ไท่ผิง
สามก๊ก และ ซ้องกั๋ง เป็นสองในสี่สุดยอดวรรณกรรมเอกของจีน
ซ้องกั๋ง หรือ “วีรบุรุษเขาเหลียงซาน” เป็นตำนานเหล่าสามัญชนคนกล้าผู้ถูกข่มเหงจากขุนนางกังฉิน จนต้องมารวมตัวซ่องสุมกำลังกันเป็นขุนโจรเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม
ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นที่บ้านเมืองเข้าสู่ยุคเข็ญ เกิดกบฏชาวนาครั้งใหญ่จากความอดอยากยากแค้น ท่ามกลางสังคมศักดินาที่มีแต่ขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง กดขี่รังแกชาวบ้าน ครั้งนั้นกบฏชาวนาที่ถูกทางการเรียกว่า “โจรโพกผ้าเหลือง” รวมกำลังกันได้หลายแสนคน สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งแผ่นดินจีน จนราชสำนักต้องระดมเจ้านครต่าง ๆ มาช่วยกันปราบ กลายเป็นจุดเสื่อมของบัลลังก์มังกร และการแตกแยกเป็นก๊ก ๆ ของเหล่าขุนศึก ก่อนจะสู้กันจนเหลือ “สามก๊ก” เป็นตำนานสืบต่อกันมาถึงวันนี้
กงล้อประวัติศาสตร์เหมือนมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้งตอนปลายสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อราว ๑๖๐ ปีก่อน (ก่อนกบฏผีบุญในภาคอีสานของไทยราว ๕๐ ปี) เกิดกบฏ “ไท่ผิง” ที่ชาวนาลุกฮือขึ้นจัดตั้งเป็นกองทัพสู้รบกับทางการ จนสามารถเอาชนะยึดเมืองต่าง ๆ และตั้งเมืองหนานจิงเป็นเมืองหลวงของ “ไท่ผิงเทียนกั๋ว” หรือ “อาณาจักรสวรรค์มหาสันติสุข” พร้อมกับเปลี่ยนชื่อหนานจิงเป็น “เทียนจิง” ซึ่งแปลว่าเมืองสวรรค์ แต่สถาปนาได้แค่ ๑๔ ปีก็พ่ายแพ้แก่ราชสำนักชิง
กบฏไท่ผิงถือเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน และส่งผลสะเทือนถึงความมั่นคงของราชวงศ์ชิง เพราะทำให้หัวเมืองต่าง ๆ เข้มแข็งขึ้นและเริ่มแยกตัวออกไป ก่อนราชวงศ์ชิงจะล่มสลายและเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐ
การจุดพลุเรียกระดมพลของกบฏชาวนาสองเหตุการณ์ที่ห่างกันเป็นพันปี มีทั้งความเหมือนและความต่าง
กบฏโพกผ้าเหลืองมี “จางเจี่ยว” เป็นผู้นำเจ้าลัทธิ “ไท่ผิงเต้า” หรือวิถีมหาสันติสุข นับถือลัทธิเต๋าและเทพเซียน สร้างความเลื่อมใสศรัทธาจากการเป็นหมอรักษาชาวบ้านให้รอดพ้นจากโรคระบาดเขาตั้งตนเป็นผู้วิเศษ พร้อมกับชูคำพยากรณ์ “ฟ้าครามสิ้นแล้วฟ้าเหลืองขึ้นแทน ปีชวดนี้แล ใต้ฟ้ารุ่งเรือง” (อ้างอิงจาก Wikipedia)
กบฏไท่ผิงมีผู้นำคือ “หงซิ่วเฉวียน” ลูกชาวนาที่เลื่อมใสศรัทธาศาสนาคริสต์แล้วเกิดนิมิตว่าตนเองเป็นบุตรของพระเจ้าและน้องชายของพระเยซู เขาตั้งสมาคมกราบไหว้พระเจ้าขึ้น ปลุกศรัทธาว่ามีพระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียว มนุษย์ทุกคนจึงเท่าเทียมกัน สามารถกราบไหว้พระเจ้าได้เหมือนกัน สวรรค์ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้แต่จักรพรรดิ นอกจากนี้ยังเชื่อเรื่องความเสมอภาคในทรัพย์สิน มีการจัดสรรแบ่งปันที่ดินและผลผลิตแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ทำให้ดึงดูดชาวนาที่ยากจนเข้าร่วมขบวนการได้จำนวนมาก
กบฏโพกผ้าเหลืองแม้สู้ด้วยแรงศรัทธา แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้เพราะด้อยกว่าทั้งกองกำลัง อาวุธ และยุทธวิธีการรบแบบชาวบ้านที่ไม่ใช่ทหารนักรบ (เช่นเดียวกับกบฏผีบุญของไทยที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูป)
แต่กบฏไท่ผิงกลับพ่ายแพ้เพราะจางเจี่ยว ที่หลังจากสถาปนาอาณาจักรแล้วกลับไม่รู้จักการปกครองบ้านเมืองให้มั่นคง จนบรรดาผู้นำคนอื่น ๆ ในกลุ่มเข่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์
เป็นความพ่ายแพ้เพราะหลงลืมอุดมคติแห่ง “ไท่ผิง” สันติสุขที่ชักนำผู้คนมากมายให้มาเข้าร่วม
ประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่าอำนาจเป็นเหมือนยาพิษ
ไม่ว่าผู้ครองอำนาจจะเป็นใครหรือมาจากไหน หากเสพติดนานเกินไปก็มักใช้อำนาจในทางที่ผิด และถูกฤทธิ์อำนาจบ่อนทำลายตนเองจนเสื่อมถอยถึงวันล่มสลาย
จากบรรณาธิการ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
ป่าสันทราย
ท้ายเหมืองพังงา
คุณค่าสู่มรดกโลก
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์