“ภูนั้นชื่อบรรทัด”
สัมภาษณ์/ถ่ายภาพ : ณัฐริยา โสสีทา
เรียบเรียง : วรรณิดา มหากาฬ
“เราเป็นผู้สังเกตการณ์ เขาเรียกแนวร่วม คือพวกเดียวกัน แต่เราไม่จับปืน”
บทสนทนาถึงเหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้นภายในบ้านล้อมรั้วใหญ่ท้ายซอยวัดอุโมงค์ ชานเมืองเชียงใหม่
“เมื่อก่อนที่นี่เป็นศูนย์ศิลป์ เรียกศูนย์ศิลป์หน้าวัดอุโมงค์ นักศึกษาที่ออกจากป่ามาหาทุน หาเสบียง เข้าเมืองมาต้องมานอนบ้านหลังนี้ ในที่สุดเราก็ตามเข้าป่าไป”
อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าป่าในฐานะ “สหายโชติ” พร้อมเปิดกางรูปถ่ายปึกเก่า
“ภาพชุดนี้เป็นภาพถ่ายครั้งใหญ่นับพันภาพ ซึ่งปรกติห้ามถ่าย เป็นภาพนักศึกษาชายหญิงแต่งชุดทหารกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย สะพายปืน หาดูยาก วงเล็บ ทุกคนไม่อยากเปิดหน้าเปิดตา กลัวมีปัญหาเดี๋ยวจะโดนขึ้นบัญชี”
เสียงอ่านบันทึกจากภาพถ่ายร้อยเรียงประกอบเพื่อบอกเล่าเบื้องหลังภาพถ่าย มีบันทึกการสัมภาษณ์โดยใช้อักษรย่อ
“ช่างภาพชื่อชิโบะ เป็นคนญี่ปุ่น กล้องที่ใช้เป็นกล้องของเขา พวกมืออาชีพ” อาจารย์เล่าถึงช่างภาพที่รู้จักกันที่ญี่ปุ่น และได้เดินทางเข้าสู่เขตภูบรรทัดด้วยกัน
“ผมอยู่ในป่าก็อยู่กับพวกเขา อยู่แบบนี้เป็นเดือน มีเข้า ๆ ออก ๆ ด้วย เริ่มจากขึ้นรถจากในเมือง ไปถึงสถานี ลงสถานีไหนเขาก็มายืนรออยู่แล้ว จะมีโค้ดส่งมาบอกว่าถือหนังสือพิมพ์ม้วน ๆ แบบนี้นะ เราก็เดินตามเขาไป แต่งตัวเป็นปรกติ พอเข้าไปถึงค่ายเขาก็วิ่งมาจับมือทุกคน ร้องบอกว่าแนวร่วมมา มีคนถามว่าชื่ออะไรดีครับ ก็เป็นสหายโชติตั้งแต่วันนั้นมา
“ชีวิตประจำวันเรียนคัมภีร์เหมาเจ๋อตง คัมภีร์มาร์กซ์ มีทุกอย่าง พิมพ์งาน พิมพ์เอกสาร พิมพ์ใบปลิวไปโปรยตามหมู่บ้าน ซ้อมรบซ้อมอะไร เล่นบาสฯ ออกกำลังกาย ไม่อย่างนั้นก็วิ่งไม่ไหวเวลาข้าศึกมาล้อม เจ้าหน้าที่มาล้อมจะวิ่งยังไง ต้องออกกำลังไว้ อพยพย้ายจะได้รวดเร็ว
“ส่วนเรื่องแต่งตัวนี่แต่งตัวเนี้ยบนะ ทหารในเมืองอาย มันโก้มาก เสื้อผ้าเขามีแผนกตัดเย็บ มีแผนกหมอพยาบาล มีแผนกละคร นักศึกษาที่เล่นละครในเมืองพอเข้าไปก็ไปสร้างข้างใน มีความสนุก ปลุกใจ มีรำวง ความบันเทิงเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ จัดบ่อย ไม่งั้นก็เหงา เครียดตาย ทุกคนเท่ากัน กินอยู่ร่วมกัน หลักการเดียวกัน มีการรวมพลพูดปลุกใจทุกวัน สะพายปืนตลอดเวลา เพราะว่าต้องรบ อยู่ระหว่างสงคราม...สงครามประชาชน”
แต่ละภาพมีเรื่องราวร้อยเรียงประกอบ โดยอาจารย์เทพศิริได้บันทึกความจริง ณ ขณะที่ชีวิตของนักศึกษาและประชาชนในป่าดำเนินไป
“เรามองตามแล้วมือก็เขียน เป็นความจริง ณ ขณะนั้นเลย ภาพถ่ายเหล่านี้เคยจัดแสดงที่ต่างประเทศโดยชิโบะที่เป็นช่างภาพ ผมก็เคยนำไปแสดงในวันระลึกต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่เรื่องราวเหล่านี้จะต้องถอดออกมาเรียบเรียงเป็นเรื่องความคิดของคนที่เข้าป่าตอนนั้น เล่าเรื่องชีวิตของผู้คนในป่า เป็นประวัติศาสตร์การเมือง เป็นหอจดหมายเหตุ มันน่าจะทำไว้ที่หอจดหมายเหตุที่ธรรมศาสตร์ ชื่อนิทรรศการว่า ภูนั้นชื่อบรรทัด”