เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“ปู่ของฉันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อพยพจากเมืองจีน สมัครใจเป็นกรรมกรทำงานในเหมือง แต่เป็นการเข้าเมืองในลักษณะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้การรับรองจากรัฐ ส่งผลให้พ่อกับแม่แม้จะเกิดบนแผ่นดินมาลายาก็ยังไร้สัญชาติ ฉันมีใบเกิดในรัฐเนกรีเซมบีลันก็ไม่ได้รับสัญชาติ”
ลองหลับตานึกภาพดูว่าตอนอายุ ๗ ขวบ เรากำลังทำอะไร
วัยเดียวกัน เย่เอ๋อ (月娥) เด็กหญิงเชื้อสายจีนผู้กำเนิดในสหพันธรัฐมาลายา โตในครอบครัวที่ถูกเจ้าอาณานิคมใช้อำนาจเอาเปรียบ รังแก เข่นฆ่า ปู่ย่าตายาย จนรุ่นพ่อแม่จึงสมัครใจสนับสนุน-เข้าร่วมเป็นสมาชิก “พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา”
วันหนึ่งสิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวก็มาถึง พ่อของเธอสละชีพต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ส่วนแม่เมื่อถูกจับได้ว่าเข้าร่วมกับกองกำลังประชาชนพรรคคอมมิวนิสต์ฯ จึงถูกเนรเทศไปจีน ไม่นานเด็กน้อยก็ถูกโชคชะตาบังคับให้อพยพจากแผ่นดินเกิด
การพลัดพราก บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นจุดเริ่มที่บอกตนว่า
“ฉันคือเมล็ดพันธุ์ที่ผุดขึ้นจากการถูกกดขี่ ถูกปลูกฝังด้วยวิธีต่อต้าน และจะเติบโตเพื่อขับไล่”
เย่เอ๋อ แซ่หลอ (罗月娥) ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอุทิศแด่อุดมการณ์เช่นที่เห็นคนในครอบครัวต่อสู้ตั้งแต่จำความได้
ขณะที่นักปฏิวัติวัยหลังเกษียณกำลังถ่ายทอดความทรงจำราวกับดวงวิญญาณของผองเพื่อนคอมมิวนิสต์มาลายาก็ถือโอกาสซ้อนทาบร่างสหาย ร่วมเล่าบางสิ่งด้วย
หวังให้ลูกหลานเข้าใจ ทำไมบรรพชนต้องเรียกร้องอิสรภาพคืน
พลัดแผ่นดิน
ความเปลี่ยนแปลงชักนำสิ่งใหม่เข้ามาแต่ก็พลัดพรากสิ่งเคยมีให้จากไป
ตามจริงบ้านเกิดบรรพบุรุษเธออยู่ที่เมืองฮุ่ยหยาง (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน) ปู่ย่าตายายสู้อุตส่าห์หาหนทางหนีความแร้นแค้นจนได้ประกอบอาชีพสุจริตตั้งรกรากอยู่ที่เมืองโบรกา เขตเล็ก ๆ ติดชายแดนระหว่างรัฐเนกรีเซมบีลันและสลังงอร์ ภายหลังประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย
ในยุคล่าอาณานิคมแถบเอเชียบูรพา อังกฤษแผ่อำนาจยึดรัฐต่าง ๆ บนคาบสมุทรมาเลย์และเกาะสิงคโปร์แล้วรวบเป็น “สหพันธรัฐมาลายา” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “บริติชมาลายา” เมื่อเข้าปกครองสำเร็จก็แปรเศรษฐกิจในดินแดนที่ยึดมาให้เป็นระบบทุนนิยมเมืองขึ้น มุ่งพัฒนาดินแดนนี้เป็นแหล่งค้ายางพาราและแร่ดีบุกสำคัญของโลก จึงเปิดทางให้มีแรงงานชาวจีนและอินเดียอพยพจำนวนมาก
ชาวอินเดียส่วนใหญ่ได้ทำงานในสวนยางพารา เมื่อหมดสัญญาก็กลายเป็นผู้ไร้ค่าต่อนายจ้างผิวขาว ต้องซุกหัวนอนตามข้างทาง บ้างถูกส่งกลับบ้านเกิดโดยนำขึ้นเรือขนส่งราวกับสินค้าชิ้นหนึ่ง
“ปู่ของฉันก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อพยพจากเมืองจีน สมัครใจเป็นกรรมกรทำงานในเหมือง หวังสร้างเนื้อสร้างตัว แต่เป็นการเข้าเมืองในลักษณะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้การรับรองจากรัฐ ส่งผลให้พ่อกับแม่แม้จะเกิดบนแผ่นดินมาลายาก็ยังไร้สัญชาติ ฉันมีใบเกิดในรัฐเนกรีเซมบีลันก็ไม่ได้รับสัญชาติ”
แม้ต่อมามีชาวจีนหลั่งไหลมาเป็นพ่อค้า นายหน้า ชนชั้นกลาง จนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่อังกฤษก็ยังถือว่าพลเมืองมาลายาที่แท้คือชาวมาเลย์เท่านั้น นอกนั้นคือต่างด้าวมาขออาศัยแผ่นดิน
“พวกเขาจึงถูกปฏิบัติอย่างกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ ด้วยถือว่าเป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง”
ครั้นปี ๒๔๗๐ พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ (หนานยาง) ที่สิงคโปร์ให้เป็นองค์กรประสานงานสำหรับชาวคอมมิวนิสต์จีนในบริติชมาลายาและสยาม ชาวจีนในมาลายาจึงเริ่มสนใจลัทธิมาร์กซ์-เลนิน อีก ๓ ปีต่อมา “โฮจิมินห์” นักปฏิวัติชาวเวียดนามเดินทางสู่สิงคโปร์ในนามองค์กรคอมมิวนิสต์สากลเพื่อตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา” มีชาวจีนในมาลายาจำนวนมากสนับสนุนการเคลื่อนไหว บ้างเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ เต็มตัว
การตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรเป็นไปเช่นเดียวกันทั่วโลก ปี ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ไทยก็เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองโกลาหล เพราะประชาธิปไตยเพิ่งเบ่งบาน แม้เยาวชนยังรู้จักก่อประท้วงในโรงเรียนจนเหตุบานปลายให้ผู้อำนวยการต้องสั่งปิดเรียน คนวัยโตก็ต่อสู้กับรัฐบาลผู้มองประชาชนที่เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน ที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารโดย “คณะราษฎร”
เหตุการณ์บ้านเมืองโลกยังเต็มไปด้วยความผันผวนจากการหลงอำนาจไปจนปี ๒๔๘๓-๒๔๘๕ ที่เกิดสงครามอินโดจีนไทยรบกับฝรั่งเศสเพื่อขอดินแดนคืน ญี่ปุ่นอาศัยไทยเป็นทางผ่านไปโจมตีอังกฤษในพม่า อินเดีย และมาลายา ทหารไทย ยุวชนทหาร และประชาชนท้องถิ่นต่างพลีชีพปกป้องแผ่นดินจนสูญชีวิตจำนวนมาก นักเรียนไทยในอังกฤษตั้ง “เสรีไทย” เป็นอาสาสมัครกองทัพบกอังกฤษเพื่อต้านการล่วงล้ำอธิปไตยของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา
แต่แล้วรัฐบาลไทยนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะคือจับมือกองทัพญี่ปุ่นให้ขนทหารเชลยจากการสู้รบในภูมิภาคนี้ เช่น ชาวอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกา รวมถึงกรรมกรชาวทมิฬที่เคยทำงานให้อังกฤษในมาลายามาเป็นแรงงานป่าเถื่อนเร่งสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ต่อจากสถานีรถไฟหนองปลาดุก ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ให้ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ สู่ปลายทางที่เมืองตาน-พยูซะยะ ประเทศพม่า
ท่ามกลางความเจ็บปวดใจของคนไทยที่ต้องทนดูชีวิตมนุษย์ด้วยกันถูกตีค่าราวไม่ใช่คน
หลังยุติสงครามมหาเอเชียบูรพา เด็กหญิงเย่เอ๋อถือกำเนิดปี ๒๔๙๐ เป็นช่วงเศรษฐกิจอังกฤษทรุดหนัก แม้ถูกการเมืองโลกบังคับให้คืนเอกราชแก่อินเดียและพม่าแล้วจึงยังไม่ยินดีคืนอิสระให้มาลายาและสิงคโปร์ เพราะหวังให้เป็นดินแดนที่จะช่วยฟื้นความมั่งคั่ง ความโลภยิ่งสร้างความลำบากให้ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานจนเกิดการประท้วงอังกฤษ พรรคคอมมิวนิสต์ฯ จึงยิ่งขยายฐานสมาชิกได้กว้างขวาง
“ตั้งแต่ฉันเกิดมาก็เห็นปู่กับย่าวัย ๕๐-๖๐ ปี สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา บ้านของปู่กับย่าที่ฉันอาศัยใช้เป็นสถานีประสานงานติดต่อสื่อสาร ต้องหลบซ่อนไม่ให้ถูกค้นบ้านเป็นภารกิจที่อันตรายมาก ไม่สามารถปล่อยให้เกิดความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว หลังฉันเกิด ๑ ปี พ่อกับแม่ก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ อาสะใภ้ก็สนับสนุนโดยร่วมส่งเสบียงอาหารให้ ฉันจึงได้เห็นการทำงานของพรรคฯ ตั้งแต่จำความได้”
“วันหนึ่งขณะที่แม่เข้าไปในชุมชนติดต่อกับชาวบ้านก็ถูกทหารอังกฤษจับกุมและขับไล่ไปจีน เพราะไม่ได้ถือสัญชาติมาลายา พอปี ๒๔๙๗ พ่อและน้องชายคนหนึ่งของพ่อก็เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม อาสะใภ้ก็ถูกทหารอังกฤษจับตัวไปบังคับให้ขายข่าวและยิงกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ตนสนับสนุนอยู่ เมื่อไม่ยอมทำตามจึงถูกฆ่าทิ้งตรงที่ถูกจับได้”
ก่อนเข้าสู่ช่วงลำบากที่สุดของครอบครัว ชีวิตเจ้าหนูก็เคยมีวัยเด็กเหมือนลูกคนจีนทั่วไปที่เติบโตในเมืองต่างจังหวัดของอาณานิคมมาลายา มีโอกาสได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อนแถวบ้าน
“จนวันหนึ่งขณะที่แม่เข้าไปในชุมชนติดต่อกับชาวบ้านก็ถูกทหารอังกฤษจับกุมและขับไล่ไปจีน เพราะไม่ได้ถือสัญชาติมาลายา พอปี ๒๔๙๗ พ่อและน้องชายคนหนึ่งของพ่อก็เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม น้องชายอีกสองคนที่เหลือจึงหนีไปอยู่เมืองจีน อาสะใภ้ก็ถูกทหารอังกฤษจับตัวไปบังคับให้ขายข่าวและยิงกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ตนสนับสนุนอยู่เมื่อไม่ยอมทำตามจึงถูกฆ่าทิ้งตรงที่ถูกจับได้”
ด้วยกฎหมายของรัฐมาลายาที่ปกครองโดยอังกฤษเวลานั้นเปิดทางให้คอมมิวนิสต์ที่ถูกจับกุมถูกลงโทษขั้นประหารชีวิตได้ในข้อหาทรยศชาติ กฎหมายภาวะฉุกเฉินยังกำหนดให้ลงโทษกักขังผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกบฏ และให้ประหารชีวิตผู้ใดก็ตามที่ถูกจับได้ว่าส่งเสบียงอาหารแก่คอมมิวนิสต์
“ปู่ก็ถูกจับและโดนเนรเทศไปจีน ทางอังกฤษจัดเรือขนส่งสมาชิกพรรคฯ และผู้สนับสนุน โดยไม่ไยดีว่าคนเชื้อสายจีนเหล่านั้นล้วนเกิดบนแผ่นดินมาลายา ห่างครอบครัวที่จีนมานานจนไม่รู้จักใครแล้ว พวกเขาไม่รู้เลยว่าเมื่อถึงจีนแล้วต้องไปไหน อย่างไรต่อ”
น้ำเสียงของเธอไม่ได้แสดงความคับแค้น แต่ฟังแล้วรู้สึกปั่นป่วนทุกประโยค
“ครอบครัวฉันจึงเหลือแค่ย่าและลูกพี่ลูกน้องอีกคนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบาก รับรู้เรื่องความยากจนและอำนาจของเงินตรา ตอนนั้นย่าอายุ ๖๐ กว่าปีแล้วยังต้องดิ้นรนรับจ้างซักผ้า หุงข้าวให้คนอื่น มองไม่เห็นอนาคต จึงตัดสินใจขอระดมเงินจากพี่น้องในพรรคฯ เพื่อซื้อตั๋วเรือไปเมืองจีน ทั้งที่ไม่รู้ว่าญาติตนอยู่ตรงไหนของจีน รู้เพียงสมัยก่อนคนจีนส่วนใหญ่อพยพจากมณฑลกวางตุ้ง จึงซื้อตั๋วเรือกลับกวางตุ้งไว้ก่อน ถึงแล้วค่อยว่ากัน โชคดีที่กวางตุ้งมีสมาคมที่ดูแลชาวจีนจากต่างแดน มีศูนย์อพยพเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กให้คนกลุ่มนี้พักพิงชั่วคราว ให้พวกผู้ใหญ่ได้ทำมาหากิน ให้เด็ก ๆ มีที่เรียนหนังสือระหว่างรอสมาคมช่วยตามหาญาติ รายที่หาไม่ได้จริง ๆ ทางสมาคมจะช่วยประสานกับเครือข่ายต่าง ๆ ในมณฑลยูนนานหรือมณฑลไหหลำที่ต้องการคนทำงานเพื่อช่วยสร้างอาชีพให้คนเหล่านี้ได้ตั้งตัว”
การรอนแรมอยู่ในทะเลเป็นเดือน กลางวัน-กลางคืนเวิ้งว้างทั้งรอบตัว-หัวใจ
แต่จะกลัวอะไรกับอนาคตมืดมิดเมื่อชะตาดั่งลิขิตมาแล้ว นับแต่ชื่อ “เย่เอ๋อ”
หากไม่นับคำว่าเย่ ที่เป็นนามแสดงรุ่นในตระกูล (ญาติรุ่นเดียวกันทางครอบครัวฝั่งพ่อล้วนใช้เป็นชื่อกลางทุกคน) คำว่า “เอ๋อ” จะหมายถึงดวงจันทร์ เพื่อระลึกถึง “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาแห่งจันทราในเรื่องปรัมปราของชาวจีน ชีวิตอีกด้านจึงคล้ายมีแสงจันทร์คอยส่องให้กลับใสกระจ่างเสมอ
ในที่สุดทางสมาคมก็ช่วยประสานจนสามารถติดต่อแม่ของเย่เอ๋อและน้องชายทั้งสองของพ่อที่หนีไปเมืองจีนก่อนหน้า คนหนึ่งเป็นพ่อของลูกพี่ลูกน้องที่อยู่กับเย่เอ๋อและย่าเวลานั้น แต่เขาอยู่ไกลถึงมณฑลไหหลำทางตอนใต้สุดของจีน ย่ากับลูกพี่ลูกน้องของเธอจึงไม่พร้อมตามไปอยู่ด้วย ส่วนน้องชายอีกคนของพ่อก็ไปเป็นทหารเรืออาสาของจีน ย่าของเธอจึงตัดสินใจขอทำงานอยู่ในศูนย์อพยพที่ทางสมาคมจัดหาให้
“การปรับตัวใช้ชีวิตในจีนก็เป็นเรื่องยาก เพราะสภาพสังคมต่างกันมากจากบ้านเกิด ทำงานได้สักระยะหนึ่งย่าจึงตัดสินใจพาลูกพี่ลูกน้องของฉันลงเรือกลับมาลายา”
ขณะที่เย่เอ๋อในวัย ๗ ขวบ ได้คืนสู่อกแม่บนแผ่นดินใหม่ เธอคิดถึงพ่อ
แต่ไม่มีเวลาให้อ่อนแอ แม้จะโศกเศร้าเพียงใด ถึงนาทีต้องเริ่มชีวิตใหม่
“เวลานั้นประเทศจีนก็ยังไม่ได้สันติภาพ อยู่ในภาวะไม่สงบ แม่เข้าร่วมเป็นพยาบาลในหน่วยรบคอมมิวนิสต์จีนที่มีท่านประธานเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำ หลังจีนได้รับสันติภาพแม่ก็ย้ายไปเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นเจอตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาจึงหวนกลับเข้าร่วมพรรคฯ อีกครั้ง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็รักแผ่นดินเกิดที่สุด แม่ถูกส่งตัวไปฐานประจำการที่ปักกิ่ง มีผู้นำและทีมประสานงานของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาอยู่ที่นั่น และทายาทของผู้นำล้วนได้รับการส่งเสริมให้เรียนหนังสือที่ปักกิ่ง”
แม่ของเธอเป็นผู้หญิงฉลาด เห็นคุณค่าการศึกษา เย่เอ๋อจึงได้เรียนถึงชั้นมัธยมฯ ต้น แต่มีบางอย่างสะกิดใจว่าเธอไม่ได้เกิดมาเพื่อเรียนให้จบและทำงานมั่นคง จึงแบ่งเวลาทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ความที่ซึมซับแนวคิดคอมมิวนิสต์ตั้งแต่อายุน้อย ไม่ทันจะเป็นวัยรุ่นเต็มตัวจึงเข้าไปเคลื่อนไหวในขบวนการแล้ว
“การได้ติดตามแม่กลับเข้าสู่ฐานะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในวันที่โตขึ้นอีกหน่อยทำให้รู้เห็นวิธีทำงานของพรรคฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อสันติภาพสู่ชาวมาลายาชัดเจนขึ้น ฉันจึงมุ่งมั่นเข้าร่วมต่อสู้เพื่อขจัดการแบ่งแยกชนชั้นและยุติการถูกข่มเหงจากเจ้าอาณานิคม”
นับแต่นั้นเด็กสาวผู้โน้มเอียงทางการเมืองก็ยิ่งแจ่มชัดทางความคิด
“ฉันคือเมล็ดพันธุ์ที่ผุดขึ้นจากการถูกกดขี่ ถูกปลูกฝังด้วยวิธีต่อต้าน และจะเติบโตเพื่อขับไล่”
โดยไม่ฝากความหวังใดไว้กับอนาคต แต่จะเป็นเลยเดี๋ยวนี้
“ฉันคือเมล็ดพันธุ์ที่ผุดขึ้นจากการถูกกดขี่ ถูกปลูกฝังด้วยวิธีต่อต้าน และจะเติบโตเพื่อขับไล่”
ดอกไม้บานในฤดูสงคราม
ได้เรียนหนังสือจนถึงระดับชั้นมัธยมฯ ต้น
เส้นทางศึกษาก็เจออุปสรรค
เมื่อรู้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เธอไม่ลังเลที่จะเรียนต่อด้านพยาบาล แต่เรียนได้เพียง ๓ ปี ประเทศจีนก็เกิดกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรม โรงเรียนทั่วประเทศถูกปิด
“เมื่อเรียนในจีนไม่ได้ทางพรรคฯ จึงส่งนักเรียนแพทย์พยาบาลซึ่งเป็นลูกของสมาชิกพรรคฯ รวมเก้าคน ไปศึกษาต่อที่ประเทศเวียดนาม เวลานั้นสหรัฐฯ มีแผนบุกยึดเวียดนาม แต่จีนสนับสนุนฝั่งเวียดนามอยู่จึงส่งทีมแพทย์เยาวชนไปเรียนต่อที่นั่นเพื่อฝึกงานและช่วยรักษาทหารเวียดนามไปด้วย”
นับเป็นก้าวแรกของการผจญภัยในโลกใต้ดินคอมมิวนิสต์ด้วยตนเอง
“หลังเรียนทักษะทางการแพทย์จบหลักสูตรขั้นพื้นฐาน รู้ว่ากองทัพขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวช ฉันจึงเรียนต่อด้านนี้อีก ๓ ปี เมื่อเรียนจบก็ถูกส่งไปอยู่เมืองจีนอีก ยังไม่ทันได้ใช้วิชาชีพที่เรียน เพราะเวลานั้นพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่เมืองจีนเปิดศูนย์ข่าววิทยุกระจายเสียง ต้องการขยายทีมทำงานด่วน นักเรียนแพทย์บางส่วนจึงต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่นักวิทยุกระจายเสียงแทน”
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ ที่ “เฉินผิง” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายารับคำสั่งจากพรรคฯ ให้บุกเบิกพื้นที่มณฑลหูหนานเพื่อย้ายสำนักงานพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาไปที่นั่น เขาก็คิดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงไว้ใต้ดินโดยขุดทางเข้าจากข้างภูเขา เพื่อกระจายเสียงรายการต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคด้วยเครื่องส่งสัญญาณขนาด ๒๐ กิโลวัตต์ แล้วตั้งชื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้นว่า “ซูอารา เรโวลูซี มาลายา” (Suara Revolusi Malaya) หรือ “เสียงปฏิวัติมาลายา” ถ่ายทอดสามภาษาคือ จีนกลาง บาฮาซา-มาลายา และทมิฬ
ขณะทั่วโลกยังเต็มด้วยกลโกงทางการเมืองและเล่ห์เหลี่ยมข่าวลือ ประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประชาชนและกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้านับแสนชีวิตออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยจนล้นถนนราชดำเนิน เสรีภาพที่แลกด้วยเลือด-น้ำตาได้รับการเผยแพร่ทั่วโลก เช่นที่ประชากรโลกก็ประสบภาวะไม่ต่าง เป็นยุคสมัยที่ผู้คนต้องออกมาส่งเสียงปฏิวัติ
ปี ๒๕๑๘ สถานีวิทยุ “เสียงปฏิวัติมาลายา” ก็ได้การตอบรับจนต้องเพิ่มภาษาอังกฤษ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมาลายามาร่วม ภายหลังยังมีคำขอจากชาวจีนประเทศต่าง ๆ ให้จัดรายการเป็นภาษาจีนถิ่นอื่นด้วย หนึ่งในนั้นเพื่อสนองชุมชนชาวจีนในเบตงของไทยซึ่งมีชาวคอมมิวนิสต์มาลายาตั้งฐานทัพอยู่
สถานีวิทยุจึงต้องระดมผู้ประกาศข่าวเพิ่ม และเย่เอ๋อก็ต้องปรับตัวกับงานใหม่ที่ได้รับมอบหมาย
คนหนุ่มสาวที่ผ่านการคัดเลือกมารวมหมู่ต่างมีความคิดสดใหม่ผุดทุกวัน มีพลังตื่นตัวที่พร้อมเบ่งบานดั่งดอกไม้กลางสวนที่ปลูกใหม่บนดินชุ่มชื้นและได้ปุ๋ยเหมาะสม การพบสหายที่สนใจเรื่องราวต่าง ๆ คล้ายกัน หมกมุ่นกับงานของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ เหมือนกัน เป็นช่วงเวลาหอมหวานที่ทำให้หลายชีวิตเริ่มคุยเรื่องความรัก เป็นเรื่องดีที่สุดหากชายหญิงคู่ใดได้คนรักเป็นสมาชิกพรรคฯ เนื่องจากมีกฎเหล็กสำหรับสมาชิกฯ ว่าเมื่อใครมีความรักต้องรายงานให้พรรคฯ ทราบ เพราะบ่อยครั้งที่ความรักนำไปสู่ความยุ่งยากและอาจกลายเป็นปัญหาหนักหน่วง หากจะสานสัมพันธ์ต่อจึงต้องได้รับการเห็นชอบจากพรรคฯ ก่อน
“แฟนฉันเป็นชาวสิงคโปร์ เข้าร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ เคยลี้ภัยไปอยู่อินโดนีเซียหลายปี กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาให้ความช่วยเหลือส่งไปจีน เราจึงได้รู้จักกันที่สถานีวิทยุกระจายเสียง”
แม้ความสัมพันธ์ของเธอกับ “หลิวหนานเซิง” (刘男生)
จะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดี ๆ ทว่าความรักที่ก่อร่างในช่วงเวลาเลวร้ายจากความจำเป็นด้านหน้าที่การงานก็ทำให้ทั้งคู่ได้ฝึกใช้ทัศนคติที่ดี
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นวันเลวร้ายของคนกรุงเทพฯ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ยึดอำนาจ ล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ร่วมก่อการร้ายกับคอมมิวนิสต์เวียดนามหวังยึดครองไทย เหตุการณ์รุนแรง ๒ วันท่ามกลางเสียงปืนยิงใส่เยาวชนที่ชุมนุมในรั้วธรรมศาสตร์ บ้างถูกเจ้าหน้าที่รัฐลากตัวออกไปทุบตีด้วยท่อนไม้ รุมซ้อม เชือดคอ ราดน้ำมันเบนซินแล้วเผา หลายศพนอนไร้หัวอยู่กลางสนาม ปัญญาชนจำนวนมากถูกคุมขัง การปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลอย่างโหดเหี้ยมทำให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายต้องหนีเข้าป่า และนั่นยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทย
ปี ๒๕๒๒ สถานีวิทยุเสียงปฏิวัติมาลายาก็ส่อเค้าเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจีนนำโดย “เติ้งเสี่ยวผิง” ให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยซึ่งตั้งสถานี “เสียงประชาชนแห่งประเทศ
ไทย” โดยกระจายเสียงจากจีนงดวิพากษ์รัฐบาลไทยด้วยเหตุผลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปีถัดมาก็ให้ เฉินผิง ปิดสถานีวิทยุเสียงปฏิวัติมาลายา เฉินผิง จึงกระจายเสียงโดยเครื่องส่งสัญญาณเคลื่อนที่จากชายแดนไทย-มาเลเซียแทนและเปลี่ยนใช้ชื่ออื่น
“นับแต่ถูกบังคับให้ยุติสถานีวิทยุที่ออกอากาศด้วยภาษาถิ่น เหลือไว้เฉพาะภาษามาลายา จีนกลาง และอังกฤษ สมาชิกพรรคฯ กลุ่มหนึ่งจึงกลับไปร่วมรบที่มาเลเซียและชายแดนไทย รวมถึงแฟนฉันด้วย”
เป็นอีกช่วงเวลาที่ต้องรับมือ เมื่อธรรมชาติท้าทายให้ลูกไม้ใต้ต้นถึงฤดูกาลต้องไปหยั่งรากที่อื่น
ยามนี้เย่เอ๋อเป็นสมาชิกพรรคฯ เต็มตัว มีความคิดเป็นของตนเอง รักผืนดินมาตุภูมิเช่นเดียวกับแม่และใคร ๆ ใน “ครอบครัว” ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่สายเลือด แต่คือ “สหาย” ที่พร้อมอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์
เพราะคนเราไม่ได้มีเพียงร่างกาย แต่มีจิตวิญญาณอยู่ เป็นองค์ประกอบที่มองไม่เห็น แต่สำคัญ ซึ่งสำหรับพวกเขาศักดิ์ศรีมนุษย์คืออิสรเสรีที่ต้องมีสิทธิ์กำหนดทิศทางชีวิตตนเองได้
และสิ่งที่เรียกความรักก็ไม่ใช่แค่สบตา แต่คือการมองไปในทิศทางเดียวกัน
ในวัย ๓๓ ปี เย่เอ๋อจึงเลือกตามเสียงหัวใจออกเดินทางอีกครั้งพร้อมคนรัก
หมอปฏิวัติกู้สันติภาพจากพงไพร
ชีวิตในป่าไม่มีเวลาว่างหากใช้ทุกนาทีอย่างมีความหมาย
หลังออกจากมณฑลหูหนานภายใต้ความช่วยเหลือของคอมมิวนิสต์มาลายากับคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน สมาชิกพรรคฯ จึงได้ร่วมเดินทางจากจีนถึงลาวโดยรถยนต์ มีทีมคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เคลื่อนไหวอยู่ในลาวช่วยประสานการเดินทางจนได้เข้าชายแดนไทยในภาคเหนือ จากนั้นคอมมิวนิสต์ไทยจะรับเป็นธุระส่งพวกเขาไปยังกรุงเทพฯ โดยวางแผนไว้ว่าจะมีสมาชิกค่ายคอมมิวนิสต์มาลายาที่นั่นรับไม้ส่งต่อไปยังที่ตั้งของค่ายแถวเขื่อนบางลาง (ช่วง กม. ๔๐ ของอำเภอธารโต จังหวัดยะลา)
แต่เกิดเหตุติดขัดให้ชะงักเดินทางเกือบปี คอมมิวนิสต์ไทยทางภาคเหนือ (น่าน) จึงช่วยด้านปัจจัยสี่และอุปกรณ์การรบระหว่างรอติดต่อสายลับ ในที่สุดก็สามารถส่งสมาชิกพรรคฯ เดินทางสู่กรุงเทพฯ สำเร็จ มีสหายคอมมิวนิสต์มาลายาที่รออยู่พานั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ และต่อรถยนต์จนถึงค่ายที่อำเภอธารโตซึ่งมีอาณาเขตทิศตะวันตกติดรัฐเกอดะฮ์ของสหพันธรัฐมาเลเซีย (ชื่อใหม่ของบริติชมาลายาหลังได้เอกราช) ทิศใต้ติดอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และทิศตะวันออกติดอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของมาเลเซียแล้ว เมื่อมีการตั้งฐานทัพในผืนป่าภาคใต้ของไทยคนไทยก็เข้าร่วมอุดมการณ์ กลายเป็นปัญหาสามฝ่าย
เมื่อถึงค่ายที่อำเภอธารโตมีการแบ่งการเดินทางออกเป็นสองชุด เย่เอ๋อประจำการอยู่หน่วยรบพิเศษเพื่อทบทวนความรู้ด้านการแพทย์ เตรียมทำหน้าที่หมอที่ตนถนัด
“แต่ก็ไม่ง่าย เพราะที่เรียนจากจีนและเวียดนามเป็นการรักษาแผนปัจจุบัน ส่วนที่นี่มีข้อจำกัดเรื่องยา ฉันต้องใช้เวลา ๒ เดือนศึกษาวิธีรักษาที่ต่างจากเคยทำ โดยใช้สมุนไพรและยาที่มีในท้องถิ่น”
แล้วปี ๒๕๒๕ เธอก็ได้สังกัดอยู่ “กรมทหารที่ ๑๐” ค่ายในป่าบาลาที่จังหวัดนราธิวาส สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มาจากรัฐปะหังในมาลายา มี “อับดุลเลาะห์ ซี.ดี.” เป็นผู้บัญชาการสูงสุด นำกองทัพเข้าชายแดนไทยก่อนแล้วนับสิบปี ขณะที่แฟนของเย่เอ๋อแต่แรกประจำการอยู่หน่วยรบของกรมทหารที่ ๑๒ เพื่อฝึกทักษะการรบ ค่อยย้ายมาปฏิบัติภารกิจยังกรมทหารที่ ๑๐ ในปีเดียวกับเย่เอ๋อ
“เวลานั้นค่ายที่ฉันอยู่มีหมอประจำการสองถึงสามคน เป็นเพื่อนที่เคยเรียนหมอด้วยกันจากเวียดนาม พวกเขาไม่ได้ไปทำงานวิทยุกระจายเสียงที่หูหนาน แต่ได้มาเป็นหมอที่นี่”
หมอผู้ไม่ได้สวมเครื่องแบบสีขาว หากเป็นสีเขียวและมีตราดาวแดงประทับหน้าหมวก
เมื่อต้องผกผันเป็นแพทย์ไพร สิ่งที่เชื่อมั่นจึงไม่ใช่ตำราที่ร่ำเรียน แต่คือสติปัญญาตน
“ห้องผ่าตัดเป็นเพียงห้องเฉพาะกิจในกระต๊อบที่มุงหลังคาด้วยใบไม้ หน้าที่ของหมอไม่ใช่แค่ตรวจ รักษา สั่งยา ในแต่ละวันพวกเราต้องตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ร่วมฝึกฝนวิชาทางการทหารของพรรคฯ และตรวจอาการตามห้องผู้ป่วย ค่ายของฉันมีสมาชิกพรรคฯ เยอะมาก ผู้ป่วยจึงมีเยอะ การรักษาพยาบาลในกองทัพเป็นไปในสภาพที่ยากลำบากอุปกรณ์การแพทย์ทุกชิ้นหมอและพยาบาลต้องช่วยกันนำไปต้มหรือนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ บางครั้งมีผู้ป่วยเยอะยังต้องเข้าครัวไปช่วยทำกับข้าวให้ผู้ป่วยกิน หากทำงานตอนกลางคืนที่มีแมลงรบกวนต้องนำผ้ายางมาล้อมป้องกันแมลงเข้า ดัดแปลงทรัพยากรที่มีทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการติดเชื้อให้มากที่สุด สิ่งที่หมอทุกคนภาคภูมิใจคือไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบจากการติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากการผ่าตัดเลย ทั้งที่สภาพแวดล้อมในป่าไม่เอื้ออำนวยต่อความสะอาด”
เย่เอ๋อเล่า ช่วงที่เธอมาประจำการเป็นเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาผ่านวิกฤตการณ์อันหนักหน่วงมาแล้ว สถานการณ์จึงค่อนข้างสงบ เคสรักษาเป็นโรคภัยทั่วไป
“ห้องผ่าตัดเป็นเพียงกระต๊อบที่มุงหลังคาด้วยใบไม้ ค่ายของฉันมีสมาชิกพรรคฯ เยอะมาก การรักษาพยาบาลเป็นไปในสภาพที่ยากลำบาก อุปกรณ์การแพทย์ทุกชิ้นหมอและพยาบาลต้องช่วยกันนำไปต้มหรือนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ บางครั้งมีผู้ป่วยเยอะยังต้องเข้าครัวไปทำกับข้าวให้ผู้ป่วยกิน”
“ที่เยอะคือไข้มาลาเรียและผ่าตัดไส้ติ่ง คงเพราะสมาชิกพรรคฯ ต่างเป็นผู้ใช้แรงงานหนัก เช้ามาต้องขนเสบียงจนเที่ยงจึงได้กินข้าว แล้วไม่ทันได้พักก็ต้องแบกหามต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มักเตือนเด็กว่าหลังกินอาหารเสร็จอย่าเพิ่งวิ่งเล่น อาจทำให้อาหารที่เพิ่งกินกระเด็นกระดอนผิดที่จนเกิดเป็นไส้ติ่ง ประกอบกับสมาชิกพรรคฯ เป็นทหารที่ร่างกายได้รับการฝึกจนเป็นผู้ที่อดทนต่อความเจ็บปวดสูง ทนได้ก็ทน ผู้ที่ยอมรักษาจึงมักเป็นไส้ติ่งที่พร้อมแตก หรือแตกแล้วจนเกิดอาการปวดท้องสาหัส ปรกติเคสผ่าตัดไส้ติ่งจะผ่าแผลนิดเดียว พบแล้วตัดออกก็จบ แต่มีเคสหนึ่งที่ผู้ป่วยเป็นคนอ้วน น้ำหนักเยอะ ฉันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอผ่าตัดตั้งแต่ ๙ โมงเช้าถึง ๓ ทุ่ม รอบแรกกรีดแผลแบบเฉียง แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอไส้ติ่ง จนหัวค่ำเริ่มมีแมลงที่ชอบแสงไฟบินเข้ามาตอม ต้องกางมุ้งในห้องผ่าตัด แล้วเริ่มผ่าอีกแผลกรีดเป็นรูปตัว T เพื่อง้างหาไส้ติ่งให้พบ แล้วใช้คีมสำรวจตามจุดต่าง ๆ จนพบก้อนแข็ง นี่คือผลจากที่เขาสะสมอาการป่วยมานานมากแล้ว ถ้าไม่รีบเอาออกเดี๋ยวนั้นอาจทำให้เสียชีวิต”
ในความเป็นหมอที่ต่างเป็นทหารคอมมิวนิสต์ด้วยกันจึงไม่ตัดสินผู้ป่วยด้วยรู้มันมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง มีเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่เป็นเมื่อไม่ใช่นักรบแนวหน้าเธอจึงช่วยกู้สันติภาพโดยรักษาพวกเขาให้ดีที่สุด “หมอในค่ายมีน้อย หากไม่สบายก็ผลัดรักษา มีครั้งหนึ่งสมาชิกพรรคฯ ชาวมุสลิมถูกระเบิดมา ต้องตัดขา เขาเสียเลือดมากและต้องการเลือดด่วน ค่ายในป่าไม่มีคลังสำรองเลือด ปรกติจะขอความช่วยเหลือจากสมาชิกพรรคฯ เป็นครั้งคราว เพราะทุกคนต่างรู้ว่าตนเลือดกรุ๊ปอะไร ครั้งนั้นฉันกับหมออีกคนมีเลือดกรุ๊ปโอเหมือนผู้ป่วยที่โดนระเบิดจึงอาสาบริจาคเลือดให้เขา นั่นเป็นอีกครั้งที่ฉันภาคภูมิใจมากว่าได้แบ่งปันเลือดแก่คนต่างชาติพันธุ์ ในร่างกายของชาวมุสลิมคนนั้นจึงมีเลือดของชาวจีนอย่างเราอยู่ร่วม”
มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นถูกที่ถูกเวลา หยาดเหงื่อดั่งมหาสมุทร อาจไม่มีความหมายในสายตาใครเลย แต่สำหรับคนที่ต้องการจริง ๆ น้ำใจเพียงหยดก็ทำให้เขามองเห็นคุณค่า
ที่จริงนับแต่ปี ๒๕๑๑ พรรคคอมมิวนิสต์มาลายามาตั้งสำนักศูนย์กลางของพรรคฯ ในป่าเบตงแล้ว โดยแบ่งเป็นสองค่ายตั้งอยู่คนละทิศ ตะวันออก-ตกของสองฝั่งถนนสายหลักตามแนวป่า มีอีกค่ายตั้งอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ช่วงเกิดเหตุแตกแยกทางความคิดของสองผู้นำในพื้นที่เบตง ผู้นำค่ายเบตงตะวันตกและผู้นำค่ายสะเดาไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของคณะกรรมการกลางพรรคฯ ที่นำโดย เฉินผิง สั่งฆ่ากวาดล้างผู้ต้องสงสัยทั้งชาวจีนและไทยที่ถูกกล่าวหาเป็นสายลับ ผู้นำค่ายเบตงตะวันตกจึงแยกออกมาตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย (ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน)” ค่ายสะเดาตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย (ฝ่ายปฏิวัติ)” แต่นั้นความขัดแย้งกับพรรคฯ เดิมก็ยิ่งทวี ที่สุดในปี ๒๕๓๐ กลุ่มลัทธิมาร์กซ์-เลนิน กับกลุ่มฝ่ายปฏิวัติก็เข้ามอบตัว-วางอาวุธแก่ทางการไทย เหลือเพียงพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่นำโดย เฉินผิง ยังคงสู้ต่อ
เวลานั้นการเมืองไทยก็อยู่ในภาวะยุ่งยาก ทั้งปัญหาชายแดนใต้และในกรุงเทพฯ กองทัพไทยจึงเร่งส่งตัวแทนมาเจรจากับค่ายเบตงฝั่งตะวันออก เสนอเงื่อนไขเดียวกับที่สองกลุ่มแรกยอมรับ คือวางอาวุธและเข้ามอบตัว แต่เฉินผิง ยืนกรานปฏิเสธ กองทัพไทยจึงเริ่มปฏิบัติการล่าทำลายหน่วยรบที่เหลือ ไม่เพียงสำนักศูนย์กลางฯ ในป่าทางเหนือของดินแดนปลายติ่งเบตงต้องคอยเคลื่อนย้ายทัพ หน่วยรบที่อยู่ในป่าลึกทางตะวันออกของจังหวัดนราธิวาสทางเหนือของชายแดนมาเลเซียก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
จวบต้นปี ๒๕๓๒ หลังพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาฝ่ายไทยได้รับการทาบทามขอเจรจาสันติภาพจากรัฐบาลไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อหาธรรมวิธียุติการสู้รบ เจรจาถึงห้าครั้งก็ถึงวันบรรลุสันติภาพ เฉินผิง ให้สัญญาจะสลายกองทัพพร้อมทำลายอาวุธทั้งหมด แต่นั้นเหตุการณ์จึงเริ่มสงบจริง ไม่มีการสู้รบหรืออพยพแล้ว นักรบคอมมิวนิสต์ทุกตำแหน่งหน้าที่ต่างเตรียมตัวเก็บข้าวของออกจากป่า
ถึงอย่างนั้นสุขภาพร่างกายของบางคนที่สะสมจากภาวะสงครามก็เริ่มแสดงอาการ
“ตอนสถานการณ์ของพรรคฯ อยู่ช่วงปลาย มีการเจรจาสันติภาพแล้ว เพื่อนหมอของฉันเกิดป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ ๓-๔ ซึ่งไม่ใช่โรคทั่วไปในสมัยนั้น ต้องส่งตัวไปรักษานอกค่าย จำไม่ได้ว่าไปที่โรงพยาบาลสงขลา-นครินทร์หรือที่โรงพยาบาลของทหาร แต่โชคร้ายที่เวลานั้นทางมาเลเซียไม่รักษาสัจจะ มีการจับกุมพรรคคอมมิวนิสต์ จึงต้องส่งตัวเขากลับ และในที่สุดก็เสียชีวิต”
การตายอย่างไม่สมเกียรติของคนหนึ่งที่มุ่งรักษาผู้อื่นมาทั้งชีวิตเป็นเรื่องน่าเศร้า
คนนอกที่ไม่เข้าใจอาจมองว่าพวกเขาทำตัวเองให้ไร้ศักดิ์ศรี เลือกไปลำบากในป่าท่ามกลางโรคภัยไข้เจ็บและขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเอง หากมองให้ลึก ศักดิ์ศรีมนุษย์ที่สหายคอมมิวนิสต์ต้องการไม่ใช่ความสะดวกสบายตื้นเขิน แต่คือความเสมอภาคทางชนชั้น
“ในยุคของฉันที่ผู้คนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับฉากยุทธการและถูกพลัดพรากด้วยวิธีต่าง ๆ จากระบบทุนนิยม ตัวฉันก็สัมผัสความลำบากถูกกดขี่ตั้งแต่เยาว์วัย มีความสุขแค่ช่วงเรียนหนังสือที่ปักกิ่ง จากนั้นคือเรียนรู้การต่อสู้เพื่อบรรลุอุดมการณ์ที่มุ่งหวังจะช่วยกอบกู้มาลายา แก้แค้นให้ญาติพี่น้อง จึงจำเป็นต้องกล้าหาญต่อสู้เพื่อมีชีวิต หากต้องตายอย่างไร้เกียรติก็ไม่เสียชาติเกิด”
เพราะตลอดชีวิตได้ทำสิ่งที่ควรทำ คุ้มค่าแล้วที่ได้หายใจเพื่อผู้อื่น
บั้นปลายชีวิต บ้านเปลี่ยนความคิด
เราพบเย่เอ๋อในวัย ๗๓ ปี สามีชาวสิงคโปร์เสียชีวิตแล้ว
เมื่อ ๓๐ ปีก่อน หลังผู้นำสามฝ่ายทั้งพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา รัฐบาลมาเลเซีย และรัฐบาลไทย ยุติการสู้รบ-เซ็นสัญญาสันติภาพ เธอและสหายพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ๑,๑๘๘ คน ที่เกิดในไทย ๖๙๔ คน และชาวเชื้อสายจีน มลายู สิงคโปร์ที่เกิดในมาเลเซีย ๔๙๔ คน ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเกิด (ยกเว้นกลับสิงคโปร์ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไข เนื่องจากสิงคโปร์ไม่ได้รวมอยู่ในสหพันธรัฐมาเลเซียแล้ว)
ชาวพรรคฯ มีสิทธิ์เลือกสองทาง หากกลับมาเลเซียรัฐบาลให้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๘,๐๐๐ ริงกิต งวดแรกจ่าย ๓,๐๐๐ ริงกิต เมื่อถึงมาเลเซียจะให้บัตรประชาชนเพื่อกลับเมืองหรือหมู่บ้านตน ที่เหลือจะจ่ายจากนั้นอีก ๓ ปี ระหว่างนั้นมีเบี้ยรายเดือนให้สร้างตัว ๓๐๐ ริงกิต หากเลือกอยู่ไทยจะถูกจำกัดที่อาศัยในจังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยได้ที่ดินทำกินคนละ ๑๕ ไร่ พร้อมที่ดินสร้างบ้าน ๑๐๐ ตารางวา มีเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๒๒ ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา ๓ ปี ภายใต้ข้อตกลงว่าต้องประพฤติตนเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”
เย่เอ๋อและสหายส่วนใหญ่ในกรมทหารที่ ๑๐ เลือกอยู่ไทย ด้วยไม่มั่นใจว่ารัฐบาลมาเลเซียจะปฏิบัติตามตกลง และสหายบางคนออกจากบ้านไปอยู่ป่าเกือบ ๔๐ ปี จนกลายเป็นคนไร้ญาติที่บ้านเกิด ครั้นออกจากป่าในวัยเกษียณก็ไม่สะดวกจะไปรับจ้างใครเลี้ยงชีพ จะอยู่รอดต้องทำธุรกิจ ทำร้านขายของ แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ให้เพียงเงินดูแล ๓ ปี ไม่มีบ้านและที่ดินให้ทำกินเหมือนประเทศไทย
โชคดีที่กองทัพไทยจัดตั้งหมู่บ้านตามสัญญา มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านหลายครั้งก่อนลงเอยที่ชื่อหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ (ชุมชนจีนในตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา), หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ (ชุมชนจีนในตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา), หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๑ (ชุมชนมุสลิมในตำบลบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา) และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๒ (ชุมชนมุสลิมในตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส)
แม้สมาชิกพรรคฯ ในกรมทหารที่ ๑๐ ที่เย่เอ๋อเคยสังกัดส่วนใหญ่เลือกอยู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๒ แต่ความเป็นเชื้อสายจีนเธอจึงเลือกอยู่หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐
“ตอนที่ออกจากป่า หลายคนสูงวัยจนไม่มีแรงสร้างบ้านเองแล้ว ต้องจ้างช่าง รัฐไทยช่วยสนับสนุนหลังละ ๒๓,๔๐๐ บาท ในกลุ่มของพวกเราเองช่วยเหลือสมาชิกครัวเรือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ละคนค่อยสมทบเองอีกคนละ ๑,๐๐๐ บาท สหายที่ยังมีเรี่ยวแรงเขาก็ช่วยกันสร้างเองเพื่อประหยัดเงินไว้ เพราะทุกคนต่างรู้ว่าหลังออกจากป่าชีวิตต้องเริ่มนับหนึ่ง ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ คนที่มีลูกก็ต้องตั้งหน้าหาเงินให้ลูกได้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ในหมู่บ้านนี้จึงมีทั้งบ้านแบบที่ภายในเป็นไม้กั้นแบ่งห้องและเป็นผนังปูน”
เย่เอ๋อไม่มีลูก หลังสามีจากไปในวัยชราเธอใช้ชีวิตลำพังในบ้านเรือนแถวชั้นเดียว
ผนังซ้ายขวาติดบ้านสหาย หน้าบ้านพอมีพื้นที่ให้ปลูกดอกไม้หลากสี เมื่อเปิดประตูเข้าบ้านจะเป็นห้องรับแขก ตกแต่งด้วยโต๊ะเขียนหนังสือตั้งริมหน้าต่างฝั่งเดียวกับประตูเข้าบ้าน ถัดมาเป็นชุดโต๊ะรับแขก จัดวางเก้าอี้สองถึงสามตัว มีตู้หนังสือ ชั้นวางโทรทัศน์ บนชั้นประดับรูปถ่ายความทรงจำวันวาน ใครมาเยี่ยมก็นั่งคุยกันในห้องนี้ ลึกเข้าไปเดาได้ว่ามีทางเดินสู่ครัว ห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องน้ำ
“หลังออกจากป่าฉันยังมีโอกาสใช้วิชาแพทย์ประกอบอาชีพรักษาอดีตสหายด้วยกันบ้าง เพราะช่วงสร้างหมู่บ้านถนนหนทางยังไม่เจริญ ชุมชนจึงเปิดสถานพยาบาล พอปี ๒๕๓๘ ถนนสร้างเสร็จและสถานพยาบาลในเมืองเบตงก็ค่อนข้างพร้อม อดีตสมาชิกพรรคฯ ทุกคนได้สิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี ใครป่วยจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลในเมือง สถานพยาบาลในชุมชนจึงปิดตัวและฉันก็เลิกอาชีพรักษาแต่นั้นมา”
ถึงอย่างนั้นหากมีเพื่อนบ้านเจ็บไข้ก็ยังเดินไปดูแล ให้คำแนะนำ กำลังใจ แบ่งปันหยูกยา
ในวัยที่ตนเริ่มชรา กิจวัตรประจำวันจึงเป็นไปแบบเรียบง่ายราวกับจะชดเชยช่วงชีวิตที่ผ่าน
กลางวันกินได้ กลางคืนนอนหลับ เหงาก็ตามข่าวสารการเมืองจีน-มาเลเซีย แม้บทบาทนักปฏิวัติที่เธอใฝ่ฝันจะปลดแอกให้พี่น้องมาลายาจะยุติลงอย่างสันติวิธี ไม่ชนะ
สงครามก็ไม่ใช่ความล้มเหลวของการพยายามต่อสู้ เพราะความสำเร็จที่ได้คือเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง เห็นมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ แม้รัฐบาลมาเลเซียจะไม่เห็นคุณค่านี้ของชาวคอมมิวนิสต์มาลายา ซ้ำยังมองบทบาทสหายวีรชนในแง่ลบ เธอและผองเพื่อนก็ยังภาคภูมิใจในความเป็นส่วนหนึ่งของเอกราชนั้น
สำคัญกว่าคือ ค้นพบความกล้าที่จะปล่อยวางในสิ่งที่ตนไม่อาจเปลี่ยนแปลง
“ตลอด ๓๐ ปีหลังจากออกจากป่า อุดมการณ์พัฒนาสังคมของพวกเราก็ยังอยู่ แต่ไม่ใช่พัฒนาจากการถืออาวุธปืนเป็นการพัฒนาด้วยวิธีอื่น”
เมื่อวันนี้เลือกอยู่ประเทศไทย หัวใจจึงต้องรับผิดชอบต่อแผ่นดินที่อาศัย
ถ้าไม่นับหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๑ ที่ชุมชนยังไม่ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านในกลุ่มที่เหลือต่างเลือกเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยช่วยกันพัฒนาชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์การเมือง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนเล่าเรื่องราวของคอมมิวนิสต์มาลายาและวัฒนธรรมจีน-มลายูผ่านอาวุธยุทโธปกรณ์ วัตถุสิ่งของ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สื่อสารในป่าที่ล้วนเคยใช้งานจริง รวมถึงรูปถ่ายที่ได้รับการบันทึกไว้ช่วงทยอยเก็บของก่อนออกจากป่า ยังมีการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนของแต่ละหมู่บ้านที่เชื่อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เพื่อนำเศรษฐกิจเข้าประเทศไทย
ในรอบปีมีนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อดีตสหายคอมมิวนิสต์มาลายามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน เยี่ยมเยียนสหายที่ยังมีชีวิตเพื่อย้อนรอยทรงจำ ย้ำเตือนหัวใจครั้งลำบากมาด้วยกัน และรำลึกเกียรติประวัติของวีรชนที่อนุสรณ์สถานของทุกหมู่บ้านซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างในมาเลเซีย
แม้เสียดาย แต่ไม่เสียใจ เพราะเมื่อตายไปทุกคนต่างก็เป็นเพียงเรื่องราว
“ชีวิตของพวกเราไม่เคยง่าย กว่าจะฝ่าฟันกันมาจนมีชุมชนที่มั่นคงวันนี้”
ภารกิจที่เย่เอ๋อและสหายปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพตลอด ๓ ทศวรรษ ส่งผลให้ทายาทดาวแดงที่เติบโตในหมู่บ้านพลอยได้ซึมซับอดีตของพ่อแม่ที่หลายครอบครัวไม่เคยเล่าให้ลูกหลานฟัง เหตุนี้แม้อดีตจะเป็นความภาคภูมิ แต่เยาวชนที่เกิด-เติบโตในสังคมสันติสุขท่ามกลางการส่งต่อความหมายของคำว่า “คอมมิวนิสต์” แบบเข้าใจผิด หลายคนจึงเลือกเก็บเรื่องของพ่อแม่เป็นความลับ
“มีเรื่องแบบนี้จริงหรือ”
ลิ้นไม่มีกระดูกก็จริง แต่มันคงแข็งพอที่จะทำร้ายหัวใจผู้ฟังด้วยคำพูดได้
“ฉันเองไม่มีลูก จึงไม่รู้แน่ว่าเด็กรุ่นใหม่รู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร คงเป็นเรื่องปรกติที่พวกเขาจะไม่รู้สึกแบบเดียวกับเรา เพราะแม้ได้เรียนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ซึมซับด้วยประสบการณ์ตนเอง จึงยากที่จะให้เขารู้สึกได้เท่าเราก็ไม่เป็นไร เคยมีกวีบทหนึ่งกล่าวไว้ ผู้คนแต่ละยุคสมัยล้วนมีหน้าที่แตกต่าง คนในยุคสมัยของฉันมีอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อแผ่นดินมาลายา ให้มนุษยชาติได้รับความทัดเทียม ฉันคิดว่าในยุคสมัยของเด็กรุ่นปัจจุบันก็ต้องต่อสู้เหมือนกัน แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ตนเองมีอนาคตที่ดียิ่งขึ้น”
เธอว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ มันจึงถูกทำให้เป็นเครื่องมือของสงคราม
แม้ในวันที่บ้านเมืองสงบสุข แต่บางสิ่งที่เคยถูกบันทึกแล้วก็ยากจะเปลี่ยน
“ความจริงตั้งแต่ตอนที่พวกเราเข้ามาอาศัยประเทศไทยเป็นสถานที่ปฏิบัติภารกิจก็ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แผ่นดินนะ เราไม่ใช่กลุ่มโจรจีน ไม่ใช่กบฏ ไม่ได้ลักขโมย และไม่ได้ข่มเหงใครอย่างที่มีคนเข้าใจผิดในยุคที่มีแต่การสร้างข่าวลือจนเกิดเป็นความคลาดเคลื่อนของข่าวสารที่สื่อออกไป ตรงกันข้ามพวกเราตอบแทนความสัมพันธ์ให้รัฐไทยด้วยการช่วยปราบกองโจรชายแดนใต้ด้วย แม้แต่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าฮาลา-บาลาในวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่พวกเราเคยตั้งค่ายในป่า มีการฝังระเบิดไว้มากมาย จนไม่มีใครกล้าเข้าไปล่าสัตว์ ตัดไม้ ทุกวันนี้พวกเราที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ชิดป่าก็ยังช่วยดูแลทรัพยากรให้สมบูรณ์ เราใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีจากการขยันทำมาหากินเพื่อตั้งตัวใหม่ด้วยสองมือของตนเอง”
เธอมองไกลออกไปตามแสงสว่างที่ลอดผ่านประตูบ้านเห็นต้นไม้เป็นเงาตะคุ่ม ชีวิตช่วงหนึ่งเธอก็เหมือนต้นไม้พวกนั้น
ผ่านการเติบโตทีละกิ่งทีละก้าน ก้าวสู่วัยสาว และเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้นไม้ที่เริ่มมีร่มเงา เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคนรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ แต่หากไม่สามารถเป็นร่มเงาให้ใครได้ ชีวิตจะมีความหมายอย่างไร
เมื่อสิ่งน่ากลัวของความแก่ชราไม่ใช่อาการหลงลืม แต่คือการถูกลืมโดยคนที่เรารัก
“จงภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ที่พวกเขาต่อสู้ฝ่าฟันกันมาอย่างไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่มีอะไรให้ลูกหลานต้องอยู่อย่างอับอายเลย และอย่าอายที่มีสายเลือดคอมมิวนิสต์”
"ป่าทำให้เรารู้จักตัวเองว่า เรายังรู้จักอะไรต่ออะไรน้อยเกินไป ดีที่เรายังไม่ชนะ ยังไม่ได้อำนาจรัฐ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เรามีโอกาสไปสร้างความเสียหายมาก ๆ ได้ บางทีการเป็นผู้แพ้มันดีกว่าเป็นผู้ชนะเสียอีก หากเรายังไม่พร้อมจริง"
วัฒน์ วรรลยางกูร
ล่ามภาษาจีน รวบรวมภาพอดีต
และร่วมบรรณาธิการต้นฉบับ
เฉิงฮั่นฮุย แซ่เซ่ง (สาริน แสงเกียรติวงศ์)
เอกสารอ้างอิง
เฉินผิง และธันว์รวี. ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการ
พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา. กรุงเทพฯ : ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๕๗.
อ่านเสริมเรื่องราวคอมมิวนิสต์มาลายา
สุชาดา ลิมป์. “คอมมิวนิสต์มาลายา แสงดาวในป่าฮาลา-บาลา”.
สารคดี ๓๗, ๔๓๒ (มีนาคม ๒๕๖๔) : ๗๘-๑๒๙.