ลำแสง
ที่ปลายอุโมงค์

วิทย์คิดไม่ถึง

เรื่อง ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  
namchai4sci@gmail.com
ภาพ : นายดอกมา

Image

เรากำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปรกติ เผชิญกับการระบาดของโรคที่แพร่กระจายทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์ในระดับ ๑๐๐ ปีจะมีสักหน ยิ่งผ่านไปก็ยิ่งมีคนที่เรารู้จักคุ้นเคยอยู่ในบัญชีรายชื่อจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกที ในวิกฤตการณ์แบบนี้ควรจะทำตัวอย่างไรให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

แน่นอนว่าแรกสุดนั้นมาตรการป้องกันอย่างการสวมหน้ากากอนามัย (เข้าพื้นที่ปิดอย่างร้านสะดวกซื้อหรือสถานที่คนเยอะ ๆ อย่างตลาดนัดควรสวมสองชั้น คือเพิ่มหน้ากากผ้าทับหน้ากากอนามัยก็จะยิ่งดี) การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ย่อมต้องทำจนเป็น “ความปรกติใหม่”

แต่เท่านั้นไม่พอ เมื่อต้องรับมือยืนยาวเป็นเดือนและเป็นปีเรื่องหนึ่งที่ยังให้ความรู้กันน้อยคือ เราจะจัดการกับความเครียดอย่างไรดี

มีงานวิจัยที่ฟินแลนด์สรุปว่า คนอายุ ๓๐ ปีที่มีความเครียดหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง อาจลดอายุขัยลงถึง ๒.๘ ปี

ถือว่าเยอะมาก ๆ เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ที่ลดอายุขัยไป ๖.๖ ปี และเบา-หวาน ๖.๕ ปี ขณะที่การออกกำลังกายเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยได้ราว ๒.๔ ปี น้อยกว่าผลตรงกันข้ามจากความเครียดเสียอีก ! ส่วนการกินผลไม้และพืชผักมาก ๆ ยืดอายุได้ราว ๑.๔ ปี และ ๐.๙ ปีตามลำดับ (คงต้องคุมปริมาณน้ำตาลด้วยนะ)

เรื่องน่าสนใจที่กลุ่มวิจัยนี้ค้นพบก็คือ ความเครียดที่กลุ่มวัยเงินหรือวัยทองได้รับในระดับเท่า ๆ กับคนกลุ่มอื่นกลับส่งผลดีได้ด้วย และผู้หญิงจะมีอายุขัยเฉลี่ยยาวกว่าผู้ชาย การทดลองนี้ศึกษาระหว่างช่วง ค.ศ. ๑๙๘๗-๒๐๐๗ จากแบบ
สอบถามและการตรวจวัดค่าต่าง ๆ ทางการแพทย์ โดยยังติดตามอัตราการเสียชีวิตต่อไปถึงสิ้น ค.ศ. ๒๐๑๔

สรุปสั้น ๆ คือ ความเครียดติดต่อกันนาน ๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ
แต่ความเครียดก็ไม่ได้มีแต่ผลร้าย

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ที่ระบุว่า การไม่มีความเครียดเอาเสียเลยจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและซึมเศร้าได้ ขณะที่ความเครียดระดับที่ไม่มากมายนักและเกิดอย่างสั้น ๆ จะกระตุ้นสมองทำให้ตื่นตัว มีความจำและพฤติกรรมที่เหมาะสมขึ้น

การทดลองนี้ศึกษาในหนูทดลอง พบว่าการกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดเป็นเวลาสั้น ๆ ทำให้สมองของหนูสร้างเซลล์ประสาทใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งจะเห็นผลการเพิ่มจำนวนดังกล่าวในช่วงอีก ๒ สัปดาห์ต่อมา หนูตื่นตัวและจดจำดีขึ้นเมื่อนำไปทดสอบในแบบทดสอบความจำ เช่นการเดินในเขาวงกต

Image

กล่าวให้ละเอียดถึงกลไกอีกเล็กน้อยคือ ความเครียดส่งผลกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ของสมอง (neural stem cell) แบ่งตัวทำให้ได้เซลล์จำพวกแอสโตรไซต์ (astrocyte) เพิ่มขึ้นในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเรารู้กันดีแล้วว่าเป็นสมองส่วนที่ไวต่อฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อกลูโคคอร์ติคอยด์ฮอร์โมน (glucocorticoid hormone)

ผลดังกล่าวตรงข้ามกับงานวิจัยจำนวนมากก่อนหน้านี้ว่าความเครียดเรื้อรังทำให้ฮอร์โมนชื่อยาว ๆ ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนกดการสร้างเซลล์สมองใหม่ ๆ ทำให้การทำงานของสมองแย่ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อร่างกายโดยรวมในทางแย่ ๆ อีกหลายอย่าง เช่น เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ ซึมเศร้าเรื้อรัง ฯลฯ

แม้ว่าการเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทจะไม่ช่วยรับมือการแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดความเครียดแบบฉับพลัน แต่ตามธรรมชาติปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เครียดมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ การที่สัตว์จะตื่นตัวและรับมือปัจจัยแวดล้อมได้ดีขึ้นหลังถูกกระตุ้นครั้งแรกจึงสำคัญเช่นกัน

แต่นักวิจัยก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากแรงกระตุ้นจากความเครียดรุนแรงเกินไป แม้จะชั่วคราวก็อาจนำไปสู่ความผิดปรกติเรื้อรังยาวนานแบบที่เรียกว่าพีทีเอสดี (post-traumatic stress disorder) ได้ ซึ่งจะแย่มาก ๆ

เราอาจสรุปเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดความเครียดซ้ำ ๆ จนเสียสุขภาพ แต่ใช้ความเครียดเป็น “ตัวกระตุ้น” เป็นครั้งคราวให้ตื่นตัว (มีสมมุติฐานว่าเรื่องที่เกิดกับหนูทดลองก็น่าจะเกิดคล้าย ๆ กันกับเราด้วย)

โรคโควิด-๑๙ ไม่ใช่โรคมะเร็ง แม้ดูอันตราย เพราะคร่าชีวิตคนไม่น้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้เสียชีวิต

วิธีหนึ่งที่น่าจะดีคือ อย่าเสพข่าวหรือตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-๑๙ จนกลายเป็นกิจวัตร การลดหรือแม้แต่ปิดการรับรู้บ้าง อาจเปลี่ยนความเครียดให้กลายเป็นแบบชั่วครั้งชั่วคราวและไม่รุนแรงเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้ร่างกายไม่สะสมความเครียดและกลายเป็นเรื่องมีประโยชน์ได้

การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีความหวัง ในทางจิตวิทยานั้นความหวังก็คือสภาวะภายในจิตที่ยังคงสภาวะการมองโลกบวก ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม 

เขียนแบบนี้ไม่ยาก แต่ทำยากมาก แม้รู้ว่าควรจะทำก็ตาม

นักชีววิทยาร่วมสมัยคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ มีความรู้กว้างขวาง เป็นทั้งนักธรณีวิทยา นักสัตววิทยา นักบรรพชีวินวิทยา และนักวิวัฒนาการ มีประสบการณ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดหายากและรุนแรงเรียกว่าเมโสเธลิโอมา (mesothelioma) ที่เกิดในช่องท้องใน ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาเขียนเล่าไว้ในนิตยสาร Discover เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๕ (หน้า ๔๐-๔๒) ว่า เมื่อเขาฟื้นคืนสติหลังการผ่าตัด ก็ถามหมอว่าถ้าจะหาหนังสือเกี่ยวกับมะเร็งที่มีรายละเอียดทางเทคนิคด้วย เล่มไหนน่าจะดีที่สุด คุณหมอผู้หญิงบอกกับเขาว่าไม่มีสักเล่มที่เข้าข่าย

ปฏิกิริยาตอนนั้นก็คือ เขาไปห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ดเคานต์เวย์ทันทีเพื่อตรวจสอบความจริง แล้วก็ตระหนักว่าทำไมคุณหมอจึงกล่าวทำลายความหวังของเขาเช่นนั้น “หนังสือพวกนั้นระบุไว้ชัดเจนจนดูโหดร้ายว่า มะเร็งแบบเมโสเธลิโอมาไม่มีวิธีรักษา ค่าเฉลี่ยอัตราการตายอยู่ที่เพียง ๘ เดือนหลังจากตรวจพบ ผมนั่งอึ้งอยู่นาน ๑๕ นาที...จากนั้นความคิดของผมก็เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง ขอบคุณพระเจ้า”

Image

ดอกเตอร์กูลด์ที่รู้เรื่องสถิติอยู่บ้าง ต้องการคำนวณโอกาส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่เขาจะรอดชีวิตได้นานกว่า ๘ เดือน “ผมไล่อ่านอย่างฉุนเฉียวและประสาทกินอยู่ ๑ ชั่วโมง ก่อนสรุปด้วยความโล่งใจว่า ก็ใช้ได้ทีเดียวนี่นา ผมมีโอกาสมากที่จะมีชีวิตยืนยาว เพราะมีลักษณะต่าง ๆ ที่ดีที่ระบุไว้ในตำรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุน้อย ตรวจเจอโรคค่อนข้างเร็ว ได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้  ยังมีโลกที่รอให้เจออยู่ ผมรู้ว่าจะอ่านผลข้อมูลอย่างเหมาะสมได้อย่างไรและผมยังไม่สิ้นหวัง”

นี่เป็นเรื่องเล่าของนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมากคนหนึ่ง ขณะกำลังสิ้นหวังที่สุด แต่ก็ยังไม่ละทิ้งความหวังในใจ เขาอาศัยการหาข้อมูลด้วยการอ่าน วิเคราะห์ และตีความบนข้อมูลส่วนตัว จนเห็นลำแสง
ที่ปลายอุโมงค์

ดอกเตอร์กูลด์ฝ่าฟันสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีความหวังและรอดชีวิตจนถึง ค.ศ. ๒๐๐๒ เมื่อต้องเจอกับมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน คราวนี้เขาแพ้ศึกและเสียชีวิต

โรคโควิด-๑๙ ไม่ใช่โรคมะเร็ง แม้ดูอันตราย เพราะคร่าชีวิตคนไม่น้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ไม่ได้เสียชีวิตสำหรับคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมีโอกาสจะเสียชีวิตน้อยมาก เราจึงน่าจะมีความหวังในใจไว้เสมอ และหากเป็นไปได้
ก็น่าจะปรับเอาความเครียดจากโควิด-๑๙ มาใช้เป็นพลัง

เราจะผ่านวิกฤตการณ์โลกแบบนี้ไปด้วยกัน