Image

ประโยชน์ของความเบื่อหน่าย

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ปรกติแล้วในแต่ละวันคนเราจะเกิดอารมณ์บวกและลบเต็มไปหมด หนึ่งในอารมณ์ลบที่หลายคนต้องเจอคือความเบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายไม่มีประโยชน์ ?

มีงานวิจัยชี้ว่าความเบื่อหน่ายไม่ได้ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงและอันที่จริงหากมีในปริมาณเหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสมกลับมีประโยชน์ด้วย เช่นกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ !

เมื่อกล่าวถึงความเบื่อหน่าย ผู้คนก็จะนึกถึงอารมณ์ลบที่ทำให้ไม่สบายอกสบายใจ อึดอัด ไม่สบายตัว มีตั้งแต่เบื่อหน่ายต่อชีวิตและหน้าที่การงานด้วยสาเหตุสารพัดสารพัน เช่น ไม่อยากเข้าประชุม เซ็งคิวรอซื้อของที่ยาวเหยียด เซ็งคนรอบตัว เบื่อคนใกล้ตัวที่บ่นเรื่องซ้ำ ๆ ฯลฯ

ถ้าน้อยก็อาจใช้วิธีหลีกหนีไปเข้าโลกโซเชียลมีเดีย เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่หากเป็นมากและเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจถึงกับรู้สึกซึมเศร้าหรือสิ้นหวังได้

ตัวละคร สการ์เลตต์ โอฮารา นางเอกเรื่อง วิมานลอย ถึงกับบอกว่า “น่าเบื่อจนอยากจะกรี๊ด” แต่ต่อให้กรี๊ดออกมาสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด เซเนกา (Seneca) นักปรัชญาชาวโรมันผู้มีชื่อเสียง แสดงความรังเกียจที่ต้องทำสิ่งซ้ำซากจำเจ บอกว่าทำให้เกิดอาการคลื่นเหียนหรือพะอืดพะอมเลยทีเดียว

หนึ่งในนิวรณ์ ๕ อย่างที่พุทธศาสนาระบุว่าเป็นเครื่องกั้นขวางไม่ให้เกิดสมาธิ ได้แก่ “ถีนมิทธะ” ซึ่งท่านอธิบายว่าเป็นลักษณะของจิตที่ห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง และเศร้าซึมง่วงเหงาหาวนอน อันเป็นเหตุให้หมดอาลัย เกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น ปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม

โลกยุคปัจจุบันออกจะรังเกียจรังงอนความเบื่อหน่ายยิ่งกว่ายุคใด ๆ ที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมากมายที่หากินกับการลดทอนหรือกำจัดความเบื่อหน่ายและความซ้ำซากในชีวิตจนร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยงานบ้านอย่างเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เครื่องล้างจาน ฯลฯ ไปจนถึงวงการบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ คอนเสิร์ต ละครเวที เรียลิตีโชว์ต่าง ๆ และอาจรวมถึงกีฬาหรือกิจกรรมแบบเอกซ์ตรีมที่ทำอะไรแบบสุดขั้ว

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนสมัยใหม่รังเกียจความเบื่อหน่ายมากอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงกับยอมทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เจ็บตัว ยังดีเสียกว่าอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ อย่างน่าเบื่อหน่าย !

การทดลองที่แสดงให้เห็นปรากฏการณ์ประหลาดนี้ทำโดยทีมของศาสตราจารย์ทิโมที วิลสัน (Timothy Wilson) จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย และตีพิมพ์ในวารสาร Science ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ (doi : 10.1126/science.1250830) 

ทีมวิจัยให้อาสาสมัครนั่งเฉย ๆ ในห้อง ไม่มีอะไรที่ใช้ดึงดูดความสนใจและไม่ให้ทำอะไรเลยนาน ๖-๑๕ นาที เรียกว่าปล่อยให้จมอยู่กับความคิดก็คงพอได้ เรื่องไม่น่าเชื่อก็คืออาสาสมัครจำนวนมากยินดีที่จะปล่อยกระแสไฟฟ้าช็อตตัวเอง ดีกว่าอยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลย

การโดนไฟฟ้าช็อตที่นักวิจัยจัดไว้ให้นี่เจ็บใช้ได้ แต่ก็ยังดีกว่าอยู่เฉย ๆ สำหรับหลายคน !

อันที่จริงอาจใช้ยืนยันทางอ้อมว่า ผู้คนในยุคนี้ไม่คุ้นชินกับการอยู่กับตัวเองเฉย ๆ นิ่ง ๆ  ในโลกแห่งความเป็นจริงจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีตัวเลขคนกินอาหารมากเกิน ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เสพติดยา หรือเล่นพนันกันมากมาย นี่ยังไม่รวมการก่อจลาจลและทุบทำลายข้าวของ ซึ่งผิดกฎหมาย

การศึกษาของดอกเตอร์จอห์น อีสต์-วูด จากห้องปฏิบัติการศึกษาความเหนื่อยหน่าย (Boredom Lab) มหาวิทยาลัยยอร์กในแคนาดา ชี้ให้เห็นว่ามีคนสองจำพวกที่เบื่อหน่ายง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่ คนที่มีงานและชีวิตที่ซ้ำซาก กับคนขี้กังวลใจที่กระวนกระวายกับสิ่งต่าง ๆ ในทุกวันมาก จนสัญชาตญาณผลักดันให้อยากแยกตัวออกจากเรื่องดังกล่าวเหล่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหน ความเบื่อหน่ายทำตัวเหมือนเครื่องวัดอารมณ์ภายใน คอยกระตุ้นให้ผู้คนมองหาความตื่นเต้นและเกิดความอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ทูเฮย์ (Peter Toohey) จากมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนาดา เขียนหนังสือชื่อ ความเบื่อหน่าย-ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา (Boredom-A Lively History) ชี้ว่าจากงานวิจัยของทีมเขาทำให้รู้ว่าความเบื่อหน่ายอาจแบ่งได้เป็นสองแบบ

แบบแรกเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ (situational boredom) เช่น ขับรถเที่ยวยาวนานจนเหนื่อยและเบื่อหน่าย อยากเลิกทำ หรือผจญกับการประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพเหลือจะทนจนไม่อยากประชุมต่อหรือไม่อยากเข้าประชุมคราวหน้าอีก

อีกแบบเกี่ยวข้องกับสิ่งรอบตัวที่ล้นเกิน (boredom of surfeit) เช่น มีอาหารหรือเครื่องดื่มให้เลือกเพียบไปหมดทุกมื้อ มีเสื้อผ้าเต็มตู้ เกิดเบื่อหน่าย ไม่รู้จะกิน ดื่ม หรือใส่อะไร !

คำแนะนำทางการตลาดแบบหนึ่งก็คือ อย่าใส่ตัวเลือกในเมนูมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกค้าพลิกเมนูไปมาแล้วเหนื่อยและเบื่อ จึงพบเห็นลูกค้าจำนวนมากปิดเมนูและถามหาแต่ “เมนูแนะนำ”

ความเบื่อหน่ายมีวิวัฒนาการอย่างไรกันแน่ ? ปรกติอะไรที่ไม่มีประโยชน์มักจะไม่ได้รับการเก็บรักษาไว้โดยวิวัฒนาการจึงน่าสงสัยว่าทำไมคนเราจึงยังเกิดความเบื่อหน่ายอยู่อีก ?

งานวิจัยโครงสร้างสมองทำให้รู้ว่าสมองส่วนอินซูลา (insula) ตรงฐานกะโหลกใกล้กับก้านสมอง (แถวต้นคอ) ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกเบื่อหน่าย มีบทบาทหลักในการรับรู้ความเจ็บปวดและคอยเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ ให้กลายไปเป็นอารมณ์ความรู้สึก

เมื่อใช้เครื่อง MRI สแกนสมองของอาสาสมัครก็ทำให้ทราบว่า คนกลุ่มที่มองหาความตื่นเต้นในชีวิตล้วนแล้วแต่มีสมองส่วนอินซูลาที่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าคนทั่วไป ขณะที่พวกที่ตอบสนองตัวกระตุ้นน้อยกว่ามีการทำงานของสมองส่วนซิงกูเลตด้านหน้า (anterior cingulate) มากกว่า โดยที่สมองส่วนนี้ก็ใช้ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเช่นกัน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมล้วนแล้วแต่มีสมองส่วนอินซูลา จึงไม่น่าแปลกใจที่หากโดนจับขังกรงนาน ๆ จะเกิดความเฉื่อยชา

เรื่องที่น่าสนใจคือ มีผู้ทดลองเปิดเพลงคลาสสิกให้ช้างในสวนสัตว์เบล-ฟาสต์ฟัง ทำให้ลดพฤติกรรมเบื่อหน่ายได้เป็นอย่างดี ช้างกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น สำหรับสัตว์อื่นอีกหลายชนิดดูเหมือนดนตรีก็ช่วยลดทอนความสับสนกระวนกระวายใจเมื่ออยู่ในพื้นที่แบบจำกัดบริเวณได้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ มนุษย์ก็คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ที่มีวิวัฒนาการมาให้ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ มีความอยากรู้อยากเห็นและมองหาความตื่นเต้นเร้าใจอยู่เสมอ

เรื่องนี้อาจเป็นบทบาทสำคัญของความเบื่อหน่ายของมนุษย์ในเชิงสังคม

เท่านั้นยังไม่พอ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าความเบื่อหน่ายอาจทำให้เราเอาใจใส่และคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เพราะการมีเวลาว่างทำให้มีโอกาสที่จะสำรวจตรวจตราและหาความหมายของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น และไม่แน่ว่าอาจมีส่วนทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย

ในกรณีหลังนี้มีการให้อาสาสมัครเขียนหมายเลขโทรศัพท์ต่าง ๆ นาน ๑๕ นาที ก่อนจะให้คิดหาวิธีการใช้ประโยชน์ถ้วยพลาสติกให้มากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทำอะไรมาก่อน ผลคือพวกที่สมองโล่ง ๆ คิดหาวิธีการใช้พลาสติกได้มากวิธีกว่า

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มักเล่าว่าบ่อยครั้งที่เขาหยุดคิดโจทย์ปัญหาแล้วไปเล่นเปียโน ดูภาพศิลปะ หรือพายเรือเล่นอย่างไม่ตั้งเป้าหมายใด ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาแก้โจทย์ปัญหายาก ๆ ได้ในช่วงเวลาเหล่านั้น

คำแนะนำในการทำตัวเป็นเพื่อนกับความเบื่อหน่ายก็คือ ให้หาเวลาว่าง ๆ นอนรับลม มองฟ้า หญ้า ผีเสื้อ แมลงปอ ฯลฯ พฤติกรรมเช่นนี้ช่วยกระตุ้นและเติมทั้งพลังกายและพลังใจได้  การแวะไปสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย อาจเป็นห้างเปิดใหม่ แล้วเดินดูข้าวของก็ช่วยได้เช่นกัน (แต่ระวังจะชอปจนหมดเนื้อหมดตัว !)

การไปยืนดมกลิ่นทะเล ทำหน้าโง่ ๆ หัวโล่ง ๆ มองฟ้ามองน้ำ หรือฟังเพลงใหม่ ๆ แล้วปล่อยจิตใจให้ล่องลอย ฝันกลางวันเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงก็ช่วยปลดปล่อยความเครียดและชาร์จแบตฯ ให้ร่างกายได้  สุดท้าย กิจกรรม
ที่ง่ายแสนง่าย แต่ช่วยนักคิดจำนวนมากมายมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นสิ่งที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน โปรดมากก็คือการเดินเล่น เขาก็เช่นเดียวกับไอน์สไตน์ที่ได้ไอเดียดี ๆ ตอนเดิน

การเดินเรื่อยเปื่อยดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจ

ถึงตรงนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ความเบื่อหน่ายก็มีวิวัฒนาการ หน้าที่ และประโยชน์ และการเรียนรู้การใช้ความเบื่อหน่ายให้เป็นประโยชน์ก็เป็นเรื่องเป็นไปได้เช่นกัน