นาง/เงือก
จากบรรณาธิการ
บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าการเดินทางจะนำเราไปพบกับอะไร
ในโลกจินตนาการ พระอภัยมณีถูกพ่อขับออกจากเมือง เดินทางระหกระเหินจนถูกผีเสื้อสมุทรบังคับให้ไปอยู่ด้วย ๘ ปี กว่าจะได้เงือกมาช่วยพาหนี ส่วนสุดสาครออกเดินทางหาพ่อ (พระอภัยมณี) จนถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว แต่ท้ายสุดก็รอดกลับมาเป็นกำลังสำคัญทำศึกร่วมกับพ่อ
ในโลกจริง สุนทรภู่เป็นเด็กขาดพ่อ เพราะพ่อจากแม่ไปบวชอยู่เมืองแกลง ช่วงรับราชการมีโอกาสเดินทางไปหลายเมือง ทั้งเหนือกลางออกตก และแต่งนิราศหลายเรื่องเป็นสารคดีท่องเที่ยวบันทึกการเดินทางไว้ในงานคำกลอน ถึงจุดหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมก็พรั่งพรูเป็นนิทานยาวเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งเต็มไปด้วยการเดินทางผจญภัยอันน่ามหัศจรรย์ของตัวละครหลากหลาย
ฉากและตัวละครถูกนักอ่านรุ่นหลังนำมาวิเคราะห์ถกเถียงว่ากวีเอกมีแรงบันดาลใจจากไหน จากบุคคลใดที่สุนทรภู่รู้จักใกล้ชิด บ้างว่าเขาอาจเดินทางไปเกาะศรีลังกาพร้อมกับคณะสงฆ์สยามในสมัยรัชกาลที่ ๒ จนเป็นที่มาของ “เกาะลังกา” ตามท้องเรื่อง และบ้างก็ว่าแท้จริงแล้ว พระอภัยมณี เป็นนิยายสะท้อนภาพยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
ความแปลกใหม่อย่างหนึ่งของ พระอภัยมณี คือตัวพระอย่างพระอภัยมณีไม่ใช่นักรบ ตามขนบนิทานเรื่องอื่น ๆ แต่มาแนวขี้ขลาด ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องมีผู้อื่นมาช่วยอยู่ตลอด ขณะที่ฝ่ายตัวนางส่วนใหญ่เก่งกาจ ทั้งฝีมือการทำศึกและสติปัญญาหลักแหลม เด็ดเดี่ยวเข้มแข็งเหนือกว่าฝ่ายชาย โดยเฉพาะนางละเวงวัณฬานั้นเป็นถึงกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง
ว่ากันว่าแรงบันดาลใจของสุนทรภู่ส่วนหนึ่งมาจากพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ปกครองอังกฤษในสมัยนั้น และอาจได้จากเรื่องเล่าวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรในคราวศึกสงคราม ๙ ทัพสมัยรัชกาลที่ ๑ ตัวละครหญิงที่มากสติปัญญาจากวรรณคดีจีนเรื่อง เลียดก๊ก และอาจต้องนับผู้หญิงมากมายที่มีบทบาทในชีวิตจริงของสุนทรภู่
ไม่ว่าจะมีแรงบันดาลใจจากอะไร ก็น่าทึ่งว่าสุนทรภู่กล้าเขียนเรื่องยกย่องสตรีให้เหนือกว่าบุรุษ ในบริบทของสังคมศักดินาเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน ซึ่งผู้ชายเป็นใหญ่ และน่าคิดว่าสุนทรภู่จะคิดเห็นอย่างไรหากได้รู้ว่าโลกยุคต่อมาจะมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งในหลายประเทศ อย่าง อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี รวมทั้งบนเกาะศรีลังกาจริง ๆ สุนทรภู่ยังสร้างตัวละครแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นในนิทานหรือวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ คือเงือก
นิทานฝรั่ง The Little Mermaid ของ ฮันส์ คริสเตียน แอน-เดอร์เซน ที่นางเงือกช่วยเจ้าชายจากเรือแตก แต่งขึ้นเมื่อปี ๒๓๘๐ หลังจากสุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี แล้ว (ราวปี ๒๓๗๖) แต่นางเงือกมีเรื่องเล่าขานมานานกว่านั้นมาก ตามเทพนิยายกรีกคือนาง Siren -“ไซเรน” น่าสนใจว่าดั้งเดิมไซเรนมีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก แต่หลังจากเล่าต่อ ๆ กันมาเป็นพัน ๆ ปีไซเรนก็กลายเป็นครึ่งคนครึ่งปลา และตรงข้ามกับนางเงือกใจดีในนิทานของแอน-เดอร์เซน ไซเรนชอบร้องเพลงสะกดจิตนักเดินเรือให้แล่นเรือไปชนหินโสโครก
มาถึงสมัยใหม่มีข้อสันนิษฐานว่าตำนานเงือกอาจมาจากการล่องเรือพบเห็นสัตว์จริง ๆ ในทะเลที่เรียกว่า Sea cow คือ แมนาที (Manatee) และพะยูน (Dugong) ซึ่งเคยพบอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก นักเดินเรืออย่าง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส บันทึกว่าเขาเห็นเงือกสามตัว ซึ่งน่าจะคือแมนาที ส่วนคำว่า Dugong ก็มาจาก ดุหยงในภาษามาเลย์ มีความหมายว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล
ปัจจุบันเงือกตัวจริงทั้งแมนาทีและพะยูนเหลืออยู่จำนวนน้อยมากจนใกล้สูญพันธุ์ ส่วนนางเงือกในตำนานฝรั่งยังคงมีชีวิตและเดินทางผ่านกาลเวลาด้วยการถูกหยิบยกมาเล่าใหม่ตีความใหม่ ผ่านนิยาย การ์ตูน และภาพยนตร์ร่วมสมัย
หันมามองนิราศ นิทาน งานกลอนของสุนทรภู่ กวีเอกของโลกและที่คนไทยเชิดชูยกย่อง วันนี้ยังมีคนอ่านหรือรู้จักตัวละครต่าง ๆ ของเขาแค่ไหน
และตัวละครเหล่านั้นจะเดินทางผ่านกาลเวลาได้อย่างนางเงือกฝรั่ง หรือต้องเผชิญชะตากรรมอย่างพะยูน
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
โนราและมรดกภูมิปัญญา
ทางวัฒนธรรม