ทำไมกลัวผี ?

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

คนเรานี่กลัวสารพัดสิ่งอย่าง ถ้ากลัวมาก ๆ ก็เรียกว่าโฟเบีย (phobia) ซึ่งก็กลัวกันตั้งแต่ความสูง การบิน ที่แคบหรือที่ปิด การพูดต่อหน้าผู้คน สัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าแมงมุม สุนัข งู ไปจนถึงกลัวเลือด หมอฟันหรือการทำฟัน !

มีความกลัวกลุ่มหนึ่งที่ดูลึกลับ สร้างความยากลำบากให้ชีวิตไม่น้อย คือกลัวความมืดหรือยามค่ำคืน เช่น กลัวจะมีสัตว์ประหลาดโผล่มาใต้เตียงในเวลากลางคืน กลัวเรื่องเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ความตาย หรือผี

เรื่องกลัวผีหรือสัตว์ประหลาดต่าง ๆ ที่ไม่มีจริง น่าสนใจมากเป็นพิเศษ

ดอกเตอร์ต็อก ทอมป์สัน (Tok Thompson) จากวิทยาลัยยูเอสซีดอร์นไซฟ์ แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียศึกษาเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก เขาเชื่อว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดและผีเป็นสิ่งที่สังคมยุคแรกเริ่มใช้สอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติ เช่นหมีหรือหมาจิ้งจอก

เมื่อเวลาผ่านไปคนก็ค้นหาความหมายของชีวิตและความตายมากขึ้น เรื่องราวพวกนี้เริ่มถูกนำมาใช้สะท้อนให้เกิดการตระหนักในตัวเองและกลายมาเป็นการต่อสู้กับปีศาจภายในตัวตน จนเกิดเป็นระบบศีลธรรมของกลุ่มในที่สุด

ทอมป์สันสอนวิชา “เรื่องเล่าเกี่ยวกับผี : ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ทั่วโลก” ให้พวกเด็กปี ๑ ทำให้เขาสรุปว่านิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดหรือผีพบในสังคมหรือกลุ่มชนส่วนใหญ่ เช่น ซอมบีที่เดิมเป็นเรื่องของพวกแอฟริกันตะวันตกแวมไพร์ที่มีต้นกำเนิดในยุโรปตะวันออก และยักษ์จีนีที่มาจากตะวันออกกลาง ฯลฯ ก่อนแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

สัตว์ประหลาดเหล่านี้มีส่วนกำหนดความเป็นไปของสังคมนั้น ๆ และแสดงให้เห็นว่าผู้คนมักจะนำเรื่องราวน่ากลัวที่มีอยู่เดิมมาปรับแต่งใหม่ให้เข้ายุคสมัย โดยมีรากอยู่ที่ความกลัวตายและชีวิตหลังความตาย

ในงานวิจัยของ ริคาร์โด เดอ โอลิเวียราโซว์ซา ที่ศึกษาผู้ป่วยหกรายและเผยแพร่เป็นบทความในวารสารด้านจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) บนแพลตฟอร์ม Frontiers ค.ศ. ๒๐๑๘ ชี้ว่า ความกลัวผีและเรื่องเหนือธรรมชาติอาจเกี่ยวข้องกันและพบได้บ่อยกว่าที่คิด โดยมีอาการคือทำให้หวาดผวา นอนไม่ค่อยหลับ และมีปัญหาในการทำงานหรือเข้าสังคม

ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ความกลัวแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเด็กและจะยังคงเป็นต่อมาในช่วงวัยรุ่น จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่โดยผู้ป่วย “สัมผัสได้” ถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตนหรือไม่อาจสัมผัสได้ผ่านประสาทสัมผัสปรกติ อาการหนึ่งที่พบตรงกันในผู้ป่วยหลายคนคือรู้สึกว่ามีใครหรืออะไรจับตาเฝ้ามองอยู่

ผู้ป่วยเหล่านี้รู้ตัวตลอดเวลาและอายที่จะเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง

ที่น่าสนใจคือ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าอาการกลัวทำนองนี้อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีอาการทำนองนี้อย่างหนักก็มีโอกาสเกิดความผิดปรกติทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน

คนที่มีประสบการณ์เจอผีหรือเคยไปบ้านผีสิงก็มีแนวโน้มพบเจอผีได้บ่อยกว่าคนทั่วไป  อันที่จริงแม้แต่ดูหนังสยองขวัญหรืออยู่ในกลุ่มศาสนาที่มีเรื่องราวเหนือธรรมชาติเล่าสู่กันฟังบ่อย ๆ ก็เจอผีได้บ่อยมากขึ้นอีก

จะเรียกว่าเป็นผลจากอิทธิพลทางสังคมก็คงไม่ผิด

ใน ค.ศ. ๒๐๑๕ มีการสำรวจที่เรียกว่า The Chapman University Survey of American Fears, Wave 2 เก็บข้อมูลจากคนราว ๑,๕๐๐ คน ทำให้พบว่าคนอเมริกันกลัวสารพัด

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผู้สำรวจพบว่าคนที่เชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณและเรื่องเหนือธรรมชาติมีแนวโน้มจะกลัวเรื่องต่าง ๆ โดยรวม ๆ มากกว่าคนทั่วไป เรียกว่าคนกลุ่มนี้ “จิตอ่อน” กลัวง่ายตามธรรมชาติ

Image

โดยส่วนที่แสดงความเกี่ยวข้องให้เห็นอย่างชัดเจนมากที่สุดก็คือ คนที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมักจะกลัวอาชญากรรมและภัยธรรมชาติด้วยนักวิจัยตั้งข้อสังเกตไว้เรื่องหนึ่งที่

น่าสนใจดีเหมือนกันคือ จากข้อมูลที่ได้รับทำให้พวกเขาเห็นว่า ระดับการศึกษามีผลต่อความเชื่อเรื่องผีสางและเหนือธรรมชาติ กล่าวคือคนที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่ามักกลัวง่ายกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดความรู้หรือทักษะที่จะใช้ประเมินข้อมูลและความน่าเชื่อถือของภัยคุกคามต่าง ๆ เหล่านี้

นอกจากนี้พวกเขายังเชื่อทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ง่ายกว่าด้วย โดยเฉพาะทฤษฎีที่แพร่กระจายความกลัวหรือทำให้รู้สึกว่าเรื่องต่าง ๆ มีอันตราย

หากเจาะดูเฉพาะเรื่องผี ผู้ตอบแบบสำรวจราว ๔๑.๔ เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า เชื่อว่ามีผีหรือวิญญาณอยู่จริง แต่มีแค่เพียง ๙.๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่า กลัวผีหรือวิญญาณจริง ๆ ! ! !

แต่โดยรวมผู้ตอบแบบสำรวจครั้งนั้นกลัวเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธชีวภาพ การก่อการร้าย หรือการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ากลัวผีเสียอีก !

งานวิจัยชิ้นสุดท้ายที่อยากจะเล่าก็คือ เรื่องที่นักวิจัยพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างความสามารถในการ “จินตนาการ” กับอารมณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะใช้อธิบายได้ (บางส่วน) ว่า ทำไมบางคนจึงกลัวผีเอามาก ๆ ในขณะที่บางคนกลับไม่กลัวผีเลย

งานวิจัยนี้มีอาสาสมัคร ๔๖ คน ในจำนวนนี้มี ๒๒ คนกลัวผี  กำหนดให้อาสาสมัครเข้าไปในห้องมืด แปะขั้วไฟฟ้าที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงระดับการนำไฟฟ้าที่ผิวไว้ตามผิวหนัง หากอาสาสมัครตื่นเต้นมากก็จะมีเหงื่อออก การนำไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนแปลงไป

จากนั้นนักวิจัยปิดไฟโดยให้อาสาสมัครนั่งอยู่คนเดียว แล้วจึงฉายตัวอักษรขึ้นบนจอ แรก ๆ ก็บรรยายสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวอะไร เช่น ภาพบนชายหาด การลงไปอยู่ในน้ำ บนเครื่องบินหรือข้างหน้าต่าง จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มความระทึกใจ เช่น อธิบายถึงแสงไฟสีเข้มอยู่ปลายคลื่นไกล ๆ เห็นคนที่ชายหาดชี้มือชี้ไม้ หรือไม่ก็ไฟในห้องโดยสารเครื่องบินค่อย ๆ หรี่ลงพร้อม ๆ กับเครื่องบินที่เขย่าไปทั้งลำ

ขณะที่เรื่องเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มมีค่าการนำไฟฟ้าที่ผิวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกัน แต่ที่น่าสนใจคือมีบางคนที่ค่าการนำไฟฟ้าที่ผิวแทบไม่เปลี่ยนแปลง คือยังคงแทบจะเป็นเส้นราบเรียบ

นักวิจัยทดลองอีกรอบหนึ่งเพื่อให้แน่ใจ ครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้รูปภาพแทน โดยใช้ภาพซากสัตว์หรือไม่ก็งูแยกเขี้ยว

คราวนี้ทั้งสองกลุ่มได้ผลเหมือน ๆ กัน ค่าการนำไฟฟ้ากระฉูดพอกัน !

นักวิจัยสรุปว่าพวกที่อ่านตัวอักษรบรรยายเหตุการณ์แล้วไม่กลัว แต่เห็นรูปแล้วกลัวนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่ระบุว่าตัวเองไม่กลัวผี เป็นพวกไม่สามารถเชื่อมโยงอารมณ์กับการ “อ่าน” เรื่องสยองขวัญได้ และจะเกิดความกลัวก็ต่อเมื่อได้ “เห็น” ภาพน่ากลัวเท่านั้น

คนพวกนี้ไม่สามารถสร้างภาพและจินตนาการจนเกิดความกลัวได้ คาดว่าคนพวกนี้มีอยู่ราว ๒-๕ เปอร์เซ็นต์ของประชากร และยังไม่ค่อยมีงานวิจัยเกี่ยวกับคนพวกนี้มากนัก

ถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพรวมว่า การกลัวผีของคนแต่ละคนเป็นส่วนผสมของปัจจัยต่าง ๆ จำนวนมาก ตั้งแต่กรรมพันธุ์ ลักษณะของสมอง ไปจนถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางสังคม

แต่อย่างที่ผมกล่าวหลายครั้งในหลายสถานที่ว่า ยืนยันได้จริง ๆ ว่าคนที่ไม่กลัวผีจะมีโอกาสเจอผี “น้อยกว่า” คนที่กลัวผีหรือกลัวเรื่องเหนือธรรมชาติ “อย่างเห็นได้ชัด”

ดังนั้นถ้าไม่อยากเจอผี
ก็เลิกกลัวผีสิครับ !