ดองสีพืช
ยืดความฉ่ำ
ธรรมชาติทำมาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สมัยเด็กเราอาจคุ้นกับการเก็บพืชบางแบบจับมาทับในหนังสือ
หากจะคงรูปทรงเดิมก็ใช้สารเคมีซิลิกาดูดความชื้นหรืออบแห้ง
แต่โลกของการรักษาตัวอย่างพืชที่มีความชื้นสูงอย่างพวกพืชน้ำ ไม้อวบน้ำ หรือผลไม้ ยังใช้วิธี “ดอง” และน่าสนใจขึ้นอีกโดย “ดองรักษาสภาพสี” ไม่ให้ความสดสวยเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป
หลักการง่าย ๆ คือนำพืชมาแช่ “ฟอร์มาลิน” หรือ “เอทิลแอลกอฮอล์” เพื่อรักษาสภาพเซลล์ เรียกกระบวนการตามสี เช่น ดองเขียว ดองแดง ดองเหลือง เป็นต้น
ในโหลแก้วคือตัวอย่างของ “เฟินกนกนารี” (Selaginella spp.) พืชคลุมดินทรงพุ่มที่มีลำต้นทอดเลื้อยตามผิวดิน เพียงเจอแดดรำไร น้ำปานกลาง ก็ชูยอดตั้ง โตเร็ว และสูงได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร
นำมาผ่านวิธี “ดองเขียว” ในน้ำยาดอง (มีส่วนประกอบของสารฟีนอล กรดแล็กติก คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คอปเปอร์อะซิเตต กลีเซอรีน และน้ำกลั่น) อุ่นจนเดือดเล็กน้อยสัก ๓-๕ นาที แล้วใส่ในโหลปิดฝามิดชิดสักเดือน ค่อยเปลี่ยนมารักษาต่อในสารละลายฟอร์มาลินเข้มข้น ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ จนน้ำกลายเป็นสีเขียว
เมื่อเก็บไปสักระยะ ต้องนำโหลมาเปลี่ยนถ่ายสารละลายฟอร์มาลินหรือเอทิลแอลกอฮอล์ เพื่อให้รักษาสภาพตัวอย่างได้นานขึ้น วิธีนี้ไม่เพียงคงสภาพสี ยังเก็บรายละเอียดใบเฟินที่เป็นเกล็ด เรียงสลับระนาบเดียวแผ่ออก แตกกิ่งแยกสองแฉก และใต้ใบที่มักมีขนสั้นปกคลุมไว้ได้ด้วย
ธรรมชาติทำมาแล้ว มนุษย์เพียงหาวิธีโชว์ความฉ่ำอย่างเหมาะสม
ขอขอบคุณ :
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์