คนภูพาน
ทหารกองป่า
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
กองป่าภูพานเกิดขึ้นในช่วงปี ๒๕๐๐ ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังมาไม่ถึง นักปฏิวัติยุคแรกข้ามโขงไปเรียนการเมืองและฝึกทหารกันที่ฝั่งลาว ต่อมาชาวบ้านบางส่วนหนีภัยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลบขึ้นไปอยู่บนภู กระทั่ง พคท. ขยายงานมาถึงเมื่อปี ๒๕๐๔ การปราบปรามคุกคามชาวบ้านจากเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งหนักหน่วง บังคับให้ชาวบ้านหลายคนต้องเข้าป่าจับปืนเป็นทหารกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) โดยที่ยังไม่เคยรู้จักคอมมิวนิสต์ หลายครอบครัวเกิดลูกหลานในป่า และอยู่ป่ากันมาคนละหลาย ๆ ปี กระทั่ง “ป่าแตก” บังคับให้ต้องกลับมาเป็นชาวบ้านอีกครั้ง ซึ่งพวกเขายังคงเป็นคนภูพาน
อยู่ในทุกวันนี้
“ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่ชนะ
เราก็ไม่มีแผ่นดินอยู่”
สมลี พรมพินิจ
ชาวบ้านก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ กระทั่ง “ป่าแตก” ออกจากป่าเป็นชุดสุดท้ายของเขตงานภูพาน
อดีต
“สหายขจัด” ผู้บัญชาการทหารในเขตอีสาน/คณะกรรมการบริหารกลาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สมัยสมัชชา ๔
ปัจจุบัน
พำนักทำปศุสัตว์อยู่ที่บ้านแก้งนาง อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์
ลุงขจัดไม่ได้เป็นคนดั้งเดิมของพรรคฯ ทำไมกลายเป็นผู้นำในเขตอีสานได้
หลังจากผมไปเรียนที่เวียดนามก็ได้เข้าพรรคฯ เป็น “สมาชิกสมบูรณ์” จากที่นั่น แล้วพอผมกลับมาดำเนินงานการเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนและจัดตั้งกองทหาร หลังจากพรรคฯ จัดกองกำลังขึ้นมา ไม่มีคนมาเป็นผู้นำ พรรคฯ ก็จัดตั้งขึ้น
ก็ค่อย ๆ ไปทีละขั้น เริ่มแรกก็เป็นกรรมการบริหารพรรคฯประจำเขต เลื่อนขั้นมาเป็นกรรมการอำเภอก่อน กรรมการจังหวัด เป็นกรรมการภาคอีสาน ดูแลเรื่องการทหาร ลุงสยามเป็นผู้บัญชาการ ผมเป็นรองผู้บัญชาการทหาร ตอนหลังเป็นกรรมการบริหารกลางของพรรคฯ ในสมัยประชุมสมัชชา ๔
วันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม ที่บ้านนาบัว ลุงอยู่ในเหตุการณ์ด้วยไหม
ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่กองกำลังที่ลงไปเป็นกองกำลังที่ส่วนหนึ่งไปอยู่ประเทศลาวตอนนั้น เพราะว่าทางลาวก็มาเอาคนที่อยู่นครพนมไปเป็นกองกำลังทหารของเขา หลังจากพวกเราตั้งตัวที่ภูพานได้แล้ว ประสานให้ลาวส่งมา ก็ขึ้นมาหาผม แล้วก็คุยกันวางแผนจะไปจัดเป็นหนึ่งหมู่ลงไปที่นั่น แบ่งกำลังมาเคลื่อนไหวมวลชน
ตอนนั้นเรายังไม่ต่อสู้ด้วยอาวุธ เราเคลื่อนไหวมวลชนอยู่ ลงไปอยู่ที่นั่นหมู่หนึ่ง นำโดยภูธรกับสุดใจ ไม่ใช่จงใจจะทำเสียงปืนแตก มันถูกปิดล้อมที่ป่าละเมาะบ้านนาบัว ล้อมจับ แต่พวกเราไม่ยอม เกิดการสู้รบกัน “สหายเสถียร” สู้รบจนใจขาดอยู่ตรงนั้น ยิงต่อสู้เรื่อย ๆ คนที่เหลือหลบออกมาได้
ในที่สุดทางการก็เอากำลังมาไว้ในแต่ละบ้าน ๆ ล้อมภูพาน บนเขาก็ตั้งทุกหมู่บ้าน ไม่ให้คนป่าได้ข้าวกิน จะให้เราตายแต่ไม่ได้กินข้าวเราขุดมันกิน กินกลอย มีอะไรกินได้ก็กินไป ผลไม้อะไรอย่างนี้ ได้กินข้าวบ้างไม่ได้บ้าง บางทีได้ข้าวมาก็ต้มใส่น้ำเยอะ ๆ กินคนละครึ่งกระป๋อง กระป๋องนมใส่ข้าวต้มกินสองคน กินมันเท่าที่มีอยู่ พอประทังชีวิตอยู่ได้ ราว ๒ ปีที่อยู่แบบนี้
ในช่วงนั้นมีอะไรเป็นกำลังใจ
ให้อยู่กับความยากลำบาก
ไม่ได้กำลังใจมาจากไหนเลยนะ คนมันสู้ตาย คล้าย ๆ ว่ามึงทำได้ก็ทำไป แต่กูมีชีวิตอยู่ก็สู้มึง ทำนองนั้น
ที่เราอดอยากก็เพราะศัตรู เพราะเจ้าหน้าที่มาควบคุมพื้นที่ ควบคุมมวลชน ความเคียดแค้น ปลุกนักรบให้ต้องสู้ ปืนเรา มีในมือเราก็ต้องสู้
ยุทธการ ๑๕ กองพัน ที่ว่าเป็นการปราบใหญ่ครั้งแรกบนภูพาน ลุงอยู่ในเหตุการณ์ด้วยไหม
อยู่ ยุทธการ ๑๕ กองพัน เป็นช่วงเริ่มเปิดฉากแรก กำลังที่บุกขึ้นเขามาจริง ๆ ๘ กองพัน นอกนั้นก็เป็นกำลังหนุนกระจายอยู่สี่ทิศ ทั้งทิ้งระเบิด ยิงปืน ๑๐๕ ปืนใหญ่ถล่มภูพาน
ตอนนั้นพวกเรากำลังยังไม่เยอะ ไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน กระจัด กระจายอยู่เป็นหน่วยปฏิบัติงานเท่านั้น เราไม่ได้สู้รบกับเขาเลย หลบออกไปอยู่ข้างนอกที่ราบ อยู่กับมวลชน เขาบุกไปถล่มภูไป แต่เราไม่ได้อยู่สักคน ตอนนั้นเราสรุปว่าขี่ช้างจับตั๊กแตน เสียลูกปืนยิงกราดขึ้นไป แต่จริง ๆ แล้วยุทธการ ๑๕ กองพันไม่มีการสู้รบ
หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ช่วงนักศึกษาเข้าป่าได้มาช่วยเพิ่มกำลังพลมากไหม
ในส่วนอีสานประมาณสัก ๓,๐๐๐ คน ทีนี้ได้ส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย รวมแล้วมันใกล้ ๆ หมื่นในช่วงนั้น เป็นช่วงสร้างฐานที่มั่น ช่วงต้น ๆ เราไม่สูญเสียเท่าไร มาเริ่มสูญเสียช่วงหลัง ๆ ตอนสร้างฐานที่มั่นแล้ว
เพราะอะไร
เพราะเราตั้งหน้าสู้รบ เขาล้อมปราบเราก็ใช้กำลังต่อต้านสถานที่สำคัญ ๆ เราใช้กำลังโจมตี ออกสู้รบ ทำให้กองกำลังเสียไปช่วงนั้น
ก่อนสร้างฐานที่มั่นก็มีเสียบ้าง เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วย ขาดอาหารการกินบ้างก็มี แต่ว่าการสู้รบไม่ค่อยสูญเสียเท่าไร หลังจากเปิดฉากสู้รบเราเสียหายบ้าง แต่เราก็ได้รับชัยชนะทุกที่ ถ้าดูว่าจะชนะเราก็รบ ถ้ารบไม่ชนะเราก็ถอยก่อน เราถือหลักนี้
ทางการกำลังเยอะกว่ามาก ทำไมไม่สามารถปราบฝ่ายป่าลงได้
เขาใช้กำลังใหญ่ เราใช้กำลังเล็กชุดละสี่ถึงห้าคนไปดักซุ่มโจมตี เราได้เปรียบภูมิประเทศด้วย เขาจะไปที่ไหนเรารู้ก่อน เพราะเรามีหน่วยข่าวกรองที่ดักฟังวิทยุ มีเครื่องส่งสามเครื่องที่เรายึดมาได้ ก็มาถอดรหัสดักฟัง เรารู้ว่าเขาจะไปไหน ขึ้นเขาจากทางไหน
การสู้รบแต่ละครั้งเราจะใช้ยุทธวิธีรบแบบจรยุทธ์ แบบกอง
โจร เขามาเยอะ ๆ เราไม่จำเป็นต้องไปสู้รบ การสูญเสียก็น้อย กำลังทหารเยอะ แต่ทำอะไรเราไม่ได้
รบไม่แพ้ ทำไมถึงป่าแตก
ถูกตัดทอนการสนับสนุน อาวุธจากเคยให้ ๒๐ ตันก็ลดลง เงินที่ให้ช่วยเหลือปีละ ๑๘-๒๐ ล้านก็ทยอยลดลง ในที่สุดเขาก็ตัดความช่วยเหลือให้พึ่งตัวเอง สถานีวิทยุที่ย้ายจากเวียดนามไปตั้งอยู่ที่ชายแดนจีนเขาก็ให้ปิดสถานี
มีปัญหาภายในด้วย คนรุ่นใหม่บอกว่าเราตามจีนอย่างเดียวไม่เอาเวียดนาม ไม่เอาลาว ก็เกิดความขัดแย้งภายใน ไม่เป็นเอกภาพ พอเปิดประชุมสมัชชา ๔ ความคิดก็แยกเป็นสองทาง
เป็นช่วงที่ลำบากที่สุด องค์กรนำย้ายไปภาคเหนือ เพราะหลังจากเหตุการณ์ปะทะรุนแรงขึ้น ทางการสร้างถนนเปรมพัฒนา จากเขาวงไปนาแก เราเผารถไป ๑๔ คัน หลังจากนั้นเขาเอาทหารมาสร้าง ไม่ใช่ผู้รับเหมาแล้ว ต่อต้านไม่ไหวศูนย์กลางก็เห็นว่าไม่สามารถจะทำกองบัญชาการอยู่ที่นั่นได้
พอกองกำลังเคลื่อนไปภาคเหนือ เหลือกองพันที่ตั้งใหม่ ไม่แข็งแรงพอ เขาก็ใช้กำลังปราบอย่างหนักเลย ทั้งปิดล้อม ทั้งบุกโจมตี กองทัพอากาศกระโดดร่มลงมาทีละจุดเลย ยิ่งผลักให้คนออกจากป่ามากขึ้น
หลังจากทางการใช้นโยบาย ๖๖/๒๓ และ ๖๕/๒๕ แล้วก็ใช้กำลังถล่มอย่างแรง ทีนี้ก็รั่ว ป่าแตกในที่สุด เราทยอยจัดกำลังออกไป ออกจากป่าหมดจริง ๆ ปี ๒๕๓๐ หมด พวกผม ๒๑ คนเป็นชุดสุดท้ายที่เขตภูพาน
จากอดีตผู้นำระดับภาคอีสาน เมื่อออกมาอยู่บ้านทางการมองเราอย่างไร
ระดับผู้นำเขาจะติดตามต่อเนื่อง มาดูว่าอยู่ได้ยังไง มีความเดือดร้อนอะไรไหม เอาของมาฝากบ้างอะไรบ้าง คือเขาจะมาดูว่ายังมีการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง
แต่ว่าพวกเราก็เคลื่อนไหวกันอยู่ ผู้นำสามคนก็แบ่งกันไปทำหน้าที่ ไปเคลื่อนไหวสมัชชาคนจน สมัชชาเกษตกรรายย่อยแล้วก็มาตั้งกลุ่มสหกรณ์ ตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว เคลื่อนไหวตั้งกลุ่มเกษตรเป็นจุด ๆ ไป
อนุสรณ์สถานปี ๒๕๓๗ ชื่อใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะลงเอยได้ เราจะใช้ชื่อนักรบประชาชน ชื่อวีรชนก็ไม่ได้ มาได้ใกล้เคียงกับอนุสรณ์สถานของทหารพรานที่ภูพานน้อยว่าสันติภาพภูพาน มันเป็นชื่อที่อยู่ในบังคับ ใช้ชื่ออื่นไม่ได้ ตอนหลังเราถึงมาเปลี่ยนเป็นอนุสรณ์สถานวีรชนภูพาน
ปี ๒๕๔๐ กฎหมายใหม่ออกมา เราก็เคลื่อนไหวสมัชชารายย่อย เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน ออกเคลื่อนไหวข้างนอก บอกให้รู้ว่าเราตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน ทำถูกต้องตามกฎหมาย
ช่วงที่พรรคมีกำลังพลมากๆ ในสายตาของผู้นำอย่างลุงคิดว่าเราจะยึดอำนาจรัฐได้จริงๆ ไหมในช่วงนั้น
มันมีความเชื่อมั่นจริง ๆ นะตอนนั้น คิดว่าถ้าไม่ชนะเราก็ไม่มีแผ่นดินอยู่แน่ จำเป็นต้องสู้จนชนะ ความหวังก็มีตอนนั้นค่ายสังคมนิยมเขาก็ช่วยเต็มที่ เงินก็หนุนมา อาวุธก็หนุนมา เราก็มีความมั่นใจมากขึ้น มวลชนก็ให้การสนับสนุน มันมีความเชื่อมั่น
กองกำลังเราไม่ได้มีแต่ในป่า ในบ้านก็ยังมีกองกำลังซ่อนอยู่ อาวุธก็เก็บไว้เตรียมการ ก็มีความมั่นใจอยู่ แต่เหตุการณ์มันเปลี่ยน สหายเราไปคนละทิศละทาง หลังจากความคิดแตกกัน ความเชื่อมั่นค่อย ๆ ลดหายลงไป
แม้จะล้มลุกคลุกคลาน แต่ยังเชื่อมั่นว่าพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะปลดปล่อยประเทศไทย คนที่คิดอย่างนี้ก็มีเยอะอยู่ จุดยืนที่มุ่งปลดปล่อยประเทศไทยยังพัฒนาไปอยู่ ระบบทุนนิยมผูกขาดยังไงมันก็ต้องพังแน่นอน เพราะมันหมดทางไปแล้ว ไม่ไปสังคมนิยมไม่ได้
อย่างวิกฤตคราวนี้ก็พิสูจน์แล้ว ประเทศสังคมนิยมอย่างจีนเกิดวิกฤตรุนแรงมาก โควิด-๑๙ หนักที่สุด แต่ลุกขึ้นมาก่อน ประเทศต่าง ๆ ขาดดุลการค้า เศรษฐกิจถอยหลังไป แต่จีนยังมีบวกอยู่
“อยากได้เรือนใหม่
ต้องทำลายเรือนเก่า”
ชม แสนมิตร
นักปฏิวัติรุ่นปี ๒๕๐๐
อดีต
“สหายตั้ง” ทหาร ทปท. เขตแดงสิงห์บุรี นครบุรี ฐานที่มั่นภูพาน ๒๒ ปี
ปัจจุบัน
อายุ ๙๒ ปี ทำงานจักสานเครื่องใช้พื้นบ้านจากตอกไม้ไผ่อยู่ที่บ้าน หมู่บ้านนาบัว นครพนม
มีคนถามว่าเสียงปืนแตกมันสำคัญตรงไหน ผมบอกว่าสำคัญ
ต่อการปกครอง ถ้าปกครองดีผีก็เป็นคน ถ้าการปกครองไม่ดีคนก็เป็นผี แต่ก่อนสิ่งใหม่จะเกิดต้องทำลายสิ่งเก่า ถ้าสิ่งเก่ายังอยู่ สิ่งใหม่เกิดไม่ได้ อยากได้เรือนใหม่ต้องทำลายเรือนเก่า
ช่วงแรกไปอยู่ป่าประเทศลาว ไปช่วยเขาปลดปล่อย ขับไล่จักรวรรดินิยม โค่นศักดินา ทุนนิยม ไปสู่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ นี่เป็นแนวทางของการปฏิวัติ ปี ๒๕๐๔ กลับมาอยู่ในป่าภูพาน ไม่มีตำแหน่งอะไร ผมทำงานมวลชน ทำหน้าที่การเมือง บอกให้ประชาชนรู้ว่าถ้าไม่สู้เราจะเป็นทาสอยู่กี่ร้อยปี หลายชั่วมนุษย์ความทุกข์ยากเหล่านี้ไม่มีใครมาแก้ จะไปอาศัยรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีแต่หลอกลวงเรา
มีคนบอกว่าถ้าพระศรีอาริย์ไม่มา มนุษย์ไม่มีความสุข ผมบอกพระศรีอาริย์เกิดแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ระบอบประชาธิปไตย ระบอบแห่งความเท่าเทียมเกิดขึ้นแล้ว แต่พวกเรายังไม่เข้าใจ ไม่รักษาเอาไว้ ปี ๒๕๒๖ พรรคบอกว่าต้องกลับเข้าบ้าน ออกจากป่า ผมนอนไม่หลับหลายวัน เรามาสู้ทำไม ตายไปก็เยอะ คนตายลงทุนมาเยอะแล้ว เมียผมก็ตาย ลูกสาวผมตายคนหนึ่ง น้องชายคนหนึ่ง โรคมาลาเรียทำลายทหาร ทปท. ตายเยอะ พี่น้องสู้กันตายเป็นพัน เรายังไม่ได้ชัยชนะมาให้ประชาชน ทุกวันนี้ยังไปเลือกตั้งอยู่ เขาบอกว่าทำหน้าที่ทางการเมือง แต่เลือกตั้งกี่ครั้งเขาไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อพวกเขาเอง แก้ปัญหาของเขาเอง ผมพูดแบบนี้ จะเชื่อไม่เชื่อก็ดูต่อไป
“แพ้ทางการเมือง
แต่ทางทหารตีทีไหน
เราก็ชนะ”
ด้วง เชื้อคำฮด
ชาวบ้านโพนสว่าง ตำบลพังแดง
อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
อดีต
“สหายวิพากษ์” ผู้หมวดบัญชาการรบ เขตงานภูพาน หลังออกจากป่าเป็นคนขายประกันชีวิต
ปัจจุบัน
เกษตรกร
ปี ๒๕๐๘ ผมไปเรียนการเมืองที่เวียดนาม เรียนวิชาการรบ
แบบหมู่บ้านต่อต้านการกวาดล้าง กลับมาอยู่ภูพานปี ๒๕๑๓ อยู่กองร้อย ๑๒๑ เป็นผู้หมู่ แล้วเลื่อนชั้นเป็นผู้หมวด ตั้งหมวดละ ๓๐ คน เป็นผู้หมู่บัญชาการรบ กลับบ้านปี ๒๕๒๕ ถือว่าแพ้ในทางการเมือง แต่ในทางทหารตีทีไหนเราก็ชนะ ยกเว้นการถูกกวาดล้าง
ทางการทหารเรามี “กองหลอน” เป็นมวลชนที่ไม่ได้เข้าป่าเป็นทหารอยู่บ้าน เวลาซุ่มตีจะมาช่วยจู่โจม ถ้าเห็นว่ารบได้รบ รบไม่ได้เราจรไป แค่ตะโกนใส่กัน ตอนหลังทหารรัฐบาลก็ใช้กองหลอนเหมือนกัน
กองป่าเราแบ่งกันเป็นหน่วย ทำมาหากินกันไปตามประสาผูกเปลนอนเปลใครเปลมัน ลูกก็นอนเปล มีคนถามว่าอยู่ป่าสะดวกสบายไหม ผมตอบว่า นอนดิน กินน้อย กลางคืนยุงกัด ใครว่าดี มันก็ไม่ดี ไม่ได้อยากไป แต่มันจำเป็น โดนบังคับ
ตอนลูกคนที่ ๓ เกิด ผมถูกสถานการณ์บังคับให้ไปป่า บอกลูกเมียว่าถ้าไม่ตายยังมีโอกาสได้พบกัน ลูกคนสุดท้องไปเกิดในป่า ตอนหลังลูกคนแรกคน ๒ ก็เข้าป่าหมด
หลังเสียงปืนแตก ทางการข่มเหงหนักขึ้น พวกเจ้าหน้าที่เห็นเป็ดไก่ใครยิงเอาไปกินต่อหน้า เอาควายไปกิน บางคน บางครอบครัวแต่งงานได้ ๓ วัน เขายิงทั้งผัวทั้งเมีย โดยเฉพาะนามสกุลวงศ์กะโซ่ แถวดงหลวง จะถูกเพ่งเล็ง เกิดบ้านแตก
ไปอยู่ในป่าหมด ชวนกันไปเป็นทหารป่า
กลับจากป่าตอนอายุ ๔๐ ผมมีเข็มทิศออกมาอันเดียว ของจีน ได้จากเวียดนามตอนกลับจากเรียน
เพื่อนชวนไปขายประกันอยู่ ๒๐ ปี เป็นหนี้อยู่ ๑.๖ แสนบาท ปลูกมันปลูกปอใช้หนี้ ช่วงไปอยู่ป่ามีคนมาใช้ที่ดินของเรา ก็ขอให้เขาย้ายออกไป
กลับมาอยู่บ้าน สายตาคนมองทั้งดีไม่ดี บางคนว่าตอนยังมีทหารปลดแอกฯ พวกลักเล็กขโมยน้อยในหมู่บ้านไม่มี บางคนบอกว่าถ้าออกมาจะฆ่าให้ตาย มันมีเหตุการณ์ทหารปลดแอกฯวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตาย ๑๐ กว่าคน ตอนกลับมาอยู่บ้านเคยมีคนมาถามว่าลุงอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยไหม คงมีญาติพี่น้องเขาอยู่ คงยังเจ็บแค้น
ผมบอกความเคียดแค้นในอดีต สูงสุดก็แค่ตาย แต่คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่ฆ่าก็ตาย
“เปลี่ยน
รอยเลือด
เป็นเรียนรู้”
วันดี วงศ์กะโซ่
ชาวบ้านดงหลวง มุกดาหาร
อดีต
“สหายสุทัศน์” นักฉายหนังประจำหน่วยโฆษณาการ ฐานที่มั่นภูพาน, ทหารพิทักษ์ ไขแสง สุกใส
ปัจจุบัน
ประธานสร้างศาลาประวัติศาสตร์ดงหลวง
ผมเป็นคนบ้านดงหลวง ขึ้นภูที่หลังบ้านตรงที่เรียกว่าภู
ผาชัน กองป่าใช้เส้นทางนั้นติดต่อกับเมืองด้านดงหลวง จุดนัดพบอยู่ที่ลานพ่อกูด พลาญหินที่ตั้งศาลาประวัติศาสตร์ดงหลวง
ชีวิตในป่า กินอยู่ตามฤดูกาล ฤดูหน่อไม้ก็กินหน่อไม้ ใส่เบ็ดหาปลา ฤดูเห็ดก็เก็บเห็ด เอาข้าวจากชาวบ้าน ในหมู่บ้านมี
แกนนำประจำหมู่บ้าน คนพวกนี้สนับสนุนช่วยเหลือ ใช้เงินพรรคฯ ซื้อข้าวสารด้วย
สื่อสารกับพ่อแม่ทางบ้านเป็นปรกติ คิดถึงก็มีสายนัดไปพบแถวทุ่ง สมัยก่อนยังเป็นป่า
ต่อมาพรรคฯ ส่งไปเรียนการฉายหนังที่จีน กลับมาประจำอยู่หน่วยโฆษณาเคลื่อนที่ของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย อยู่แถวที่เรียกว่าเขตเพชรบุรี ถ้าปัจจุบันก็แถว
บ้านปากช่อง นาหินกอง ภูผาแดง ห้วยขี้เหล็ก ทับตั้งอยู่แถวนั้น
ตอนค่ำออกฉายหนังตามหมู่บ้านทำงานมวลชน ไปกับผู้นำมีหน่วยงานปลุกระดม ชี้แจงการกระทำของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ปี ๒๕๒๒ สถานการณ์ในบ้านเมืองและระหว่างพรรคพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้านทำให้ พคท. ระส่ำระสายไปด้วย เห็นว่าไปต่อไม่ได้ ดูแล้วไม่ไปจบอย่างที่เราคิด การยึดอำนาจรัฐดูแล้วเป็นไปไม่ได้ ผมก็ออกมาก่อน พี่ชายพี่สาวยังอยู่
ผมเข้าไปอยู่ป่า ๘ ปี เพราะอยากทำอะไรให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ เราไปศึกษาจนรู้แล้วว่าต้องทำขนาดไหนอย่างไร แต่เมื่อมันไปไม่ได้แล้วก็ต้องกลับบ้าน
ตอนหลังหลายหน่วยงานมาร่วมกันคิดสร้างศาลาประวัติศาสตร์ดงหลวง ตอนนี้มีแค่กองหินเหมือนเจดีย์ แต่ตามแนวคิดว่าจะมีข้อมูลประวัติศาสตร์ ว่าพื้นที่ตรงนี้เคยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ให้รอยเลือดที่เคยเปื้อนดงหลวงมานี้สามารถที่จะสอนใจให้รู้ว่า เมื่อคนเรากระทำรุนแรงต่อกัน จะเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ เราทุกคนน่าจะได้เรียนรู้จากตรงนี้