Image

ขนมปังเปลี่ยนชีวิต
โรส-วริศรา (ลี้ธีระกุล) มหากายี

Interview

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เหมือนได้ทำความรู้จักกับโลกใหม่ของขนมปังเพลินไปกับแง่มุมมหัศจรรย์ของ “แป้ง ยีสต์ น้ำ เกลือ” ที่เชื่อมโยงชีวิตมนุษย์

ผ่านประสบการณ์ โรส-วริศรา (ลี้ธีระกุล) มหากายี อดีตมิสเอเชีย ปี ๒๕๓๑ ผู้อยู่วงการบันเทิงนับ ๒๐ ปีก่อนผันตนบุกเบิก มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ปลูกสำนึกรักธรรมชาติผ่านกระบวนการศิลปะแก่เด็ก ๆ โรงเรียนสินแร่-สยาม บนพื้นที่เขากระโจมของสวนผึ้งในราชบุรี ชีวิตในป่าทำให้หลงรักงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ นำมาสู่การลาขาดวงการบันเทิงแล้วทุ่มเวลาให้งานแห่งชีวิต พร้อมเริ่มชีวิตคู่กับ “คทา มหากายี” และปั้น โรงแรมพระนครนอนเล่น สถานที่ตั้งต้นความคิด “ขนมปังเปลี่ยนชีวิต”

สิบปีมานี้เธอใช้ร่างทั้งร่างเป็นดวงตา ขัดเกลาประสาทสัมผัสทั้งห้าให้เฉียบคม ใช้อาชีพ “ครูสอนทำขนมปัง” นำทางนักเรียนสู่โพรงแต่ละชั้นผ่านกระบวนการกรอบนอก นุ่มใน ศึกษาชีวิตเร้นลับของก้อนแป้งผสมเชื้อที่ต้องจับจ้องและรอคอยอย่างใจเย็น ไปจนนวดคลึงขึ้นรูปและส่งเข้าเตาอบ

ขณะแปรผลว่าขนมปังกำลังรู้สึก-สื่อสารอะไร คนทำขนมปังจะรู้จักเนื้อแท้ชีวิตตน

ยิ่งคนทำขนมปังซื่อตรงกับตัวเองเท่าไร ภาษาไร้ตัวอักษรของขนมปังจะยิ่งปรากฏ

แป้ง + ยีสต์  
พระนครนอนเล่น

ความสัมพันธ์ของแป้ง+ยีสต์ = คุณภาพชีวิตของขนมปัง

“เทคนิคทำขนมปังให้ดีมีครูเก่ง ๆ สอนเยอะอยู่แล้ว โรสจึงอยากถ่ายทอดความเชื่อมโยงของขนมปังกับชีวิตคนว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร ขณะทำขนมปังได้พบอะไร แล้วนำมาพัฒนาใจตนแบบไหน มันมีมิติมากกว่าเรื่องอาหารเป็นการเรียนรู้ผ่านขนมปังเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน”

เจ้าของหลักสูตรพานั่งไทม์แมชีนย้อนสู่จุดเกิดเหตุที่ โรงแรมพระนครนอนเล่น

“เมื่อ ๘-๙ ปีก่อน ที่โรงแรมฯ มีบริการเสิร์ฟขนมปังให้ลูกค้า เราอยากได้ขนมปังในรสนิยมที่ฝรั่งชอบจึงเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า ต้องยอมรับว่ามันแพงและเราต้องใช้จำนวนมากจึงต้องไปดักรอซื้อตอนห้างใกล้ปิดทุกวัน ให้พนักงานนำออกมาลดราคา จนรู้สึกไม่ไหวแล้ว อยากให้โรงแรมมีห้องทำขนมเล็ก ๆ จึงส่งน้องคนหนึ่งไปเรียน แต่สื่อสารพลาด เขากลับบ้านต่างจังหวัด โรสจึงไปเรียนแทน ไม่น่าเชื่อว่า ๒ วันแห่งการเรียนทำขนมปังได้เปลี่ยนเวลาที่เหลือทั้งชีวิตของเราโรสรู้สึกหลงใหลเสน่ห์ในกระบวนการทำขนมปัง คงเพราะที่ผ่านมาเป็นผู้จัดการโรงแรมฯ ก็มีแต่ออกคำสั่งแล้วให้พนักงานทำต่อ ไม่ได้ฝึกตัวเองให้เป็นผู้ลงมือทำจนจบกระบวนการ แต่กับขนมปังเมื่อลงมือแล้วต้องทำให้จบ ตอนเอาขนมปังที่เราทำทุกอย่างด้วยมือกลับบ้านจึงเกิดความรู้สึก ฮ้า...ความสุขของการลงมือทำแล้วเสร็จมันมีความสุขแบบนี้นี่เอง”

Image