Image

เคลียร์บ้าน เคลียร์ใจ

Holistic

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe

เมื่อปีใหม่เวียนมาถึง เรามักมองหาสิ่งของเพื่อเป็นของขวัญแก่ญาติผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง ลูกค้า หรือตัวเอง  แต่มีการให้ของขวัญสำหรับตัวเองและคนใกล้ชิดอีกแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึง คือกำจัดสิ่งของที่ “เต็ม” หรือ “ล้นบ้าน” เพื่อไม่ให้สิ่งของเหล่านี้กลายเป็นภาระใหญ่หลวงสำหรับคนที่อยู่ข้างหลังเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว หรือแม้เรายังมีชีวิตอยู่ก็เป็นภาระแก่ตัวเองอยู่นั่นเอง

ทุกวัฒนธรรมล้วนมีประเพณีกำจัดสิ่งของในช่วงบั้นปลายชีวิต เพื่อชำระจิตใจให้ปลอดโปร่งก่อนจากโลกนี้ไปโดยไม่ห่วงกังวล

ชาวฮินดูมีความเชื่อเรื่องการใช้ชีวิตแบบอาศรม ๔ หรือการใช้ชีวิตสี่ช่วง คือ พรหมจรรย์ ศึกษาเล่าเรียน, คฤหัสถ์ทำงาน มีครอบครัว, วานปรัสถ์ มอบทรัพย์สมบัติให้บุตรหลานและทำงานเพื่อส่วนรวม และสันยาสี ละทิ้งบ้านเรือนไปสู่ป่า ปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น

เมื่อไม่กี่ปีมานี้คนทั่วโลกรู้จักการจัดการหรือกำจัดสิ่งของก่อนตายแบบชาวสวีเดน จากหนังสือ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning : How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter ซึ่ง มาร์กาเรตา แมกนุสซัน (Margareta Magnusson) เขียนขึ้นจากแรงบันดาลใจในการจัดการสิ่งของในบ้านหลังสามีและพ่อแม่เธอเสียชีวิต

เธอบอกว่าเราควรเริ่มจัดการสิ่งของตั้งแต่ก้าวเข้าสู่วัยบั้นปลาย สำหรับเธอคือเมื่ออายุ ๖๕ ปี โดยทำแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เริ่มจากให้สิ่งของมีค่าแก่คนรอบตัว โดยมีเทคนิคคือตั้งคำถามว่า คนที่ได้รับของชิ้นนั้นไปจะมีความสุขมากกว่าที่ของชิ้นนั้นอยู่กับเราหรือไม่

ที่สำคัญคือให้ของที่เขาอยากได้ ให้ตระหนักว่าของที่เขาไม่อยากได้ตอนเรามีชีวิตอยู่ ตอนเราตายเขาก็จะไม่อยากได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรบริจาคหรือขายออกไปเสีย ซึ่งการขายของที่มีค่าตอนเรามีชีวิตอยู่ย่อมดีกว่าขายแบบ “เหมา ๆ” ตอนเราตายแล้ว

Image

ในสารคดีชีวิตของ ไอริส แอปเฟล (Iris Apfel) นักออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบแฟชั่น และนางแบบที่อายุครบ ๑๐๐ ปีใน ค.ศ. ๒๐๒๑ มีภาพบ้านและโกดังซึ่งเต็มไปด้วยของตกแต่งบ้านและเสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพงที่เธอได้มาระหว่างเดินทางไปทั่วโลกนับครั้งไม่ถ้วน จนในบ้านแทบไม่มีที่ว่าง ตอนท้ายของสารคดีเธอตัดสินใจจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งของเหล่านั้น เช่น บริจาคเสื้อผ้าหรูหรานับพันชิ้นเพื่อทำพิพิธภัณฑ์เสื้อผ้า โดยให้เหตุผลว่า “ถึงเวลา” ที่ต้องจัดการแล้ว และควรจัดการตอนเธอยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งขณะถ่ายทำสารคดีเธออายุกว่า ๙๐ ปี

ในบ้านเราเมื่อต้นปีอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ นักสะสมผ้าเก่า เสื้อผ้า เครื่องประดับ และของใช้ต่าง ๆ ก็เริ่มนำสิ่งของสะสมล้ำค่าหายากมาจำหน่ายจ่ายแจกด้วยเหตุผลเดียวกัน

อีกสิ่งสำคัญคือการ “ป่าวประกาศ” หรือบอกกล่าวผู้อื่นว่าเรากำลังเริ่มต้นจัดการสิ่งของเพื่อเตรียมตัวตาย ทั้งเพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นพยาน และให้สมาชิกในครอบครัวรับรู้แผนการเตรียมตัวตายของเรา ช่วยให้คนใกล้ชิดมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจรับการตายของเราอีกด้วย

ในคนวัยหนุ่มสาว แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตแบบมีข้าวของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นหรือมินิมอลลิสม์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น พวกเขาล้วนพูดตรงกันว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ช่วยให้ค้นพบอิสรภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อไม่ต้องจัดเก็บหรือทำความสะอาดบ้านที่มีสิ่งของมากเกินไป ก็มีเวลาไปทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว และเมื่อไม่ต้องหาเงินมาซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ต้อง “ทน” ทำงานที่ไม่ชอบ หรือทำงานน้อยลง ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น

อลิซ คราดี (Alice Crady) เขียนบทความ “แปดปีที่ฉันเป็นมินิมอลลิสต์ ทำให้ฉันสร้างชีวิตที่มีความหมาย” ซึ่งหมายถึงการสามารถ “เลือก” และ “ควบคุม” สิ่งต่าง ๆ ได้ แทนการปล่อยให้การตลาดเป็นตัวผลักดันการตัดสินใจ ที่จะ “ทำ” หรือ “ซื้อ” หรือพยายามวิ่งตามกระแสนิยมเพื่อให้คนอื่นประทับใจ ซึ่งเมื่อเรากำจัดสิ่งของไม่จำเป็นออกไปได้ก็จะมองเห็น “เส้นทาง” ชีวิตชัดเจนขึ้น และทุ่มเทเวลาและพลังงานที่มีจำกัดไปกับสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต

“มินิมอลลิสม์คือกระบวนการต่อเนื่องในการนำสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับสิ่งสำคัญ เราจะใช้เวลาน้อยลงในการทำงานที่มากเกินไปเพื่อให้คนที่เราไม่ชอบประทับใจและโอบรับสิ่งที่มีความหมายมาสู่ชีวิตได้มากขึ้น” เธอกล่าว

ปีใหม่นี้ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงวัยใดมาให้ของขวัญกับตัวเองและคนรอบข้างสร้างชีวิตที่มีความหมายด้วยการจัดการสิ่งของกันเถอะค่ะ  

๏ มารีเอะ คนโด 
นักจัดบ้านชาวญี่ปุ่น แนะนำให้เริ่มจัดการสิ่งของทีละประเภท เช่น เสื้อผ้า เครื่องครัว หนังสือโดยเลือกเฉพาะสิ่งของที่ “ชอบ” และ “ใช้” ไว้เท่านั้น

๏ โจชัวร์ เบเกอร์ 
มินิมอลลิสต์ชื่อดัง แนะนำให้เริ่มจากสิ่งของที่ต้องการและของที่ชอบ ด้วยการถามตัวเองว่า “อะไรคือของที่ฉันต้องการจริง ๆ” แล้วดึงของที่ไม่ต้องการออก สุดท้ายจะเหลือแต่ของที่เราชอบจริง ๆ

๏ ก้าวทีละก้าว (เล็ก ๆ) 
หากยังรู้สึก “อาลัยอาวรณ์” สิ่งของชิ้นนั้น ให้เก็บไว้ในกล่อง “รอตัดสินใจ” แล้วกำหนดเวลาที่แน่นอนเพื่อย้อนกลับมาดูอีกครั้ง ค่อย ๆ เปลี่ยนตามจังหวะก้าวของตัวเอง

๏ มองหาความสำเร็จครั้งใหญ่
อลิซ คราดี ตัดสินใจขายรถยนต์ ซึ่งทำให้เธอประหยัดเงินและมีโอกาสทำสิ่งที่อยากทำและสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย  เธอบอกว่าอะไรที่ใช้พื้นที่ ใช้เวลา และใช้พลังงานมากก็ควรจะคุ้มค่า

๏ ใช้กฎ ๒๐ : ๒๐ 
นักมินิมอลลิสต์แนะนำวิธี “ปล่อย (วาง)” สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ เมื่อสามารถแลกเป็นเงินได้ ๒๐ เหรียญ ภายใน ๒๐ นาที

๏ “เผื่อได้ใช้” 
หมายถึงไม่มีวันได้ใช้  
หากมีคำนี้ขึ้นมา ให้จัดของชิ้นนั้นอยู่ในกลุ่ม
ของรอทิ้งหรือบริจาคได้เลย

๏ มาร์กาเรตา แมกนุสซัน 
บอกว่าหากจะให้รางวัลตัวเอง อย่าซื้อของเข้าบ้านเหมือนที่เคยทำ แค่ไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวหาประสบการณ์ หรือกินเค้กอร่อย ๆ แทน