กัญชา
การกลับมาของยาต้องห้าม
ภาค ๒
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
๕ ไปตามกัญนครพนม
อยากจะไปนครพนม เขาลือกันว่ามีกัญชา
อยากจะไปหาซื้อมา จะได้เอามาดูดกัน...*
บทเพลงที่ได้ยินเพื่อนวัยรุ่นร้องเล่นกันในโรงเรียนตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา
เนื้อเพลงบอกความในใจแบบไม่อ้อมค้อมซ่อนเร้น ความปรารถนาที่จะไปตามหาแหล่งกัญชาเลิศรสในตำนาน
“กัญชาชอบแบบธรรมชาติ ชีวิตของพืชก็เหมือนคน ไม่ชอบถูกควบคุม ให้ทุกอย่างตามธรรมชาติจะดีที่สุด”
ตามความเห็นของนักปลูกกัญชาแห่งทามสงคราม
“ในโรงเรือนทุกอย่างถูกควบคุม ถ้าเกิดศัตรูพืชมันก็ออกไม่ได้ อยู่ข้างนอกพอพ่นสมุนไพรมันหนีไปเลย”
สอดคล้องตามช่องทางที่นายแพทย์อนุวัตร แก้วเชียงหวาง อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลดงหลวงกำลังสนใจ
“ผมสนใจการแพทย์ทางเลือกอยู่แล้ว เลยศึกษาเรื่องการใช้ยากัญชา เราเป็นหมอที่สามารถจ่ายยากัญชาได้
“แต่หากัญชาจ่ายคนไข้ไม่ได้ หมอรุ่นน้องที่อยู่กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำว่าถ้ามีทุนทำเองได้ ถ้าไม่มีทุนก็หาคนมาทำร่วมกัน”
เมื่อได้มาเจอกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่คำป่าหลาย เมืองมุกดาหาร จึงได้ประสานความร่วมมือทำไร่กัญชาด้วยกันบนพื้นที่กว่าหมื่นตารางเมตรริมทางสายมุกดาหาร-นิคมคำสร้อย “ผมเข้าไปช่วยเป็นที่ปรึกษาแบบไม่มีค่าตอบแทนอะไร ทำด้วยความฝันร่วมกัน เขาได้ทำงาน ผมจะรับยากัญชาที่ปลูกโดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรอารมณ์ดีมาใช้ในคลินิกของผม ได้ช่วยคนไข้”
“ผมแนะนำวิสาหกิจชุมชนให้ปลูกกลางแจ้งแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่องที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ” เป็นคำแนะข้อแรกจากที่ปรึกษา “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอารมณ์ดี”
“กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ทำโรงเรือนตั้งแต่ต้น แต่คนหัวใสเอามาพูดเพื่อจะขายโรงเรือน อ้างว่าต้องควบคุมโน่นนี่นั่น ตอนองค์การเภสัชกรรมเริ่มปลูกครั้งแรก นำกัญชาพันธุ์ชาร์ลอตต์แองเจิลมาจากต่างประเทศ ต้องปลูกในระบบปิดเพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม แต่ผมไปดูที่บุรีรัมย์ เขาบอกว่าเอาพันธุ์หางกระรอกเข้าไปอยู่ในนั้นมันตาย อยู่ไม่ได้ ผมปรึกษากับหมอรุ่นน้องในกรมการแพทย์แผนไทยฯ เขาบอกว่ากฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำโรงเรือน จะปลูกแบบไหนก็ได้ ขออย่ามีสารปนเปื้อน มีสารทีเอชซีและซีบีดี (CBD) ในสัดส่วนที่เอาไปสกัดเอาน้ำมันได้ ซึ่งผมมั่นใจ กัญชาหางกระรอกของเราสารสำคัญสูงอยู่แล้ว ยังไงก็ผ่าน แม้แต่กัญชงมาเจอแสงแดดดี ๆ แถวบ้านเราก็กลายเป็นกัญชา”
แผนการต่อมาเขาวางแผนจะเชิญชวนปราชญ์ในท้องถิ่นที่มีฝีมือด้านเกษตรกรรมกัญชาในป่าดง มาร่วมดูแลต้นกัญชาถูกกฎหมายในไร่อารมณ์ดี
“เรามีทุนทางปราชญ์ชาวบ้านที่ดงหลวง และผมมีแผนจะนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยปลูกกัญชาภูพานจนมีคุณภาพที่ดีสุดในโลก มาช่วยดูแลแปลงปลูกนี้ด้วย”
...
* เพลง “ฆาตะกัญชา”
แต่งและร้องโดยวงเนื้อกับหนัง
คุณภาพของช่อดอกกัญชาวัดจากยางที่ให้กลิ่นฉุน ความเขียว เหนียวหนึบ เป็นแหล่งสาร THC ซึ่งยิ่งมีสูงเท่าไร นั่นหมายถึงคุณภาพที่เหมาะทั้งกับการสกัดยาและเสพเอาความมึนเมา
ระหว่างเทือกเขาภูพานด้านตะวันออกลาดลงไปจนถึงฝั่งน้ำโขง แดนสวรรค์ของต้นกัญชา ซึ่งแต่เดิมอยู่ในเขตจังหวัดนครพนมทั้งหมด กัญชาภูพานที่คุณภาพเลื่องลือถึงระดับโลกก็มาจากพื้นที่และฝีมือของกสิกรในแถบนี้
บ้านเมืองสมัยใหม่แบ่งเขตและขานนามกันตามระบบการปกครองท้องที่ แต่พืชพรรณและดินฟ้าอากาศไม่ได้แปรผันไปตามเส้นสมมุติที่คนขีดคั่นแบ่งแดนกัน ขุนเขาเทือกหนึ่งและแม่น้ำแต่ละสายจะถูกตัดแบ่งให้อยู่ในกี่จังหวัดก็ตาม พื้นภูมินิเวศที่ว่าเป็นแหล่งกัญชาดีก็คือพื้นที่แถบริมเทือกเขาภูพานด้านตะวันออก ลาดลงถึงท้องทุ่งและริมลำน้ำไปจนจดฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะใน “ป่าทาม” แถบลุ่มแม่น้ำสงคราม และตามหุบเขาที่เป็นอำเภอดงหลวงในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอยู่ในทีว่าเป็นหัวใจของพื้นที่ปลูกกัญชาเลิศรส
แถบที่ลุ่มริมแม่น้ำ ดินดำน้ำชุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดตักใส่ถุงขายให้คนปลูกกัญชาในถิ่นอื่นได้
ทั้งกล่าวกันด้วยว่าแถวนี้เป็นต้นทางของกัญชานครพนมอันเลื่องชื่อ ก่อนขยายขึ้นไปสู่แถบเทือกเขา เริ่มที่หมู่บ้านหนองหมากสุก ในอำเภอดงหลวง ปากประตูเข้าสู่เทือกเขาภูพานในอดีต ตั้งแต่ยุคที่บนภูเขายังไม่มีถนน ก่อนแพร่กระจายไปตามร่องเขาหลืบห้วยในหมู่บ้านต่าง ๆ บนเทือกภูพาน
“ดินทามกัญชาชอบที่สุด ได้คุณภาพกัญชาดีที่สุด ทั้งเพื่อสูบและเพื่อเป็นยา” จิรวัฒน์ รังศรี ชาวศรีสงคราม ยืนยันข้อเด่นดีของดิน “ทาม” ที่ทำให้ได้กัญชาคุณภาพดี ถึงขนาดคนปลูกกัญชาถิ่นอื่นมาขอซื้อดิน “วิสาหกิจชุมชนที่นิคม-คำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ก็ยังมาเอาดินที่หนองแคนช้าง”
“ดินปลูก ผมซื้อจากศรีสงคราม ดินของเขาดีมาก” สมพงษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านชัยมงคล อำเภอนิคม-คำสร้อย พูดถึงส่วนผสมที่อยู่ในเข่งปลูกกัญชา “เอามาผสมและรดด้วยน้ำรังปลวก ๒๕๐ ซีซี น้ำหมักขี้ค้างคาว ๓ ฝา ต่อน้ำ ๑๐๐ ลิตร กับน้ำส้มควันไม้ ที่เราทำเองทั้งหมด”
สมพงษ์ปลูกกัญชาเถื่อนกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก และเลิกร้างห่างหายไปหลายสิบปี การกลับมาของกัญชาเสรีทางการแพทย์
ทำให้เขาได้นำความรู้เก่ามาผสมผสานกับการปลูกแบบสมัยใหม่อย่างสนุกและรื่นรมย์
เช่นเดียวกับคนภูพานจำนวนหนึ่งที่ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากการช่วยครอบครัวปลูกกัญชา บางคนยังปลูกใช้เองต่อเนื่องมาจนเดี๋ยวนี้ พวกเขาพูดถึงกัญชากันอย่างธรรมดาในฐานะพืชไร่ชนิดหนึ่ง
“พ่อขายกัญชาส่งผมเรียน ผมช่วยรดน้ำ เป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ดี ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้มงวด ‘ป. เป็ด’ ส่งกัญชาข้ามประเทศก็มากว้านซื้อจากแถวนี้”
บรรจง ไชยเพชร นายกเทศมนตรีตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง ที่เคยช่วยพ่อปลูกกัญชามาตั้งแต่เป็นเด็กชาย เล่าด้วยว่าช่วงนั้นกัญชาแห้งกิโลกรัมละราว ๔๐๐ บาท
“พ่อพาผมปลูกมาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๒๐ เพาะชำกล้าให้ต้นสูงสักคืบก่อน แล้วขุดหลุมขนาด ๕๐x๕๐ เซนติเมตร ในที่โล่งต้องการแสงตั้งแต่เช้า”
แต่แปลงปลูกไม่ได้เป็นไร่พืชพาณิชย์เชิงเดี่ยวอย่างในปัจจุบัน แต่เป็นการกระจายปลูกตามหัวไร่ปลายนา
“ต้องปลูกแซมไม่ให้สังเกตได้จากการตรวจจับจากเฮลิคอปเตอร์ หลุมหนึ่งลงสี่ต้น พอดูเพศออก เหลือไว้สามต้นที่สมบูรณ์ที่สุด ปลูกรุ่นละ ๔๐-๕๐ หลุม ต้องดูแลใกล้ชิด รดน้ำไม่ให้ขาด พรวนดิน ใส่ปุ๋ย โพลีดอนกันแมลงเขาก็ใช้บ้าง กัญชามีศัตรูพืชเยอะ” บรรจงเล่าเรื่องการปลูกกัญชาที่หนองแคน แถวภูไก่เขี่ย
“เลือกจุดที่เป็นจอมปลวกใกล้ทางน้ำลำห้วย ทลายจอมปลวกไว้ตั้งแต่หน้าแล้ง ฝนพรมดินชุ่มเริ่มปลูก เข้าหนาวหมดฝนกัญชาใกล้ให้ผลผลิตก็ได้อาศัยตักน้ำในห้วยมารด”
ข้อมูลเรื่องดินและน้ำสำหรับกัญชาแถวหนองแคน ภูไก่เขี่ย ตรงกับที่คนปลูกกัญชาดงหลวงยืนยัน
“ดินหัวโพนดีที่สุด ขุดจอมปลวกกระจายออก กัญชาชอบเลย แต่ถ้าไม่มี ปลูกที่ทั่วไปก็ได้ แต่ต้องหาที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ”
ตามประสบการณ์ของ สีทัธ วงศ์กะโซ่ คนปลูกกัญชาดงหลวง
“ปลูกเดือน ๑๑ เก็บเกี่ยวเดือน ๓ จะได้กัญชาที่สุดยอด”
เก็บเกี่ยวในช่วงพ้นฝน ช่อดอกไม่มีความชื้นที่ทำให้เกิดรา จะได้กัญชาคุณภาพดี ราคาดี และเก็บซ่อนได้นาน จนกว่าพ่อค้าจะมาติดต่อขอซื้อ
แม้เป็นพืชอายุปีเดียว แต่ถ้าได้ดินดีและการเอาใจใส่ กัญชาจะพุ่มสูงใหญ่คนปีนขึ้นได้ ในภาพนี้เป็นต้นกัญชาที่ศรีสงคราม ในงาน Kick off กัญชาริมฝั่งโขง นครพนมเมืองกัญชา
ภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
๖ กัญชาเถื่อน
ทั้งภูไก่เขี่ย ดงหลวง ดอนตาล ศรีสงคราม เป็นพื้นที่ระหว่างเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขงทางภาคอีสานเหนือ
“ต้นที่สมบูรณ์สูงเป็น ๓ เมตร ยื่นมือไม่ถึง” บรรจงเล่าถึงต้นกัญชาที่ภูไก่เขี่ย
“จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ ต้นกัญชานี่ปีนได้นะ ผมปีนขึ้นไปจับตั๊กแตน” สมพงษ์เล่าถึงต้นกัญชาที่ดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
“คนปลูกทางฝั่งโขงบอกว่าแถวนั้นโคนต้นเท่าน่อง” เวสสุวรรณ วงค์ศรีทา สมาชิกวิสาหกิจเกษตรอารมณ์ดี เล่าประสบการณ์จากเวทีพูดคุยเรื่องการปลูกกัญชา “ผมตั้งเป้าว่าวิสาหกิจของเราจะทำให้ได้ต้นละ ๓ กิโลกรัม เขาบอกของเขาได้ต้นละ ๕-๖ โล”
“สมัยโน้นเจ้าหน้าที่ไม่ว่าหรือ”
ใครฟังในวันนี้ก็คงสงสัยในบรรยากาศการปลูกกัญชาเถื่อนที่ฟังดูเสรีมาก
“สมัยก่อนแถวนี้ยังกันดาร เจ้าหน้าที่เข้ามายาก” นายกเทศมนตรีตำบลหนองแคนย้อนอดีตของแถบบ้านเกิด
“ว่าตามจริงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองสมัยนั้นเขาไม่ค่อยว่าอะไรกับเรื่องปลูกกัญชานะ เขาเข้มงวดแต่ว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์มากกว่า” สีทัธหรืออดีต “สหายฉลาม” ชาวบ้านดงหลวง เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นคนปลูกกัญชา และต่อมาเขา “เข้าป่า” เป็นนักปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เมื่อปี ๒๕๑๙
“คอมมิวนิสต์ปลูกกัญชาไหม”
“ต้องห้ามเลยละ ถืออุดมการณ์อย่างเดียว ใครปลูกนี่ถือเป็นคนไม่ดี สร้างสิ่งมอมเมาประชาชน คนที่ปลูกนี่แสดงว่าจะไม่อยู่แล้ว ใกล้จะมอบตัว”
พอกลับออกมาไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ สีทัธเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยอาชีพชาวไร่กัญชา
“เขาจะไม่ค่อยบอกกัน ทำอย่างไรให้ช่อดอกแน่น ยางเหนียวดี ไม่ให้มีเมล็ด คนที่ปลูกเก่ง ๆ เขากลัวว่าถ้าคนปลูกเก่งหมดเขาจะขายไม่ดี กลัวแย่งอาชีพกัน พ่อค้าเลือกซื้อแต่ของดี ๆ มีนายหน้านำไปดูก่อน กะหลี่ต้องแน่น จับแล้วมีแต่เมล็ดไม่เข้าเกรด ถูกคัดออก เราต้องทำให้ดี ให้คนซื้อของเรา ในดงหลวงปลูกกันเกือบหมดหมู่บ้าน แต่คนสูบไม่เยอะ ผมก็เคยลอง หลงสติตัวเองเลยไม่สูบ แต่พี่ชายติดกัญชาจนวันตาย เป็นโรคมะเร็งปอด เพราะสูบบุหรี่ด้วย”
คนปลูกเก่งจะไม่มีเมล็ด แต่สำหรับเกษตรกรเมล็ดก็จำเป็นสำหรับการทำพันธุ์ต่อ
“ต้องการและไม่ต้องการเมล็ดต้องปลูกคนละที่ ถ้าต้องการเมล็ด ต้นผู้หรือที่เราเรียกสะดอนี่เก็บไว้เลย ถ้าไม่ต้องการเมล็ด ต้นผู้งามขนาดไหนก็ให้ถอนทิ้ง ต้นเมียจะไม่มีเมล็ด เหลือแต่ช่อดอกแน่น”
เกษตรกรไร่กัญชาตามธรรมชาติในถิ่นอื่นมีกำลังการผลิตต่อคนไม่มาก
“ปลูกเยอะไม่ได้ ร้อยหลุมนี่เยอะมากแล้ว เก็บไว้หลุมละสองต้น ผมปลูกทีละ ๖๐ หลุม ขุดให้กว้าง พอต้นโตขึ้นรากจะขยายออก
ถึงเวลาต้องแต่งพุ่ม
“กัญชาขึ้นสูงเจ้าหน้าที่จะเห็นง่าย เราต้องบิดยอด สูงเคียงเอวเริ่มบิดแล้ว เสียดายไม่ได้ ยอดที่เราบิดค้างไว้ยังอยู่และมันแตกออกด้านข้าง สร้างตัวขึ้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ ได้เยอะกว่าขึ้นสูง พันธุ์หางเสือถ้าปล่อยให้ขึ้นสูงบางต้นที่สมบูรณ์เต็มที่คนปีนขึ้นได้ ขึ้นดูหนอนข้างบนได้”
เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านทั้งหลายนั้นตอนปลูกครั้งแรกสีทัธได้จากเพื่อนที่ปลูกมาก่อน
“ที่นิยมปลูกกันแถวนี้มีสามพันธุ์ หางเสือ หัวนกเค้า ดอกเลา” นักปลูกกัญชามือเก๋าเล่าแล้วลงรายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์พื้นบ้าน “ดอกเลา น่าจะเป็นพันธุ์เดียวกับหางกระรอก สมัยก่อนไม่ค่อยนิยม กะหลี่มันฟู ๆ ไม่แน่น ยางไม่เยอะ หางเสือ ช่อดอกแน่นยาวติดกันเป็นพวง หัวนกเค้า กะหลี่ห่าง เป็นตุ้ม ๆ เหมือนรกวัว สวย แน่น น้ำหนักดี ยางเยอะดี ยิ่งถ้าถูกน้ำหมอก สูบได้รสชาติดี ผมลองของที่ตัวเองปลูก งงเลยละ สูบใส่บ้อง ดอกเดียวน็อกเลย ไม่เปลืองกัญชา พันลำใส่บุหรี่เปลืองกว่า”
อดีตคนปลูกกัญชาพูดแล้วหัวเราะอารมณ์ดี
ถ้าปลูกกลางแจ้งเพลี้ยไม่ค่อยเกิด ไม่ต้องใช้ยา ถ้าเห็นหนอนกินเราก็เดินหา บี้ ปุ๋ยขี้ไก่นี่ดีเลย นายทุนซื้อมาลงทุนให้ หักค่าขี้ไก่ตอนขายให้เขา ช่วงหลังสุดกัญชาแห้งคุณภาพดี ๆ กิโลกรัมละ ๑,๐๐๐”
นอกจากสายพันธุ์กับฤดูที่ปลูก คุณภาพของกัญชายังขึ้นอยู่กับอายุการเก็บเกี่ยวด้วย
“ผลผลิตกัญชาจะออกมาดีต้องให้อายุถึง ๔ เดือน กะหลี่สวย สีเขียวอมทองตามธรรมชาติ ยางเหนียวติดมือ นี่แหละที่พ่อค้าต้องการมากที่สุด” เขาเว้นวรรคเหมือนชั่งน้ำหนักระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง
“แต่ถ้าต้องซ่อนตำรวจตอนไหนก็ต้องตัด”
เขาพูดแล้วหัวเราะอีกครั้ง
และความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มากขึ้นเรื่อยนั่นแหละ ที่ทำให้เขาต้องเลิกปลูกโดยสิ้นเชิงตั้งแต่ปี ๒๕๓๔
“เจ้าหน้าที่เอา ฮ. มาลง ปราบ ตัด เผา ลงทีไหนก็ขาดทุน ค่าขี้ไก่ของนายทุนก็เป็นหนี้สูญไปด้วย”
ปีสุดท้าย สีทัธเก็บกัญชาแห้งราว ๑๐ กิโลกรัมซ่อนไว้ที่ชายป่ารอพ่อค้ามารับ แต่เกิดไฟไหม้ วันนั้นควันกัญชาคงหอมไกลไปทั้งภู ทำเอาคนปลูกหมดกำลังใจ เลิกอาชีพปลูกกัญชาเถื่อนมาตั้งแต่บัดนั้น
ทำนองเดียวกับแถวริมฝั่งโขง ที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ที่ตาบุญมี พ่อของ สมพงษ์ คนยืน ก็ต้องเลิกปลูกเพราะถูกปราบหนักมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ หรือคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาหลังป่าแตก เมื่อภารกิจปราบคอมมิวนิสต์ผ่อนเพลาลง เจ้าหน้าที่ก็หันมาปราบยาเสพติดในถิ่นทุรกันดารที่เริ่มมีการพัฒนาถนนหนทางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
สมพงษ์บอกว่าช่วงนั้นที่เขาได้เห็นปืนไฟของจริง
“เอาปืนไฟมายิงใส่ ต้นล้มหมดเลย เราว่าอะไรไม่ได้เพราะมันผิดกฎหมาย ผมได้เห็นปืนไฟของจริงในตอนนั้น จากที่เคยเห็นแต่ในหนัง”
ยุคปลูกกัญชาเถื่อนเพื่อการค้าเมื่อครั้งกระโน้นปิดฉากลงเมื่อเจ้าหน้าที่เปิดยุทธการปราบหนัก
ไร่กัญชาแถวริมโขงสูญหาย แต่ความรู้ภูมิปัญญาการปลูกกัญชาถูกส่งต่อมาอยู่ในตัวเด็กชาย แม้เขาจะออกจากหมู่บ้านมาบวชเรียน และได้เรียนหนังสือต่อจนได้รับราชการเป็นปลัดเทศบาล
กระทั่งมีโอกาสได้นำความรู้ด้านเกษตรกรรมแต่ครั้งวัยเยาว์ออกมาใช้อีกครั้งโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เมื่อกัญชาได้รับอนุญาตให้ปลูกโดยถูกกฎหมาย
กัญชาพันธุ์ชาร์ลอตต์แองเจิล ปลูกในระบบปิด สามารถควบคุมขนาดพุ่มและช่วงออกดอกได้ตามต้องการ เป็นพันธุ์ที่ให้สาร CBD สูง
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
๗ ภูมิปัญชา
กัญชาเถื่อนถูกปราบหนัก แต่พันธุ์กัญชาและภูมิปัญญาการปลูกตามธรรมชาติยังไม่ถึงกับสูญหายไปจากภูพาน
ว่าตามจริงกลุ่มคนปลูกกัญชามีส่วนช่วยให้กัญชาสืบต่อเผ่าพันธุ์อยู่รอดมาได้ ไม่ถึงกับสูญพันธุ์ไปใน “ยุคมืด” แห่งการกวาดล้างด้วยกฎหมายในช่วง ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา
แอบปลูกแซมไว้ตามที่รกร้างห่างไกลตาคน ไม่มากเป็นไร่เป็นแปลง ๆ จนเป็นที่จับจ้องของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และไม่เป็นที่สังเกตจากการบินสำรวจกวาดล้างทางอากาศ เก็บเกี่ยวใช้กันในหมู่เพื่อนมิตรคนคอเดียวกัน บางครั้งถูกเจ้าหน้าที่กวาดจับได้บ้าง แล้วกัญชาของกลางเหล่านั้นก็ได้มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสกัดทำยาศึกษาวิจัยการรักษาโรค และนำเมล็ดแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเพาะปลูกเพื่อการแพทย์
ระหว่างลงพื้นที่แถวภูพานถึงริมแม่น้ำโขง ผมมีโอกาสได้ตามคนท้องถิ่นเลาะลึกเข้าไปในดงลึกที่ยังมีชาวบ้านบางรายปลูกกัญชาไม่กี่ต้นไว้ใช้เอง เป็นชายวัย ๕๐ ต้น ๆ ตามปีเกิดในบัตรประชาชน แต่เจ้าตัวบอกว่าความจริงเขาเกิดก่อนนั้น ครอบครัวเขาร่วมอยู่ในขบวนการปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าภูพาน เพิ่งได้แจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรหลังจากมอบตัวเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยพ่อแม่แจ้งชื่อเขาให้เป็นคู่แฝดของน้องชาย เหมือนลูกหลานนักปฏิวัติแถวภูพานจำนวนมากที่เกิดในป่าล้วนต้องใช้ช่องทางนี้ในการเพิ่มชื่อลงในทะเบียนบ้านกันทั้งนั้น
ลูกภูพานคนนี้ปลูกกัญชาพันธุ์หางเสือ จึงขอเรียกเขาด้วยนามสมมุติว่า “เสือ” ปลูกไว้ใช้เองคราวละสี่ถึงห้าต้น และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเนื่องมา เคยถูกจับ ออกมาก็ปลูกและใช้ต่อ คนในชุมชนต่างรับรู้และรู้ว่าเขาไม่เคยรบกวนหรือสร้างปัญหาให้ใคร กับคนที่ไว้ใจพวกเขาจะบอกได้ว่าบ้านคนปลูกกัญชาอยู่หลังไหน
ช่วงหลังเมื่อเจ้าหน้าที่กวาดล้างปราบปรามหนักขึ้น “เสือ” หันมาปลูกในกระถาง เคลื่อนย้ายไปซ่อนในป่าได้ยามเจ้าหน้าที่มาสืบหากวาดล้าง กลางคืนยกกลับออกมาวางให้โดนน้ำหมอกน้ำค้าง บางส่วนขุดหลุมปลูกไว้ตามขอบสวนริมห้วยบังทราย พอได้อาศัยตักน้ำรดต้นกัญชายามแล้ง
หลุมขนาดกว้างยาวราวครึ่งเมตร ลงกล้ากัญชาเรียงรายกันไว้สามถึงสี่ต้น พอต้นขึ้นสูงราวอก บีบลำต้นให้แตกตรงช่วงความสูงที่ต้องการ ยอดที่กำลังพุ่งทางสูงจะพับลงมาเป็นกิ่ง
และผลิแตกกิ่งใหม่ขึ้นรอบ ๆ รอยบีบอีกหลายกิ่ง ได้พุ่มกัญชาที่แน่นหนาและมีความสูงพอดีแทนที่จะปล่อยให้สูงชะลูด ๓-๕ เมตรตามธรรมชาติของต้นกัญชาพันธุ์พื้นเมือง และนักปลูกกัญชาที่ภูพานบางคนเล่าด้วยว่า กิ่งใหม่ที่เกิดจากการบีบต้นกัญชาให้แตกนั้น โน้มลงแนบดินให้เป็นต้นใหม่ได้ ตามสูตรนี้จากกล้าต้นเดียวสามารถขยายได้เป็น สามถึงสี่ต้น หากจะใช้วิธีนี้ต้องเว้นพื้นที่เผื่อไว้ โดยปลูกให้ห่างกันตั้งแต่ตอนลงกล้า
“ถ้าฝนขาดก็รดน้ำให้บ้าง บำรุงด้วยปุ๋ยคอก ที่กัญชาชอบที่สุดคือขี้ไก่” “เสือ” บอกวิธีการบำรุงดูแล “จนดอกแก่ได้ที่ค่อย ๆ ถอยน้ำ”
หมายถึงเว้นความถี่ของการให้น้ำออกไปเรื่อย ๆ จนงดในที่สุด ปล่อยให้ใบกัญชาเหลืองร่วงเหลือแต่ช่อดอกก็ตัดไปเก็บในที่ร่ม ผึ่งลมให้แห้งสนิท เก็บไว้ใช้ได้นาน
เห็นกรรมวิธีการปลูกและคำบอกเล่าถึงศาสตร์กสิกรรมกัญชาของคุรุแห่งภูพาน ทำให้ผมหวนนึกถึงต้นกัญชาของสิงห์สายเขียวที่ปักษ์ใต้ในสมัยก่อน
ในยุคที่ยอดเขาแผ่นดินเสมอ ใจกลางเทือกเขาประ จังหวัดกระบี่ ถูกบุกเบิกทำสวนใหม่ ๆ ก่อนมีถนนตัดขึ้นไปถึง ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองยังไม่เข้มงวด ชาวไร่กาแฟจะปลูกกัญชาแซมไว้ตามริมห้วยกลางสวนด้วย
ปราชญ์กัญชาพื้นบ้านสืบภูมิปัญญาไว้ให้ลูกหลานผ่านปากต่อปาก และทำให้ดูรู้เห็นการปฏิบัติจริงไปด้วย
“ปุ๋ยกัญชาดีที่สุดคือขี้ไก่มันเทียน” ขี้ไก่พื้นบ้านที่ถ่ายเหลวสีดำ เหนียวหนืด เป็นมัน และกลิ่นจัดมาก
ตักจากพื้นมาใส่โคนต้นช่วงออกดอกจะช่วยให้ยางกัญชาเหนียวหนึบ เมาดี และให้กลิ่นแรง
รอจนช่อดอกแน่นดีสีเขียวเข้มเจือทอง เย่อโคนพอให้รากคลอน ปล่อยทิ้งไว้ให้ใบเหี่ยวแห้ง แล้วไปแขวนห้อยหัวบนราวในร่ม ผึ่งลมจนแห้งดี ใช้ไม้เคาะโคนเบา ๆ ทั้งใบแห้งทั้งเมล็ดจะหลุดร่วง เหลือแต่หลีแห้งสีเขียวยางเหนียวหนึบติดมือ
คุณภาพของช่อดอกกัญชาวัดจากยางที่อยู่ในไทรโคม ขนสีขาวขนาดเล็กบนช่อดอกกัญชาที่ให้กลิ่นฉุน ความเขียวเหนียวหนึบเป็นแหล่งสารทีเอชซี เป็นตัวยาและเป็นสารเมาในกัญชา และใช้เป็นตัวกำหนดความเป็นยาเสพติดในพืชกัญชา หากมีสัดส่วนเกิน ๑ เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก แต่ยิ่งมีสารทีเอชซีสูงมากเท่าไร นั่นหมายถึงคุณภาพที่เหมาะทั้งกับการสกัดยาและเสพเอาความมึนเมา
นั้นเป็นหลักที่ใช้วัดค่าโดยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่พ่อค้ากัญชาและชาวไร่ผู้ชำนาญการใช้การสัมผัสก็วัดคุณภาพได้เด็ดขาด
“คนซื้อบิดู เห็นสี ดมกลิ่นก็รู้ เชี่ยวชาญยิ่งกว่าพ่อค้าดูทอง” นายกฯ บรรจงเปรียบให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย ๆ “กะหลี่ที่ดี ๆ ชาวบ้านบอกว่าอัดใส่ฝาบ้านติดอยู่เลย” เขาบรรยายคุณภาพของกัญชาภูพานในตำนาน “ผมไม่เคยเห็นเอง แต่ได้ยินเขาพูดกันว่ามันเหนียวเหมือนเราเอามือจับจาระบี”
“จากนั้นคัดช่อดอกที่สมบูรณ์ ที่ไม่สมบูรณ์คัดทิ้ง หรือเอาไปใส่ต้มไก่” ทำกัญชาอัดแท่งด้วยกรรมวิธีพื้นบ้านส่งพ่อค้า “คนซื้อเขาบอกให้ตีลัง ๒๐x๑๕ นิ้ว อัดลง ๆ ใช้คานกดเหมือนแม่แรง ออกมาเป็นแท่ง ๆ แล้วนัดส่งกันตามเถียงนา”
เช่นเดียวกับทางริมโขงซึ่งขายให้กับพ่อค้ารายใหญ่เจ้าเดียวกัน
“ท่าน ‘ป. เป็ด’ ใช้ ฮ. วนดู เห็นไร่ก็ลงจอด ถึงเวลาเก็บก็เอามือบี้ ๆ หัวนกเค้าโยนใส่ ฮ. ของท่าน เขวี้ยงไปติดตั๊บเลย ‘ใช้ได้ ๆ กัญชาตาบุญมีนี่ดีที่สุดเลย’ แกชมพ่อผม” ปลัดสมพงษ์ ลูกชายตาบุญมีเล่าความหลัง
เมื่อกฎหมายอนุญาตให้กลับมาปลูกกัญชาได้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ใหม่
ด้วยความหวังถึงการผลิตกัญชาดีระดับโลกให้ได้อีกครั้ง เขาบอกกับตัวเองอย่างมั่นใจ
“ต้องกลับมาใช้ภูมิปัญญาเราให้เต็มที่ เรามีความรู้อยู่กับตัว”
คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าต้นกัญชาจะมาปรากฏอยู่ใจกลางเมืองหลวงได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ที่ชั้น ๕ ห้างสยามพารากอน ต้นกัญชาหลากวัยหลากสายพันธุ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ว่าด้วยพืชกัญชาก็ได้รับการนำมาแสดงแลกเปลี่ยนกันอย่างเอิกเกริก ถือเป็นการกลับมาใหม่อย่างเป็นทางการของกัญชา โดยการนำของกระทรวงสาธารณสุข
๘ กัญกลางกรุง
ต้นกัญชาได้ออกมาเปิดเผยตัวอยู่ในห้างหรูหรากลางเมืองหลวง
เป็นเรื่องที่ใครก็คงคาดไม่ถึงมาก่อน
เทอร์ปีนที่เป็นกลิ่นเฉพาะของกัญชา หอมฉุนรุนแรงลอยอวลอยู่ใต้โดมที่ตั้งอยู่บนลานชั้น ๕ ของห้างสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพมหานคร
คนที่เคยคุ้นคงจำหน้าตาต้นไม้ต้องห้ามที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยได้ คนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมารุมล้อมถ่ายรูป ซึ่งไม่ใช่แค่คนเมือง แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากด้วย
คนส่วนใหญ่คงคาดคิดไม่ถึง พืชเสพติดที่สังคมเกลียดกลัวในฐานะปีศาจร้ายที่ทำลายสุขภาพและสังคม กลายมาเป็นพระเอกของงาน “มหกรรมสมุนไพรและสุขภาพแห่งชาติ” ที่จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ณ ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ
องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาได้รับการนำมาแลกเปลี่ยนจัดการศึกษากันทั้งบนเวทีใหญ่และห้องประชุมย่อย เปิดเสวนาพูดจาเรื่องพืชที่เคยเป็นยาเสพติดได้อย่างเปิดเผย และเป็นที่สนใจอย่างมากของสาธารณชน
นอกจากต้นสดในกระถางที่นำมาให้เห็นหน้าตาจริงแบบครบส่วน ยังมียา อาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์จากกัญชานานาชนิด มาให้ชม ชิม ใช้ ได้ตามกรอบกฎหมายด้วย
โดยเฉพาะความเป็นยาหรือที่เรียกกันว่ากัญชาทาง
การแพทย์ เป็นแง่มุมที่ยอมรับกันมาแต่ครั้งบรรพกาล และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กัญชาได้กลับมาปรากฏตัวอย่างสง่า
อีกครั้ง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าคนเรารู้จักใช้กัญชาทางการแพทย์มากว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว เฉพาะในเมืองไทยก็
ไม่น้อยกว่า ๓๖๐ ปี ตามหลักฐานบันทึกใน ตำรับพระโอสถ-พระนารายณ์
จากการสืบค้นรวบรวมองค์ความรู้ในตำรับยาแผนไทยของชาติ ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ และศิลาจารึกต่าง ๆ
จนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ พบว่า ในตำรับยาแผนไทยที่มีอยู่ ๔๕,๑๓๔ ตำรับ มียาที่เข้าตัวยากัญชา ๑๖๒ ตำรับ
จำแนกตามกลุ่มอาการของโรค ๑๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคกษัยกล่อน กลุ่มโรคลม กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคริด
ในขณะที่ทางภาคใต้ ล่าสุดทีมวิจัยโครงการจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคใต้จากหนังสือบุดและหมอพื้นบ้าน ได้ศึกษาตำราท้องถิ่นใต้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ฉบับ พบว่ามียาพื้นบ้านที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมนับร้อยตำรับ ใช้
ทุกส่วนของกัญชา ทั้งราก ต้น ใบ ดอก เมล็ด โดยแต่ละตำรับอาจใช้เฉพาะส่วนหรือใช้ทั้งห้าส่วน ซึ่งนำมาจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือ ๑๐๘ ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้
อาหาร ยาสมุนไพร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง
จากใบ ราก ลำต้นของกัญชา ซึ่งเป็นส่วนที่
พ้นจากความเป็นยาเสพติดแล้ว ขายได้อย่างเสรี และได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก แต่มีข้อควรระวังสำหรับอาหาร
ที่ผ่านความร้อนสูงและมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ
สองปัจจัยนี้สามารถเปลี่ยนสารในใบกัญชาสด
ให้กลายเป็นสารเมาได้
ต้นกัญชาได้ออกมาเปิดเผยตัวอยู่ในห้างหรูหรากลางเมืองหลวง
เป็นเรื่องที่ใครก็คงคาดไม่ถึงมาก่อน
เทอร์ปีนที่เป็นกลิ่นเฉพาะของกัญชา หอมฉุนรุนแรงลอยอวลอยู่ใต้โดมที่ตั้งอยู่บนลานชั้น ๕ ของห้างสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพมหานคร
คนที่เคยคุ้นคงจำหน้าตาต้นไม้ต้องห้ามที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยได้ คนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมารุมล้อมถ่ายรูป ซึ่งไม่ใช่แค่คนเมือง แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากด้วย
คนส่วนใหญ่คงคาดคิดไม่ถึง พืชเสพติดที่สังคมเกลียดกลัวในฐานะปีศาจร้ายที่ทำลายสุขภาพและสังคม กลายมาเป็นพระเอกของงาน “มหกรรมสมุนไพรและสุขภาพแห่งชาติ” ที่จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ณ ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ
องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาได้รับการนำมาแลกเปลี่ยนจัดการศึกษากันทั้งบนเวทีใหญ่และห้องประชุมย่อย เปิดเสวนาพูดจาเรื่องพืชที่เคยเป็นยาเสพติดได้อย่างเปิดเผย และเป็นที่สนใจอย่างมากของสาธารณชน
นอกจากต้นสดในกระถางที่นำมาให้เห็นหน้าตาจริงแบบครบส่วน ยังมียา อาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์จากกัญชานานาชนิด มาให้ชม ชิม ใช้ ได้ตามกรอบกฎหมายด้วย
โดยเฉพาะความเป็นยาหรือที่เรียกกันว่ากัญชาทางการแพทย์ เป็นแง่มุมที่ยอมรับกันมาแต่ครั้งบรรพกาล และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กัญชาได้กลับมาปรากฏตัวอย่างสง่าอีกครั้ง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าคนเรารู้จักใช้กัญชาทางการแพทย์มากว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว เฉพาะในเมืองไทยก็
ไม่น้อยกว่า ๓๖๐ ปี ตามหลักฐานบันทึกใน ตำรับพระโอสถพระนารายณ์
จากการสืบค้นรวบรวมองค์ความรู้ในตำรับยาแผนไทยของชาติ ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ และศิลาจารึกต่าง ๆ
จนถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ พบว่า ในตำรับยาแผนไทยที่มีอยู่ ๔๕,๑๓๔ ตำรับ มียาที่เข้าตัวยากัญชา ๑๖๒ ตำรับ
จำแนกตามกลุ่มอาการของโรค ๑๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคกษัยกล่อน กลุ่มโรคลม กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคริดสีดวง กลุ่มอาการนอนไม่หลับ กลุ่มยาบำรุง ยาอายุวัฒนะ กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง กลุ่มโรคฝี กลุ่มไข้ กลุ่มอาการไอ กลุ่มโรคสตรี กลุ่มโรคตา และกลุ่มอื่น ๆ
ในขณะที่ทางภาคใต้ ล่าสุดทีมวิจัยโครงการจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคใต้จากหนังสือบุดและหมอพื้นบ้าน ได้ศึกษาตำราท้องถิ่นใต้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ฉบับ พบว่ามียาพื้นบ้านที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมนับร้อยตำรับ ใช้ทุกส่วนของกัญชา ทั้งราก ต้น ใบ ดอก เมล็ด โดยแต่ละตำรับอาจใช้เฉพาะส่วนหรือใช้ทั้งห้าส่วน ซึ่งนำมาจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือ ๑๐๘ ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้
ยังไม่นับตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทยที่อยู่ใน
มุขปาฐะที่บอกต่อกันในหมู่หมอยา ซึ่งไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือบุด
“ตำราโบราณเราเรียกหนังสือบุด มีสองชนิด บุดดำ
บุดขาว ตามสีของกระดาษ เป็นพับทำจากต้นข่อย กฤษณา การบันทึกตำรายาไทยในอดีตบันทึกตามภาษาท้องถิ่นโบราณด้วยอักษรไทยและอักษรขอมที่เป็นบทสวด เป็นอักขรวิธีโบราณ
คนปัจจุบันอาจอ่านไม่เข้าใจ ต้องใช้การปริวรรต” ชัยวุฒิ
พิยะกูล อดีตนักวิจัยชำนาญการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เล่าเบื้องหลังที่มาของหนังสือ ๑๐๘ ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้
“ในภาคใต้สำรวจแล้ว ๑๐ จังหวัด พบเป็นพันฉบับ ปริวรรต
แล้ว ๓๐ เล่ม มีเกือบทุกโรค พบยาที่มีกัญชาผสม ๑๗๐ ตำรับ”
ตำรับยาเข้ากัญชาของภาคใต้แบ่งได้เป็นสองกลุ่มกว้าง ๆ
ตำรับยาแก้เอกโรค ใช้แก้เฉพาะโรคใดโรคหนึ่ง โดยส่วนมากมักสอดคล้องกับสรรพคุณของกัญชา โรคเบื่ออาหารที่ในบางตำราเขียนว่ายาหมื่นข้าว โรคนอนไม่หลับ โรคริดสีดวง
โรคลม โรคไข้ชัก โรคคลั่ง เป็นต้น
อย่าง “ยาแก้นอนไม่หลับ ตำรับยาที่ ๔” ในหนังสือ ๑๐๘ ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้ “ยานอนมิหลับ ได้พบในตำรายาฉบับกำนันนิยม หาญชนะ ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ระบุไว้ว่า ถ้านอนมิหลับ เอารากชาพลู ๑ สมอ ๑ กัญชา ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินแล”
“ยาแก้เบื่ออาหาร ตำรับที่ ๒” ชื่อ “ยาแก้เด็กกินข้าวไม่ได้ และกินนมไม่ได้” พบจากตำรายาฉบับจังหวัดสุราษฎร์ธานี “เอากัญชา เยาวพาณี บอระเพ็ด ชะเอมเทศ ลูกผักชี ลูกมะตูม หญ้าข้าวเย็น ทำผงละลายน้ำผึ้งรวง หรือขันฑสกร กินหายแล”
“ยาเจริญอายุ” หรือยาอายุวัฒะ มีสี่ตำรับ ซึ่งบางตำรับบอกว่ากินเท่าลูกพริกไทย มีกำลังเท่า ๒,๐๐๐ คน ถ้ากินอีก ๑ เฟื้องจะมีกำลังแรงกว่าเก่า ร่างกายบริสุทธิ์ ช่วยให้มีลูก บุตรที่เกิดมามีปัญญามาก อายุยืนได้ ๒,๐๐๐ ปี
“ยาแก้ลึงค์ตาย” หรือโรคกามตายด้าน จากตำรายาฉบับวัดบ้านลุ่ม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา “ดีปลี ๑ ลูกชาพลู ๑ พริก ๑ ลูกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ รากสะแก ๑ กัญชา เอาทั้งหลายตำผงละลายน้ำผึ้งรวงและน้ำอ้อยแดง กินกลอนเท่าลูกพุทรา ยานี้จำเพาะที่ตายมีกำลังแล”
นอกจากนี้ยังมี “ยาแก้โรคริดสีดวง” หลายชนิดที่พบมากในภาคใต้ ริดสีดวงทวารหนัก ริดสีดวงลำไส้ ริดสีดวงจมูก รวมทั้ง “ยาระงับผีทั้งหลาย” ผีชิน ผีพราย ผีป่า ที่ชาวใต้เชื่อว่าเป็นปัจจัยให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ใบกัญชาก็เข้ายาช่วยรักษาได้
ส่วนตำรับยาแก้พหุโรค เป็นยาตำรับหนึ่งรักษาโรคได้หลายชนิด เนื่องจากโรคบางชนิดมีอาการต่อเนื่องถึงอีกโรคได้หมอยาในอดีตจึงต้องคิดค้นตำรายาแก้พหุโรคขึ้นมาใช้ อย่างตำรับยาทำลายพระสุเมรุที่ใช้แก้โรคริดสีดวง ๑๒ จำพวก โรคลมจุกเสียด แก้ตามืดหูหนัก
ยาแก้โรคห่าหรือโรคอหิวาต์ กาฬโรค ไข้ทรพิษ ที่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสมัยโบราณ มีตำรายาเข้ากัญชาที่เล่าว่าพระพุทธเจ้าประทานแก่พระอานนท์เมื่อครั้งเมืองไพสาลีมีไข้ห่าลง ซึ่งถือเป็นอีกมิติของภูมิปัญญาในการเสริมความขลังให้กับยา สร้างแรงศรัทธาและความมั่นใจให้กับทั้งหมอยาและผู้ป่วยว่าจะรักษาความเจ็บไข้ได้จริง
เป็นยาไทยในวิถีการพึ่งตนเองแบบพื้นบ้านส่วนยากัญชาที่มีการนำมาใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศแล้ว ก็มีทั้งยาแผนไทยและแผนปัจจุบัน กล่าวโดยรวบรัดพอสังเขปได้ดังนี้
น้ำมันกัญชาสกัดสามสูตร ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น สำหรับสี่โรคหลัก
ยาสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซี : ซีบีดี ๑ : ๑ สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
สูตรที่มีสารซีบีดีสูง สำหรับโรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
สูตรที่มีสารทีเอชซีสูง สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดและภาวะปวดประสาท
ส่วนตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย มี ๑๖ ตำรับ ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาทัพยาธิคุณ ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูงและยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ไขผอมเหลือง ยาไพสาลี ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง ยาแก้ลมแก้เส้นยาอไภยสาลี ยาอัมฤตย์โอสถ ยาแก้โรคจิต ยาแก้สัณฑฆาตกล่อนแห้ง ยาอัคคินีวคณะ ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย และยาไฟอาวุธ
และน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา สารสกัดกัญชาในน้ำมันมะพร้าว ใช้หยดใต้ลิ้นช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร แก้ลมปะกัง (ปวดหัวไมเกรน) แก้โรคสันนิบาตลูกนก (พาร์กินสัน)
ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชาสามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมากกว่า ๕๐๐ แห่งในปัจจุบัน
กัญชาเสรีทางการแพทย์ จำกัดขอบเขตอยู่ในความหมายนี้ ยังไม่ใช่การปลูกและใช้ได้ตามอำเภอใจในขณะนี้
ถึงที่สุดแล้ว...
โลกก็มิอาจปฏิเสธว่ากระท่อมและกัญชาเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ที่มีฤทธิ์เมาเบื่อ คงไม่ใช่โอสถวิเศษสำหรับทุกโรค แต่ไม่ใช่มนตร์มายาของซาตาน ไม่ใช่พืชพิษหรือยาเสพติดร้ายแรงอย่างที่ถูกตีตราและวาดภาพให้คนหวาดกลัว
โดยเฉพาะกระท่อม โลกไม่ถือเป็นยาเสพติด ทั้งยังเป็นพืชส่งออกของเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่เป็นแหล่งกระท่อมเช่นเดียวกับแถบปักษ์ใต้ของไทย นี้อาจเป็นเหตุที่ทำให้รัฐบาลปลดล็อกกระท่อมแบบสุดทางได้มากกว่า รอแต่การอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่มได้ น้ำท่อมก็จะวางในตู้แช่ได้เหมือนน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มชูกำลังอย่างหนึ่ง
ส่วนกัญชาที่เคยใช้และเคยเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกระหว่างเมืองของไทย แล้วต้องกลายเป็นยาเสพติดตามกระแสโลก ตอนนี้โลกกำลังกลับลำ มีไม่น้อยกว่า ๖๗ ประเทศหันกลับมายอมรับในความเป็นยา แก้กฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ อีก ๓๔ ประเทศอนุญาตให้ใช้ทางนันทนาการได้ ซึ่งพบว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและสังคม คนมีงานทำมากขึ้น และอาชญากรรมลดลง
สำหรับในประเทศไทย ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๕ ได้ข้อสรุปให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้ และใช้ในยา อาหาร และผลิตภัณฑ์ได้โดยต้องได้รับอนุญาตยกเว้นการใช้เพื่อนันทนาการ ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน ๕ ปี กัญชาจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศราว ๑.๕ หมื่นล้านบาท
จากนี้ก็รอคอยว่าสักวันกัญชาจะคืนฐานะเป็นพืชพรรณอย่างที่เคยเป็นมา เป็นพืชต้นหนึ่งในไร่และในสวนครัว เหมือนกับพลู กะเพรา ยาสูบ เครื่องเทศ เครื่องยา เป็นผักหญ้าอาหารด้านหรรษา
ถ้าไปถึงปานนั้นได้ ไทยจะเป็นประเทศที่นำหน้าในการคืนความเป็นพืชยาให้กับกัญชาเช่นที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไร
หนังสืออ้างอิง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์, ๒๕๖๔.
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. คู่มือชุดความรู้สุขภาพ “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย”, ๒๕๖๔.
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. ตำรายาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา, ๒๕๖๔.
กรมวิชาการเกษตร. คู่มือสำหรับเกษตรกร การผลิตพืชตระกูลกัญชา (Cannabis sativa L.) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม, ๒๕๖๔.
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. รู้ไว้ใช้เป็น กัญชาทางการแพทย์ปลอดภัย, ๒๕๖๓.
ชัยวุฒิ พิยะกูล และคณะ. ๑๐๘ ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้, ๒๕๖๔.
ไพศาล ลิ้มสถิต. แนวทางการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด : กรณีศึกษาเปรียบเทียบ การจัดการพืชกระท่อมของไทยและต่างประเทศ, ๒๕๖๐.
ไมเคิล แบกเกส. กัญชาทางการแพทย์, ๒๕๖๓.
ยงศักดิ์ ตันติปิฎก (บรรณาธิการ). ยากัญชา คู่มือประชาชน, ๒๕๖๔.
ยาวิพากษ์ จดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๔๓ ธันวาคม ๒๕๖๒-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓.
วารสาร โพธิศาสตร์วิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๗ มีนาคม-มิถุนายน ๒๕๖๔.
วิฑูรย์ ปัญญากุล. คู่มือสำหรับเกษตรกร การปลูกกัญชาทางการแพทย์แบบเกษตรอินทรีย์, ๒๕๖๓.
ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ. ประสบการณ์เกี่ยวกับพืชกระท่อม ในตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ๒๕๖๔.
สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม. เอกสารวิชาการ พืชกระท่อม : การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ชุมชนและงานวิจัยเกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม เพื่อกำหนด
นโยบายการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมของประเทศไทย, ๒๕๖๒.
ส่วนสำรวจและรายงาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ. กัญชา-กัญชง, ๒๕๔๔.
สารคดี ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๔๐๔ ตุลาคม ๒๕๖๑.
สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย, ๒๕๖๔.
สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. บทสรุปของพืชกระท่อม, ๒๕๖๓.
สุภาภรณ์ ปิติพร. กัญชา และผองเพื่อน สมุนไพร...เพื่อระบบประสาทและจิตใจ, ๒๕๖๓.
อัคนี มูลเมฆ. กัญชาปกรณัม, ๒๕๕๘.
https://www.youtube.com/watch?v=2WO9TqxM1Bs
ขอบคุณ
หมอสมคิด ช่วยนุกูล, หมอศุภชัย หมัดหลี, หมอสวัสดิ์ จิตพรหม, หมอศุภัช คงคาทวีสุข, หมอจำเนียร พลอยดำ, หมอมนัส เพชรสุวรรณ, หมออัทธ์ รักเกิด, หมอธรรมรัตน์ สุขคง, หมอชำนาญ ชูพราหมณ์, หมอจินตรัตน์ ทองช่วย, หมอสอย เพชรฤทธิ์, หมอเดชา ศิริภัทร, โกดำ-อร่าม ลิ้มสกุล, ชัยวุฒิ พิยะกูล, เผด็จ ศรีนวล-ขาว, คนอง สลับทอง, วิสุทธิ์ ช่วยนุกูล, ผู้ใหญ่ประเสริฐ มีเอียด, อำนวย นาศรียงค์, สุวิทย์ ศรีแป้น
จิรวัฒน์ รังศรี, สมพงษ์ คนยืน, บรรจง ไชยเพชร, วันดี วงศ์-กะโซ่, จิตรกรรม เชื้อคำฮด, เวสสุวรรณ วงค์ศรีทา, ไข เชื้อคำฮด, คม วงศ์กะโซ่, คำหล้า เชื้อคำฮด
ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ, ธีรชัย เริ่มแต่ง, จตุภูมิ สังเกต, กาญจนา โสหุรัตน์, สุนทร แซ่เขา, โกศล ตาลทอง, ปิยะภูมิ กาญจนเจริญ, ประวิทย์ วงค์ท่าเรือ, เชาวลิต พินิจการ, จินตนา วัฒนะมาศพงศ์, วรัชญ์ นวลจันทร์, ศาสตรา มูสิกะ, ปรเมศวร์ กาแก้ว, วรวุฒิ รัก-พันธ์, วาสนา เยาว์ด้วง, วรรณิดา มหากาฬ, ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต
ศาสตราจารย์ ดร. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, รองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์, เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร, เภสัชกรหญิง ดร. ผกากรอง ขวัญข้าว, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พณิตา ก้งซุ่น, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว, มาลา สร้อยสำโรง, อมรรัตน์ ราชเดิม, คลินิกกัญชาการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัย-ภูเบศร และคลินิกแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลศรีสงคราม
ขอบคุณพิเศษ
นายแพทย์อนุวัตร แก้วเชียงหวาง, เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ และเสาวณีย์ กุลสมบูรณ์