วราพรรณ ชัยชนะศิริ
จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ระหว่างทางของมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
กว่าจะไปถึงยูเนสโก
ผู้อำนวยการกองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
Interview
สัมภาษณ์ : เบญจวรรณ รุ่งศิริ
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
การหลั่งไหลทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอาจมีผลให้วัฒนธรรมบางส่วนถูกลบเลือนและสูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสมาชิกขององค์การยูเนสโกในลำดับที่ ๑๗๑ และมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ รองรับการทำงานด้านการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ภายใต้การดูแลของกองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
สารคดี ชวนมองภาพรวมและทำความเข้าใจขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับ วราพรรณ ชัยชนะศิริ ผู้อำนวยการกองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
กองฯ ดูแลเรื่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง
กองฯ จะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ คือสรรหามรดกภูมิปัญญาต่าง ๆซึ่งมีคณะส่งเสริมงานวัฒนธรรมระดับจังหวัด เฟ้นหาวัฒนธรรมมาขึ้นทะเบียนในระดับจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานบอร์ดคัดเลือก เมื่อจังหวัดและกรุงเทพมหานครพิจารณามรดกภูมิปัญญาของตัวเองแล้ว ก็ประกาศขึ้นทะเบียน แล้วแจ้งมาที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เรามีกลุ่มบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซึ่งจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเจ็ดชุดตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ประกาศใน พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง การละเล่นพื้นบ้าน ประเพณี พิธีกรรม แนวปฏิบัติทางสังคม ธรรมชาติและจักรวาล คณะอนุกรรมการนี้จะกลั่นกรองมรดกภูมิปัญญาฯ ของจังหวัดที่ส่งเข้ามา แล้วเสนอคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซึ่งเราเรียกบอร์ดใหญ่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน เพื่อพิจารณารายการที่จะเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
กรณีที่เห็นว่าควรเสนอในระดับนานาชาติ ก็จะเสนอต่อยูเนสโก เพื่อประกาศขึ้นรายการบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งแบ่งเป็นสามรายการ คือ รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน และรายการที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา
ถ้าได้ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยก็ส่งงานต่อไปยังกลุ่มเผยแพร่และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสังคมและประชาชนโดยรวม
นอกจากนี้เราก็มีกลุ่มศูนย์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมรายการที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด รวมถึงรายการที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบ เพื่อง่ายต่อการสืบค้น ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาระบบฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังร่วมมือกับ GISTDA [สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)] นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปปักหมุดตามที่ต่าง ๆ ให้เห็นว่ามรดกภูมิปัญญาฯ ทั้งหกสาขาของไทยมีอะไรบ้างมีผู้ใดถือครอง
ก่อนปี ๒๕๕๙ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มี พ.ร.บ. ฉบับอื่นคุ้มครองหรือไม่
ไม่มีเลย นี่เป็นกฎหมายฉบับแรก เดิมการจัดการดูแลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นการทำงานตามปรกติระหว่างหน่วยราชการกับภาคประชาชน มีการจัดกิจกรรมสาธิต นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาถ่ายทอดแก่เด็กและเยาวชน แต่เมื่อมี พ.ร.บ. รับรอง ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจและภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้น ว่าจะได้รับการส่งเสริมและต่อยอดสู่คนรุ่นหลัง
กฎหมายนี้สำคัญมาก ๆ ถ้าไม่มีเราอาจเดินไม่ถูกว่าควรไปทิศทางไหน อาจไม่ตรงตามที่ยูเนสโกกำหนดในหกสาขา
แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จึงอยู่ระหว่างผลักดันแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซึ่งทางจังหวัดกับกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ส่งมาที่คณะอนุกรรมการ เราก็มีแนวคิดว่าประชาชนผู้ถือครอง หรือ NGO ที่เห็นความสำคัญก็สามารถส่งรายการมาที่คณะอนุกรรมการได้
กระบวนการขอเสนอขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกใช้เวลานานแค่ไหน
เนื่องจากประเทศเครือข่ายภาคีสมาชิกของยูเนสโกมีจำนวนมาก และยูเนสโกจำกัดการขึ้นทะเบียนจากประเทศทั่วโลกปีละ ๕๕ รายการ โดยกำหนดให้ส่งเอกสารไม่เกินวันที่ ๓๐ มีนาคมของทุกปี แต่ของไทยก่อนจะไประดับนานาชาติ ต้องขึ้นทะเบียนระดับจังหวัดและระดับชาติก่อน และต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบถึงจะเสนอยูเนสโกได้
ยกตัวอย่างกรณีต้มยำกุ้ง เราใช้เวลาเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำเอกสารพร้อมส่งยูเนสโกประมาณ ๑ ปี เพราะต้องสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับชุมชนเจ้าของมรดกภูมิปัญญาหรือผู้ถือครอง ต้องสืบค้นประวัติความเป็นมา แนวทางการสงวนรักษา ความเกี่ยวพันต่อสิ่งแวดล้อม การรักษาน้ำหรือพันธุ์กุ้ง รวมถึงทำประชาพิจารณ์กับประชาชนที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ถือครองนั้นลงนามยินยอม ซึ่งสำคัญมากในการขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก และต้องทำวีดิทัศน์ภาษาอังกฤษไม่เกิน ๑๐ นาที นำเสนอยูเนสโก และทำวีดิทัศน์เสนอ ครม. ความยาว ๓ นาที
ตอนนี้ประเทศไทยถือว่าโชคดี เพราะเราขึ้นทะเบียนโขนกับนวดไทย ๒ ปีติดกัน แล้วเว้นไป ๑ ปี จากนั้นมาขึ้นโนรา
เราเลยต้องเว้นให้ประเทศอื่นเสนอบ้าง แต่เราก็ยื่นอีกสองรายการเข้าไปจ่อรอให้ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน คือต้มยำกุ้งและสงกรานต์ ที่ ครม. เห็นชอบแล้ว และกำลังเตรียมรายการผ้าขาวม้า
การขึ้นทะเบียนร่วมกันของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศก็เป็นอีกช่องทางในการผลักดันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตัวอื่น ๆ ของไทยได้เพิ่มมากขึ้นเพราะขึ้นได้ทุกปีไม่ได้จำกัดจำนวน
ในการประชุมของยูเนสโกครั้งก่อนที่ประเทศโคลอมเบีย ไทยและมาเลเซียได้หารือกันในการขึ้นทะเบียนร่วมเซปักตะกร้อซึ่งจะเป็นพันธสัญญาระหว่างประเทศเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริม สงวน และรักษาร่วมกัน เป็นประโยชน์ต่องานระหว่างประเทศ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม
ผู้ถือครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นใครได้บ้าง
ชุมชน จะเป็นองค์กรชุมชนหรือสภาวัฒนธรรมก็ได้ อย่างกรณีสงกรานต์ก็มีทั้งสภาวัฒนธรรมในระดับจังหวัด อำเภอ
ตำบล ซึ่งตาม พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ กำหนดให้สภาวัฒนธรรมเป็นองค์กรภาคเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีส่วนผลักดันการขึ้นทะเบียนและเป็นผู้ถือครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้ หรือต้มยำกุ้งก็มีชุมชนริมน้ำแถวอยุธยา ปทุมธานี เป็นผู้ถือครอง ซึ่งการสืบค้นประวัติจากเอกสารสมัยก่อนไม่ได้เรียกต้มยำกุ้ง เขาเรียกต้มกุ้ง แต่ละภูมิภาคก็มีวิธีปรุงไม่เหมือนกันบางภูมิภาคใช้มะนาว บางภูมิภาคใช้มะขามเปียก อยู่ที่บริบทของพื้นที่และวัตถุดิบที่หาได้ ตอนเราลงไปเก็บข้อมูล ชาวบ้านมักเข้าใจว่าจะมาเอาสูตร จริง ๆ แล้วเรามองที่วิถีชีวิตของคนไทย
หลังจากได้ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแล้วดำเนินการอย่างไรต่อ
ถ้ารายการนั้นได้ขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโก ประเทศไทยก็มีพันธสัญญาตามมาตรการที่ต้องส่งเสริม สงวนรักษาพร้อมทำรายงานเสนอองค์การยูเนสโก ซึ่งในปี ๒๕๖๗ เราต้องรายงานทั้งโขน นวดไทย และโนรา
กรมฯ มีงบประมาณแก่หน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการสืบทอดรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปขับเคลื่อนในพื้นที่ อย่างเมื่อโนราได้ขึ้นทะเบียนแล้ว เราก็สนับสนุนงบประมาณให้ทางพัทลุงสร้างกระแสการรับรู้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้คนในพื้นที่ ความจริงโนราเขาก็แข็งแรงอยู่แล้วแต่นี่ยิ่งตอกย้ำความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาของเขา
ส่วนนวดไทยก็ได้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมบูรณาการกับภาคีเครือข่ายช่วยสร้างการตระหนักรู้ให้มากขึ้น หมอนวดมีรายได้เพิ่มและภาคภูมิใจที่นวดไทยได้รับการขึ้นทะเบียน
วัฒนธรรมเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นคงอยู่และขับเคลื่อนไปได้
บางประเทศที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีปัญหา ก็ถูกถอดถอนได้ไม่ใช่ขึ้นแล้วจะอยู่ไปตลอด
หากมีคนนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปต่อยอด หรือปรับให้สร้างสรรค์และทันสมัยขึ้น มีความผิดหรือไม่
สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นั้น ๆ เสียหาย ตามพระราชบัญญัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมีสิทธิ์ออกหนังสือเตือน ขอความร่วมมือ
กระทรวงวัฒนธรรมเองก็มีโครงการ CPOT (Cultural Product of Thailand) ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดตัววัฒนธรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า มีการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือและรูปแบบให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น