Image

แม่มดในวิถีพุทธไทย

เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ภาพเขียนสีคนกางแขนขาทำท่าเป็นกบ ตีกลองมโหระทึก และหมาศักดิ์สิทธิ์ ในตำนานหมาเก้าหางของจ้วงที่เอาหางจุ่มลงในกองข้าวของสวรรค์ ขโมยพันธุ์ข้าวลงมาให้มนุษย์ปลูกกิน  ภาพเขียนสีเก่าแก่เร้นลึกด้วยมิติทางจิตวิญญาณในวัฒนธรรมแม่มด เขียนไว้ที่ผาลาย ริมแม่น้ำหนิงเจียง แผ่นดินคนจ้วง มณฑลกว่างซี ประเทศจีน

กลางปี ๒๕๖๔ น้องชายที่รัก อาจารย์จตุพร บุญประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ส่งข้อมูลสำคัญมาให้ดิฉัน  อาจารย์จตุพรเพิ่งอ่านพบในหนังสือ ตำนานวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา และเห็นว่าเป็นเรื่อง “ชอบ ๆ” “บ้าไม่เลิก” ของพี่สาวคนนี้ ที่นักเขียนนักวิชาการคนอื่นไม่มีใครหมกมุ่นหัวทิ่มหัวตำอยู่กับเรื่องนี้ ประเด็นนี้ อย่างที่ดิฉันเป็นอยู่ ทำอยู่มาหลายสิบปี

นั้นคือเรื่องของ “แม่มด”

ดิฉันได้ข้อมูลจากอาจารย์จตุพร อ่านแล้วดีใจแทบโลดเต้น ชะเอิงเงิงเงยไปเลย เพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญในการกลมกลืนเสมือนเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับการปะทะระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านไทยเรื่องการนับถือภูตผีวิญญาณ (animism) ในนาม “แม่มด” กับศาสนาพุทธเถรวาทไทย ที่มาผูกร้อยผสมผสานและชนโครมเปรี้ยงปร้างอยู่ในตำนานการก่อตั้งวัดสังข์กระจาย ริมคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดการหอสมุดแห่งชาติสมัยก่อนเรียบเรียงไว้

หมายเหตุ : บทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับนี้ตัดทอน
จากบทความเต็มขนาดยาวของผู้เขียน ซึ่งได้ยกตัวอย่างและประเด็นเกี่ยวข้องกับแม่มดไว้อย่างละเอียดกว่าที่ปรากฏไว้ ณ ที่นี้

๑. แม่มดสร้างวัด

เรื่องเล่าดำริเริ่มสร้างวัดของชายข้าพระโยมสงฆ์ ผู้มาเห็นชอบร่วมมือร่วมใจกับหญิงแม่มดข้าผีทาสีเจ้า มีเนื้อความหลักอยู่ในหนังสือ ตำนานวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา ดังนี้

“๑๗.วัดสังข์กระจาย ตั้งอยู่ในคลองบางวัวทอง หรือเรียกว่าคลองลำเจียกน้อย เดิมมีตำนานกล่าวว่า นายสังข์เป็นตำแหน่งสารบบ (ในกรมพระสุรัสวดี) ตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลองคูเข้าไปประมาณ ๗ เส้น ได้สร้างกุฎีวิปัสสนาไว้หลัง ๑ ในสวนของตน ครั้นต่อมามีหญิงแม่มดคน ๑ ชื่อจ่าย เป็นข้าอยู่ในเจ้าจอมแว่น พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้านายตรัสเรียกกันว่า “คุณเสือ” เป็นผู้ดูแลสวนของเจ้าจอมแว่น ซึ่งมีเนื้อที่ติดต่ออยู่กับที่ของนายสังข์ ออกมาจนถึงคลองบางกอกใหญ่ ปรึกษากับนายสังข์ คิดกันสร้างอุโบสถต่อหลังกุฎีวิปัสสนาของนายสังข์ แล้วแม่มดจ่ายจึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่นให้ช่วยสร้างกุฎีสำหรับพระสงฆ์  เจ้าจอมแว่นจึงช่วยสร้างให้ตามความขอร้องของแม่มดจ่าย  ครั้นเสร็จบริบูรณ์แล้ว ถึงเวลาจะขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา  แม่มดจ่ายกับนายสังข์เกิดแตกต่างกัน  ด้วยแม่มดจ่ายก็จะขอนามของตน ฝ่ายนายสังข์ก็จะขอนามของตนเหมือนกัน  แม่มดจ่ายจึงได้นำความนั้นเข้าไปเรียนเจ้าจอมแว่น เจ้าจอมแว่นจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา  มีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์กับแม่มดจ่ายสร้างนั้น ไม่สมกับเกียรติยศเจ้าจอมแว่น จะสร้างพระราชทานใหม่ จึงมีพระราชดำรัสให้กรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นนายงาน สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่เคียงกับกุฎีพระสงฆ์เดิมตอนข้างตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าไปทางคลองคูบางวัว-ทองเหมือนอย่างของเดิม สร้างกุฎีขึ้นใหม่ตรงพระอุโบสถด้านใต้ กล่าวกันว่าเมื่อแรกขุดรากพระอุโบสถนั้น พบพระกัจจายหน้าตัก ๑๐ นิ้วกับสังข์ ๑ ตัว  แต่สังข์นั้นชำรุด  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานนามวัดว่า วัดสังกัจจาย  ครั้นต่อมาคนเรียกชื่อกลายเป็นวัดสังกระจาย  วัดนี้แม้ทรงสร้างพระราชทานเจ้าจอมแว่น ก็โปรดฯ ให้นับเป็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่งมาแต่แรกพระราชทาน จึงโปรดฯ ให้พระเทพมุนีไปเป็นเจ้าอาวาส ครั้นล่วงรัชกาลที่ ๑ แล้ว เจ้าจอมแว่นได้ออกมาทำบุญให้ทานอยู่ในวัดนี้ จึงได้ถวายที่สวนของตนทั้งหมดเป็นของวัด”

Image

พระงามที่วัดแม่นางปลื้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พุทธสงบสันติ เรื่องรุนแรงเข่นฆ่าเป็นโลกของผี 

ตำนานการสร้างวัดสังข์กระจายข้างต้นบอกชัด นายสังข์ (สายพระ) ผู้ชอบพอกับนางแม่มดจ่าย (สายผี) ได้อุทิศศรัทธาร่วมใจสร้างวัด แต่เมื่อจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ชาย (สายพระ) กับหญิงแม่มด (สายผี) ต่างออกอาการ “แม่มดจ่ายกับนายสังข์เกิดแตกต่างกัน” ดังอธิบายไว้ชัดเจนในวิกิพีเดียเรื่องของประวัติวัดสังข์กระจายว่า “ผู้สร้างก็เกิดทะเลาะเกี่ยงแย่งกันจะเอาชื่อตนมาเป็นชื่อวัด” (ดูรายละเอียดเพิ่มใน https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสังข์กระจายวรวิหาร)

ท้ายสุดของการวิวาทแตกหักระหว่าง “สายพระ” กับ “สายผี” จบลงด้วยการที่ “เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน” เข้ามาพิพากษา ดังปรากฏต่อมาว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัส วัดที่นายสังข์กับแม่มดจ่ายสร้างนั้นไม่สมเกียรติยศเจ้าจอมแว่น จะสร้างพระราชทานใหม่ จากนั้นรัชกาลที่ ๑ ได้พระราชทานนามวัดตามเหตุที่ขุดเจอหอยสังข์และพระกัจจายน์ว่า “วัดสังข์กระจาย”

แม้มีเรื่องเล่าของหอยสังข์กับพระกัจจายน์ที่ขุดได้มาใช้เป็นชื่อวัด แต่ถึงกระนั้นพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว เรายังเห็นเค้าเงาของนาม “นายสังข์ (สายพระ)” กับ “แม่มดจ่าย (สายผี)” เข้ามาสังฆกรรมร่วมกันอยู่ในการก่อร่างสร้างเริ่มวัดสังข์กระจายอย่างเด่นชัด 

ประมาณ ๒๔๐ ปีก่อน สมัยรัชกาลที่ ๑ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งแผ่นดินใหม่ เป็นอันจบเหตุสองขั้วทั้งการร่วมมือร่วมใจกับการวิวาทขัดแย้งระหว่างสถาบันพระกับสถาบันผี ลงด้วยวิธีจัดการของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในตำนานการก่อสร้างวัดสังข์กระจายเสมือนภาพเงาสะท้อนให้เห็นโครงสร้างสังคมพุทธ-ผี ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้า-ไพร่ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จากวิถีแม่มดในสังคมพุทธไทยที่หยั่งรากลึกมั่นคงอย่างที่สุดตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีของการสืบเนื่องจากพระราชอาณาจักรสยามมาถึงรัฐไทยปัจจุบัน

Image

จิตรกรรมพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ครูช่างเมืองเพชรบุรีวาดพระมาลัยไว้งามสุดที่เคยเห็นมา อายุเวลาประมาณปลายรัชกาลที่ ๔ ต้นรัชกาลที่ ๕  ผนังโบสถ์วัดธ่อ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

“ภาพแสดงโทษคนลงแม่มด” ปรากฏอยู่ในสมุดไทย แผนที่ภาพไตรภูมิฉบับวัดควนมะพร้าว บุดขาวจากเมืองพัทลุง บอกเล่าถึงคนลงแม่มด (มีพลังแม่มด, เข้าทรงแม่มด) ต้องตกนรกทุกข์ทนอยู่ ๘ หมื่นปี  ภาพแม่มดในจิตรกรรมสมุดไทยชาวบ้านทางพุทธศาสนานี้ เขียนแสดงรูปเงาแม่มดถูกทิ่มเสียบอกทำร้ายไว้ในลักษณะตัวเป็นคน หัวเป็นควาย และยังเป็นควายตัวเมียอีกด้วยแน่ะ !  ในโลกของชาวบ้านไทย-มดมีแต่ผู้หญิง ส่วนในโลกของพุทธศาสนาภาคไตรภูมิ รูปวิญญาณของแม่มดได้ถูกจัดให้เป็นสัตว์-ไม่ใช่มนุษย์ และอยู่รวมในสมุดไทย ภาคส่วนของนรก การลงโทษในนรก 

ภาพจากหนังสือ วรรณกรรมทักษิณ : วรรณกรรมคัดสรรเล่ม ๑, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปี ๒๕๔๘

๒. แม่มดไทย
มีมาตั้งแต่เมื่อใด

ตั้งแต่ดิฉันสืบค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องแม่มดในเอกสารไทยมาตลอด ๒๐ กว่าปี จนถึงบัดนี้ดิฉันได้พบเอกสารการปรากฏโฉมของกลุ่มคนใช้เวทมนตร์คาถาพลังทางจิตวิญญาณเก่าแก่สุดที่ถูกเรียกว่า “แม่มด” อยู่ใน กฎหมายตราสามดวง ภาคส่วนของพระอายการเบดเสรจ ซึ่งกฎหมายส่วนที่กล่าวถึงแม่มดนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา

ที่ดิฉันรู้อายุเวลานี้ได้ เพราะได้ขอร้องคุณพ่อดิฉัน-ศาสตรา-ภิชานล้อม เพ็งแก้ว ให้ช่วยตรวจสอบหน่อยว่า ช่วงเวลา 

“กระษัตรทรงพระราชบัญญัติจัดออกแต่คำภีร์พระธรรมสาตร เปนบทมาตราสืบ ๆ มาดั่งนี้

ศุภมัศดุ ๑๑๔๖ ศกมแมนักสัตวเจตมาศปัญจมีดิถีรวิวาร” ตรงกับวันเดือนปีใด

คุณพ่อดิฉันได้ตรวจสอบและบอกว่า ข้อความข้างต้นระบุถึงคัมภีร์พระธรรมสาตรภาคส่วนเกี่ยวเนื่องกับแม่มด ตราขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๑๗๗๘  นับเป็นเวลา ๑๑๕ ปีก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา (กรุงศรีอยุธยาก่อตั้งเมื่อปี ๑๘๙๓) โดย “กฎหมายพระอายการเบดเสรจ” ในส่วนนี้ระบุถึงเรื่องของ “แม่มด” ไว้ว่า

“๑๔๗ มาตราหนึ่ง หญิงก็ดีชายก็ดีเปนชู้เมียกัน หญิงจะใคร่ให้ชายนั้นรักให้แม่มดพ่อหมอกระทำมนต์ ดน มกรูดส้มป่อยสรรพการเสน่ห์ดั่งนั้น ท่านว่าหญิงทำแต่จะให้ชายรัก ชายทำแต่จะให้หญิงรัก หวังจะให้เปนประโยชน์จำเริญแก่ตัวสืบไป แม้นชายก็ดี แม้นหญิงก็ดี เคราะห์ร้าย หากไข้เจบตาย จะใส่โทษแม่มดพ่อหมอนั้นมิได้เลย เป็นกำมแก่ผู้ตายนั้น เทวดายังรู้จุติ มนุษหฤาจะอยู่ได้”

นอกจากนี้ดิฉันยังตรวจสอบพบอีกว่า ใน กฎหมายตราสามดวง ภาคส่วนพระไอยการลักษณภญาน (เขียนไว้เมื่อปี ๑๘๙๔ หลังก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ๑ ปี) กล่าวถึงแม่มดไว้ด้วย โดยระบุถึงคนที่นำมาอ้างเป็นพยานศาลไม่ได้อย่างเด็ดขาด มี ๓๓ จำพวก ที่ประหลาดหลากหลายดูจะมีอยู่มาก บางส่วนในนั้นก็เช่น หญิงแพศยา, หญิงมีครรภ์, เด็ก ๗ เข้า, เฒ่า ๗๐, คนเป็นกะเทย, คนเปนพิกลจริต, ช่างเกือก, คนปะมง, คนเปนโจร, คนโทโสมาก ฯลฯ

หากที่สำคัญในส่วนนี้คือ “คนเป็นพ่อมด คนเป็นแม่มด จะเอามาเป็นพยานศาลไม่ได้”

นอกจากนี้ใน กฎหมายตราสามดวง ในส่วนของพระราชกำหนดใหม่ อายุเวลา จ.ศ. ๑๑๔๔ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๕ ปีเดียวกับการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงแม่มดไว้อีกด้วย ดังข้อความที่ว่า

“แต่ซึ่งสารเทพารักษา อันเอาไม้ทำเปนเพศบุรุษลึงใหญ่น้อยต่าง ๆ หญิงชายชวนกันนับถือนั้น ทรงพระกรุณาให้นักปราชราชบันฑิตยค้นดูในพระไตรยปิฎกก็มิได้มีหย่าง ให้สืบถามดูหย่างทำเนียมในพระนครราชธานีต่าง ๆ ก็มิได้มีเยี่ยงหย่าง จึ่งทรงพระวิจารณเหนว่าแรกเหตุนี้จะมีมาเพราะคนพาลักขะละหยาบช้า แซ่งกระทำเพศอันนี้เยาะเย้ยหญิงแม่มดอันมีมารยาหาความลอายมิได้เปนเดิม”

ดังนั้นใน กฎหมายตราสามดวง จึงกล่าวถึงแม่มดเอาไว้ตั้งแต่ใน “พระอายการเบดเสรจ” ส่วนที่เขียนขึ้นในปี ๑๗๗๘, “พระไอยการลักษณภญาน” เขียนขึ้นเมื่อปี ๑๘๙๔ และ “พระราชกำหนดใหม่” เขียนขึ้นในปี ๒๓๒๕ โดยในพระไอยการลักษณภญานระบุกำกับไว้ชัดเจนว่า “คนเป็น ‘แม่มด, พ่อมด’ เอาไปเป็นพยานศาลไม่ได้” ซึ่งก็ตรงกับสำนวน “โป้ปดมดเท็จ” ที่ตกทอดมาแต่โบราณให้ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อันหมายถึงคำพูดต่าง ๆ ของแม่มดนั้นต้องระวังไว้ด้วย ว่ากันตรง ๆ ชัด ๆ ก็คือ แม่มดเป็นคนประเภท “มีมารยาหาความลอายมิได้” พวกหล่อนสามารถ “สร้างเรื่อง” ขึ้นมาได้ โดยคนปรกติทั่วไปยากจะตรวจสอบได้ว่าจริงหรือเท็จ ซึ่งอันนี้เองคือจุดบอด จุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนทรงที่เรียกว่า “แม่มด”

ทั้งหมดที่ดิฉันไปสืบค้นมานี้ก็ค่อย ๆ แซะเข้าไปทีละน้อยจนพบแล้วว่า มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึง “แม่มด” คนทรง คนติดต่อกับพลัง มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา เก่าที่สุดก็ตั้งแต่ปี ๑๗๗๘ หรือประมาณ ๗๘๗ ปีมาแล้ว

Image

รำผีมดของ “มด” เมืองเพชรฯ ในเขตบ้านเพรียง ในวัฒนธรรมชาวบ้านไทยภาคกลางครั้งอดีต ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถเป็น “มด” ผู้สื่อสารกับพลังลึกลับ

๓. แม่มดในคัมภีร์
ทางพุทธศาสนา

ก่อนการเกิดขึ้นของศาสนาหลัก สังคมมนุษย์โลกดำรงอยู่ด้วยความเชื่อศรัทธาทางจิตวิญญาณ สื่อสารกับพลังปัญญาธรรมชาติ ด้วยการใช้จิตหยั่งถึงโดยตรง (intuition) เรียนรู้
รับความรู้ สั่งสมเป็นประสบการณ์ เป็นองค์ความรู้นำมาใช้ใน
ทุกมิติของชีวิต สนองตอบเริ่มต้นตั้งแต่ปัจจัย ๔ ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค 

พลังปัญญาธรรมชาตินี้ มนุษย์เข้าใจในนามของ god deva ทวยเทพ เทวดา เทวนารี พระภูมิเจ้าที่ ภูตผี รุกขเทวา แม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ เจ้าปู่ เจ้าแม่ ฯลฯ นานาสารพัดชื่อ เป็นความเชื่อ animism ที่มีมาก่อนกำเนิดของศาสนาฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม  เป็นศาสนาพื้นบ้านซึ่งทางโลกตะวันตกเรียกว่าลัทธิ Paganism คือมนุษย์บางคนสามารถใช้ “พลังจิต” เป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างคนในชุมชนกับพลังที่ถูกขานนามว่าทวยเทพ

กลุ่มมนุษย์ผู้ทำหน้าที่เช่นนี้โดยหลักก็คือ “แม่มด” “คนทรง” และยังมีหมอยา ครูช่างในสาขาต่าง ๆ คนปฏิบัติภาวนา นักบวชนานาลัทธิก็ด้วย

แม่มด คนทรง จึงมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทุกชนเผ่าเนื่องด้วยทุกแห่งหน ทุกยุคสมัยของโลก มี “พลัง” มี “เทพ” มี “ผี” และมีคนที่เกิดมาเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์ทั่วไปกับพลังงานของทวยเทพ  “ชะตากำเนิด” ของ
พวกเขากำหนดให้มีคนเกิดมาทำหน้าที่นี้ (จะอธิบายเรื่องนี้ในลำดับต่อไป) โลกจึงมีแม่มดมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของมนุษย์

ในพุทธศาสนาปรากฏเรื่องของแม่มดอยู่ในหลากหลายคัมภีร์ ที่ดิฉันอ่านพบและบันทึกไว้มีตัวอย่างดังนี้

แม่มดในพระไตรปิฎก
ใน พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค “มังคุลิตถีสูตร” มีเรื่องของแม่มดที่ท่าน พระมหาโมคคัลลานะได้พบตอนลงจากภูเขาคิชฌกูฏ แม่มดที่พระองค์ท่านแลเห็นดูน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ดังนี้

“ท่าน เมื่อกระผมลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นมังคุลิเปรตกลิ่นเหม็นเพศหญิงลอยขึ้นสู่กลางอากาศ ฝูงแร้ง นกกา นกเหยี่ยวพากันโฉบอยู่ขวักไขว่จิกทึ้งยื้อแย่งเปรตนั้น สะบัดไปมาจนมันร้องครวญคราง ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย เปรตหญิงตนนั้นเคยเป็นแม่มดในกรุงราชคฤห์”

ใน “อรรถกถามังคุลิตถีสูตร” ได้ขยายความถึงนางแม่มดแร้งทึ้งมีร่างเน่าเหม็นเป็นที่รังเกียจ เหตุเพราะนางหลอกลวงผู้คนหาประโยชน์ใส่ตัว ทำให้ผู้คนเห็นชั่วเห็นผิด

“ในเรื่องหญิงมีกลิ่นเหม็น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ บทว่า มงฺคุฬี ได้แก่มีรูปแปลก ไม่น่าดู น่ารังเกียจ. ได้ยินว่า เธอเป็นหญิงแม่มดกระทำกรรมของหญิงผู้เป็นทาสียักษ์ เที่ยวประกาศว่าเมื่อคนนี้ ๆ ทำพลีกรรมอย่างนี้ พวกท่านทั้งหลายจักเจริญอย่างนี้ ดังนี้  แล้วลวงถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นของมหาชน ให้มหาชนมีความเห็นชั่วเห็นผิด. เพราะฉะนั้น เธอจึงมีส่วนเท่ากับกรรมนั้น เธอจึงมีกลิ่นเหม็น เหตุขโมยของหอมและดอกไม้เป็นต้น เธอเกิดมีรูปไม่น่าดู แปลกประหลาด น่ารังเกียจ เหตุให้เขาถือความเห็นชั่ว”

สภาพหญิงแม่มดใน พระไตรปิฎก มังคุลิตถีสูตร บ่งชัด ในคัมภีร์พุทธศาสนาหญิงแม่มดได้ถูกติดป้ายไว้แล้วว่ามากับความหลอกลวง ตายแล้วพวกหล่อนต้องกลายเป็นผีเปรต เนื้อตัวเน่าเหม็น ให้แร้งรุมทึ้ง

หญิงแม่มดจึงเสมอด้วยสัตว์ในนรก เปรตในนรก ในโลกของคัมภีร์พุทธ

Image

ยายเฒ่ามดลาวโซ่ง ช่วงทำพิธีเสนเรือน ถ่ายภาพมาเมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน

แม่มดในพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ย่อแลสมุดมาลัย

ยังมีการกล่าวถึงแม่มดอย่างลงรายละเอียดมาก ๆ ปรากฏอยู่ในหนังสือ พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ย่อแลสมุดมาลัย ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา ฉบับที่ดิฉันตรวจสอบคัดลอกมาพิมพ์ขึ้นเมื่อปี ๒๔๕๔ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๖

เนื้อหาในหนังสือ พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ย่อแลสมุดมาลัย ภาคส่วนของสมุดมาลัย กล่าวถึงพระมาลัยผู้สามารถเสด็จไปได้
ทั้งนรกและสวรรค์ โดยมีเรื่องยืดยาวเล่าถึงคนต้องรับกรรม
เกิดเป็นเปรต ฝีหนองยุ่ยเปื่อยเหม็นเน่าทุกส่วนสังขาร ต้องแกะหนองฝีตนเองดูดจ๊วบ ๆ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงเลือดเนื้อ (นางเปรตในสมุดมาลัยน่าจะสืบเนื่องต้นรากมาจากมังคุลิตถีสูตรใน พระไตรปิฎก)  เนื่องด้วยในช่วงมีชีวิต เหล่า ๆ คุณเธอประพฤติตนเป็นแม่มด หญิงอัปรีย์ คนนอกเส้นทางพระพุทธ

ดิฉันอ่านแล้วยังต้องยกแขนตัวเองขึ้นดม ๆ พิสูจน์กลิ่น ไอ๊หยา...นี่ฉันกับน้อง ๆ กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานทางจิตวิญญาณ มิเน่าไปทั้งตัวแล้วหรือกู !

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เรื่องของแม่มดที่ดิฉันตรวจสอบมาจึงมีในสามประเด็น คือ

๑. หญิงแม่มดทำชั่วอัปรีย์ หลอกลวงฉ้อฉล จะไปเกิดเป็นเปรต ร่างกายเน่าเหม็นสะอิดสะเอียน แร้งการุมทึ้งแผลฝีไม่เลิกรา

๒. คนเชื่อแม่มดจะบังเกิดเป็นลักษณาการต่าง ๆ กึ่งสัตว์กึ่งคน อยู่อย่างลำบากน่าเกลียดดั่งอสุรกาย ศพซาก

๓. คนตื่นตกใจกลัวตัวสั่นผิดปรกติ แม้หญิงสูงศักดิ์อย่างนางมัทรีก็ตัวสั่นระรัว หลุดจากสภาพปรกติไปเป็นเหมือนแม่มดได้

ภาพลักษณ์แม่มดในคัมภีร์พุทธศาสนาจึงมีลักษณะของผีเปรต กึ่งสัตว์กึ่งคน รวมถึงอาการผิดปรกติ ผิดสำแดงหลุดโลก ที่มนุษย์ธรรมดาสูงศักดิ์เขาไม่เป็นกัน

๔. แม่มดในวรรณคดีไทย

ความที่แม่มดดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านสุวรรณภูมิมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อดิฉันเริ่มตรวจสอบค้นหาเรื่องของแม่มด จึงพบหลักฐานกระจัดกระจายอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ จำนวนมาก และแต่ละเรื่องบ่งชี้ถึงหน้าที่หลักของแม่มดในหลายลักษณะดังนี้

ยายมดใช้อาคมให้ผู้ว่าจ้างสมปรารถนา
สมัยต้นอยุธยา ดิฉันพบการกล่าวถึง “มด” อันหมายถึงแม่มดปรากฏโฉมอยู่ในวรรณนิพนธ์ ลิลิตพระลอ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ประมาณปี ๑๙๙๑-๒๐๒๖)

“มด” ในเรื่องนี้หมายถึงผู้หญิงที่สามารถใช้จิตหยั่งถึงความจริงโดยตรง ทำหน้าที่ลี้ลับ ทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นหลักก็ว่าได้ เรื่องราวที่เกี่ยวกับมดคือ ครั้งเมื่อพระเพื่อนพี่พระแพงน้องได้สดับคำร่ำลือถึงรูปโฉมของพระลอจนเกิดอาการหน้ามืดคลั่งรัก เพ้อละเมอครวญคร่ำ นางรื่นกับนางโรยพระพี่เลี้ยงรับอาสาไปติดต่อหา “ยายมด” มาทำเสน่ห์ให้พระลอหลงรักเจ้านายของตน แต่ยายมดปฏิเสธ อ้างว่าที่เคยทำเสน่ห์มา มีแต่ทำใส่สามัญชน ยายมดไม่เคยและไม่หาญกล้าไปทำเสน่ห์ใส่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน  ว่าแล้วยายมดก็แนะนำให้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย ผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้ากว่าตน 

ความใน ลิลิตพระลอ ตั้งแต่ต้นสมัยอยุธยากล่าวชัด ยายมดเป็นคนทำเสน่ห์ใช้เวทมนตร์อาคม เรื่องน่าสังเกตก็คือ ยายมดใน ลิลิตพระลอ ดูจะมีความประมาณตน นางบอกว่าทำเสน่ห์ให้ได้แต่กับชาวบ้าน ชนชั้นล่าง ไม่กล้ายุ่งกับชนชั้นเจ้าคงกลัวหัวกุดเอาง่าย ๆ จึงแนะนำนางรื่นนางโรยให้ไปหาปู่เจ้าสมิงพรายแทน

มด หมอ ผี คือที่พึ่ง
มาถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๓ มหากวีสุนทรภู่ก็กล่าวถึงแม่มดไว้ด้วยเช่นกัน ปรากฏหลักฐานอยู่ใน นิราศ
พระประธม ดังความว่า

“ที่ท้ายบ้านศาลจ้าวของชาวบ้าน บวงสรวงศาลจ้าวผีบายศรีตั้ง เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย ซึ่งคำปดมดท้าวว่าจ้าวช่วย ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย อันจ้าวผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย ถือจ้าวนายที่ได้พึ่งจึงจะดี แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา ไม่มีจ้าวนายจึงต้องพึ่งผี เหมือนถือเพื่อนเฟือนหลงว่าทรงดี ไม่สู้พี่ได้แล้วเจ้าแก้วตา”

ความข้างต้นมีความหมายว่า คนเราหากมีเจ้านายหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์เป็นที่พึ่งนั้นดีสุด แต่คนบ้านนอกคอกนาห่างไกล ไม่มีเจ้านายให้พึ่ง ก็ต้องพึ่งผี ด้วยการเลี้ยงผี กราบบูชาคนทรงเจ้าเข้าผี พึ่งพิงมดหมอ จนถูกคนทรงมดหมอใช้ “คำปดมดท้าว” อันมีความหมายเดียวกับ “โป้ปดมดเท็จ” นาง (แม่) มดใช้ความเท็จหลอกลวงหาประโยชน์จากคนลุ่มหลง ความข้อนี้ของ นิราศพระประธม ได้ช่วยยืนยันว่า ยายเฒ่ามดมีความสามารถสูงยิ่งในการโกหก สร้างเรื่อง ใช้คำโป้ปด ชนิดที่สุนทรภู่พบสภาพนี้แล้วทำได้เพียง “ปลงจิตอนิจจัง” ยุคโบราณผู้คนเคยระวังเรื่องนี้มา ทั้งยังตักเตือนไว้ด้วยสำนวนไทยที่ใช้กันแพร่หลายมาจนปัจจุบัน

Image

รูปเคารพ เจ้าหญิง เจ้าแม่ เจ้าพ่อ ปู่ตา ตามศาลต่างๆ พบทั่วทุกหมู่บ้านของชาวบ้านไทย

สำหรับการพึ่งผี พึ่งมดหมอคนทรงใน นิราศพระประธม บอกชัด นี้คือความเป็นจริงในยุคมหากวีสุนทรภู่ แล้วยังต่อเนื่องมาถึงยุคนี้ด้วย  สำหรับชาวบ้านทั่วไป การเข้าวัดเป็นการทำบุญ สะสมบุญ อุทิศกุศลให้คนรัก หมาแมวส่ำสัตว์แสนรักที่ตายจาก แต่พุทธแท้และอุดมคติไปถึงพระนิพพานไม่ใช่ที่พึ่ง การปฏิบัติสมาธิภาวนาทางพุทธศาสนาไม่ใช่ที่พึ่งของชาวบ้านไทย 

ที่พึ่งพิงหลักดังที่เป็นมาตลอดหลายร้อยปีคือผี โดยมีแม่มด หมอทรงเป็นสื่อกลาง ถ้าจะพึ่งพุทธก็คือไปขอตะกรุดเครื่องรางของขลัง ขอหยูกยาสมุนไพรจากหลวงพ่อหลวงปู่ หรือให้หลวงพ่อหลวงปู่ดูหมอให้ ทำพิธีไล่ผี ต่ออายุ สะเดาะเคราะห์  ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของภูตผี ไสยศาสตร์ เสียมากไม่ใช่เรื่องการบำเพ็ญภาวนาเพื่อบรรลุนิพพาน

แม้การบรรลุนิพพานจะเคยเป็นอุดมคติของชาวบ้าน ไพร่ เจ้า ชนทุกชั้นในสังคมไทยช่วงก่อนเปิดประเทศรับวัฒนธรรมฝรั่งตะวันตก หากเส้นทางไปนิพพานของชาวบ้านไทยในอดีตนั้นกำกับมาด้วยเรื่องของ “ผี” ของมด ของหมอ แทบจะล้วน ๆ ก็ว่าได้

แม่มดกับการเกิด

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังมีวรรณคดีที่บันทึกเรื่องราวชาวบ้านไทยไว้เพียบพร้อมบริบูรณ์ที่สุดคือ ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเล่าถึงแม่มดไว้หลายตอน ตั้งแต่ต้นเรื่องแม่มดก็เผยโฉมออกมาชัดเจนในฉากการคลอดลูก ให้เราได้เห็นภาพตัวตนของแม่มดเป็นผู้เป็นคนเหมือนจะจับต้องได้ ดังที่กล่าวถึงนางศรีประจันแม่นางวันทองว่าตอนจะคลอดลูกนั้น เธอมีอาการ

“เจ็บรนก็พ้นที่จะกลั้น ลุกขึ้นถีบยันจะคลอดเคลื่อนกลิ้งเกลือกเสือกร้องก้องทั้งเรือน จิตประหวั่นฟั่นเฟือนไม่สมประดี  ปู่ย่าตายายทั้งพ่อแม่ หมอตำแยแม่มดที่ถือผี ต่างมาพร้อมกันในทันที พี่ป้าน้าอาที่ข้าไท”

ถึงยุคนี้คนรุ่นปัจจุบันคงงงไม่เสร็จว่า ในการคลอดลูก ทำไมหมอตำแยจะต้องมีแม่มดติดตามไปด้วย คนรุ่นเราเข้าใจไม่ได้ คนละโลกกันไปแล้ว

ดิฉันได้ถามพ่อ-อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ถึงเรื่องนี้  พ่อบอกว่าเวลาคลอดลูก หมอตำแยต้องพาแม่มดไปด้วย เพราะเป็นคนรู้ทางใน รู้ว่าถึงเวลาคลอดลูกหรือยัง จะเกิดอันตรายกับแม่และลูกหรือไม่ ซึ่งแม่มดรู้ได้ด้วยการเข้าทรง หรือหยั่งรู้ด้วยจิต คนอื่นไม่รู้ หากมีแม่มดอยู่ใกล้ ๆ ก็พามาช่วยกัน ถ้าไม่มี-หมอตำแยก็จัดการคนเดียว

เรื่องของหมอตำแยต้องไปจัดการหญิงคลอดลูกพร้อมแม่มด เป็นเรื่องปรกติที่โลกโบราณต้องเป็น ต้องมี ต้องทำ อย่างเคร่งครัดก็ว่าได้  ดิฉันพบหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ประถมจินดา ในงานชุด ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นตำราการแพทย์ของไทยและตำราสมุนไพรพื้นบ้าน

คัมภีร์ประถมจินดาเดิมอยู่ในตำรับอายุรเวท มีมาตั้งแต่สมัยตักสิลารุ่งเรืองในอินเดีย ยาวนานกว่า ๕,๐๐๐ ปี  ก่อนพุทธกาลสำนักตักสิลาก็เจริญมาแล้ว ดังนั้นคัมภีร์ประถมจินดาจึงเก่าแก่มาก และเข้ามาในแผ่นดินสุวรรณภูมิพร้อมพราหมณ์อินเดีย ตั้งแต่ก่อนยุคทวารวดีด้วยซ้ำ คือมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี  บัดนี้คัมภีร์ประถมจินดาฉบับหลวงของไทยเหลืออยู่ ๑๑ เล่ม ชวนอ่านยิ่ง ๆ  ดิฉันได้ตรวจสอบและนั่งอ่านไปเรื่อย ๆ พออ่านถึงเล่ม ๓ ก็พบเรื่องที่ตัวเองเสาะหา มีเนื้อความดังนี้

“พระอาจาริยเจ้าท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าแพทยผู้ใดก็ดี หมอตำแยแม่มดผู้ใดก็ดี  แลจะถือครรภ์ให้กุมารคลอดไปเบื้องหน้านั้น ให้บูชาบวงสรวงพระมหาเถรตำแยก่อน จึ่งประสิทธิทุกประการ”

ข้อความในคัมภีร์ประถมจินดาเป็นหลักฐานชี้ชัด แม่มดได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหมอตำแย ร่วมกันทำหน้าที่กำกับการคลอดลูกมานับพัน ๆ ปีแล้ว  หน้าที่นี้ทำให้ครั้งอดีต การเป็นและการดำรงอยู่ของ “แม่มด” ในสังคมไทยแข็งแรงมั่นคงมาก เพราะคนเราไม่ว่าจะชั้นสูง ชั้นต่ำ เจ้า ไพร่ ภิกษุ นางชี ชีปะขาว ทาส ทาสี ทุกคนล้วนออกจากท้องแม่ แต่ละคนยังมีผัว มีเมีย ตั้งท้องคลอดลูก ไพร่เจ้าแทบทุกคน ถ้าไม่ไปลูกหลุดกลางตลาดเหมือนลูกแมวลูกหมา ทุกผู้คนที่ออกจากครรภ์มารดาล้วนผ่านมือแม่มดแทบทั้งสิ้น นี้คือความจริงของสถาบันแม่มดที่คนยุคนี้ลืมเลือนไปหมดสิ้น

ต้นไม้ใหญ่ริมทางสามแพร่ง มีคนเอาชุดไทยไปสักการะนางไม้ เห็นอยู่บ่อยครั้งตามต้นไม้ใหญ่ริมนา ริมหมู่บ้านชนบทไทย

แม่มดรักษาอาการป่วยไข้

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปรากฏเรื่องของแม่มดอยู่ใน โคลงโลกนิติ สุภาษิตเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  นักปราชญ์สมัยอยุธยาได้รวบรวมสุภาษิตภาษาบาลีและสันสกฤตในคัมภีร์ต่าง ๆ ของอินเดีย คือ คัมภีร์โลกนิติ คัมภีร์โลกนัย ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบท มาแปลเป็นภาษาไทย แต่งเป็นคำโคลง รวมเรียกว่า โคลงโลกนิติ

เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในปี ๒๓๗๔ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จารึก โคลงโลกนิติ ลงแผ่นหินในวัดพระเชตุพนฯ ไว้เป็นธรรมทาน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร รวบรวม โคลงโลกนิติ ของเก่ามาสอบชำระแก้ไขใหม่ ให้ประณีต เรียบร้อย บริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติของประชาชนต่อไป

ใน โคลงโลกนิติ ที่กรมพระยาเดชาดิศรสอบชำระแก้ไขรวบรวมไว้ มีสุภาษิตเกี่ยวกับแม่มดวินิจฉัยรักษาไข้ผู้คน ด้วยเหตุแห่ง “ผีทำ” ดังนี้

หมอแพทย์ทายว่าไข้ ลมคุม
โหรว่าเคราะห์แรงรุม โทษให้
แม่มดว่าผีกุม ทำโทษ
ปราชญ์ว่ากรรมเองไซร้ ก่อสร้างมาเอง ฯ

สุภาษิตข้างต้นบ่งบอกถึงคนต่างวิชาชีพย่อมวินิจฉัยเหตุต่าง ๆ ตามประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญของตน เมื่อพบคนป่วย หมอยาจะบอกว่าเนื่องเพราะเลือดลมไม่ปรกติ, หมอดูโหราจารย์บอกว่าเป็นเพราะเคราะห์ร้ายถามหา, ส่วนแม่มดก็บอกว่าถูกภูตผีทำโทษในความผิดที่ไปก่อไว้, สำหรับนักปราชญ์ราชบัณฑิตจะระบุว่า คือวิบากที่ต้องรับจากกรรม
ที่ทำไว้

โคลงโลกนิติ มีที่มาจากสุภาษิตอินเดีย นี้เป็นหลักฐานว่าอินเดียก็มีแม่มดมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล และแม่มดก็ทำหน้าที่ดูแลคนป่วยไข้  ในแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ แม่มดก็ทำหน้าที่รักษาคนป่วยด้วยเช่นกัน สุภาษิตใน โคลงโลกนิติ จึงคุ้นเคยแพร่หลายในหมู่คนไทยมาตั้งแต่ยุคอยุธยา

แม่มดหาของหาย

หน้าที่สำคัญของแม่มดอีกประการหนึ่งคือค้นหาของหาย

ดิฉันพบข้อมูลนี้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ พระนิพพานโสตร เขียนขึ้นสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เล่าเรื่องการค้นหาตำแหน่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุในพระบรมธาตุ ขยายความไทยเป็นไทยก็คือ ตามหาว่ากระดูกพระพุทธเจ้าถูกฝังบรรจุไว้ตรงไหน  นี้เป็นหลักฐานยืนยันชัดว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่ ๑๐๐ กว่าปีก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ทำหน้าที่สื่อสารกับพลังเหนือธรรมชาติเพื่อค้นหาของหาย หลัก ๆ คือ “ผู้หญิง” โดยเฉพาะหญิงชราที่โบราณไทยเรียกว่ายายมด

วิถีของแม่มด-ยายมด คงเป็นวิชาชีพที่แพร่หลายเป็นปรกติในโลกโบราณ เพราะเมื่อพระเจ้าธรรมโศกราช เจ้ากรุงอินทปัต ตัวละครหลักใน พระนิพพานโสตร ประกาศหาคนมาสืบค้นกระดูกของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตัวยายมดมามิใช่เพียงคนสองคน หากควานหามาได้กลาดเกลื่อนทั่วทั้งเมือง ดังที่พระองค์ “มีบัญชาแก่เสนี” อย่างชัดแจ้งเด็ดขาด ดังนี้

“ว่าสูจงเร่งไป สถานใดยายมดมี รู้เวทวิเศษดี ดูนาทีฤกษ์เพลา เอามาให้จงได้ สูทั้งหลายอุเบกษา จะให้ทายเพลา เราจะหาเอาที่ดี”

ครั้นเสนีเสนารับราชโองการแล้ว ก็เกิดกระบวนการตามล่าหายายมด ลากตัวคร่าตัวกันอุตลุดชนิดที่

“สงสารแต่ยายมด แก่ค้อมคดเป็นอัปรา เขาเกาะจำเพาะมา เฒ่าอุตส่าห์มาเดินไป เหนื่อยพักหอบห้อแห้ ด้วยแรงแก่ค่อยคลาไคล อ้าปากหยุดหายใจ ยกมือไหว้นายเสนี นายเอ้ยได้เห็นดู หยุดสักครู่นั่งที่นี่ ถ้าประทานสิ่งไรมี ยายจะให้แก่เจ้าหลาน เสนีว่ามิได้ ยายจะให้กลัวโองการ อุตส่าห์ไม้เท้าคลาน หยุดช้านานกลัวความตาย”

สำหรับเหล่ายายมดประจำเมืองอินทปัตมีใครกันบ้างนั้น วรรณกรรมเรื่องนี้ก็แจกแจงไว้อย่างละเอียดว่า

“ได้มายายมดยศ เขาปรากฏยิ่งทั้งหลาย คนหนึ่งยายมดสาย เฒ่าเคยทายได้รางวัล เขาลือเล่าปรากฏ ตนยายดีกระหยัน สิ่งใดใครฝังนั้น ลงไว้ยังปฐพี เงินทองของฝังไว้ ช้านานได้เป็นหลายปี ตนเง้าดูแต่ละที แต่ละคราได้ประทาน สิ่งนี้แลยายเฒ่า จึงท่านท้าวมีโองการ เร่งเดินอย่าช้านาน เบื้องหน้าท่านยายจะได้ดี ได้มายายมดหู แกคนรู้ดูสิ้นที คนหนึ่งยายมดมี ยอมตัวดีเคยทักทาย ได้มายายมดอิน ปากแหว่งวิ่นดูแยบคาย ยายจันขันแข็งได้ ถือภูตพรายผีมายา ได้มายายมดเกิด แกดีเลิศเป็นหนักหนา คิดเข้าแปดยายตรา เพราะเคยมาเชื่อภูตผี ยายมดทั้งหนุ่มแก่ มาอัดแอถึงภูมี กราบทูลมูลคดี รับสั่งว่าให้คุมอยู่...หมู่ยายมดทั้งหลาย เง้าแล้วทายฤกษ์นาที พร้อมกันว่าวันดี หมู่พราหมณ์ชีทูลทรงธรรม์”

นานายายมดดูจะมาอัดแน่นกันเต็มเมืองเพื่อทำพิธีเพ่งหาของ ด้วยวิธีใช้จิตหยั่งถึงโดยตรง (intuition) ตรวจสอบ ซึ่งมีคำศัพท์เฉพาะเรียกอากัปกิริยานี้ว่า “เง้า”

Image

สมุดไทยดำคัมภีร์ประถมจินดา กล่าวถึงหมอตำแยแม่มด คนสำคัญในการออกลูกของหญิงไทยเอาไว้อย่างชัดแจ้ง

การใช้พลังจิตเพ่งหาของหายที่มีคำศัพท์เฉพาะว่า “เง้า” นี้ เลือนหายจากสังคมไทยแล้ว เพราะไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาไทยเล่มใด ๆ อันหมายถึงว่าการ “เง้า” ได้เลิกทำไปนมนานจนไม่มีใครใช้ ไม่มีใครรู้จักวิธีการนี้กันอีก

วรรณกรรมศาสนา พระนิพพานโสตร มีบันทึกท้ายเล่มว่าเขียนจบเมื่อปี ๒๔๑๕ สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งช่วงนั้นเหล่า “ยายมด” น่าจะยังคงมีชีวิตทำหน้าที่แข็งขันอยู่ในหมู่สังคมชาวบ้าน จึงปรากฏหลักฐาน วิถีการเป็น-การใช้ ยายมดมากมายทั่วทุกหนแห่ง ไปชุมชนไหนก็นำตัวมาได้นับสิบคน ดังปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ฉบับนี้

เรื่องน่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งในกรณีของแม่มดก็คือ ทั้งในนิพพานโสตร, ขุนช้างขุนแผน, ลิลิตพระลอ ต่างบอกชัดถึงลักษณะยายมดเมืองไทยว่า เป็นหญิงแก่ มีความสามารถดูของหาย ทำเสน่ห์ รักษาไข้ ถอนอาคม ใช้อาคมได้นานาสารพัด และยังเก่งเรื่องดูดวง เรื่องคลอดลูก ยาสมุนไพรรักษาโรค อันหมายถึงว่าความรู้ในการใช้จิตหยั่งถึงโดยตรง (intuition) ไม่ได้มีแต่เฉพาะในผู้ชาย หมอยาชาย หรือพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้น สำนวนไทย วรรณกรรมเก่าของไทย ต่างยืนยันว่า เผ่าพันธุ์เพศหญิงคือผู้มีความรู้ความสามารถในการใช้พลังจิต อยู่ควบคู่มากับคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทุกเพศวัย ทั้งเจ้า ไพร่ ทาส ทาสี เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ดิฉันรวบรวมมาจากการลงทำงานกับคนเฒ่าชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาคไทยล้วนบ่งชี้ว่า คนทำหน้าที่ติดต่อกับพลังเหนือธรรมชาติ แต่เดิมนั้นมีผู้หญิงเป็นหลักสำคัญ

ในอดีตชาวบ้านไทยแบ่งพื้นที่ชัด “ผู้ชายเลี้ยงผี ผู้หญิงเข้าทรง” คนทรงในอดีตเป็นผู้หญิง เป็นแม่มดทั้งนั้น  ภาษาไทยมีคำเรียกผู้หญิงเข้าทรงว่า “มด” ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ทางพิธีกรรม เรียกกันว่า “หมอ”  ซึ่งผู้ชายที่มีความสามารถในการใช้พลังจิต ใช้ intuition มักไปเป็นครูหมอ ชีปะขาว นักบวช พระสงฆ์เกจิอาจารย์ เจ้าสำนักดาบ ตีอาวุธ และครูช่างทำงานศิลปะไทยต่าง ๆ

แต่ท้ายสุด ชาวบ้าน ผู้คน ยังต้องอาศัยผู้หญิงแม่มดจัดการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน รักษาคนป่วยไข้ หาของหาย ถอนอาคม ทำเสน่ห์ เป็นหลักสำคัญอยู่นั้นเอง

๕. เกิดเป็นแม่มด

เล่าเรื่องแม่มดมาหลากหลายแง่มุม คราวนี้ดิฉันขอลงลึกไปสู่กำเนิดแม่มด ใครกันเล่าที่จะออกจากท้องแม่มาเป็นแม่มดได้

ในโลกโบราณของไทยตอบคำถามนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ดังที่ดิฉันอ่านพบในสมุดไทย สมุดพระตำราฤกษ์บน, ตำราดูนิมิตและฤกษ์ยาม, คัมภีร์จักรทีปนี หลากหลายฉบับ และแทบทุกเล่มที่ค้นพบ ดิฉันเห็นว่าน่าจะคัดลอกต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะตรวจสอบแล้วในกลุ่มดาวประจำเมืองทั้ง ๒๗ กลุ่มไม่มีดาวประจำเมืองกรุงเทพฯ มีแต่ดาวโรหิณีดาวประจำกรุงศรีอยุธยา ส่วนดาวภรณีซึ่งเป็นดาวประจำเมืองกรุงเทพฯ นั้น ในสมุดไทยตำราดาวยังถูกจัดให้เป็นดาวประจำเมืองพุกาม

เรื่องของชะตากำเนิดสำคัญมาก มีบทบันทึกไว้ใน ตำราดูนิมิตและฤกษ์ยาม ว่า คนที่เกิดเมื่อลัคนาอยู่ในกลุ่มดาวสมโณฤกษ์จะมีความสามารถในการใช้พลังจิต

สมโณฤกษ์ หมายถึงฤกษ์ของความสุข ความสงบ นักบวช นักสอนศาสนา สิ่งลี้ลับ  สมโณฤกษ์เป็นฤกษ์กลุ่มใหญ่ อยู่ในสามราศี มีสามกลุ่มดาวนักษัตรที่สถิตสมโณฤกษ์ คือกลุ่มดาวอาสเลษา ดาวเชษฐา และดาวเรวดี

คนเกิดสมโณฤกษ์ก็คือ คนที่ตกฟากออกจากท้องแม่ เมื่อดาวฤกษ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มนี้คือดาวอาสเลษาในราศีกรกฎ ดาวเชษฐาในราศีพิจิก หรือดาวเรวดีในราศีมีน ขึ้นอยู่ริมขอบฟ้าตะวันออก

Image

ไหว้พระสะเดาะเคราะห์ในยุคปัจจุบัน ดูจะไม่ต่างอะไรจากไหว้เจ้าไหว้ผี พุทธศาสนาของไทยถูกค้ำชูมาด้วยมด หมอ เจ้า ผี แท้ๆ

บุคคลไหนออกจากท้องแม่ขณะที่ดาวหนึ่งในสามกลุ่มนี้ขึ้นริมขอบฟ้าตะวันออก จะมีดวงจิตสามารถเข้าถึงธรรมขั้นสูง เป็นผู้ชายถ้าเป็นนักบวชก็ได้ญาณขั้นสูง ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นนักบวชสตรี หรือมีพลังอำนาจทางจิตเป็นแม่มด

ดัง ตำราดูนิมิตและฤกษ์ยาม จากจังหวัดสงขลา กล่าวไว้ดังนี้

“อัศเลส ฤกษ์ ๙ ประจำเมืองจีน...ผู้ใดเกิดในฤกษ์นี้ ถ้าเป็นชีจะได้เป็นสังฆปรินายก ดำรงพระศาสนา บ่มิจะเป็นฤษีมุนี ถ้าเป็นหัต (คฤหัสถ์) จะได้เป็นเสมียนนักการแลหมอโหร ถ้าผู้หญิงจะได้เป็นเมียผู้ใหญ่ แลจะได้ชื่อเสียง แม้นถ่อยจะเป็นแม่มด

ส่วนใน ตำราฤกษ์บน จากห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ที่ดิฉันไปคัดลอกมาเมื่อปี ๒๕๓๙ มีข้อความว่า

“เชฏฐฤกษ์ ๑๘ ประจำเมืองกาสีกราช...ผู้ใดเกิดในฤกษ์นี้ ประกอบด้วยพระเคราะห์เป็นอุจจาวิลาสห้าตัว จะได้เป็นฤษีวิทยาธรเหาะไปทางอากาศทั้ง ๘ ทิศ ถ้าเป็น (บรร) พชิตจะได้เป็นปรินายกราชาคณะสงฆ์  ทรงพระไตรปิฎกทั้งปวง ถ้าตระกูลพราหมณ์จะรู้จบไตรเพท ผิว่ามีอุจจ์สามตัวจะเป็นฤษีดาบส ผิว่ามีอุจจ์สองตัวก็ดุจเดียวกันแล  จะเป็นชี ต่อเฒ่าแล้วจะทรงธรรมกถึก ถ้าเป็นคฤหัสถ์จะเป็นสมุห์เสมียนผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้หญิงจะได้เป็นมด แม่พระสงฆ์อันรู้ธรรมวินัยแล”

และใน คัมภีร์จักรทีปนีไทย ของพระอุตตมรามเถร กล่าวว่า

“๒๗ ฤกษ์เรวดี...ผู้ใดกำเนิดในฤกษ์นี้ และมีอุจแปดตัวถึงซึ่งนิพพาน ถ้าอุจจาวิลาสจะเป็นฤาษีมีฤทธิ อาจไปได้ในอากาศและบรรดารอบจักรวาลโดยเร็ว ถ้าเป็นชีจะเป็นสังฆปรินายก รู้จบพระไตรปิฎก สรรพทั้งหมดทุกประการ ถ้าอุจสองตัวจะเป็นนักบวชนักเรียนอุดม ถ้าหญิงจะได้เป็นแม่พระสงฆ์ โดยถอยลงมาจะได้เป็นแม่มด แต่มักเกิดทุกข์ยาก”

สิ่งสำคัญที่มองเห็นจากบททำนายนี้คือ คนสองเพศมีโอกาสไม่เท่ากัน มนุษย์ที่มีชะตากำเนิดให้สามารถใช้จิตหยั่งถึงความจริงโดยตรง ในพื้นที่สุวรรณภูมิ แผ่นดินประเทศไทยสำหรับผู้ชายยังมีช่องทางให้เป็นนักบวช ภิกษุ นักรบ โหราจารย์ แต่ผู้หญิงไม่มีโอกาสเช่นนั้น

ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่ดิฉันศึกษารวบรวมมา สถานภาพแม่มดในสังคมไทยพุทธดูกึ่งต่ำทรามพิกล พวกเธอจะถูกกวาดไปรวมในหมู่ผู้หญิงชั้นต่ำ ริมขอบสังคม เป็นพยานศาลก็ไม่ได้ เหมือนพวกกะเทย เด็กไม่รู้เรื่องอายุน้อยกว่า ๗ ขวบ แก่เฒ่าอายุเกิน ๗๐ จนฟั่นเฟือน อย่างที่ระบุไว้ในกฎหมายพระอายการเบดเสรจที่เขียนมาก่อนสมัยอยุธยา ดังที่กล่าวมาแล้ว

จึงเห็นได้ว่า หญิง “แม่มด” ในสังคมพุทธไทยตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ล้วนถูกจัดให้เป็นคนจำพวก “ถ่อย ๆ”, คน “ถอยลงมา” อย่างชัดแจ้ง

เมื่อพิจารณาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ คำตอบที่ดิฉันค้นพบคือ แต่เดิมผู้หญิงในสังคมไทยหนังสือก็อ่านไม่ออก จะไปเป็นนักบวชพระภิกษุก็บวชไม่ได้ โลกการเป็นพระ-เป็นโลกของผู้ชาย  ช่องทางเดียวที่จะใช้พลังความสามารถนี้ได้คือเป็นแม่มด ยายมด หมอดู ดูฤกษ์ยาม เป็นหมอยา หมอตำแย หมอผี ร่างทรง เป็นยายเฒ่ามด ช่วยให้ข้อคิดให้ความรู้ให้คำปรึกษา เป็นครูช่างทำงานต่าง ๆ ของผู้หญิง พวกงานทอผ้า งานฝีมือ งานจักสาน  คนเหล่านี้อยู่กันมาอย่างเข้มแข็ง มีอยู่ในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีอยู่ในกลุ่มคนทุกศาสนา พวกเธอสื่อสารกับผี กับธรรมชาติ ทำเช่นนี้ตลอดมาจากอดีตต่อเนื่องมาหลายหมื่นปี ตั้งแต่มีมนุษย์ผู้หญิงอุบัติขึ้นในโลก เป็นวิถีปรกติของผู้หญิงที่มีพลังจิต และยังทำกันอยู่ในโลกปัจจุบัน ทั้งจะมีอยู่ เป็นอยู่ ทำกันอยู่ ต่อไปในอนาคต ไม่มีวันหมดสิ้น ฆ่าเท่าไร กำจัดเท่าไร ไม่มีวันหมด

อีกประเด็นที่เห็นชัดจาก คัมภีร์ตำราดูนิมิต, ตำราฤกษ์บน, คัมภีร์จักรทีปนี ที่มีอายุเวลาตั้งแต่สมัยอยุธยาเหลือเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน ได้บอกเราชัดว่า การเป็นแม่มด ไม่ใช่เพียงมาจากสายตระกูลใดตระกูลหนึ่งสืบทอดกันมา หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งมีแม่มดอยู่แล้ว ก็ไปเรียนไปสืบต่อวิชา, แต่การเป็นแม่มดนั้น หนทางสำคัญมาก ๆ เป็นเรื่องของชะตากำเนิด

ข้อมูลนี้ดิฉันรับรู้มาตั้งแต่เริ่มศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และพบว่าตรงกับกรอบความคิดเดียวกันในโลกตะวันตกโบราณด้วย  ฝรั่งตะวันตกระบุไว้ว่า ผู้หญิงที่เป็นแม่มด ใช้จิตหยั่งถึงโดยตรงในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มีชื่อเรียกเฉพาะในสังคมสกอตแลนด์คือ fay woman นั้น พวกเธอมักเป็นผู้หญิงโสด ไม่มีลูก ส่วนผัวมีบ้างเลิกบ้าง ไม่ได้อยู่ด้วยกันยืดยาว

ผู้หญิงเหล่านี้ถูกกำหนดมาแล้วจากฤกษ์กำเนิด ให้เธอเกิดมาเป็นแม่มด

Image

ไม่มีเจ้าให้พึ่งก็ต้องพึ่งผี จิตรกรรมจากวัดพระแก้ว เขียนไว้ร่วม ๑๐๐ ปีมาแล้ว

๖. แม่มดกับวัชรยาน

ในมิติทางศาสนา การที่ผู้หญิงเป็นที่นับถือและมีบทบาททางจิตวิญญาณอย่างมากในแผ่นดินสยาม มีความเกี่ยวโยงแนบแน่นกับพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานด้วย

วัชรยานหมายถึงวิถีทางของวัชระ วัชระก็คือเพชร วัชระเป็นสัญลักษณ์ของความแน่วแน่มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหวประดุจเพชร

ลัทธิวัชรยานเป็นยานที่ลึกลับ คุรุแต่ละสำนักจะสั่งสอนศิษย์ด้วยภาษาลับซึ่งคิดค้นขึ้นเอง ผู้เป็นศิษย์โดยผ่านพิธี “อภิเษก (initiate)” แล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจคำสอน ลัทธินี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าตันตระยาน หมายถึงวิถีทางแห่งภาษาลับ

ลัทธิวัชรยานมีจุดมุ่งหมายบรรลุโพธิจิต พุทธภาวะมีอยู่ในจิตมนุษย์ทุกคน แต่ถูกปิดบังโดยอวิชชาและโมหะ ซึ่งสามารถหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา โดยการแก้รหัสสามประการ ทางกาย วาจา ใจ

ลัทธิวัชรยานได้นำปรัชญาศากตะของศาสนาพราหมณ์มาใช้ โดยให้ความสำคัญกับปราชญา อันหมายถึงส่วนที่เป็นสตรีของพระตถาคต  วัชรยานเชื่อว่า ในกายและจิตของพระตถาคตนั้นมีส่วนที่เป็นทั้งหญิงและชาย ส่วนที่เป็นหญิงคือปัญญา (wisdom) ดังนั้นจึงต้องสร้างภาพบุคลาธิษฐาน รูปเคารพให้เป็นเทวนารี

ลัทธิวัชรยานยังให้ความสำคัญแก่พระโพธิสัตว์และพระตถาคตในภาคส่วนของความโกรธหรือภาคดุร้าย เพื่ออารักขาธรรมะและปกป้องผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา โดยสร้างรูปเคารพให้มีลักษณะน่ากลัว เพราะเชื่อว่าต้องใช้ภาคดุร้ายของพระตถาคตจึงจะเอาชนะความชั่วร้ายหรือกิเลสได้

พุทธวัชรยานเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา ตอนเหนือของอินเดีย เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒

ในปี ๑๒๖๐ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ ปีก่อน ท่านอาจารย์วัชรโพธิได้นำลัทธิวัชรยานมาเผยแผ่ที่ภาคใต้ของไทย แถบสงขลา สทิงพระ สุราษฎร์ธานี ในยุคของศิลปะศรีวิชัยอันงามประณีตอย่างที่สุด  ปรากฏหลักฐานเป็นงานพุทธศิลปะศรีวิชัยอยู่มากมาย

การที่พุทธวัชรยานมีความเชื่อแข็งแกร่งในการนับถือส่วนที่เป็นสตรีของพระตถาคต

และปัญญาของสตรี ของผู้หญิง เสมอด้วยวัชระ แหลมคมเหมือนเพชรที่แข็งแกร่ง สามารถตัดสะบั้นโมหะและอวิชชาให้แหลกยับลงได้

การนับถือว่าสตรีคือปัญญาของวัชรยานนี้เอง ได้เข้ามาแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับความเชื่อเดิม ที่นับถือผู้หญิงในแผ่นดินสุวรรณภูมิ

หลักฐานชัดเจนอยู่ที่รูปเคารพนางตาราจำนวนมากที่พบในสทิงพระ สงขลา ภาคใต้ของไทย ที่สำคัญมาก ๆ ก็คือนางตาราเหลือง พระนางวสุนธาราถือรวงข้าว ผู้เป็นภาคสตรีของท้าวชุมพล (ท้าวกุเวร ภาษาบาลีคือเวสฺสวณฺ ภาษาสันสกฤตคือไวศฺรวณะ) ที่มีพัฒนาการมาเป็นแม่โพสพซึ่งคนไทยนับถืออย่างยิ่ง

มนตรา คาถา ยันต์ บทสวดต่าง ๆ คือภาษาลับในวัชรยานตันตระ

แม่มด การใช้อาคมของแม่มด จึงเป็นหนึ่งเดียวกับอุบายของวัชรยานตันตระ

Image

รูปเคารพของพุทธมหายาน งามสงบด้วยเมตตาธรรมเซรามิกเจ้าแม่กวนอิมงามสงบอิ่มเอิบใจนักเมื่อได้ชม ศิลปะจากเมืองจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (Historical Museum of Vietnam) นครโฮจิมินห์

รำหน้ากากออกพราน เต้นไม่หยุดส่ายระริกเปลี่ยนชีวเคมีทุกเซลล์ในร่างกายของโนราภาคใต้

ด้วยเหตุเช่นนี้ คาถา มนตรา อาคมของแม่มด หมอผี คนทรง ยันต์ต่าง ๆ ของไทยปัจจุบันมิเพียงเป็นเรื่องของศาสนาผีพื้นเมือง animism เท่านั้น แต่ต้นรากได้สืบทอดมาจากพุทธศาสนาวัชรยานตันตระตั้งแต่ ๑,๐๐๐ กว่าปีก่อน หยั่งรากลึกที่สุด เป็นเสาหลักของพุทธ-ผี ค้ำยันสังคมไทยมาตลอด โดยคาถา มนตราคือคลื่นพลังงานที่ส่งกระแสถ่ายทอดไปเชื่อมต่อกับพลังงานสูงกว่า ที่ถูกเข้าใจในนามของผี-เทพ แต่การพร่ำสวดคาถามนตราอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในประเด็นนี้ดิฉันได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับดอกเตอร์ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ ผู้เรียนจบปริญญาเอกทางด้าน Women's Spirituality จาก California Institute of Integral Studies (CIIS) และศึกษาด้านโยคะ-จิตวิญญาณทางสายท่านปรมหังสา โยคานันทะ ดอกเตอร์ไพรินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา คาถาจะต้องใช้ร่วมกับเจตจำนง (will) อันเป็นเสมือนหางเสือ คันเร่งให้ยานพุ่งไปข้างหน้า คนทำสมาธิมากจะโฟกัสพลังได้แข็งแกร่ง เหมือนแว่นขยายส่งพลังออกไป คลื่นพลังงานต้องมีเจตจำนง (will) จึงจะทำให้สำเร็จ คลื่นอย่างเดียวไม่มีพลังงานพอ

และเป้าหมายของแม่มดที่ติดต่อพลังเทพเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ แก้ปัญหามนุษย์ ก็เป็นครรลองเดียวกับวิถีพระโพธิสัตว์ในพุทธมหายาน

สำหรับพุทธศาสนาแล้ว “โพธิสัตว์” ทางเถรวาทหมายถึงชาติก่อน ๆ ของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีไปสู่การบรรลุธรรม ส่วนโพธิสัตว์ในทางมหายาน หมายถึงผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ไม่ไปนิพพาน หากมาเกิดแล้วเกิดอีกเพื่อใช้โพธิญาณช่วยมนุษย์ทั้งมวลในโลกให้พ้นทุกข์ ไปสู่การบรรลุธรรม

หนทางของแม่มดก็เช่นกัน อยู่ในวิถีทางของโพธิสัตว์ที่จะช่วยคน โดยเฉพาะแม่มดที่ใช้พลังทางจิตช่วยมนุษย์ ต้มยารักษาคน ดูดวง ปัดเป่าพลังงานชั่วร้าย ติดต่อพลังเหนือธรรมชาติ เปิดเผยความจริงสูงสุดในดวงจิต โดยไม่หวังอำนาจหรือทรัพย์สินใด ๆ  ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้โลก ชีวิต ความเป็นมนุษย์ในมิติต่าง ๆ อย่างไม่มีพรมแดน ยิ่งเข้าใจบรรพชน เข้าใจมนุษย์ เข้าใจวิถีโลก เชื่อมต่อกับพลังงานระดับสูงได้ก็ยิ่งเห็นลึกเข้าไปในดวงจิตของตน

ทุกสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะดีงามหรือชั่วร้ายล้วนเป็นครูทั้งสิ้น หนทางมืดดำคือประตูที่ต้องปิด ครูบางคนมาพบเราเพื่อให้เราปิดประตู-ทางเช่นนี้ทำไม่ได้-เพื่อให้เห็นทางเลือกชัดเจนที่สุด ครูแบบนี้ก็ช่วยเราได้มากเช่นกัน

วิถีของแม่มดที่แท้จึงเป็นหนทางเดินกลับเข้าไปสู่ความลึกล้ำในดวงจิตตน ด้วยการอุทิศตัวช่วยมนุษย์และส่ำสัตว์ อันเป็นวิถีทางเดียวกับพระโพธิสัตว์ และมีครรลองของประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพชนสร้างมา คอยประคับประคองไม่ให้ทุลักทุเลตกหล่นพลัดหายไปจากเส้นทาง

หากที่ต่างจากพระโพธิสัตว์ก็คือ การพัฒนาจิตวิญญาณของพวกแม่มดยาวนานต่อเนื่องมาเป็นหมื่นเป็นแสนปีนี้ การบรรลุธรรมตามความหมายทางพุทธอาจไม่จำเป็น ไม่สำคัญ และไม่ได้เป็นเป้าหมายใด ๆ สำหรับพวกเธอแล้วด้วยก็ได้  

สัมภาษณ์
๑. ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว อายุ ๘๔ ปี (เกิดปีชวด พ.ศ. ๒๔๗๙) บ้านเลขที่ ๓๔ ซอยประสานสุข ๑ ถนนบริพัตร ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี  สัมภาษณ์วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒

๒. ป้าถนอม คงยิ้มละมัย อายุ ๗๕ ปี (เกิดเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๘๗) บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี สัมภาษณ์ 
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

ข้อมูลประกอบการเขียน
๑. บทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงเก่า ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๑. (อักขรวิธีตามต้นฉบับ). พิมพ์ซ้ำในหนังสือมโหรีดอกสร้อยสักวา. ถาวร สิกขโกศล. (รวบรวมและเรียบเรียง). บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) พิมพ์เผยแพร่เพื่ออนุรักษ์คีต-วรรณกรรมสำคัญของไทย, ๒๕๖๒.

๒. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๑. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑. พระนคร : โรงพิมพ์กรุงเทพ-บรรณาการ, ๒๔๘๑.

๓. เรื่องผีสาง เทวดา. ของเสฐียรโกเศศ. หนังสือ อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายทรง สุภาพร ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๒. พระนคร : วันชาติการพิมพ์, ๒๕๑๒.

๔. Tai Ahoms and The Stars : Three Ritual Texts to Ward Off Danger ตำราดวงดาวและไทอาหม เอกสารสะเดาะเคราะห์ ๓ สำนวน. B.J. Terwiel, and Renoo Wichasin (trans. and eds.). Ithaca, New York : Southeast AsisProgram 120 Uris Hall Cornell University, 1992.

๕. ตำนานวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา. หนังสือ อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางสาวนภา วังส์ไพจิตร. ณ เมรุวัดแก้วแจ่มฟ้า พระนคร วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๑. พระนคร : บริษัทประชาช่าง, ๒๕๑๑.

๖. เรื่องกฎหมายตราสามดวง. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา, ๒๕๒๑.

๗. พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ย่อแลสมุดมาลัย. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๔๕๔.

๘. นางอุทัยกลอนสวด. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่. กรุงเทพฯ : บริษัทเอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๗.

๙. ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑, เล่ม ๒. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. 

๑๐. โคลงโลกนิติ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เรือนปัญญา, ๒๕๔๕.

๑๑. พระนิพพานโสตร (สำนวนที่ ๒) ฉบับศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้. อ. กรรณานุช ณ ถลาง (ปริวรรต). ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช และมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศญี่ปุ่นจัดพิมพ์เผยแพร่. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๘.

๑๒. ตำราดูนิมิตและฤกษ์ยาม. อ. ปก แก้วกาญจน์ (ปริวรรต). สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๔๒.

๑๓. จักรทีปนีไทย. พิภพ ตังคณะสิงห์. พระนคร : สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, ๒๕๐๙.

๑๔. “แม่มด : คึกฤทธิ์ วินิจฉัย”. สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐.

๑๕. “มหาเวสสันดรชาดก”. https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=1045

๑๖. “มหาเวสสันดรชาดก ฉบับวิงวอนหลวง (ล้านนา)” บุญคิด วัชรศาสตร์ เปรียญ เรียบเรียงจากต้นฉบับใบลาน นายดวงฅำ ตรวจทาน /ปริวรรตตามอักขรวิธีไทยกลาง. https://www.baanjomyut.com/library_3/extension-5/maha_chadok/index.html

๑๗. “ลิลิตพระลอ”. https://vajirayana.org/ลิลิตพระลอ/ลิลิตพระลอ

๑๘. “นิราศพระประธม”. https://vajirayana.blogspot.com/2016/06/niras-of-soontorn-phu-part-2.html

๑๙. “ขุนช้างขุนแผน”. https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

๒๐. “พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค”-มังคุลิตถีสูตร. https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16

๒๑. “โสวัตกลอนสวด”. https://vajirayana.org/โสวัตกลอนสวด/โสวัตกลอนสวด

๒๒. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสังข์กระจาย