Image

อย่างไรจึงเห็นงาม

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง : เรื่อง ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา

ความงามคืออะไร น่าจะเป็นคำถามที่ผู้คนสนใจมาเนิ่นนาน สิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติต้องเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นจึงจะรู้สึกว่างาม คนสวยคนหล่อต้องมีหน้าตาเป็นเช่นไร น่าจะมีคนอยากรู้ข้อสรุป

อันที่จริงมีงานวิจัยที่พยายามหา “กฎความงาม” ตามธรรมชาติ รวมถึงความงามของใบหน้าคนอยู่ไม่น้อยทีเดียว บ้างก็สรุปว่าใบหน้าที่ “ดูดี” ต้องมีสัดส่วนอย่างจำเพาะของอวัยวะบนใบหน้า ยกตัวอย่างสัดส่วนตำแหน่งและความยาวของตาเทียบกับจมูกและปาก เป็นต้น

หากกล่าวให้ครอบคลุมที่สุด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าใบหน้าที่คนส่วนใหญ่มองว่างดงามนั้นมี “สมมาตร (symmetry)” แบบซ้ายขวา คือซีกหน้าด้านซ้ายและขวาเหมือนกันมาก

จะทดสอบได้อย่างไรว่าใบหน้าของเราเป็นอย่างนั้นหรือไม่

ในยุคนี้ตอบคำถามนี้ง่ายมาก เพราะเราสามารถใช้โปรแกรมจัดการรูปภาพที่มีอยู่มากมาย (เช่น โฟโตชอป ฯลฯ) ตัดเอาครึ่งหน้า เช่น อาจตัดซีกขวายกออกไปไว้ก่อน แล้วก๊อบปี้ใบหน้าซีกซ้ายพลิกสลับกลับข้าง นำมาเทียบกันดูกับใบหน้าซีกขวาเดิม ถ้าเหมือนกันมากก็แสดงว่ามีสมมาตรดี

ที่น่าสนใจคือในภาพยนตร์ใช้เรื่องนี้สร้างความงามให้คนดูรับรู้ผ่านการถ่ายภาพใบหน้านักแสดง แต่ค่อย ๆ ทำให้เห็นว่าเป็นภาพสะท้อนจากกระจกแสดงให้เห็นความงามจากสมมาตรกับกระจกเงา !

สตีเวน ไวน์เบิร์ก (Steven Weinberg) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เขียนอธิบายเรื่องความงามไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือชื่อ
Dreams of a Final Theory (ความฝันถึงทฤษฎีสุดท้าย) ว่าเรื่องสมมาตรไม่ได้สำคัญกับความสวยความหล่อของคนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความรู้สึกสวยงามต่อรูปทรงตามธรรมชาติด้วย

หลักความสมมาตรคือลักษณะของสิ่งใดก็ตามเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างก็ยังเห็นภาพเป็นเหมือนเดิม โดยสมมาตรซ้ายขวาเป็นพื้นฐานมากที่สุดที่พบในธรรมชาติ และนี่เองที่เป็นบ่อเกิดความงดงามของใบหน้ามนุษย์

พวกผลึกต่าง ๆ ที่มองเห็นกันว่าสวยงามก็มีสมมาตรซ้ายขวาหรือมากกว่านั้นแทบทั้งสิ้น เช่น ลูกบาศก์หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่ามีสมมาตรหกทิศทาง คือ ด้านข้างทั้งสี่หน้า และบนล่างอีกสองหน้า

ผลึกเกลือทรงลูกบาศก์ก็ถือว่ามีความงามจำเพาะตัว ทำนองเดียวกัน รูปทรงกลมที่ไม่ว่าจะมองจากทิศทางใดก็เหมือนกันหมดก็ถือเป็นรูปทรงงดงามสุดยอดมาแต่ไหนแต่ไร

ที่น่าสนใจคือ สำหรับนักฟิสิกส์แล้วพื้นที่หรือปริมาตรที่มีแต่ความว่างก็ถือว่ามีสมมาตรทุกทิศทางเช่นเดียวกัน อวกาศจึงมีความงามแทบสมบูรณ์แบบ !

ในสายตาของไวน์เบิร์กนั้น สมมาตรของรูปทรงยังไม่ใช่สุดยอดของความงามตามธรรมชาติ เพราะอันนั้นต้องยกให้ “สมมาตรของกฎ” ต่าง ๆ ต่างหาก

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าสมมาตรของกฎตามธรรมชาติเกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนมุมมองต่อปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ แต่กฎของธรรมชาตินั้นก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า “กฎของความไม่แปรปรวน (laws of invariance)”

Image

เขายกตัวอย่างว่าเดิมการทดลองทางฟิสิกส์เมื่อวัดค่าต่าง ๆ นั้น มักจะไม่ขึ้นกับทิศทาง

จนเมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นแล้วนั่นแหละเราจึงเห็นความแตกต่างของเรื่องนี้ เนื่องจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของโลก แต่ในสมัยของอริสโตเติลไม่มีใครรับรู้หรือมองข้ามไปและเป็นเช่นนั้นต่อมาอีกเกือบ ๒,๐๐๐ ปี


นอกจากนี้กฎธรรมชาติยังตรวจวัดได้ในทุกที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะวัดที่แล็บหรือกลางแจ้ง ยุโรปหรือประเทศไทย


เรื่องนี้ยังไม่ขึ้นกับเวลาอีกด้วย กฎฟิสิกส์ที่เราใช้กันเดี๋ยวนี้ก็ใช้ได้กับยุคที่พระพุทธเจ้าและพระเยซูยังมีพระชนม์ชีพอยู่


หากกฎทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตามเวลาและสถานที่ คงเกิดความโกลาหล


ครั้งใหญ่เป็นแน่ ผลการทดลองที่สหรัฐ-อเมริกาอาจต่างจากที่ประเทศไทย เราอาจต้องใช้เงิน เวลา และความพยายามมากมายเพื่อพิสูจน์ว่ากฎข้อใดยังใช้ได้กับประเทศไทยอยู่บ้าง


นี่เองที่มักอ้างกันว่าเป็นความงามขั้นสุดยอดของวิทยาศาสตร์ เพราะฟิสิกส์ใช้ได้กับทุกที่ในจักรวาล และภาษาคณิตศาสตร์น่าจะเป็น “ภาษาสากล”
ของเอกภพ ถ้าจะมีมนุษย์ต่างดาวพวกเขาเหล่านั้นก็ย่อมจะต้องรับรู้ได้ถึงคณิตศาสตร์

มิฉะนั้นจะไม่สามารถเข้าใจโลกของพวกเขา จักรวาล และสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ได้เลย


ที่น่าสนใจสำหรับนักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ก็คือคุณสมบัติหรือคุณ
ลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่อธิบายได้ผ่านสมการนั้น มักถือกันว่ายิ่งสมการ “เรียบง่าย” เท่าใดก็ยิ่งงดงามมากขึ้นเท่านั้น

คำว่า “เรียบง่าย” ในที่นี้คือใช้ตัวแปรและค่าคงที่จำนวนน้อย แต่อธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักฟิสิกส์อีกคนคือ ริชาร์ด ไฟย์นแมน (Richard Feynman) เคยเล่าไว้ว่า

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นศิลปิน บางทีก็มีมุมมองที่ผมไม่เห็นด้วยนัก เขาถือดอกไม้ไว้และกล่าวว่า ‘ดูสิว่ามันสวยขนาดไหน’ ซึ่งผมก็เห็นด้วย จากนั้นเขาก็กล่าวว่า ‘ในฐานะศิลปิน ผมเห็นความงามของสิ่งนี้ได้ แต่คุณในฐานะนักวิทยาศาสตร์กลับแยกทั้งหมดออกเป็นส่วน ๆ จนกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ’

นั่นทำให้ผมคิดว่าเขาออกจะประสาท

เรื่องแรกเลยคือความงามที่เขาสังเกตเห็น ผมว่าคนอื่นก็เห็นและผมก็เห็นเหมือนกัน แม้ว่าผมอาจจะไม่สามารถอธิบายอย่างมีสุนทรียภาพมากเท่าที่เขาทำได้...แต่ผมก็ชื่นชมความงามของดอกไม้ได้เช่นกัน

Image

ในขณะเดียวกันผมยังเห็นดอกไม้ได้มากกว่าที่เขาเห็น ผมจินตนาการถึงเซลล์ในนั้น ปฏิกิริยาสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นภายใน ซึ่งก็เป็นสิ่งสวยงามเช่นกัน ผมหมายความว่ามันไม่ได้สวยงามในมิติขนาด ๑ เซนติเมตรแต่เพียงเท่านั้น ยังมีความงามในมิติที่เล็กกว่า ทั้งโครงสร้างภายในและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่ว่าสีสันของดอกไม้วิวัฒน์มาเพื่อดึงดูดแมลงให้มาช่วยผสมเกสรเป็นเรื่องน่าสนใจ นี่ย่อมหมายความว่าแมลงก็มองเห็นสีสันพวกนั้นได้ ทำให้เกิดคำถามว่าความรู้สึกถึงสุนทรียภาพทำนองนี้ดำรงอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนน้อยกว่าหรือไม่ เหตุใดจึงเกิดสุนทรีย-ภาพขึ้น

คำถามที่น่าสนใจทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ซึ่งวิทยาศาสตร์ทำให้รู้ได้ มีแต่จะเพิ่มเติมความตื่นเต้น ความลึกลับ และความน่าทึ่งชวนอึ้งของดอกไม้ มีแต่เพิ่มเติมให้มากขึ้น ผมไม่เข้าใจเลยว่ามันจะลดทอนให้เหลือน้อยลงได้อย่างไร”

ไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Asimov) นักเคมีและนักเขียนไซไฟผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในสมัยใหม่ เคยเขียนถึงบทกลอนของ วอลต์ วิตแมน (Walt Whitman) ที่บรรยายถึงความเหนื่อยหน่ายในยามที่ต้องดูนักดาราศาสตร์เอาข้อพิสูจน์ ตัวเลข ตาราง แผนภาพมาแสดง พร้อมบวกลบคูณหารให้ดู แล้วสรุปว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่เพียงแต่เงยหน้าขึ้นมองดวงดาราอย่างเงียบงันเล่า

เขาเขียนตอบเป็นบทความชื่อ “วิทยาศาสตร์และความงาม” (Science and Beauty) ยาวกว่าสามหน้า (ในที่นี้ตัดตอนมาแค่บางส่วน) ดังนี้

“ผมจินตนาการว่าคงมีคนจำนวนมากที่อ่านกลอนดังกล่าวแล้วกล่าวอย่างยินดีกับตัวเองว่า จริงเสียเหลือเกิน ! วิทยาศาสตร์ก็แค่ทำลายความงามของทุกอย่างจนหมดสิ้น ลดทอนทุกอย่างให้เหลือแค่ตัวเลขตาราง และการวัด ! ทำไมต้องเรียนเรื่องขยะเหล่านี้ ในเมื่อเราก็แค่เดินออกนอกบ้านแล้วเงยหน้ามองดูดวงดาวได้...

(อาซิมอฟเล่าถึงความมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่นักดาราศาสตร์ค้นพบและทำให้เรารู้เกี่ยวกับดวงดาวและจักรวาลมากขึ้นในห้วงเวลานั้น)

วิสัยทัศน์ทั้งหมดเหล่านี้ที่ไกลเกินกว่าจินตนาการของมนุษย์จะมีได้ก็เกิดขึ้นด้วยงานของนักดาราศาสตร์ ‘ผู้คงแก่เรียน’ นับร้อย ๆ คน ทั้งหมดนี้ ทั้งหมดนั้นเลยได้รับการค้นพบหลังการตายของวิตแมนใน ค.ศ. ๑๙๙๒ และส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมา ดังนั้นกวีผู้น่าสงสารไม่เคยได้รับรู้เลยว่าเมื่อเขา ‘เงยหน้าขึ้นมองดวงดาวในความเงียบอันสมบูรณ์แบบ’ นั้น เป็นความงดงามที่ไร้ค่าและจำกัดจำเขี่ยเพียงใด”

ปัจจุบันเราเองก็ไม่อาจรู้หรือจินตนาการได้ว่า ความงามในยุคของเราจำกัดจำเขี่ยเพียงใด เมื่อเทียบกับความงามที่จะปรากฏในอนาคตด้วยวิทยาศาสตร์