ปลุก “ภิกษุภู่”
สู่สุนทรียะร่วมสมัย
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ลบภาพจำเรื่องการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในวัดที่มีแต่โบราณวัตถุไปก่อน
เมื่อพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ในรั้ววัดเทพธิดารามมุ่งให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต จึงเชื่อมโยงศิลปะโบราณเข้าหาคนยุคปัจจุบันด้วยการเล่นสนุกกับความรู้ ปลุกตัวอักษรกาพย์กลอนของกวีเอกให้เคลื่อนไหวอีกครั้ง
เริ่มตั้งแต่ก้าวสู่เขตพิพิธภัณฑ์ที่จำลองโลกครั้ง “พระสุนทรโวหาร” อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส) ครั้นสร้างเสร็จปี ๒๓๘๒ ปีถัดมา “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้รับการนิมนต์ให้มาจำพรรษา (ปี ๒๓๘๓-๒๓๘๕)
ขณะครองจีวรอยู่ในพระอุปถัมภ์ได้ประพันธ์วรรณกรรมทรงคุณค่าหลายเรื่อง การจัดเส้นทางศึกษาจึงเริ่มที่ห้อง “แรงบันดาลใจไม่รู้จบ” เล่าผลงานของ “สามัญชนไทยคนแรก” ที่ยูเนสโกประกาศเกียรติเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีของสุนทรภู่ เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ด้วยมีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่นและเป็น “กวีของประชาชน” ทุกยุคสมัย เมื่อปี ๒๔๙๓ ครูเพลง สุรพล แสงเอก ก็แต่งเพลง “คำมั่นสัญญา” โดยแปลงคำกลอนส่วนหนึ่งจาก พระอภัยมณี ตอน “พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง” ทำให้เนื้อเพลง ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน... โด่งดังติดหูคนไทยจวบปัจจุบัน
ห้อง “มณีปัญญา” ชวนผู้มาเยือนเล่นเกมต่อกลอนนิทานและกลอนนิราศผ่านผลงานที่แสดงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่ ความบันเทิงอยู่ที่ตอนเฉลย เมื่อภัณฑารักษ์เอื้อนเอ่ยบทกวีเป็นทำนองเสนาะ
ร่วมสมัยสุดยกให้นวัตกรรม AR ที่ใช้กับนิทรรศการ “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” เสมือนผู้มาเยือนได้ย้อนเวลาเข้าไปกราบภิกษุภู่ขณะรังสรรค์งานประพันธ์ในกุฏิ ท่ามกลางความว่างเปล่าของโลกจริงเมื่อมองผ่านการประมวลผลจากแท็บเลต กลับปรากฏภาพภิกษุภู่คืนลมหายใจ เชื่อมโยงสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งใต้เพดานหลังคากุฏิเคยซุกซ่อนสมุดไทยลายมือนิทานคำกลอน พระอภัยมณี ไว้ โลกปัจจุบันของกุฏิหลังนี้ จึงจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของภิกษุภู่ รวมถึงหนังสือ พระอภัยมณี ที่น่าจะเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ของ “หมอสมิท” ปี ๒๔๑๓ ซึ่งสยามเข้าสู่ยุคนิยมการพิมพ์แล้ว
ส่วนสุดท้ายคือศาลาหน้ากุฏิ มองผ่านนวัตกรรมโลกเสมือนจึงได้สัมผัสบรรยากาศขณะพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส ประนมมือสนทนากับภิกษุภู่ กล่าวกันว่าท่านกำลังถวายกลอน พระอภัยมณี ด้วยโปรดหนังสือและการกวี จึงมีพระเมตตาอุปการะกวีในราชสำนักเสมอ
ยังน่าสนใจ รำพันพิลาป ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่ประพันธ์ไว้ก่อนลาสิกขา ซึ่งมาจากการฝันว่าเห็นเทวดาจะมารับตัวท่านไป เมื่อตื่นขึ้นก็คิดว่าตนคงถึงฆาตในวัย ๕๖ ปี จึงบันทึกฝันและพรรณนาเรื่องราวชีวิตที่เคยประสบไว้ แต่นั้นก็ไม่เคยมีผู้ใดได้จำพรรษาที่กุฏินี้
ทว่าหลักฐานการประพันธ์ไม่เคยสูญสลาย แม้สิ้นลมหายใจล่วงศตวรรษ ลายลักษณ์อักษรก็ยังคงกระพันเป็นมรดกทางวรรณศิลป์ดั่งอัญมณีชิ้นเอกที่ได้รับการยกย่องและส่งต่อข้ามยุคสมัยอย่างสง่างาม
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
“ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือเราเคยอ่านแบบเรียนที่ต้องท่องอาขยานก็รู้สึกชอบอยู่แล้ว วันหนึ่งขณะเป็นจิตอาสาพระราชทานได้มาช่วยกวาดขยะดูแลวัดนี้ ก็ได้รับการชักชวนให้มาเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยพระวิสุทธิวราภรณ์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ดูแลผู้มาเยี่ยมชม เมื่อต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ผู้อื่นก็พลอยให้ตัวเองได้ใฝ่หาความรู้ ศึกษาผลงานของท่านสุนทรภู่ไปด้วย ฝึกอ่านทำนองเสนาะ ฝึกใช้เทคโน-โลยี AR เพื่อให้พิพิธภัณฑสถานเล็ก ๆ แห่งนี้สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน แต่สิ่งสำคัญสุดคือหวังให้ผู้ที่มาได้รับ ‘แรงบันดาลใจไม่รู้จบ’ กลับไป”
สุนันท์ จินพานิช
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
วัดเทพธิดารามวรวิหาร
เลขที่ ๗๐ ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการทุกวัน
เวลา ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น.
โทร. ๐๘-๕๑๒๐-๘๙๑๔
และ ๐-๒๒๒๒-๖๙๒๑