“มหาปาสาณคูหา”
รอยศรัทธาของ “พระพิมลธรรม”
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ที่ย่างกุ้ง (Yangon) เมืองใหญ่ที่สุดในพม่า นอกจากต้นโพธิ์สองต้นที่รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงปลูกไว้ในคราวเสด็จฯ เยือนเมื่อปี ๒๕๐๓ ใกล้กับมหาเจดีย์กาบาเอ (Kaba Aye Pagoda เจดีย์สันติภาพ) แล้ว (ดูใน สารคดี ฉบับที่ ๔๔๐ พฤศจิ-กายน ๒๕๖๔) ใกล้กันแค่ระยะเดินไม่เกิน ๑๐ ก้าว ยังมีอนุสรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดไปเยือน (หากสงครามกลางเมืองในพม่าและโรคระบาดยุติลงในอนาคต) คือมหาปาสาณคูหา
โดยปรกติ มหาปาสาณคูหาที่มีป้ายด้านหน้าว่า MAHAPASANA SIMA GUHA ไม่ได้อยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยวไทย ทั้งที่หลายคนมาถึงเจดีย์สันติภาพแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ด้วยทั้งเจดีย์กาบาเอ ต้นโพธิ์ทรงปลูกของรัชกาลที่ ๙ และมหาปาสาณคูหา ล้วนมีความเป็นมาเกี่ยวร้อยกันอย่างน่าพิศวง มิหนำซ้ำยังถือเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทยด้วย
หลังได้รับเอกราชในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ โครงการใหญ่ที่รัฐบาลพม่าเอกราชชุดแรกซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีอูนุพยายามดำเนินการให้สำเร็จ คือการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ (ฉัฏฐ-สังคายนา) เนื่องในโอกาส ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อพุทธศาสนามีอายุ ๒,๕๐๐ ปี แต่เนื่องจากพม่านับปีพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี ดังนั้นกำหนดการเฉลิมฉลองจึงตรงกับปี ๒๔๙๙ ตามปฏิทินไทย
สำหรับพม่าเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่ ด้วยหากมองกลับไปในอดีต เราจะเห็นงานพิธีลักษณะนี้ทุกครั้งเมื่อเกิดการย้ายราชธานีหรือเริ่มต้นรัชกาลใหม่ เช่นในรัชกาลพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ปี ๒๓๙๖-๒๔๒๑) หลังย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่กรุงมัณฑะเลย์ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๕ ของโลก หลังจากนั้นทรงให้จารึกพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น รวม ๑,๔๒๘ หน้า ที่วัดกุโสดอ โดยมีการสร้างมณฑปครอบทุกแผ่น ด้วยทรงรับเป็นพระราชภาระในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ความพยายามนี้ดำเนินไปท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง ในประเทศมีชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช บางกลุ่มติดอาวุธสู้รบกับรัฐบาล ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดนด้านที่ติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ภายนอกประเทศ การต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจค่ายโลกเสรี (สหรัฐอเมริกา) กับคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียตและจีน) ในยุคสงครามเย็นตึงเครียดมากขึ้น พม่าถูกกดดันจากทั้งสองค่าย แต่อูนุพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยยึดถือความเป็นกลาง ดังนั้นการสังคายนาพระไตรปิฎกจึงสื่อความหมายถึงความปรารถนาให้เกิดสันติภาพขึ้นด้วย ซึ่งนั่นคือสาเหตุส่วนหนึ่งของการสร้างมหาเจดีย์กาบาเอที่แปลว่า “สันติภาพ”
ในส่วนของการสังคายนามีการทุ่มเทงบประมาณจัดเตรียมสถานที่ด้วยการสร้าง “มหาปาสาณคูหา” จำลองถ้ำสัตตบรรณคูหา สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในอินเดียขึ้นกลางกรุงย่างกุ้ง ใกล้มหาเจดีย์กาบาเอ โดยมีความจุได้ราว ๑ หมื่นคน (เท่ากับอาคารยิมเน-เซียมขนาดใหญ่) นอกจากนี้ยังเชิญคณะสงฆ์จากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทเข้าร่วม โดยคณะสงฆ์ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ
คณะสงฆ์ไทยขณะนั้นมีความเห็นต่างกันเป็นสองแนวทางส่วนใหญ่มองว่าพม่าเพิ่งได้รับเอกราช การประกาศตัวจัดการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการกระทำที่ “เกินตัว” ขณะที่ส่วนน้อยกลับมองว่าสมควรเข้าร่วม เพราะเป็นกิจกรรมอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา
พระเถระรูปเดียวในคณะสังฆมนตรี (ผู้บริหารคณะสงฆ์ภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔) ซึ่งยืนยันว่าคณะสงฆ์ไทยควรเข้าร่วม แม้จะเป็นเสียงข้างน้อย คือพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเดินทางไปเยือนของคณะสงฆ์ไทย โดยมีท่านเจ้าคุณอาจเป็นแกนนำสำคัญหลายครั้ง ตัวพระพิมลธรรม (อาจ) เองเข้าออกพม่ามากกว่า ๑๐ ครั้ง ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างการทำสังคายนา
พระพิมลธรรม (อาจ) จึงได้เห็นมหาปาสาณคูหาตั้งแต่แรกลงมือก่อสร้างจนเป็นรูปเป็นร่าง และกลายเป็นสถานที่จัดสังคายนาพระไตรปิฎกในเวลาต่อมา โดยระหว่างการสังคายนายังได้ใช้เป็นสถาที่ต้อนรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม [ผู้สนับสนุนพระพิมลธรรม (อาจ)] ที่มาเยือนอย่างเป็นทางการในปี ๒๔๙๘
ดังนั้นผู้ที่เข้าไปสัมผัสมหาปาสาณ-คูหาบ่อยครั้งที่สุดของฝั่งไทยย่อมได้แก่พระพิมลธรรม (อาจ)
ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะเสด็จฯ เยือนพม่าอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๐๓ และทรงปลูกต้นโพธิ์เป็นที่ระลึก โดยขณะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการรัฐประหารปี ๒๕๐๐ ส่วนพระพิมลธรรม (อาจ) ต้องเผชิญกับข้อหาคอมมิวนิสต์ ถูกบังคับสึก และกักขังอยู่ใน “สันติปาลาราม” (ภายหลังจึงพ้นคดีในปี ๒๕๐๙)
ไม่ว่าทางการพม่าจะมีเจตนาหรือไม่ ในพื้นที่นี้จึงเกิดประจักษ์พยานสามสิ่ง คือ มหาเจดีย์กาบาเอ (สะท้อนบรรยากาศสงครามเย็น), มหาปาสาณคูหา [ความพยายามแสดงตัวเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาของพม่า/บันทึกการเยือนของพระพิมลธรรม (อาจ)] กับต้นโพธิ์ทรงปลูกของรัชกาลที่ ๙ (พยานการสานต่อความสัมพันธ์ แม้การเมืองในไทยจะเปลี่ยนแปลง)
ปี ๒๕๖๑ ที่ผู้เขียนไปเยือนมหาปาสาณคูหา มองจากภายนอกดูคล้ายเนินเขาขนาดย่อมกลางพื้นที่สีเขียว ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก เมื่อเข้าไปภายในดูคล้ายยิมเนเซียมที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬา ผนังด้านตะวันตกมียกพื้นขึ้นเป็นเวทีด้านบนทำเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เหลืออีกสามด้านยกพื้นขึ้นเป็นอัฒจันทร์ที่นั่ง ตรงกลางเป็นพื้นที่ว่าง
พระสงฆ์รูปหนึ่งที่พาผมเข้าไปชมมหาปาสาณคูหาเล่าว่าระหว่างการสังคายนาพระไตรปิฎก พระสงฆ์จะนั่งจนเต็มอัฒจันทร์ทั้งสามด้าน รวมถึงพื้นลานตรงกลาง บนเวทีด้านตะวันตกเป็นอาสนะของบรรดาพระราชาคณะที่เป็นผู้นำการสังคายนา
“ทุกวันนี้ก็ยังใช้เป็นที่จัดงานประชุมสงฆ์และกิจกรรมอื่น ๆ ทางศาสนา แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมอะไรก็จะเปิดให้ญาติโยมเข้ามาไหว้พระ” หลวงพ่ออธิบาย
ทางทิศเหนือของมหาปาสาณคูหา คือสถานที่ปลูกต้นโพธิ์ที่ระลึกในปี ๒๕๐๓ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระ นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถของไทย ซึ่งมีป้ายระบุไว้ชัดเจน มาถึงตอนนี้กว่า ๖๐ ปีให้หลัง ต้นโพธิ์สองต้นก็เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านร่มรื่นไปทั่วบริเวณ
อ่านเรื่องราวของพระพิมลธรรม (อาจ) ใน สารคดี ฉบับที่ท่านถืออยู่นี้ จะพบว่า การเยือนพม่าของพระเถระรูปนี้เต็มไปด้วยเรื่องมากมาย ไม่ว่าการ “นำเข้า” วิธีเจริญสติวิปัสสนาแบบ “ยุบหนอ-พองหนอ” หรือการสานสัมพันธ์กับคณะสงฆ์พม่า ซึ่งลงเอยด้วยการที่ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องติดคุกอยู่หลายปี
มหาปาสาณคูหา มหาเจดีย์กาบาเอ และต้นโพธิ์ทรงปลูก จึงเป็น “พยาน” ของเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นทั้งของไทยและพม่า