Image

ห้องเรียนที่ไม่มีผนัง ไร้เพดาน และอนุญาตให้เด็กเล่นสนุกในธรรมชาติได้อย่างอิสระ

“พวกเราเข้าป่า”
ห้องเรียนอนุบาลที่ให้
ธรรมชาติช่วยสอน

SCOOP

เรื่องและภาพ : สิรามล ตันศิริ

เด็กปฐมวัยควรได้เรียนรู้อะไร... เล่นอิสระในธรรมชาติ หรืออ่านเขียนหนังสือเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ?

คำถามธรรมดาที่โรงเรียนและพ่อแม่ควรตอบให้ได้ว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมใดเหมาะสมกับพัฒนาการอันเป็นพื้นฐานในวันวัยแรกของการมีอยู่ของเขาบนโลก

เด็กอนุบาลร่วม ๒๐ คนในชุดผ้ากันเปื้อนสีชมพูเข้ม วิ่งเล่นในสวนป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่สูงชะลูดรับแดด

ต้นกระบกขนาดสองคนโอบโดดเด่นณ มุมสวนป่า นก ผีเสื้อบินว่อนมองเพลินตา 

ที่นี่คือสนามเด็กเล่นสีเขียวแสนร่มรื่นและห้องเรียนกลางแจ้งของเด็กชั้นอนุบาล ๒ โรงเรียนบ้านปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ครูพิมพ์-พิมพ์บุญ วารินทร์ เจ้าของเพจ “พวกเราเข้าป่า” และครูประจำชั้นผู้พาลูกปูมาวิ่งเล่นนอกกระด้งชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้นอกห้องสี่เหลี่ยม ให้ธรรมชาติเป็นครูใหญ่ ให้สิ่งมีชีวิตและวัสดุในธรรมชาติเป็นสื่อจริงที่จับต้องได้ 

แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (nature-based learning) ภายใต้ปรัชญา friluftsliv ซึ่งมีที่มาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียส่งกระแสให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลในป่า (forest kindergarten) ขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ผ่านการสัมผัสธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม ลงมือทำ ค้นหาคำตอบและสังเกตปรากฏการณ์รอบตัว

Image

หลังจากรดน้ำดอกไม้เสร็จ เด็ก ๆ จะมาเอกเขนกที่ต้นไม้ก่อนไประเบิดพลัง

๐๙.๐๐ น.
รดน้ำให้ดินชื้น วิ่งให้หัวเปียกและสำรวจเสียงเรียกของความสุข

“รดน้ำให้มันโต ๆ ไว ๆ” 

เสียงใสแจ๋วของเด็กชายซีเกมส์ดังขึ้นขณะรดน้ำให้ดอกดาวกระจาย กิจวัตรประจำวันแรกของเด็กห้องนี้หลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติ คือการไปหยิบบัวรดน้ำมาคนละใบ เติมน้ำแล้วเดินไปทำหน้าที่ชาวสวนตัวจิ๋วในแปลงดอกไม้ที่มีกล้าดอกทานตะวันและดอกดาว-กระจายเติบโตจากเมล็ดที่ร่วงโรย  

เด็ก ๆ รดน้ำกันอย่างตั้งใจ ทั้งเดินวนรดจนทั่วแปลง และบางครั้งก็แอบรดให้ทั่วตัวเองและเพื่อนด้วย  

หลังจากนั้นครูพิมพ์จะชวนเด็ก ๆ ระเบิดพลังในสวนป่า วิ่งออกกำลังกายคนละรอบสองรอบจนหัวเปียก แล้วพักให้หายเหนื่อยด้วยการเดินสำรวจสวนป่า ก่อนจะเข้าห้องเรียนตามเสียงสัญญาณเพื่อไปดื่มน้ำ ดื่มนม ฟังนิทานเล่น-เก็บของเล่น และกลับมาทำกิจกรรมในธรรมชาติอีกครั้ง  

“ครู ๆ นี่ ‘มอสส์’ ครูลองจับดู นุ่มมั้ย”

ครูพิมพ์ชวนเด็กติดเครื่องมือการเป็นนักสำรวจด้วยแว่นขยาย เพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติที่พวกเขาสนใจ  

เด็ก ๆ จับกิ้งกือยักษ์มาไว้บนฝ่ามือ จับกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ที่ขดตัวมาให้เพื่อนดู ชี้ไปที่ผีเสื้อหลากชนิด นก
มด ผึ้ง ชันโรง แมงมุม ปลวก กิ่งไม้ที่ปลายม้วนขดเป็นวง และส่องดูไลเคนบนเปลือกไม้ 

สายตาที่มองเห็นความมหัศจรรย์ในความธรรมดาของเด็ก ทำให้ครูผู้ยืนอยู่ตรงนั้นพลอยตื่นเต้นกับการค้นพบของเขาและราวกับกระจก ยิ่งครู “อิน” กับสิ่งใด สิ่งนั้นจะถ่ายทอดไปสู่เด็กด้วย

เมื่อ ๕ ปีก่อน เด็ก ๆ ได้พาครูพิมพ์มาเดินที่สวนป่านี้ครั้งแรก และได้วิ่งเก็บคราบจักจั่นกันอย่างสนุกสนาน เป็นเวลา ๒ ชั่วโมงที่ไม่มีคำว่าเบื่อเลย 

คราบจักจั่นในวันนั้นชวนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ครูเคยเก็บคราบจักจั่นกับแม่ เป็นความสุขที่ยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้  

“คิดว่าถ้าตอนเด็กโตขึ้นและเขายังรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก ก็จะเป็นความทรงจำในวัยเด็กที่ดีมาก” 

ส่วนลูกศิษย์รุ่นแรกของครูพิมพ์ที่อยู่ ป. ๕ นั้นมีไม่น้อยเลยที่ประทับใจว่าครั้งหนึ่งได้เก็บคราบจักจั่นกับครูในสวนป่าเช่นกัน

Image

Image

สำรวจโลกใบจิ๋วของเพื่อนใหม่ในสวนป่าด้วยเลนส์แว่นขยาย

๑๐.๐๐ น.
ปีนต้นไม้ด้วยแรงเท่าที่ไหวและความวางใจของครู

“ครู…หนูอยากปีนต้นไม้” 

น้ำขิงบอกพลางจับมือครูดึงไปที่ต้นไม้ที่โน้มเอนลงพาดอีกต้นในระดับพอเหมาะกับการปีนป่าย เด็ก ๆ ต่อแถวเพื่อลองปีน บางคนท่าทางทะมัดทะแมงดึงตัวขึ้นไปในจุดที่สูงได้อย่างคล่องแคล่ว บางคนอาจยังกล้าๆ กลัวๆ

ครูพิมพ์ยืนอยู่ข้างต้นไม้อย่างวางใจ ส่งสารเดียวกันให้เด็กทุกคน คือ “ความมั่นใจในตัวพวกเขา”

“อยากให้เด็กมั่นใจว่าจะไม่เป็นไร ต่างกับบอกว่าขึ้นไปทำไมเดี๋ยวตก เราจะถามเด็กว่าไหวไหม เอาอีกไหม ลองให้สูงกว่าเมื่อวาน เด็กทำได้มากกว่าที่เราคิดเยอะ แค่เปิดโอกาสให้เขาทำ” 

ครูพิมพ์ยังบอกด้วยว่าครูให้ความเคารพในตัวเด็ก เด็กอนุบาลก็คือมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ว่าจะปีนต่อหรือจะลง โดยไม่มีการบังคับ

พอพูดถึงการป่ายปีน คงไม่แปลกถ้ามาพร้อมกับคำว่าอันตราย ครูพิมพ์เตรียมการดูแลเด็ก ๆ โดยแนะนำเทคนิคการปีน การหมุนตัวลงให้ปลอดภัย และมีกติกาชัดเจนว่าให้ปีนได้แค่ตอนที่ครูอยู่ด้วยเท่านั้น ครูพิมพ์เน้นย้ำว่า 

Image

Image
Image

ละเลงสีบนกิ่งไม้ตั้งใจเกินร้อยสนุกเกินล้าน

“เด็กต้องดูแลตัวเอง อาจมีหกล้มบาดเจ็บบ้าง ร้องไห้บ้าง เป็นเรื่องปรกติไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เป็นการเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ของเด็กว่าเขาต้องระวังมากกว่านี้” 

น่าประหลาดใจเมื่อครูพิมพ์บอกว่าเด็กคางแตกในห้องเรียนมากกว่าที่สวนป่าเสียอีก !

ครูพิมพ์เคยถูกตั้งคำถามเรื่องการวิ่งเล่นในสวนป่าว่าปลอดภัยจริงหรือ ?

ครูพิมพ์ว่าสวนป่าไม่ได้อันตรายจนทำให้บาดเจ็บหนัก เป็นป่าโปร่งที่มองเห็นชัดว่าเด็กอยู่ตรงไหน เด็กมองเห็นครู ครูมองเห็นเด็ก ไม่ใช่ป่าดงดิบที่เด็กหลงได้ และครูก็ต้องตรวจสอบพื้นที่ก่อนว่ามีต้นไม้ผุพังหรือไม่ 

ส่วนเรื่องงูนั้นครูพิมพ์มองว่าระดับเสียงฝีเท้าหลายคู่ของเด็ก ๆ ที่วิ่งในสวนป่า งูคงกลัวและเลื้อยหนีไปตั้งหลักที่อื่นแล้ว  

Image

สีเขียวแต้มทาบนหัวใจของเด็ก ๆ ในสวนป่าท่ามกลางแดดอ่อนตอนสายของทุกวัน

๑๑.๐๐ น.
ศิลปะสร้างสรรค์กับความสุขแสนเรียบง่าย

“ครู ! หนูได้สีส้ม” 

กิจวัตรหลักของเด็ก ๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อครูพิมพ์นำขบวนมายังสวนป่าพร้อมอุปกรณ์ที่ทุกคนช่วยกันขนมาทำงานศิลปะสร้างสรรค์ ทั้งจานสี สีน้ำ สีโปสเตอร์ สีเทียน กระดานวาดภาพ  

ครูชวนเด็กไปเก็บกิ่งไม้แห้งขนาดใหญ่ที่ตัวเองและเพื่อนชอบ ช่วยกันขนมาวางให้เลือกระบายสีกันตามใจนึกในจานสีมีแค่แม่สีสามสี ความสนุกเกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มผสมสีด้วยตัวเองโดยครูไม่ได้บอก  บางคนร้องเรียกครูพิมพ์ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นจากการผสมสีแดงและเหลืองเข้าด้วยกันจนกลายเป็นสีใหม่ที่ปลายพู่กันของเขา เป็นความสุขที่เรียบง่ายเสียเหลือเกิน

“การสอนไม่จำเป็นต้องคิดลึกซับซ้อน หรือเตรียมอุปกรณ์ที่หายากเราใช้ธรรมชาติที่จับต้องได้ เพื่อให้เด็กมีความสุข ครูมีความสุข ก็สำเร็จแล้ว 

“เด็กไม่ได้ต้องการความเว่อร์วังแต่เขาต้องการอิสระ ไม่ถูกบังคับ ได้ทำงานร่วมกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องปรุงแต่ง พัฒนาการตามสัญชาตญาณ และการเรียนรู้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ” ครูพิมพ์เล่าด้วยแววตาเชื่อมั่น  

Image

Image
Image

๑๒.๐๐ น.
ปลูกเมล็ดพันธุ์นักอนุรักษ์

“เขาเอาไม้เขี่ยชันโรง !” 

เด็กชายมีบุญ ผู้หลงรักแมลงและมักพาเพื่อนตัวน้อยมาโรงเรียนด้วยตะโกนดังลั่น สีหน้าเขาจริงจัง มือชี้ไปที่รุ่นพี่ประถมฯ ซึ่งกำลังใช้ไม้แหย่ซอกต้นไม้ที่เป็นรังของชันโรง 

ครูพิมพ์รีบเดินเข้าไปคุยกับเด็กบอกว่าสิ่งนี้คืออะไร สำคัญอย่างไร ไม่ใช่แมลงอันตราย และนี่คือบ้านของเขา พร้อมทั้งมอบหมายให้เด็กประถมฯคนนั้นช่วยดูแลรังชันโรงไม่ให้ใครมาแกล้งอีก 

ครูพิมพ์ไม่ได้กล่าวโทษต่อว่าเด็กที่มาทำร้ายชันโรง เพราะมองว่าเขาไม่เคยได้รับข้อมูล ไม่รู้จักชันโรงมาก่อน 

การปลูกเมล็ดพันธุ์นักอนุรักษ์ไว้ในใจเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยเมื่อเขารู้จักแล้ว เขาจะไม่กลัว ไม่คิดจะทำร้ายเพื่อนตัวน้อยเหล่านั้น และอยากปกป้องเท่าที่จะทำได้  

เพราะเป้าหมายปลายทางของการทำหน้าที่นี้ไม่ใช่ของครู 

“พอได้ทำงานในพื้นที่ธรรมชาติ เห็นการเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมลงไป เลยอยากปลูกฝังหัวใจนักอนุรักษ์ให้เด็ก ๆ ณ ป่าชุมชนแห่งนี้  

“เพราะคนที่จะดูแลได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชน คนที่จะทำให้สวนป่ายังคงอยู่ต่อไปก็คือเด็ก”

สวนของเด็ก
ที่ได้เล่นอิสระ
ในธรรมชาติ

“เด็กอยากมาโรงเรียน เพราะเขาไม่ได้มาเรียน เขามาเล่นกับเพื่อนในสวนป่า” 

ครูพิมพ์เล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนในแต่ละวันเหมือนกับที่ ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) เจ้าของทฤษฎีพัฒนาการด้านสติปัญญา และ จอน แฮมิลตัน (Jon Hamilton) นักประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่า “งานของเด็กคือการเล่น การเล่นจะส่งผลต่อการพัฒนาสมองมากกว่าเวลาเรียนในห้องเรียน แต่ต้องเป็นการเล่นอิสระ ที่ไม่ต้องมีคนชี้นำ ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ เวลาที่เด็กเล่น เซลล์ประสาทของสมองส่วนหน้าจะเชื่อมต่อกัน ส่งผลต่อทักษะการควบคุมอารมณ์ การแก้ปัญหา และการวางแผนของเด็กในอนาคต” 

ความหมายที่แท้ของคำว่า “kin-dergarten” มาจากรากศัพท์ภาษาเยอรมันสองคำ คือ kinder ที่แปลว่าเด็ก และ garten ที่แปลว่าสวน จึงหมายถึง “สวนของเด็ก” มากกว่าจะหมายถึงสถานที่ที่เรียกกันว่าโรงเรียนอนุบาล

ขณะที่การให้เด็กอยู่ในที่ร่ม เฝ้าถนอมเพื่อความปลอดภัยอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด  

Richard Louv ผู้เขียนหนังสือ Last Child in the Woods (ค.ศ. ๒๐๐๕) กล่าวถึงโรคขาดธรรมชาติที่เรียกว่า nature deficit disorder ว่าเกิดจากการเฝ้าหน้าจอมากขึ้น ใช้ชีวิตกลางแจ้งน้อยลง ไม่ได้สัมผัสเชื่ิอมโยงกับธรรมชาติ ทำให้ใช้ประสาทสัมผัสน้อยลงมีปัญหาสมาธิ เจ็บป่วยทางกายและอารมณ์สูงขึ้น แม้โรคนี้จะยังไม่ได้ระบุทางการแพทย์ว่าเป็นโรคทางจิตเวชของเด็ก แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าชีวิตที่หมุนไปตามโลกทุนนิยม ไม่เอื้อให้เราได้ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติเท่าใดนัก

จากจินตนาการสู่การเชื่อมโยงชีวิตจริง มีสะพานนิทานพาดผ่านให้ก้าวเดิน

Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image

ชวนครูเปิดประตู
ขยายขอบการเรียนรู้
ให้กว้างกว่าห้องสี่เหลี่ยม

“อาจเป็นต้นไม้สักต้นในโรงเรียนแค่ได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน บรรยากาศก็เปลี่ยนแล้ว หรืออาจปลูกสวนเล็ก ๆ ในห้อง มีต้นไม้กระถางให้เด็กช่วยกันดูแลก็ได้” 

คำเชิญชวนจากครูพิมพ์ที่เชื่อว่าธรรมชาติจะช่วยเตรียมให้เด็กอนุบาลพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และมีความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นเหมือนฟองน้ำคอยซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องในอนาคต

เหนือสิ่งอื่นใด กุญแจสำคัญที่ใช้ไขประตูบานนี้คือ ครูต้องรักธรรมชาติก่อน

เพราะประกายความรัก ความสงสัยใคร่รู้ของครู ส่งต่อถึงเด็ก ๆ ได้ 

ถัดมาคือผู้อำนวยการโรงเรียนก็ต้องเชื่อมั่นในครู และคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นหลัก และที่ขาดไม่ได้คือผู้ปกครองที่ครูต้องสื่อสารให้เข้าใจร่วมกัน ถึงแนวทางการพัฒนาให้เด็กเติบโตท่ามกลางแสงแดดอบอุ่น

เด็กอนุบาลแก๊งพวกเราเข้าป่าที่นำโดยครูพิมพ์ ทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นมหัศจรรย์เหลือเกิน เป็นประตูที่เปิดโอกาสให้เด็กสวมแว่นตานักสำรวจ สวมบทนักผจญภัย เล่นสนุกกับเพื่อน และทักทายกับพืชสัตว์น้อยใหญ่ที่กลายเป็นเพื่อนใหม่ของพวกเขา 

เมื่อรู้จัก รู้สึกรัก และผูกพันกันแล้ว ประตูบานถัดไปที่เขาจะทำเพื่อให้สิ่งที่รักอยู่กับเขาไปนาน ๆ คงเปิดออกได้ไม่ยาก 

เด็กปฐมวัยควรได้เรียนรู้อะไร... เล่นอิสระในธรรมชาติ หรืออ่านเขียนหนังสือเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ?

คำตอบอยู่ที่คุณแล้ว...  

เอกสารอ้างอิง 
Haminton J. (6 August 2014). Scientists Say Child’s Play Helps Build a Beter Brain. n p r .  สืบค้นจาก https://www.npr.org/sections/ed/2014/08/06/336361277/scientists-say-childs-play-helps-build-a-better-brainfbclid=IwAR3rreV8Kjynr4mEDGaYw7IeKGE9 sGvdwS3XnLfvo_Kn0dPBcnID93mO8-Y

Jordan C., Chawla L. (2019). A Coordinated Research Agenda for Nature-Based Learning. Frontiers in Psychology, 10 (766), 1-10.

Lee K. C. & Bailie E. P. (2019). Nature-based education : using nature trails as a tool to promote inquiry-based science and math learning in young children. Science Activities. 56(4),147-158. doi : 10.1080/00368121.2020.1742641

Rymanoxicz K., Hetherington C., Larm B. (2020). Planting the Seeds for Nature-Based Learning : Impacts of a Farm-and Nature-Based Early Childhood Education Program. International Journal of Early Childhood Environmental Education, 8 (1), 44-63.

ลุฟว์, อาร์. (2563). เด็กคนสุดท้ายในป่า เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างโรคขาดธรรมชาติ. (ดรุณี แซ่ลิ่ว ผู้แปล, สดใส ขันติวรพงศ์ บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา.