รวบรวมและเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
กราบขอบพระคุณ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะภาค ๖-๗ (ธรรมยุต)
อาจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมตตาเอื้อเฟื้อข้อมูล และขอขอบคุณ คุณสุภาภรณ์ อัษฎมงคล
สำหรับความเห็นและข้อท้วงติงอันเป็นประโยชน์
~ ภิกษุและสงฆ์
สงฆ์ มาจากภาษาบาลี สงฺฆ (สังฆะ) แปลว่าหมู่ หรือคณะ
ภิกษุ มาจากภาษาบาลี ภิกฺขุ แปลว่าผู้ขอ คือผู้สละตนสละทรัพย์สมบัติจากการครองเรือน (นักบวช) เพื่ออุทิศตนบำเพ็ญธรรม และยังให้ผู้อื่นถึงซึ่งกุศล ด้วยการออกขอภัตตาหารของผู้อื่น
ภิกษุสงฆ์ มาจากภาษาบาลี ภิกขุ + สงฺฆ แปลว่าหมู่แห่งผู้ขอ
พระ มาจากรากศัพท์ภาษาบาลี วร (วะระ) แปลว่าประเสริฐ
พระสงฆ์ มาจากภาษาบาลี วร + สงฺฆ แปลว่าผู้ขออันประเสริฐ
พระภิกษุ มาจากภาษาบาลี วร + ภิกฺขุ แปลว่าหมู่แห่งผู้ประเสริฐพระสงฆ์หรือพระภิกษุ ถือเป็นสาวกของพระพุทธองค์ที่ต้องถือวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันประกอบด้วยศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อยังให้ตนเป็นผู้เจริญ พร้อมกับศึกษาพระธรรมคำสอนให้รู้แจ้ง และยังให้ผู้อื่นเข้าถึงซึ่งพระธรรมนั้นด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ปุถุชนทั้งหลาย
นิกาย คือคณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ
ในปัจจุบันพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็น “นิกาย” สองนิกาย ได้แก่ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) บางทีเรียก “หีนยาน”
ส่วนในประเทศไทย พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันแยกออกเป็นสองนิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในการปกครองคณะสงฆ์ไทย) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต
สมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุขของสงฆ์ และทรงดำรงตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปริณายก” คือผู้เป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ อันหมายถึง
คณะมหานิกาย คือคณะสงฆ์ไทยดั้งเดิม สืบเนื่องมาจากสมัยสุโขทัย ชื่อนี้ใช้เรียกเมื่อเกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นภายหลัง
คณะธรรมยุต คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่าธรรมยุตติกา หรือธรรมยุติกนิกาย ก็มี
คณะสงฆ์อนัมนิกาย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายาน ที่สืบมาจากประเทศเวียดนาม (หรืออันนัม) ในทางการปกครองมีเจ้าคณะใหญ่คณะอนัมนิกายเป็นประธาน
คณะสงฆ์จีนนิกาย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายานของชาวไทยเชื้อสายจีน ในทางการปกครองมีเจ้าคณะใหญ่คณะจีนนิกายเป็นประธาน
~ พระสงฆ์ลดลง แต่วัดเพิ่มขึ้น
พระสงฆ์และอาราม
ตามข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อสิ้นปี ๒๕๖๓ ประเทศไทยมีพระสงฆ์ ๒๐๕,๕๓๙ รูป
สามเณร ๓๓,๕๑๐ รูป วัด ๔๒,๖๒๑ วัด
แบ่งเป็นพระสงฆ์มหานิกาย ๑๘๑,๕๔๔
ธรรมยุติกนิกาย ๒๓,๙๐๗ บรรพชิตจีนนิกาย ๒๔
บรรพชิตอนัมนิกาย ๖๔ วัดมหานิกาย ๓๘,๒๙๓
วัดธรรมยุต ๔,๒๙๐ วัดจีนนิกาย ๑๕
วัดอนัมนิกาย ๒๓
จังหวัดที่มีพระสงฆ์มากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร
(๑๔,๗๒๙ รูป ใน ๔๕๗ วัด)
จังหวัดที่มีพระสงฆ์น้อยที่สุดคือสตูล (๒๕๑ รูป ใน ๔๓ วัด)
จังหวัดที่มีวัดมากที่สุดคือนครราชสีมา (๒,๑๗๘ วัด)
จังหวัดที่มีวัดน้อยที่สุดคือภูเก็ต (๔๑ วัด)
ในหนังสือ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ระบุข้อมูลว่าในปี ๒๕๐๗ จำนวนพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศคือ ๒๓๗,๗๗๐ รูป เทียบกับประชากรทั้งประเทศขณะนั้น ๒๘ ล้านคน เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดจะเห็นว่าย้อนหลังไปเกือบ ๖๐ ปี จำนวนพระสงฆ์ค่อนข้างคงที่ คืออยู่ระหว่าง ๒-๓ แสนรูป ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เช่นข้อมูลปี ๒๕๖๓ ระบุว่าประเทศไทยมีประชากร ๖๙.๘ ล้านคน เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเลขพบว่าสัดส่วนจำนวนพระภิกษุสามเณรต่อจำนวนประชากรลดลงกว่าเท่าตัว คือจาก ๑ : ๑๑๗ ในปี ๒๕๐๗ เหลือ ๑ : ๒๙๓ ขณะที่มีการตั้งวัดใหม่ตลอดเวลา จากข้อมูลย้อนหลังภายในเวลาไม่ถึง ๑๐ ปีมานี้ มีวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า ๔๐๐ วัดต่อปี ซึ่งย่อมทำให้จำนวนพระสงฆ์เฉลี่ยในแต่ละวัดลดน้อยลงเป็นลำดับ
ข้อมูลจากรายงานประจำปี ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสถิติแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นข้อมูล ณ วันสิ้นปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ยังมีคณะนักบวชชาวพุทธที่ไม่ได้สังกัดมหาเถรสมาคม จึงไม่ได้รับสถานะ “นักบวช” ตามกฎหมายไทย เช่น ภิกษุณีกลุ่มต่างๆ (ทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จังหวัดนครปฐม วัฏฏะภิกขุนีปาฏิโมกขะธัมมะติปิฏกะ จังหวัดยโสธร สถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัมนานาชาติ จังหวัดนครราชสีมา) และสมณะของสันติอโศก ภายใต้การนำของสมณะโพธิรักษ์
~ “ชื่อจัดตั้ง” ของพระสงฆ์
ฉายา
พระสงฆ์ไทยเถรวาททุกรูปมีชื่อเป็นภาษาบาลี เรียกว่า ฉายา หรือ นามฉายา โดยพระอุปัชฌาย์จะตั้งให้เมื่ออุปสมบท (บวช) การที่พระสงฆ์ต้องมีนามฉายานี้ หลักคิดดั้งเดิมคงเป็นสัญลักษณ์ว่าการบวชในพระพุทธศาสนาเทียบได้กับการเกิดใหม่ คือไม่มีฆราวาสคนเดิมอีกต่อไป มีเพียงพระภิกษุใหม่รูปหนึ่ง ดังนั้นธรรมเนียมไทยจึงให้ความเคารพพระอุปัชฌาย์เสมอด้วยบิดา เพราะถือเป็นผู้ให้กำเนิดในทางธรรม นอกจากนั้นแล้ว พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ผู้รู้ทางภาษาบาลี เคยอธิบายในเฟซบุ๊กเพจ ทองย้อย แสงสินชัย ของท่านว่า เหตุที่ต้องมี “ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท” ก็เพราะในพิธีอุปสมบทจะต้องสวดประกาศข้อความที่เรียกว่า “กรรมวาจา” เป็นภาษาบาลีและข้อความในกรรมวาจานั้นต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลีด้วย ดังนั้นพระอุปัชฌาย์จึงต้องตั้งชื่อให้ใหม่เป็นภาษาบาลี โดยภายหลังพิธีอุปสมบทจะมีการมอบ “ฉายาบัตร” เป็นเหมือนสูจิบัตร หรือ “ใบตั้งชื่อ” ว่าเมื่อวันที่เท่านั้นๆ เดือนอะไร ปีไหน ได้มีการอุปสมบทกุลบุตรผู้นั้นๆ ณ พัทธสีมาของวัดแห่งใด มีท่านผู้ใดเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระใหม่นั้นได้รับนามฉายาว่าอย่างไร
โดยทั่วไปนามฉายามักมีนัยความหมายเป็นมงคลในทางศาสนา หากชื่อหรือนามสกุลของผู้บวชเป็นรูปศัพท์ภาษาบาลีอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาตั้งเป็นฉายาได้เลย เช่น นายประยุทธ์ อาจได้รับนามฉายาว่า ปยุตฺโต หรือเมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บวช มีนามฉายาตามราชสกุลว่า ปาโมชฺชากโร แต่โดยทั่วไปพระอุปัชฌาย์มักตั้งนามฉายาให้ตามวันเกิดของพระภิกษุรูปนั้น (หรือหากไม่ทราบจะใช้ตามวันที่มีพิธีอุปสมบท) โดยนำเอาตัวอักษรวรรคบริวารตามคติมหาทักษา มาขึ้นต้น ดังนี้
พระภิกษุผู้เกิด วันอาทิตย์ นิยมใช้นามฉายาขึ้นต้นด้วยสระ อะ อา อิ อุ โอ อํ เช่น อริยวํโส (อะ-ริ-ยะ-วัง-โส ผู้เป็นวงศ์แห่งพระอริยะ), อมโร (อะ-มะ-โร ผู้เป็นเทวดา), อนาลโย (อะ-นา-ละ-โย ผู้ไม่มีความห่วงใย)
ผู้เกิด วันจันทร์ ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย ก ข ค ฆ เช่น กลฺยาโณ (กัน-ละ-ยา-โน ผู้มีธรรมอันงาม), เขมโก (เข-มะ-โก ผู้เกษม), คเวสโก (คะ-เว-สะ-โก ผู้แสวงหา)
ผู้เกิด วันอังคาร ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย จ ฉ ช ฌ ญ เช่น จารุวณฺโณ (จา-รุ-วัน-โน ผู้มีผิวพรรณดุจทอง), ชาคโร (ชา-คะ-โร ผู้ตื่นจากกิเลส), ฌานวโร (ชา-นะ-วะ-โร ผู้ประเสริฐด้วยฌาณ)
ผู้เกิด วันพุธ (กลางวัน) ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย ฐ เช่น ฐานวโร (ถา-นะ-วะ-โร ผู้ประเสริฐในฐานะ), ฐานธมฺโม (ถา-นะ-ทัม-โม ผู้มีธรรมเป็นที่ตั้ง), ฐิตปญฺโญ (ถิ-ตะ-ปัน-โย ผู้มีปัญญาตั้งมั่น)
ผู้เกิด วันพุธ (กลางคืน) ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย ย ร ล ว เช่น ยโสธโร (ยะ-โส-ทะ-โร ผู้มียศ), โรจนญาโณ (โร-จะ-นะ-ยา-โน ผู้มีญาณดุจแก้ว), วิสุทฺธสีโล (วิ-สุด-ทะ-สี-โล ผู้มีศีลบริสุทธิ์)
ผู้เกิด วันพฤหัสบดี ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย ป ผ พ ภ ม เช่น ปริสุทฺโธ (ปะ-ริ-สุด-โท ผู้บริสุทธิ์), ผาสุโก (ผู้มีความสำราญ), ภูมิปญฺโญ (พู-มิ-ปัน-โย ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน)
ผู้เกิด วันศุกร์ ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้น ส ห เช่น สุจิตฺโต (สุ-จิด-โต ผู้มีจิตใจดี), สุเมโธ (ผู้มีปัญญาดี), หาสธมฺโม (หา-สะ-ทัม-โม ผู้มีธรรมอันร่าเริง)
ผู้เกิด วันเสาร์ ใช้อักษรนามฉายาขึ้นต้นด้วย ต ถ ท ธ น เช่น เตชธมฺโม (เต-ชะ-ทัม-โม ผู้มีธรรมเป็นอำนาจ), ถิรธมฺโม (ถิ-ระ-ทัม-โม ผู้มีธรรมอันมั่นคง), นนฺโท (นัน-โท ผู้มีความร่าเริง)
ทั้งนี้เมื่อนำมาใช้ประกอบกับนามจะใช้ชื่อตัวตามด้วยฉายาโดยไม่ต้องใส่นามสกุล เช่น พระไพศาล วิสาโล หรือหากเป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จะใช้สมณศักดิ์นำหน้า โดยมีชื่อตัวและฉายาในวงเล็บ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
อนึ่ง นามฉายาที่ผูกขึ้นโดยใช้หลักเกณฑ์อื่นก็มี เช่น (อดีต) พระมหาสมปอง ตาลปุตโต ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ ตั้งนามฉายาของตนว่า “ตาลปุตโต” (ตา-ละ-ปุด-โต) แปลว่าบุตรของตาล เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาแก่โยมแม่ คือนางตาล
ดูรายละเอียดใน
อำนาจ ปักษาสุข. “การศึกษาการตั้งนาม ฉายาของพระสงฆ์ไทย” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
~ ผ้าสามผืนของพระสงฆ์
ไตรจีวร
พระวินัยกำหนดให้ภิกษุมีเครื่องใช้จำเป็นแปดสิ่ง เรียกว่า อัฐบริขาร (อัฐแปลว่าแปด) เป็นของใช้เฉพาะตัว ห้ามหยิบยืมกัน ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว บาตร ธรรมกรก (หม้อกรองน้ำ) มีดโกน และกล่องเข็ม ในพิธีอุปสมบท ผู้ขอบวชต้องมีบริขารอย่างน้อยสี่อย่างไปแสดงแก่ที่ประชุมสงฆ์ คือ สบง จีวร สังฆาฏิ และบาตร อัฐบริขารนี้ในภาษาพระ ท่องจำกันว่า “ผ้า ๔ เหล็ก ๓ น้ำ ๑” ผ้า ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ และประคดเอว เหล็ก มีบาตร มีดโกน กับกล่องเข็ม ส่วน น้ำ คือธรรมกรก
ในบรรดาเครื่องบริขารเหล่านี้ ที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดคือ สบง จีวร สังฆาฏิ ซึ่งรวมเรียกว่า “ไตรจีวร” (ไตรแปลว่าสาม) บางทีภาษาชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าไตร” หรือ “ไตร” เฉยๆ ก็มี
ไตรจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระสงฆ์ที่ปรากฏในพระวินัยมาแต่ครั้งพุทธกาล มีข้ออนุญาตและข้อห้ามในลักษณะต่างๆ มากมาย เช่นแต่เดิมพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้เฉพาะ บังสุกุลจีวร คือผ้าห่อศพที่นำมาเย็บปะติดปะต่อกัน ต่อมาจึงทรงอนุญาตให้ใช้จีวรที่ผู้มีจิตศรัทธาถวายให้ เรียกว่า คหบดีจีวร ในพระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังทักขิณาคีรี (เขตภูเขาทางใต้) ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ มีคันนาและกระทงนา (แปลงนา) จึงตรัสแนะให้พระอานนท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็น “พระเลขาฯ” ของพระพุทธเจ้า ทดลองนำผ้าชิ้นเล็กๆ เย็บเข้าด้วยกันให้เป็นผืนจีวร ตามตัวอย่างแปลงนาของชาวมคธ เมื่อทำเสร็จทรงสรรเสริญว่าฉลาด จึงกลายเป็นแบบอย่างของผ้าจีวรมาตั้งแต่นั้น แม้จนปัจจุบันผ้าจีวรที่มีจำหน่ายในท้องตลาดก็ยังคงต้องเย็บต่อกันให้เป็น “กระทง” (ตาราง) เล็กใหญ่ (เรียกรวมๆ ว่า “ขันธ์”) ตามลักษณะดั้งเดิม
พระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีเพียง ไตรจีวร หรือผ้าสามผืน เป็นเครื่องนุ่งห่มหลัก ได้แก่
อันตรวาสก คือผ้านุ่ง ไทยเรียกว่า สบง ใช้นุ่งปกปิดร่างกาย ส่วนล่าง พระสงฆ์จะคาด ประคดเอว หรือ รัดประคด รัดสบงแทนเข็มขัด
อุตราสงค์ คือผ้าห่ม ไทยเรียกว่า จีวร ใช้ห่มคลุมร่างกายส่วนบน
สังฆาฏิ ผ้าห่มคลุมซ้อนหรือผ้าพาด เดิมใช้คลี่ห่มซ้อนกับจีวร
อีกชั้นในเวลาอากาศหนาว แต่เนื่องจากเมืองไทยอยู่ในเขตร้อน สังฆาฏิจึงเปลี่ยนหน้าที่ กลายเป็นผ้าที่พับทบซ้อนกัน พาดบนบ่าซ้ายในโอกาสที่เป็นพิธีการ ธรรมเนียมนี้มีเฉพาะพระสงฆ์ไทยเท่านั้น รวมถึงปรากฏในพระพุทธรูปสกุลช่างต่างๆ ของไทยด้วย
แม้พระวินัยจะระบุว่าผ้าจีวรประกอบด้วยผ้าสามผืน แต่มิได้ระบุวิธีห่มครองไว้แน่ชัด เพียงวางหลักการว่าต้อง “นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล” คือให้ดูเรียบร้อย รัดกุมเหมาะสม และไม่ให้นุ่งห่มเหมือนฆราวาส บางท่านสันนิษฐานว่ารูปแบบการนุ่งห่มจีวรของพระสงฆ์ปัจจุบันอาจมีที่มาจากวิธีการแต่งกายในโลกของกรีก-โรมัน ซึ่งให้แบบอย่างแก่พระพุทธรูปรุ่นแรกๆ เช่นในแบบศิลปะคันธาระ (Gandhara Art) บริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน แต่ก็มีผู้โต้แย้ง เช่นในเฟซบุ๊กเพจ Sãi Bản Mường ซึ่งนำเสนอหลักฐานข้อมูลว่า การนุ่งห่มผ้าผืนในลักษณะทำนองนี้เป็นธรรมเนียมของผู้คนในดินแดนอินเดียมาแต่โบราณ ไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างกรีก-โรมัน
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. พระพุทธรูปอินเดีย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๔.
ณัฏฐภัทร จันทวิช. “อัฏฐบริขารและเครื่องใช้ในการพระศาสนา” ใน สารพันมรดกไทย. กรุงเทพฯ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๓๖.
ส่งศรี ประพัฒน์ทอง (บรรณาธิการ). มรดกสิ่งทอในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ :
กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๓๗.
~ นวัตกรรมของสงฆ์ไทย
ผ้ารับประเคน
ผ้ารับประเคนเป็นเครื่องสังฆภัณฑ์ที่คุ้นตากันดี พระสงฆ์ใช้วางลงโดยจับชายผ้าอีกด้านหนึ่งไว้เพื่อรับประเคนภัตตาหารและสิ่งของที่ญาติโยมสตรีนำมาถวาย โดยมากผ้ารับประเคนนิยมใช้ผ้าสีใกล้เคียงกับจีวร เช่น สีเหลือง สีกรัก ขนาดกว้างยาวไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอน แต่มักเป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๙ นิ้ว
เหตุที่สงฆ์ไทยต้องใช้ผ้ารับประเคน น่าจะมาจากการตีความพระวินัยอย่างกวดขันเคร่งครัด ซึ่งที่จริงแล้วพระวินัยกำหนดแต่เพียงว่าห้ามภิกษุ “ผู้มีจิตกำหนัด” จับต้องกายหญิง การใช้ผ้ารับประเคนในการถวายสิ่งของแก่พระจึงเป็นไปเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสใดๆ ที่สงฆ์อาจสัมผัสมือสตรี
สันนิษฐานว่าผ้ารับประเคนอาจวิวัฒนาการมาจาก “ผ้ากราบ” ผ้าผืนใหญ่ที่พระสงฆ์ไทยโบราณใช้รองรับอวัยวะทั้งห้า คือ เข่าสองข้าง สองฝ่ามือ และหน้าผาก เวลากราบพระพุทธรูปหรือพระเถระผู้ใหญ่ แบบ “เบญจางคประดิษฐ์”
ในอดีตผ้ากราบเคยเป็น “ของถวายพระ” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในงานพระราชพิธีต่างๆ ของหลวง และวาระสำคัญของเจ้านาย จะมีการทำผ้ากราบ ปัก (หรือพิมพ์) ลวดลายและตัวอักษรระบุชื่องาน ถวายพระสงฆ์เป็น “ของที่ระลึก”
ในภาพถ่ายรุ่นเก่า พระเถระมักนำผ้ากราบมาพับพาดบ่าซ้ายในลักษณะเดียวกับสังฆาฏิ แต่ต่อมาเมื่อมีพระมหาสมณวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กำหนดให้พระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกายเลิกใช้ผ้ากราบพาดบ่า พระสงฆ์จึงพับผ้ากราบเก็บใส่ย่าม ธรรมเนียมพาดผ้ากราบจึงสูญไป หากยังคงหลงเหลือให้เห็นในคณะสงฆ์กัมพูชาจนถึงปัจจุบัน
ผ้ากราบนี้เองคงคลี่คลายต่อมาเป็น “ผ้ารับประเคน” ซึ่งมีขนาดเล็กลงกว่าผ้ากราบมาก
~ บาตร
พระสงฆ์และอาราม
พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุแต่ละรูปมีบาตรได้เพียงใบเดียว โดยสามารถเลือกใช้บาตรได้สองชนิด คือ บาตรดินเผา หรือบาตรเหล็ก โดยห้ามมิให้ใช้บาตรที่ทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก ไม้ แก้ว ฯลฯ แต่ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุคงใช้บาตรดินเป็นหลัก จึงต้องทะนุถนอม ระวังไม่ให้ตกแตก จึงมีข้อห้ามวางบาตรบนเตียง ตั่ง บนร่ม บนพนัก บนตัก ไม่ให้แขวนบาตรหรือคว่ำบาตรบนพื้นแข็งๆ เมื่อล้างบาตรแล้วห้ามเก็บทั้งที่ยังเปียก แต่ให้เช็ดจนแห้งก่อนแล้วถึงนำไปผึ่งแดด และไม่ให้ผึ่งไว้นานเกินไป
ข้อมูลจากพระวินัยยังบ่งชี้ว่าในยุคพุทธกาล บาตรน่าจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพราะมีข้อห้ามใช้สิ่งอื่นแทนบาตร ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกน้ำเต้า (ลูกน้ำเต้าแห้งที่เหลือแต่เปลือกนอก) หรือหัวกะโหลกผี ดังนั้นบาตรยุคนั้นคงใบเล็กขนาดถือได้ด้วยมือเดียว
ปัจจุบันบาตรที่มีจำหน่ายในท้องตลาดส่วนมากเป็น “บาตรปั๊ม” ซึ่งเป็นสเตนเลสขึ้นรูป แต่ก็ยังมีชุมชนบ้านช่างที่ผลิตบาตรเหล็กด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบาตร ใกล้วัดสระเกศในกรุงเทพฯ
เดิมพระสงฆ์มหานิกายทั่วไปจะใช้ “ถลกบาตร” หรือสายคล้องสะพายบาตร ส่วนพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกายออกบิณฑบาตโดยอุ้มบาตรด้วยมือสองข้าง (จึงมีเรื่องเล่าถึงการถูกกลั่นแกล้งด้วยการเอาข้าวต้มร้อนๆ ใส่บาตร) แต่ปัจจุบันมิได้แบ่งแยกกันชัดเจนแล้ว พระสงฆ์มหานิกายที่ออกบิณฑบาตโดยอุ้มบาตรก็มี ขณะที่พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่เป็นสายพระป่า ซึ่งต้องเดินบิณฑบาตเป็นระยะไกล มักใช้ถลกบาตร เพื่อความสะดวก
ดูรายละเอียดใน
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. วินัยมุข เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๒๕ กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๔.
~ หลากวิธีครองจีวร
ห่มคลุม-ห่มเฉียง
รูปแบบการครองจีวรของพระสงฆ์ปัจจุบันมีหลายแบบ ตามความนิยมในแต่ละนิกายและแต่ละสำนัก แบ่งได้กว้างๆ เป็นสองแบบ คือ ห่มคลุม กับ ห่มเฉียง ซึ่งมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีก คือ
ห่มคลุมแบบมหานิกาย
(ห่มมังกร)
กล่าวกันว่าเป็นวิธีครองจีวรแบบดั้งเดิม คือนำจีวรมาห่มคลุมไหล่ทั้งสองข้าง ทบชายจีวรสองชายด้านบนเข้าหากัน ขมวดม้วนให้กลม แน่นพอดี ภาษาพระสงฆ์ไทยเรียกม้วนชายจีวรนี้ว่า “ลูกบวบ” ในการห่มจีวรแบบนี้จะหนีบลูกบวบไว้ด้วยแขนซ้ายโดยใช้มือซ้ายช่วยยึดปลายสุดของลูกบวบ ส่วนมือขวาแหวกชายจีวรออกมาทางด้านขวา ใช้ห่มคลุมในเวลาออกนอกบริเวณวัดหรือในเวลาเดินทาง
ห่มเฉียงแบบมหานิกาย
(ห่มเฉวียงบ่าเปิดไหล่)
คล้ายกับห่มคลุม แต่ในขั้นตอนท้ายให้เอาแขนขวาออกมาข้างนอก เปิดไหล่ขวาไว้จีวรจึงคลุมอยู่เพียงไหล่ซ้าย ใช้ห่มเวลาอยู่ในวัด
ห่มดอง
เป็นการห่มเฉียง ที่จะพับทบผ้าจีวรเข้าหากันเป็นจีบฟันปลา พาดไหล่ซ้ายแล้วดึงผ้าด้านในคลี่ออกมาพันตัวด้านขวา เหน็บชายผ้าจีวรกลับไปสอดใต้ทบผ้าจีวร ชายผ้าที่จีบอีกด้านหนึ่งคลุมลงมาถึงข้อศอกซ้าย พาดทับด้วยสังฆาฏิเหนือจีบผ้าบนไหล่ซ้าย แล้วใช้ผ้าประคดรัดจากด้านหลังมาผูกเป็นปมเงื่อนตรงลิ้นปี่ใต้หน้าอก การห่มดองถือว่าเป็นการนุ่งห่มอย่าง “เต็มยศ” ของพระสงฆ์ เพราะใช้ไตรจีวรครบทั้งสามผืน พระสงฆ์มหานิกายห่มดองในเวลาทำสังฆกรรม เช่น ทำวัตรเช้า-เย็น และสวดปาฏิโมกข์ ต่อมา
จึงนำมาใช้เป็นเหมือนเครื่องแบบในเวลาศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เช่น พระนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนั้นตั้งแต่โบราณ พระธุดงค์ซึ่งเดินเท้า มักนิยมห่มดองระหว่างเดินทาง เพราะตามพระวินัยต้องมีผ้าไตรจีวรติดตัวตลอดเวลา ท่านจึงนุ่งห่มไว้กับตัวเพื่อความสะดวก
ห่มคลุมแบบธรรมยุติกนิกาย
(ห่มแหวก)
มีชายจีวรที่ม้วนเป็น “ลูกบวบ” คล้ายกับการห่มคลุมแบบมหานิกายแต่ “ลูกบวบ” หรือม้วนชายผ้าจีวรจะอยู่ด้านขวา แล้วนำมาพาดเฉียงขึ้นมาบนไหล่ซ้าย มือขวาแหวกตรงชายลูกบวบออกมา จึงเรียกว่า “ห่มแหวก” เดิมเป็นวิธีการครองผ้าเฉพาะของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งนุ่งห่มตามอย่างพระรามัญนิกาย (มอญ) แต่ภายหลังพระสงฆ์มหานิกายจำนวนมากหันไปครองผ้าวิธีเดียวกันนี้ จนไม่อาจใช้บ่งชี้แยกแยะได้อีกต่อไป
ห่มเฉียงแบบธรรมยุติกนิกาย
(ห่มจีวรลดไหล่)
เป็นการห่มเฉียงโดยเพิ่มสังฆาฏิพับพาดบนบ่าข้างซ้าย เป็นรูปแบบที่พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายนิยมครองกัน
~ เหลือง-ส้ม-น้ำตาล
หลากสีจีวร
พระวินัยอนุญาตให้พระภิกษุย้อมสีจีวรด้วยรากไม้ ลำต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามใช้สีเขียวล้วน เหลืองล้วน สีเลื่อม สีดำ สีแดงเข้ม และสีแดงกลาย
ทุกวันนี้ผ้าจีวรที่มีจำหน่ายตามร้านสังฆภัณฑ์มีสีต่างกันระหว่าง ๕-๑๐ สี ไล่จากสีส้ม น้ำตาล ไปจนถึงน้ำตาลอมม่วง ตามแนวทางของแต่ละวัดหรือแต่ละสำนัก ที่มักเลือกใช้ตามอย่างครูบาอาจารย์เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันทั้งวัด แบ่งได้เป็นสีกลุ่มใหญ่ๆ คือ
สีเหลืองส้ม
ใช้กันในวัดมหานิกาย มีโทนแยกย่อยไปอีกสองถึงสามโทนเป็นอย่างน้อย เลือกใช้กันตามความนิยมในแต่ละวัด
สีแก่นขนุนหรือสีกรัก
(พจนานุกรมอธิบายว่า กรักแปลว่าแก่นขนุน สีกรักคือสีที่ได้จากการย้อมแก่นของต้นขนุน) สีน้ำตาลอมเหลือง เดิมนิยมใช้ในวัดธรรมยุติกนิกายทั่วไป แต่ในปี ๒๕๕๗ มีคำสั่งของคณะธรรมยุตให้พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายทั้งหมดเปลี่ยนไปครองผ้าจีวรสีพระราชนิยมเพื่อ “ฉลองพระราชศรัทธา” ซึ่งปัจจุบันวัดธรรมยุตส่วนมากเปลี่ยนไปครองจีวรสีพระราชนิยมแล้ว ยกเว้นกลุ่มวัดในสายกรรมฐานหรือ “พระป่า” ที่ยังจะยึดในแนวทางของครูบาอาจารย์ คือครองผ้าสีแก่นขนุนหรือสีกรักต่อไป
สีพระราชนิยม
ภาษาตลาดเรียกกันผิดๆ ว่า “สีพระราชทาน” เป็นสีส้มอมน้ำตาล เหมือนกับเป็นสีกึ่งกลางระหว่างสีเหลืองส้มกับสีแก่นขนุน เป็นสีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเลือกมาพระราชทานแก่คณะสงฆ์ ปัจจุบันพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุตจะใช้ครองในงานพระราชพิธี
สีแก่นขนุนเข้ม
ภาษาตลาดเรียกว่า “แก่นบวร” นิยมใช้กันในหมู่พระป่า พระสายกรรมฐานทางภาคอีสาน
สีกรักแดง
สีน้ำหมาก แดงเข้ม นิยมใช้กันในหมู่พระสงฆ์ภาคเหนือบางส่วนที่ได้รับแบบแผนจากสงฆ์พม่า
สีน้ำตาล
“สมณะ” หรือนักบวชของสำนักสันติอโศกเลือกใช้ เพื่อให้แตกต่างจากพระสงฆ์คณะอื่น
สีกรักดำ
เป็นสีน้ำตาลอมม่วง ใช้กันในหมู่พระธุดงค์
~ ผ้านอกพระวินัย
อังสะ
แม้พระวินัยจะห้ามภิกษุแต่งกาย นุ่งห่ม สวมเสื้อผ้าอย่างคฤหัสถ์ ห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก แต่พระสงฆ์ไทยปัจจุบันนิยมครอง (สวม) อังสะที่เป็นเหมือนเสื้อกล้ามแขนเดียวตัวยาวอยู่ข้างในจีวรอีกชั้นหนึ่ง อังสะเปิดไหล่ขวาด้านหนึ่งติดกัน อีกด้านมีกระดุมหรือสายผูกให้กระชับ ตัดเย็บด้วยผ้าสีใกล้เคียงกับจีวร โดยมากมักเย็บให้มีกระเป๋า มีซิป ไว้ใส่สิ่งของส่วนตัว (เช่นพระเครื่อง ของขลัง นาฬิกาพก ฯลฯ) พระสงฆ์มักสวมอังสะขณะอยู่ตามลำพังหรือเพื่อความสะดวกในการทำงานในวัด อังสะช่วยซับเหงื่อและช่วยให้ไม่ดูเหมือนภิกษุกำลังเปลือยกายท่อนบน
เฟซบุ๊กเพจ Sãi Bản Mường เคยเสนอว่า อังสะมีที่มาจาก “ปัญจจีวร” ของพระภิกษุณี ซึ่งนอกจากไตรจีวรแล้วเพื่อให้เหมาะสมกับสรีระของสตรี จึงเพิ่มจีวรอีกสองชิ้น คือ สังกัจฉิกะ (ผ้ารัดหน้าอก) และอุทกสาฏิกา (ผ้าอาบน้ำ) และว่าในเวลาต่อมา สังกัจฉิกะเปลี่ยนจากผ้ารัดหน้าอกของภิกษุณีเป็นผ้าเฉียงปิดไหล่ซ้ายของภิกษุในอินเดียยุคหลัง รวมถึงดินแดนอื่นๆ ทั้งลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในฤดูหนาวทางภาคเหนือของประเทศไทยหรือในต่างประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น พระสงฆ์นิยมสวมอังสะเป็นเสื้อยืดแขนยาว สีใกล้เคียงกับจีวร เพื่อกันหนาว ทั้งยังอนุโลมให้สวมหมวกไหมพรมชนิดที่ไม่มีปีก สีเดียวกับจีวร รวมถึงถุงเท้า เพื่อความอบอุ่นได้ตามความเหมาะสมด้วย
~ อะไรที่พระฉันได้ฉันไม่ได้
ภัตตาหาร
ในความรับรู้ของคนทั่วไป พระสงฆ์จะฉัน (กิน) ภัตตาหารได้ไม่เกินเวลาเที่ยงหรือ เพล เท่านั้น หากแต่ตามพระวินัยยังมีข้อบัญญัติปลีกย่อยอีกมาก ว่าพระสงฆ์จะฉันอะไรได้บ้าง ในเงื่อนไขใดบ้าง รวมถึงมีอะไรที่จะฉันไม่ได้เลย
หลักการที่พระวินัยให้ไว้คือ กาลิก (เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล คือเวลา) โดยแบ่งเป็นสี่ประเภท คือ
ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าวสุก ปลา เนื้อ ผักผลไม้ ขนม ฯลฯ
ยามกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนเช้าวันต่อมา ได้แก่ปานะ คือน้ำผลไม้ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ในพระวินัยเรียกว่าอัฐบาน คือปานะทั้งแปด แต่ที่พอจะหาได้ในท้องตลาดปัจจุบัน คงเป็นน้ำมะม่วง น้ำองุ่น น้ำลิ้นจี่ ตามพระวินัยยังระบุด้วยว่า ผลไม้ที่จะนำมาทำน้ำปานะนี้ ต้องไม่เป็นผลไม้ใหญ่ หรือ มหาผล คือลูกไม่ใหญ่กว่ามะตูม คั้นน้ำแล้วกรอง ห้ามต้ม ปัจจุบันครูบาอาจารย์บางท่านนับเอาชากาแฟ (ที่ไม่ผสมนม) น้ำอัดลม และน้ำสมุนไพรต่างๆ ว่าเป็นน้ำปานะด้วย ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของธัญพืช เช่น นมถั่วเหลือง น้ำข้าวกล้อง เครื่องดื่มมอลต์ รวมถึงนม ไม่จัดเป็นน้ำปานะ คือฉันหลังเพลไม่ได้
สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย คนไทยสมัยก่อนนับเอาน้ำตาลเข้าในพวกนี้ด้วย จึงปรากฏน้ำตาลในบัญชีของถวายพระมาแต่โบราณ ส่วนในปัจจุบันบางสำนักอนุโลมให้พระฉันเนยแข็ง (ชีส cheese) ได้โดยไม่จำกัดเวลา โดยถือว่าเป็น “เนยข้น” ตามพระวินัย
ยาวชีวิก รับประเคนแล้วฉันได้ตลอดไป ไม่จำกัดเวลา คือสิ่งนอกเหนือจากสามประเภทข้างต้น โดยเฉพาะเครื่องยา บางวัดในปัจจุบันถือว่า ดาร์กช็อกโกแลต (dark chocolate) ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นผงโกโก้ แต่ไม่ผสมนมและน้ำตาล จัดเป็น ยาวชีวิก ส่วนดาร์กช็อกโกแลตที่ผสมน้ำตาล นับเป็น สัตตาหกาลิก ก็มี
สิ่งที่ห้ามพระรับประเคน ห้ามฉัน ได้แก่ เนื้อมนุษย์ และเนื้อสัตว์บางชนิด คือ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ หมี เสือโคร่ง เสือดาว เสือเหลือง นอกจากนั้นยังมีพระวินัยห้ามฉันเนื้อดิบ ปลาดิบ ดังนั้น ลาบดิบ ปลาร้า ปูเค็ม กะปิ แหนม ปลาดิบซาชิมิแบบญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไข่ลวกที่ยังไม่สุก ล้วนนับเข้าในข้อห้ามนี้ แต่ข้อห้ามบางอย่างชาวพุทธไทยก็จัดการ “เลี่ยงบาลี” ได้ เช่นพระวินัยห้ามภิกษุฉันผักผลไม้ที่ยังสามารถนำไปขยายพันธุ์เพาะปลูกต่อได้ เมื่อจะถวายพระจึงต้องทำ “ตำหนิ” เสียก่อน เพื่อให้เป็น “ของที่ไม่อาจปลูกให้งอกได้แล้ว” วิธีการที่ใช้กันทั่วไปคือตัดแต่งผลไม้ให้กลายเป็นชิ้นไม่ถวายทั้งผล
ส่วนการถวายสุกี้ ชาบู หรือหมูกระทะแด่พระภิกษุสงฆ์ หากถวายให้พระไปลวกปิ้งย่างให้สุกเองย่อมผิดพระวินัย ดังนั้นผู้ต้องการถวาย ต้องให้ญาติโยมเป็นผู้ปรุงสุกเสียก่อนแล้วจึงค่อยประเคนถวายพระ
อนึ่งเมื่อนิมนต์พระสงฆ์ให้ฉันภัตตาหาร ต้องไม่ออกชื่อระบุชนิดของอาหารที่นำมาถวาย ควรระบุเพียงว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือ “ขอนิมนต์ฉันเพล” ก็พอ
เก็บความบางส่วนจาก
ศรีวิสุทธิญาณ, พระ (อุบล นนฺทโก). วินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนควรทราบ. ๒๕๒๓.
~ มรดกตกค้างจากสมัยศักดินา
สมณศักดิ์
“ระบบศักดินา” เป็นการจัดลำดับฐานะบุคคลทั้งหมดในราชอาณาจักร โดยกำหนดค่าตัวเลขขึ้นมาสำหรับบุคคลที่มีสถานะหรือตำแหน่งต่างๆ การที่ระบบจัดลำดับบุคคลนี้ใช้หน่วยเป็น “นา” (แม้จะไม่เคยมีการระบุลักษณนามเป็น “ไร่” ในที่ใดเลย) ส่อแสดงให้เห็นว่าเดิมอาจมีรากฐานคืออำนาจปกครองที่ดิน หากแต่ในทางปฏิบัติ ตัวเลขศักดินาจะแสดงถึง “ศักดิ์” หรือ “เกียรติยศ” ของผู้ถือครอง และความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ เพราะสังคมไทยโบราณเป็น “สังคมศักดินา” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” และทรงสถิตอยู่ ณ จุดสูงสุดในลำดับชั้นของยศศักดิ์ในสังคม ทรงเป็นผู้พระราชทานยศ ราชทินนาม ตำแหน่ง ศักดินา ตลอดจนเครื่องประกอบยศศักดิ์ต่างๆ ให้แก่เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนพระสงฆ์
ขุนนางคือข้าราชการระดับกลางและระดับสูงที่มีศักดินาเกินกว่า ๔๐๐ ขึ้นไป โดยนอกจากศักดินาแล้ว ในทำเนียบข้าราชการยังกำหนดศักดิ์อีกสามอย่าง คือ ยศ ราชทินนามและตำแหน่ง
ยศ เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน
ราชทินนาม เป็นนามที่ผูกขึ้นให้มีความไพเราะ สอดคล้องกับตำแหน่ง เช่น เจ้าพระยามหาเสนาบดี พระยาราชนิกูล พระอินทรเทพ หลวงคชศักดิ์ ขุนมหาสิทธิโวหาร
ตำแหน่ง เช่น เป็นเสนาบดี เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี
พระสงฆ์ไทยในอดีตได้รับพระราชทานทั้งยศ ราชทินนาม ตำแหน่ง และศักดินา หรือที่ใน กฎหมายตราสามดวง เรียกว่า “เสมอนา” คือเทียบเท่ากับขุนนาง เช่น “ภิกษุรู้ธรรมเสมอนา ๖๐๐ ภิกษุมิได้รู้ธรรมเสมอนา ๔๐๐ พระครูรู้ธรรมเสมอนา ๒๔๐๐ พระครูมิได้รู้ธรรมเสมอนา ๑๐๐๐”
ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ ให้บังคับบัญชาพระสงฆ์ เช่นเดียวกับขุนนางฝ่ายฆราวาส โดยตำแหน่งสูงสุดคือสังฆราช เทียบเท่ากับพระมหากษัตริย์ของฝ่ายสงฆ์ รองลงมาคือเจ้าคณะใหญ่สามรูป (ฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และส่วนกลาง) ทำนองเดียวกับอัครมหาเสนาบดี คือสมุหนายกและสมุหกลาโหม กับเสนาบดีพระคลัง
ระบบศักดินาของขุนนางที่มียศ ราชทินนาม และศักดินา ถูกยกเลิกไปหลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ หากแต่ยังปรากฏร่องรอยตกค้างอยู่ในฝ่ายคณะสงฆ์จนถึงปัจจุบัน โดยมิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ หากแต่ทับซ้อนอยู่กับการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ
~ ยศช้างขุนนางพระ
บรรดาศักดิ์-สมณศักดิ์
แม้จะมีคำเรียกพระภิกษุผู้เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญถึงชั้นรองสมเด็จว่า “เจ้าคุณ” ซึ่งตรงกับคำเรียกขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไป หากแต่เคยมีผู้เปรียบเทียบระหว่างบรรดาศักดิ์ขุนนางกับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไว้อย่างละเอียด ดังนี้
อ้างอิง
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.. “สังคมไทย” ใน ลักษณะไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ :
ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่
โบราณ สร้างตลาดสำหรับเมือง สร้างเมือง. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดาว บุปผเวส. พระนคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ, ๒๕๑๑.
ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์, ๒๕๒๗.
อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว.. สังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ : พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๑๖. แปล
โดย ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข และ พรรณี สรุงบุญมี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ
โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๒๑.
~ ตาลปัตรพัดยศ
พระสงฆ์และอาราม
ในสมัยศักดินา ขุนนางจะได้รับพระราชทาน เครื่องยศ เป็นเกียรติยศ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ชุดเชี่ยนหมาก กระโถน กาน้ำชา ถ้วยน้ำชา หากแต่จัดทำขึ้นอย่างประณีตด้วยโลหะมีค่า เช่น ทองคำหรือเงิน หากแต่ด้วยพระวินัยบัญญัติไว้ว่าห้ามพระภิกษุใช้เครื่องใช้ที่เป็นเงินเป็นทอง เครื่องประกอบสมณศักดิ์ หรือ เครื่องยศ ของพระสงฆ์ จึงเลี่ยงไปทำด้วยทองแดง เคลือบน้ำยาที่เรียกว่า ถมปัด แทน โดยใช้สีพื้นเป็นสีเหลือง ประดับลวดลายสีต่างๆ
แต่มีเครื่องประกอบสมณศักดิ์อย่างหนึ่งที่เป็นของพระราชทานเฉพาะแก่พระราชาคณะ (คือไม่มีการพระราชทานแก่ขุนนาง) ได้แก่ พัดยศ หรือ พัดสมณศักดิ์ ที่เป็นตาลปัตรอันมีรูปแบบ สีสัน ลวดลายเฉพาะแต่ละชั้น เช่นพัดยศของพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป จะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เรียกกันในภาษาพูดว่าเป็น “พัดยอดแหลม” ส่วนพัดยศของชั้นพระครูส่วนใหญ่เป็น พัดพุดตาน ทรงกลมมีกลีบเป็นแฉกโดยรอบ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “พัดยอดทู่”
พัดยศจึงใช้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกชั้นยศและสมณศักดิ์ และถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่เฉพาะตัว ดังนั้นนับตั้งแต่มีการถ่ายรูปในประเทศไทย ภาพถ่ายพระราชาคณะก็จะตั้งพัดยศไว้ข้างตัว เหมือนกับภาพถ่ายขุนนางที่ตั้งโต๊ะวางเครื่องยศนานาชนิดตามศักดิ์ จนถึงสมัยหลังเรายังอาจสามารถเปรียบเทียบภาพถ่ายพระเถระที่บันทึกภาพนั่งคู่เคียงพัดยศ กับภาพนักการเมืองที่แต่งกายเต็มยศ ติดเหรียญตราและคล้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุกวันนี้จึงถือเป็นธรรมเนียมที่ลูกศิษย์ลูกหาจะจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองพัดยศ (ไม่ว่าจะเป็น “ยอดทู่” หรือ “ยอดแหลม”) ให้แก่พระสงฆ์ผู้เป็นครูบาอาจารย์ รวมถึงเราอาจเคยพบเห็นหน้าบัน (หน้าจั่ว) อาคารต่างๆ ในวัด ตั้งแต่อุโบสถ วิหาร ศาลา ไปจนถึงฌาปนสถาน (เมรุเผาศพ) ที่ประดับด้วยภาพปูนปั้นระบายสีรูปพัดยศที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทาน
ล่าสุด การจัดลำดับความสำคัญของพัดยศ สมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธีรัฐพิธี ปี ๒๕๕๙ มีถึง ๖๗ ตำแหน่งหรือระดับ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ลงมาจนถึงพระพิธีธรรม
ในอดีต ขุนนางศักดินาที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งยังจะมีสิทธิ์แต่งตั้ง ขุนหมื่น คือข้าราชการระดับล่าง มาช่วยงานในหน้าที่ของตนได้ด้วย เช่นเดียวกับพระราชาคณะจะได้รับสิทธิ์
ให้แต่งตั้ง ฐานานุกรม จำนวนหนึ่ง มากน้อยตามลำดับชั้น เพื่อมาช่วยงานด้านการปกครองคณะสงฆ์ ทั้งนี้เมื่อพระราชาคณะรูปนั้นได้รับพระราชทานเลื่อนให้มีสมณศักดิ์สูงขึ้น จะสามารถแต่งตั้งฐานานุกรมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น พระราชาคณะชั้นสามัญ ตั้งฐานานุกรมได้สามตำแหน่ง คือ พระปลัด พระสมุห์ และพระใบฎีกา พระราชาคณะชั้นราช ตั้งฐานานุกรมเป็นพระครูได้สามตำแหน่ง คือ พระครูปลัด พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา พระราชาคณะชั้นราช ตั้งฐานานุกรมได้ ๔ รูป พระราชาคณะชั้นเทพตั้งได้ ๕ รูป พระราชาคณะชั้นธรรม ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป “รองสมเด็จ” ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป “สมเด็จ” ตั้งได้ ๑๐ รูป และสมเด็จพระสังฆราช ทรงตั้งฐานานุกรมได้ถึง ๑๕ รูป
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖
~ ราชาศัพท์ หมวดพระสงฆ์
ในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทยจัดให้คำที่ใช้เฉพาะกับพระสงฆ์เป็นคำราชาศัพท์ “หมวดพระสงฆ์” ตั้งแต่คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน เช่น ปลงผม (โกนหัว), ฉัน (กิน), ภัตตาหาร (อาหาร), สรงน้ำ (อาบน้ำ), จำวัด (นอน), อาพาธ (ป่วย), มรณภาพ (ตาย), นิมนต์ (เชิญ), ปัจจัย (เงิน) ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดให้ใช้ราชาศัพท์กับสมเด็จพระสังฆราชในระดับเดียวกับพระองค์เจ้า แม้แต่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ก็ต้องเลือกใช้สรรพนาม คำขึ้นต้น และคำลงท้ายในหนังสือ (จดหมาย) แตกต่างกันไปตามระดับชั้น เช่น
อ้างอิง
ข้อพึงปฏิบัติในการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๔๒.
~ พระสงฆ์ก็มี “เงินเดือน” แต่ไม่ใช่ทุกรูป
นิตยภัต
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายตามรูปศัพท์ว่า นิตยภัตคือ “อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ” ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างช้า เพราะมีกล่าวถึงใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ทรงเคยให้เจ้าพนักงานวิเสทปรุงอาหารคาวหวานถวายพระสงฆ์ที่ทรงใกล้ชิดคุ้นเคย แต่ต่อมาเมื่อพบว่าไม่สะดวกและไม่ทั่วถึงจึงทรงเปลี่ยนกลับไปเป็นการพระราชทานค่าอาหารที่เรียกว่า “นิตยภัต” ดังเดิม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้วางอัตรานิตยภัตพระราชทานตามสมณศักดิ์ จึงถือเป็นพระราชประเพณีสืบต่อมา ดังที่คู่มือปฏิบัติงานนิตยภัต (ปี ๒๕๕๕) ของสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมระบุว่า “เมื่อมีการพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์แล้ว ก็จะต้องพระราชทานนิตยภัตควบคู่กันไปด้วย”
จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังคงจัดสรรเงินงบประมาณถวายเป็นนิตยภัตหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “เงินเดือนพระ” แก่พระสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค และพระเลขานุการ (รวมถึงบรรพชิตจีนนิกายและอนัมนิกายที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์) เป็นรายเดือน ด้วยเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในส่วนงบบุคลากร ประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาทต่อปี โดยไม่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
จาก คู่มือปฏิบัติงานนิตยภัต (ปี ๒๕๕๕) กำหนดบัญชีอัตรานิตยภัต พระสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ เลขานุการ เปรียญธรรม ๙ ประโยค และพระอธิการ ไว้อย่างละเอียดเกือบ ๑๐๐ อัตรา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วน เช่น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ๓๗,๗๐๐ บาท
สมเด็จพระสังฆราช ๓๔,๒๐๐ บาท
เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ๑๐,๓๐๐ บาท
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๓๐,๘๐๐ บาท
สมเด็จพระราชาคณะ ๒๗,๔๐๐ บาท
กรรมการมหาเถรสมาคม ๒๓,๙๐๐ บาท
พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ
(รองสมเด็จพระราชาคณะ) ๒๐,๕๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นธรรม ๑๓,๗๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นเทพ ๑๐,๓๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นราช ๖,๙๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ. ๙ ๕,๕๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ. ๗-๘ ๕,๒๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ. ๕-๖ ๔,๘๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ. ๔ ๔,๕๐๐ บาท
พระราชาคณะชั้นสามัญ ป.ธ. ๓ ๔,๑๐๐ บาท
พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค ๔,๑๐๐ บาท
ดูรายละเอียดใน
ส่วนกิจการคณะสงฆ์ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. คู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๕๕.