Image

กาลครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ประชาชน ตอน 2

scoop

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์

ทหาร ทปท. ภาคใต้ ที่ค่าย ๕๑๔ เคียนซา สุราษฎร์ธานี แต่งตัวชุดธรรมดาในชีวิตประจำวัน ส่วนผ้าขนหนูที่ห้อยคอนั้น ถือเป็นแฟชั่นในหมู่ทหารหนุ่มสาว 

ภาพจากหนังสือ ศรัทธาคงมั่น ปั้นดินเป็นดาวแดง หน้า ๔๗

หมู่บ้านวันเสียงปืนแตก

ตามบันทึกของ “ลุงขจัด” หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกการเคลื่อนไหวในเขตงานภูพาน และอยู่ที่นั่นช่วงปี ๒๕๐๘ เล่าว่าช่วงนั้นมีการประสานพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ขอให้ส่งสหายชาวไทยที่ไปช่วยรบปลดปล่อยประเทศลาวกลับมาร่วมกองป่าภูพาน

“ไม่นานพรรคประชาชนปฏิวัติลาวก็ส่งสหายผู้บัญชาการและนักรบ ๓๑ คน พร้อมด้วยอาวุธและอุปกรณ์ในการรบครบครัน นำโดย ‘สหายภูธร’ ผู้ชี้นำการเมือง ‘สหายสุธี’ ผู้บัญชาการทหาร ‘สหายสนชัย’ รองผู้บัญชาการทหาร มาถึงมีการจัดพิธีต้อนรับ ศึกษาและมอบหมายหน้าที่นำกำลังไปปลุกระดม”

กองป่าภูพานรวมกำลังจัดตั้งทหารได้ ๑ หมวด มี ๓ หมู่ หมู่ละ ๑๒ คน มี “สหายขจัด” เป็นผู้ชี้นำการเมือง

กองกำลังหน่วยนี้เองที่ต่อมาทำให้เกิด “วันเสียงปืนแตก” ในปี ๒๕๐๘

ข้อมูลจากความทรงจำของ หนูลา จิตมาตย์ หนึ่งในแปดคนของฝ่ายกองป่าที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ให้สัมภาษณ์ธันวา ใจเที่ยง ว่าเช้าวันนั้นขณะพักผ่อนหลังปฏิบัติงานมวลชนอยู่ที่เถียงนาบ้านนาบัว กำลังตำรวจโอบล้อมเข้ามาแบบพระจันทร์เสี้ยวแล้วยิงสู้กัน  “สหายเสถียร” ซึ่งทางการระบุว่าชื่อ ยน คำเผือก เสียชีวิต 

ขณะที่รายงานจากส่วนราชการจังหวัดนครพนมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยระบุว่า พันตำรวจเอก สงัด โรจนภิรมย์ พร้อมด้วยตำรวจประมาณ ๓๐ นาย ได้ไปล้อมจับพวกคอมมิวนิสต์ที่บริเวณป่าบ้านดงอินำ ตำบลพระซอง อำเภอนาแก วันนี้ เวลา ๐๗.๐๐ น. ได้เกิดยิงต่อสู้กัน คนร้ายตาย ๑ คน  ฝ่ายเจ้าหน้าที่ สิบตำรวจเอก ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ถูกยิงตาย พันตำรวจเอก สงัด โรจนภิรมย์ ถูกยิงที่ขาขวา ท่อนล่าง และถูกที่เหนือราวนมขวา ๑ นัด หลังเท้าขวา ๑ นัด สิบตำรวจตรี มนต์ชัย โพธิดอกไม้ ถูกยิงขาขวาทะลุ นอกนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด  ได้ติดต่อขอ ฮ. ของทหารอเมริกันไปรับคนเจ็บส่งโรงพยาบาลแล้ว กำลังที่เหลือได้ติดตามคนร้ายต่อไป

เสียงปืนไม่กี่นัดที่แตกขึ้นที่ชายป่าข้างหมู่บ้านนาบัวในวันนั้น ก้องดังไปไกล เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และยังดังไปอีกยาวนาน ด้วยถูกนับเป็นวันประกาศสงครามประชาชน เริ่มต้นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

จากเนื้อความในข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๐๘ (ซึ่งออกในช่วงบ่าย) ระบุว่าการปะทะเกิดขึ้นช่วง “ประมาณ ๗ โมงเช้า เมื่อวานนี้” และการ “เดินทางตลอดคืนวันเสาร์” ของเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าปะทะ ทำให้ดอกเตอร์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่ค้นคว้าเรื่อง พคท. เชื่อว่าวันที่เกิดเหตุการณ์ “เสียงปืนแตก” ขึ้นควรเป็นวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ ไม่ใช่วันที่ ๗ สิงหาคม ดังที่เข้าใจและยึดถือกันต่อ ๆ มา ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของ “ลุงขจัด” ที่ระบุว่า ปฏิบัติการปิดล้อมของตำรวจใช้เวลา ๒ วัน ๑ คืน จากนั้นวันที่ ๙ สิงหาคม กองป่าถึงกลับถึงภู

แต่นับจากนั้นก็ถือกันว่า “วันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม” เป็นหลักหมายการประกาศสงครามประชาชน เปิดฉากการต่อสู้ยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธอย่างเป็นทางการ

หลังวันเสียงปืนแตก พคท. ปรับยุทธศาสตร์จากที่เคยต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาสู่การต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา หลังจากรัฐบาลไทยยินยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยนับสิบแห่งเพื่อใช้เป็นฐานในการส่งกำลังรบไปทำสงครามในอินโดจีน ตามที่ เจริญ วรรณงาม หรือ “มิตร สมานันท์” และ วิรัช อังคถาวร หรือ “สหายธาร” สหายนำบนภูพาน วิเคราะห์สภาพสังคมไทยเวลานั้นว่าเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ของอเมริกา

กองกำลังประชาชนติดอาวุธที่ดงหลวงจึงเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ในชื่อพลพรรคประชาชนต่อต้านอเมริกาแห่งประเทศไทย เรียกชื่อย่อว่า พล.ปตอ. ส่วนทางภูพานฟากตะวันตกที่ดงพระเจ้า สว่างแดนดิน ใช้ชื่อพลพรรคครองชัย เพื่อระลึกเกียรติครูครอง จันดาวงศ์ ผู้จุดประกายความรักชาติรักประชาธิปไตย จนถูกประหารเมื่อปี ๒๕๐๔

แต่ต่อมามีการวิเคราะห์กันว่าสังคมไทยเป็น “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” กองทหารป่าจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.) เมื่อปี ๒๕๑๑

เป็นกองทหารของ พคท. ที่ต่อสู้กับรัฐบาล ทางการจึงเรียกว่า “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” หรือ ผกค.

ลานพ่อกูด พลาญหินตีนผาชันที่เป็นเหมือนปากประตูขึ้นสู่เทือกเขาภูพาน เป็นจุดนัดพบระหว่าง “คนป่า” กับเมืองด้านดงหลวง  ทุกวันนี้เป็นที่ตั้งศาลาประวัติศาสตร์ที่จะเป็นแหล่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ประชาชนภูพาน ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

ภูพาน
บ้านนักรบ

“นี่ก็คือภูพาน คุณมาถึงแล้วละ” เจริญ วรรณงาม หรือ “ลุงแท้” ผู้นำสูงสุดในเขตงานภูพาน กล่าวกับ “สหายสู้” หรืออุดม ศรีสุวรรณ ในวันที่เขาเดินมาถึงศูนย์กลางพรรคที่ดงหลวง

ป่าภูพานในปี ๒๕๐๙ คงมีสภาพไม่ต่างจากที่มีในบันทึกเมื่อกว่า ๘๐ ปีก่อน

บันทึกจากคณะของ เอเจียน แอมอนิเย (Étienne François Aymonier) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส กับชาวเขมรสี่คน ที่เดินทางจากเมืองกุดสิน หรือบ้านกุดฉิม อำเภอเขาวงในปัจจุบัน ผ่านเทือกเขาภูพานไปยังธาตุพนม เมื่อปี ๒๔๒๖ ที่ พุทธพล มงคลวรวรรณ อ้างในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตภูพาน พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๒๕” เล่าว่าต้องใช้เวลาถึง ๓ วัน กว่าจะเดินข้ามเทือกเขาที่ทุกวันนี้เราสามารถเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้ทางหลวงสาย ๒๒๘๗ เขาวง-ดงหลวง ในระยะเวลาไม่เกิน ๒-๓ ชั่วโมง 

และเมื่อกลางปี ๒๕๖๔ อดีตสหายกลุ่มหนึ่งได้ใช้เส้นทางสายนี้ย้อนรอยอดีตของตัวเองเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน

จากกุดฉิม เขาวง เส้นทางสายเขาวง-ดงหลวง-นาแก หรือถนนเปรมพัฒนา เริ่มไต่ขึ้นสู่ภูพานที่บ้านสานแว้ ผ่านบ้านขัวสูง เลี้ยวขวาไปทางบ้านกกกอก บ้านกกตูม บ้านมะนาว บ้านพังแดง บ้านติ้ว บ้านนาหลัก บ้านโพนสว่าง-นาสะเดา บ้านโพนไฮ บ้านร่มเกล้า บ้านหนองแคน บ้านก้านเหลืองดง แล้วมุ่งขึ้นสู่อำเภอดงหลวง จากนั้นทอดข้ามสันภูพานน้อย สู่อำเภอนาแก สู่บ้านนาบัว

บันทึกชื่อหมู่บ้านรายทางไว้อย่างละเอียด เพราะสองฟากถนนและในชุมชนเหล่านี้คือพื้นที่สีแดงอันเป็นสมรภูมิในสงครามประชาชน โดยเฉพาะบนทางหลวงชนบทสาย มห. ๔๐๑๒ ที่เพิ่งตัดลัดแยกขวาจากบ้านสานแว้ ไปบรรจบทางหลวงสาย ๒๒๘๗ อีกทีที่บ้านพังแดง  ทางหลวงตัดใหม่สายนี้ผ่านบ้านปากช่อง บ้านนาหินกอง แก่งโพธิ์ บ้านแก่งนาง บ้านตาเปอะ บ้านคำเบิ่มบ่าม บ้านห้วยเลา บ้านหนองคอง ก่อนนี้บนเส้นทางที่ผ่านมาถือเป็นแถบใจกลางการเคลื่อนไหวของฝ่ายป่า ทางหลวงและการพัฒนาจากรัฐเพิ่งเข้ามาได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้

บนเทือกเขาและหมู่บ้านเหล่านี้มีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ประชาชนอยู่ทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่หลงเหลือร่องรอยหรือสิ่งปลูกสร้างทางวัตถุ มีแต่รอยอดีตในความทรงจำของผู้ร่วมเหตุการณ์ที่ยังชี้ที่ตั้งทับ โรงเรียนการเมืองการทหาร โรงพยาบาลกลางป่าที่เคยช่วยเยียวยาพิษไข้มาลาเรีย ทางเดินที่ลงมาขนข้าวไปเป็นเสบียง ชุมชนเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชน จุดปะทะ หรือแม้แต่เนินดินหรือโคนไม้ที่ฝังศพเพื่อนมากับมือ และที่ไม่อาจจดจำได้ รวมทั้งที่ต้องแตกหนีแบบไม่สามารถนำร่างคนตายไปได้

บนเทือกเขาภูพานด้านตะวันตก มีอนุสรณ์สถานระลึกวีรชนอีกคนที่นับว่าเป็นปัญญาชนจากเมืองคนแรกที่ล้มร่างลงบนเส้นทางป่าก็ว่าได้

คนหนุ่มปัญญาชนนักคิดนักเขียนที่เพิ่งได้อิสรภาพจากคุกการเมือง เดินทางมาถึงภูพานหลังวันเสียงปืนแตกไม่กี่เดือนเขาเข้าป่าทางด้านภูพานตะวันตกที่เรียกว่า “ดงพระเจ้า” จังหวัดสกลนคร ซึ่งต่อมาวีรกรรมของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจด้านอุดมคติให้แก่คนหนุ่มสาวมากมายในยุคต่อมาและยังเป็นที่กล่าวขานจนปัจจุบัน

“ชายรูปร่างสันทัดผู้หนึ่งในเครื่องแต่งกายเรียบ ๆ เดินเข้าไปในทับ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใจ ทักทายปราศรัยกับผู้คนด้วยภาษาถิ่น ทีแรกผมไม่สนใจคิดว่าเป็นคนในละแวกนี้ ซึ่งมีการเข้า ๆ ออก ๆ บ่อย ๆ ในแต่ละวัน แต่ทว่าเสียงนั้นเป็นเสียงที่เคยคุ้นหูมาก่อนจึงเดินไปดู ปรากฏว่าชายผู้นั้นก็คือ จิตร ภูมิศักดิ์”

อุดม ศรีสุวรรณ บันทึกเหตุการณ์บนภูพานเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๘

“คุณจิตรออกจากคุก เข้าป่าก่อนดิฉันหน่อยหนึ่ง ได้รู้จักกันที่เจอที่ดงพระเจ้า สกลนคร  คุยกับเขาสนุก เขาให้ความรู้เรามาก โดยเฉพาะการขีดเขียน ดิฉันเคยเป็นนักข่าว เขียนข่าวได้ แต่บทความนี่ยากแสนยาก ก็เกรงใจว่าเขาจะรำคาญเพราะคุณจิตรเขาเป็นผู้รู้ แต่เราไม่รู้ แต่แกไม่ได้ดูถูกดิฉันเวลาพูดหวานก็หวาน เวลาเกิดอารมณ์ก็ห้าวเหมือนกัน คุณจิตรเป็นคนเอาจริงเอาจัง และกล้าพูดแม้แต่กับสหายนำเก่า ๆ ดังที่เขาว่ากับบางคนทะเลาะกันมาตั้งแต่อยู่ในคุก”

“สหายอุทัยวรรณ” เล่าเหตุการณ์ที่ภูพานเมื่อปี ๒๕๐๘

“จุดหนึ่งบนภูที่ส่องดาว เดินเลียบภู คุณจิตรมองไปข้างหน้าเห็นภูตระหง่าน ข้างล่างเห็นหมู่บ้าน ‘ภูพานช่างเป็นที่พักพิงของกองจรยุทธ์เสียนี่กระไร’ แกบอกอย่างนั้น พอออกจากนั้นต่อไปถึงห้วยอีปึ้ง คุณจิตรเขียน ‘ภูพานปฏิวัติ’ ได้แรงบันดาลใจมาจากจุดที่แกยืนดู แล้วสอนให้เราร้องเพลงของแก”

หลัง จิตร ภูมิศักดิ์ มาถึงไม่กี่วัน เสียงปืนก็แตกในดงพระเจ้า สงครามประชาชนในแถบภูพานตะวันตกเริ่มต้นขึ้น

สู่สมรภูมิภูพาน บรรยายเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า กองป่าต้องทิ้งทับแถวหนองขี้อ้น ถอยร่นขึ้นไปบนภู จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งความจริงเป็นผู้ผ่านทาง เตรียมตัวเดินทางต่อไปยังประเทศจีน แต่เขาขอ “จัดตั้ง” อยู่ทำงานและศึกษาสภาพจริงก่อนสักปี แม้จะเป็นปัญญาชนที่เพิ่งมาจากเมือง แต่เขาพูดอีสานได้คล่อง และกินอยู่ได้เหมือนคนท้องถิ่น

อุดมคติและบทเรียนจากการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านธรรมดาสามัญ ไม่ได้รับการบันทึกและให้คุณค่าในหน้าประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ในช่วงหลังมานี้จึงมีความพยายามที่จะปักหมุดสร้างหลักหมายไว้บนสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ โดยบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ร่วมกันมา

ที่ภูพานเขาใช้ชื่อ “สหายปรีชา” มีทหารพิทักษ์ชื่อ “สหายสวรรค์” ตั้งหน่วยลงไปศึกษาสภาพการทำงานมวลชนกับสมาชิกที่มีอยู่ด้วยกันหกคน

ขณะที่มี “ข่าวด่วน” แจ้งมาในช่วงต้นเดือนเมษายน ๒๕๐๙ ว่าเจ้าหน้าที่หลายกองร้อยเคลื่อนพลเข้ามาพร้อมปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. และรถถังหลายคัน  การกวาดล้างดำเนินไปถึงเดือนถัดมา

จิตรยังเคลื่อนไหวอยู่กับหน่วยของเขา ไม่ขึ้นไปภูอ่างศอกับกองกำลังอีกกลุ่ม

“การกวาดล้างของเจ้าหน้าที่ดูจะหนักไปทางตะวันตกของบ้านคำบิด บ้านคำบ่อ ทางภาคตะวันออกยังเงียบสงบอยู่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาขออยู่ทางนี้ไปก่อน” 

ตามบันทึกของอุดม “ในที่สุดเราก็อำลาจากกัน ผมกับคุณสมพงษ์ อยู่ณรงค์ มิได้คาดคิดว่า นั่นเป็นการอำลาจากกันครั้งสุดท้ายระหว่างเรากับคุณจิตร ภูมิศักดิ์”

เดือนถัดมา จิตร ภูมิศักดิ์ โดนเจ้าหน้าที่ของทางการล้อมยิงตายที่ชายป่าภูพาน ขณะลงมาขอข้าวนึ่งที่หมู่บ้านหนองกุงในวันงานบุญผะเหวด ปี ๒๕๐๙

เขาเสียสละตอนใกล้ค่ำวันที่ ๕ พฤษภาคม หลังทับของเขาถูกล้อมตีตั้งแต่เช้า และหนีการไล่ล่ามาตลอดทั้งวัน

สหายอุทัยวรรณย้อนรำลึกถึงความเสียใจว่า

“ความจริงพรรคฯ เตรียมจะส่งคุณจิตรไปต่างประเทศ แต่คุณจิตรขออยู่ป่าหล่อหลอมตัวเองก่อน  ส่วนดิฉันนี่ไม่กล้าขัด เลยไป ถึงจีนแล้วได้ยินข่าวคุณจิตรเสียสละ ดิฉันนี่ไม่รู้จะเศร้ายังไง”

จิตรล้มร่างลงในวัย ๓๕ ปี หลังเข้าป่าได้ไม่ถึงปี แต่เรื่องราว
ชีวิตเขาได้เป็นตำนานเป็นที่กล่าวขานมาตั้งแต่นั้นจนปัจจุบัน

เขาถูกจับขังคุกการเมืองมาหลายปี เพราะทางการตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ในความเป็นจริงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่ได้รับเขาเป็นสมาชิกพรรคฯ เพราะการที่ใครจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องผ่านหลายขั้นตอนและต้องอาศัยการพิสูจน์ตัวเองเป็นเวลายาวนาน เริ่มจากการเข้าเป็น “แนวร่วม” ขึ้นเป็น “สมาชิกสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย” (สยท.) ขยับขึ้นเป็น “สหายเตรียม” แล้วรอการรับรองเป็นสมาชิกพรรคฯ โดยสมบูรณ์ ซึ่งจะพิจารณาจากเกณฑ์ความสามารถ มีวินัย ไม่เป็นพวก “เสรี” ที่ปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทางระเบียบวินัยของพรรค

ไม่ใช่แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ เท่านั้น นักศึกษาและชาวบ้านจำนวนมากที่เข้าป่าตามมาหลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในความหมายสมาชิกพรรคฯ อย่างแท้จริง แทบทั้งหมดร่วมขบวนปฏิวัติในฐานะ “แนวร่วม”

ทับ ๑๖ หน่วยหมอ ในเขตงานภูพาน ที่บันทึกไว้โดยลายเส้นของ “สหายผาแดง” หรือ ล้วน เขจรศาสตร์ ศิลปินหนุ่มจากคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ที่ “เข้าป่า” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ทำหน้าที่ฝ่ายศิลป์ของวารสาร ธงปฏิวัติ ที่มี “สหายร้อย” หรือ วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นบรรณาธิการ  เขาบรรยายภาพนี้ว่า เป็นหนึ่งในภาพจำนวนมากที่ “สหายผาแดง” ตระเวนวาดก่อนออกจากป่า ทั้งภาพทิวทัศน์และภาพคน  ทั้งภาพดรอว์อิง สีน้ำ สีน้ำมัน สีชอล์ก  “เมื่อออกจากป่ามาแล้ว ล้วนมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกันกับผมย่านซอยเสนานิคม กรุงเทพฯ  ภาพนี้เป็นภาพที่เขาไม่กล้านำออกขาย เพราะมีภาพทหารป่าสะพายปืน  ผมชอบเส้นของเขาที่ให้ความรู้สึกทุกข์ยากกร้านกรำ ผมจึงรับซื้อไว้เอง และติดไว้ในห้องนอนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ปัจจุบันภาพนี้อยู่กับนักสะสมงานศิลปะท่านหนึ่ง” 

ภาพจาก a collection of MAIIAM Contemporary Art Museum

เขาถูกบังคับ
ให้จับปืน /เข้าป่า

สหายในหมู่บ้านชนบทเล่าคล้ายๆ กันว่า อย่าว่าแต่จะฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์เป็นอย่างไรเขายังไม่เคยรู้จักเลย

“เมื่อก่อนดงหลวงเป็นดงเป็นป่า ทางฝ่ายรัฐทอดทิ้งไม่มีการดูแล กลั่นแกล้งว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ จับไปต่อยไปฆ่าแกง ทำให้พี่น้องเราเข้าป่าเข้าดงให้ตัวเองปลอดภัย ว่าใครมีแนว ทางอื่นว่าจะทำให้บ้านเมืองนี้น่าอยู่ ก็มี พคท. มานำ พวกเราก็เข้าไปร่วม เป็นเรื่องเป็นราวเกิดการต่อสู้กันมีฝักฝ่าย จริง ๆ พวกเราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นชาวบ้านธรรมดา”

วันดี วงศ์กะโซ่ อดีต “สหายสุทัศน์” เล่าเหตุการณ์ในละแวกดงหลวง ตั้งแต่ช่วงที่เขาเริ่มจำความได้

“ตอนนั้นพวกพลร่มหมวกแดงนี่โหดที่สุดแล้ว ใครที่เขาคิดว่าทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนจับมายิงเลย พอเรามีความคิดที่แตกต่างกันเขาจะบอกว่าเป็นฝ่ายป่าเลย ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนแตกแยก ฆ่าแกงกัน ได้ยินแค่ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เขาฆ่าเลย”

พี่ชายเขาที่เป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองจึงต้องเข้าป่าก่อน พี่สาวก็เข้า พอเริ่มเป็นวัยรุ่นก็ถูกเพ่งเล็งหนัก 

“ก็เห็นว่าต้องออกละ ขืนอยู่ก็ต้องตายแน่ ๆ เขาบอกเป็นคนสีแดง เขาแต้มว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ถึงต้องออกป่าไป เราก็ฝึกการรบในป่า การใช้อาวุธ”

“ผมเป็นลูกสหาย สมัยเล็ก ๆ พ่อหนีเข้าป่า ทิ้งครอบครัวไว้ให้แม่เลี้ยง สมัยนั้นคนบ้านมะนาว บ้านนาหลัก บ้านกระเดา ลำบากต้องหลบเข้าป่า ผมเข้าป่าตามพ่อไป ได้เป็นหมอในโรงพยาบาลทับ ๗๑ ได้สัมผัสชีวิตสหาย” คำเล่าจากประสบการณ์ของ จิตรกรรม เชื้อคำฮด ชาวบ้านโพนสว่าง ปัจจุบันเขาเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพังแดง

หลังวันเสียงปืนแตก ๒๕๐๘ ที่ถือเป็นหลักหมายการประกาศสงครามประชาชนต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ พรรคคอมมิวนิสต์ฯ ขยายสู่ภาคกลางและภาคเหนือในปลายปีเดียวกันนั้น และไปถึงภาคใต้ในปีถัดมา ถึงตอนนั้นนอกจากต่อสู้กับทหารป่า รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ยังหันมาใช้วิธีปราบปรามประชาชน จับกุมคุมขัง ซ้อมทรมาน และสังหารอย่างเหี้ยมโหด

มงคล ชาวเขา รองนายกสภาเทศบาลตำบลกกตูม อำเภอดงหลวงในปัจจุบัน เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในสกู๊ปเรื่อง “ตามรอยน้ำตาในเพลง-เรื่องเล่าท้องถิ่น ความรุนแรง
โดยรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน เล่าเรื่องการเผาหมู่บ้านที่ปากช่อง-นาหินกอง” เว็บไซต์ prachatai.com ว่าทำให้ครอบครัวเขาสูญเสียทั้งบ้านและเล้าข้าว วัวหนึ่งตัว กับพี่ชายอีกคน ที่ชื่อ มัจฉา ชาวเขา ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๑๘ ปี

มงคลเล่าว่าวันนั้นทหารเรียกชาวบ้านตามบัญชีรายชื่อในมือ พี่ชายของเขาก็ยอมไปแต่โดยดี แต่หลังจากนั้นมงคลก็ไม่ได้พบพี่ชายอีกเลย

“ทหารมาตั้งแคมป์อยู่หลายวัน พอทหารไปแล้วเราตามไปหา ตอนไปเจอศพก็เน่าหมดแล้ว”

สภาพศพที่พบทิ้งอยู่ในป่า ถูกตัดศีรษะ มือ และเท้าออกไป แต่ครอบครัวจำได้ว่าเป็นมัจฉาก็เนื่องจากเสื้อผ้าที่ผู้เสียชีวิตสวมใส่ 

ทั้งนี้เพียงแต่เด็กหนุ่มมีชื่อซ้ำกับชื่อจัดตั้งของสหายอีกคน ซึ่งก่อนนั้นทหารได้เข้าโจมตีฐานทหารป่าแล้วได้บัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคคนหนึ่งมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายมัจฉา” หลังจากนั้นทหารจึงเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้าน และเรียกตัวคนที่มีชื่อตามในบัญชี เด็กหนุ่มมัจฉาจึงถูกจับตัวไปและถูกสังหารในที่สุด

หลังจากการตายของมัจฉา มงคลบอกว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ของหมู่บ้านก็เป็นทหารป่าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. 

“พี่ชายผมถูกฆ่า พ่อแม่เลยอยู่บ้านไม่ได้ คิดถึงลูก ภาพมันติดตา เลยต้องหลบไปอยู่กับญาติที่นาหินกอง”

ไม่ใช่แต่ที่ภูพาน หลังทางการตั้งกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เมื่อปลายปี ๒๕๐๘ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) การปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่า “เป็นคอมฯ” ก็รุนแรงขึ้น

การสู้รบของรัฐต่อคอมมิวนิสต์ทำโดยเปิดเผย และรวมถึงผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เกิดหลายกรณีที่รัฐกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเสียเอง

เรื่องเล่าถึงการกระทำจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็มีให้ได้ยินอยู่ทั่วไป กรณีที่ลือลั่นมากทางภาคใต้เกิดขึ้นที่พัทลุง ในเหตุการณ์ “ถังแดง” ซึ่งยังกล่าวขานกันมาถึงวันนี้

ตามคำเล่าของชาวบ้านผู้ได้รับความสูญเสียในชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ เล่าให้ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรมบันทึกไว้ในหนังสือ ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนสังคมไทย ว่าคนที่เจ้าหน้าที่รัฐสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จะถูกนำไปสอบสวนทรมานในกองบัญชาการทหารชั่วคราว ค่ายเกาะหลุง แล้วถูกฆ่ายัดลงถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร ซึ่งมีตะแกรงอยู่ด้านล่างและปิดด้านบนราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาทำลายศพ  บางกรณีเหยื่อถูกซ้อมสลบ ยังไม่เสียชีวิตขณะถูกนำลงถัง แล้วฟื้นขึ้นมาขณะไฟกำลังไหม้เนื้อตัวกรีดร้องโหยหวน เจ้าหน้าที่จะติดเครื่องรถจีเอ็มซีหลาย ๆ คันพร้อมกันกลบเสียงนั้น  เวลาได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นกลางความเงียบหลังพระอาทิตย์ตกดิน พวกเด็กผู้ชายจะปีนต้นไม้ขึ้นไปดู เห็นแสงไฟวูบวาบในค่ายทหาร

ที่ภูพานก็มีกรณีการฆ่าและเผาที่หมู่บ้านนาหินกอง อย่างที่วงคาราวานบันทึกไว้ในเพลง “อเมริกันอันตราย”

...แบ่งแยกแล้วทำลาย นาทราย-นาหินกอง อยู่กินกันอย่างพี่น้อง ไอ้ผู้ปกครองมันมาจุดไฟ...

“จุดไฟ” ในเพลงนี้ไม่ใช่เพียงสัญลักษณ์เปรียบเปรยในบทเพลง แต่เป็นการจุดไฟเผาบ้านจริง ๆ ที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

“เขาว่าเป็นแหล่งเสบียงให้พวกคอมมิวนิสต์ มีสองหมู่บ้าน บ้านนาหินกองกับบ้านปากช่อง ถูกเผาให้ไปอยู่ในเขตนิคมจะได้ควบคุมง่าย แต่ก็ทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งหลบหนีเข้าป่า”

“สหายวิพากษ์” ชาวบ้านนากระเดา พูดถึงชะตากรรมของเพื่อนบ้านข้างเคียง

นาหินกองเป็นหมู่บ้านชาวโซ่ ข่า หรือบรู อยู่บนเทือกเขาภูพานแถบรอยต่อจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร

“พอจบโรงเรียนชั้นประถมฯ ก็ออกป่าเลย” ลำทอง ชาวเขาซึ่งได้นามจัดตั้งใหม่ว่า “สหายร่ม” เล่าเรื่องเมื่อเขาจากบ้านช่องไปเป็นทหาร ทปท. ที่เรียกกันทั่วไปว่า “เข้าป่า” แต่ชาวบ้านแถวภูจะบอกว่า “ออกป่า”

ต่อมาบ้านเกิดของลำทองในหมู่บ้านนาหินกองถูกเผา

“บ้านพ่อผมเหลือแต่เล้าข้าว บางครอบครัวถูกเผาทั้งบ้านทั้งยุ้งข้าว แตกกันไปคนละทิศละทาง ต่อกันไม่ติดทุกหลังคาเรือน ผมแตกไปทางนิคมคำสร้อย ตอนนั้นไม่กลัวอะไรแล้ว มีแต่มึงกับกู สาเหตุอะไรไม่รู้ แต่เขาถือเป็นศัตรู ถ้าเขาเห็นก่อนเราก็ตาย เขาคงถือว่าเราเป็นเศษมนุษย์มั้ง ผมก็ไม่รู้ ต่อมาพ่อแม่ก็ออกป่าหมด”

“คนนั้นไปเป็น อส.” อดีต “สหายร่ม” ชี้ไปที่เพื่อนบ้านชาวบ้านปากช่องอีกคน

เมื่อก่อนคนคู่นี้เคยยิงกัน

“ผมไปลาดตระเวน เขาไปซุ่มยิง” อดีตอาสาสมัคร ยนต์ โง่นสุข เล่าด้วยว่า ตอนแรกเมื่อปี ๒๕๑๒ เขาก็เป็นทหารป่า ชื่อจัดตั้ง “สหายชัยวัฒน์” เข้าบ้านมาโดนพลร่มจับปลายปี ๒๕๑๔ พอปี ๒๕๑๕ กลับไปเป็น อส.

“รบปะทะกับคอมมิวนิสต์อยู่ตลอด จนปี ๒๕๒๙ ออกจาก อส. ไม่มีบำเหน็จบำนาญอะไร ปัจจุบันทำสวนยาง ผมจำเหตุการณ์ในช่วงนั้นไม่ค่อยได้ ไม่ได้คิดข้างหลัง คิดไปหน้าเรื่อย ๆ ตอนนั้นผมก็จะถูกเก็บ โชคดีที่แค่เจ็บ ไม่ถึงตาย”

อส. ทำทีตัดพ้อเพื่อน

“โอ๊ย ไม่รู้ใครเป็นใครเนอะ ใครเห็นก่อนก็ยิงก่อน

แล้วเขาก็หัวเราะกันครื้นเครงให้กับอดีตที่เหมือนเด็กเล่น แต่เจ็บจริงตายจริง

Image

โรงเรียนการเมืองการทหารภูพาน ริมห้วยแม่นน เริ่มเปิดเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ รองรับนักศึกษาจากเมืองที่เริ่มทยอยเข้าป่ากันบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๑๙ 

ภาพโดย “สหายรัศมี”

กองป่ากับนาคร

หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองเปิดกว้าง ประชาธิปไตยเบ่งบาน ปัญหาที่หมักหมมมาตลอดระยะการครองอำนาจของเผด็จการทหารพากันโถมทะลักทลายกันออกมา

ขอบฟ้าประชาธิปไตย บรรยากาศทางการเมืองเปิดกว้างรวมทั้งการเขียน อ่าน ตีพิมพ์หนังสือ รวมเรื่องราวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์  ในทางการเมืองมีการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พสท.) ของกลุ่มนักต่อสู้ทางการเมืองฝ่ายซ้าย

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาตึงเครียดขึ้น เมื่อคอมมิวนิสต์อินโดจีนในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างของไทยประสบความสำเร็จในการปลดปล่อยประเทศจากระบบเก่าในปี ๒๕๑๘ เริ่มจากกัมพูชาเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน เวียดนาม ๓๐ เมษายน และลาว ๒ ธันวาคม ทำให้ฝ่ายขวายิ่งหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามฝ่ายซ้าย เกิดกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” ใช้กำลังและความรุนแรงคุกคามฝ่ายที่เห็นต่าง

ผู้นำชาวบ้าน นักศึกษา กรรมกร นักการเมืองฝ่ายซ้ายถูกลอบทำร้ายล้มตายหลายสิบราย ไล่มาตั้งแต่กลางปี ๒๕๑๗ อย่าง แสง รุ่งนิรันดร์กุล  นิสิต จิรโสภณ  อมเรศ ไชยสะอาด และที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วคือกรณีลอบสังหารดอกเตอร์บุญสนอง บุณโยทยาน อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

ต้นปี ๒๕๑๙ นักกิจกรรมนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยเริ่มเดินทางสู่ป่าเขาภูพาน

“สถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นมีความรุนแรง โดนคุกคาม มันฆ่าน่ะ ฆ่านักศึกษา ฆ่าผู้นำ พวกผมตัดสินใจเข้าป่าเลย มีผู้ใหญ่เตือนพี่ไขแสงว่าไม่ปลอดภัย เขาก็ชวนน้อง ๆ ในพรรคฯ ว่าอยู่ก็อันตราย ใครจะไปร่วมต่อสู้กับเขาก็ไป”

ประยงค์ มูลสาร ส.ส. พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ที่มีอายุน้อยที่สุดในยุคนั้น เล่าย้อนอดีตในวันที่เขากลับมายืนอยู่บนสถานที่เดิมเมื่อเวลาผ่านไป ๔๕ ปี

“คณะของเราเดินทางเข้าป่าวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ จาก กทม. มาลงรถที่อุดรฯ เดินเท้าเข้าป่าที่ดงผาลาด อำเภอบ้านม่วง สกลนคร เพราะตอนนั้นทางดงหลวงยังไม่มีงานแนวร่วม  พอเข้าแล้วศูนย์กลางพรรคฯ บอกว่าอยู่ที่นั่นไม่ปลอดภัย ให้มาอยู่ศูนย์กลางพรรคฯ ที่ภูไม้ฮาว ลุงสยามกับสหายนำอีสานเหนือกับสหายพี่เลี้ยงช่วยกันทำแคร่ไม้ไผ่รอพวกเราผู้เป็นแนวร่วมมาพักอาศัยที่นี่ จึงค่อนข้างสบายได้รับการดูแลอย่างดี มีความปลอดภัยกว่าอยู่ในเขตจรยุทธ์มาก”

ไขแสง สุกใส เป็นนักเคลื่อนไหวการเมือง เป็น ๑ ใน ๑๓ ขบถเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ และต่อมาเป็นรองหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

ไขแสงไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ แต่เข้าป่ามาในฐานะแนวร่วม ซึ่งผู้ที่เข้ามาใหม่พรรคฯ มักส่งข้ามโขงไปอยู่แนวหลังในประเทศลาว บริเวณที่เรียกว่า A30 แขวงหลวงน้ำทา แต่ระหว่างรอเดินทางเขาพำนักอยู่ในถ้ำไม้ฮาวบนภูพาน แนวเทือกเขาที่กั้นแบ่งเขตจังหวัดมุกดาหาร-นครพนม

ช่วงนั้น วันดี วงศ์กะโซ่ ซึ่งได้นามจัดตั้งเมื่อเข้าป่าว่า “สหายสุทัศน์” เพิ่งเรียนจบด้านการฉายภาพยนตร์กลับมาจากเมืองจีน แต่ก่อนไปทำงานโฆษณามวลชน สหายนำให้เขาทำหน้าที่เป็นทหารพิทักษ์ไขแสงก่อน

วันดีนิยามตัวเองว่าเป็นผู้อารักขารองหัวหน้าพรรคสังคมนิยมฯ ที่เพิ่งมาจากในเมือง ถือปืนอาก้ารักษาความปลอดภัย และดูแลเรื่องอาหารการกิน หุงข้าวทำกับข้าวให้ด้วย

“ท่านเป็นคนร่าเริงมาก พบปะคนเป็นที่สนุกสนาน ผมไม่เหงาเลย  มาแยกกันตอนลุงไขแสงไปต่างประเทศ”

ช่วงเวลา ๔-๕ ปีที่ไขแสงใช้ชีวิตเป็นนักปฏิวัติ มีเพียง ๔-๕ เดือนที่อยู่ภูพาน แต่คงถือเป็นช่วงสำคัญในชีวิต จนถึงฝากนามไว้ในชื่อของลูกสาวลูกชาย

“ดงหลวงเคยได้ยินแต่ความเป็นมา ว่าตอนพ่อเป็น ส.ส. นครพนม ชาวบ้านที่นี่มาลงคะแนนให้พ่อท่วมท้นจนหีบแตกมาแล้ว และช่วงหนึ่งพ่อได้มาหลบภัยอยู่ที่นี่ ชาวบ้านพูดกับพ่อว่าถ้ามีลูกชายให้ชื่อดงหลวง และผมมีพี่สาวชื่อบางทราย ตามชื่อแม่น้ำสายหนึ่งของที่นี่”

ดงหลวง สุกใส เล่าถึงพ่อที่มีวัยห่างจากเขา ๕๐ ปี ในวันที่เขาเพิ่งได้กลับมาเยือนถิ่นที่เป็นที่มาของชื่อตัวเองครั้งแรก ในวัยต้น ๓๐ เมื่อท้องถิ่นจัดงานรำลึกถ้ำในตำนานที่ไขแสงเคยมาพำนักเมื่อ ๔๕ ปีก่อน

ขบวนการคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องปิดลับ ทำให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ในเขตป่าเขานับ ๒๐-๓๐ ปี แทบไม่เหลือร่องรอยใดๆ เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น  ซากเรือนไม้หลังน้อยในหมู่บ้านคำเบิ่มบ่าม อำเภอคำชะอี มุกดาหาร ที่เห็นในภาพนี้ มีอายุร่วมยุคสมัยกับการกำเนิดกองป่าภูพาน หนูเลา คนคล่อง หรือ “สหายเลข” เล่าว่า พ่อของเขาขึ้นภูมาสร้างบ้านหลังนี้ ราวปี ๒๕๐๐ พอมีกองป่าเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้อยู่ แต่ครอบครัวเขาต้องอยู่เพื่อเลี้ยงวัว และเขาก็เป็นมวลชนที่คอยส่งเสบียงให้ทหารป่า “ไปกับฝูงวัว มีอะไรก็แบ่งให้เขา ข้าวสาร ผักปลา เมล็ดพันธุ์ผัก แต่เอาไปคราวละมากๆ ไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะสงสัย”

“ผมคุยกับลุงวิพากษ์ แกเขียนแผนที่ให้และพาไปดู ถ้ำแรกไม่ใช่ ถ้ำ ๒ ไม่ใช่ จากนั้นเจ้าหน้าที่หน่วยป่าไม้นำเดินวนขึ้นมาหาแนวกันไฟ มาเจออีกถ้ำ ลุงวิพากษ์บอกว่าน่าใช่ แต่แกเองเป็นทหารอยู่ข้างนอก คนที่อยู่จริงเป็นสหายผู้ใหญ่”

นายแพทย์อนุวัตร แก้วเชียงขวาง อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลดงหลวง หนึ่งในกลุ่มผู้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ดงหลวง เล่าจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ประชาชนบนเทือกเขาภูพานขึ้นมาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔

ประยงค์ มูลสาร อดีต ส.ส. พรรคสังคมนิยมฯ ที่เดินทางสู่ป่าภูพานพร้อม ไขแสง สุกใส เมื่อ ๔๕ ปีก่อน จึงถูกตามตัวจากบ้านในจังหวัดระยอง ให้หวนคืนถิ่นดงหลวงอีกครั้ง

“หมออนุวัตรให้คนในพื้นที่เสาะหาว่าอยู่ตรงไหน แล้วตามผมให้มาชี้จุด เลาะห้วยแม่นนที่เป็นโรงเรียนการเมืองการทหารขึ้นมา หรือจากถนนขึ้นทางหน่วยป่าไม้มาก็ได้”

ไขแสง สุกใส กับเพื่อน ส.ส. พรรคสังคมนิยมฯ ใช้เพิงหินแห่งนี้เป็นที่พักพิงแห่งแรกในราวป่าในช่วงเวลา ๔ เดือน แต่บรรดาผู้เคยร่วมทางป่าเห็นว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์นักรบภูพาน จึงแกะรอยตามหาถ้ำแห่งนั้นหลังเวลาผ่านไปถึง ๔๕ ปี

ตีนภูไม้ฮาวทุกวันนี้เป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติภูผายลและวัดป่าภูไม้ฮาว ใกล้บ้านมะนาว ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง

ไต่ขึ้นสู่สันภูแล้ววนอ้อมไปยังฟากเขาอีกด้าน มีเพิงหินแหงนยื่นออกมาจากหน้าผาซ้อนกันสองชั้น ในระยะห่างกันอย่างได้สัดส่วนพอลงตัว

แผ่นหินยื่นเป็นเหมือนหลังคาอันแข็งแกร่งคงทน นอกจากบังแดดฝนยังช่วยอำพรางสายตาจากการโจมตีทางอากาศได้อย่างดี เพิงหินชั้นล่างยังมีโขดหินขนาบข้างเหมือนผนังด้วย เมื่อตั้งแคร่ข้างในจึงกลายเป็นเพิงพักที่มั่นคงปลอดภัย ส่วนเพิงหินชั้นบนเป็นที่พักของทหารพิทักษ์และผู้ติดตาม ซึ่งในวันนี้เรื่องราวเล่าขานกับหลักฐานบันทึกยังให้ความรู้สึกถึงเลือดเนื้อรอยอดีตที่ผนึกแน่นอยู่ในเนื้อดินกลิ่นป่า

ผู้คนที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ตรงนั้นช่วยกันปะติดปะต่อเรื่องราวว่า เยื้องลึกจากลาดเขาลงไปจากหน้าถ้ำ เป็นลำห้วยแม่นน โรงเรียนการเมืองการทหาร และโรงพยาบาลอยู่บนลานริมฝั่งห้วยแม่นน ซึ่งเป็นสาขาสายหนึ่งของห้วยบางทรายสายน้ำหลักของพื้นที่ดงหลวง คำชะอี ที่ไหลลงบรรจบแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร

เช่นเดียวกับปลายเทือกเขาภูพานก็ไปสุดที่ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ข้ามไปอีกฟากฝั่งก็เป็นเมืองสะหวันนะเขตของลาว เชื่อมไปทางเหนือเข้าสู่จีนแดง

สหายจากภูพานส่วนใหญ่ในยุคนั้นใช้เส้นทางนี้ไปศึกษาต่อที่จีนและเวียดนาม

ในเดือนที่ไขแสงลงจากภูพานข้ามโขงเข้าไปในเขตลาวโรงเรียนการเมืองการทหารเปิดทำการเป็นรุ่นแรก สหายอุทัยวรรณที่เข้าป่าในเวลาไล่เลี่ยกับ จิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่งกลับจากจีนมาเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้

“ต้นปี ๒๕๑๙ ดิฉันเดินทางกลับจากจีนเพื่อจะมาพบคู่ชีวิตแต่เขาเสียสละชีวิตไปก่อน ‘สหายจำรัส’ หรือ เปลื้อง วรรณศรี บอกว่าไม่ต้องไปแล้วที่เขตงานของสหายคู่ชีวิต จะทำให้ไม่สบายใจ ให้มาภูพานที่ดิฉันเคยอยู่ เขาบอกว่าสหายไขแสงจะเดินทางมา ให้ดิฉันมารอที่ภูไม้ฮาว”

หลังกลุ่มนักการเมืองพรรคสังคมนิยมฯ ก็มีนักศึกษากลุ่มใหญ่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาที่โรงเรียนการเมืองการทหารภูพาน ซึ่งเพิ่งเปิดเป็นรุ่นแรก และมีสหายหนุ่มวัย ๑๘ ปี จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาคนหนึ่งเดินทางจากเขตงานภูสระดอกบัวมาร่วมเรียนด้วย

หลัง ๖ ตุลาฯ 
และก่อนหน้านั้น

“รู้สึกว่าถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องไปให้สุด ก็นึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ฯ”

“แคน สาริกา” เป็นนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งที่เข้าป่าไปเป็น “สหายประชา” ช่วงต้นปี ๒๕๑๙  ก่อนนั้นเขาเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน เขากับเพื่อนไปทำหมู่บ้านตามแนวคิดสหกรณ์ที่นครสวรรค์ ตามที่ได้อ่านหนังสือทฤษฎีฝ่ายซ้ายทำได้ปีเดียวก็มีกลุ่มลูกเสือชาวบ้านมากดดัน นักศึกษา เกรงชุมชนจะเดือดร้อน จึงถอนตัวออกจากหมู่บ้าน เพื่อน ๆ กลับไปเรียนต่อ แต่เขาเลือกไปร่วมเส้นทางปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ

“ตอนไปยังไม่รู้เลย เราอ่านแต่ในหนังสือ รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ฟังเพลง ‘ภูพานปฏิวัติ’ แต่นึกภาพป่าไม่ออก ไม่เคยมีสายจัดตั้ง พอดีมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ในศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยบอกว่า ถ้าอยากไปสัมผัสป่า เขามีช่องทางที่เสนางคนิคม อุบลราชธานี”

แคนเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุบลราชธานีคนเดียว แล้วต่อไปยังหมู่บ้าน 

“พอไปถึงโพนทอง บรรยากาศมันคึกคัก ตอนกลางวันเยาวชนในหมู่บ้าน เช้าเขาหายไปในป่า เย็นกลับมาเล่าให้เราฟังว่าไปเรียนรู้อะไร เข้าไปเรียนทฤษฎีการเมืองในป่า ออกมาก็ร้องเพลงป่าให้เราฟัง เขาเล่าด้วยว่ารุ่นพี่รุ่นน้าเขาอยู่ป่าหมด ซื้อชุดซื้ออุปกรณ์เอง ปืนยังต้องซื้อเอง ไปเรียนปฏิวัติในต่างประเทศ ตอนนั้นเวียดนามปฏิวัติสำเร็จ เขาเองก็ฮึกเหิม เป็นความรู้ใหม่ของเรา แต่ก่อนเราอ่านแต่ในหนังสือ พอมาอยู่ในหมู่บ้าน เราเห็นสภาพความเป็นจริง เราได้เห็นภาพจริงของการปฏิวัติ อยู่ไปอีกสักพัก คนในหมู่บ้านบอกว่ามีข่าวจากทางการว่า นักศึกษาที่มาอยู่ในหมู่บ้านจะถูกเก็บ จะเข้าป่าก็เข้า หรือให้กลับกรุงเทพฯ เราบอกอยากเข้า เขาบอกให้ลองอยู่สัก ๓ เดือน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็กลับได้ ให้ทดลองใช้ชีวิตในป่า”

Image

ไขแสง สุกใส นักการเมืองนักต่อสู้คนสำคัญที่เข้าป่าเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ที่ภูพาน โดยพำนักอยู่ที่เพิงผาหินแห่งหนึ่งไม่ไกลศูนย์กลางนำของพรรคฯ เขตอีสานเหนือ หลังผ่านเหตุการณ์มา ๔๕ ปี สหายร่วมอุดมการณ์กลุ่มหนึ่งกำลังเตรียมผลักดันพัฒนา “ถ้ำไขแสง” ให้เป็นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผายล

“คิดไว้ในใจแล้ว ถ้าเกิดรัฐประหารจะเข้าป่า และถ้าเข้าป่าจะไปภูพาน เพราะเพลง ‘ภูพานปฏิวัติ’ ปลุกเร้าหัวใจเรามา” วัฒน์ วรรลยางกูร เล่าการไปสู่ภูพานเป็น “สหายร้อย” ของเขาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

“ผมไม่แน่ใจนักว่าตัวเองมีการจัดตั้งชัดเจนหรือเปล่า น่าจะมีแบบหลวม ๆ คือมีรุ่นพี่เขาดูแล ส่วนหนึ่งก็เพื่อนที่เคยกินนอนอยู่ด้วยกันบนสำนักงานทำหนังสือนั่นละ เขาไม่ได้บอกหรอก ก็พอสังเกตได้อยู่  ส่วนมากพอเข้าจัดตั้งแล้ว บุคลิกท่าทีจะเปลี่ยนไปบ้าง เลิกแต่งตัวมอมแมม พูดจามีศัพท์แสงการเมืองแปลกหู ไม่ได้เข้ามาดีลเรื่องความคิดอ่าน ไม่ได้พาเข้ากลุ่มศึกษาอะไร ดูแลกันเฉพาะเรื่องนัดหมายว่า หากมีการรัฐประหาร ถูกล้อมปราบ ถูกไล่จับ จะวางทางหนีทีไล่อย่างไร”

แต่เมื่อเกิดเหตุนองเลือดตอนค่อนรุ่งวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขาโทรศัพท์ไปหาเบอร์ฉุกเฉินตามที่จัดตั้งกันไว้ ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  

ตอนนั้นวัฒน์ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีเพื่อนชาวนครพนมที่เป็นลูกชายปลัดอำเภอ เคยรับรองว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เขามีช่องทางเข้าป่าได้ ทำให้วัฒน์ไม่กังวลกับสายจัดตั้งในเรื่องพาเข้าป่า

เขาเล่าฉากการเข้าป่าจากนักศึกษาไปเป็นนักปฏิวัติของคนหนุ่มวัยต้น ๒๐ อย่างง่าย ๆ ว่า มีแค่แปรงและยาสีฟัน เสื้อยืดตัวหนึ่ง ผ้าขาวม้าผืน ใส่กระเป๋าแกรนด์สปอร์ตสะพายไหล่มาใบเดียว ไปขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงตอนค่ำวันนั้น เช้าก็ถึงเมืองอุดรฯ กินกาแฟแล้วขึ้นรถเมล์สีส้มไปสกลนคร แล้วต่อรถไปอำเภอส่องดาว เพื่อนพาไปหาแนวร่วมที่เป็นครูประชาบาลอยู่เขตชายป่านอกตัวอำเภอ

“จากโรงเรียนเดินเท้าอีกประมาณ ๔๐ นาที เราก็ได้พบหน่วยจรยุทธ์ ทหารป่าแห่งภูพาน ในบ่ายวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั่นเอง”

ในช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่มีการล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง วงดนตรีคาราวานและโคมฉายที่ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กำลังตระเวนเล่นดนตรีอยู่แถวภาคอีสาน จนถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นในคืนวันที่ ๕ ตุลาคม พอเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่กรุงเทพฯ ตอนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น สมาชิกของทั้งสองวงรวม ๑๑ คน ก็เดินทางไปสู่ภูเขาในตอนค่ำวันนั้น

“องค์การนักศึกษาขอนแก่นที่เขาติดต่อกับทางกรุงเทพฯ บอกว่าตอนนี้มีการจับกุมขนานใหญ่ เราเป็นกลุ่มที่อยู่บนเวทีตลอดคงถูกหมายหัวแล้ว เขาว่าอย่ากลับไป ไม่ปลอดภัย คืน ๖ ตุลาฯ ก็ออกป่าเลย ออกเดินทางกลางคืนนั้น”

“ศิลา โคมฉาย” เป็นคนหนึ่งในนักศึกษานับพันคนที่เข้าป่าในช่วงนั้น

“เป็นภาวะจำเป็นที่ต้องไป เพราะเรากลับไม่ได้ เรื่องจัดตั้งเคยได้ยิน แต่ผมไม่มี  มีเพื่อนของคาราวานเป็นครูอยู่โคราชเขาสัมพันธ์กับคนข้างในป่า จากขอนแก่นเราไปอยู่กับสหาย
คนนี้แถวชายป่าละเมาะเมืองเลย ๓-๔ วัน คนมารับเข้าเขต
จรยุทธ์ภูซาง รอยต่ออุดรฯ-หนองคาย-เลย”

สุนี ไชยรส เป็นสหายหญิงอีกคนที่เข้าป่าเขตงานภูซางพร้อมกับพี่สาวและเพื่อนผู้หญิงอีกคน โดยไม่เคยรู้จักเส้นทางป่ามาก่อน

“มีรุ่นพี่เข้าไปก่อนบ้างแล้ว มีการคุย แต่ไม่ได้เปิดตัวว่าเขาคือจัดตั้ง ไม่ได้ถามกัน บอกกันไว้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นให้ไปตรงนั้นตรงนี้”

ก่อนนั้นเธอทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่กับกลุ่มกรรมกร และเพิ่งถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ อยู่ระหว่างประกันตัว

“ไปแล้ว” เธอถ่ายทอดคำพูดที่ไปลาแม่ตอนเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม 

และถ่ายทอดคำตอบของแม่ “ไม่ต้องไปหรอก เดี๋ยวแม่จะบอกเขาเองว่าลูกแม่ไม่ใช่คนเลวร้าย”

แต่เธอแน่ใจว่าต้องไป

“เราเป็นพวกเด็ดเดี่ยวหัวดื้อ พี่สาวแดงมาก ทำกิจกรรมมาตลอด แม่คงนึกออกอยู่ในเมืองก็คงไม่รอด  สุดท้ายเราก็ไปไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นทหารตำรวจก็มากันเต็มบ้าน เราอยู่ในช่วงประกันตัว ถ้าถูกจับก็เข้าคุกทันที คนอื่นก็เข้าคุกเหมือนกันช่วงนั้น”

แม่เปิดร้านขายหนังสืออยู่ที่เทเวศร์ ลูกสาวทั้งสองหลบออกไปทัน แต่หนังสือแนวการเมืองถูกเจ้าหน้าที่กวาดเอาไปทั้งหมด

“สองพี่น้องมาลาแม่ที่บ้าน พี่ชายห้าม แม่ก็ห้าม เขาบอกอยู่ไม่ได้ มีนักข่าวด่าว่าเลี้ยงลูกเป็นคอมมิวนิสต์ ญาติพี่น้องก็ว่าอุตส่าห์ส่งลูกเรียนก็หนีเข้าป่าไป เราก็เถียงไปว่าไม่ได้เอาเงินใครส่งลูกเรียน เราส่งลูกเอง” 

อินสวน ไชยรส อดีตเจ้าของร้านหนังสือที่ยังอ่านหนังสือทุกวัน แม้วัยล่วงถึง ๘๙ ปี และเรียนหนังสือจบเพียงชั้น ป. ๔ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ 

สุนีหลบไปดูสถานการณ์อยู่ที่บ้านเพื่อน ๒-๓ วัน จากนั้นนั่งรถทัวร์ไปอุดรธานีด้วยกันห้าคน

“ไปกันแบบส่งเดช เคยบอกกันไว้ว่าถ้ามีอะไรยามคับขันให้มาตรงนี้เพื่อจะได้รับเข้าป่า เราไม่เคยไปอุดรฯ มาก่อน รู้แต่ว่าลงรถทัวร์แล้วให้มาตรงนี้ มีคนมาพาไปถึงบ้านห้วยเดื่อ เขตจรยุทธ์ของภูซาง อยู่ตรงนั้นเดือนหนึ่ง เป็นช่วงปรับตัว และรอคนจากเมืองมาอีก ๓๐-๔๐ คน ก็เดินจากภูช่อฟ้าไปภูพานน้อย

ผ่านทุ่งนาก่อนขึ้นภู เป็นช่วงหน้าฝนเดือนตุลาฯ ใส่รองเท้าแตะดาวเทียม คันนาคดเคี้ยว เดินกลางคืนห้ามเปิดไฟ ผ่านทุ่งนาไปให้ได้ก่อนสว่าง จุดนี้ยากเข็ญที่สุด เจ็ดวันถึงภูซาง คาราวานกับโคมฉายเข้าป่าจากทางเมืองเลย ก็มาเจอกันที่ภูซาง”