สัมภาษณ์ อนล ไพศาล
คุยกับ EmOne ผู้สร้างเทคโนโลยี
เพื่อจัดการกับขยะอวกาศ
Start up
[ คนไทยไปอวกาศ ]
เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา
ภาพ : ฝ่ายภาพสารคดี
“เพราะขยะไม่ ได้มีอยู่แค่ บนโลก”
+++ ไม่ใช่แค่บนพื้นโลกเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ในวงโคจรของดาวเทียมรอบโลกมนุษย์ก็ได้ทิ้ง “ขยะ” จำนวนมหาศาลไว้และนับวันยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งดาวเทียม ยานอวกาศ จรวด และเศษอุปกรณ์เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ +++ คำถามที่ยากและท้าทายคือ เราจะจัดการดูแล “ขยะ” เหล่านี้อย่างไร ในเมื่อมันไม่ได้ลอยมาให้เราคัดแยกหรือรีไซเคิลง่าย ๆ เหมือนพลาสติกในถังหน้าบ้าน +++ สารคดี จึงชวน อนล ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท EmOne (Thailand) ผู้หลงใหลในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศ มาแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการขยะอวกาศที่ EmOne กำลังก่อร่างทีละชิ้นละอันอย่างมุ่งมั่น >>>
“ขยะอวกาศ”
ฟังเหมือนจะไกล แต่ ใกล้
อวกาศต้องได้รับการดูแล มิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถใช้พื้นที่ในวงโคจรของชั้นบรรยากาศได้อีก
ขยะอวกาศคือวัตถุค้างฟ้าที่อยู่ในชั้นวงโคจรของดาวเทียม*
เพราะถูกส่งขึ้นไปและไม่ได้เอากลับลงมา หรือต้องใช้เวลาหลายปีในการนำกลับมา ขยะอวกาศยังรวมถึงอุกกาบาตด้วยมนุษย์ทิ้งขยะไว้ในอวกาศเยอะมาก บางอย่างสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ แต่บางอย่างไม่มีระบบขับเคลื่อน หรือถูกปลดระวางหน้าที่แล้ว วิ่งตามวงโคจรของมันไปเรื่อย ๆ และก่อให้เกิดปัญหา ขยะอวกาศล่องลอยอยู่ในทุกชั้นวงโคจร เหมือนถนนบนโลก หากรถเยอะแล้วไม่มีการจัดการที่ดีก็จะทำให้รถติด การจราจรบนชั้นวงโคจรตอนนี้แน่นหนามาก และที่มากกว่า “รถติด” คือ “รถชน” เพราะสิ่งที่ส่งขึ้นไปบนอวกาศไม่มีคนขับ เหตุการณ์ดาวเทียมชนกันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ การกระแทกจนแตกหักยิ่งเพิ่มจำนวนเศษขยะมากขึ้นไปอีก ตอนนี้วัตถุในชั้นวงโคจรมีเยอะมาก หลักหลายล้านชิ้น
การจราจรบนชั้นวงโคจรต้องมีกฎกติกา ปรับปรุงให้ทันสมัย มันละเอียดอ่อนและกระทบต่อประเด็นความมั่นคงของประเทศ ต้องทำความสะอาดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทที่ทำเรื่องนี้ และเราอยากเป็นอีกหนึ่งแรง
*วงโคจรของดาวเทียมบนชั้นบรรยากาศมีสี่วง คือ low earth orbit (LEO) ความสูงระดับไม่เกิน ๒,๐๐๐ กิโลเมตร medium earth orbit (MEO) ความสูง ๒,๐๐๐ กิโลเมตรขึ้นไปถึง ๓๕,๗๘๖ กิโลเมตร geosynchronous orbit (GSO) หรือ geostationary orbit (GEO) ระดับ ๓๕,๗๘๖-๔๒,๑๖๔ กิโลเมตร และชั้นบนสุดคือ high earth orbit สูงกว่าระดับของ geosynchronous orbit ขึ้นไป
จัดการขยะอวกาศ
จัดการยังไง ?
วิธีการจัดการขยะอวกาศแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือ
๑. shielding
๒. active space debris removal (ADR)
๓. collision avoidance (CA)
๔. laser shooting
shielding
คือการเสริมความแกร่งป้องกันการชนให้วัตถุขนาดเล็กด้วยเกราะ แต่ทำให้เพิ่มจำนวนขยะด้วย
active space debris removal (ADR)
คือการใช้ดาวเทียมหรือยานอวกาศมาช่วยจัดการวัตถุค้างฟ้า อย่าง Clear Space SA จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ดำเนินการเรื่องขยะอวกาศ ด้วยการใช้แขนกลคีบขยะอวกาศเหมือนที่เราเล่นคีบตุ๊กตา หรือ Astroscale จากประเทศญี่ปุ่น อาศัยการตอบสนองต่อแม่เหล็กของขยะอวกาศในการจับและเก็บขยะอวกาศ
collision avoidance (CA)
คือการอาศัยข้อมูลจำนวนมากและความร่วมมือระหว่างเจ้าของดาวเทียมนานาประเทศ เพื่อบริหารและสั่งการวัตถุในอวกาศให้หลบเลี่ยงเส้นทางจราจรของกันและกัน ประเทศไทยมีโครงการ ZIRCON ที่ทาง GISTDA พัฒนาขึ้น
laser shooting
คือการอาศัยเลเซอร์พลังงานสูงยิงขยะอวกาศจากภาคพื้นเพื่อผลักดันให้เปลี่ยนวิถีโคจรหรือเผาทำลายชิ้นส่วน
สำหรับ EmOne เราพยายามสร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีวงโคจรของวัตถุ จัดอยู่ในกลุ่ม ADR โดยตรวจจับและตอบสนองต่อวัตถุในอวกาศได้ทั้งเหล็กและพลาสติก ดึงวัตถุกลับมาเข้าในทิศทางที่เราควบคุม ปรับทิศทางวงโคจร อาจนำวัตถุเป้าหมายกลับคืนสู่พื้นโลกเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือเปลี่ยนตำแหน่งไปยังวงโคจรที่กำหนดไว้ให้เป็น “สุสาน” โดยเฉพาะ
เราจะเริ่มจัดการกับวัตถุขนาดเล็กก่อน เชื่อว่าถ้าเล็กทำได้ใหญ่ก็ต้องทำได้ เครื่องมือของเราจะช่วยลดโอกาสที่ดาวเทียมจะชนกัน และปกป้องดาวเทียมจากเศษขยะอวกาศ
เริ่มแรกเราทดสอบเครื่องมือบนชั้นบรรยากาศ ต่อมาเราสร้างอุปกรณ์คล้ายตู้ขนาดเล็กเพื่อบรรจุการทดสอบ เมื่อได้ผลลัพธ์เดียวกับที่เราทดสอบในชั้นบรรยากาศ ถัดไปเราจะนำไปทดสอบในระดับ microgravity หรือสภาวะแรงโน้มถ่วงที่ต่ำมากกว่าที่พื้นผิวโลก โดยอาจส่งขึ้นไปบน fighting jet ที่แรงโน้มถ่วงต่ำ หรือถ้าเรามีเงินทุนมากพอก็สามารถสร้างเครื่องมือทดสอบเองได้ กระบวนการนี้ใช้กับการวิจัยเกี่ยวกับความพร้อมของสรีรวิทยามนุษย์ และการต่อสู้กับสภาพอากาศของวัสดุอุปกรณ์
ตอนนี้เรามีขยะอวกาศสัญชาติไทยอยู่หนึ่งชิ้นที่อยากทดสอบ และยังมีขยะอวกาศอื่น ๆ ที่ทั้งระบุและไม่ได้ระบุสัญชาติ ชิ้นไหนระบุสัญชาติจะนำกลับไปส่งคืนเจ้าของเพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยชิ้นไหนไม่ระบุสัญชาติเราตั้งใจเก็บไว้ให้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ขยะมันคือทรัพยากรมีค่าทั้งนั้น
เราคำนึงถึงความยั่งยืนของโลกเป็นหลัก หากเรานำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้ จะไม่ดีกว่าปล่อยให้ถูกเผาทำลายในชั้นบรรยากาศหรอกหรือ ?
เมื่อในวงโคจรหนาแน่น ถ้าเครื่องมือเราสำเร็จแปลว่าเราจัดระบบระเบียบให้กับวงโคจรได้ วงโคจรได้รับการทำความสะอาด มีพื้นที่ว่างเพิ่มมากขึ้น อุบัติเหตุในวงโคจรจะลดลงที่สำคัญคือการรักษา “ข้อมูล” ที่มนุษย์บนโลกได้จากเทคโนโลยีบนอวกาศเอาไว้
ความยากและความหวัง
ของการบินไปให้ถึง
ในภาพรวม โลกเริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับขยะอวกาศแล้วแต่ EmOne เพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ได้รับเงินทุน รวมทั้งอุปสรรคเรื่องโอกาสที่จะทดสอบเครื่องมือเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการทดลองและนำไปต่อยอด
ในทีมเรามีกันไม่ถึง ๑๐ คน ขณะที่มีกรอบเวลาจำกัด เราวางแผนไว้ว่า ภายในปีนี้แนวคิดและการทดสอบขั้นแรกจะต้องเรียบร้อย เพื่อขยับสร้างและพัฒนาเป้าหมายถัดไปในปีหน้า
เคยมีคนบอกว่า ใครจะมาจ่ายคุณล่ะ นอตแค่ตัวเดียว แต่เราไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่นอต เราเห็นประโยชน์จากทั้งภาพรวม งานนี้ไม่เสร็จโดยเร็วหรอก เพราะเป็นการวิจัยและลงทุนระยะยาว อีกทั้งขยะอวกาศไม่มีทางหมดไปง่าย ๆ หน้าที่ของเราจึงคือการพิสูจน์ว่าเราทำได้ ไม่ได้แค่ขายฝัน
เรามีงานวิจัยมากพอสมควร และพยายามส่งต่อสู่สาธารณะ เพื่อคาดหวังการสนับสนุน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมมือกับหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อย่างตอนนี้ GISTDA ก็เข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนเรื่องข้อมูลให้ EmOne
สิ่งสำคัญไม่แพ้ความร่วมมือระหว่างองค์กร คือการเป็นประเทศสมาชิกด้านเทคโนโลยีอวกาศในระดับนานาชาติ เพราะหากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใด เขาก็ให้คะแนนศักยภาพเราต่ำ ตัดสินใจสนับสนุนเรายาก อาจช่วยเรื่องข้อมูลบ้าง แต่การแข่งขันหรือทุนก็ไม่ได้มากเท่าประเทศสมาชิกแน่ ๆ
น้อง ๆ หลายคนพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ แต่ขีดจำกัดคือประเทศไทยไม่ค่อยมองเรื่องนี้ เราไม่ได้เป็นเครือข่ายกับนานาชาติ ไม่ได้รับทุน ไม่ได้มีพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่บ้านเราจะมองเห็นประโยชน์มหาศาลจากการพัฒนาเรื่องนี้หรือเปล่า
อย่างน้อย ๆ ถ้ามีพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ มีสำนักงานกิจการอวกาศเกิดขึ้น ก็น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
สิ่งแวดล้อมสำคัญ
ครอบคลุมมากไปกว่าพื้นโลก
เป็นความตั้งใจของสมาชิกในทีมที่ยังคงรักษาสิ่งที่อยากทำเราไม่ลืมฝันของตัวเองสมัยเด็ก ๆ ค่อย ๆ เก็บเป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ และพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น
ตลอด ๑ ปีของการเดินทางตั้งแต่เริ่มจุดประกายความหวัง EmOne สะสมสิ่งเล็กสิ่งน้อยและนำมาเชื่อมต่อกัน เพื่อนำมาสู่ทางออกและวิธีการแก้ไขปัญหาที่พวกเราตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาให้คนส่วนใหญ่ ช่วยบริหารและรักษาทรัพยากรของโลกให้ได้
ในอนาคต เราตั้งใจจะสร้างดาวเทียมที่สนับสนุนภารกิจบริหารจัดการ “ขยะอวกาศ” ด้วย ปลายปีนี้ (ปี ๒๕๖๕) หาก EmOne ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ตั้งใจ เราจะระดมทุน เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมมือ พิสูจน์ไป ด้วยกันกับเรา
+ + +
ทั้งโลกและอวกาศกำลังเรียกร้องให้ทุกคนหันมอง ตระหนักและช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่บนพื้นผิวโลก ไม่ว่าในแง่มุมใดหรือด้วยเครื่องมือใดก็ตาม
แม้จะยังไม่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อย EmOne ก็ได้ทำลายกรอบและกำแพงของข้อสงสัยที่ว่า เรามีความหวังมากน้อยเพียงใดที่จะจัดการกับขยะอวกาศ เพราะว่ามันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว