การแพทย์พรุ่งนี้ในวันนี้
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
มีแนวโน้มวิทยาการด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ ในอนาคตอันใกล้คาดกันว่าการแพทย์จะมีลักษณะสำคัญหลายประการอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
แนวโน้มที่ ๑ การแพทย์มีลักษณะเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะตัวต่อผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ใช่การให้ยาแบบเหวี่ยงแหที่อาจส่งผลข้างเคียง ซึ่งแม้จะเกิดน้อย แต่บางครั้งก็รุนแรงมาก
เรื่องนี้อาจทำได้โดยการตรวจสภาพร่างกายอย่างละเอียดลออ ด้วยวิธีการที่สะดวกสบาย และใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น หรืออีกด้านหนึ่งก็คืออาศัยการวิเคราะห์พันธุกรรม ซึ่งจะช่วยทำนายปฏิกิริยาต่อยาได้ดีขึ้น ตั้งแต่ยัง
ไม่ได้ให้ยาแก่ผู้ป่วยด้วยซ้ำไป
แนวโน้มที่ ๒ ได้แก่ การใช้ข้อมูลพันธุกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันมาออกแบบวิธีบำรุงรักษาร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการกินและปรับวิถีชีวิต ช่วยป้องกันไม่ให้ป่วย ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ป่วยแล้วมารักษาเป็นอย่างมาก
แนวโน้มสุดท้าย คือ วิธีการดูแลผู้ป่วยจะมีลักษณะอัตโนมัติมากขึ้นในทุกขั้นตอน โดยมีหมอช่วยตรวจสอบและสรุปในขั้นตอนท้ายสุด กับขั้นตอนการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยและญาติ ซึ่งน่าจะยังมีความจำเป็นอยู่มาก มนุษย์ยังไม่ไว้ใจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากพอในเวลาสั้น ๆ
ในบทความนี้อยากจะเล่าแนวโน้มเรื่องการแพทย์แบบ “เฉพาะบุคคล” (personal medicine) ว่าอาจมีลักษณะเป็นเช่นใดได้บ้าง โดยเน้นไปที่การใช้เซนเซอร์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ
ใครเคยดูซีรีส์ไซไฟเรื่อง สตาร์เทรค (Star Trek) คงยังจำอุปกรณ์พกพาที่ชื่อ “ไตรคอร์เดอร์ (tricorder)” ได้ การที่ได้ชื่อแบบนั้นเพราะว่ามันทำหน้าที่ได้สามอย่าง คือ ตรวจวัด บันทึกผล และคำนวณ
ตัวตรวจวัดหรือเซนเซอร์ (sensor) เป็นอุปกรณ์สำคัญในสมัยนี้ พวกสมาร์ตวอตช์ที่สวมใส่กันหลายต่อหลายรุ่นวัดข้อมูลได้สารพัด ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนก้าวเดิน แคลอรีที่เผาผลาญไป ฯลฯ
พวกมือถือก็มีเซนเซอร์สารพัดที่ใช้ประกอบกับซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ บอกตำแหน่งเทียบกับ GPS หรือพลิกกลับภาพได้เองอัตโนมัติ หรือแม้แต่วิเคราะห์ใบหน้าและลายมือเพื่อเข้าใช้งานได้ ฯลฯ
อุปกรณ์ตรวจวัดค่าทางการแพทย์ที่ใช้ได้เองอย่างง่าย ๆ มีทยอยออกมาขายเรื่อย ๆ เช่น เครื่องชื่อสแกนเนิร์ส (ScanNurse) ของบริษัทในอังกฤษที่ใช้วิเคราะห์ภาพถ่ายหูและคอหอย ขณะที่เครื่องชื่อ สเกาต์ (Scout) ของบริษัทสแกนนาดู (Scanadu) ในสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดเท่ากับตลับแป้งฝุ่นหรือใหญ่กว่าตลับไหมขัดฟันเล็กน้อย ใช้งานง่าย ๆ เพียงแค่นำไปจ่อที่หน้าผากก็สามารถวัดค่าสำคัญของร่างกาย เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันเลือดได้แล้ว
ข้อมูลที่วัดค่าได้จะถูกส่งต่อไปยังแอปฯ บนสมาร์ตโฟน เพื่อให้ผู้ป่วยติดตามอาการของตัวเองหรือส่งให้แพทย์ประจำตัวใช้ช่วยวินิจฉัยระดับอาการป่วยได้
มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อเอกซ์-
ไพรซ์ (XPRIZE) ที่หลายคนอาจจะเคย
ได้ยินชื่อมาบ้าง จัดประกวดนวัตกรรมสารพัดสารพัน หนึ่งในจำนวนนั้นชื่อ ควอลคอมม์ ไตรคอร์เดอร์ เอกซ์ไพรซ์ (Qualcomm Tricorder X Prize) ที่ประกาศใน ค.ศ. ๒๐๑๒ เชิญชวนคนทั่วโลกแข่งขันกันสร้างอุปกรณ์พกพาที่ “วินิจฉัยผู้ป ่วยได้ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับทีมแพทย์ที่มีใบรับรองแพทย์”
รางวัลจูงใจมาก เพราะสูงถึง ๑๐ ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ แต่โจทย์ก็หินมากคือต้องเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กระดับพกพาสะดวก ทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และที่สำคัญคือต้องตรวจวัดค่าที่แตกต่างกันได้มากถึง ๑๖ แบบ !
เมื่อถึงวันประกาศผลการแข่งขันในเดือนเมษายน ค.ศ. ๒๐๑๗ แม้จะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันถึง ๓๑๒ ทีมจากทั่วโลก แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดที่ทำได้ถึงเป้า (เพราะโจทย์ยากเกิ๊น) สุดท้ายก็เลือกทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุดมาสามทีม และมอบเงินรางวัลให้ไปรวม ๓.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นครั้งแรกของเอกซ์ไพรซ์ที่ไม่มีผู้คว้ารางวัลตามเป้าที่ตั้งไว้
ทีมที่ได้รางวัลที่ ๑ และรับเงินสนับสนุน ๒.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือทีมไฟนอลฟรอนเทียร์เมดิคัลดีไวส์ (Final Frontier Medical Devices) ที่ต่อมาตั้งบริษัท เบซิล ลีฟ เทคโนโลยีส์ (Basil Leaf Technologies) และทำอุปกรณ์ชื่อ เด็กซ์เตอร์ (DxtER) ที่ตรวจวัดค่าที่แตกต่างกันได้มากถึง ๑๓ แบบ !
อันที่จริงบริษัทอ้างไว้บนเว็บไซต์ (https://www.basilleaftech.com/dxter/) ว่าได้พัฒนาอัลกอริทึมเพิ่มเติมอีก ทำให้ตอนนี้ตรวจวัดได้มากถึง ๓๔ แบบ ครอบคลุมทั้งสภาวะโรคเบาหวาน การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะการหยุดหายใจชั่วคราว เส้นโลหิตสมองแตก ไปจนถึงการติดเชื้อวัณโรคและปอดอักเสบ ฯลฯ ปัจจุบันบริษัทนี้เป็นสตาร์ตอัปและกำลังอยู่ในช่วงการระดมทุนเพิ่มเติม
ตัวอย่างที่เพิ่งยกไปนี้ กุญแจสำคัญได้แก่อัลกอริทึมที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ตรวจวัดอาการป่วยจำเพาะอย่างแม่นยำ ขณะที่เซนเซอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ก็มีขายอยู่แล้วในท้องตลาด ไม่ถึงกับสร้างเซนเซอร์ใหม่ขึ้นเอง
ชุดเซนเซอร์บางแบบได้รับการปรับปรุงพัฒนาจนราคาถูกและสะดวกกับการใช้งานมาก ดังเช่นชุดอุปกรณ์เซนเซอร์เสริมชื่อคาทรา (CATRA) ของเอ็มไอที (MIT) ที่ใช้งานง่าย สามารถประกบติดเข้ากับมือถือและวัดอาการต้อกระจก (cataract) ได้
เลนส์ตาที่พัฒนาขึ้นพิเศษของชุดนี้ราคาเพียงแค่ ๒ ดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วยทำให้ตรวจพบต้อกระจกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการทำให้ตาบอด ราคาที่ถูกมากนี้น่าจะช่วยป้องกันอาการตาบอดในกลุ่มผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาได้มาก
อีกมุมหนึ่งของการใช้ป้องกันโรคหรือวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ได้แก่ การใช้แอปฯ ในมือถือเพื่อหาความสัมพันธ์ของอาการของโรคทางจิตบางอย่างกับการใช้ชีวิตประจำวันตามปรกติ เช่น กรณีของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยดาร์ตเมาท์ในรัฐนิวแฮมป์เชอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
งานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๑๔ ชี้ให้เห็นว่า แอปฯ สติวเดนต์ไลฟ์ (StudentLife) ที่บันทึกรายละเอียดของการเคลื่อนไหว จังหวะเวลาในการรับสายเข้าโทร. สายออก การพิมพ์ข้อความ และรูปแบบการสนทนา สามารถใช้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกับอาการซึมเศร้า ความเปล่าเปลี่ยว และความเครียดได้ หากตรวจพบว่ามีรูปแบบบางอย่างของกิจกรรมข้างต้นที่เปลี่ยนแปลงไป
นี่ก็เป็นการใช้เซนเซอร์ร่วมกับอัลกอริทึมคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจวัดสุขภาพจิตที่น่าสนใจทีเดียว
อีกตัวอย่างหนึ่งคือใช้แอปฯ ตรวจวัดอาการป่วยจากโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคระบบประสาทเสื่อมถอย มีความสำคัญเป็นรองก็แต่โรคอัลไซเมอร์เท่านั้น เฉพาะในสหรัฐอเมริกาโรคนี้โรคเดียวก็มีผู้ป่วยมากถึง ๑ ล้านคนแล้ว
ความลำบากในการวินิจฉัยโรคนี้คือ ยังไม่มีวิธีตรวจวัดในห้องปฏิบัติการที่จะใช้ระบุได้แน่ชัดแต่เนิ่น ๆ ว่ากำลังจะเป็นหรือเริ่มเป็นโรคนี้ การระบุว่าเป็นโรคนี้ดูจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ลดลง การตอบสนองอย่างอัตโนมัติของกล้ามเนื้อที่เปลี่ยนแปลงไป และอาการอื่น ๆ รวมไปถึงการตรวจด้วยเครื่องสแกนสมอง
ปัจจุบันยังไม่พบวิธีการรักษาโรคพาร์กินสัน แต่หากวินิจฉัยโรคพบได้เร็ว มียาที่จะช่วยทำให้อาการป่วยเกิดขึ้นช้าลงได้
ดอกเตอร์แมกซ์ ลิตเติล ประธานของโครงการริเริ่มเกี่ยวกับเสียงของผู้ป่วยพาร์กินสัน (Parkinson’s Voice Initiative) ทดลองใช้เครื่องมือวิเคราะห์เสียงที่บันทึกไว้ของผู้ป่วยรายหนึ่ง เทียบกับเสียงของผู้ป่วยคนอื่น ๆ และคนปรกติ ทำให้รู้ว่ามีอาการบางอย่างของการออกเสียงที่ผิดปรกติ (การสั่นของเสียงผิดไป)
เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะแรกของการป่วย จึงน่าจะมีประโยชน์ใช้ระบุตัวผู้ป่วยพาร์กินสันได้แต่เนิ่น ๆ
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวกำลังรวบรวมเสียงที่บันทึกไว้ผ่านมือถือที่มีคุณภาพดีพอให้ทดสอบได้ ตัวอย่างที่ใช้ศึกษาราว ๑ หมื่นคน เพื่อนำมาใช้ทดสอบความแม่นยำของซอฟต์แวร์ดังกล่าว ซึ่งหากใช้งานได้จริงก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวังมากขึ้น เพิ่มเวลาให้ผู้ป่วยระหว่างที่รอการคิดค้นวิธีรักษาหรือแม้แต่วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
ทั้งหมดที่เล่ามาคงพอจะทำให้เห็นภาพส่วนหนึ่งของ “การแพทย์ส่วนบุคคล” ที่เกิดขึ้นได้เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความพร้อมด้านอุปกรณ์อย่างเซนเซอร์ชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตออกขายอย่างแพร่หลายและมีราคาถูกลง รวมไปถึงซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันจำเพาะที่คิดค้นกันขึ้นมามากมาย
วิทยาการด้านการแพทย์น่าตื่นเต้นขึ้นทุกที !