายอำเภอ ให้ความเห็นว่า ข้อดีหลัก ๆ ของพื้นที่คือความสวยงาม  ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อประกาศเป็นมรดกโลก คือ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนขึ้น  สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้พื้นที่จังหวัดจะมีธุรกิจต่อเนื่องที่ได้ประโยชน์ เช่น โรงแรม ร้านค้าสร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น เรือท่องเที่ยว ไกด์นำเที่ยว

ส่วนข้อกังวลคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้านหากเป็นมรดกโลกอาจมีกฎระเบียบข้อบังคับหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้โดยมีข้อจำกัดมากกว่าเดิม การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าอาจสร้างความสับสน ถึงแม้จะประชาสัมพันธ์ผ่านทางหน่วยงานท้องถิ่น แต่ยังคงมีคนส่วนใหญ่ที่ไม่รับทราบข้อบังคับ หรือไม่เข้าใจ

๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์เจ็ดแหล่งข้างต้น ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (tentative list) ในเว็บไซต์ของศูนย์มรดกโลก

ต่อมากรกฎาคม ๒๕๖๕ บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก และจะเข้าสู่กระบวนการยื่นเอกสารฉบับเต็ม (nomination dossier) และการตรวจสอบโดยคณะกรรมการต่อไป

Image

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บริเวณเขาหน้ายักษ์ สุดเขตหาดท้ายเหมือง ชายหาดยาวต่อเนื่อง ๑๓ กิโลเมตร ริมทะเลอันดามัน

Tropical
Coastal 
Sand Dune

ปลายสิงหาคม ๒๕๖๕ กลางฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เราเดินทางกลับมายังหาดท้ายเหมืองอีกครั้ง

หลังจากได้รับภาพถ่ายและข้อความจากหัวหน้าปรารพ เป็นภาพชุดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เดินลาดตระเวนบริเวณที่มีน้ำขังกลางทุ่งเนินทราย ผมมองภาพถ่ายอย่างตื่นตะลึง สีสันของป่าผิดแปลกไปอย่างสิ้นเชิงจาก ๔ เดือนที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์ของการกลับมาท้ายเหมืองครั้งหลังจึงเป็นการบันทึกภาพสังคมพืชสันทรายชายฝั่งในหน้ามรสุม รวมทั้งเก็บตกข้อมูลบางอย่าง

เข้าสู่หน้าฝนของภาคใต้ ทุกอย่างรอบกายดูชุ่มฉ่ำ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี พื้นเนินทรายที่เคยแห้งกลับเจิ่งนองด้วยน้ำสูงระดับหน้าแข้ง

แม้ช่วงล่างจะเปียกปอนและแมลงพร้อมจะกระโดดใส่ แต่ก็เป็นสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจและน่าสำรวจค้นหา

“ท้ายเหมืองนั้นถึงจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ป่าสันทรายชายฝั่งในเขตร้อนของที่นี่ก็เป็นมรดกโลกโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว  โชคดีที่หลังจากเหตุการณ์สึนามิ ปี ๒๕๔๗ โครงการปลูกป่าชายหาดไม่ได้เข้ามามากนัก ป่าจึงฟื้นกลับมาเหมือนเดิม”

วิทยากรคนเดิมพูดขึ้นก่อนก้าวเดินท่องน้ำต่อ เป็นคำพูดเดียวกับที่เขาเคยพูดระหว่างออกสำรวจป่าครั้งก่อน...

ในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอมรับกันว่าไม่มีป่าสันทรายชายฝั่งที่ใดจะโดดเด่นเท่าท้ายเหมือง

ที่นี่คือโลกธรรมชาติที่ถูกปิดผนึก ไม่ให้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นชุมชนสังคมเมืองหรือชายหาดท่องเที่ยวที่มีอยู่ดาษดื่น

ภาพป่าชายหาดดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่สุดในคาบสมุทรไทย ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นมรดกโลกก็ไม่เป็นไร

เพราะถึงอย่างไรป่าสันทรายชายฝั่งท้ายเหมืองก็มีความสำคัญระดับโลกอยู่แล้ว  

Image

เอกสารประกอบการเขียน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เอกสารบัญชีรายชื่อเบื้องต้นพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. หาดทราย...คุณค่า...ชีวิตที่ถูกลืม.
๒๕๕๔.. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. “สังคมพืชชายหาด : ทหารชายแดนที่รัฐไม่เหลียวแล”. นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๖๗ (มกราคม ๒๕๔๒).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๘ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร.
เรื่องที่ ๑ “สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์/ภาคใต้”

ขอขอบคุณ
รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ, ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง, ปรารพ แปลงงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทุกท่าน