จากไทยรักไทยถึงวาระรัฐประหาร
และจุดเปลี่ยนการเมืองไทย
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
Political Party
เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : วริศ โสภณพิศ
“คิดใหม่ทำใหม่ สอดคล้องรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการการเมืองแบบใหม่ การเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่การเมืองทำลายล้าง สู่การเมืองเชิงนโยบาย ต้องคิดใหม่ คิดเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว”
การเข้ามาของพรรคไทยรักไทย นำโดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ประกอบด้วยสมาชิกหน้าเก่า-ใหม่จากหลายพรรคการเมือง ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งแรกปี ๒๕๔๔ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน ๒๔๘ เก้าอี้จากทั้งหมด ๕๐๐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมีพรรคชาติไทยและพรรคความหวังใหม่เข้าร่วม หัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
“ปัจจัยหลักคือการเกิดขึ้นของรัฐ-ธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากความต้องการปฏิรูปการเมือง มีแนวคิดว่าทำอย่างไรจะมีการเมืองและพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
“อีกปัจจัยคือพรรคไทยรักไทยเน้นการคิดนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ระดมนักคิดนักปฏิบัติมาร่วมมือกันและนำนโยบายไปทำให้ประสบความสำเร็จแทนการใช้ระบบอุปถัมภ์แบบเดิมที่เน้น ส.ส. เขตลงพื้นที่พบปะประชาชน”
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อธิบาย เขาเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในทีมคิดนโยบายสำคัญที่นำพรรคไทยรักไทยสู่ชัยชนะ
การหาเสียงแบบชูนโยบายของพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า รวมทั้งสวัสดิการการรักษาพยาบาล พร้อมกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการส่งออก ซึ่งเรียกการดำเนินนโยบายคู่ขนานนี้ว่า “ลู่คู่” (dual track) ต่อมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบาย “ประชานิยม” จนนำไปสู่กระแสการต่อต้านรัฐบาล
“วาทกรรมโจมตีประชานิยมส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ตราหน้าไว้ก่อนว่าจะมาแจกเงินเช่น ๓๐ บาท รักษาทุกโรค เราไม่ได้ใช้เงินโถมเข้าไป แต่เป็นการปฏิรูประบบงบประมาณครั้งใหญ่ เป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ต้องปฏิรูปเรื่องการจัดการ การกระจายอำนาจไปพร้อมกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง คู่แข่งการเมืองไม่ต้องการปล่อยให้พรรคโตต่อไป สร้างวาทกรรม ๓๐ บาท ตายทุกโรค ประชานิยมผมว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์”
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยทำงานครบวาระ ๔ ปี เข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ในปี ๒๕๔๘ และได้รับชัยชนะอีกครั้งอย่างล้นหลามโดยชูธง ๔ ปีซ่อม ๔ ปีสร้าง นายแพทย์สุรพงษ์เล่าว่ามีทั้งหมดสามประการที่นำรัฐบาลไทยรักไทยประสบความสำเร็จ ประการแรกคือการที่ทำตามนโยบายหาเสียงได้จริง ต่อมาคือการชูนโยบายที่ประชาชนสามารถจำได้ง่าย ประกาศสามสงครามหลัก ประกอบด้วย สงครามกับความยากจน ยาเสพติด และคอร์รัปชัน สุดท้ายคือการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้กับประชาชนเข้าใจผนวกกับการจัดการแก้ไขและเยียวยาวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น อย่างเหตุการณ์สึนามิ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ แม้ว่าจะมีอุปสรรค แต่ทั้งหมดทำให้ไทยรักไทยเข้าสู่เส้นชัยทางการเมืองในที่สุด
เมื่อแอ็กชันเท่ากับรีแอ็กชัน
“แน่นอนการได้รับเลือกตั้งมากขนาดนี้มันมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับมาค่อนข้างรุนแรง แอ็กชันเท่ากับรีแอ็กชัน ยิ่งได้มากเท่าไรปฏิกิริยายิ่งร้อนแรงมากเท่านั้น เพราะว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าพรรคไทยรักไทยใหญ่เกินไปแล้ว ปล่อยให้ใหญ่มากกว่านี้ไม่ได้”
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมัยที่ ๒ บริหารงานไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมกับประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล นำไปสู่การตั้งคำถามและข้อครหารัฐบาลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และกรณีการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้กับบริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ เป็นชนวนสำคัญ
“มีความพยายามกล่าวว่าการบริหารจัดการแบบรัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา ถ้ามองย้อนกลับไปวันนั้น หากเป็นโลกโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ เรื่องนั้นก็คงเป็นเฟกนิวส์ที่สามารถโต้กันได้ทันที เพราะมีข้อมูลความจริงที่จะแบ่งปันได้ แต่ในอดีตต้องยอมรับว่าการสร้างวาทกรรมเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตย เมื่อเฟกนิวส์ถูกเผยแพร่แล้วการโต้กลับไม่ง่าย”
ในที่สุดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ รัฐบาลไทยรักไทยประกาศยุบสภา เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และทำหน้าที่เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ แต่เกิดปรากฏการณ์คว่ำบาตรจากพรรคฝ่ายค้านและพรรคขนาดกลางไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งและรณรงค์โหวตไม่ประสงค์ลงคะแนน และเข้าสู่กติกาในข้อที่ว่าหากเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้ลงสมัครอื่น พรรคไทยรักไทยจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มาออกเสียงในเขตนั้น
“ผมจำได้ว่านายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าจะไม่เป็นนายกรัฐ-มนตรี ถ้าหากชนะเลือกตั้งแล้วคนที่มาลงคะแนนไม่เลือกพรรคไทยรักไทยเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด แต่ผลปรากฏว่ามีคนมาลงคะแนนเกินครึ่งและเลือกพรรคไทยรักไทย หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น มีความวุ่นวายเกิดขึ้น มีผู้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายตัดสินว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ”
วันรัฐประหาร
๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
“ผมอยู่ที่นิวยอร์ก ตอนนั้นเป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินทางไปกับนายกฯ ทักษิณ เพื่อไปแสดงปาฐกถาที่ห้องประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ การเดินทางครั้งนี้นายกฯ อยากไปด้วยตัวเอง เพราะมีความประสงค์จะไปรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ เนื่องจาก ดอกเตอร์สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เสนอตัวจะเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น วันนั้นในประเทศไทยจึงมีเพียงแค่รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นผู้ดูแล
“พวกเราทราบเรื่องรัฐประหารช่วงเช้า ประมาณสัก ๘ โมงของวันที่ ๑๙ กันยายน เวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความวุ่นวายกันพอสมควร เช็กข่าวตลอดว่าจริงหรือไม่ พอเช็กได้สักชั่วโมงก็รู้ว่าเกิดขึ้นจริงแล้ว เข้าใจสภาพ รู้ว่าไม่สามารถทำได้มากกว่านั้น พอตกค่ำ ๆ ดึก ๆ ทักษิณ ชินวัตร บินไปประเทศอังกฤษ
“ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารครั้งล่าสุดก่อนหน้าปี ๒๕๔๙ คือปี ๒๕๓๔ ไม่มีใครนึกว่า ๑๕ ปีผ่านไปแล้ว ประเทศจะกลับไปแบบนั้นอีก นักข่าวสายทหารบางคนเคยมาสะกิดบอกว่ามีโอกาสจะมีการรัฐประหาร ผมก็บอกว่าไม่เชื่อ แล้วก็หัวเราะ บอกเป็นไปไม่ได้ ถ้ามองย้อนกลับไปคงคิดได้แค่ว่าเป็นการปูทางทีละขั้น ๆ สู่การรัฐประหารในที่สุด”
การยึดอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ มีประชาชนบางส่วนนำดอกไม้มอบให้กับทหาร บ้างไปถ่ายรูป ถึงขั้นที่หลายสื่อในยุคนั้นกล่าวว่าวันดังกล่าวไม่ต่างจากวันเด็กเลยทีเดียว
“คิดว่าความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าการรัฐประหารเป็นการทำให้วิกฤตการณ์ความขัดแย้งหยุดลงแล้วเริ่มต้นกันใหม่เพื่อล้างไพ่ การชื่นชมยินดีไปให้ดอกไม้กับทหารเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะว่าพวกเขาคิดอย่างนั้นจริง ๆ แต่แน่นอนว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เห็นด้วย ถึงได้เกิดกรณีอย่าง นวมทอง ไพรวัลย์ ที่ขับรถแท็กซี่ไปชนรถถังเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็ค่อย ๆ เกิดเป็น นปก. สู่ นปช. และคนเสื้อแดงในที่สุด”
นายแพทย์สุรพงษ์ชี้ถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของรัฐบาลเมื่อมองย้อนกลับไปว่ามีสองเรื่อง
“หนึ่ง เรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้ให้ข้อมูลหรือชี้แจงประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อทำให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด หรือตากใบ กรือเซะ รัฐบาลยังไม่เข้าใจประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ สอง เรื่องคอร์รัปชัน หากจริงจังในการปราบปรามคอร์รัปชันให้มากขึ้น ถึงแม้จะสร้างศัตรู แต่อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ความตั้งใจให้ประชาชนเห็น และทำให้ประเด็นที่ถูกโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี ไม่มีมูลทันที
“อีกประเด็นที่ต้องคำนึงคือการทำความเข้าใจกับโครงสร้างการเมืองการปกครองของไทยอย่างแท้จริง ก่อนปี ๒๕๔๙ ผมและเพื่อน ๆ หลายคนมีความรู้สึกว่าการเมืองไทยค่อย ๆ เดินไปทีละก้าว ไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่จำเป็นต้องพะว้าพะวัง สมมุติว่าเราสามารถกลับจากโลกอนาคตไปวันนั้นได้ จะบอกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างต้องปรับเปลี่ยน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ในบางประเด็นที่มีปัญหา หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อให้กลไกต่าง ๆ ดียิ่งขึ้น”
ประชาธิปไตย
ต้องก้าวทีละก้าว
“หากมองในฐานะประชาชน การรัฐประหารครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่จะก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องเพราะ ๕ ปีในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย เรามีการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในระดับฐานรากแล้วเกียรติภูมิของประเทศในระดับสายตานานาชาติที่ดีมาก เราถือได้ว่าเป็นผู้นำอาเซียน เป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและผู้นำทางเศรษฐกิจ
“เวลาผมไปประชุม ในฐานะรัฐมนตรีไอซีที กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทุกคนก็จะชมเสมอว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐมนตรีของสิงคโปร์ถึงขนาดบอกว่าไทยกำลังน่ากลัวมากสำหรับสิงคโปร์ในยุคนั้น”
ภายหลังกลับจากต่างประเทศ คณะรัฐประหารให้พรรคการเมืองเริ่มทำงานการเมืองได้ นายแพทย์สุรพงษ์จึงกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชาชนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่นานเกิดการยุบพรรคอีกเขาจึงยุติบทบาททางการเมือง
นายแพทย์สุรพงษ์มองอีกว่าการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ คือจุดกำเนิดการแบ่งเสื้อสี และจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ซึ่งเป็นใบเบิกทางของการปลดล็อกปัญหาทางการเมืองเมื่อยากจะแก้ไขด้วยรัฐประหาร ดังที่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในปี ๒๕๕๗
“ไม่ควรมีรัฐประหารอย่างแน่นอน ผมคิดว่าการเดินทางของประชาธิปไตย ต้องอดทน ค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าว ไม่มีทางลัดสำหรับประชาธิปไตย ทางลัดของบางคนที่คิดว่าทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหลายอย่างจะดีขึ้น ครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ดังนั้นเลิกคิดจะหาทางลัดเสียที ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ใครจะบอกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ดี เดี๋ยวทำรัฐประหารฉีกทิ้ง ทำแบบนั้นไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนในระบบประชาธิปไตย ถ้าสุดท้าย ส.ว. ไม่ยอมออก ให้คิดเสียว่าอย่างน้อย ๕ ปีเดี๋ยวก็ไป ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เดินไปทีละก้าว ถ้าวันนี้เกิดรัฐประหารอีกก็ขอแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยไว้ตรงนี้ ยืนยันว่าจะไม่ไปร่วมหรือช่วยใด ๆ ทั้งสิ้น”
การป้องกันการรัฐประหารให้ดีที่สุดในความเห็นของเขาคือต้องทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยให้บทบาทการบริหารประเทศเป็นของตัวแทนประชาชน
“เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะเป็นผู้นำทางการเมืองตลอดชีวิต คุณต้องรู้เวลา ไม่ว่าทุกคนจะรักคุณแค่ไหน เขาก็อยากเห็นคนใหม่มาทำหน้าที่ และอาจได้เห็นสิ่งที่ดีกว่า ความสำเร็จครั้งสำคัญของคนทำงานการเมือง คือรู้ว่าเมื่อไรควรลงจากตำแหน่ง ตรงนั้นจะบอกว่าเขาเป็นรัฐบุรุษหรืออะไรกันแน่”
วันสัมภาษณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔