Image

ของฝากจาก
“โตเกียวทาวเวอร์”

Souvenir & History

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

หลังโรคโควิด-๑๙ ลดการแพร่ระบาดลง หากมีการทำแบบสำรวจว่าประเทศใดที่คนไทยอยากไปเยือนมากที่สุด เชื่อเหลือเกินว่า “ญี่ปุ่น” น่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายชื่อ ถึงแม้ว่าตอนนี้ (กรก-ฎาคม ๒๕๖๕) ญี่ปุ่นจะเปิดรับเฉพาะคณะนักท่องเที่ยวที่มีการจัดการเรื่องตารางเวลาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น

สถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ วัฒน-ธรรม หรือธรรมชาติ แต่ “สถานที่สำคัญ” ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยกลับมีไม่กี่แห่ง

ในทศวรรษ ๒๕๕๐ ผมก็ไม่ต่างกับคนไทยจำนวนมากที่มีโอกาสไปเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยธุระการงาน หรือกระทั่งการท่องเที่ยวส่วนตัว สถานที่หนึ่งที่ผมมักกลับไปเยือนเสมอคือ “โตเกียวทาวเวอร์” (Tokyo Tower) หรือ “หอคอยโตเกียว” ที่ตั้งอยู่เกือบจะใจกลางเมืองหลวงของญี่ปุ่น

ในแง่กายภาพ เทียบกับหอคอยรุ่นหลังอย่าง “โตเกียวสกายทรี” (Tokyo Skytree) ที่สูงกว่า ทันสมัยกว่าแล้ว โตเกียวทาวเวอร์ดูเล็กลงไปถนัดตา ด้วยความสูงเพียง ๓๓๒.๖ เมตร ขณะที่โตเกียวสกายทรีสูงขึ้นไปอีกเกือบเท่าตัวถึง ๖๓๔ เมตร จนได้รับการบันทึกว่าเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในโลก

แต่สำหรับคนที่เติบโตมาในทศวรรษ ๑๙๙๐ อย่างผม โตเกียวทาวเวอร์ชนะขาดอย่างไม่ต้องสงสัย

ในแอนิเมชันเรื่อง โดราเอมอน (Doraemon) โตเกียวทาวเวอร์ปรากฏตัวอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงมีบางตอนที่โดราเอมอนและโนบิตะใช้คอปเตอร์ไม้ไผ่บินขึ้นไปนั่งเล่นบนหอคอยนี้

ในความเป็นจริงโตเกียวทาวเวอร์ยังถือเป็น “สัญลักษณ์ของการสร้างชาติ” ขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นชาติเดียวที่ต้องรับผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์ ทั้งที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ

ขณะนั้นญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา อเมริการ่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพประจำการอีกต่อไป (มีเพียงกองกำลังป้องกันตนเองที่รู้จักกันในนาม self defense force - SDF) โดยอเมริกาเป็นฝ่ายรับภาระทางทหารแทน เพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามกับประเทศอื่นอีก  ผลคือญี่ปุ่นหันไปพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย

การก่อสร้างโตเกียวทาวเวอร์เริ่มขึ้นตอนกลางปี ๒๕๐๐/ค.ศ. ๑๙๕๗ และสำเร็จลงในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๑/ค.ศ. ๑๙๕๘ โดยทำหน้าที่เป็นหอส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุในภูมิภาคคันโต (ภาคกลาง) ของญี่ปุ่น ครอบคลุมรัศมี ๑๕๐ กิโลเมตร ผลคือรัฐบาลไม่ต้องลงทุนสร้างเสารับสัญญาณในพื้นที่อื่นอีก

ที่สำคัญคือรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้หอคอยแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

ในแผนแรกสุด โตเกียวทาวเวอร์มีความสูงเกินกว่าตึกเอ็มไพร์สเตต ตึกในนครนิวยอร์กที่สูงที่สุดในโลกยุคนั้น (สูง ๓๘๑ เมตร) โดยสถาปนิกผู้ออกแบบคือทาจู นาอิโต (Tachū Naitō) เชี่ยวชาญการออกแบบเสาสัญญาณและหอคอยที่ต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ต่อมาต้องลดความสูงลง เพราะงบประมาณและทรัพยากรไม่เพียงพอ

เรื่องที่น่าสนใจคือ เหล็กที่นำมาเป็นวัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่งหลอมจากซากรถถังของสหรัฐฯ ที่เสียหายในสงครามเกาหลี (รบด้วยอาวุธหนักระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๖/ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๓) และเมื่อสร้างเสร็จ โตเกียวทาวเวอร์มีความสูงกว่าหอไอเฟล กรุงปารีส ๙ เมตร

นอกจากภารกิจด้านการสื่อสาร อีกหน้าที่หนึ่งของโตเกียวทาวเวอร์คือเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยตั้งแต่เปิด (ปี ๒๕๐๑/
ค.ศ. ๑๙๕๘) จนถึงตอนนี้ สถิติอยู่ที่กว่า ๑๕๐ ล้านคน แต่ละปีมีผู้เข้าชมเฉลี่ย ๒.๕ ล้านคน โดยมีพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวสามส่วน คือ ใต้หอคอย เป็นอาคารสี่ชั้น มีร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก  ส่วนที่ ๒ เป็นจุดชมวิว ความสูง ๑๕๐ เมตร และส่วนที่ ๓ จุดชมวิวความสูง ๒๕๐ เมตร

ทั้งนี้โตเกียวทาวเวอร์จะได้รับการบำรุงรักษาตามระยะเวลากำหนด เช่นการทาสีขาวสลับส้ม ซึ่งมีกำหนดทาใหม่ทุก ๕ ปี (ครั้งต่อไปคือปี ๒๕๖๗/ค.ศ. ๒๐๒๔)

Image

Image

ผมจำได้ว่าเมื่อเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ ความทรงจำในวัยเด็กก็พรั่งพรู กระทั่งอารมณ์ร่วมจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Always : Sunset on Third Street (ปี ๒๕๔๘/ค.ศ. ๒๐๐๕) ที่เล่าถึงเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เธอเดินทางเข้ามาทำงานในโตเกียวหวังจะประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตจริงกลับยากยิ่งกว่า โดยที่ทั้งเรื่องมีฉากหลังเป็นโตเกียวทาวเวอร์ที่ค่อย ๆ ก่อสร้างจนเสร็จ

แน่นอนว่าทิวทัศน์จากจุดชมวิวสวยงาม แลเห็นกรุงโตเกียวที่เติบโตจนกลายเป็นมหานครชั้นนำของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้มีนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากมาเยือนที่นี่ เห็นได้จากป้ายคำอธิษฐานที่แขวนอยู่บนต้นไม้จำลองใกล้กับศาลเจ้าลัทธิชินโตที่ตั้งไว้บนจุดชมวิวความสูง ๒๕๐ เมตร มีข้อความภาษาไทยปะปนอยู่ไม่น้อย 

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมกลับเป็นบนชั้น ๔ ของอาคารใต้หอคอย ที่ซึ่งมีชายคนหนึ่งกับลิงของเขามาเปิดการแสดงแลกกับเงินเยนตามแต่ศรัทธา

ผมไม่รู้ว่าเขามาปักหลักตรงนี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่ตลอดทศวรรษ ๒๕๕๐ ผมไปญี่ปุ่นคราใด ทุกครั้งที่แวะโตเกียวทาวเวอร์ ผมจะพบเขากับลิงตัวนั้นเสมอ และครั้งสุดท้ายลิงตัวนั้นก็ดูชราลงมาก

อีกส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไทยอาจไม่ค่อยสนใจคือส่วนจัดแสดงภาพประวัติของโตเกียวทาวเวอร์ ซึ่งเป็นภาพขาวดำขนาดใหญ่หลายภาพ แสดงถึงความมุ่งมั่นของคนญี่ปุ่นหลังสงครามโลก จากนั้นก็เป็นพื้นที่ขายของที่ระลึก ซึ่งแน่นอนว่าโตเกียวทาวเวอร์ถูกแปลงรูปเป็นสินค้านานาชนิด

Image

ของที่ผมได้มาคือ “โตเกียวทาวเวอร์จำลอง” ทำจากเรซินสีฟ้า ยังไม่นับขนมอีกนานาชนิดที่เล่นกับความทรงจำของผู้คนที่มีต่อหอคอยเก่าแก่แห่งนี้

หลังสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ญี่ปุ่นยอมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนอีกครั้ง คนจำนวนมากคงมุ่งหน้าไปยังโตเกียวสกายทรี สัญลักษณ์ใหม่ที่ญี่ปุ่นพยายามประกาศกับโลกหลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุด (โตเกียว ค.ศ. ๒๐๒๐ แต่เลื่อนมาจัด ค.ศ. ๒๐๒๑) ว่าญี่ปุ่นจะก้าวต่อไปในอนาคต

เจ้าหน้าที่ส่วนต้อนรับของโตเกียวทาวเวอร์บางคนเล่าให้ผมฟังว่า หลังจากมีโตเกียวสกายทรีขึ้นมาเป็นคู่แข่ง บริษัทที่ดำเนินกิจการโตเกียวทาวเวอร์ต้องหันมาคิดเรื่องความอยู่รอดและการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพราะคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ไม่ได้มีความผูกพันกับหอคอยแห่งนี้มากเท่ากับคนรุ่นก่อน

แน่นอน ในอนาคต โตเกียวทาวเวอร์คงเงียบเหงาลง

แต่ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากจะยังไม่ลืมที่นี่

เพราะโตเกียวทาวเวอร์คือ “ความทรงจำ” อันมีค่าของพวกเขา