Image

สมุดนักเรียนติมอร์เลสเต

Souvenir & History

เรื่อง : ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์
ภาพ : อมตา จิตตะเสนีย์

ราวชั่วพริบตา ในปี ๒๕๖๕/ค.ศ.๒๐๒๒ ติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) เป็นเอกราชมาได้ ๒ ทศวรรษแล้ว

ย้อนกลับสมัยผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัย ข่าวต่างประเทศที่ดังมากเรื่องหนึ่งในยุคนั้นคือข่าวกองกำลังสหประชาชาติที่ถูกส่งเข้าไปในติมอร์ตะวันออก ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๔๗/ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๔ ภายหลังการลงมติแยกตัวเป็นเอกราชของติมอร์-เลสเต (ออกจากอินโดนีเซีย) ในปี ๒๕๔๒/ค.ศ. ๑๙๙๙ ส่งผลให้กองกำลังที่หนุนหลังโดยอินโดนีเซียออกปฏิบัติการจนติมอร์-เลสเตแทบจะกลายเป็นเถ้าถ่าน

ในช่วงนั้นยังไม่เกิดวิกฤตการเมืองในไทย ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม (ปี ๒๕๓๕/ค.ศ. ๑๙๙๒) ขณะที่อินโดนีเซียเกิดความวุ่นวายทางการเมืองนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐/ค.ศ. ๑๙๙๗

เมื่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์-เลสเต ไทยจึงมีสภาวะที่มั่นคงพอจะให้ความช่วยเหลือทางทหาร เนื่องจากอินโดนีเซียไม่ไว้วางใจออสเตรเลียที่เป็นผู้นำกองกำลังรักษาสันติภาพดังกล่าว กรณีนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) เคยเปิดเผยกับผู้เขียนว่า ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายชวน หลีก-ภัย เคยได้รับคำขอเรื่องนี้โดยตรงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย

ติมอร์ฯ ได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๔๕/ค.ศ. ๒๐๐๒ หลังจากนั้น ประเทศน้องใหม่ก็เริ่มเดินหน้าสร้างบ้านเมืองขึ้นจากซากปรักหักพัง

หลังมาทำงานสื่อมวลชน ผู้เขียนมีโอกาสไปติมอร์ฯ ในปี ๒๕๕๘/ค.ศ. ๒๐๑๕ จำได้ดีว่าตอนออกจากกรุงดิลี (Dili) ไปยังเมืองเมาบิสซี (Maubisse) ที่อยู่ตอนกลางของเกาะ มีโอกาสแวะโรงเรียนประถมเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายกับโรงเรียนรัฐในเขตชนบทบ้านเราแทบไม่มีผิด

เรื่องที่สะดุดตาที่สุดเรื่องหนึ่งคือ บอร์ดที่ติดอยู่ตามชั้นเรียนมีแต่ภาษาโปรตุเกส กระทั่งหนังสือเรียนของนักเรียนชั้นประถมฯ ก็เต็มไปด้วยภาษานี้

ผมซื้อสมุดปกอ่อนเล่มหนึ่งเป็นของที่ระลึกด้วยสนนราคาราว ๑ ดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินไทยตอนนั้นอยู่ที่ราว ๓๐ บาท) ซึ่งเป็นสมุดปกอ่อนแบบเดียวกับที่เด็ก ๆ ในโรงเรียนใช้

Image

หน้าปกสมุดเป็นแผนที่ประเทศ แสดงจังหวัดต่าง ๆ ภาพชายหาด ลวดลายประดับของชนพื้นเมือง ด้านหลังมีเพลงชาติติมอร์ฯ ภาษาโปรตุเกส เช่นเดียวกับในเล่มที่มีคำขวัญทั้งภาษาโปรตุเกสและอินโดนีเซียว่า Educação Forte, Nação Forte/Edukasaun Forti, Nasaun Forti แปลเป็นไทยว่า “การศึกษาเข้มแข็ง ชาติมั่นคง”

จนระลึกได้ว่าก่อนหน้าที่จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย ติมอร์ฯ เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาตั้งแต่ปี ๒๓๑๒/ค.ศ. ๑๗๖๙ ก่อนจะได้รับเอกราชในปี ๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๗๕ จากนั้นกลับตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียที่ส่งกำลังเข้ามาควบคุมในฐานะจังหวัดที่ ๒๗ อีก ๒๕ ปี ท่ามกลางการต่อต้านของคนติมอร์ฯ จนมีการทำประชามติโดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา

ภาษาหลักที่คนที่นี่ใช้กัน (นอกจากภาษาท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่าที่มีนับสิบ) จึงย่อมหนีไม่พ้นภาษาโปรตุเกสและอินโดนีเซีย ภาษาโปรตุเกสใช้กันในหมู่คนสูงวัยที่ผ่านประสบการณ์การเป็นอาณานิคมโปรตุเกสและการต่อสู้เพื่อเอกราช รวมถึงกลุ่มคนที่มีการศึกษา ขณะที่ภาษาอินโดนีเซียใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ได้มาในช่วงที่ถูกยึดครอง

รัฐบาลจึงประกาศให้ภาษาโปรตุเกสและเตตุม (Tetum-ภาษาของชนเผ่าท้องถิ่นที่แพร่หลายในเกาะ) เป็น “ภาษาประจำชาติ” ขณะที่ “ภาษาเพื่อการสื่อสาร” (working language) คือภาษาอังกฤษและอินโดนีเซีย

ปัญหาว่าด้วยภาษาในติมอร์ฯ เป็นเรื่องชวนปวดหัว  ด้วยขณะที่รัฐบาลติมอร์ฯ มีท่าทีสนับสนุนการเรียนภาษาโปรตุเกส แต่ในความเป็นจริงประชาชนกลับใช้ภาษาแตกต่างหลากหลาย

หลายปีที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกระบุว่า การใช้ภาษาโปรตุเกสเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โรงเรียนที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเพิ่มจำนวนขึ้น เช่นเดียวกับการเรียนภาษาอังกฤษ

ภาษาโปรตุเกสจึงอาจถือเป็นภาษาของคนรุ่นใหม่ควบคู่กับภาษาอังกฤษ ขณะที่ประชาชนทั่วไปใช้ภาษาอินโดนีเซีย คนติมอร์ฯ หลายคนบ่นกับผมว่า คนที่ไม่รู้ภาษาโปรตุเกสจะมีปัญหากับการติดต่อราชการรวมถึงระบบกฎหมาย เพราะกฎหมายของติมอร์ฯ เขียนด้วยภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก

ข้อมูลจากยูเนสโกยังระบุด้วยว่าในปี ๒๕๔๔/ค.ศ. ๒๐๐๑ ประชากรติมอร์ฯ ที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนร้อยละ ๓๗.๖ ก่อนจะเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๘.๓ ในปี ๒๕๕๓/ค.ศ. ๒๐๑๐ และร้อยละ ๖๘ ในปี ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑ แต่ยูเนสโกไม่ได้ระบุว่าอ่านออกเขียนได้ในที่นี้ หมายถึงภาษาอะไร

นโยบายสนับสนุนภาษาโปรตุเกสของรัฐบาลติมอร์ฯ จะเดินหน้าได้แค่ไหน

เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ