น้ำใสไหลเย็น
เห็นตัวปลา
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
วิวัฒนาการการปรับตัวของสรรพสิ่งมีชีวิตคืออัศจรรย์ของธรรมชาติ
“ร่างกายโปร่งแสง” ราวกระจกบานเล็ก ๆ ก็เป็นหนึ่งในมหัศจรรย์นั้น
อย่าง “ปลาก้างพระร่วง” เป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดเล็ก พบตามแหล่งน้ำของภาคตะวันออกและภาคใต้ มีลักษณะเด่นที่ไม่มีเกล็ดและกล้ามเนื้อไม่มีเม็ดสี ทำให้ตัวใสจนเห็นกระดูกและอวัยวะภายใน จึงมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ปลาผี ปลาก้าง ปลากระจก ฯลฯ
หรือ “ปลาแป้นแก้ว” มีขนาดเล็ก เกล็ดบางใส ลำตัวโปร่งแสง สีขาวขุ่นถึงขาวใสขึ้นกับสภาพแวดล้อม ผิวมีจุดสีดำขนาดเล็กกระจายทั้งตัว พบทั่วไปในไทย
อันที่จริงยังมีลูกอ๊อด กุ้งฝอย และลูกปลาอีกหลายชนิด
ในโลกนี้มีสิ่งมีชีวิตอีกมากที่มีร่างกายโปร่งแสง อย่างผีเสื้อปีกใส (Glasswinged butterfly หรือ Greta oto) ที่ปีกโปร่งแสงเนื่องจากการดูดกลืนแสงที่มองเห็นได้ต่ำ กระจายแสงต่ำ และการสะท้อนแสงต่ำ หมึกกล้วยขนาดเล็ก (Juvenile sharpear enope squid) ที่มีร่างกายโปร่งใสและปกคลุมด้วยลายจุดที่เกิดจากเซลล์เม็ดสี ใต้ดวงตามีอวัยวะที่เรืองแสงได้ หมึกชนิดนี้พบได้ในมหาสมุทรเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนซึ่งมักจะอยู่ในระดับความลึก ๒๐๐-๑,๐๐๐ เมตร
เหตุผลสำคัญที่ทำให้สัตว์ตัวใสจนเห็นกระดูกคือเพื่อเอาตัวรอดจากนักล่า แต่ยังยากจะอธิบายแบบชี้ชัดว่าเนื้อเยื่ออย่างกล้ามเนื้อใสได้อย่างไร
ทางธรรมชาติวิทยาสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เนื้อเยื่อและเซลล์ที่เล็กลงไปมีกลไกเกี่ยวข้องกับการจัดเรียงตัวเพื่อลดการหักเหของแสงและให้แสงผ่านมากที่สุด ประกอบกับเจ้าสัตว์ตัวใสส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ขนาดเล็กและมีลำตัวแบนมาก เอื้อต่อการทำให้แสงทะลุผ่านได้
อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะไขปริศนาของสัตว์ตัวใสต่อไปในอนาคต
ขอขอบคุณ :
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์