Bangkok 2565
FOTO essay
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
คำ :ศรัณย์ ทองปาน
อดีต-อนาคต จนถึงวันนี้
กรุงเทพฯ–นครหลวงที่สถาปนามานานกว่า ๒ ศตวรรษ–ยังคงติดค้างอยู่กึ่งกลางระหว่างอดีตกับอนาคต ความสับสนอลหม่านกับระบบระเบียบ และระหว่างการรุดไปข้างหน้ากับแบบแผนที่เคยเป็นมา
เก่าไป-ใหม่มา
สินค้ารุ่นล่าสุด รุ่นเดียวกับที่มีจำหน่ายตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า มีให้ซื้อหาได้จากห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ที่มีทั่วกรุง ขณะที่ห้างร้างเก่ากลับถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งในฐานะงานศิลปะจัดวาง
สื่อสาร-สับสน
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันทั้งในภาพหุ่นลองเสื้อชุดราตรียืนเรียงหน้ากระดาน กับหน้าร้านสเต๊กที่มีแถวมอเตอร์ไซค์ของ “ไรเดอร์”- หนึ่งในองค์ประกอบล่าสุดของเมือง – คือสายสื่อสารที่ระโยงระยางระเกะระกะจนกลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร
ชุ่มฉ่ำ-เปียกแฉะ
สำหรับสังคมเกษตรกรรม ฝนคือความชุ่มฉ่ำ คือชีวิตชีวา คือต้นทางของความเจริญงอกงาม หากแต่ในเมืองใหญ่ ฝนกลับกลายเป็นตัวปัญหา ทั้งการระบายน้ำท่วมขัง การจราจร ติดขัด และความร้อนชื้นเหนอะหนะ
ที่เที่ยว-ทางไป
ข้างหนึ่งคือความใฝ่ฝันอยากมีลำคลองน้ำใสสวยงามจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อเหมือนในต่างประเทศ แต่อีกฝั่งคือความเป็นจริงที่ทางระบายน้ำขุ่นข้น คือเส้นทางขนส่งมวลชน ในชีวิตประจำวันของชาวกรุงจำนวนมาก
เมืองน้ำ-เมืองใต้น้ำ
สำหรับผู้มาเยือน ตัวเมืองที่แผ่ออกไปในทางราบ โดยมีหมู่ตึกทะมึนเป็นแนวตั้งที่เส้นขอบฟ้า กับแม่น้ำลำคลองที่เต็มไปด้วยเรือนานาชนิดสัญจรไปมา อาจดูเหมือนฉากในภาพยนตร์แฟนตาซี แต่ความจริงที่ฟังดูเหมือนหนังไซไฟกว่านั้น คือแบบจำลองที่เสนอว่ากรุงเทพฯ คือหนึ่งในเมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจะจมหายไปเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปัจจุบันอีกเพียงไม่กี่เซนติเมตร
สงบ-เย็น
หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนรูปโฉมให้แก่เมืองได้อย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิสีทององค์มหึมากลางเมือง (พระพุทธธรรมกายเทพมงคล วัดปากน้ำภาษีเจริญ) ตึกสร้างใหม่รูปทรงแปลกตาที่เรียกร้องความสนใจจากผู้พบเห็น (ย่านถนนสาทร) ขณะที่พื้นที่สีเขียวกลางกรุงอย่างสวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพฯ กำลังเตรียมปรับโฉมใหญ่ เฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่จะมาถึงในปี ๒๕๖๘
บันได-ประตู
สวนสาธารณะคือสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับเมืองยุคใหม่ และถือเป็นนโยบายสำคัญของกรุงเทพมหานคร แต่หลายแห่งต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ เช่นการไล่รื้อชุมชน เพื่อเปิดทางให้แก่พื้นที่ร้างไร้ซึ่ง “ไม่รู้จะไปไหน”
บนฟ้า-บนดิน
ในเมืองเดียวกันอาจมีทั้งสายตาคู่ที่จ้องดูจากบนยอดตึกสูง และมุมมองของคนตามทางเท้าริมทาง
มหานคร
แห่งนี้มิได้เป็นเพียงฉากหลังอลังการสำหรับถ่ายภาพ หากแต่คือที่อยู่ ที่ทำกิน ที่บรรจุไว้ซึ่งความหวัง ความฝัน ความสุขและความทุกข์ของหลายล้านชีวิต